ศิริกัญญา ตันสกุล: “พรรคที่ต้องถูกยุบคือพรรคที่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน”

ศิริกัญญา ตันสกุล: “พรรคที่ต้องถูกยุบคือพรรคที่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน”

The People สัมภาษณ์ ศิริกัญญา ตันสกุล หรือ ไหม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค

The People สัมภาษณ์ ศิริกัญญา ตันสกุล หรือ ไหม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค

นักการเมืองหญิง คนเจนเนอเรชั่นเดียวกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ชัยธวัช ตุลาธน, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล

ไหมเข้าพรรคการเมืองนี้จากการที่ชัยธวัชตามหาคนเพื่อมาช่วยงานธนาธรทำนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคอนาคตใหม่ กระทั่งได้รับคำแนะนำจาก ‘ปกป้อง จันวิทย์’ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะที่ไหมเรียนจบปริญญาตรี และเป็นคณะที่ไหมเลือกเป็นอันดับ 1 สมัยสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยปี 2541 ด้วย

เจอธนาธรตั้งแต่เรียนธรรมศาสตร์ ไปค่ายชนบท ก่อนพบอีกครั้ง ‘อนาคตใหม่’

เคยเจอกับคุณธนาธรตั้งแต่ดิฉันเพิ่งเข้าปี 1 เพราะว่าเขาทำกิจกรรมไปทั่ว แล้วก็ไปค่ายชนบทของคณะเศรษฐศาสตร์ คณะดิฉัน แล้วก็เป็นค่ายเดียวกับที่ดิฉันไปพอดี ไปทำอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ จ.ยโสธร ค่ายทรายมูล 

ตอนนั้นก็ยังงง ๆ ว่าผู้ชายผมยาวคนนี้ มาทำอะไรที่ค่ายคณะเศรษฐศาสตร์ พอใช้เวลาอยู่ด้วยกันก็เข้าใจแกมากขึ้น ได้พูดคุย ที่ตลกก็คือว่า วันที่เจอกันอีกทีที่พรรคอนาคตใหม่ เขาบอกว่าขอโทษที จำไม่ได้ ไปมาหลายค่ายเกิน แต่ว่าในท้ายที่สุด เขาก็จำได้และฝากความระลึกถึงไปถึงประธานค่ายกับอีกหลาย ๆ คน 

ดิฉันอยู่พรรคอนาคตใหม่ประมาณ 3 เดือน คุณธนาธรถึงนึกขึ้นมาได้ว่า แกเคยไปค่ายนี้ แล้วก็ถามถึงพี่ต้อ ก็คือ ประธานค่ายเรา แล้วก็ถามว่าใครอยู่ที่ไหนอย่างไรบ้าง พอระลึกชาติได้ก็ระลึกใหญ่เลยว่าเคยพูดคุยกับใคร พี่คนไหนเป็นคนเอาหนังสือ Das Kapital ให้เขา แล้วก็พรั่งพรู ก็ตลกดีเหมือนกันว่า ใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่ง แต่ก็ต้องเข้าใจว่ามันก็ยี่สิบกว่าปีแล้วเหมือนกัน 

ตอนนั้นยากที่จะคาดเลยว่า ไอ้หนุ่มผมยาวในวันนั้น จะมากลายเป็นคุณธนาธรในวันนี้ ไม่ได้คาดหวังอะไรเลย เพราะต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปเติบโต ก็เป็นเรื่องบังเอิญมาก ๆ ที่สุดท้ายแล้วโคจรมาเจอกันอีกครั้งหนึ่ง

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเหมือนเขากำลังตามหาความหมายในชีวิตคืออะไร หรือว่าอะไรที่เขาควรใช้ยึดเหนี่ยว แล้วก็มีการคุยกันเรื่องหนังสือ เรื่องงานของคาร์ล มาร์กซ์ ก็มาคุยกับพี่ ๆ ที่คณะของไหม ก็มาสวน ๆ กันตามห้องเรียนอยู่บ้าง เขาจะมา sit in วิชาของคณะเศรษฐศาสตร์ คือนั่งฟังบรรยายเฉย ๆ ไม่ได้เก็บหนวยกิต รู้สึกว่าจะมาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งตอนนั้น อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย เป็นคนสอน ไม่ได้เรียนได้แต่เฉพาะวิชาเศรษฐศาสตร์แน่นอน มีอีกหลายศาสตร์อยู่ในนั้นเลย 

ดิฉันเองก็ไปเรียนวิชาของคณะรัฐศาสตร์ ไปเรียนกับอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบันด้วย

ตอนเราไปออกค่ายกันที่อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร ก็ไปนอนตามบ้านชาวบ้าน บ้านละ 2 - 3 คน ดิฉันไม่ได้นอนบ้านเดียวกับคุณธนาธร แต่กระบวนการทำงาน ผลัดเวรกันไป คนนี้ไปอยู่ไซต์ก่อสร้าง คนนี้สวัสดิการเตรียมอาหาร เดี๋ยวก็วนมาเจอกันบ่อย ๆ จำได้ว่า มีปาร์ตี้หลังงาน ก็จะมีร้องเพลงเล่นกีตาร์ มีการพูดคุย

ในเรื่องของฝีมือกีตาร์ของคุณธนาธรอาจจะดีขึ้นเล็กน้อย แต่ฝีมือร้องเพลงคงเส้นคงวา เหมือนเดิม เขาร้องเพลงตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว และก็คงเส้นคงวา แล้วเขาก็จะชอบร้องแต่เพลงเพื่อชีวิต แบบ 'เพลงค่าย' ไม่ใช่เพลงเพื่อชีวิตแบบสมัยปัจจุบัน 

อารมณ์แบบว่า ดิฉันเรียกว่า ‘เพลงค่าย’ แต่จริง ๆ แล้วไม่รู้ว่าเพลงอะไร เพลงจิตร ภูมิศักดิ์ เขาก็จะชอบตั้งแต่สมัยนั้น เพลงที่เล่าถึงอุดมการณ์ การต่อสู้ของประชาชน แต่ว่า ตอนนั้นคือปี 2 ช่วงปิดเทอม 1 ที่ไปค่าย ดูยังไม่เริ่มเข้าสู่วงการ activist เท่าไหร่

หลังจากไปค่ายคณะเศรษฐศาสตร์แล้ว เขาไปทำงาน อมธ. ตอนที่เขาอยู่สักปี 2 ปี 3 แล้ว พอแยกย้ายกันไป หลังจากนั้นได้เห็นอีกที คือ เห็นอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูน ต่อสู้เรื่องท่อก๊าซไทย - มาเลเซีย แล้วหลังจากนั้นก็ห่างหายกันไปไม่ได้เจอกันอีกเกือบ 20 ปี 

ดิฉันจะไม่ใช่แนวเคลื่อนไหวแบบ NGO แต่จะทำกิจกรรมในคณะ ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมเนิร์ด ๆ ทำเสวนาวิชาการ ทำสัมมนาจัดงานของคณะ ไม่ได้เป็นนักศึกษาที่เป็น activist ขนาดนั้น 

