‘นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร’ ผู้ตั้งคำถาม “ทำไมหมอต้องเสียสละ?” ในระบบที่แฝงการ ‘กดขี่’

‘นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร’ ผู้ตั้งคำถาม “ทำไมหมอต้องเสียสละ?” ในระบบที่แฝงการ ‘กดขี่’

เสียงจาก ‘หมอณัฐ’ สมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ออกมาสะท้อนปัญหา ‘หมอขาดแคลน’ พร้อมตั้งคำถามถึง ‘ความอยุติธรรม’ และ ‘การกดขี่’ ในระบบสาธารณสุขของประเทศ

  • หมอณัฐ เริ่มศึกษาภาพรวมการบริหารจัดการและนโยบายระบบสาธารณสุขประเทศในช่วงโควิด-19 เพราะรู้สึกถึงผลกระทบที่มาถึงตัวจริง ๆ 
  • แนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนหมออย่างยั่งยืนในมุมของหมอณัฐ ได้แก่ การรณรงค์และให้ความรู้เรื่องสุขภาพแก่ประชาชน และการทำความเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหา ซึ่งก็คือ ‘วัฒนธรรมที่แฝงการกดขี่’

เวลาได้คุยกับ ‘หมอ’ สักคน มันอดไม่ได้จริง ๆ ที่จะถามคำถามเบสิกอย่าง “ทำไมคุณถึงอยากมาเป็นหมอ?” 

ครั้งนี้ก็เช่นกัน เราคาดหวังจะได้เห็นสายตาเป็นประกาย น้ำเสียงหนักแน่นที่แสดงถึงความมุ่งมั่น ไม่ว่าจะด้วยความปรารถนาที่จะทำเพื่อสังคมส่วนรวม หรือความฝังใจในอดีตที่มีคนในครอบครัวป่วย จาก นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร สมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) 

แต่คำตอบที่ได้ผิดถนัด

หมอหนุ่มไฟแรงวัย 29 ปี เล่าเรื่องตัวเองพอสังเขป… เห็นได้ชัดว่าเขาไม่ต้องการให้เรื่องราวของตัวเองเป็น ‘เส้นเรื่องหลัก’ ในบทสัมภาษณ์นี้

“ผมเป็นลูกคนเดียว โชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ค่อนข้างพร้อม ไม่มีปัญหาเรื่องทรัพย์สิน เลยได้เข้าเรียนโรงเรียนดี ๆ แล้วผมก็ชอบอ่านการ์ตูน ดูซีรีส์ รู้สึกว่าการเป็นหมอนี่เท่จัง อีกเหตุผลหนึ่งคือหมอเป็นอาชีพที่มั่นคงมาก ๆ แทบไม่มีทางตกงานเลยครับ” 

แม้คำตอบจะสั้น กระชับ แต่อ่านจากน้ำเสียง เราสัมผัสได้ทันทีว่าหมอณัฐเป็นคนที่อินกับเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘ความอยุติธรรม’ เพราะแม้จะเปิดพื้นที่ให้เขาได้พูดถึง ‘ความสามารถ’ หรือ ‘ความดีงาม’ ของตัวเอง เขากลับเลือกใช้คำว่า ‘โชคดี’ แทน

จะด้วยความ ‘โชคดี’ หรือหลายเหตุผลรวมกันก็ตาม หมอณัฐเรียนจบคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะเดินหน้าเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางในสาขาวิชารังสีวิทยาและมะเร็งวิทยา และปัจจุบันกำลังเรียนต่อปริญญาเอก ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI)

“เอาจริง ๆ ช่วงเรียน ผมไม่ได้เห็นอะไรมากหรอก ผมก็แค่ทำตามไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งผมมาเรียนต่อเฉพาะทาง 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 พอดี ผมรู้สึกว่าผลกระทบมันมาถึงจริง ๆ จึงเริ่มศึกษาเรื่องภาพรวมมากขึ้น คือไม่ได้สนใจแค่คนไข้ที่อยู่ตรงหน้า แต่เริ่มสนใจภาพรวมของการบริหารจัดการ และนโยบายมากขึ้น” 

