บทสัมภาษณ์ ‘สันติ เศวตวิมล’ เปิดชีวิตพิสดารของนักเขียน นักชิม และนักใช้ชีวิต

บทสัมภาษณ์ ‘สันติ เศวตวิมล’ เปิดชีวิตพิสดารของนักเขียน นักชิม และนักใช้ชีวิต

บทสัมภาษณ์ ‘สันติ เศวตวิมล’ นักข่าว นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนเพลง นักชิม กับเรื่องราวของ ‘เปิบพิสดาร’ และนามปากกา ‘แม่ช้อยนางรำ’ ที่สุกงอมจากประสบการณ์เดือนตุลาฯ

คุณคิดว่าคน ๆ หนึ่งเกิดมาเพื่ออะไร เพื่อดำรงอยู่ เพื่อช่วยเหลือค้ำจุนเพื่อนมนุษย์ เพื่อเปลี่ยนโลก หรือเพื่อลิ้มรสประสบการณ์อันยาวเหยียดที่แสนสั้นครั้งหนึ่งที่เรียกว่าชีวิต?

คำตอบของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเป้าประสงค์และปณิธานส่วนตัว แต่แม้ไม่ได้ประสบมันด้วยตัวเอง การได้ฟังหรือรับรู้เรื่องราวของผู้อื่นก็เป็นอรรถรสที่งดงามไม่แพ้กัน เพราะในบางครั้ง เรื่องราวของใครบางคน ไม่เพียงอัดแน่นไปด้วยรสชาติและบทเรียนที่เราหยิบยกนำไปใช้ได้ แต่ยังเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จำย้ำเตือนเราว่าชีวิตของเราอาจทะยานไปได้ไกลกว่าขอบเขตที่เราเคยคำนึงถึง

บ้างอาจรู้จักเขาจากตราวงกลม พื้นหลังสีเขียวและน้ำเงิน ตัวอักษรสีเหลือง ตรงกลางเขียนเอาไว้ว่า ‘เปิบพิสดาร’ ด้านล่างระบุชื่อ ‘แม่ช้อยนางรำ’ ณ ร้านอาหารรสเลิศทั่วกรุงเทพมหานคร บ้างอาจจดจำเขาในฐานะพิธีกร ‘ท้าพิสูจน์’ ในช่อง 7 บ้างอาจหลงใหลในเสียงเพลงของเขาที่จรดโดยนามปากกาของ ‘กรวิก’ แต่ทุกคนที่จดจำเขาในฐานะและนามต่าง ๆ ย่อมหมายถึงชายคนเดียวกัน

 

สันติ เศวตวิมล

 

บทสัมภาษณ์ ‘สันติ เศวตวิมล’ เปิดชีวิตพิสดารของนักเขียน นักชิม และนักใช้ชีวิต

 

เกิดภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบ ชีวิตของสันติเต็มไปด้วยความผันผวนและท้าทายในชีวิต และทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีแกนกลางคืออาชีพ ‘นักหนังสือพิมพ์’ ที่ได้เคลื่อนผ่านช่วงเวลาสำคัญตั้งแต่ สงครามเวียดนาม สงครามเขมร ไปจนถึงประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ ที่เป็นอีกหนึ่งชนวนเหตุให้เราได้เห็นตราเปิบพิสดารกันในทุกวันนี้

มากไปกว่านั้น ภายหลังจากกอดรัดฟัดเหวี่ยงกับเนื้อหาที่เข้มข้นทางด้านสังคมและการเมืองมาแล้ว สันติ เศวตวิมล ก็ยังเป็นที่รู้จักในบทบาท ‘นักแต่งเพลง’ ผ่านนามปากกา ‘กรวิก’ ที่อยู่เบื้องหลังผลงานเลื่องชื่อมากมาย โดยเฉพาะอัลบั้ม เขิน (2523) จากวงแกรนด์เอ็กซ์ ที่ในทุก ๆ บทเพลงมีผู้แต่งเป็นกรวิกทั้งสิ้น

ไฉนชีวิตของใครคนหนึ่งถึง ‘พิสดาร’ — ในที่นี้นิยามถึงความกว้างขวาง — ได้ถึงเพียงนี้ เดินทางผ่านช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สงครามและเดือนตุลาฯ จนกลายเป็นคอลัมนิสต์และนักชิมอาหารชื่อดังของประเทศ อีกทั้งยังมีบทบาทของการเขียนเพลงจนกลายเป็นที่จดจำแห่งยุค

ครั้งหนึ่ง The People ได้มีโอกาสนั่งลงที่ห้องทำงานของเขา ณ ร้านอาหาร ‘แม่ช้อยดอยหลวง’ เพื่อย้อนรำลึกถึงอดีตผ่านบทสนทนาตั้งแต่ชีวิตที่เกิดมา เส้นทางนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ จุดกำเนิดเปิบพิสดาร เรื่องราวการเขียนเพลง ไปจนถึงตะกอนความคิดของ ‘สันติ เศวตวิมล’ ในวันที่ชีวิตของเขาก้าวเข้าปีที่ 80

อ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ที่บทสัมภาษณ์นี้

The People : ชีวิตคุณได้เผชิญหน้าและผ่านอะไรมาหลากหลายรูปแบบ เหตุการณ์ และยุคสมัย หากต้องนึกว่าใครคือคนสำคัญในชีวิต คน ๆ นั้นจะเป็นใคร?

คุณย่า เพราะว่าชีวิตเรานี่อยู่กับคุณย่า พ่อแม่ก็เลิกกัน ไปคนละทิศคนละทาง เอาผมไปให้ชาวบ้านเลี้ยง คุณย่านี่มาจากตระกูลบุนนาค คุณย่าบอกว่า “ไม่ได้หรอก ถ้าจะให้ผมไปอยู่กับคนเลี้ยงที่เป็นชาวบ้าน” เพราะคุณย่าจะพูดเสมอว่า “ถ้าไปอยู่กับคนที่เขาเป็นยังไง หลานเราก็จะเป็นแบบนั้น” ก็เลยไปบังคับคุณพ่อให้ไปเอาผมกลับมาจากคนเลี้ยง

ก็มาหยุดอยู่กับคุณย่านี่ ตอนประมาณซัก 3 ขวบ แล้วก็อยู่ด้วยกัน — อดนอน อยู่กับคุณย่า ทำนา ไปตลาด ทำกับข้าว ก็เลยได้ความรู้ในเรื่องอาหารของพวกตระกูลบุนนาคมา

 

The People : อะไรคือจำสอนจากคุณย่าที่ติดตัวเรามาตลอด?

คำสอนจากคุณย่ามีเยอะเลยนะ ท่านเป็นคนโบราณ ก็จำได้หลายอย่าง แ แต่ถ้าจะสรุปเลยนะ ก็จะมีคำว่า “ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน กตัญญู รู้คุณคน

 

บทสัมภาษณ์ ‘สันติ เศวตวิมล’ เปิดชีวิตพิสดารของนักเขียน นักชิม และนักใช้ชีวิต

 

The People : คุณเกิดในช่วงปี พ.ศ. 2489 และได้ใช้ชีวิตผ่านทศวรรษต่าง ๆ ได้เห็น ได้ทำอะไรในหลายยุคหลายสมัย คุณอามองว่าผู้คนหรือสังคมในแต่ละช่วงเวลามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?