เข้าพรรคก้าวไกลเพราะการชวนของชัยธวัช

เขาใช้ระบบ refer กันมา ระบบอ้างอิงกันมา คือพี่ต๋อม ชัยธวัช ไปเสาะหา ผอ. ฝ่ายนโยบายมาช่วยคุณธนาธร เพราะตอนนั้น คุณธนาธรเป็นหัวหน้าพรรค แกก็ดูนโยบายเอง แล้วงานเริ่มจะล้นมือ ก็ดูเองไม่ไหวแล้ว 

พี่ต๋อมก็เลยไปถาม head hunt คนสำคัญของวงการนี้ก็คือ อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ ก็เลยพูดถึงชื่อดิฉันขึ้นมา เป็นที่มาว่าได้มาสัมภาษณ์คุยกันในภายหลัง ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่เจอคุณต๋อมด้วย เพราะมีคนพูดเหมือนกันว่า คุณต๋อม วนเวียนอยู่แถวตึกกิจกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ว่าดิฉันเองไม่เคยเห็นกับตัวว่าแกอยู่แถวนั้น 

หลัง ๆ แกก็เล่าให้ฟังว่า มาอยู่ธรรมศาสตร์มากกว่าอยู่จุฬาฯ 

คนเจนเนอเรชั่น Y ทันวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ก่อนเข้าเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดิฉันเกิดปี 2524 มันจะคาบเกี่ยวระหว่าง เจน x กับ เจน y ช่วงนั้นเนี่ยบรรยากาศทางการเมืองก็มีหลายรส จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ ก็มีรัฐประหารโดยรสช. ตอนปี 2534 
พอโตขึ้นก็มีช่วงที่การเมืองค่อนข้างจะพลิกผัน มีวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงต้มยำกุ้ง (2540) ก็คิดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเบนเข็มมาสนใจเรื่องทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ด้วยสถานการณ์ตอนนั้นก็เป็น 1 ในเหตุผลที่มาเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ด้วยค่ะ

ตอน ม.ต้นเรียนอยู่โรงเรียนหญิงล้วนของจังหวัดชลบุรี ชื่อโรงเรียนชลกันยานุกูล หรือเรียกกันว่า ‘ชลหญิง’ พอตอน ม.ปลายได้เข้ามาเรียนกรุงเทพฯ สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้เรียนที่เตรียมอุดม 2 ปี ก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย

ได้คะแนนสูงสุดสายศิลป์คำนวณที่สอบเลขของประเทศ

สอบเข้ามหาวิทยาลัยตอนปี 2541 ตอนนั้นเพิ่งเรียน ม.5 แล้วก็สอบเทียบ เลือกแค่ 2 อันดับ จากที่สามารถเลือกได้ 4 อันดับ ก็คิดว่าถ้าเอนทรานซ์ไม่ติดก็เรียนต่ออีก 1 ปี ตอนนั้นยังไม่ใช่แอดมิดชั่น ยังเป็นเอนทรานซ์ แล้วก็เลือกเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์อันดับ 1 เลือกเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับ 2 ตอนนั้นมุ่งมั่นอยากเรียนเศรษฐศาสตร์มาก

ผลคะแนนออกมาก็ได้คะแนนสูงสุดของสายศิลป์คำนวณที่สอบเลขของประเทศ คะแนนสูงสุดของคณะและสูงสุดของมหาวิทยาลัยด้วย 

ตอนที่สอบได้อันดับ 1 ก็ยังคุยติดตลกกับเพื่อนว่าหนังสือพิมพ์หาเราไม่เจอ ตอนนั้นสื่อมวลชนจะมีการไปสัมภาษณ์ว่าใครได้อันดับ 1 แต่ปีนั้นเขาหาเราไม่เจอเพราะว่าเขาไปหาที่จุฬาฯ กันหมด ส่วนเราคะแนนอันดับ 1 เลือกเรียนที่ธรรมศาสตร์

ช่วงนั้นคนที่สอบได้คะแนนอันดับ 1 ของทุกคณะส่วนใหญ่จะอยู่ที่จุฬาฯ ก่อนหน้านั้นคนที่สอบได้คะแนนอันดับ 1 ของเศรษฐศาสตร์ ก็จะอยู่ที่จุฬาฯ เช่นกัน 

แต่ว่าปีนั้นดิฉันเองอันดับ 1 อยู่ที่ธรรมศาสตร์ เขาก็เลยหาไม่เจอ ก็คุยติดตลกกับเพื่อนขำ ๆ กันไป

เรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ช่วงที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์เสียชีวิตในต่างประเทศ

ตอนที่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ณ วันที่เลือก ต้องบอกตรง ๆ ว่า ไม่ได้ดูว่าใครจะเป็นไอดอล เลือกเรียนคณะนี้เพราะศึกษาด้านเศรษฐกิจ มีการวิเคราะห์ มีการใช้เหตุผล แต่ว่าพอมาเรียน ก็ได้ซึมซับหลายเรื่อง เรื่องที่เราคิดว่าบุคคลคนนี้น่านับถือก็คืออาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 

ตอนที่ดิฉันเรียนอยู่สักประมาณปี 2 ปี 3 ก็เป็นปีที่อาจารย์ป๋วยเสียชีวิตพอดี ในคณะก็จะมีการพูดกันค่อนข้างมากถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ป๋วย ประวัติและผลงานด้วย

ไปสังเกตการณ์พื้นที่ชุมนุมพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง 1 ครั้งถ้วน 

ตอนนั้นบรรยากาศการชุมนุมใกล้มหาวิทยาลัยมาก แล้วก็ดูคึกคักกันดี ดิฉันก็เลยไปสังเกตการณ์ 1 ครั้งถ้วน ก็อยากไปฟังว่าเขาพูดอะไรกัน แต่ว่าพอไปแล้ว ทนฟังไม่ได้ เพราะมีแต่การโจมตีตัวบุคคล โจมตีบรรดาลูกของคุณทักษิณอย่างเดียวเลย เราคาดหวังว่า เขาจะคุยกันว่านโยบายทักษิณ มันไม่ดียังไง แต่กลายเป็นว่า นั่งด่าลูกทักษิณทีละคนว่าคนนั้นเป็นยังไง คนนี้เป็นยังไง ใช้คำที่ไม่สุภาพสุด ๆ เราก็เลยคิดว่า โหแบบนี้ไม่ใช่สไตล์ละ ก็กลับ เป็นการไป 1 ครั้งถ้วน 

วิธีจัดการกับผู้นำประเทศของไทยในช่วงที่ผ่านมา

ในฐานะนักการเมือง บุคคลสาธารณะ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ก็ต้องถูกวิจารณ์ได้เสมอ และต้องเตรียมคำตอบที่จะทำให้สาธารณะพอใจ ไม่มีอะไรเพอร์เฟคสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ว่าวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่ข้อบกพร่องของนโยบายต่าง ๆ ก็ไม่ใช่ข้อที่จะใช้อ้างในการทำรัฐประหารอย่างแน่นอนค่ะ 

