‘หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ หมอสัตว์พิฆาตหมอคน อดีตแคนดิเดตประธานรัฐสภา จากพรรคก้าวไกล

‘หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ หมอสัตว์พิฆาตหมอคน อดีตแคนดิเดตประธานรัฐสภา จากพรรคก้าวไกล

‘หมอสัตว์พิฆาตหมอคน’ เขาคือ ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา สัตวแพทย์ที่เป็นแคนดิเดตประธานรัฐสภาจากพรรคก้าวไกล และผู้เอาชนะนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ในการเลือกตั้งปี 2562 ก้าวมาเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ก่อนถูกพรรคก้าวไกลขับออกจากพรรค

  • ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา นักการเมืองที่เป็นแคนดิเดตประธานรัฐสภา จากพรรคก้าวไกล มีผลงานและตัวตนที่น่าจับตา จากผลงานในสภาและกิจกรรมที่เคยเคลื่อนไหว
  • ปดิพัทธ์ สันติภาดา ถูกพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทักว่าหากได้เป็นประธานรัฐสภา จะเป็นคนที่เปลี่ยนสภาไปตลอดกาล
  • หลังการเลือกตั้ง ปดิพัทธ์ สันติภาดา ได้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง พรรคก้าวไกลมีมติขับหมออ๋องออกจากพรรค

ดูเหมือนว่าตำแหน่ง ‘ประธานรัฐสภา’ ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติจะกลายเป็นรอยร้าวใหญ่ ระหว่างสองพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้ง การต่อรองชิงไหวชิงพริบ จังหวะข่าวทางการเมือง เพราะประธานรัฐสภานั้นเป็นตำแหน่งสำคัญ ในการดำเนินการบรรจุวาระและผลักดันกฎหมายต่าง ๆ

และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ผู้คนได้รู้คำตอบแล้วว่าท้ายที่สุดจะเป็นใคร แต่ชื่อที่มาแรงที่สุดในนาทีนี้คงไม่มีใครเกิน นสพ.ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือที่แฟน ๆ ด้อมส้มเรียกติดปากว่า ‘หมออ๋อง’

เพราะขนาด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถึงกับจัดตารางเดินสายขอบคุณฐานเสียงโค้งสุดท้ายไปยังจังหวัดพิษณุโลกฐานเสียงของหมออ๋อง หลังเปิดตัวว่า ทางพรรคพร้อมสนับสนุนให้เป็นประธานสภาจากพรรคก้าวไกล พร้อมกับขึ้นปราศรัยและการันตีว่า

“มีความเหมาะสมในฐานะแคนดิเดตประธานสภาฯ ของพรรคก้าวไกล เพราะเป็นคนที่มีผลงานดีเด่น มีบทบาทและประสบการณ์ในการเป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ได้รับเสียงชื่นชมมากมายในการจัดการการประชุมและการประสานความร่วมมือกับองค์กรประชาชนที่มีเป้าหมายทำให้เกิดการพัฒนาการเมืองไทยในทุกมิติ และตนเชื่อว่าพ่อแม่พี่น้องประชาชนคนพิษณุโลกและคนทั้งประเทศ อยากให้โอกาสปดิพัทธ์ให้เข้าไปทำหน้าที่ประธานสภาฯ ที่จะเปลี่ยนสภาไทยไปตลอดกาล”

อะไรถึงทำให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลเชื่อมั่นในตัวอดีตหมอรักษาสัตว์คนนี้ สส.จังหวัดพิษณุโลก 2 สมัย ผู้เคยหาญกล้าสร้างตำนาน ‘หมอสัตว์พิฆาตหมอคน’ เอาชนะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่สวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์อย่างขาดลอย ชนิดคะแนนมากกว่าเกือบ 1 เท่าตัว