ผมเกิดหลังสงคราม วันที่เกิดในปีนั้น สงครามเพิ่งเลิกพอดี คุณพ่อเลยตั้งชื่อว่า ‘สันติ’ — หมายถึงสงบสุขแล้ว

เปลี่ยนครับ มันเปลี่ยนไม่ใช่เป็นทศวรรษนะ ไม่ใช่สิบปีหรอก มันเปลี่ยนทุกวัน ทุกวันมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าจะพูดให้ละเอียด มันเปลี่ยนทุกวินาทีด้วยซ้ำ ความคิดก็เปลี่ยน ไม่ต้องรอเป็นปีหรอก ผมนั่งคุยกับคุณเนี่ย ความคิดผมก็อาจจะเปลี่ยนแล้วก็ได้ มันเกิดจากสิ่งที่มากระทบ มารุมเร้าให้เกิดความคิดขึ้นมา

มันเปลี่ยนได้ในวินาทีที่คุณพูดกับผมเลย

 

The People : คนเราก็สามารถเปลี่ยนไปได้ตลอด

โลกนี้คือการเปลี่ยนแปลง โลกไม่หยุดนิ่ง โลกมันหมุนตลอดเวลา การหมุนก็คือการเปลี่ยนแปลง เป็นกฎของธรรมชาติ และเป็นกฎของศาสนาด้วย พระพุทธองค์ก็ตรัสถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลง ถึงกับบอกว่า “เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ควรไปยึดติดกับมัน

 

The People : จำช่วงเวลาในอดีตตอนที่ยังเป็นเด็กของคุณได้ไหมว่ามีหน้าตาเป็นแบบไหน?

ผมก็อยู่กับคุณย่าจนถึงอายุประมาณ 10 ขวบ แต่ย้อนกลับไปตอนอายุ 3–4 ขวบ คุณพ่อก็แต่งงานใหม่ แล้วผมก็มีปัญหากับภรรยาใหม่ของคุณพ่อ จนกระทั่งคุณพ่อต้องไล่ผมออกจากบ้าน ตอนอายุสิบกว่าขวบ ก็ไปอยู่กับคุณแม่ แล้วคุณแม่ก็มีสามีใหม่เหมือนกัน ก็มีปัญหากับสามีใหม่ของคุณแม่อีก

ตอนนั้นยังเด็กมาก ประมาณสิบขวบกว่า ๆ คิดแค่อย่างเดียวว่าเราต้องอยู่ให้รอด ทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ 

 

The People : ในช่วงเวลานั้นรู้สึกโดดเดี่ยวบ้างไหม?

แน่นอนครับ โดดเดี่ยว เพราะเป็นลูกคนเดียวของทั้งคุณพ่อและคุณแม่ หลังจากคุณพ่อแต่งงานใหม่ก็มีลูกอีกคน เป็นน้องสาว แต่ก็ไม่ได้ติดต่อกันเลย คำว่า ‘ลูกโทน’ สมัยก่อนเรียกแบบนั้น — ก็ใช่เลย ผมเป็นลูกโทน

แต่ความโดดเดี่ยวทำให้เราเข้มแข็ง เพราะเราต้องอยู่ให้รอด ถ้าเราไม่เข้มแข็ง เราก็อยู่ไม่รอด อย่าง,ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ‘ชาร์ลส ดาร์วิน’ (Charles Darwin) ก็พูดถึงเรื่องสิ่งมีชีวิตเอาไว้ว่า เขาบอกว่าทั้งมนุษย์ ทั้งสัตว์ หรือแม้แต่พืช ผู้ที่แข็งแรงที่สุดถึงจะอยู่รอดได้

 

The People : คุณเป็นคนที่ ‘เขียน’ ทุกวันเลยใช่ไหม?

เขียนทุกวันครับ เขียน ๆ ๆ ทุกวัน

 

บทสัมภาษณ์ ‘สันติ เศวตวิมล’ เปิดชีวิตพิสดารของนักเขียน นักชิม และนักใช้ชีวิต

 

The People : คุณเริ่มเขียนตั้งแต่เมื่อไหร่?

เริ่มตั้งแต่เด็กเลยครับ ตอนเด็ก ๆ เราจะมีสมุดบันทึก สมุดเล่มเล็ก ๆ แล้วเราก็จะบันทึกไว้ เช่น วันนี้เห็นรถเก๋งอะไร ผ่านไปบ้าง มีอะไรที่เราควรจะจำ ก็บันทึกไว้ แล้วก็เขียนต่อมาเรื่อย ๆ จนโตขึ้นก็กลายเป็นไดอารี่ ไดอารี่ที่เขียนไว้ทุกวัน ว่าวันนี้วันอะไร ทำอะไร ไปเจออะไร 

แต่เสียดาย ภรรยาที่ผมแต่งงานด้วยเขาก็เคยอ่านนะ ก็ใช้เวลาอ่านเป็นปีเลย เพราะเขียนไว้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงอายุประมาณ 17-18 ปี ไดอารี่นี่มีเป็นสิบเล่มเลยมั้ง แต่ภรรยาผมตอนนั้นเธอก็ถามว่า “เธอจะอยู่กับอดีตของเธอ หรือจะอยู่กับฉันที่เป็นปัจจุบัน?” และเธอก็บอกให้เอาไดอารี่นั่นไปทิ้ง

ผมก็บอกว่า “เสียดายนะ” แต่เธอก็ตอบกลับมาว่า

 

เธอจะเสียดายไดอารี่ หรือเสียดายฉันล่ะ?

 

ผมเคยพูดประโยคหนึ่งกับเขาว่า “รู้ไหมว่าวันหนึ่ง ไดอารี่ที่เขียนนี่ เราสามารถเอามาทำเป็นหนังสือได้เลยนะ” 

แต่เขาก็ไม่สนใจ ก็เลยต้องเอาไดอารี่สิบกว่าเล่มไปโยนทิ้ง แต่ผมก็แอบไว้เล่มหนึ่งนะ ยังเก็บไว้อยู่ที่บ้านเช่าเล็ก ๆ นั่นแหละ สุดท้าย หนังสือที่เขียนมาจากบันทึกตอนนั้น ก็มีคุณสนธิ ลิ้มทองกุลมาอ่านแล้วชอบ เลยเอาไปพิมพ์ให้คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ กับคุณขันชัย บุญปาน ใช้ชื่อหนังสือว่า ‘ฝากไว้ใต้หมอน’ (2521) ซึ่งจริง ๆ แล้วชื่อ ฝากไว้ใต้หมอน นี่ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมบทของ ‘ศรีปราชญ์’ นะ ที่เขียนเอาไว้นานแล้ว

 

The People : หนังสือเล่มนั้นมีความหมายต่อคุณอย่างไรบ้าง?