เรื่องทุจริตเนี่ย ตอนนั้นข้อเท็จจริงมีหลากหลายแตกต่างมาก ตอนนั้นก็ได้ตามคดีซุกหุ้นอยู่สักพักหนึ่ง ซึ่งเราก็คิดว่าอันนี้มีมูลอยู่เหมือนกัน แต่พอหลัง ๆ เริ่มไปไกล แล้วก็สุดท้ายแล้วเรื่องที่น่าจะมีมูลที่สุดกลับไม่ได้ถูกดำเนินคดีไปถึงที่สุด แต่เรื่องที่ดูไม่ได้มีมูลอะไร เช่นเรื่องที่ดินรัชดา กลายเป็นเรื่องที่ถูกหยิบจับขึ้นมา และมีการพิพากษาจำคุกเกิดขึ้น ก็เลยทำให้เราเห็นแล้วว่า มีนัยยะทางการเมืองทั้งนั้นเลยในคดีเหล่านี้ 

ก็เลยเริ่มกลับมาคิดอีกครั้งว่า เอ๊ะ สรุปแล้ว เราจะจัดการกับผู้นำที่เป็นแบบนี้ด้วยวิธีการแบบไหน ถ้าด้วยวิธีการที่เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องปล่อยให้ประชาชนได้เกิดการเรียนรู้ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็จะเกิดการเรียนรู้ เขาก็จะเลือกคนที่ไม่ได้เป็นแบบที่ผ่านมา แบบนี้เป็นต้น 

แต่ว่าสังคมไทย ไม่เคยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ชอบมีคนที่คิดว่า ตัวเองดีกว่า มาช่วยตัดสินใจ ตัดสินใจแทนประชาชนอยู่ตลอดเวลา มันเลยเหมือนประชาธิปไตยแบบที่ไม่ครบลูป ก็เลยวนกลับมา เหตุการณ์เดิม ๆ ก็กลับมาใหม่ เป็นวัฏจักรแบบนี้ เพราะเราไม่เคยทำให้ประชาธิปไตยมีวิวัฒนาการด้วยตัวเอง

รัฐประหาร 2549 ‘ฉิบหาย’ ฉีกรัฐธรรมนูญอีกแล้ว 

จริง ๆ แล้วก่อนหน้านั้นเคยเป็นผู้ช่วยวิจัยของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ทำเรื่องเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ เราก็อ่านรัฐธรรมนูญทั้ง 15 ฉบับตอนนั้นยังมี 15 ฉบับอยู่
พอปี 2549 react แรกที่เห็นรัฐประหาร 2549 คือ รัฐธรรมนูญอีกฉบับอีกแล้วเหรอ ยอมรับว่าตกใจ แต่ตอนนั้น ยังไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมอะไรมาก เพราะกำลังเตรียมตัวใกล้ ๆ จะไปเรียนต่อด้วยค่ะ

เริ่มทำงานแล้ว อยู่ที่บริษัทเอกชนด้านรีเสิร์จเหมือนกัน พอเห็นข่าวรัฐประหารในทีวีก็คิดว่า ‘ฉิบหาย’ ฉีกรัฐธรรมนูญอีกแล้ว ต้องมาเป็นฉบับที่ 16 - 17 เพราะจะมีฉบับชั่วคราวก่อนแล้วค่อยมาเป็นฉบับใหม่ 

‘สัตว์เศรษฐกิจ’ แนวคิดหนึ่งต่อนักการเมือง

อาจารย์รังสรรค์ จะหนักแน่นในหลักวิชาของอาจารย์ เป็น school หนึ่งทางด้านเศรษฐศาสตร์ เรื่อง public choice ที่แบบว่าจะมองนักการเมืองเป็นสัตว์เศรษฐกิจทั่ว ๆ ไป ที่พยายามจะทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่ ด้วยวิธีการใดก็ตาม เท่าที่กฎหมายจะให้ทำได้แค่ไหน เขาจะทำไปตามสัญชาตญาณของสัตว์เศรษฐกิจ 

บางทีก็อาจจะมองว่า นักการเมืองไม่ได้เป็นคนดีเสมอไป เป็นทฤษฎีหนึ่งเช่นกัน 

มองนิยามนักการเมืองแตกต่างจากอาจารย์รังสรรค์ 

อาจารย์ถึงขั้นบัญญัติศัพท์ ยียาธิปไตย การเมืองที่ปกครองด้วยนักการเมืองที่ยี้ สำหรับเราแล้วก็มองเป็นเรื่องปกติ เรื่องธรรมชาติที่นักการเมืองจะแสวงหาโอกาสที่จะได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่ เราก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน เพียงแต่ว่า ตัวระบบต่างหาก ที่จะออกแบบอย่างไรให้เราได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่ด้วยความแฟร์ มีความยุติธรรมอยู่ในระบบนั้น ไม่ได้เอนเอียงไปให้กับคนที่อาจจะมีทุนหรือทรัพยากรมากกว่า หรือเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้มาจากตระกูลการเมือง สามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองมาเป็นสส.ได้ อย่างนี้เป็นต้น 

แล้วก็ที่สำคัญที่คิดว่าในโมเดลนี้อาจจะไม่ได้อธิบายก็คือเรื่อง agenda หรือวาระ ที่นักการเมืองไทยส่วนใหญ่ อาจจะขาดไป ก็เลยกลายเป็นการพยายามที่จะทำให้ได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่แบบทำอย่างไรก็ได้ โดยไม่ได้มีวาระอะไรที่อยากจะขับเคลื่อนผลักดัน 

พอมีปัจจัยนี้มาเพิ่มขึ้นว่า นักการเมืองแต่ละคนอาจจะมีวาระ มี passion มี agenda ทางการเมืองของตัวเอง ที่อยากจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไร สมการจะเริ่มเปลี่ยน แล้วหลายครั้งเราก็ต้อง weigh ชั่งน้ำหนักระหว่าง 2 ส่วนนี้ว่า ถ้าเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่แต่เพียงอย่างเดียว แต่เราไม่ได้มีโอกาส ที่จะขับเคลื่อนหรือผลักดันวาระอะไรที่เราคิดว่ามันสำคัญ ที่จำเป็นกับประเทศ แล้วจะทำไปทำไม จะได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกทำไม 

ขณะเดียวกัน เวลาที่เราขับเคลื่อนในวาระต่าง ๆ ที่แหลมคม หลาย ๆ ครั้ง ก็สุ่มเสี่ยงที่สุดท้ายแล้ว เราอาจจะไม่ได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่ ตัวปัจจัยตรงนี้ มันก็น่าจะทำให้ผลลัพธ์มันเริ่มเปลี่ยน เราก็เริ่มเห็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มาด้วย passion มาด้วย agenda บางอย่างที่เขาจะขับเคลื่อน และบางทีสิ่งที่เขาพูดอาจจะเป็น สิ่งที่เรียกว่า unpopular opinion เป็นความเห็นที่ไม่ได้ทำให้ได้คะแนนเสียงเพิ่ม อาจจะได้คะแนนเสียงลดลงด้วยซ้ำไป แต่เราก็จะเห็นความกล้าหาญบางอย่างที่เขาก็จะกล้าลุกขึ้นมาพูดบางเรื่องที่อาจจะทำให้คะแนนเสียงเขาลดลง และอาจจะไม่ได้ทำให้เขาได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกก็ได้ ก็เรียกได้ว่า ทฤษฎีของอาจารย์ อาจจะเป็นทฤษฎีที่ยังไม่ได้รวมเอาปัจจัยอื่ นๆ อย่างเช่น political project, political agenda ของนักการเมืองเข้าไป 