เราเกรงว่าถ้าให้คุณหมอสะท้อนปัญหาในวงการแพทย์ทั้งหมด คงจะกินเวลาหลายวันหลายคืน เลยขออนุญาตให้คุณหมอเน้นที่ปัญหา ‘สำคัญ’ และ ‘เร่งด่วน’ ที่สุด

“คือมันไม่มีคน (หมอ) ไปรักษาคนไข้น่ะครับ” เป็นคำตอบที่คุณหมอโพล่งออกมาแทบจะทันที ราวกับรอให้เราอ้าปากถาม 

หมอหนุ่มผู้รักความยุติธรรม เริ่มต้นอธิบายด้วยการแสดงความชื่นชมนโยบาย ‘บัตรทอง 30 บาท’ ซึ่งกำลังจะต่อยอดไปสู่ ‘30 บาท พลัส’ โดยกล่าวถึงนโยบายนี้ว่า “เป็นสิ่งที่ดีมากเลย ที่ประชาชนไทยทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา” 

ถึงกระนั้น สิ่งที่ตามมาพร้อมความถ้วนหน้าคือประโยคที่เรามักได้ยินกันจนชาชินว่า ‘โรงพยาบาลรัฐคิวยาว’ หรือไม่ก็ ‘รอหมอนาน’

“คนไข้เข้าถึงการรักษาได้ แต่สุดท้ายไม่มีคน (หมอ) ไปรักษา คิวมันก็จะนาน คุณภาพการรักษามันก็ไม่ได้มาตรฐาน” 

ไม่เฉพาะจำนวนหมอในระบบที่หมอณัฐแสดงความเป็นห่วง แต่ยังรวมถึงบุคลากรสาธารณสุข ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับหมออีกมากมาย ซึ่งหากตัวเลขของบุคลากรเหล่านี้ไม่ได้รับการเติมเต็มให้เหมาะสมในวันที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุ’ หมอณัฐมองว่านี่คือ ‘ระเบิดเวลา’ ชัด ๆ 

“แล้วหมอหายไปไหนกันหมดคะ?” สิ้นเสียงคำถาม หมอณัฐหยุดใช้ความคิดเล็กน้อย ก่อนจะพยายามเล่าให้เราเห็น ‘สภาพการทำงาน’ ของหมอ ที่พูดได้เต็มปากว่า ‘น่าเห็นใจ’ 

“ผมคิดว่าโดยส่วนใหญ่ หมอยังเป็นอาชีพต้น ๆ ที่เด็กอยากจะเป็น แต่ประเด็นคือเมื่อเขามาเป็นหมอแล้ว เราไม่สามารถรักษา (retain) เขาไว้ได้ ปัญหาคือเราจะทำอย่างไรให้เขาอยากอยู่ต่อ ทำอย่างไรให้เขาไม่ออกจากระบบ” 

เท่าที่ฟังหมอณัฐ ช่วงที่น่าห่วงคือช่วงที่บรรดาคุณหมอต้อง ‘ใช้ทุน’ 

“ตอนที่ผมใช้ทุน ผมต้องอยู่เวรติดกัน บางครั้งมากถึง 48 - 72 ชั่วโมง ทำงานจริง ๆ แบบไม่ได้นอนเลย 47 - 48 ชั่วโมง อาจได้นอนงีบ 10 - 15 นาทีบ้าง หยุดบ้าง 1 - 2 วัน แล้วก็ทำต่อ แล้วเงินที่ได้ ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐก็จะประมาณ 7 หมื่นถึง 1 แสนบาท 

“แต่อีกทางเลือกหนึ่ง (หมอ) เสริมสวย ได้เงินเท่ากัน หรือมากกว่า 2 เท่า ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ไม่ต้องอยู่เวร จึงเกิดคำถามว่า แล้วทำไมต้องอยู่ในระบบ?”