ผมก็เอาความคิดของตัวเองตอนนั้น คิดอะไรก็เขียนออกไปแบบนั้นเลย เขียนแบบตรง ๆ ก็ได้พิมพ์แล้วสิ่งที่ภูมิใจมากคือ ได้รางวัลกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ซึ่งผมก็ไม่รู้นะ แต่ว่าเขายกย่องกันว่าเป็นนักเขียนของสมาคมหรือของชาติอะไรก็แล้วแต่ ผมก็ไม่ได้ยินดียินร้ายอะไรมากนะ ก็ขอบคุณที่เขาให้รางวัล แต่ไม่ได้รู้สึกว่าต้องยิ่งใหญ่อะไร

สิ่งที่สำคัญคือ ผมต้องเขียนทุกวัน อ่านทุกวัน

 

The People : มีหนังสือเล่มไหนไหมครับที่เป็นอิทธิพลสำคัญกับคุณในช่วงเวลานั้น?

มีครับ หนังสือเล่มแรก ๆ ที่ประทับใจคือเรื่องของ ‘กำศรวลศรีปราชญ์’ ที่ถูกไล่ออกจากกรุงศรีอยุธยา เราก็คิดทำนองนั้น ว่าเราก็เหมือนกัน — ถูกพ่อไล่ออกจากบ้าน เร่ร่อน พอโตขึ้น ก็ได้เป็นนักหนังสือพิมพ์

ส่วนช่วงก่อนจะได้ทำงานหนังสือพิมพ์ ก็เคยอ่าน ‘ละครแห่งชีวิต’ ของ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ แล้วก็คิดว่า เราน่าจะเป็นเหมือนหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง เป็นนักหนังสือพิมพ์เหมือนท่าน อาจจะเป็นเล่มนั้นแหละครับ 

 

The People : พอพูดถึงเรื่องการเป็นนักหนังสือพิมพ์ เห็นว่าคุณเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 16 ปีเลย ช่วงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง?

ใช่ครับ ตอนนั้นอายุ 16 เป็นนักข่าวเลย แต่ถึงอายุ 16 ก็จริง ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นเด็กนะ เพราะผมต้องรับผิดชอบตัวเองมาตั้งแต่เล็กแล้ว พอเริ่มทำงานก็คิดว่า เรามีความรับผิดชอบ ตอนเด็กก็รับผิดชอบด้วยตัวเอง โตมาก็ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ตอนทำงานเป็นนักข่าว ก็รับผิดชอบต่อหนังสือพิมพ์ที่เราทำอยู่ 

 

ต้องบอกก่อนนะว่า ‘นักข่าว’ กับ ‘นักหนังสือพิมพ์’ มันไม่เหมือนกัน

 

นักข่าวคือคนที่รับงานจากบรรณาธิการ แล้วไปทำตามมอบหมาย แต่นักหนังสือพิมพ์คือตำแหน่งที่เขยิบขึ้นมา จากการมีประสบการณ์ มีวิสัยทัศน์ มีทัศนคติ มีอะไรมากกว่านั้น ถึงจะเรียกว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์

เพราะงั้น ผมบอกกับตัวเองว่า ทั้งนักข่าวก็ได้เป็น ทั้งนักหนังสือพิมพ์ก็ได้เป็น รวมถึงเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ด้วย

 

The People : ในช่วงเวลาที่คุณเริ่มต้นอาชีพในฐานะนักข่าว ก็เป็นช่วงเดียวกับที่สงครามเวียตนามเกิดขึ้นพอดี?

ใช่ครับ ตอนนั้นผมอยู่กับ ‘พิมพ์ไทย’ สงครามเวียดนามเป็นสงครามที่ไม่ได้ประกาศนะครับ มันรบกันได้ทุกสถานที่ ไม่ได้มีเส้นแบ่งแน่ชัดว่านี่คือสนามรบตรงไหน มันรบกันทั้งเวียดนามใต้ เวียดนามเหนือ ทั้งสองฝั่งต่างก็มีคนของตัวเอง เป็นสงครามที่ไม่มีรูปแบบชัดเจน

อันตรายมาก ผมยังจำได้เลย ตอนนั้นอยู่ไซ่ง่อน — ผมยังเรียกว่าไซ่ง่อน ไม่เรียกโฮจิมินห์นะ ยังติดปากไซ่ง่อนอยู่ — มีอยู่วันหนึ่ง ไปกินข้าวบนเรือสำราญที่จอดอยู่กลางแม่น้ำ นั่งกินข้าวอยู่ดี ๆ ระเบิดตูม! ดังสนั่น ตอนแรกก็นึกว่าก๊าซระเบิด แต่จริง ๆ เป็นระเบิดเวลาที่มีคนเอามาวางไว้

โชคดีมากนะ วันนั้นไปนั่งหัวเรือ เลยรอดมาได้ ถ้าผมนั่งอยู่ท้ายเรือ คงไม่รอด  นี่แค่ตัวอย่างหนึ่งนะ ยังมีอีกเป็นสิบ ๆ เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ใช่วันเดียวจบเลย

 

The People : ไม่กี่ปีต่อมาภายหลังจากการรายงานข่าวสงครามเวียตนาม สงครามเขมรก็อุบัติขึ้น ซึ่งคุณก็ได้มีโอกาสเข้าไปที่นั่นด้วย

สงครามเขมรนี่ต่างจากสงครามเวียดนามเยอะเลย เพราะเขมรมันแบ่งเป็นหลายฝ่าย เขมรแดง ที่นิยมคอมมิวนิสต์ กับ เขมรขาว ที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่ผมไม่ได้สนใจเรื่องการรบมากเท่าไหร่ สิ่งที่สนใจจริง ๆ คือ ‘นครวัด

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลอเมริกาเคยเชิญผมไปเป็นผู้สังเกตดูสถานการณ์ในฐานะนักข่าว เขาหวังให้ผมพูดแนว ๆ ว่า “อเมริกาต้องชนะสงครามเวียดนาม” แต่ผมก็ปฏิเสธ ผมบอกว่า “เธอแพ้แน่” ซึ่งอันนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือระหว่างอยู่ที่อเมริกา ได้มีโอกาสอ่านหนังสือของนักเขียนคนหนึ่ง เขาเขียนประโยคหนึ่งไว้ว่า “See Angkor Wat and die” ที่แปลว่า “เจ้าจงเห็นเห็นนครวัดเสียก่อนแล้วถึงจะตายได้

 

ผมก็คิดเลยว่า เราจะต้องเห็นนครวัดก่อนตาย

 

