นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์: นิยามรักของหมอนักเดินทางในวันที่กลับมาเปิดคลินิกฟื้นฟูกายใจ

นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์: นิยามรักของหมอนักเดินทางในวันที่กลับมาเปิดคลินิกฟื้นฟูกายใจ

‘หมอเปียง - กันตพงศ์ ทองรงค์’ หมอนักเดินทางเจ้าของเพจ PYONG: Traveller x Doctor ชายผู้หวังจะเห็นคุณภาพชีวิตคนไข้ดีขึ้นโดยการนำเวชศาสตร์ฟื้นฟูเข้ามาช่วย

หนึ่งวันของคุณใช้ไปกับการทำอะไรบ้าง

คือคำถามที่ติดอยู่ในใจเราไม่หยุด หลังจากพูดคุยกับ ‘หมอเปียง - กันตพงศ์ ทองรงค์’ หมอนักเดินทางเจ้าของเพจ PYONG: Traveller x Doctor ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามหลักแสนเข้าไปแล้ว เขาแบ่งเวลาชีวิตหลังจากทำหน้าที่ดูแล รักษา และเยียวยาผู้ป่วยตลอดทั้งวัน โดยการหันเข้าหาโลกศิลปะ เขาชื่นชอบการวาดรูป หลงใหลในการเก็บเกี่ยวช่วงเวลาแสนพิเศษผ่านการลั่นชัตเตอร์ บางครั้งก็หันไปฝึกสมาธิผ่านการปั้นกระถางต้นไม้ ออกแบบทุกอย่างขึ้นมาใหม่ จนก่อกำเนิดเป็น ‘รีจิส แพลนโทเปีย’ แบรนด์กระถางต้นไม้สไตล์วาบิ ซะบิ (Wabi Sabi) ที่ทำร่วมกับครอบครัว

นี่คือเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ที่หมอเปียงทำในแต่ละวัน แต่ก็ทำเอาเรารู้สึกทึ่งไม่น้อยแล้ว เพราะแค่คิดภาพว่าจะต้องโฟกัสกับการดูแลคนไข้ที่มีอาการแตกต่างกันตลอดวัน จะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปทำสิ่งที่รักอีก หมอทำให้เรานึกถึงประโยคนึงว่า ‘หมอทำทุกอย่างราวโลกนี้ไม่ได้มีแค่ 24 ชั่วโมง แต่มีเวลาเท่าทวีคูณ’

The People กลับมาพูดคุยกับหมอเปียงอีกครั้ง หลังจากเคยแลกเปลี่ยนบทสนทนาไปเมื่อวันวาน และในเดือนแห่งความรักนี้คงไม่มีวาระไหนจะเหมาะสมไปกว่าการถามคุณหมอ ถึงความรักในอุดมคติของเขาอีกแล้ว

นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์: นิยามรักของหมอนักเดินทางในวันที่กลับมาเปิดคลินิกฟื้นฟูกายใจ

เรียนต่อเฉพาะทาง เพราะอยากเห็นทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น

สามปีก่อนหมอเปียงบอกกับ The People ว่าเขากำลังเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation Medicine) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย วันนี้เส้นทางชีวิตของเขาสำเร็จตามสิ่งที่วาดหวังไว้ หลังจากเรียนจบ เขานำศาสตร์ที่ได้รับมาเปิดคลินิกของตัวเองในชื่อ PYONG Rehabilitation Clinic ตั้งอยู่ที่ชั้น L Gaysorn Village ราชประสงค์ แม้จะเป็นคลินิกเปิดใหม่แต่เรากลับรับรู้ได้ถึงความรักที่แทรกซึมอยู่ทุกมุมห้อง อาจเป็นเพราะเขาเป็นคนออกแบบ ตกแต่ง จัดวาง อุปกรณ์ทุกชิ้นด้วยตัวเอง จนกลายเป็นสถานที่ที่สื่อให้เห็นถึงตัวตนของเขาได้อย่างพอเหมาะพอดี

หมอเปียงบอกว่าคลินิกแห่งนี้ยังเปิดได้แค่สี่เดือน แต่เป็นสี่เดือนที่ทำให้เขาเห็นถึงชีวิตที่เปราะบางและเจ็บปวด แม้ว่าช่วงปีแรกที่ตัดสินใจเรียนหมอ เขาจะไม่มีความคิดว่าจะต่อเฉพาะทางสาขาไหนเป็นพิเศษ แต่หลังจากได้เรียนรู้ เก็บเกี่ยวทุกอย่างเท่าที่นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งจะทำได้ ก็ทำให้เขาเห็นแล้วว่า เวชศาสตร์ฟื้นฟูคงช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้นไม่น้อย