จากชั่วโมงการทำงานที่พูดได้เต็มปากว่า ‘หนักหนาสาหัส’ จึงไม่แปลกที่หมอจำนวนไม่น้อยพยายามถีบตัวเองออกมาจากสถานการณ์นี้ ทั้งด้วยวิธีการออกไปเป็นหมอในโรงพยาบาลเอกชน หรือผลักตัวเองไปเป็นแพทย์เฉพาะทาง ตลอดจนการไต่เต้าตามระบบราชการเพื่อเข้าไปนั่งเป็นฝ่ายบริหาร 

“ตัวผมเองก็ยอมรับเลยว่า ผมมาเป็นแพทย์เฉพาะทาง เพราะว่าผมจะหนีจากสถานการณ์นั้น ผมได้หยุดเสาร์ - อาทิตย์ ขณะที่หมอเฉพาะทางบางสาขา เช่น หมออายุรศาสตร์ ต่อให้เป็นอาจารย์หมอแล้ว ถ้าเกิดมีคนไข้ด่วนก็ต้องตื่นขึ้นมาผ่าตัด แล้วมันจะมีสักกี่คนที่อยากมีชีวิตอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ” หมอหนุ่มยอมรับอย่างตรงไปตรงมา 

บรรยายสถานการณ์มาซะขนาดนี้ เราจึงเกิดคำถามว่า ‘ระเบิดเวลา’ ที่หมอณัฐเอ่ยถึง จะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไร หลังจากที่เราเคยได้เห็นความร้ายแรงของมันมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อครั้งโควิด-19 ระบาด

“ผมไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะล่มเมื่อไหร่ เพราะว่าเราแบกกันมาเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่จำกัดการทำงาน หมอคนหนึ่งก็สามารถขยายเวลาการทำงานไปได้เรื่อย ๆ ยกตัวอย่างหมอระบบประสาทคนหนึ่งก็เคยอยู่เวร 30 วันมาแล้ว 

“สิ่งที่คนในระบบเห็นคือมันกำลังจะแย่ แล้วก็อาจจะแย่ลงเรื่อย ๆ หากไม่ทำอะไรสักอย่างให้มันดีขึ้น เราอาจจะไปต่อกันไม่รอด หรือเราจะไปรอดด้วยวิธีแปลก ๆ ด้วยสภาพแปลก ๆ”

“คือฟังแล้วก็เข้าใจหมอนะคะ แต่เวลาเห็นคนรอบตัวไปรอคิวนาน ๆ มันก็อดหงุดหงิดไม่ได้จริง ๆ” เราแบ่งปันความรู้สึกในฐานะลูกที่มีแม่ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐบ่อยครั้ง

“ถูก นี่ไงมันไม่ยุติธรรมต่อทั้งคนไข้ต่อทั้งหมอเลย คนไข้ไม่ควรได้หมอที่ไม่ได้นอนมา 50 ชั่วโมง พูดชื่อตัวเองก็ไม่รู้เรื่อง สมองเหมือนกินเหล้า มารักษาเขา คนไข้ถ้ารู้ว่าแม่ตัวเองได้หมออย่างนี้มารักษา ยอมเหรอ? ผมก็ไม่ยอม มันไม่ยุติธรรมต่อเขา แล้วมันก็ไม่ยุติธรรมกับหมอด้วยที่ต้องมาทำแบบนี้

“แล้วมันก็ยิ่งไม่ยุติธรรมที่เรามีปัญหาอยู่เรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีการเก็บข้อมูลเป็นระยะยาว ไม่มีใครเก็บก็ไม่มีปัญหา ถูกปะ? แต่ทุกคนรู้หมดว่ามันเป็นปัญหา หรือเวลามีประเด็นขึ้นมาทีหนึ่งก็จะค่อยเก็บทีหนึ่ง เก็บแล้วจบ แล้วก็หายไป ไม่ต่อเนื่อง ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน”

แล้วอะไรคือแนวทางการแก้ปัญหาที่ ‘ยั่งยืน’ ในมุมของหมอณัฐ?