พอมีคนเสนอจะพาเข้าเขมร ผมก็ตอบตกลงทันที ไม่ได้อยากไปดูสงครามหรอก อยากไปดูนครวัด ตอนนั้นเข้าเขมรไม่ต้องมีวีซ่าหรือพาสปอร์ตอะไรเลย ออกจากอรัญประเทศไปก็เข้าปอยเปต แล้วก็ขับรถข้ามไปเลย ผ่านเมืองสำคัญมงคลบุรี ศรีโสภณ และเสียมราฐ ซึ่งตรงนั้นเป็นทางแยก — แยกหนึ่งไปพระตะบอง อีกแยกหนึ่งเข้าเสียมราฐ — ซึ่งนครวัดอยู่ที่เสียมราฐ

แต่พอไปถึง ตอนกำลัจะเข้า... ปรากฏว่าเขมรแดงยึดไว้หมดแล้ว เข้าไม่ได้ เลยต้องเปลี่ยนแผน เลี้ยวไปที่พระตะบองแทน

เพราะที่พระตะบอง ผมรู้จักพวกตระกูลอภัยวงศ์เยอะ คิดว่าเข้าไปคงรอด แล้วก็รอดจริง ๆ ที่นั่นมีคนไทยเยอะมาก โดยเฉพาะสมัยพระยาอภัยภูเบศร คนไทยถูกส่งมาอยู่ที่นั่น ผมก็อยู่ที่พระตะบอง รายงานข่าวไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพระตะบองแตกก็ต้องหนีออกมาตามเส้นทางที่เราเคยมา

ระหว่างทางที่หนีกลับ มีทั้งคนเขมรที่อพยพหนีสงคราม นั่งเกวียนกันมาเป็นขบวน ตอนนั้นแหละ — ผมได้ ภาพที่สำคัญที่สุดที่ไทยรัฐได้ ซึ่งก็คือภาพคนตาย ศพที่กองกันเป็นภูเขาเหล่ากา ผมถ่ายไว้ แล้วส่งกลับไทยรัฐ เขาก็เอาลงหน้าหนึ่ง ซึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คนก็อ่านกันทั้งประเทศ เรื่องก็ไปถึงสื่อต่างประเทศด้วย ตอนที่กลับมา นักข่าวต่างชาติพากันมาสัมภาษณ์ผมที่ไทยรัฐกัน 

ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่จุดประกายให้เกิดเรื่องราว ‘The Killing Field’ ขึ้นมา

 

The People : คุณจำวินาทีที่กดชัตเตอร์ถ่ายภาพนั้นมาได้ไหม?

คือเราก็เดินมาระหว่างทาง แล้วก็ไปพักตรงเมืองนิมิต ตอนนั้นพวกชาวบ้านเขาก็จอดเกวียนกัน เราก็ลงไปจะไปปัสสาวะ ก็พิจารณาว่าจะไปตรงไหนดี เลยเดินเข้าไปเจอโบสถ์ร้างหลังหนึ่ง ตอนเดินเข้าไปใกล้ ๆ ได้ยินเสียงแมลงวันมันบิน หึ่ง ๆ ๆ ผมก็สงสัยว่าทำไมมันถึงมีเยอะขนาดนั้นก็เลยเดินอ้อมไปหลังโบสถ์ก็เจอเลยครับ

 

ซากศพกองอยู่เต็มไปหมด

 

ตอนนั้นเราก็ยังไม่กล้าประกาศตัวว่าตัวเองเป็นนักข่าวนะ เพราะถ้ารู้ว่าเราเป็นหนังสือพิมพ์ — เขาเรียกว่า ‘แซะ’ ในภาษาเขมร — เพราะถ้ามีคนรู้นี่เราจบแน่ ตอนนั้นก็มีกล้อง Leica อยู่ตัวหนึ่งที่เราใช้ถ่ายทำภาพสงคราม (ยังเก็บไว้อยู่เลย) 

 

บทสัมภาษณ์ ‘สันติ เศวตวิมล’ เปิดชีวิตพิสดารของนักเขียน นักชิม และนักใช้ชีวิต

 

ซึ่งกล้อง Leica เนี่ย เสียงชัตเตอร์มันคมมาก คมเหมือนเสียงปืนเลย ดังชัดเลย ก็เลยต้องเอากล้องตัวนั้นซ่อนไว้ในเสื้อ แล้วให้เลนส์โผล่ออกมา แล้วก็ค่อย ๆ กดชัตเตอร์แชะ... ได้แค่ภาพเดียวเท่านั้น

เพราะระหว่างที่เดินทางมาน่ะ มีพวกเขมรแดงแฝงตัวมาด้วย เราก็กลัวมาก ถ้าถ่ายเยอะแล้วเขารู้ว่าเป็นนักข่าว ก็คงโดนฆ่าแน่

สงครามนี่โหดร้ายมาก ผมเห็นมากับตา เวียดนามก็ใช้ปืน ใช้ระเบิด แต่เขมร มันโหดร้ายยิ่งกว่า พวกเขมรแดงมันประหยัดกระสุน มันใช้ ‘กาบตาล’   เอามาเลื่อยคอคน ทรมานมาก นี่เป็นแค่ส่วนน้อยที่ผมเล่าได้ความจริงมันชั่วร้ายยิ่งกว่านั้นเยอะ

 

The People : คุณได้เรียนรู้อะไรจากการเป็นนักข่าวสงคราม?

ผมตอบได้เลยว่า สงครามเป็นสิ่งที่เลวร้าย ผมเกลียดสงคราม 

แม้แต่ในประเทศไทย ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นนักข่าวการเมือง เคยเขียนคอลัมน์สังคมการเมืองอยู่ที่ไทยรัฐ แต่สุดท้าย ก็โดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ผมไม่ใช่เลย

 

The People : ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ?

ใช่ครับ แต่อาจจะต้องเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ด้วย 

ผมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบ คนที่เคลื่อนไหวตอนนั้นก็มี ธีรยุทธ บุญมี ผมเองก็เกลียดการบริหารด้วยการเผด็จการของ จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร สิ่งหนึ่งที่ผมทำได้ในฐานะนักหนังสือพิมพ์อยู่ที่ไทยรัฐ ผมไปหาธีรยุทธที่หอพระเกี้ยวในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเราก็จะคุยเรื่องการเมืองให้เขาฟัง

วันนั้นมีทั้ง ธีรยุทธ บุญมี ที่เรียนวิศวะ, จีรนันท์ พิตรปรีชา ก็อยู่คณะเภสัชฯ เป็นต้น ทีนี้เราก็จะมานั่งฟังผมที่หอพระเกี้ยว เขาจะถามว่า “พี่สันติเป็นยังไง?” ผมก็คุยกับเขาอย่างเปิดใจ แล้วมันก็กลายเป็น จุดประกายให้เกิดการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา เริ่มจากนิสิตจุฬาฯ แล้วก็ขยายไปเรื่อย ๆ

ตอนนั้นมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ พอเรียกร้องก็โดนจับ เรื่องก็เลยใหญ่โตขึ้น ถ้าจะเล่าทั้งหมด... โอ๊ย แค่เหตุการณ์ 14 ตุลา ผมพูดได้เป็นชั่วโมงเลยนะ

 

The People : ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์ ฮ. ตก ใช่ไหมครับ?

