ตระกูล ‘ชินวัตร’ บนถนนการเมืองร่วม 50 ปี ยุคการเมืองเก่าสายท้องถิ่น สู่สภาพ ‘คนแดนไกล’

ตระกูล ‘ชินวัตร’ บนถนนการเมืองร่วม 50 ปี ยุคการเมืองเก่าสายท้องถิ่น สู่สภาพ ‘คนแดนไกล’

หากนับรุ่นก่อนหน้า ‘ทักษิณ ชินวัตริ’ ตระกูล ‘ชินวัตร’ เดินบนถนนการเมืองร่วม 50 ปี ตั้งแต่ยุคการเมืองเก่าสายท้องถิ่น ก่อนเดินขึ้นสู่ระดับประเทศ แล้วในปัจจุบัน กลับกลายเป็นสภาพ ‘คนแดนไกล’ ได้อย่างไร?

  • บิดาของ ‘ทักษิณ ชินวัตร ’คือ เลิศ ชินวัตร คลุกคลีกับธุรกิจและการเมืองท้องถิ่นในเชียงใหม่มายาวนาน 
  • เลิศ ชินวัตร ฝากทักษิณ ลูกชายเป็นนายตำรวจติดตามปรีดา พัฒนถาบุตร ซึ่งเป็นรัฐมนตรี 
  • เลิศ ชินวัตร วางมือทางการเมืองเมื่อปี 2519 ขณะที่ทักษิณ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ก่อนจะกลายเป็น ‘คนแดนไกล’ ในภายหลัง

วลี ‘เชียงใหม่แพ้ไม่ได้’ ที่พูดกันปากต่อปากในกลุ่มผู้สนับสนุนตระกูลชินวัตรกลายเป็นโจทย์เลือกตั้ง 2566 ที่แกนนำพรรคเพื่อไทยเชียงใหม่ จะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะทั้ง 10 เขต

ก่อนจะถึงการเลือกตั้งปี 2544 สมรภูมิเลือกตั้งเชียงใหม่ ไม่มีพรรคใด ตระกูลใดยึดครองที่นั่ง ส.ส.โดยเบ็ดเสร็จ และบ้านใหญ่กระจายตัวไปตามอำเภอรอบนอก พื้นที่ใครพื้นที่มัน

หลังชัยชนะของพรรคไทยรักไทย ทักษิณ ชินวัตร ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และนายกฯ ชาวเชียงใหม่คนแรก จึงเกิดความรักและศรัทธาของคนในพื้นที่ และไม่ว่าพรรคการเมืองของทักษิณจะชื่ออะไร ก็คือพรรคของคนเชียงใหม่

การเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้สร้างปรากฏการณ์สีส้มล้มช้างในหลายจังหวัด เฉพาะเขตเลือกตั้งที่ 1 อ.เมืองเชียงใหม่ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ไม่ชนะ แต่ก็พ่ายอดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แค่ 700 คะแนน

ดังนั้น การเลือกตั้งปี 2566 การต่อสู้ในเขต 1 อ.เมืองเชียงใหม่ ระหว่าง จักรพล ตั้งสุทธิธรรม อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่ย้ายมาจากเขต 3 กับ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู พรรคก้าวไกล จึงถูกพูดถึงมากที่สุด และเป็นที่มาของวลี ‘เชียงใหม่แพ้ไม่ได้’ จากฟากฝั่งกองเชียร์ตระกูลชินวัตร

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยพูดคุยกับ The Momentum ว่าด้วยเรื่องการเมืองเชียงใหม่ จากอดีตถึงปัจจุบัน

“เชียงใหม่มีระบบเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนกว่าที่จะมีใครมาผูกขาดทรัพยากรได้ทั้งหมด..ตระกูลชินวัตรเองก็พยายามที่จะเข้าไปเชื่อมกลุ่มที่มีอิทธิพลย่อย ๆ อย่างในชุมชน ก็จะมีคนผูกขาดทรัพยากรอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ได้ผูกขาดทั้งจังหวัด แบบจังหวัดเล็ก ๆ ทักษิณเองก็อยากจะไปเชื่อมกับคนพวกนี้อยู่ เพียงแต่ว่าคนพวกนี้ไม่ใช่ตัวชี้ขาด นโยบายของเขาต่างหากที่เป็นตัวชี้ขาดทั้งหมด”

50 ปีที่แล้ว เลิศ ชินวัตร เป็นประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนได้รับเลือกเป็น ส.ส.เชียงใหม่ กระทั่งลูกสาวคนโตของเลิศ พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งปี 2529 ดูเหมือนตระกูลชินวัตร จะปิดฉากการเมืองแค่ตรงนั้น