ก่อนที่จะมาเลือกตั้ง ปดิพัทธ์ ทำงานด้านสัตวแพทย์ หลังจากจบการศึกษาด้านสัตวแพทย์ศาสตร์ จากรั้วจามจุรี นอกจากงานประจำที่ดูแลสัตว์แล้ว สิ่งหนึ่งที่ปดิพัทธ์ ทำมาตลอดและซึมซับมิติของงานพัฒนาสังคมคือการทำงานกับเยาวชนและแก้ไขปัญหาสังคมกับสมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทย

ปดิพัทธ์ เป็นคนหนึ่งที่เคร่งครัดศาสนา ครั้งหนึ่งในการสวดอวยพรกับคณะคริสตจักรแห่งนิมิตพิษณุโลก เขาได้ขอพรว่า

“ขอพระเจ้าช่วยให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติความขัดแย้งด้วยสันติ ไม่มีใครต้องบาดเจ็บล้มตาย ความคิดเห็นแตกต่างได้รับการเคารพ รับฟัง และมีฉันทามติได้ ขอพระเจ้าช่วยผมให้เป็นนักการเมืองที่ซื่อสัตย์ ถ่อมใจ เป็นผู้รับใช้ของประชาชน ขอพระเจ้าอวยพรคนยากจน คนที่ลำบากจากเศรษฐกิจ คนที่ลำบากจากความอยุติธรรม และมีทางออกในที่สุด”

สะท้อนว่าเขามีความใส่ใจในการแก้ปัญหา และถ้าหากได้รับเลือกเป็นประธานสภา ปดิพัทธ์ จะเป็นชาวคริสเตียนคนแรกที่ได้เป็นประธานสภา ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเคยมีประธานสภาที่เป็นชาวมุสลิมอย่าง วันมูหะหมัดนอร์ มะทา ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีและได้รับเสียงชื่นชม

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ สุภาพบุรุษการเมืองจากแดนใต้ ประธานรัฐสภาไทยเชื้อสายมุสลิมคนแรก

ชีวิต สส.สมัยแรกในนามพรรคอนาคตใหม่ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่พรรคก้าวไกลหลังถูกยุบพรรคนั้น ถือว่าเป็นส.ส.คนหนึ่งที่ทำงานอย่างแข็งขัน เคยเป็นประธานของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน

แต่ซีนที่หลายคนจดจำได้ก็คือหลังเกิดเหตุ ‘กราดยิงโคราช’ ปดิพัทธ์ ในฐานะตัวแทนพรรคฝ่ายค้านได้ลุกขึ้นอภิปรายกรณีทุจริตสร้างบ้านพักสวัสดิการทหาร ที่กลายเป็นปมความเครียดของ ‘จ่าผู้ก่อเหตุ’ โดยแฉว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์รู้เห็นตลอดตั้งแต่ปี 2553 ที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก และพล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาเป็นต่อ จนกระทั่งการรัฐประหารยึดอำนาจ ปัญหาดังกล่าวก็ยังดำเนินต่อ นำไปสู่เหตุสลดและการสูญเสีย พร้อมกับเรียกร้องการปฏิรูปกองทัพตามแนวทางพรรคก้าวไกล

และก่อนการเลือกตั้งที่เขาเป็นตัวแทนพรรคออกมาพูดถึงความไม่พร้อม และแนวโน้มของความไม่โปร่งใสของกกต. ทั้งกรณีที่ตั้งใจว่าจะไม่รายงานคะแนนเรียลไทม์ และเรื่องการทำงานของตัวแทนประจำหน่วยที่อาจจะส่อเอื้อให้กับพรรคการเมืองบางพรรค  ทำให้การเลือกตั้งทั่วไป 2566 นั้นถูกจับตาเป็นพิเศษจากประชาชน ถึงกับมีผู้สมัครเข้าเครือข่ายจับตาเลือกตั้งจำนวนมาก

แต่ปดิพัทธ์เองก็เคยถูกตั้งคำถามจากสังคม และกองเชียร์พรรคก้าวไกล เมื่อครั้งเป็นหนึ่งในสส.พรรคก้าวไกล ที่ไม่โหวต พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่พรรคเป็นคนผลักดัน โดยรอบนั้นต้องออกมาไลฟ์สด ยกมือไหว้ขอโทษ และกล่าวว่า