ผมนี่แหละเป็นคนทำข่าว ฮ. ตก ตอนนั้นผมอยู่ไทยรัฐ ตอนนั้นพวกนักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้นโดยเฉพาะพวกนักศึกษารามคำแหง ที่เขียนข้อความหนึ่งว่าว่า “สภาสัตว์ป่าอนุญาตให้ต่ออายุราชการได้” ข้อความนั้นมันไปสะเทือนใจจอมพลเลยนะ แล้วมันก็เลยเกิดการเดินขบวนใหญ่ บนถนนราชดำเนิน 

หลังจากนั้นเหตุการณ์ที่มันสำคัญมากก็คือ มีทหารกับนักแสดงหญิงคนหนึ่งไปล่าสัตว์ที่เซซาโว่ ทุ่งใหญ่นเรศวร แล้วพอกลับมาก็แยกย้ายกันกลับ บางกลุ่มก็นั่งเฮลิคอปเตอร์กลับ ผ่านบางเลน จังหวัดนครปฐม

วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ผมจำได้ ซึ่งนักข่าวส่วนใหญ่จะไม่อยากทำงานกัน แต่ผมเป็นคนที่… ไม่ได้ชมตัวเองนะ แต่ขยัน ขยันอย่างคุณย่าสอน ผมอาสาหัวหน้าข่าวเองว่า ผมจะไปทำข่าวนี้ ผมขับรถออกจากไทยรัฐไปถึงบางเลน นครปฐม ข่าวนี้ฉบับอื่นเขาก็รู้ เขาก็ไปกัน พวกเขาก็มีกล้องที่ซูมได้ พอไปถึงก็เห็นควันลอยขึ้นอยู่ลิบ ๆ ประมาณ 100–200 เมตร

แต่ผมไม่ใช่ เราทำต้องทำให้ถึงที่สุด เลยบอกช่างภาพที่ชื่ออ้วนว่า “เฮ้ย อ้วน เอ็งกับพี่ลองเดินเข้าไปดูตรงเฮลิคอปเตอร์หน่อยสิ” ก็เดินเข้าไป ตอนนั้นเดือนเมษายน จำได้ แดดร้อนมาก 

พอไปถึงอ้วนก็ถ่ายอย่างละเอียด แต่เราได้กลิ่นเหมือนเนื้อไหม้ กลิ่นมันเหมือนที่คุณย่าเคยย่างเนื้อให้กินเลย เราก็บอกอ้วนว่าจะเดินเข้าไปดูใน ฮ. เราก็เดินเข้าไปก็เห็นหัวกระทิงกับเนื้อที่ถูกไฟไหม้ ผมก็เดินเข้าไปหยิบหัวกระทิงมาแล้วชูขึ้น กลายเป็นรูปภาพไทยรัฐหน้าหนึ่งเลย และหัวหน้าข่าวก็บรรยายว่า “เราจะไม่ยอมอีกแล้ว

 

ผมก็ยกหัวกระทิงขึ้นมา

แล้วให้ช่างภาพถ่ายภาพไว้

ภาพนั้นลงหน้าหนึ่งไทยรัฐทันที

 

จากเหตุนั้นเลยยิ่งปลุกกระแสขึ้นมา ประกอบว่าผมกับ คุณผ่อง เล่งอี้  ตอนนั้นเขาเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ เรารู้จักกันเพราะเรียนสวนกุหลาบเหมือนกัน เราก็เลยได้ข้อมูลจากเขาเยอะ เราก็เลยบุกเข้าไปในเซซาโว่ แต่ก่อนหน้ายังไม่มีถนนหนทางเลย ต้องใช้เครื่องบิน ซึ่งตอนนั้นเซซาโว่ก็เป็นป่าลึกอยู่เลย

ผมต้องเข้าไปเพื่อไปถ่ายหลักฐาน แล้วก็เจอแคมป์ข้างลำห้วยที่เขาตั้งเอาไว้ ก็ได้หลักฐานมา ไม่ใช่ว่าเราไปใส่ร้ายเขา 

 

The People : เหตุการณ์นั้นจึงเป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่ปลุกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ขึ้นมา

ใช่ อย่างภาพ ‘ไอ้ก้านยาว’ ผมก็อยู่ในเหตุการณ์ ในวันนั้นเราก็เป็นช่างภาพ เขาชื่อว่า ‘พิพัฒน์ แซ่ฉั่ว’ เหตุการณ์เกิดที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ ทหารยิงผู้ชุมนุมที่เดินขบวน คนถือธงชาติโดนยิง เลือดอาบเลย ผมจำได้ ผู้คนก็เริ่มลุกฮือ บางคนเอารถเมล์ไปพุ่งชนรถถัง ก็โดนยิงตาย

พิพัฒน์ก็ถือไม้ยาว ตอนนั้นมันมีหนังฝรั่งชื่อไอ้ก้านยาว เราก็มองและคิดว่าจะถ่ายรูปตรงไหนดี เรายืนอยู่หลังพิพัฒน์ ถ่ายไปก็จะเจอหน้าทหารทุกคนเลย ว่าใครเป็นคนยิง ซึ่งถ้าเขายิงมาพิพัฒน์ก็อาจจะตาย และเราก็อาจจะโดนลูกหลง 

แต่ภาพที่ได้คือ เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ชื่อ ‘แปลก เข็มพิลา’ เขาเคยเป็นทหารอยู่เวียดนาม สนิทกัน เราก็บอกให้เขาไปอยู่ด้านทหาร เพราะเขาก็พูดภาษาทหารได้ พอพิพัฒน์ถือไม้ แปลกก็ถ่ายรูป จึงได้เห็นภาพไอ้ก้านยาวที่เราจดจำได้กันในทุกวันนี้ ส่วนเราได้แต่ภาพทหาร

 

The People : ถัดจากนั้น ก็เป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในช่วงเวลานั้นคุณต้องเผชิญกับอะไรบ้าง?