ในวงการวิชาการ การเพิ่มปัจจัยใหม่เข้าไปในโมเดลเดิม เป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติ แล้วก็ไม่ใช่ว่าสิ่งที่อาจารย์พูดจะผิดด้วย แต่ว่าในทุก ๆ การศึกษาใหม่ ๆ เราก็พยายามที่จะหยอดปัจจัยอะไรใหม่ ๆ เข้าไป แล้วก็มาดูว่า ผลลัพธ์ จะแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งเหมือนกัน พูดแล้วก็น่าเขียนเปเปอร์เรื่องนี้เหมือนกัน (หัวเราะ) 

เห็นด้วยกับอาจารย์รังสรรค์เรื่องแนวคิดต่อรัฐธรรมนูญควรโอบรับพรรคเล็กที่หลากหลาย

ฃหลาย ๆ เรื่องที่อาจารย์รังสรรค์ วิเคราะห์เอาไว้ เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ยังเป็นจริง และเป็นสิ่งที่เราเอามาอภิปรายตอนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่บอกว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มี bias กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เพราะปี 2540 อยากให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ให้แบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ซึ่งจะเติบโตแบบนั้นได้ ต้องเหลือแค่พรรคการเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น เรื่องวิธีการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ อะไรต่าง ๆ เอนเอียงไปในแนวนั้นหมด 

เราก็ยังใช้แนวที่อาจารย์รังสรรค์เคยวิเคราะห์ไว้ มาอภิปรายรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า สมัยนั้นเรา react กับสถานการณ์ที่ทำให้รัฐธรรมนูญ 2540 ต้องเป็นแบบนั้น แต่วันนี้เหตุการณ์ผ่านมา 20 ปีแล้ว เรายังต้องการให้เป็นแบบนั้นอยู่หรือเปล่า หรือเราต้องการความหลากหลายมากขึ้นของพรรคการเมืองที่จะเป็นตัวแทน จะเป็นเสียงสะท้อนของคนที่มีความหลากหลาย มีกลุ่มย่อย ๆ ที่มีความคิดแตกต่างกันไปหมด จึงเป็นที่มาว่าลองเสนอระบบเลือกตั้งแบบที่เป็นสัดส่วนแบบเยอรมัน ไม่ได้เป็นแบบรัฐธรรมนูญ 2540

พอรัฐธรรมนูญปี 2540 เอื้อให้กับพรรคใหญ่ก็จะเกิดปัญหาอีกแบบหนึ่ง สังคมก็ต้องมาตกผลึกร่วมกันว่า เราอยากได้การเมืองแบบ 2 ขั้วที่มีพรรคใหญ่แค่ 2 พรรค แล้วสู้กัน หรือเราอยากได้การโอบรับพรรคการเมืองที่หลากหลายมากขึ้น ที่เป็นตัวแทนแนวคิดอุดมการณ์ที่มีความแตกต่างหลากหลายกัน 

ดังนั้น ก็เลยเป็นที่มาที่เราเสนอระบบแบบเยอรมัน ที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับการที่มีพรรคใหญ่แค่ 2 พรรคอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับคะแนนนิยม popular vote ตามสัดส่วน เป็นอย่างไร แล้วค่อยเอาสัดส่วนเหล่านั้น มาแบ่งสัดส่วน สส.ในสภา 

แบบนี้จะเอื้อให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อย พรรคขนาดกลางมากยิ่งขึ้น ตอนนั้นพรรคก้าวไกลเราก็แพ้โหวต เขาก็เลยเปลี่ยนมาเป็นระบบที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนี้

ก้าวไกลกลายเป็นพรรคใหญ่ แต่ยืนยันหลักการเดิมต้องการให้มีพรรคหลากหลาย

ยังยืนยันหลักการเดิม ถึงแม้ว่าวันนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ เรากลายมาเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แต่ถ้าเรายึดที่หลักการว่า เราต้องการความหลากหลายของพรรคการเมืองที่สะท้อนแนวคิดอุดมการณ์ที่แตกต่างกันให้ได้ เราก็ต้องโอบรับและยืนยันหลักการนี้ว่าตัวระบบเลือกตั้งต้องเป็นแบบนั้น 

พรรคอันดับ 1 ไม่ได้เป็นรัฐบาลเพราะสว.มีสิทธิโหวต สิ่งที่ไม่เคยเห็นในประเทศอื่น

การที่พรรคอันดับ 1 ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ถ้าเป็นเพราะไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็ไม่มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล อันนี้เป็นเรื่องที่ทุกประเทศเป็นกัน และในหลาย ๆ ประเทศก็เกิดขึ้น 

แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย การจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาก็คือว่า เรารวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว แต่ว่าเราไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งรวม สว. มาได้ 

อันนี้ไม่เคยเห็นประเทศไหนเขาทำกันที่จะให้สว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มามีอำนาจในการกำหนดว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี อันนี้ต่างหากที่ไม่ว่าระบบการเลือกตั้งไหน ถ้ายังมีบทบาท สว. อย่างนี้อยู่ ก็คงจะไม่ได้เป็นไปในทางที่เราอยากได้ แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนเป็นระบบสัดส่วนแบบเยอรมันได้ แล้วพรรคอันดับ 1 จะไม่มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลเพราะว่าต้องไปผสมกับหลายพรรค โดยที่พรรคอันดับ 2 อาจจะสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้มากกว่า เราก็ยอมรับกติกานี้ค่ะ 

ข้อเสนอต่อมาตรา 112 กับความเสี่ยงของนักการเมือง

จริง ๆ เราก็คิดมาสักระยะหนึ่ง แต่มันก็หลากหลายซินาริโอว่า ความเสี่ยงจะเป็นอย่างไรได้บ้าง แต่ว่า เราก็ไม่ได้ตระหนกมากจนเกินไปว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เราก็คิดว่า ตรวจสอบให้แน่ชัดว่า สิ่งที่เราทำ มันถูกต้องตามหลักการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการที่มันเป็นสากล แบบนี้เราก็ไม่กลัว ถึงแม้ว่า จุดจบจะเป็นอย่างไร ต้องออกไปลี้ภัยไปอยู่ที่อื่นหรือไม่ เราก็ไม่ได้กังวลขนาดนั้น แล้วก็คิดว่าด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ก็แตกต่างจากในอดีตมาก ก็ยอมรับว่ามีการพูดคุยกันว่า จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ความเสี่ยงคืออะไรบ้าง จุดจบจะไปอยู่ที่ตรงไหน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรากังวลมากเกินไป 

worst case scenario สำหรบการเป็นนักการเมืองในประเทศไทย มองว่าอาจจะเจออะไรอย่างแย่ที่สุด

