27 ต.ค. 2566 | 19:30 น.
นายแพทย์ภราดร เจ็ดวรรณะ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ผู้เลือกทิ้งชีวิตในเมืองกรุงเก็บกระเป๋าลงใต้ มาเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดหัวใจประจำโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี 2553 อีกทั้งยังเป็นผู้นำเทคนิคการผ่าตัดหัวใจขนาดเล็กเข้ามาในโรงพยาบาลประจำจังหวัด แม้จะผ่านมากว่า 12 ปีแล้ว แต่เขายังคงอุทิศชีวิตเพื่อคนสุราษฎร์ หวังจะเห็นเมืองแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการผ่าตัดหัวใจของภาคใต้
แต่กว่าชายคนนี้จะกลับมาทุ่มเทแรงกายและใจให้กับโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีจนหมดหน้าตักได้นั้น ต้องย้อนกลับไปยังวัยเด็กของหมอภราดร เขาเติบโตมาท่ามกลางสังคมเมืองในจังหวัดสงขลา เมื่อจบชั้นมัธยมได้เข้ามาเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างเรียนชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เขาได้เห็นภาพที่ปวดใจและฝังอยู่ในความทรงจำมาโดยตลอดคือ คนไข้จากต่างจังหวัดไกล ๆ ต้องส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ หลาย ๆ คนเป็นคนที่มีฐานะไม่ดีนัก ไม่มีบ้าน ไม่มีญาติสนิทในกรุงเทพ ระหว่างรอตรวจต้องนอนอยู่ตามม้านั่งของโรงพยาบาล บางครอบครัวต้องหอบเอาเสื่อมาปูนอนตามทางเดิน เพื่อทำหน้าที่ดูแลคนที่พวกเขารัก
แม้จะรู้สึกหดหู่เพียงใด แต่ภาพเหล่านั้นกลับจุดไฟในใจให้ลุกโชน เขาตั้งปณิธานไว้ว่าจะต้องเป็นแพทย์ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย บรรเทาความทุกข์ทรมานให้เหลือน้อยที่สุด
ก่อนจะจบเป็นแพทย์ อาจารย์หมอที่จุฬา ได้สอนผมว่า “จบแล้วจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอแค่ทำตัวให้มีคุณค่า มีประโยชน์ เรียนจบแล้วจงออกไปพยายามทำให้เมืองไทยไม่มีชนบท ทุกคนจะต้องได้รับการรักษามาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ นี่คือฝันที่ผมอยากเห็น
“ซึ่งตรงกับพระราชดำรัสขององค์ในหลวงรัชการที่ 9 ที่ผมได้ถ่ายรูปเก็บไว้อ่านตอนออกไปฝึกงานโรงพยาบาลชุมชนตอนเรียนปีสุดท้ายที่โรงพยาบาลตาพระยา จ.สระแก้ว พระองค์ท่านทรงสอนพวกเราว่า เมื่อจะทำงาน อย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้บรรลุผล และจงทำด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์”
เป้าหมายอันแน่วแน่ของเขาได้รับการสั่งสอนและแรงบันดาลใจมาจากอาจารย์หลาย ๆ ท่าน เช่น อ.นพ. พันธุ์พิษณุ์ สาครพันธ์, อ.นพ.เหมือนหมาย สรรประดิษฐ์, อ.นพ.ชลิต เชียรวิชัย, ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ และ อ.นพ.ทวีศักดิ์ โชติวัฒนพงษ์ อาจารย์อาวุโสผู้ให้ความรู้ทางการแพทย์ที่เขาเคารพนับถือสุดหัวใจ แม้ในปัจจุบันความฝันของเขายังไม่สำเร็จเป็นรูปธรรม แต่ชายคนนี้ยังไม่หมดหวัง ยังคงเดินหน้าสานต่ออุดมการณ์มาจนทุกวันนี้