“ตอนที่เราเข้ามาเรียนตอนปี 1 เราก็จะได้เห็นเคสแบบนึง เราก็จะได้เรียนรู้แบบนึง พอเราขึ้นวอร์ดตอนอยู่ปี 4 ได้ไปเจอผู้ป่วยจริง ๆ เราก็จะได้เห็นเคสอีกรูปแบบนึง ซึ่งมันก็จะทำให้เราได้เจอกับความหลากหลาย ได้เห็นสไตล์แต่ละเฉพาะทางมันไม่ได้เหมือนกัน

“ซึ่งเราก็ไม่สามารถบอกได้ตั้งแต่ต้นว่าอยากทำเฉพาะทางรูปแบบไหน เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ต่าง ๆ เข้ามาประกอบ เรารู้แค่ว่า เราอยากจะเป็นคนคนนึงที่เข้าไปมีส่วนในการช่วยทำให้ชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ทำให้เขาดีขึ้นจากการที่เราเข้าไปช่วยเหลือในจุดตรงนั้น”

นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์: นิยามรักของหมอนักเดินทางในวันที่กลับมาเปิดคลินิกฟื้นฟูกายใจ นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์: นิยามรักของหมอนักเดินทางในวันที่กลับมาเปิดคลินิกฟื้นฟูกายใจ สำหรับคนที่สงสัยว่า PYONG Rehabilitation Clinic จะช่วยฟื้นฟูกายใจได้อย่างไร หมอเปียงอธิบายอย่างย่นย่อว่า นี่คือสถานที่ดูแลเกี่ยวกับปัญหาปวดเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ออฟฟิศซินโดรม และอีกหลายต่อหลายสิ่ง

เขามองเห็นความเป็นไปของชีวิตผู้ป่วยแทบทุกสัญชาติที่แวะเวียนเข้ามา เพราะปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่หาทางออกไม่ได้ แต่เมื่อเจอกับหมอเปียง ผู้ป่วยหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อาการที่เป็นอยู่ทุเลาลงมากโข จากนั้นก็เกิดเป็นปากต่อปาก ระหว่างพูดคุยก็มีผู้ป่วยแวะเข้ามาทักทายเป็นระยะ ได้เห็นภาพหมอหนุ่มส่งยิ้มทักทายก็ทำให้เราเห็นแล้วว่าคลินิกแห่งนี้อบอุ่นเพียงใด

ก่อนจะหันกลับมาขยายความเพิ่มเติมถึงคำว่าเวชศาสต์ฟื้นฟูเพื่อให้เราเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าศาตร์นี้มีอะไรให้น่าค้นหาอีกเยอะ

“เวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นสาขาที่พูดเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนไข้เป็นหลัก เราจะทำยังไงให้คนไข้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ จากการที่เขาประสบพบเจอกับเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เขาดรอปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง เกี่ยวกับอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือการบาดเจ็บจากกิจกรรมบางอย่างของเขา

“คนไข้ที่สภาพที่ดรอปลงไปจากสิ่งที่เขาเคยเป็นด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จากความพิการ จากโรคเรื้อรัง จากอุบัติเหตุ จากโรคหลอดเลือดสมอง เราจะทำยังไงให้เขากลับไปมีชีวิตได้ดีที่สุดตามอัตภาพของเขา ให้เขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตให้ดีที่สุดในสังคมที่เขาเคยอยู่ อันนี้คือเป็นคอนเซปต์ของเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งศาสตร์มันกว้างมาก ดูแลตั้งแต่เด็กยันคนชรา กลุ่มโรคก็เยอะมาก

“ในส่วนของกลุ่มเด็กอาจจะเป็น เด็กที่มีความพิการทางสมอง ออทิสติก ผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็เป็นกลุ่มที่มีอาการอ่อนแอครึ่งเสี้ยวจากกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง ความพิการ สูญเสียอวัยวะ การบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย หรือว่าโรคที่เกิดจากความเสื่อม พวกข้อเสื่อม การกดทับของเส้นประสาท ก็คือยังอยู่ในสโคปของเวชศาสตร์ฟื้นฟูทั้งหมด

นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์: นิยามรักของหมอนักเดินทางในวันที่กลับมาเปิดคลินิกฟื้นฟูกายใจ “รวมถึงเรื่องอาการปวดเรื้อรังด้วย อาการปวดเรื้อรังก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเขาดรอปลงมา ซึ่งการดูแลของเราก็จะเป็นการดูแลแบบองค์รวม ในการใช้หลากหลายเทคนิคในการดูแลผู้ป่วย 1 คน ตั้งแต่การให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจง การรักษาด้วยยา การใช้วิธีการออกกำลังกาย กายบริหาร การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เพื่อที่จะใช้ในการลดอาการต่าง ๆ ของอาการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยตรงนั้น แล้วสุดท้ายก็คือการใช้อุปกรณ์เสริม เช่น อาจจะเป็นที่ประคองเข่า ที่ประคองมือ ไม้เท้า หรืออุปกรณ์ที่จะทำให้ชีวิตของผู้ป่วยสามารถที่จะใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ก็จะอยู่ในสโคปของเวชศาสตร์ฟื้นฟูตรงนี้”

ซึ่งเขายังบอกอีกว่าการเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำงานคนเดียวได้ เพราะศาสตร์นี้ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอีกหลายต่อหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด ดนตรีบำบัด จิตวิทยา กายอุปกรณ์ นักสังคมสงเคราะห์ ไปจนถึงพยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟู

นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์: นิยามรักของหมอนักเดินทางในวันที่กลับมาเปิดคลินิกฟื้นฟูกายใจ คุยกันครั้งเดียวแต่ต้องเข้าใจ(เกือบ)ทุกอย่าง

นอกจากความซับซ้อนที่หมอเปียงอธิบายให้ฟังแล้ว สิ่งที่ยากไม่ต่างกัน คือ จะคุยกับคนไข้ยังไงให้รู้ถึงต้นสายปลายเหตุของโรค เขานิ่งคิด ก่อนจะตอบกลับมาสั้น ๆ ว่า นี่ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเขามาโดยตลอด จะทำยังไงให้คนเปิดเผยทุกอย่าง และยอมให้หมอเข้าไปนั่งกลางใจ จนสามารถหาวิธีรักษาคนคนนั้นได้สำเร็จ

คงไม่ต่างจากความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างต้องสื่อสารกัน และต้องใส่ใจให้มาก หมั่นสังเกตรายละเอียดคู่สนทนาอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พลาดแม้แต่วินาทีเดียว ว่าคนตรงหน้าต้องการการเยียวยาด้านไหนบ้าง

“สิ่งที่เป็นความท้าทายสำหรับการเป็นหมอคือการทำความเข้าใจ”

“เพราะว่าแต่ละคนประสบการณ์ของเขาแตกต่างกัน การเป็นหมอต้องใจกว้างและใจเย็นมาก ๆ ในการจะดูแลรักษาผู้ป่วย เขามีเรื่องราวของเขา แต่ว่าวันที่มานั่งหน้าเรา สิ่งที่เขาเล่าออกมา มันอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดก็ได้ มันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เขาอนุญาตให้เราเข้าไปอยู่ในเศษเสี้ยวของชีวิต ซึ่งมันก็เป็นหน้าที่เราอีกว่าจะทำยังไงที่จะเข้าใจว่าแท้จริงแล้วเขาต้องได้รับการรักษาในด้านไหน”

แต่เขาไม่ได้รู้สึกเหนื่อยหรือท้อใจที่ต้องปรับจูนความคิดและสื่อสารกับคนไข้ ในทางกลับกันเขาชอบและรักทุกอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ทุกประสบการณ์ ทุกการพูดคุย ล้วนทำให้โลกของเขาเปิดกว้าง ไม่นับรวมกับการที่เขาชอบเดินทางท่องเที่ยวอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว การพูดคุยกับผู้ป่วยเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขามีมุมมองในการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปไม่น้อย

“การได้เจอและได้รักษาคนคนหนึ่งไม่ใช่ว่าเราจะสามารถโยนทุกอย่างทิ้งไป ปล่อยให้เขาแบกรับอยู่คนเดียว แต่มันเป็นการที่เราจะต้องเป็นโค้ชในการรักษาโรคให้เขาด้วย การป่วยมันทรมานอยู่แล้ว แต่เราจะทำยังไงให้ความทรมานมันเบาบางลง ทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น มันเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้โรคที่เขาเป็นอยู่ค่อย ๆ หายไปตามลำดับ”

นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์: นิยามรักของหมอนักเดินทางในวันที่กลับมาเปิดคลินิกฟื้นฟูกายใจ หมอผู้รักในทุกช่วงเวลาของชีวิต

หมอเคยพลาดโอกาสอะไรในชีวิตไปบ้างไหม - เราถาม เขาตอบกลับทันทีว่า ทั้งชีวิตนี้เขาแทบจะไม่พลาดโอกาสอะไรที่ถูกหยิบยื่นเข้ามาเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะโอกาสคือสิ่งที่ทำให้เขาเจอเส้นทางใหม่ ๆ และนี่คือความสนุกของสิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวิต’

แต่สิ่งที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปอย่างเห็นได้ชัด คือ วันที่ตัดสินใจเรียนเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู “ผมคิดว่าความรู้ในฝั่งของเวชศาสตร์ฟื้นฟู ยังเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ แล้วก็เป็นสิ่งที่สามารถที่จะช่วยเหลือทุกคนได้อีกเยอะแยะมากมาย ผมคิดว่าเราจะเป็นคนนึงที่เป็นตัวแทนในการที่จะพูดเรื่องนี้ออกไป แล้วก็ทำให้ประชาชนได้เข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพตัวเองมากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่คิดว่าจะทำ

“สองก็คือ ในอนาคต เราอยากที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ด้วยความที่เราเป็นคนชอบออกแบบอยู่แล้ว ชอบในแง่ของงานศิลปะ เราอยากจะบิดในเรื่องนี้ให้มาสู่ในเรื่องของการแพทย์ เราอยากจะผลิตอุปกรณ์ใหม่ ๆ เราอยากที่จะสร้างนวัตกรรมที่มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งมันน่าจะมีประโยชน์กับผู้คนในอนาคต”

ไม่แน่ใจนักว่าเป็นเพราะเดือนแห่งความรักหรือว่าอะไร แต่เรารู้สึกว่าทุกคำพูดของเขาราวกับมีกลิ่นไอความรักลอยคลุ้งอยู่เต็มไปหมด จึงอดถามออกไปไม่ได้ว่าแล้วสำหรับหมอ ความรักคืออะไร

“ผมมองว่า มันเป็นความเหมาะสมของทั้งสถานที่ เวลา และคน คือคนสองคนเจอกันในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม บางทีก็รักกันไม่ได้นะ มันต้องเหมาะเจาะทั้ง 3 ปัจจัย เพราะฉะนั้น คนคนเดียวในช่วงเวลาต่างกัน ในสถานที่ที่ต่างกัน ก็อาจจะเป็นคนที่ใช่ก็ได้

“ความรักต้องอาศัยความเหมาะสมหลาย ๆ อย่าง เราจะรอมันต่อไปก็ได้ ซึ่งสำหรับผม ผมมองว่ามันเป็นอะไรที่รอได้ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนกับมัน ถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วมันจะหาเจอเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ปิดตัวเอง คือก็ต้องเปิดรับอะไรใหม่ ๆ มาเสมอ อยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม อยู่ในสถานการณ์ที่เปิดกว้าง ไม่ปิดกั้นตัวเอง อันนั้นก็จะทำให้เรามีโอกาสได้เจอกับจุดที่มันใช่มากกว่า”

นิยามความรักของเขาราบเรียบ ทว่ามั่นคง สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เขาตั้งใจทำอยู่ในขณะนี้ได้ชัดมากขึ้นไปอีก คงไม่ต่างจากคลินิกของเขาที่ไม่ต้องตกแต่งหวือหวา ประโคมทุกอย่างอัดแน่นจนดูอึดอัด และเราเชื่อว่าคนไข้ที่ได้รับการรักษาจากหมอเปียง คงสัมผัสได้ถึงความรักที่อัดแน่นอยู่ในสถานที่แห่งนี้เป็นแน่

นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์: นิยามรักของหมอนักเดินทางในวันที่กลับมาเปิดคลินิกฟื้นฟูกายใจ

เรื่อง: วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ: กัลยารัตน์ วิชาชัย