วิศาล ภัทรประสิทธิ์ “เจ้าพ่อโรงเหล้าภาคเหนือ” สู่ถนนการเมืองหลัง 14 ตุลาฯ

วิศาล ภัทรประสิทธิ์ “เจ้าพ่อโรงเหล้าภาคเหนือ” สู่ถนนการเมืองหลัง 14 ตุลาฯ

“เจ้าพ่อโรงเหล้าภาคเหนือ” สู่ถนนการเมืองหลัง 14 ตุลา

ย่งคุน แซ่เล้า-มังกรหัวดง โรงเหล้า และพรรคพัฒนาจังหวัด การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเดือนตุลาคม 2516 ได้เอื้ออำนวยให้เจ้าสัวค้าเหล้ารายหนึ่งเข้าสู่สนามเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับนายทุนภูธรอีกจำนวนมาก ที่เห็นโอกาสจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีมาตรการใหม่ว่าด้วยผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และนายกรัฐมนตรีต้องมาจากผู้เป็น ส.ส.เท่านั้น การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 จึงมีพรรคการเมืองจำนวน 42 พรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น เหนืออื่นใด รัฐธรรมนูญยังเปิดกว้างให้ “บุตรคนต่างด้าว” ได้ลงสมัคร ส.ส.และไม่จำกัดวุฒิการศึกษา บรรดาลูกจีนที่ยึดกุมเศรษฐกิจท้องถิ่น จึงกระโจนสู่เวทีการเมือง พรรคสังคมชาตินิยม ภายใต้การนำของ “โค้วตงหมง” ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มทหาร กลายเป็นศูนย์รวม “มังกรบ้านนอก” ที่อยากเป็นผู้แทนฯ แต่ ย่งคุน แซ่เล้า ผู้ค้าเหล้ารายใหญ่ของภาคเหนือ ตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองเอง หัวดงของคนแซ่เล้า ตำบลหัวดง บ้านป่าบ้านดง แต่มีระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองพิจิตร 15 กิโลเมตร จึงทำให้หัวดงเป็นย่านการค้า และหัวดงในอดีต อาศัยแม่น้ำน่าน เป็นเส้นทางคมนาคม เชื่อมต่อกับเมืองพิจิตรและอำเภออื่นๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กิมจุ้ย แซ่เล้า นักแสวงโชคจากแผ่นดินจีนพาครอบครัวมาตั้งรกรากที่ ต.หัวดง โดยเริ่มต้นมาจากการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ในจังหวัดพิจิตร จากนั้นก็มายึดอาชีพขายหมู ค้าพืชไร่ เมื่อพืชไร่ประสบปัญหาขาดทุน กิมจุ้ยจึงหันเหมาค้ายาเส้นแทน โดยมอบหมายให้ ย่งคุน แซ่เล้า บุตรชายคนโต เป็นผู้ดูแลกิจการค้ายาเส้น และธุรกิจของตระกูลทั้งหมด จุดเปลี่ยนบนเส้นทางธุรกิจของย่งคุน คือการหันไปค้าเหล้า โดยยื่นประมูลโรงเหล้าจากกรมสรรพสามิต เปิดขายเหล้าโรง หรือเหล้าขาว 40 ดีกรี โดยขายทั้งปลีกและส่ง ซึ่งการค้าเหล้าโรง สร้างรายได้เข้ากระเป๋าอย่างเป็นกอบเป็นกำ เสี่ยย่งคุนประมูลโรงเหล้าโรงแรกได้ที่พิษณุโลก ในนามของ บริษัท ภัทรกิจการสุรา จำกัด จากนั้นก็ชนะการประมูลโรงกลั่นเหล้าในอีก 8 จังหวัด ได้แก่เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ อุตรดิตถ์ น่าน และพิจิตร การคว้าสัมปทานโรงเหล้าในภาคเหนือ ทำให้เสี่ยย่งคุนเข้าไปสนิทสนมนักการเมืองหลายคน ซึ่งการที่ทุนภูธรได้เข้าไปสัมพันธ์กับการเมืองท้องถิ่นนั้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ก่อนหน้าที่จะกลายเป็น “เจ้าพ่อโรงเหล้าภาคเหนือ” ย่งคุน แซ่เล้า หรือชื่อไทย วิศาล ภัทรประสิทธิ์ ได้รับเลือกเป็นกำนันตำบลหัวดง และผู้คนในพิจิตรมักเรียกเขาว่า “กำนันย่งคุน” จนติดปาก ตระกูล “ภัทรประสิทธิ์” ได้เป็นกำนันตำบลหัวดง สืบต่อกันมากว่า 60 ปี นับเนื่องจากกำนันย่งคุน ส่งต่อให้น้องชาย วิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ จนถึงปัจจุบัน กำนันหัวดง ก็ยังเป็นคนในตระกูลภัทรประสิทธิ์ พรรคของภัทรประสิทธิ์ การเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 กำนันย่งคุน หรือ วิศาล ภัทรประสิทธิ์ ตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคพัฒนาจังหวัด” โดยได้ยื่นจดทะเบียนต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2517 มังกรหัวดงได้เวลาออกจากโรงเหล้าเข้าสู่ถนนสายเลือกตั้ง เสี่ยย่งคุน มอบหมายให้ สฤษดิ์ เพ็ญสุภา เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนรองหัวหน้าพรรค ได้แก่สองพี่น้อง วิศาล ภัทรประสิทธิ์ และ วิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ หลัง 14 ตุลา สายลมบูรพาแดงได้พัดผ่านเมืองพิจิตรอยู่บ้าง พรรคพัฒนาจังหวัด เลยเขียนอุดมการณ์ของพรรคไว้สวยหรูว่า “พรรคพัฒนาจังหวัด จะมุ่งยกระดับชนชั้นกรรมาชีพให้มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยยึดถือเกษตรกรเป็นหลักใหญ่ เช่น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ และชาวประมง...” หลายคนอาจไม่เชื่อ พรรคพัฒนาจังหวัด ส่งผู้สมัคร ส.ส.ทั้งประเทศ เพียงคนเดียวคือ วิศาล ภัทรประสิทธิ์ หมายเลข 14 จังหวัดพิจิตร ซึ่งมีเขตเดียว ส.ส.3 คน ในปีนั้น มีผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่อีกคนหนึ่งชื่อ ไพฑูรย์ แก้วทอง เจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ลงสมัครในนามพรรคพลังใหม่ โดยวิศาล และไพฑูรย์ต้องต่อสู้กับสองอดีต ส.ส.พิจิตร คือ ร.ต.พายัพ ผะอบเหล็ก พรรคเกษตรสังคม และยะเลิศร์ วงศ์ทองเหลือง พรรคประชาธิปัตย์ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า วิศาล ภัทรประสิทธิ์ ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยไพฑูรย์ แก้วทอง และยะเลิศร์ วงศ์ทองเหลือง การเมืองหลังเลือกตั้ง 2518 ได้รับการโจษขานว่า สุดพิสดาร เมื่อพรรคกิจสังคม 18 เสียงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคพัฒนาจังหวัด ร่วมกับอีกหลายสิบพรรคการเมือง สนับสนุน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อพรรคพัฒนาจังหวัด มี 1 เสียง เจ้าสัววิศาล จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และใบหน้ารัฐมนตรี ในรัฐบาลผสม 17 พรรค ได้สะท้อนภาพปฐมบทแห่งการยึดกุมอำนาจรัฐของกลุ่มทุนภูธร การที่รัฐบาลคึกฤทธิ์เป็นรัฐบาลผสม 17 พรรคนั้น ซึ่งไร้เสถียรภาพ ไม่มั่นคง และหม่อมคึกฤทธิ์ต้องเลือกหนทางยุบสภา โดยจัดให้มีการเลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 เจ้าสัววิศาลนำพรรคพัฒนาจังหวัดลงสนามเลือกตั้งอีก โดยคราวนี้ วิศาลลงสมัคร ส.ส.คู่กับ ดร.ยุพา อุดมศักดิ์ ชาว อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งการเลือกตั้ง 26 มกราคม 2518 ดร.ยุพาลงสมัคร ส.ส.ที่กรุงเทพฯ สังกัดพรรคธรรมสังคม แต่สอบตก หลังปิดหีบเลือกตั้ง วิศาล จูงมือ ดร.ยุพา เข้าสภาฯ แม้ 2 เสียงของพรรคพัฒนาจังหวัด จะไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลผสม ที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เจ้าสัวหัวดง ก็ให้การสนับสนุนขั้วรัฐบาลผสม 4 พรรค โดยตัวเขาเองเป็นที่ปรึกษา เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง มังกรหัวดงมาไกลกว่าที่ฝัน จากกำนันหัวดง ก้าวสู่เวทีการเมืองระดับชาติ และได้เข้าสู่อำนาจรัฐ ถึงไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แค่ตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ และรัฐมนตรีคลัง เพียงเท่านี้เจ้าสัวบ้านนอก