4 ทศวรรษ ‘ทวี ไกรคุปต์’ จาก ‘เปรมาธิปไตย’ ถึง ‘ระบอบประยุทธ์’

4 ทศวรรษ ‘ทวี ไกรคุปต์’ จาก ‘เปรมาธิปไตย’ ถึง ‘ระบอบประยุทธ์’

บนเส้นทางการเมืองกว่า 4 ทศวรรษ ‘ทวี ไกรคุปต์’ ได้แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นนักเลือกตั้งผู้มากประสบการณ์ ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

KEY

POINTS

  • หลังสงกรานต์ปี 2567 ทวี ไกรคุปต์ วัย 85 ได้เวลาพักผ่อนชั่วนิจรันดร์ ภายในบ้านทรงไทย ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 
  • ทวีรวบรวม สส.ไม่สังกัดพรรคได้ 43 คน จับมือ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ ตั้ง ‘พรรคสยามประชาธิปไตย’ โดย พ.อ.พล เป็นหัวหน้าพรรค และทวี เป็นเลขาธิการพรรค มีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลเปรม แม้เวลานั้น ยังไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล
  • ช่วงทวีไม่ได้เป็น สส. ก็ออกพบปะชาวบ้านตามปกติ และตัดสินใจวางตัวปารีณาเป็นทายาททางการเมือง โดยเริ่มชิมลางจากการส่งลูกสาวนักเรียนนอก เข้าประกวดนางสาวไทย 2544 ซึ่งมีการประกวดรอบสุดท้าย วันที่ 12 พ.ค.2544
     

นักการเมืองอาวุโสจากราชบุรี ‘ทวี ไกรคุปต์’ ชื่อนี้ไม่เคยหายไปจากการเมืองไทย ตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปปี 2522 จนถึงการเลือกตั้งสมัยที่แล้ว

ทวี ไกรคุปต์ เป็น สส.ราชบุรี 7 สมัย เคยสังกัดพรรคประชาไทย พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทย

นอกจากนี้ ทวียังเป็นลมใต้ปีกให้ลูกสาว ‘ปารีณา ไกรคุปต์’ เป็น สส.ราชบุรี 4 สมัย เมื่อปารีณาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ‘สีหเดช ไกรคุปต์’ ลูกชายคนโตของทวี ก็คือผู้รับมรดกการเมืองตระกูลไกรคุปต์

สีหเดชพ่ายเลือกตั้งในสีเสื้อพรรคภูมิใจไทย เมื่อปี 2566 ทวีก็ให้ลูกชายลาออกจากพรรคเก่าไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล

หลังสงกรานต์ปี 2567 ทวี ไกรคุปต์ วัย 85 ได้เวลาพักผ่อนชั่วนิจรันดร์ ภายในบ้านทรงไทย ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 

แจ้งเกิดยุคเปรมาธิปไตย

ทวี ไกรคุปต์ เป็นชาว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ในวัยเด็ก ทวีช่วยมารดาหาบผักมาขายที่ตลาดโพธาราม จึงเป็นที่มาของบุคลิกภาพคนพูดจาตรงไปตรงมา แต่สุขุมนุ่มนวล เข้ากับชาวบ้านได้ง่าย 

ปี 2518 ทวีมาทำธุรกิจหล่อเสาเข็มอยู่ที่ จ.นครปฐม และมีคนชักชวนให้เล่นการเมืองท้องถิ่น จึงลงสมัครสมาชิกสภา กทม. และได้เป็นเลือกเป็น สก.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ สมัยที่ ‘ธรรมนูญ เทียนเงิน’ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร

ปี 2522 ทวีกลับไปเล่นการเมืองที่บ้านเกิด จึงลงสมัคร สส.ราชบุรี โดยไม่สังกัดพรรคการเมือง

ทวีประเมินว่า สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่จำเป็นต้องรับเงินสนับสนุนจากพรรคใด มั่นใจในความสามารถและคุณสมบัติที่จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จุฬาฯ

ประกอบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 เปิดโอกาสให้ผู้สมัคร สส.ไม่ต้องสังกัดพรรคก็ได้ และนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง แถม สว.มีสิทธิ์เลือกนายกฯ

เหนืออื่นใด ทวีมีเครือญาติมากมาย ทั้งในสายตระกูลไกรคุปต์ และจังพานิช โดยเฉพาะพี่ชายแท้ ๆ คือ ‘สวัสดิ์ จังพานิช’ เคยเป็น ส.จ.ราชบุรี และนายกเทศมนตรีเมืองโพธาราม จึงเป็นฐานเสียงสำคัญ ทำให้ทวี เป็น สส.ราชบุรี สมัยแรก

ปี 2523 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี สมา ชิกวุฒิสภา 225 เสียง ร่วมกับ 3 พรรคการเมือง ยกมือโหวตเลือก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ระหว่างนั้น ทวีได้รวบรวม สส.ไม่สังกัดพรรคได้ 43 คน จึงจับมือ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ ตั้ง ‘พรรคสยามประชาธิปไตย’ โดย พ.อ.พล เป็นหัวหน้าพรรค และทวี เป็นเลขาธิการพรรค มีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลเปรม แม้เวลานั้น ยังไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

ช่วงที่มีการเสนอต่ออายุราชการ พล.อ.เปรม ให้อยู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อไป แม้จะอายุครบ 60 ปีแล้ว จึงมีนักวิชาการและนักศึกษาออกโรงต้านแนวคิดดังกล่าว

ทวี ไกรคุปต์ จึงได้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาชนไทย ส่งไปรษณียบัตรแสดงพลังหนุน พล.อ.เปรม เป็น ผบ.ทบ. โดยเขาใช้ทุนส่วนตัวทำ ‘ไปรษณียบัตรเพื่อต่ออายุราชการ’ มากถึง 5 แสนใบแจกชาวบ้าน

ดังนั้น ต้นปี 2524 พล.อ.เปรม ปรับคณะรัฐมนตรี เอาพรรคกิจสังคมออก และดึงพรรคสยามประชาธิปไตยเข้าร่วมรัฐบาล ทวีจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์

ด้วยเหตุนี้ คอลัมนิสต์การเมืองสมัยโน้น จึงวิจารณ์ว่า ทวีเป็นผู้สนับสนุนให้ระบอบ ‘เปรมาธิปไตย’ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ได้ไปต่อในการเมืองไทย

ปี 2526 พล.อ.เปรมยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ ทวีและเพื่อน สส.หนุ่มจำนวนหนึ่ง แยกตัวออกมาจากพรรคสยามประชาธิปไตย มาตั้ง ‘พรรคประชาไทย’ โดยทวี เป็นหัวหน้าพรรค

การเลือกตั้งหนนั้น ทวีกลับเข้าสภาฯ ในสีเสื้อพรรคประชาไทย แต่ก็ได้ลาออกไปสังกัดพรรคชาติไทยในปี 2529 หลังจากนั้น ทวีก็ย้ายไปหลายพรรค อาทิ พรรคกิจสังคม ,พรรคความหวังใหม่, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทย

ใต้ร่มเงาชินวัตร

เลือกตั้งปี 2544 ทวี ไกรคุปต์ ย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ไปสังกัดพรรคไทยรักไทย ของทักษิณ ชินวัตร แต่ทวีพ่าย ‘ประไพพรรณ เส็งประเสริฐ’ พรรค ปชป.แบบเหลือเชื่อ

ความปราชัยของ สส.ราชบุรี 7 สมัยต่อนักการเมืองหญิงหน้าใหม่ ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดมาก จึงได้บันทึกความทรงจำไว้ว่า 

“ผมต้องพบความพ่ายแพ้ แพ้ใครมาจากไหน ไม่มีใครรู้จักมาก่อน ค่ำคืนนั้น ผมนั่งดูผลการเลือกตั้งอยู่กับภรรยาและปารีณา ลูกสาวที่เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา มาเยี่ยมบ้าน นั่งดูอยู่ที่บ้านในตลาดโพธาราม จนถึงเที่ยงคืน โดยไม่มีใครมาหามาเยี่ยมเยือนผมแม้แต่คนเดียว จนแน่ชัดว่าแพ้แน่แล้ว ผมจึงออกจากบ้าน ด้วยความ ว้าเหว่และหม่นหมองเดินทางไปพักที่โรงแรมโกลเด้นท์ซิตี้ราชบุรี พร้อมภรรยาและปารีณา คืนนั้นผมนอนไม่หลับ...”