“ขอโทษโหวตเตอร์ก้าวไกล โดยเฉพาะเขต 1 ก้าวไกล ที่หวังว่าผมจะโหวตแคมเปญที่มีการหาเสียงไว้ในปี 2562 เรื่องนี้ทำให้ผมพิจารณาหนักมากว่าจะเป็น สส.ต่อหรือไม่ ต้องแสดงความยินดีอย่างจริงใจที่สุดที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านวาระแรก ตอนแรกคิดว่าไม่มีโอกาสชนะ เพราะรัฐบาลมีร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และมีมติคว่ำ แต่ด้วยการรณรงค์อย่างแข็งขันของทุกท่าน และการร่วมมือของ สส.ในสภาหลายคนก็ผ่านได้และเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ”

ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ปดิพัทธ์ จะได้ทำงานเพื่อพิสูจน์ตัว โดยหลังจากได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนของพรรค ทางปดิพัทธ์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าทำไมตนเองถึงเหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ

“ผมมีความตั้งใจที่จะผลักดันรัฐสภาไทยให้เป็นสภาที่ก้าวหน้าที่สุดในเอเชีย ทั้งในแง่การออกกฎหมายและวัฒนธรรมองค์กร” ซึ่งได้ชูวาระ 3 ป. ‘ประสิทธิภาพ โปร่งใส ประชาชน’

กล่าวโดยสรุปก็คือ ประธานรัฐสภาต้องทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต้องไม่เกิดสภาล่มบ่อย เพราะภาษีที่ใช้นั้นมาจากประชาชนและงบประมาณนั้นจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุด ต้องโปร่งใส โดยการทำข้อมูลระบบเปิด (Open data) การจัดจ้างโปร่งใส เปิดข้อมูลการอภิปราย การทำงาน การเข้าประชุม การลงมติของสส. ให้ประชาชนทั่วไปตรวจสอบได้ง่าย

และท้ายที่สุด ต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นหัวใจ สะดวก เข้าถึงได้ง่าย และพร้อมให้บริการประชาชน เพราะประชาชนคือเจ้าของประเทศตัวจริง

สิ่งเหล่านี้ต้องจับตาว่า ถ้าหากปดิพัทธ์ มีโอกาสได้มาทำงานประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ จะสามารถผลักดันได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็ถือว่าเป็นมิติใหม่ที่ตัวแทนผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานรัฐสภาได้แสดงวิสัยทัศน์ก่อนที่จะมีการโหวต ยกระดับมาตรฐานใหม่ของการเมืองไทยไปอีกขั้น

Update (กองบรรณาธิการ): วันที่ 28 กันยายน 2566 พรรคก้าวไกลมีมติขับปดิพัทธ์ ออกจากพรรค เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้าน ส่งผลให้สส. จากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 106

ขณะที่พรรคก้าวไกลแถลงว่า ปดิพัทธ์ ยังคงยืนยันความประสงค์จะทำงานในฐานะรองประธานสภาต่อ พรรคก้าวไกลจึงต้องให้ปดิพัทธ์ ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคของพรรคก้าวไกล ตามบทบัญญัติแห่งข้อบังคับพรรคก้าวไกลและรัฐธรรมนูญ โดยอธิบายเหตุผลว่า เพื่อให้พรรคก้าวไกลสามารถทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์” ได้ อันเป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญต่อการทำงานของพรรค

 

หมายเหตุ: เนื้อหานี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อกรกฎาคม 2566 กองบรรณาธิการปรับปรุงข้อมูลและเรียบเรียงเนื้อหาใหม่เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566

เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ

ภาพ: NATION PHOTO

อ้างอิง:

Facebook/OngPadipat

Matichon Online

MGR Online

moveforwardparty.org

Thaipost

Thairath