จริง ๆ เราก็อยู่กับข่าวลือว่าจะมีรัฐประหารมาตลอด ในช่วง 4 ปีที่แล้ว แล้วเราก็มีการเตรียมพร้อมการรับมืออะไรต่าง ๆ ว่าจะเอาชีวิตรอด เอาตัวรอด หรือทำให้พรรคการเมืองยังอยู่รอดในสถานการณ์การเมืองแบบนั้น อย่างไรบ้าง โดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้วางแผนซักซ้อม แต่เป็นไปด้วยตัวเอง พอข่าวลือเริ่มหนาหูก็มีการพูดคุยเตรียมความพร้อมต่าง ๆ กันเอาไว้เหมือนกัน ก็ดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท แต่ไม่ได้คาดว่ามันจะเกิดขึ้น ไม่เคยเอามาเป็นข้อจำกัดในการทำงาน เพียงแต่ว่าก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือมากกว่า 

ทันเห็นตั้งแต่ ‘ไทยรักไทย - พลังประชาชน – เพื่อไทย’ แต่ไม่แน่ใจขั้วไหนแน่

สุดท้ายแล้วเราต้องเจอชะตากรรมแบบเดียวกันไหม มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองมันค่อนข้างที่จะต่างออกไปเยอะแล้ว 

เอาเข้าจริงเราก็ไม่ค่อยมั่นใจว่า อุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทย หรือตั้งแต่ไทยรักไทยมา เป็นขั้วไหนกันแน่ เพราะในทางหนึ่งเขาก็โปรตลาดทุนนิยม ในอีกทางหนึ่งเขาก็มีนโยบายที่เป็นสวัสดิการดี ๆ หลายเรื่อง อย่างเช่นสามสิบบาทรักษาทุกโรค สุดท้ายแล้วเราก็ต้องดูกันต่อไปว่าวิวัฒนาการของพรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นอนุรักษ์นิยมเต็มตัวหรือเปล่า เพราะ เราจะเห็นได้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เขาก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องนโยบายสวัสดิการมาโดยตลอด แต่ก็น่าจะแตกต่างจากในยุคก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง พูดเรื่องทุนนิยมที่มีหัวใจ

ส่วนการชุมนุมทางการเมือง ก็เป็นเรื่องปกติธรรมชาติมากในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ยังหวังว่า จะไม่จบแบบเดียวกันที่มีการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญนอกกฎหมายมาใช้ในการทุบทำลายพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือนักการเมืองหรือรัฐบาลเองก็ตาม 

แต่ว่าประเทศนี้ก็สุดจะเดาค่ะ เราก็คงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้น

พรรคการเมือง มีเหตุผลเดียวที่จะถูกยุบคือ ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน

พรรคของคุณทักษิณ ตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน มาจนถึงเพื่อไทย ก็ถูกกระทำทางนิติสงครามอยู่หลายครั้งหลายหน ถูกยุบไป 2 ครั้ง 

คล้าย ๆ กับที่เรากำลังเจอกันอยู่ตอนนี้ ดังนั้น ถ้าจะให้กระบวนการประชาธิปไตยเติบโตไปอย่างที่ควรจะเป็น ก็ต้องสู้กันด้วยการเอาชนะใจประชาชน ไม่ใช่ด้วยการมีมือที่มองไม่เห็นเข้ามาบอกว่า คุณเป็นคนไม่ดี พรรคจะต้องถูกยุบ พรรคนี้ไม่ดี คุณจะต้องถูกยุบ

พรรคการเมือง มีอย่างเดียวที่จะต้องถูกยุบก็คือ ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนอีกต่อไป นั่นคือพรรคที่สมควรโดนยุบ ประชาชนต้องเป็นคนตัดสินใจ เรื่องพรรคการเมืองจะอยู่หรือไป ไม่ใช่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมาบอก ถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะเป็นคู่แข่งกับพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ยังยืนยันหลักการเดิม 

ตอนนี้สถานการณ์ก็เริ่มเหวี่ยงมาที่ก้าวไกลมากขึ้น กลายเป็นว่ามีคนรับเคราะห์แทนพรรคเดิมแล้ว แต่ว่าเราก็ยังยืนยันคำเดิมว่า ไม่ว่าอะไรก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำรัฐประหารกับรัฐบาลใดก็ตาม และการยุบพรรคการเมือง เป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้อำนาจทางศาลหรือทางกฎหมาย แต่ประชาชนต่างหากที่ต้องตัดสินใจว่าพรรคไหนควรจะอยู่หรือจะไป 

เราก็ยังยืนยันว่า สิ่งที่เราทำไม่ได้มีความผิด ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด แต่ว่าโลกนี้ ประเทศนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ เราก็สุดจะคาดเดา แต่เราก็ยังหวัง เราก็เชื่ออย่างเต็มหัวใจว่า เราจะผ่านพ้นไปได้

ธนาธร - พิธา นายทุนที่ไม่ได้ผูกขาด 

แน่นอนเขาเป็นนายทุนกันทั้งคู่ แต่ว่าเราไม่ได้ต่อต้านนายทุนทุกคน สิ่งที่เราคิดว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงคือ ทุนนิยมผูกขาดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผูกขาดด้วยการเข้าถึงอำนาจรัฐ การที่เขาจะมีคอนเนคชั่น เส้นสายอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาได้อำนาจในการผูกขาดบริการหรือสินค้าที่มันไม่ควรผูกขาด อันนี้แหละที่เรามองว่ามันเป็นปัญหากับเศรษฐกิจไทย มีจำนวนหนึ่งเขาคิดว่า ผูกขาดเนี่ยมันง่ายกว่าการที่จะไปประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อแข่งขันกับคนอื่น แค่สามารถที่จะเข้าถึงหน่วยงานรัฐ แก้ไขกฎระเบียบอะไรบางอย่างเพื่อให้ตัวเองเป็นผู้ขายรายเดียว หรือผู้ประกอบการรายเดียวใน sector นั้น ๆ มันง่าย มันถูก มันสบายกว่ากันเยอะ 

แต่อย่างของคุณธนาธร เขาเป็นนายทุนระดับหมื่นล้าน ด้วยการได้มาจากการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จะบอกว่าแข่งขันในประเทศก็ไม่ใช่อีก เพราะเขาก็ไปแข่งขันกับ Supplier อื่นๆ ในตลาดโลกมาโดยตลอด 