และนี่คือเรื่องราวของหมอภราดร ผู้หวังจะพัฒนาคุณภาพการรักษาผ่าตัดหัวใจในโรงพยาบาลต่างจังหวัดให้มีมาตรฐานเท่ากับโรงพยาบาลใหญ่ในกรุงเทพ ลดความเหลื่อมล้ำในมาตรฐานการรักษา ผ่านการรักษาหัวใจของคนไข้ให้กลับมาเต้นแรงอีกครั้ง
เด็กหนุ่มผู้ไล่ตามความฝัน
ภราดรคือเด็กหนุ่มเรียนดี จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ช่วงแรกเขาไม่เห็นภาพอนาคตตนเองมากนักว่าจบมัธยมปลายแล้วจะเรียนต่อด้านไหน อีกอย่างเด็กต่างจังหวัดก็ถูกปลูกฝังไม่กี่อาชีพ ไม่เป็นหมอ ก็วิศวกร ทหาร ไปจนถึงตำรวจ วนเวียนกันอยู่แค่นี้
แต่หลังจากไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ฝันของเขาก็ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง เขาอยากเป็นหมอเพื่อกลับมารักษาคนไข้ที่ปักษ์ใต้ แต่ต้องไม่ใช่หมอรักษาโรคทั่วไป เขาจะต้องเป็นหมอผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาหัวใจคนไข้ให้กลับมาแข็งแรง
“ผมค่อนข้างสะเทือนใจ” คือคำแรกที่หมอภราดรบอกกับเรา เมื่อย้อนไปยังความทรงจำแรกที่มีต่ออาชีพหมอ เขานิ่งเงียบก่อนจะเรียบเรียงคำพูดที่ไม่กระแทกใจมากนักออกมาอย่างช้า ๆ
“ต้องยอมรับว่าถ้าย้อนไปเมื่อ 30 - 40 ปีก่อน การแพทย์ในภาคใต้ไม่ค่อยเจริญเท่าสมัยนี้ และสิ่งที่ผมเห็นคือหมอค่อนข้างขาดแคลนโดยเฉพาะหมอด้านผ่าตัดหัวใจ พอได้ไปดูงานที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ตอนสมัยเป็นนักเรียนมัธยม นับแต่นั้นผมเลยคิดว่าถ้าเป็นหมอ ผมจะต้องเป็นหมอหัวใจ เพื่อกลับมารักษาคนไข้ที่ใต้”
ปี 2544 หมอภราดรจบหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมปณิธานและคำมั่นสัญญากับอาจารย์ว่าจะกลับมาเรียนต่อด้านผ่าตัดหัวใจ เขาออกไปเป็นแพทย์จบใหม่ทำงานใช้ทุนอยู่ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ด้านแพทย์ทั่วไป ระยะเวลาที่เขาเห็นทุกอย่างรอบตัวน่าตื่นเต้นและท้าทายไปเสียหมด บรรยากาศที่โอบล้อมเขาเต็มไปด้วยความอบอุ่นจากแพทย์รุ่นพี่ อาจารย์ เพื่อน ๆ พลอยทำให้หมอภราดรมีความสุขทุกครั้งที่ได้ตรวจรักษาคนไข้
“ผมมีความฝันและมีเป้าหมายมาตลอดที่จะเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ ถึงแม้จะมีอะไรเข้ามาทำให้เราอ่อนล้าลงหรือท้อแท้ไปบ้าง แต่ถ้าเราไม่คิดจะล้มเลิก ค่อย ๆ เดินต่อ หยุดบ้าง เดินบ้าง พยายามทำมันให้ได้ มันก็จะทำให้เรารู้สึกภูมิใจที่เราลงทุนลงแรงกับความตั้งใจพยายามของเรา”
“การเป็นหมอเป็นสิ่งที่ท้าทายและเป็นงานที่หนักมาก เราต้องยอมเสียสละหลาย ๆ สิ่งเพื่อทำในสิ่งที่เราตั้งใจไว้ เช่น เมื่อก่อนผมชอบเล่นกีฬา ดนตรีก็ชอบ แต่พอมาทำงานด้านนี้เวลาส่วนใหญ่จะอยู่กับโรงพยาบาลทำงาน ต้องผ่าตัด เฝ้าคนไข้ จะไม่ค่อยมีเวลาสำหรับกิจกรรมอย่าง ไม่มีค่อยมีเวลาให้ครอบครัวมากนัก ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นวิถีชีวิตของเรา แต่ก็จะพยายามหาเวลาดูแลสิ่งสำคัญอื่น ๆ ในชีวิตด้วย ซึ่งระหว่างทางอาจจะบางอย่างหล่นหายไปบ้าง เราคงไม่สามารถเอาทุกอย่างมาไว้ในชีวิตได้หมด”