ช่วง 6 ตุลาฯ ตอนนั้นผมเป็นหัวหน้าข่าวสังคม-การเมืองของไทยรัฐ แล้วก็ถูกกล่าวหาว่า “ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ แล้วก็ถูกกล่าวหาว่า ‘ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์’ จากรัฐมนตรีมหาดไทยในยุคนั้น ซึ่งก็คือคุณ ‘สมัคร สุนทรเวช’ ตอนนั้นเป็นยุคของการปฏิรูป 

หลัง 6 ตุลา เราก็เลยต้องรีบหนีเข้าป่า ซึ่งพวกคอมมิวนิสต์ก็จะแบ่งออกเป็นหลายพวกที่ไปทั้งอีสานและใต้ แต่เราไม่ใช่คอมมิวนิสต์ไง แต่เราต้องหนี เราต้องหนีเพราะเมื่อเขาเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย สิ่งแรกที่เขาประกาศคือจับนักหนังสือพิมพ์ 30 คน รวมถึงผมด้วย แต่ผมไม่ยอมให้จับ ซึ่งก็ติดคุกกันระนาว เอ่ยชื่อก็ได้ ยังมีชีวิตอยู่ด้วย ตายไปก็มี

เราก็คิดว่าเราไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เราจะหนีไปที่ไหน ก็เลยไปที่ สังขละบุรี เซซาโว่ ที่เคยอยู่มาก่อน รู้จักคนแถวนั้นเยอะ โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ไปหมกตัวอยู่กับกะเหรี่ยงเพื่อไม่ให้เขาจับเราได้ ตอนนั้นทางการก็ไม่ได้สนใจฝั่งเราหรอก พวกเขาเน้นกวาดล้างทางภาคอีสาน ปักษ์ใต้ หรือไม่ก็ภาคเหนือ

ช่วงนั้นคุณสมัคร สุนทรเวช เขาก็ประกาศชัดว่าถ้า สันติ เศวตวิมล เขียน ผมจะปิดไทยรัฐเลย ผมก็เลยเข้าไปหา เขาเป็นธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกับคุณชวน หลีกภัย ส่วนผมก็ธรรมศาสตร์เหมือนกัน แต่ผมอยู่คณะวารสารศาสตร์ เรารู้จักกันดี พอเขาประกาศว่าจะจับเรา ผมก็ตัดสินใจเลย เพราะลูกเมียมี จะเสี่ยงอยู่ทำไม ก็เลยไปหา คุณสมัคร เพื่อเคลียร์ 

 

พอเจอหน้า ผมก็บอกเขาว่า

ผมไม่ใช่คอมมิวนิสต์นะครับ พี่หมัก

ผมเรียกเขาว่า พี่หมัก


แล้วก็บอกว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าผมฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ — ไม่จริงเลย

คุณสมัครเขาก็ดี เขาบอกว่า “งั้นนายต้องหยุดการเคลื่อนไหว หยุดเขียนหนังสือในไทยรัฐ ถ้าผมรู้ว่าคุณเขียน ผมจะสั่งปิดไทยรัฐเลย

ผมก็เลยตัดสินใจว่า หนึ่ง — เราไม่ต้องเข้าคุก สอง — คนในไทยรัฐตั้งเป็นพันคนจะได้ไม่เดือดร้อน ผมก็เลยรับปากว่าจะไม่เขียนหนังสือให้ไทยรัฐอีก 

จนกระทั่งภายหลังได้มาเจอคุณสมัคร เขามาสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็มีนักหนังสือพิมพ์ด้วยกันก็มาชวนว่าให้เขียนโจมตี เพื่อให้คุณสมัครไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม แต่ผมก็ปฏิเสธ เพราะเรารับปากไปแล้ว ลูกผู้ชาย คำพูดต้องเป็นคำพูด ก็ไม่โจมตีอะไร

 

บทสัมภาษณ์ ‘สันติ เศวตวิมล’ เปิดชีวิตพิสดารของนักเขียน นักชิม และนักใช้ชีวิต

 

The People : ซึ่งก็เป็นช่วงเวลานี้เองที่คุณได้ลอง ‘เปิบ’ อาหาร ‘พิสดาร’?

ผมก็ไปอยู่ในป่า มันไม่มีอะไรกินเลย เราก็พยายามติดต่อคุณผอ. ว่า ผมจะเขียนนะ แต่จะเขียนแบบที่คุณสมัครจับผมไม่ได้ ผอ. ก็ถามว่าผมจะเขียนอะไร “เรื่องอาหาร” ผมตอบ ผอ. ก็หัวเราะลั่นเลย ผอ. ชื่อว่า ‘กําพล วัชรพล’ เป็นผู้ก่อตั้งไทยรัฐ ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณกับผมมา ตั้งตัวได้เพราะท่าน

 

ผอ. ก็ถามว่า “มึงจะไปแข่งกับคุณชายถนัดศรีรึ?

 

ตอนนั้นคุณชายถนัดศรียังมีชีวิตอยู่ ผมก็เลยบอกท่านไปว่า ผมไม่แข่งกับคุณชายถนัดศรีหรอก เพราะท่านเขียนอาหารในเมือง ผมจะเขียนอาหารในป่า ซึ่งเป็นอาหารที่ทานได้ไม่ตาย ชาวบ้านเขาก็กินกัน ผอ. เขาก็บอกว่าดี แต่อย่าเขียนให้คุณสมัครเขาจับได้ก็แล้วกัน

ผมก็ต้องเขียนเพราะมันได้เงิน เอามายาไส้เพื่อให้อยู่ได้ และด้วยการที่จะเขียนให้จับไม่ได้ ผมก็ต้องใช้สรรพนามหรือคำสร้อยในการเขียนต่าง ๆ กันไป เช่น ดิฉัน คะ ขา ซึ่งก็เป็นบุคลิกของคุณย่าแบบคนโบราณนำมาใส่ ก็ทำให้คนไม่รู้ จนกลายเป็น ‘แม่ช้อยนางรำ’

ของในป่าน่ะ มันแปลกทั้งนั้นแหละ อยู่กับกะเหรี่ยงก็กิน อ้น — รู้จักอ้นมั้ย? อ้น มันเหมือนหนูนั่นแหละ เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักกันหรอก อ้นนี่อร่อยนะ อร่อยกว่าที่คนคิดอีก อย่างแย้นี่เรื่องเล็กเลย อร่อยเสียด้วยซ้ำ

 

กินหมดทุกอย่างแหละในป่า

ก็กินได้ไม่เห็นตายเลย

 

ความหิวทำให้เราต้องกิน ผมว่าเป็นกันทุกคนแหละ เวลาเราหิวแล้วไม่มีอะไรจะกินก็ต้องกิน กินกันพิสดารจนเป็นคำว่าเปิบพิสดาร คำว่า ‘เปิบ’ มันก็มาจากการใช้มือกินข้าวเป็นลักษณะของคนไทย เวลาเขียนก็จะเล่าเลยว่าคนต่างจังหวัด คนที่อยู่ในป่าเขากินอะไรกันบ้าง แต่พอกลับเข้ามาในเมืองแล้วเขาก็บอกกันว่าเขียนอะไรที่คนในเมืองที่กินได้บ้างสิ

ผมก็เลยเริ่ม จากการเขียนเรื่องของป่า แล้วค่อยมาเขียนเรื่องในเมืองในภายหลัง

 

The People : พอขยับมาเขียนในเมืองแล้ว เรื่องแรกที่เขียนคืออะไร?