แต่ถ้าคุณธนาธรพยายามที่จะแสวงหาอำนาจรัฐ เพื่อมาคุ้มครองตัวเอง ให้มาได้ซึ่งการได้มีสิทธิขาดของธุรกิจยานยนต์ในประเทศไทย อย่างนี้ดิฉันคงอยู่กับเขาไม่ได้ อย่างพิธาธุรกิจน้ำมันรำข้าวก่อนหน้านี้ ก็ดูเป็นธุรกิจที่แข่งขันสูงมาก แทบไม่มีหนทางใดที่จะมาเอาอำนาจรัฐ มาทำให้น้ำมันรำข้าวนี้ต้องส่งให้ภาครัฐอย่างเดียว เขายังต้องส่งไปที่ญี่ปุ่นด้วยซ้ำ เพราะตลาดในประเทศไม่ได้ตอบรับสินค้าของเขา เขาก็เป็นนายทุน ซึ่งเป็นนายทุนที่สู้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องผิด

ถ้านายทุนไปแสวงหาอำนาจรัฐเพื่อให้ได้อำนาจผูกขาดถึงจะเป็นเรื่องที่ผิด ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ๆ ดิฉันอยู่ร่วมพรรคเดียวกับเขาไม่ได้แน่ ๆ 

ประสบการณ์ในรัฐสภา กับความรู้สึก ‘อิหยังวะ’

โห มันเยอะมาก เฉพาะยิ่งช่วงปีแรก ๆ นี่ต้องร้อง ‘อิหยังวะ’ กี่ครั้งกันนะ เพราะมันไม่มีอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลเลย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับระบบโควต้า ใครมีสส.มากกว่า หรือว่าจะเป็นระบบอาวุโส ใครแก่กว่า มีอย่างนี้ทั้งนั้นเลย อย่างเช่น วิธีที่พรรคการเมืองอื่น ๆ คัดเลือกคนที่จะมานั่งเป็นประธานกรรมาธิการ ขณะบางคนไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญใด ๆ เกี่ยวกับคณะกรรมาธิการนั้น ๆ เลย ดิฉันคงไม่ได้เอ่ยชื่อเพื่อที่จะไปตำหนิใคร แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ 

ขณะที่เราเองก็พยายามที่จะไม่ซ้ำรอย พยายามที่จะคัดคนอย่างสุดความสามารถ พยายามให้ในกระบวนการเขาได้เกิดการเรียนรู้เพิ่มเติม ให้เขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ หรือว่า เอาแค่การอภิปรายในสภา ถ้ามีคนนั่งฟังจริง ๆ ก็ต้องร้องอิหยังวะตลอดเวลา เพราะจะมีความแปลกประหลาดในการเรียบเรียงตรรกะในการอธิบาย และด้วยความที่ประชาชนก็ชอบด้วย ในการที่แต่ละคนต้องมีวาทศิลป์ ประดิษฐ์ถ้อยคำอะไรขึ้นมาเพื่อที่รู้สึกพูดแล้วโดนใจ 

ดิฉันซึ่งมาจากวงการที่เราจะพ่นกันเป็นตัวเลขเพื่อที่จะเอาชนะกัน หรือเพื่อโน้มน้าวคน ต้องโน้มน้าวด้วยตัวเลข ก็เหวอ ๆ ช็อค ๆ ไปอยู่ในช่วงแรก ๆ ว่า พูดตัวเลขมากก็ไม่ได้ ก็จะโดนในพรรคบอกว่า เบาหน่อย คนฟังไม่รู้เรื่อง หรือ เราเองไปอ่านในคอมเมนต์ เรายังได้รับ feedback เลยว่า ผู้หญิงคนนี้พูดจาไม่รู้เรื่อง เราก็เลยโอเค ต้องเปลี่ยน ต้องปรับวิธีการ 

จริง ๆ เอาสิ่งที่เกิดขึ้นในสภา หรือว่า เกิดขึ้นกับตัวดิฉันเอง การที่โดนโจมตีต่าง ๆ นานา มาเขียนหนังสือรวมเล่มเรื่องตรรกะวิบัติที่เรามักจะพบในชีวิตประจำวันคงรวมเล่มได้แบบว่าเล่มใหญ่ ๆ เล่มหนา ๆ ได้หนึ่งเล่มเลยทีเดียว ก็จะมีเรื่องขำขันปนไปกับความปวดหัวเรื่องของการใช้ตรรกะบิดเบี้ยวต่าง ๆ เต็มไปหมด ตอนถูกท้าให้ไปบวชชี ขำสุดในชีวิตแล้วว่าถ้าเขาทำได้แล้วเราต้องไปบวชชี ดูแบบว่าไม่ได้มีความสอดคล้องอะไรกันแต่อย่างใด หรือว่า ตอนลาออกจากกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ เขาก็บอกว่า ถ้าไม่ได้ข้อมูลแล้วต้องลาออกแบบนี้ ถ้านายกฯ ไม่มาตอบกระทู้ก็ลาออกจาก สส. เลยไหม ซึ่งเทียบกันแบบผิดฝาผิดตัวมาก ๆ

ลาออกจากกรรมาธิการ ‘แลนด์บริดจ์’ เป็น action ทางการเมืองที่ทำให้คนเข้าใจง่ายหรือเปล่า 

การที่ลาออกกรรมาธิการล่าสุด (กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์)

ดิฉันคิดว่ามันตรงไปตรงมามาก เราไม่ได้พยายามจะเล่นเกมอะไรเลย การพยายามทำงานอย่างตรงไปตรงมา แล้วไม่ได้คำตอบ ไม่ได้สิ่งที่เราคาดหวัง มันก็มี 2 ทางคือ อยู่ต่อเป็นเสียงข้างน้อยที่เข้าไปแก้ไข กับทางที่สองคือ ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำรายงานฉบับนี้ต่อ 

ตรงไปตรงมามาก ๆ และมันก็เป็นการส่งสารทางการเมืองได้ในระดับหนึ่งด้วย แต่การเรียกให้คนหันมาสนใจเรื่องของโครงการนี้เป็นเรื่องผลพลอยได้มากกว่า 

จริง ๆ แล้ว อาจารย์ท่านหนึ่งที่อยากลาออกกว่าดิฉันมากคือ อาจารย์สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำเรื่องโลจิสติกส์มา เขาก็ซักกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ไปหลายรอบ แล้วก็รู้สึกว่า ไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้คำตอบเพิ่มเติม ไม่ได้ความกระจ่างอะไรเลย เขาก็บ่นลาออกกับดิฉันตั้งแต่ประชุมไปได้สักครึ่งทาง ดิฉันเองต่างหากที่เป็นคนบอกว่ารอก่อนเดี๋ยวเราจะได้ถามเขา เดี๋ยวเราจะได้ one on one กับเขาเลย เมื่อประธานได้อนุญาต แต่ก็กลายเป็นว่า ไม่ได้ session ที่จะได้คุยกับ สนข. อย่างที่คาดหวังไว้ 

ดังนั้น มันก็ประหลาด ถึงอยู่ต่อแล้วเราจะยกมือเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรายงานได้อย่างไร ถ้าข้อมูลยังไม่ครบ