“แต่ว่าสิ่งที่สำคัญคือความฝันของเรามันยังอยู่ตรงนั้นไม่หายไปไหน นี่คือความสุขที่ได้รับจากการทำงาน ความสุขใจเมื่อเห็นผู้ป่วยดีขึ้น กลับไปทำงาน ไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว กลับมาแข็งแรงปกติอีกครั้ง”
ปี 2545 หมอภราดรย้ายมาทำหน้าที่แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ประจำโรงพยาบาลสะบ้าย้อย สงขลา สถานที่ที่ทำให้โลกของเขาเปิดกว้างขั้นสุด “ตอนนั้นอายุยังน้อย เลยอยากจะลองหาประสบการณ์ชีวิต โรงพยาบาลสะบ้าย้อยตั้งอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างกันดาร ห่างไกลเมือง แน่นอนว่าพวกอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ก็ไม่พร้อม ทุกอย่างขาดแคลนไปเสียหมด แต่มันทำให้เราเห็นโลกความเป็นจริงกว้างมากยิ่งขึ้น แม้ในความขาดแคลนก็ยังมีความสวยงาม มีมิตรภาพดี ๆ ให้แพทย์จบใหม่ ทำให้ผมไม่กลัวที่จะไปอยู่ต่างจังหวัดหรือโรงพยาบาลห่างไกล”
เส้นทางของหมอภราดรขยับขยายขึ้นอีกครั้ง หลังจากใช้ทุนเสร็จ เขาใช้เวลา 4 ปีเรียนต่อด้านศัลยกรรมทั่วไปที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอีก 2 ปีหันไปเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญขึ้นอีกขั้น โดยศึกษาต่อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดช่องอกและหัวใจที่จุฬาฯ ตามที่ได้บอกกับอาจารย์ไว้ก่อนตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์
หลังจากเรียบจบด้านศัลยกกรมทรวงอกแล้ว หมอภราดรก็ยังไม่หยุดการศึกษา ได้รับทุนจากสถาบันต่างประเทศให้ไปศึกษาดูงานต่อที่ประเทศออสเตรเลีย อเมริกา เยอรมนี ได้เห็นเทคนิคและวิธีการรักษาใหม่กลับมาพัฒนาการรักษาผู้ป่วยในเมืองไทย
หมอผู้ไม่อยากให้คนไข้ถูกส่งตัวไปเมืองใหญ่
ระยะเวลากว่าสองทศวรรษในฐานะหมอผ่าตัดหัวใจ เขาพยายามลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องถูกส่งตัวไปรักษายังเมืองใหญ่มาโดยตลอด
“ถามว่าทำไมกลับมาสุราษฎร์ จริง ๆ ผมว่าการทำงานที่ต่างจังหวัดให้ประสบการณ์ชีวิตกับเราเยอะมาก เมื่อก่อนผมเรียนอยู่ที่โรงพยาบาลแพทย์ใหญ่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ทุกอย่างมีความเพียบพร้อม จบแล้วถ้าเราทำงานที่นั่นต่อ เราน่าจะใช้ชีวิตได้ง่าย ทำงานสะดวก แล้วเราก็น่าจะโตไปในอนาคตที่ดี
“แต่การอยู่ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ทำให้เราเติบโตได้เร็ว เราเจอปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากร ไม่มีอาจารย์แพทย์รุ่นพี่ที่ชำนาญคอยช่วยสอนเวลาเจอเคสยาก ๆ ช่วงแรกความสามารถเรายังไม่พอ ต้องเรียนรู้เองอย่างมาก ปัญหาเรื่องขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือ ปัญหานโยบายการสนับสนุนที่เปลี่ยนบ่อยตามผู้บริหาร