ช่วงทวีไม่ได้เป็น สส. ก็ออกพบปะชาวบ้านตามปกติ และตัดสินใจวางตัวปารีณาเป็นทายาททางการเมือง โดยเริ่มชิมลางจากการส่งลูกสาวนักเรียนนอก เข้าประกวดนางสาวไทย 2544 ซึ่งมีการประกวดรอบสุดท้าย วันที่ 12 พ.ค.2544

ปารีณา สาวโพธาราม ไม่ได้ครองมงกุฏนางสาวไทย แต่ก็ได้รับ 2 รางวัล คือขวัญใจภาคกลาง และนางงามมิตรภาพ จึงทำให้เธอเป็นที่รู้จักของชาวบ้าน ในการเลือกตั้งปี 2548

ระหว่างหาเสียง ปารีณาได้แจกหนังสือแนะนำตัว มีประวัติของปารีณาเพียงเล็กน้อย ที่เหลือเป็นประวัติการทำงานของทวี ไกรคุปต์ และในเล่มนั้น มีภาพเธอตอนประกวดนางสาวไทยด้วย

ปารีณาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เธอเป็นผู้รับมรดกการเมืองของทวี เพราะได้รับเลือกเป็น สส. 4 สมัยติดต่อกัน (ปี2548,2550, 2554,2562) สังกัดพรรคไทยรักไทย ,พรรคชาติไทย,พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ

จบพร้อมระบอบประยุทธ์

ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ทวี ไกรคุปต์ ขึ้นป้ายคัทเอาต์ขนาดใหญ่ มีข้อความยกย่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำแห่งความหวังของคนไทย

หลังจากนั้น ปารีณาก็ลงสมัคร สส.ในนามพรรคพลังประชารัฐ และช่วงที่อยู่ในสภาฯ ปารีณาได้ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ลุงป้อม และลุงตู่

เมื่อปารีณาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ทวีจึงเลือกลูกชายคนโต สีหเดช ไกรคุปต์ เป็นทายาททางการเมือง โดยลงสมัคร สส.ราชบุรี สังกัดภูมิใจไทย

ความพ่ายแพ้ของสีหเดช ต่อจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ พรรคพลังประชารัฐ สร้างความเจ็บปวดให้ทวี ไม่แพ้ตอนที่ตัวเขาเองแพ้ศึกเลือกตั้งปี 2544

คนโพธารามและจอมบึง รู้ดีว่า ระยะหลัง ตระกูลไกรคุปต์ ได้เมินหมางห่างเหินจากลุงตู่และลุงป้อม แถมสีเสื้อภูมิใจไทย ชาวบ้านไม่ชอบ สีหเดชจึงพ่ายแพ้ยับเยิน

วันที่ 24 ม.ค.2567 ทวี ไกรคุปต์ และสีหเดช ไกรคุปต์ เดินทางมาให้กำลังใจ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสีหเดชบอกว่า ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลแล้ว เมื่อเดือน ธ.ค.2567

บนเส้นทางการเมืองกว่า 4 ทศวรรษ ทวี ไกรคุปต์ ได้แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นนักเลือกตั้งผู้มากประสบการณ์ ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร 

จากผู้ค้ำยันระบอบเปรมาธิปไตยเมื่อปี 2522 ก่อนที่ตระกูลไกรคุปต์ จะไม่มีที่ยืนในเวที สส.ราชบุรี พร้อมกับฉากสุดท้ายของระบอบประยุทธ์

 

เรื่อง : ชน บทจร

ภาพ : Nation Photo