ปี 2544 ทักษิณ ชินวัตร คิดใหม่ ทำใหม่ ด้วยการทำการเมืองเชิงนโยบายเอาชนะใจประชาชน ส่งผลให้ทักษิณครองใจคนเชียงใหม่ และคนไทยทั้งประเทศ

ถนนการเมืองของตระกูล ‘ชินวัตร’: เชียงใหม่ก้าวหน้า

ทักษิณ ชินวัตร มีบรรพบุรุษเชื้อสายจีนแคะ หรือฮากกาเหมือนกัน โดย คูชุนเส็ง คือต้นตระกูลชินวัตร ที่เดินทางมาจากกวางตุ้ง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยอยู่ที่ จ.จันทบุรี

ต่อมา เชียง แซ่คู ลูกชายคนโตของคูชุนเส็ง ย้ายถิ่นฐานไปค้าขายที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ หลังจากนั้น แซ่คูก็ได้เปลี่ยนเป็น ชินวัตร จนมาถึงยุคสร้างเนื้อสร้างตัวของ เลิศ ชินวัตร บิดาของทักษิณ

จากชินวัตร รุ่น 1 คือคูชุ่นเส็ง เคลื่อนตัวจากจันทบุรีมาเชียงใหม่ เป็นจุดกำเนิดชินวัตร รุ่น 2 ปู่เชียง-ย่าแสงของทักษิณ

เชียงและแสง มีบุตรธิดารวม 12 คน แต่ผู้ที่มีบทบาททางการเมือง ได้แก่ สุเจตน์ ชินวัตร, เลิศ ชินวัตร และสุรพันธ์ ชินวัตร

เลิศ ชินวัตร แต่งงานกับยินดี ระมิงค์วงศ์ มีบุตรและธิดารวม 10 คน ปักหลักสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ที่ อ.สันกำแพง เลิศ หรือ ‘พ่อเลี้ยงเลิศ’ ที่ชาวเชียงใหม่เรียกติดปาก เป็นหัวหอกของชินวัตร รุ่น 3 ในการทำธุรกิจและก้าวสู่ถนนการเมือง

หลังจากจบ ม.8 เลิศได้เข้าดูแลกิจการของครอบครัว ซึ่งโรงงานทอผ้าไหมชินวัตรพาณิชย์ และตลาดสดสันกำแพง ต่อมา เลิศประกอบอาชีพอีกหลายอาชีพ ทั้งรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามต่างจังหวัด เปิดร้านกาแฟที่ห้องแถวไม้หน้าตลาดสันกำแพง

เลิศขยับจาก อ.สันกำแพง เข้ามาตัวเมืองเชียงใหม่ โดยหันมาทำงานธนาคารนครหลวงไทย สาขาเชียงใหม่ ตำแหน่งหัวหน้าสินเชื่อ จากนั้น เลิศได้ร่วมหุ้นทำโรงหนังศรีวิศาล และโรงหนังชินทัศนีย์ พร้อมกับซื้อกิจการรถเมล์ในเมืองเชียงใหม่ คนเชียงใหม่สมัยนั้นต่างคุ้นเคยกับ ‘รถเมล์พ่อเลี้ยงเลิศ’

ปี 2511 เลิศได้เข้าร่วมกลุ่มเชียงใหม่ก้าวหน้า เพื่อลงสมัครสมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหัวหน้ากลุ่มคือ เจ้าชัยสุริยวงศ์ ณ เชียงใหม่ และปรีดา พัฒนถาบุตร เป็นเลขานุการฯ

การเลือกตั้งท้องถิ่นหนนั้น กลุ่มเชียงใหม่ก้าวหน้าประสบความสำเร็จ เลิศ ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจังหวัด เขต อ.สันกำแพง และเป็นประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่

 

‘ชินวัตร’ ในการเมืองเก่า

การเลือกตั้ง 12 มกราคม 2512 เลิศ ชินวัตร ลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ในนามผู้สมัครอิสระ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.เชียงใหม่ ถือว่าเป็นชินวัตร รุ่น 3 คนแรกที่ประสบความสำเร็จทางการเมือง

ส่วนปรีดา พัฒนถาบุตร จากกลุ่มเชียงใหม่ก้าวหน้า ได้รับเลือกเป็น ส.ส.สังกัดพรรคสหประชาไทย ทั้งเลิศ และปรีดา ก็ยังเป็นเพื่อนมิตรทางการเมือง