“แต่เราไม่ยอมแพ้ ประสบการณ์และความรู้จากจุดนั้น มันทำให้สามารถแก้ปัญหา รับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนไข้ที่บางครั้งมันวิกฤตมาก มันยาก และซับซ้อน เราก็สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้มแข็งและโตขึ้นได้เร็วกว่าที่เราอยู่ในสถาบันใหญ่ ๆ
“ส่วนความแตกต่างของแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ กับแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลเล็ก ๆ คือโอกาสในการศึกษาต่อ โดยเฉพาะต่างประเทศ เนื่องจากว่าผมได้รับการปลูกฝังและความช่วยเหลือจากอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ทำให้ผมได้มีโอกาสไปเปิดหูเปิดตา ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อเมริกา เยอรมนี หรือไปดูงานช่วงหนึ่งที่ญี่ปุ่น
“เราก็จะเห็นว่าความเจริญหรือความก้าวหน้าจริง ๆ มันเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้ผมเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมืองหลวงอย่างเดียว ถ้าเรามีความตั้งใจ นำความรู้ความสามารถไปใช้ เราก็สามารถทำการรักษาที่ยาก ๆ และซับซ้อนที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดได้ เป็นอย่างนี้คนไข้ต่างจังหวัดไกลๆ ก็ไม่ต้องเดินทางไกลเข้าไปรักษาตัวในกรุงเทพ คนไข้ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย”
แต่การทำงานเริ่มอะไรใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในโรงพยาบาลต่างจังหวัด โรงพยาบาลที่ไม่ใช่โรงเรียนแพทย์ มีอุปสรรคหลายอย่างที่เราต้องเข้าใจ และอดทน ไม่ว่าจะขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือ ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ขาดการสนับสนุน ภาระงานที่เยอะมากจนไม่มีว่าพักผ่อน ตัวอย่างเช่นเรื่องการผ่าตัดแผลเล็ก ผมได้ไปศึกษาดูงานจากต่างประเทศมาตั้งหลายปีกว่าจะได้เริ่ม เพราะไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือ
มีบุคคลหนึ่งที่ผมอยากขอบคุณ คือ ‘คุณตูน บอดี้สแลม’ คุณตูนได้วิ่งการกุศลและมอบเงินให้โรงพยาบาลซื้ออุปกรณ์เครื่องมือ ทีมผมก็โชคดีได้กล้อง 3 มิติ และอุปกรณ์ผ่าตัดแผลเล็กมาทำ อีกสิ่งหนึ่งที่ดีมากสำหรับผม ที่ได้ทำงานที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี คือมีเพื่อนร่วมงานที่ดี ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุก ๆ ฝ่าย ทุก ๆ ครั้งที่ผมทำสิ่งยาก ๆ หรือสิ่งใหม่ ๆ พวกเขาจะเข้าใจ และการการช่วยเหลือ สนับสนุนอย่างเต็มที่ พร้อมที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน
ในช่วงชีวิตการทำงาน มีหลายครั้งที่เจอปัญหา อุปสรรค หนักๆ ดึงพลังชีวิตหมอหนุ่มจนเกือบทำให้ถอดใจ แต่เพราะยังไม่ลืมปณิธานแรกเริ่ม หมอภราดรจึงยังคงยืนหยัดต่อสู้ พัฒนางานด้านผ่าตัดหัวใจที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีมาโดยตลอด
เหตุผลที่ในช่วง 4 ปีให้หลังมานี้ หมอภราดรฝึกปรือฝีมือจนสามารถใช้เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Cardiac Surgery: MICS) เปลี่ยนภาพจำรอยแผลหลังผ่าตัดกลางอกขนาดใหญ่ราว 20 - 25 ซม. ให้กลายเป็น แผลขนาดเล็กจิ๋วเพียง 4 ซม. แถมยังช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวขึ้น ไม่ต้องเจ็บปวดจากการผ่าตัดแบบเดิม ๆ อีกต่อไป เป็นเพราะเขาไม่อยากเห็นญาติผู้ป่วยที่ไม่มีเงินทองมากนัก ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หากหมอประจำโรงพยาบาลไม่สามารถรักษาคนที่พวกเขารักได้ จนต้องถูกส่งตัวไปรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์เพียบพร้อมกว่า
ในฐานะหมอจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด จึงเป็นที่มาของการก้าวออกจากเซฟโซน เรียนรู้เทคนิคการผ่าตัดที่ยากไม่คุ้นเคย
“ช่วงแรกยอมรับว่าผมและทีมไม่คุ้นเคย เพราะต้องใช้เครื่องมือที่ยาวกว่าปกติเข้าไปทำงานผ่านช่องเล็ก ๆ และต้องดูผ่านกล้องไปด้วย ยอมรับว่าเราทำงานกันค่อนข้างยาก ต้องเพ่งสมาธิตลอด และใช้ระยะเวลานานกว่าจะจบแต่ละเคส”
“แต่เนื่องจากผมทำในสิ่งที่รัก มันก็เลยทำให้ผมสามารถอดทนได้มากกว่าปกติ ตลอดเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ผมอยู่ที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ได้มีโอกาสผ่าตัดรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก ทุกครั้งที่ผมผ่าตัดรักษาเสร็จ เห็นคนไข้กลับมาเดิน ทำงาน เรียนหนังสือ หายเป็นปกติ ยิ้มแย้มแจ่มใส กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้ มันทำให้เราเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ เพียงเท่านี้ชีวิตผมก็มีความสุขมากพอแล้ว
“ผมรักและภูมิใจในงานที่ทำ การที่เห็นคนไข้กลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง รอยยิ้มของคนไข้ ญาติ และเพื่อนร่วมงาน เป็นแรงสนับสนุนชั้นดีที่ทำให้ผมสามารถทนต่อความเครียด ต่อภาวะหมดไฟ และกลับมาทำงานต่อไปได้”
หมอผ่าตัดหัวใจ กับใจที่เกือบทำงานไม่ไหว
แม้ว่าการเป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจจะเป็นงานที่หนักและกดดันเพียงใด แต่หมอภราดรยังคงไม่หมดไฟในการทำงาน แม้ว่าจะมีบางวันที่ดับมอดลงไปบ้าง เมื่อได้กลับมาชาร์จพลังชีวิตผ่านกิจกรรมที่ชอบอย่างการเล่นฟุตบอล ฟันดาบ ชกมวย ไปจนถึงการว่ายน้ำ ซึ่งหมอภราดรแอบบอกกับเราภายหลังว่าปัจจุบัน งานหมอยุ่งจนแทบไม่มีเวลา การปล่อยกายและใจให้ผ่อนคลายได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นการออกไปวิ่ง