หมอณัฐตอบว่ามี 2 แนวทางที่ต้องทำควบคู่กัน อย่างแรกคือการให้ความรู้เรื่องสุขภาพกับประชาชน เพราะเมื่อประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอบ่อย ๆ ส่วนฝั่งบุคลากรการแพทย์นั้น จำเป็นที่จะต้องลงลึกไปให้ถึงรากเหง้าของปัญหา ซึ่งหมอณัฐมองว่ามันคือ ‘วัฒนธรรมที่แฝงการกดขี่’ ที่เริ่มจากการส่งต่อคำว่า ‘เสียสละ’ 

“เราท่องกันมาว่า หมอต้องเสียสละ ทีนี้หมอก็อยู่เวรไปสิ 48 ชั่วโมง แล้วก็ให้ผู้บริหารหรือคนมีอำนาจไปรับรางวัลที่ประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่ดี คนไข้ทุกคนเข้าถึงการรักษาได้ แต่ไม่มีใครถามว่าทำไมต้องเสียสละ? ไม่เสียสละไม่ได้เหรอ? ทำให้มันดี ๆ happy แต่ยั่งยืนไม่ได้เหรอ? ท่องกันแต่ว่า เสียสละนะจ๊ะ โอเคจ้ะ” 

ในประเด็นนี้ หมอณัฐยังสรุปไว้อย่างน่าคิดว่า “เราสอนกันมาอย่างนี้ไง มันจึงไม่เกิดการพูด ไม่เกิดความคิดว่า เรากำลังโดนกดขี่” พร้อมกับยกตัวอย่างหลายประเทศที่หมอรวมตัวกันจัดตั้งเป็น ‘สหภาพ’ เพื่อเรียกร้องในเรื่องต่าง ๆ เช่น การขึ้นค่าแรง สภาพการทำงาน การเพิ่มจำนวนบุคลากร ฯลฯ ซึ่งหมอณัฐมองว่าเป็นสิ่งที่เกิดได้ยากยิ่งในบ้านเรา ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ‘มุมมอง’ ของหมอด้วยกันเอง 

“หมอไม่คิดว่าตัวเองเป็นแรงงาน เพราะเราถูกสอนมาเหมือนว่าเราเป็นอะไรที่เหนือกว่าคนทั่วไป เราเป็นชนชั้นหมอ ซึ่งผมว่าความคิดนี้มัน toxic มากเลย เพราะเมื่อคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนทั่วไป ไม่ใช่แรงงาน เราก็จะไม่รวมตัวกัน เราก็โดนกดขี่กันต่อไป

ขณะที่กำลังอ้าปากค้างกับคำตอบ หมอณัฐซัดต่อถึงอีกรากเหง้าของปัญหา ที่ทำให้หมออยากหนีออกจากระบบ

“เหตุผลที่สองคือกฎเกณฑ์ของเราไม่มีอะไรคุ้มครองผู้ทำงาน ผมจะขอพูดถึงโรงพยาบาลรัฐเป็นหลัก เพราะเป็นจุดที่มีปัญหามากที่สุด และต้องรับใช้ประชาชนมากที่สุด

“โรงพยาบาลรัฐอยู่ภายใต้กฎหมาย ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) แต่กฎ ก.พ. ไม่เคยมีบอกว่า เราทำงานได้มากสุดเท่าไร หมายความว่า คนคนหนึ่งจะทำงาน 30 วันก็ไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นถ้าเกิดผู้บริหารสั่งให้อยู่เวร 30 วัน ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แล้วเราก็ไม่สามารถรวมตัวกันหยุดงานประท้วงได้ เพราะจะเจอความผิดในแง่ก่อกวนทำให้การทำงานหยุดชะงัก”

หมอณัฐระบายความอัดอั้นต่อไปว่า “เราไม่มีอำนาจต่อรองกับเขา เราอยู่ใต้อาณัติเขา เขาจะสั่งอะไรมาก็ได้ แล้วสิ่งนี้ก็สะท้อนกลับมาที่เรื่อง ‘ค่าตอบแทน’ ของบุคลากร ที่ไม่ได้ up ขึ้นตามเงินเฟ้อ 

“อันนี้ผมบอกเลยว่าไม่ได้เป็นแค่หมอ หมออาจจะเดือดร้อนน้อยด้วยซ้ำเพราะเงินเยอะ แต่ลองคิดถึงพยาบาล คนขับรถ หรือแม้แต่พนักงาน back office ซึ่งบางแห่งจ้างเป็นรายวัน 