เขียนในเมืองเรื่องแรกก็จำ เขียนในเมืองเรื่องแรก — ยังจำได้เลยว่าไปกิน มันสมองหมู ที่แพร่งภูธร เดี๋ยวนี้ร้านนั้นยังอยู่นะ ร้านนี้เปิดมานานมาก ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณปู่อยู่กรมนครบาล ซึ่งตอนหลังก็กลายเป็นกระทรวงมหาดไทย คุณปู่ก็พาคุณพ่อไปกิน พอคุณพ่อมาอยู่กระทรวงการคลัง ท่านก็พาลูกชาย ซึ่งก็คือผมไปกินต่ออีกทอดหนึ่ง พอผมไปกินผมก็พาลูกผมไปกิน คุณหลานก็พาคุณเหลนไปกิน ก็ยังอยู่เลยนะแม้จะผ่านไปหลายรุ่น ซึ่งคนขายเองก็เปลี่ยนไปหายรุ่นแล้วเช่นเดียวกัน 

เขาเรียกว่ามันสมองหมูจีนมีคู่กับมันสมองหมูไทย ลองไปกินดูสิ ยังอร่อยอยู่เลย มัน ๆ ดีมันสมองหมู พอไปอยู่อินเดียก็กินมันสมองแพะ ร้านอาหารมุสลิมก็มีมันสมองวัว 

 

บทสัมภาษณ์ ‘สันติ เศวตวิมล’ เปิดชีวิตพิสดารของนักเขียน นักชิม และนักใช้ชีวิต

 

The People : คุณเคยเล่าว่าครั้งหนึ่งเคยเจอ ‘สมัคร สุนทรเวช’ ที่ร้านเย็นตาโฟด้วย?

เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง ตอนนั้นเขาเป็นผู้ว่าแล้ว วันนั้นผมก็ยังทำ ‘ท้าพิสูจน์’ อยู่ที่ช่อง 7 ก็เลยพาลูกน้องที่ถ่ายรายการไว้ บอกว่า “เดี๋ยวพี่จะพาไปกินเย็นตาโฟที่ศรีย่าน” ซึ่งเย็นตาโฟนี่ เรากินมาตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนสวนกุหลาบ แล้วก็ไปนั่งอยู่ที่ร้าน 

อยู่ดี ๆ คุณสมัคร ก็มาจากไหนไม่รู้ เดินเข้ามากับลูกน้องเขา แล้วก็มานั่งอยู่ตรงป้าย เปิบพิสดาร เลยผมก็เลยบอกลูกน้องว่า

 

เฮ้ย เดี๋ยวพี่จะหยอกคุณสมัครให้ดู

 

เพราะผมรู้นิสัยเขาดี ขี้โมโห อารมณ์ปะทุเร็ว

ผมก็เลยเดินเข้าไปหา ทักว่า “สวัสดีครับพี่หมัก” แล้วพูดต่อว่า “อ้าว พี่หมักก็รู้จักร้านนี้ด้วยเหรอครับ? มาตามรายการเปิบพิสดารหรือเปล่า?”

เขาก็หน้าแดง เริ่มโมโห แต่ก็ยังไม่พูดอะไร

ตอนที่ผมกำลังจะเดินออกมา ผมก็พูดแบบหยอก ๆ ว่า “พี่หมัก ผมเตือนด้วยความปรารถนาดีนะครับ พุงใหญ่อย่างนี้ ไปหาหมอตรวจนะครับ เดี๋ยวมะเร็งจะกินเข้า ผมห่วงพี่นะครับ ถึงเตือน

โอ้โห เขา โกรธเลย ลุกขึ้นยืน เดินออกจากร้านเย็นตาโฟทันที
สุดท้ายไม่ได้กินเลย

ไอ้ร้านเย็นตาโฟนี่ ยังอยู่นะ เหตุการณ์เขาก็ยังจำได้เลย แถมเขาได้ตราเปิบพิสดารไปด้วย

 

The People : คุณสมัครเขาเป็นแฟนเปิบพิสดารด้วยรึเปล่า?

เขาเคยพูดไว้นะว่า ถ้ารู้ว่า สันติ เศวตวิมล เขียน เปิบพิสดาร ผมคงปิดไทยรัฐไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

 

The People : อีกบทบาทหนึ่งของที่ทำให้เราประหลาดใจมากเลยคือ คุณเขียนเพลงในนามปากกา ‘กรวิก’ ด้วย

ก็เป็นเรื่องของความรักส่วนตัวนะ ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้เรียนดนตรี อ่านโน้ตก็ไม่เป็น เล่นดนตรีก็ไม่เป็นร้องเพลงก็ไม่เป็นอีกต่างหาก แต่มันมีความรักลึก ๆ ที่เราเองก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน บางทีอาจเป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์มั้ง หรือไม่ก็ฟ้าดินเมตตา ใครจะเรียกว่าพรสวรรค์ก็แล้วแต่ แต่ผมเชื่อว่าเราแต่งเพลงได้ เพราะเรารักมันจริง ๆ

ผมรักดนตรีมาก ๆ เลยนะ จนถึงขั้นเคยโดนหลอกไปเล่นดนตรีเลย คือเขาชวนเราไป แต่พอไปถึง...โอ้โห ไม่ได้ให้เล่นหรอก เขาให้เราไปแบกกลองแทน…

แต่เรื่องมันยาวมาก ถ้าเล่าอย่างละเอียด สงสัยคุณคงไม่ได้กลับบ้าน

 

The People : คุณเติบโตมากับเพลงแบบไหน? 

ผมเติบโตมากับดนตรีเลยนะครับ แต่ผมไม่เคยแบ่งเลยว่าเพลงนั้นเป็นของวัยรุ่น หรือของคนแก่จะเป็นเพลงไทยหรือเพลงต่างประเทศ เป็นคนฟังเพลงเยอะเลยทำให้มันฝังลึกอยู่ในตัวเรา และจะสามารถดึงออกมาใช้ตอนแต่งเพลงได้ ผมคิดเอาเองนะ อาจจะผิดก็ได้

แต่ผมเคยชอบนักแต่งเพลงคนหนึ่งมากชื่อว่า ‘เออร์วิง เบอร์ลิน’ (Irving Berlin) เขาไม่ได้มีความรู้ด้านดนตรีเลย แต่แต่งเพลงได้เก่งมาก ผมก็เลยคิดว่า เออ... เราก็ไม่มีความรู้เรื่องดนตรีเหมือนกัน เราก็น่าจะแต่งเพลงได้บ้าง ก็เลยใช้เขาเป็นต้นแบบ แล้วภายหลังก็ยิ่งภูมิใจมาก เพราะ เออร์วิง เบอร์ลิน แต่งเพลงชื่อ ‘God Bless America

เพลงแรกที่ผมแต่งก็น่าจะประมาณตอนอายุ 14 ปี ชื่อว่า ‘ม่านบังตา’ แต่ไม่สามารถเขียนในชื่อเราได้เพราะเรายังเด็กเกินไป อีกทั้งเขาต้องใช้ชื่อของ ‘ไสล ไกรเลิศ’ ในการขายที่ห้างแผ่นเสียง 

 

