‘วันชัย สอนศิริ’ ส.ว.จอมปะทะ(ความคิด) ผู้ก้าวมาจากต้นตำรับ ‘ทนายหน้าจอ’ สายฮาเฮ

‘วันชัย สอนศิริ’ ส.ว.จอมปะทะ(ความคิด) ผู้ก้าวมาจากต้นตำรับ ‘ทนายหน้าจอ’ สายฮาเฮ

‘วันชัย สอนศิริ’ คือต้นตำรับ ‘ทนายหน้าจอ’ สายฮาเฮ ในยุคที่ไอทีวี ยังออกอากาศ ในวันนี้ บทบาทเขาอยู่ในภาพจำของประชาชนว่า เป็น ส.ว. สายจอมปะทะ(ทางความคิด) ที่มีมุมมองแนวคิดแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

  • วันชัย สอนศิริ เป็นที่จดจำจากบทบาททนายหน้าจอ ให้ความรู้ทางกฎหมายที่เข้าใจง่าย และช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการคำปรึกษาทางกฎหมายทางไอทีวี
  • หลังจากบทบาททนายหน้าจอ วันชัย สอนศิริ เข้ามาสู่แวดวงการเมือง กระทั่งในวันนี้มีบทบาทเป็นส.ว. ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเผ็ดร้อนไม่แพ้ใคร

ย้อนกลับไปสัก 20 กว่าปีก่อน ก่อนที่วงการทีวีไทยจะมีเหล่า ‘ทนายหน้าจอ’ อย่าง ทนายตั้ม - ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร รายการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เข้าใจง่ายอย่างรายการ ‘แจ้งความ’ กับสองทนายคู่หูที่มาพร้อมอารมณ์ขันทางไอทีวี ทนายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช และทนายวันชัย สอนศิริ

ด้วยการแทรกข้อคิดทางกฎหมาย ความรู้ และมุกตลก ทำให้รายการรูปแบบดังกล่าวกลายเป็นที่นิยม พร้อมกับ ‘สองทนายคู่หู’ ก็กลายเป็นที่รู้จัก แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อสองทนายมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันไป ทนายประมาณเคยให้สัมภาษณ์ในคมชัดลึก ถึงอดีตคู่หูทนายวันชัยในช่วงการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า

“ไม่ได้โกรธกันจริงๆ ปล่อยแกไป แกจะด่าใครก็เอาเหอะ...ผมน่ะไม่มีสีเสื้อหรอก ไม่เอาสักสี แต่อาจารย์วันชัย สีเหลืองชัดเจน ชัดเจนเกินไป”

เรื่องเล่าจากคนใกล้ตัวนี้อาจจะทำให้เราพอเห็นภาพว่าทำไม ‘วันชัย สอนศิริ’ ปัจจุบันที่เป็นสมาชิกวุฒิสภามีจุดยืนทางการเมืองชัดเจนเช่นนี้

วันชัย คือผลผลิตจากคณะนิติศาสตร์ ลูกพ่อขุนฯ แหล่งบ่มเพาะทนายมือดีและทนายหน้าจอมารุ่นสู่รุ่น ด้วยความที่เป็นคนอารมณ์ดี มีอัธยาศัย เขาจึงได้เป็นนักบรรยายกฎหมายของสภาทนายความ ทักษะการพูดดังกล่าวทำให้มีโอกาสเข้ามาในวงการสื่อ โดยเข้ามาจัดรายการทางวิทยุคลื่น ‘ร่วมด้วยช่วยกัน’ ที่บริหารโดยสมชาย แสวงการ ที่ต่อมาก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งตัวตึงในวงการส.ว.

ในโลกของการเมือง วันชัย เริ่มมีชื่อเสียงเคยตัดสินใจลงสมัครส.ส.ในกรุงเทพฯ ในนามชาติพัฒนา แต่ก็พ่ายแพ้อย่างหมดรูปจนเริ่มเข้าใจว่าการเมืองในระบบนั้นยากกว่าที่คิด เพราะหลังจากนั้น วันชัยได้รับตำแหน่งแห่งที่จากการเมืองนอกระบบทั้งหมดสิ้น

หลังจากจุดแตกหักทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ทำให้สองทนายใส่ ‘คอนเวิร์ส’ กัน ทนายวันชัยก็หันไปจับคู่กับมัลลิกา บุญมีตระกูล ที่ต่อมากลายเป็นผู้มีอิทธิพลในพรรคประชาธิปัตย์

โดยในช่วงพันธมิตรฯ ทางทนายวันชัยมีโอกาสร่วมเคลื่อนไหวกับมวลชนเสื้อเหลืองของสนธิ ลิ้มทองกุล ทั้งในปี 2549 ที่นำไปสู่การรัฐประหารดร.ทักษิณ ชินวัตร และปี 2551 ในครั้งนั้นทำให้ทนายวันชัย ยิ่งมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับกลุ่มพลังอนุรักษนิยม โดยได้จัดรายการทางเอเอสทีวี ร่วมกับ ‘เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง’

และเมื่อมีการยุบพรรคพลังประชาชน พลิกขั้วเป็นรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหารของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ วันชัย ก็ได้รายการ ‘คลายปม’ ทาง NBT ที่กำกับดูแลโดย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

จุดยืนของวันชัย นั้นนับวันยิ่งชัดขึ้น ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทนายวันชัยร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส. และท้ายที่สุดนำไปสู่การทำรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และเป็นอีกครั้งที่วันชัย ได้รับการแต่งตั้ง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ส่วนมากมาจากขั้วตรงข้ามยิ่งลักษณ์ และบางส่วนร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส.