“ทำไมเราถึงมีความอยุติธรรมเกิดขึ้นในระบบได้ ทำไมเราปล่อยให้เขาจ้างงานอย่างนี้ ทั้งที่เราคือคนแบกสุขภาพของคนส่วนใหญ่ในประเทศเอาไว้ และผู้บริหารได้รับคำชมเชยจากทั่วโลกว่าเป็นระบบที่ดี แต่คนข้างในกลับโดนกดขี่จมดินแบบนี้ โดยที่ไม่มีอำนาจหรือไม่มีปากเสียงอะไรเลย” 

พอได้ฟังเสียงสะท้อนของหมอณัฐ เราคิดว่าการพูดคุยครั้งนี้จะไม่มีความหมายเลย หากปราศจากการสื่อสารไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เราจึงขอเปิดพื้นที่เล็ก ๆ นี้ ให้หมอณัฐได้ฝากอะไรถึง ‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’

“ผมมีความหวังนะครับ เนื่องจากอาจารย์ก็เป็นหมอเหมือนกัน ผมหวังว่าอาจารย์จะมีความเข้าใจในระบบ และจะพัฒนาระบบไปในทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ผมเองก็เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเยอะแล้ว ทั้งที่เพิ่งตั้งรัฐบาลมาได้ไม่นาน อะไร ๆ ยังไม่ลงตัว” หมอณัฐกล่าวด้วยน้ำเสียงสุภาพและแสดงความเคารพ ก่อนจะฝากหมอชลน่านใน 2 เรื่องสำคัญ

“อย่างแรกเลยคืออยากจะบอกว่า เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ทำให้ประเทศไทยมีโครงการ 30 บาท เป็นของขวัญที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งให้กับประเทศไทยและประชาชนไทย ผมหวังว่าในรัฐบาลนี้จะสามารถพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ยั่งยืน เพื่อเป็นของขวัญอันถัดไปให้ประชาชนได้นะครับ

“สองคือผมอยากให้มารับฟังคนทำงาน แล้วก็ให้คนทำงานมีปากมีเสียงในการปรับปรุงระบบ มีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพื่อที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน ผมคิดว่าถ้าเกิดมีแต่ฝั่งบริหาร เราก็จะไม่ได้ยินเสียงคนข้างล่างจริง ๆ 

“หลายครั้งที่ผมคุยกับคนที่มีอำนาจ ผมรู้สึกถึงความ disconnect เพราะสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่อยู่ในหัวของเขา มันไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ไม่ตรงกับสิ่งที่อยู่หน้างานจริง ๆ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องคุยกันเยอะ ๆ ในระหว่างคนที่ทำงานจริง ๆ คนที่ออกแบบนโยบาย และคนที่นำไปใช้ครับ” หมอณัฐกล่าวด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง

แต่หากการผลักดันไปถึงฝ่ายบริหารยังไม่มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมในเร็ววันนี้ ที่สุดแล้วเราในฐานะประชาชนผู้ใช้บริการก็สามารถช่วย support บุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงการรักษาสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรง แต่รวมถึงการ ‘ส่งเสียง’ เรียกร้องความยุติธรรมให้ทั้งกับตัวเองและบรรดาคุณหมอ

“ปัจจุบันผมรู้สึกว่าประชาชนมีความตื่นรู้มากขึ้นในเรื่องนี้ ผมรู้สึกดีมากเวลาที่คนไข้เริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมโรงพยาบาลจัดหมอมาให้ไม่พอ ทำไม ผอ. ทำแบบนี้ ทำไมกระทรวงฯ ไม่สามารถหาหมอมาประจำได้มากขึ้น ผมว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากเลย ที่ประชาชนเริ่มรับรู้ถึงปัญหาว่าอะไรเป็นต้นเหตุของปัญหา และเริ่มด่าให้ถูกตัว…”

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง เพื่อหมอและบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ที่แม้แต่จะ ‘นอน’ ยังไม่มีเวลา