บทบาท ส.ส.เชียงใหม่ของเลิศ ที่มีการบันทึกไว้ในตำนานพรรคอิสระ เมื่อ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ที่รวบรวม ส.ส.ไม่สังกัดพรรคมาอยู่ในซุ้มเดียวกัน โดยมี เลิศ ชินวัตร และโกศล ไกรฤกษ์ เป็นผู้ประสานงาน

ด้วยเหตุที่สังกัดพรรคอิสระ จึงทำให้เลิศ ลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ปี 2518 สังกัดพรรคสังคมชาตินิยม ที่มี ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค ผลเลือกตั้ง พ.ศ.นั้น เลิศพลิกพ่ายให้คนหนุ่มรุ่นใหม่ ธวัชชัย นามวงศ์พรหม สังกัดพรรคไท ขณะที่ ปรีดา พัฒนถาบุตร ได้รับเลือกเป็น ส.ส.อีกสมัย แต่สังกัดพรรคสันติชน

เมื่อพรรคสันติชน เข้าร่วมรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปรีดาได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จังหวะเดียวกับ ทักษิณเรียนจบนายร้อยตำรวจ เลิศจึงฝากให้เป็นนายตำรวจติดตามรัฐมนตรีปรีดา

จริง ๆ แล้ว เลิศกับกับปรีดา เคยร่วมไม้ร่วมมือกันในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นเชียงใหม่มาแต่ก่อนปี 2510 เพราะปรีดาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มประชาสันติ และปรีดาเป็นเทศมนตรี

ปี 2519 เลิศวางมือทางการเมือง แต่ได้ส่งลูกสาวคนโต เยาวลักษณ์ ชินวัตร ลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ได้เป็นเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ โดยสังกัดกลุ่มประชาสันติ

ปีเดียวกัน สุรพันธ์ ชินวัตร น้องชายเลิศ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.เชียงใหม่ พรรคชาติไทย และได้รับเลือกติดต่อกันมาอีก 4 สมัย ซึ่งสุรพันธ์ ถือว่าเป็นชินวัตร รุ่นที่ 3 คนที่สอง ที่ได้เป็น ส.ส.เชียงใหม่

 

ชินวัตร รุ่น 4

การเลือกตั้งปี 2529 สุรพันธ์ ชินวัตร ตัดสินใจเลือกหลานสาว เยาวลักษณ์ ชินวัตร ร่วมทีมลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคชาติไทย ปรากฏว่า สุรพันธ์ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.อีกสมัย ส่วนหลานสาวสอบตก

อย่างไรก็ตาม พ.ศ.โน้น สุรพันธ์ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตามโควตาของพรรคชาติไทย

ดังนั้น เยาวลักษณ์ ลูกสาวเลิศ จึงเป็นชินวัตร รุ่น 4 คนแรกที่เล่นการเมืองระดับชาติ ถัดมาจึงเป็นทักษิณ ตามมาด้วย เยาวภา, พายัพ และยิ่งลักษณ์

ช่วงเวลาพี่สาวเยาวลักษณ์ และอาสุรพันธ์ เล่นการเมือง ทักษิณกำลังทำธุรกิจโทรคมนาคม ก่อนจะตัดสินใจรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม และก้าวสู่ตำแหน่งนายก รัฐมนตรี ในปี 2544

ในหนังสือ Thaksin Shinawatra Theory and Thought ทักษิณได้ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า

“ชีวิตมันก้าวกระโดด มันผ่านสังคมกรุงเทพฯ น้อยไป ผ่านสังคมของอีลิตน้อยไป มีแต่สังคมทหาร ตำรวจ สังคมธุรกิจไม่กว้างเท่าไหร่ เราก็เลยไม่ได้อยู่ในสังคมอีลิต ถึงแม้ฐานะเราอยู่ในอีลิต แต่ในสังคมอีลิตเราไม่มี อันนั้นคือความโง่”

ช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน ทักษิณในฐานะชินวัตร รุ่น 4 พูดถึงเรื่องตัวเขาไม่เข้าใจสังคมอีลิตอยู่หลายครั้ง เหมือนจะสื่อให้เห็นว่า ลูกชายนักการเมืองบ้านนอก อาจรู้ลึกการเมืองแบบเก่า แต่เข้าไม่ถึงสังคมชั้นสูง จึงต้องกลายเป็น ‘คนแดนไกล’ ตราบเท่าทุกวันนี้

 

เรื่อง: ชน บทจร

ภาพ: แฟ้มภาพ NATION PHOTO และ Getty Images