และก้าวต่อไปสู่อำนาจ วันชัยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือส.ว. โดยครั้งหนึ่งมีการเผยแพร่คลิปที่วันชัย พูดถึงอำนาจของส.ว. ต่อการเลือกตั้งและการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ในคลิปวันชัยกล่าวว่า

“ผมเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว. 250 คนนี้มีสิทธิ์ร่วมในการโหวตคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเป็นคำถามพ่วง พวกเราจำได้หรือเปล่า คำถามพ่วงนี้โหวตทั่วประเทศได้ 15 ล้านเสียง ว่าเห็นด้วยว่าให้ ส.ว. ที่คสช.ตั้งมาเนี่ย มีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี…ผมเป็นคนเริ่มต้นคำถามพ่วงและมีคนโหวตเห็นด้วย 15 ล้านเสียง ปรบมือให้ลูกศิษย์วัดหน่อย แปลว่า คสช.มีคนที่จะโหวตให้เขาเป็น นายกฯ อยู่ในกระเป๋า 250

ต่อไปนี้จะโหวตนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียง 375 คสช. มีอยู่ 250 (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น ไปหามาอีกสักร้อยกว่าเสียงก็ได้ 376 ก็เป็นนายกฯได้ แต่บริหารไม่ได้ จะต้องมีเสียงในสภาเกินกว่า 250 เพราะฉะนั้น เชื่อเหลือเกินว่า รัฐบาลที่เขามีอยู่แล้ว 250 หรือ คสช. เขาไปมีพรรคอื่น ๆ รวมกัน ก็เชื่อเหลือเกินว่า ได้มาอีกสักเกินกว่า 280 ก็เป็นรัฐบาลได้”

ซึ่งสะท้อนมุมมองของวันชัยว่า ส.ว.จะเป็นกลไกสำคัญที่ส่งผลต่อพรรคการเมือง และเป็นที่แน่นอนว่า การเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยเอาชนะการเลือกตั้งไปได้ แต่ก็ไม่สามารถผ่านส.ว.ที่ยกมือให้พรรคพลังประชารัฐของพล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจ เป็นไปดังคลิปที่วันชัยพูด

ในปี 2564 วันชัย มีท่าทีอ่อนลง โดยยอมรับว่ามีการทบทวนบทบาทและหน้าที่ของส.ว.โดยส่งสัญญาณว่า

“ถ้า ส.ส. รวมกันได้เกิน 250 ยังไง ๆ ส.ว. ต้องเลือกคนนั้น เป็นนายกรัฐมนตรี ขืนไปเลือกคนอื่นให้ไปเลือกนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาล ท่านประธานก็ทราบอยู่แล้ว ท่านสมาชิกก็ทราบอยู่แล้ว รัฐบาลนั้นก็อยู่ไม่ได้ ส.ว. ก็อยู่ไม่ได้ เพราะกำลังโหวตสวนกระแสประชาชน”

แต่แล้วท่าทีล่าสุดหลังจากการเลือกตั้ง 2566 ที่เคยคาดการณ์ว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะ กลายเป็นพรรคก้าวไกล ท่าทีล่าสุดของวันชัย เปลี่ยนไปทันที เมื่อไปออกรายการ กรรมกรข่าวคุยนอกจอยามเย็น ของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม หลังผลการเลือกตั้งออกหมาด ๆ โดยให้สัมภาษณ์ว่า  “แต่ผมเดิมทีเดียว ผมก็คิดว่าจะปิดสวิตช์ตัวเอง แปลว่าเราปฏิเสธ ไม่เห็นด้วย แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ต้องเขียนให้ถึง 376 แต่ตัวผมเองชัดเจนอย่างที่เรียนมาแล้วตั้งแต่ต้น” สร้างความเป็นเดือดเป็นร้อนให้กองเชียร์ฝ่ายประชาธิปไตยที่รวบรวมเสียงได้มากถึง 310 เสียง

ต้องจับตาว่าการเลือกตั้ง 2566 จะจบลงด้วยชัยชนะของพรรคก้าวไกล และพรรคฝ่ายค้านเดิมที่จะผ่านด่านส.ว.ได้หรือไม่ หรือส.ว.จะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไปสู่เหตุการณ์อีกแบบ

 

เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ

ภาพ: แฟ้มภาพ NATION PHOTO

อ้างอิง:

MATICHON

Workpoint Today

คมชัดลึก