อยู่ดี ๆ เราจะไปตัดสินเขาได้อย่างไร บนความไม่รู้ของเราเอง จะไปตัดสินว่า ข้อความนี้เราไม่เห็นด้วยเพราะว่าเราไม่รู้ การที่เราไม่รู้ เราขาดข้อมูล แล้วไปตัดสินคนอื่น มันก็ไม่ควรทำ แต่แน่นอนว่า ยังมีกรรมาธิการของก้าวไกลที่เป็นตัวแทนอีกหลาย ๆ เรื่อง อย่างเช่น ทางด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน คือคุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ แล้วก็มีอาจารย์สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ที่จะมาดูเรื่องผลกระทบทางทะเล อันนี้เขาได้ข้อมูลครบถ้วน และน่าจะเป็น 2 เสียงที่โหวตไม่เห็นด้วยกับตัวรายงานซึ่งถ้าเขาได้ข้อมูลครบถ้วน เขาตัดสินใจได้ เขาก็สามารถที่จะดำเนินการต่อได้ แต่สำหรับเรา กลายเป็นว่า ดิฉันเองต้องดูความคุ้มค่าการลงทุน ตัวโมเดลธุรกิจ ไม่ได้ข้อมูลอะไร ดิฉันก็คิดว่า ไม่สมควรจะไปตัดสินคนด้วยความไม่รู้ของเราเอง 

ดิฉันก็คิดว่า ก็เป็นเรื่องง่ายมากเลย ถ้าจะไปตัดสินคนอื่นด้วยความไม่รู้ แต่จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องไม่ควรทำมากกว่า แล้วเราพยายามทำทุกวิถีทางแล้ว ที่จะให้เราได้คำตอบ แต่ตัวกรรมาธิการก็หมดสิ้นอายุไขเอง และมีทางเดียว 

หัวคะแนนธรรมชาติ กับข้อกล่าวหา ‘ปั่นเก่ง – ใช้โซเชียลมีเดียเก่ง’

ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เราคิดว่า จริง ๆ เราก็อยากที่จะรับนะการที่บอกว่าเราใช้โซเชียลมีเดียเก่ง แต่ในความเป็นจริงโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มปัจจุบันมันยากมากที่จะเข้าไปเข้าใจ algorithm ของมันทั้งหมด สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ได้ผล คือประชาชนผู้สนับสนุนหรือที่เราเรียกว่าหัวคะแนนธรรมชาติ เขาทำกันเอง 

ที่จริงเราอยากรับมากเลยนะว่าเราเก่งโซเชียลมีเดีย แต่ดิฉันคิดว่า ไม่ใช่ เพราะกลายเป็นว่าคอนเทนต์ที่ประชาชนทำกันเองมันได้ผลมากกว่าที่พรรคพยายามจะทำเสียอีก 

เราก็แค่ต้องเอาตัวเข้าไปอยู่ในสื่อเยอะ ๆ ยอมให้ประชาชนถ่ายคลิป สัมภาษณ์ คุยกับเรา หรือว่าขึ้นเวทีดีเบตเยอะ ๆ เดี๋ยวก็มีคอนเทนต์ให้ประชาชนเอาไปทำต่อ ให้ผู้สนับสนุนเอาไปทำต่อเอง อยากรับคำชมเก่งโซเชียลมีเดีย แต่ว่ารับไม่ไหว

ส่วนคำว่าปั่นเก่ง ก็เป็นได้ 2 ทางใช่ไหมคะ ถ้าสร้างเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องเท็จ เราไม่ทำมาโดยตลอด สเต็ปการทำงานของเรา ไม่ใช่การปั่นแบบนั้นแน่นอน

แต่ที่บอกว่าใช้โซเชียลมีเดียเก่ง ทำให้ข้อมูลเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด เป็นเรื่องควรทำอยู่แล้ว เขา (พรรคคู่แข่ง) เองต่างหากที่จะต้องถามตัวเองว่า เอ๊ะ แล้วจะไม่ปรับตัวเลยเหรอ จะชนะการเลือกตั้งด้วยวิธีการเดิม ๆ ตลอดไป มันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมไปแล้ว คุณอยากเอาชนะใจเขา คุณก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นเรื่องธรรมชาติ 

สถานการณ์ต่าง ๆ เรื่องเกมการเมือง มูฟของก้าวไกลนี่อ่านง่ายที่สุดในโลกแล้ว มันตรงไปตรงมา แล้วเราแทบจะบอกกับทุกคนไปหมดแล้วว่า เราจะทำอะไร ทุกคนสามารถคาดเดาได้ แล้วก็ต้องยอมเป็นคอนเทนต์ของประชาชน นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าถึง ถ้าเราเจอตัวได้ง่ายคนเข้าถึงได้ง่าย สุดท้ายก็กลายเป็นคอนเทนต์ได้ 

มองโครงการแจกหมื่นบาทดิจิทัลของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยังทำไม่ได้เพราะผู้เกี่ยวข้อง เกรงว่าจะติดคุกหรือเปล่า 

จริง ๆ แล้วข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาคือ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ไม่ได้มีการกำหนดโทษเอาไว้เลย ดิฉันคิดว่า ถ้าเขากังวลว่าจะต้องติดคุก ก็ไม่น่าจะมีทางถึงขั้นตัดสินจำคุก หรือว่ามองย้อนกลับไปเทียบเคียงกับกรณี พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งก็ถูกฟ้องว่าผิดรัฐธรรมนูญ ด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยมาตราคล้าย ๆ กันกับมาตรา 140 ตอนนี้ที่ไม่สามารถจะกู้เงินได้โดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ณ วันนั้นที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ ก็ไม่มีใครติดคุกนะคะ ดิฉันก็ยังงงๆ อยู่ว่า เอ๊ะ ทำไมเขาต้องกังวลมากขนาดนี้ 

โอเค มันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เราไม่อยากให้ทำ ดิฉันคิดว่าข้าราชการส่วนหนึ่งก็ไม่ได้อยากให้มันเกิดขึ้น เพราะจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการใช้งบประมาณของประเทศ ที่อยากจะกู้เมื่อไหร่ก็กู้ หรืออยากจะใช้เงินนอกงบประมาณเมื่อไหร่ก็ใช้ เพราะกฎหมายบอกอยู่ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง 

ถ้าเราเริ่มต้นที่อยากจะกู้เมื่อไหร่ก็กู้แล้ว เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องสนใจแล้วว่าเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีมันจะเป็นเท่าไหร่ รัฐบาลก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นภาระอย่างไร ถ้าอยากใช้เงินตอนไหนก็แค่ออก พ.ร.บ. กู้เงินก็ได้ อันนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องมากกว่า 

ทางข้าราชการส่วนหนึ่งเขาก็เลยไม่เห็นด้วย แต่ว่าคนที่กังวลเรื่องความเสี่ยงคือรัฐบาลเองที่กังวลหนักมากเป็นพิเศษ 

จนถึงวันนี้ดิฉันยังงง ๆ อยู่ว่า เขาเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไปทำไม เพียงเพื่อรอตัวรายงานของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. เหรอ ก็ประชุมไปก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยมาดูตอนหลังก็ได้ 

อาจมีคนเกรงจะซ้ำรอยคุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ ถูกจำคุก