“การทำงานในบรรยากาศที่เครียดทุกวัน ไม่ค่อยดีนักกับสุขภาพของเรา แต่มันก็ช่วยหล่อหลอมบุคลิกเราเหมือนกันนะ ทำให้เราเป็นคนอดทนมุ่งมั่น แข็งแกร่งกับความยาก ลำบาก ทำอะไรค่อนข้างเร็ว สั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่เยิ่นเย้อ ซึ่งบางครั้งคนภายนอกอาจจะมองว่าเราเป็นคนดุ” หมอภราดรเล่ายิ้ม ๆ บอกตามตรงว่าหมอที่นั่งอยู่ตรงหน้าไม่ได้มีเค้าความดุแต่อย่างใด ในทางกลับกันกลับเป็นคุณหมอที่ดูใจเย็นและพร้อมรับฟังทุกปัญหามากกว่า
“เพราะผลลัพธ์ของการรักษาส่วนใหญ่อยู่ในห้องผ่าตัด ถ้าเราผ่าตัดแล้วเราสามารถทำมันให้ดีที่สุดในตอนนั้นแล้วทุกอย่างมันก็จะดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเราพูดถึงช่างที่ต้องซ่อมเครื่องยนต์ ถ้าช่างประกอบเครื่องยนต์หรือซ่อมเครื่องยนต์ไม่ดี รถที่ออกมาแล้วเราเอาไปขับ หรือเครื่องยนต์ที่เราเอาไปใช้ ยังไงมันก็ไม่มีทางดีได้
“ฉะนั้นขั้นตอนในการประกอบจึงมีความสำคัญ หมอผ่าตัดก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน คือในห้องผ่าตัด เราต้องโฟกัสและต้องใช้เวลา มีสมาธิ ทำกับงานตรงนั้นให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้น บรรยากาศตรงนั้นจะเป็นบรรยากาศที่จะจริงจังและทุ่มเทเต็มที่ มันก็เลยหล่อหลอมให้แพทย์ด้านนี้เป็นแพทย์ที่มีบุคลิกค่อนข้างจะจริงจังและเด็ดขาด
“อย่างเคสซ่อมลิ้นหัวใจ หรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจคนไข้ ซึ่งแต่ละคนมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน เราต้องเข้าใจและสามารถปรับเทคนิคให้เหมาะกับแต่ละคนได้และต้องซ่อมให้กลับมาทำงานได้ดีเหมือนปกติ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างหรือหลังผ่าตัดก็ต้องสามารถวินิจฉัยและแก้ไขได้ทันที แล้วต้องรู้ว่าต้องทำอย่างไร เช่นบางครั้งที่เราเจอคือผ่าตัดเสร็จแล้ว หัวใจยังไม่ฟื้น คนไข้ไม่สามารถออกจากห้องผ่าตัดได้ เขาเรียกว่า ‘หัวใจทำงานไม่ไหว’ เราก็ต้องหาสาเหตุให้ได้ว่ามันเกิดจากอะไร ต้องแก้ให้ได้ เพื่อที่จะช่วยคนไข้ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ”
ถึงจะรักษาหัวใจมาอีกกี่ร้อยกี่พันคน แต่ใจของหมอก็อ่อนล้าไม่แพ้กัน เขาเคยทำงานคนเดียวตลอด 24 ชั่วโมง ติดต่อกันทุกวันอยู่หลายปี รับทุกเคสที่หลั่งไหลเข้ามา ตั้งแต่คนไข้ฉุกเฉิน คนไข้ผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วน ไปจนถึงรับเคสส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล
“มันไม่ใช่เรื่องดีเท่าไร ที่ต้องอยู่ในภาวะเครียด งานล้นมือ นาน ๆ อย่างนี้ หากเราอยู่ในระบบที่พร้อมสนับสนุนทำให้งานของหมอไม่หนักจนเกินไป ค่าตอบแทนสมเหตุสมผล ไม่ต้องทำงาน 24 ชั่วโมงติดต่อกันหลายวัน ผมว่าสิ่งนั้นคงช่วยให้เราทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น สามารถรักษาบุคลากรให้ยังคงอยู่ต่อในระบบโรงพยาบาลรัฐ และช่วยให้ระบบสุขภาพของเราพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