The People: ซึ่งต่อมาคุณก็ได้แต่งเพลงให้กับวงอย่าง ‘แกรนด์เอ็กซ์’ ด้วย

แกรนด์เอ็กซ์ นี่ช่วงหลัง ๆ เลย เพราะตอนนั้นผมมาเป็น หัวหน้าข่าวบันเทิงไทยรัฐ แล้วก่อนหน้านั้นก็ไปทำงานโน่นนี่ เป็นนักข่าวสงคราม เป็นนักข่าวอาชญากรรม เป็นทุกอย่าง ไม่ได้ตั้งใจจะมาอยู่บันเทิงหรอก แต่ ผอ.กำพล วัชรพล ก็บอกว่า “เฮ้ย หน้าบันเทิงของไทยรัฐมันทะเลาะกันอยู่เรื่อย ๆ เอ็งมาอยู่เลย” ก็เลยได้โอกาส ต้องขอบคุณท่านมาก ถ้าไม่มีท่าน ผมก็คงไม่ตั้งตัวได้อย่างทุกวันนี้

พออยู่หน้าบันเทิงก็มีคนชื่อ ‘นัดพบ นพรัตน์’ เขารู้จักผมตั้งแต่สมัยธรรมศาสตร์ เขามาหาผม บอกว่าเขาชอบข้อเขียนของผมในหนังสือของมหาวิทยาลัย แล้วเราก็เขียนลงอยู่ เขาก็บอกว่า “พี่ลองแต่งเพลงให้วงแกรนด์เอ็กซ์หน่อยได้ไหม?” ตอนนั้นวงยังเล็กอยู่เลย เล่นอยู่ที่โรงแรมแมนฮัตตัน สุขุมวิท ผมก็ไปดูเขาร้องกัน

ปรากฏว่าร้องแต่เพลงฝรั่ง ผมก็เลยถามว่า “เฮ้ย เราเป็นนักดนตรีไทย ทำไมเล่นแต่เพลงฝรั่งอย่างเดียว?” ก็เสนอแนวคิดว่าเราควรทำเพลงไทยให้เป็นดิสโก้ดูสิ ตอนนั้นดิสโก้กำลังมาแรงเลยนะ ก็เลยเริ่มทำ ‘ดิสโก้ลูกทุ่ง’ ขึ้นมา แล้วก็ไปเสนอขายให้ค่ายเสียงสยาม ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ลิขสิทธิ์อยู่ 

 

บทสัมภาษณ์ ‘สันติ เศวตวิมล’ เปิดชีวิตพิสดารของนักเขียน นักชิม และนักใช้ชีวิต

 

แล้วก็มาเป็นอัลบั้ม ‘เขิน’ ที่ผมช่วยแต่งเพลงด้วย แนวคิดตอนนั้นคือ “ไม่ต้องไปเอาคนอื่นมาแต่งหรอก ลองให้คนในวงแต่งกันเองสิ เพลงจะได้มีตัวตนของพวกเอ็งจริง ๆ” ก็เลยเกิดเป็นอัลบั้มนี้ขึ้น

คนที่แจ้งเกิดจากชุดนี้คือ ‘ดนุพล แก้วกาญจน์’ ก่อนหน้านั้นเขาเล่นกีตาร์อยู่ตามห้องอาหาร ผมไม่รู้จักด้วยซ้ำ ไปเจอโดยบังเอิญ แล้วเขาก็พามาบอกว่าพี่สันติช่วยดูหน่อยว่าพอจะร้องได้มั้ย ผมก็บอกว่าพอได้ เท่านั้นแหละ ก็แต่งเพลงให้เขาเลย

ในอัลบั้มเขินก็จะมีเพลงของดนุพลอย่าง ‘กล่อมรัก’ และ ‘พบเธอในฝัน’ ที่ขายดี

 

The People : ความสุขของคุณในวัย 80 คืออะไร?

ก็ได้เห็นผลงานของเรานั่นแหละ เป็นที่ยอมรับ อย่างที่บอกว่าผมชอบเขียนหนังสือ ก็ได้รับรางวัลจากสมาคมนักเขียน อย่างรางวัลกรมบรรณาธิการนราธิประพันธ์ ซึ่งถือว่าสูงสุดแล้ว แล้วผมก็ทำเพลง คนก็รู้จักกัน

ส่วนเรื่องทำหนังสือพิมพ์ ผมก็ทำมาครบทุกด้านแล้ว ไปสงคราม ต้องหนี ถูกจับ ได้เจออะไรมามากมาย ได้เรียนรู้ ได้เห็นโลก ได้มีประสบการณ์เยอะแยะ พอถึงวันนี้ ผมก็มานั่งคิดว่า จะเอาอะไรอีกล่ะสันติ?

ผมก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรหรอก แค่พอมีพอกิน ก็ต้องเปิดร้านอาหารหาเลี้ยงชีพ ซึ่งก็ได้ความรู้จากคุณย่าสอนเรื่องทำอาหารมา ภรรยาผมก็เป็นคนดี มีความรู้เรื่องงานวัง เรียนมาจากวิทยาลัยในวังของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งท่านคือคนที่ผมเคารพบูชาเสมอ

ผมอยู่แบบนี้ก็พอแล้ว พอมี พอกิน พอใจ ไม่โลภ ไม่อยากได้อะไรอีก และที่สำคัญ ผมมีความสุขที่จะเป็น ‘ผู้ให้’ มากกว่าเป็น ‘ผู้รับ

 

The People : ถ้าเปรียบชีวิตเหมือนอะไรสักอย่าง คุณจะเปรียบเป็นอะไร?

มันก็เหมือนที่ฝรั่งพูดว่า ชีวิตก็เหมือนกับได้รับกล่องหนึ่ง ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าในกล่องนั้นมันใส่อะไร จนกว่าเราจะเปิดกล่อง ถึงจะรู้ว่าข้างในเป็นช็อกโกแลต หรือเป็นยา เป็นยาพิษ หรือยารักษาโรค ต้องเปิดก่อนถึงจะรู้

 

The People : แล้วคุณอยากให้โลกใบนี้จดจำคุณในแบบไหน?

ไม่ต้องจดจำผมหรอก ผมทำในหน้าที่ที่ผมรัก ผมก็มีความสุขแล้ว คุณจะไปจำอะไรที่ดี จำคนที่ยิ่งใหญ่ ที่ทำประโยชน์ให้กับโลก แต่ไม่ใช่คนที่ทำลายโลกอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ อย่าไปจดจำมันเลย

 

The People : แล้วคำว่า “วันพรุ่งนี้” สำหรับคุณ หมายถึงอะไร?

วันพรุ่งนี้น่ะ เราไม่รู้หรอกว่าจะมีหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะมีไหม เราก็ต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด

 

The People : ตลอดชีวิตที่ผ่านมา อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณได้เรียนรู้?

การอยู่รอด จะอยู่รอดได้ต้องมีรายได้ ต้องทำให้ชีวิตมันอยู่รอดได้ เพราะ Life is to live. ชีวิตคือการอยู่รอด ต้องอยู่ให้ได้ แค่นั้นแหละ

 

บทสัมภาษณ์ ‘สันติ เศวตวิมล’ เปิดชีวิตพิสดารของนักเขียน นักชิม และนักใช้ชีวิต