ก็ได้รับการยอมรับจากมหาเศรษฐีเมืองหลวงมากขึ้น ความมุ่งมั่นและความทะเยอทะยานของวิศาล มิได้จบแค่นั้น เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมหุ้นกับ อุเทน เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการบริษัท สุรามหาราษฎร์ จำกัดในขณะนั้น โดยกลุ่มภัทรประสิทธิ์ถือหุ้น 13% รองจากเจริญ สิริ วัฒนภักดี ผลกำไรมหาศาลจากธุรกิจเหล้า คือฐานเงินทุนใหญ่ที่ ทำให้วิศาลนำไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย และจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง เมื่อเขาหันมาจับธุรกิจธุรกิจการเงิน มรดกการเมืองของย่งคุน เมืองไทยช่วงปลายปี 2519 – 2520 มีรัฐประหารถึง 2 ครั้ง และการก่อกบฏอีก 1 ครั้ง พรรคพัฒนาจังหวัดได้ถูกยุบไป พร้อมการฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2521 กำนันย่งคุนหรือวิศาล ก็ไม่คิดตั้งพรรคการเมืองอีก เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ไม่เปิดโอกาสให้ลูกจีนได้สมัคร ส.ส. วิศาลจึงหันไปสนับสนุน ดร.ยุพา อุดมศักดิ์ เป็นผู้แทนฯ ในสังกัดพรรคชาติไทย แล้ววันจากพรากก็มาถึง เจ้าสัวย่งคุนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530 ภรรยาและลูกๆ ได้นำร่างของเขาไปบรรจุยังฮวงซุ้ย ณ เขาโรงครัว ต.หัวดง อ.เมือง จ.พิจิตร สิ้นบุญวิศาล คู่ชีวิตอย่างนงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์ ได้ถ่ายทอดงานบริหารสู่ทายาทรุ่นที่ 3 โดยมอบหมายให้ ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ลูกชายคนโตให้ดูแลกิจการทั้งหมดของตระกูล การเลือกตั้ง 2 กรกฎาคม 2538 ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส. ตามคำชักชวนของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ประดิษฐ์ได้เป็น ส.ส.พิจิตร ตามรอยเท้าของเจ้าสัววิศาล และมีบทบาททางการเมืองมากมาย ทั้งเป็นรัฐมนตรี และเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะย้ายไปตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และเข้าสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ปัจจุบัน ประดิษฐ์มุ่งทำธุรกิจเป็นหลัก เป็นประธานคณะกรรมการบริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) และเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต้นปี 2562 วินัย ภัทรประสิทธิ์ ลูกชาย วิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ จะลงสมัคร ส.ส.เขต 1 พิจิตร สังกัดพรรคไทยรักษาชาติ โดยวินัย เป็น ส.ส.พิจิตรมาแล้ว 3 สมัย สำหรับ วิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ น้องเจ้าสัววิศาล ก็เป็นกำนัน ต.หัวดง เป็นรุ่นที่ 2 เมื่อหัวดงยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลตำบล ผู้บริหารก็คือ ภัทรประสิทธิ์ รุ่นที่ 3 หัวดงเป็นบ้านเกิดเรือนตายของย่งคุน แซ่เล้า หรือเล้า ย่งคุน ทุนจีนภูธร ผู้ผงาดทายท้าไทคูนนครบาล หัวดงในบริบททางการเมือง ก็ยังเป็นปราการอันแข็งแกร่งของตระกูลภัทรประสิทธิ์ เรื่อง: “ชน บทจร” นามปากกานักเขียนอิสระ สมัยที่นำเสนอรายงานการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ในนิตยสารข่าวพิเศษ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่มา info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=8104 info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=4808 info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=2728