ใช่ค่ะ มีคนพูดเหมือนกันว่า เดี๋ยวจะลงเอยแบบจำนำข้าว แต่ว่ามันไม่เหมือนกันเลย มันเป็นคนละกรณีกันไปเลยนะคะ แต่ว่าถ้าทางฝั่งเพื่อไทยจะมีภาพจำแย่ ๆ ที่เขาถูกกระทำมา ก็อาจจะเป็นไปได้ที่เขาจะกังวล เพราะว่าตอนนั้นเขาคงไม่เชื่อว่า เรื่องคดีจำนำข้าวจะนำไปสู่การจำคุกได้เช่นเดียวกัน แต่สำหรับเรา เราดูอย่างตรงไปตรงมาไม่มีอคติแล้ว มันไม่มีตรงไหนที่จะนำไปสู่การจำคุกได้เลย 

ก้าวไกลกับประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ 

เราก็คิดว่าในทางการเมืองเราสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้แล้ว แต่ว่ายังเป็นหน้าที่ถูกเปิดได้เรื่อย ๆ ยังไม่เป็นหน้าสุดท้าย การที่เราเสนอตัวเข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ทางการเมือง ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองหลาย ๆ อย่างจากพรรคที่ชนะ 80 ที่นั่งในครั้งแรกที่ลงเลือกตั้ง แล้วก็ชนะเป็นพรรคที่มีสส. มากที่สุดในสภาในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 

ดิฉันก็คิดว่าเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ๆ และยิ่งทำให้พรรคการเมืองอื่น ๆ เร่งปรับตัว กับการที่มีส่วนผสมของนักการเมืองที่มีความหลากหลาย และไม่จำเป็นจะต้องเป็นกลุ่มการเมืองเดิมที่อยู่ในตระกูลการเมืองเดิม หรือคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว 
แล้วก็ทำให้การเมืองมันมีชีวิตชีวา มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เราพยายามที่จะผลักดัน วาระขับเคลื่อนองค์การทางการเมืองของเราผ่านการวิเคราะห์ ผ่านการคิดมาอย่างเป็นระบบ มีข้อมูลข้อเท็จจริงในการสนับสนุน อันนี้ก็ช่วยเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในการพูดคุยถกเถียงอภิปรายในสภาได้เหมือนกัน 

ดิฉันคิดว่า ก่อนหน้าดิฉันมา ไม่น่าจะมีใครใช้สไลด์ในการอภิปรายในสภา แต่ว่าตอนนี้กลายเป็น norm ใหม่ เป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ทุกคนในสภาต้องพยายามพูดด้วยตัวเลขข้อมูลข้อเท็จจริงกันหมดแล้ว ไม่ใช่มีเพียงแค่โวหารหรือวาทศิลป์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป 

เราพยายามดึงเอาคนที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในแคนดิเดตลิสต์ของปาร์ตี้ลิสต์ ของเรา ทั้งคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมการจัดการขยะ คนที่เชี่ยวชาญเรื่อง climate change คนที่เชี่ยวชาญเรื่องพลังงาน เรื่องกฎหมายต่าง ๆ เราก็พยายามคัดคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือก ไม่ได้เอาคนที่เป็นนักการเมืองมาแต่อ้อนแต่ออกที่อาจจะถนัดงานการเมืองแบบเดิม ๆ มากกว่า 

เปลี่ยนจากเดิมโดยให้คนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาอยู่ในลิสต์ ทุกวันนี้ก็เป็นสส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยการเอาความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญของตัวเอง มาทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน เราก็คิดว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ๆ เราได้เปิดไปแล้ว รวมไปถึงด้านเศรษฐกิจถึงแม้ว่าวันนี้ เราจะไม่ได้เป็นรัฐบาลเองก็ตาม แต่ว่า เราก็พยายามทำให้ประชาชนเห็นว่า การพูดคุยถกเถียงกันในเรื่องเศรษฐกิจ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ตีขอบเขตจำเพาะไว้เฉพาะกับคนที่เป็นเทคโนแครต หรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญแต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้เป็นเรื่องที่ทุก ๆ คนต้องใส่ใจ ต้องเป็นกังวล ต้อง concern 

‘แมสแล้วแม่’

โหเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ดิฉันยังโดนด่าว่าพูดตัวเลขเยอะอยู่เลย หรือโดนว่าพูดไม่รู้เรื่องอยู่เลย แต่พอมาถึงวันนี้การที่เราพยายามไม่ท้อในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับประชาชนไปเรื่อยๆ มันก็มาถึงวันที่ประชาชนเปิดรับและเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ ไม่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินตัวจนเกินไป และให้ความใส่ใจ 

ดิฉันไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะได้พูดออกรายการทีวีที่เป็นรายการแมสๆ อย่างรายการของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา แล้วมาบรรยายว่า เปเปอร์ทางวิชาการนี้บอกอะไร จนวันหนึ่งที่เราไปอ่านตัวบทวิเคราะห์เปเปอร์วิชาการออกอากาศได้ ก็คิดว่าเป็นเพราะว่า สังคมเริ่มที่จะยอมรับเรื่องพวกนี้ว่าเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้ปล่อยให้เป็นเรื่องของเทคโนแครตแต่เพียงอย่างเดียว 

ด้วยความที่บังเอิญมาก ๆ ว่า ได้รับมอบหมายให้ไปดูเรื่องไหน เรื่องนั้นก็ร้อนฉ่า อย่างดิจิทัลวอลเล็ต ไปออกรายการเฉพาะเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตก็หลายครั้งอยู่เหมือนกัน

แล้วหลังจากนั้นก็จะมีโจทก์เก่าของดิฉัน กสทช. เรื่องทรู - ดีแทค ก็ไปเรื่องทรู - ดีแทค แล้วก็พอไปนั่งกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ เราไม่มีธงอะไรนะ เราก็ศึกษาไปตามที่ควรจะเป็น ก็กลายเป็นว่า ไปเจอเรื่องที่มันไม่สมเหตุสมผลอีก ก็เลยช่วงนี้จะออกรายการคุณสรยุทธถี่หน่อย 

ยิ่งเราจะต้องสู้กับพรรคเพื่อไทยในเรื่องความสามารถ ความเชี่ยวชาญการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองมีชื่อเสียงเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน แล้วเราเป็นคนต้องไปสู้ในเรื่องนี้ เราก็คิดว่าเราใช้วิธีการนี้แหละ ที่ทำให้เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ๆ ในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจขึ้นมาได้ 

พอเราต้องออกรายการแบบนี้ หลาย ๆ ครั้งก็พยายามที่จะพูดให้ฟังง่ายขึ้นเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายเขาหยิบเอาโพสต์ที่เราโพสต์เรื่องบทความวิชาการไปเผยแพร่ต่อ ก็เป็นสิ่งที่เซอร์ไพรส์เรามาก ๆ แมสแล้วแม่ (หัวเราะ)

 

เรื่อง : ฟ้ารุ่ง ศรีขาว