“ซึ่งผมก็ยอมรับว่าในปัจจุบันมันเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว แต่อยากจะฝากว่าด้วยภาระงานที่หนัก ค่าตอบแทนต่ำ ความขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือ ระบบการบริหารที่ไม่สนับสนุนคนทำงาน สภาพจิตใจของหมอแต่ละคนอาจทนรับความหนักหน่วงนี้ได้ไม่เท่ากัน
“ฉะนั้นการแก้ปัญหาคงไม่สามารถแก้ได้ที่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ต้องย้อนกลับไปยังระบบสุขภาพ ระบบผู้บริหาร ระบบสวัสดิการค่าตอบแทน ระบบโรงพยาบาล ทั้งหมดนี้ต้องพัฒนาไปพร้อมกัน เพราะไม่อย่างนั้นผมว่าแพทย์และบุคลากรที่ทำงานในหน่วยงานรัฐก็ยังคงทยอยลาออกกันอยู่เรื่อย ๆ”
นอกจากเรื่องสภาวะจิตใจแล้ว สิ่งที่ทำให้ใจของหมอภราดรไม่เหนื่อยล้ามากเกินไป มาจากการได้จับเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน อีกหนึ่งผู้ช่วยคนสำคัญที่ทำให้อาชีพหมอของเขาไม่หม่นหมองจนเกินไป
“นักดาบที่เก่ง ๆ กระบี่อยู่ที่ใจก็ระดับหนึ่ง แต่ถ้านักดาบที่เก่งแล้วได้กระบี่ดี เขาก็จะเป็นนักดาบที่สามารถต่อสู้กับศัตรูได้ดีและแกร่งขึ้นไปอีก ซึ่งดาบที่คมและดาบที่ดีก็เป็นอาวุธที่สำคัญเหมือนกัน ยิ่งผ่าตัดหัวใจเราจะรู้เลยว่า ถ้าเรามีเครื่องมือที่ดี เราจะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น
“ยกตัวอย่างเช่น การผ่าตัดแผลเล็ก เครื่องมือต้องเป็นเครื่องมือเฉพาะที่ใช้กับแผลเล็กจริง ๆ ซึ่งเราจะผ่าตัดผ่านรูเล็ก ๆ ใช้เครื่องมือที่มีลักษณะยาวเข้าไปในช่อง เครื่องมือต้องสามารถทำงานได้ดีในการจับเข็ม การเย็บ การตัดต่าง ๆ ถ้าเราไม่มีเครื่องมือที่มีคุณภาพ เราก็ทำไม่ได้ ไม่สามารถเอาเครื่องมืออันเดียวผ่าตัดทุกอย่างได้ ฉะนั้นการมีเครื่องมือที่ดีจะทำให้การผ่าตัดมีคุณภาพ”
เครื่องมือที่หมอภราดรยกให้เป็นที่หนึ่งในใจคงหนีไม่พ้น GEISTER Medizintechnik GmbH จากประเทศเยอรมนี ซึ่งนำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท ซัมมิท เฮลธ์แคร์ จํากัด อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เขาชมได้อย่างเต็มปากว่านี่คือ ‘อาวุธชั้นยอด’ ที่ช่วยให้การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยราบรื่นมาโดยตลอด
“ผมลองจับมาหลายเครื่องมือ ถึงแต่ละชิ้นจะทำออกมารูปแบบเดียวกัน แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือเรื่องของความนิ่ม ความคม และความคงทนของอุปกรณ์ ซึ่งการที่เราได้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ มันช่วยให้การทำงานของเรามีคุณภาพมากขึ้นได้จริง ๆ”
แต่สุดท้าย อุปกรณ์ที่อยู่ในมือจะมีคุณภาพเพียงใด ก็ไม่อาจให้ผลลัพธ์ที่ดีได้ หากอยู่ในมือของผู้ไม่เห็นคุณค่าของมัน ซึ่งหมอภราดรได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย เขาคือยอดฝีมือ เพชรเม็ดงามที่ไม่ว่าจะซ่อนตัวอยู่มุมใดของประเทศไทยก็ส่องประกายอย่างงดงาม