‘ภัทร ภมรมนตรี’ ทายาท ‘คณะราษฎร’ แห่งเพื่อไทยกับภารกิจกอบกู้แฟลตดินแดง

‘ภัทร ภมรมนตรี’ ทายาท ‘คณะราษฎร’ แห่งเพื่อไทยกับภารกิจกอบกู้แฟลตดินแดง

สัมภาษณ์ ‘เค้ก - ภัทร ภมรมนตรี’ สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตพญาไทและดินแดง แห่งพรรคเพื่อไทย ทายาทคณะราษฎรสาย ‘ภมรมนตรี’ ของคุณตา ‘ประยูร ภมรมนตรี’ กับการลงสนามการเมืองในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่ที่มุ่งกอบกู้ปัญหาในแฟลตดินแดนเพื่อความยุติธรรม

คุณตาก็ทำให้ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ทำให้ทุกวันนี้มีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขครับผม ก็ทำให้เรามีความเป็นประชาธิปไตย มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียม

คือคำที่ ‘เค้ก - ภัทร ภมรมนตรี’ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 6 พญาไทและดินแดง แห่งพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง ‘คุณตา’ หรือ ‘ประยูร ภมรมนตรี’ หนึ่งในคณะผู้ก่อการปฏิวัติสยามฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2475 แห่งประวัติศาสตร์ไทย หรือที่ใครหลายคนน่าจะรู้จักในนาม ‘คณะราษฎร’ 

ความเปลี่ยนแปลงที่ก่อร่างสร้างขึ้นโดยคณะราษฎรนับเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย กับการเปลี่ยนผ่านให้ระบบสังคมไทยมีพัฒนาทางประชาธิปไตยที่ก้าวกระโดด และทำให้สิทธิ์ - เสียงของประชาชนดังมากกว่าก่อน ในโอกาสที่ได้สัมภาษณ์หนึ่งในทายาทของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงในวันนั้นอย่างภัทร The People จึงเอ่ยถามถึงความรู้สึกที่เขามีต่อเรื่องนี้

คุณตาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราก็รู้สึกภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง แต่เราก็ไม่ได้อยู่ทันอะไรขนาดนั้นนะ เราก็เห็นคุณตาและมองว่าท่านก็เก่งเนอะ เป็นฮีโร่ มีความสามารถอะไรก็เยอะ เรายังคิดว่า บรรพบุรุษสมัยก่อนนี่เขาเอาความเก่ง ๆ อะไรไปหมดแล้ว ตอนมารุ่นผมนี่เซลล์ความเก่งเลยแทบไม่ค่อยเหลือแล้วมั้ง… (หัวเราะ) อันนี้ขำ ๆ นะครับ

‘ภัทร ภมรมนตรี’ ทายาท ‘คณะราษฎร’ แห่งเพื่อไทยกับภารกิจกอบกู้แฟลตดินแดง

ประยูร ภมรมนตรี

เรื่องความเก่งกาจคงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าข้อไหนถูก แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนแน่คือความมุ่งหวังที่อยากจะเห็น ‘ความเปลี่ยนแปลง’ และความมุ่งมั่นที่อยากจะลงมือทำมันด้วยตัวเองของเขา ในบทสัมภาษณ์นี้ ที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ เค้ก - ภัทร ภมรมนตรี The People จึงจะพาดำดิ่งไปพลิกดูตัวตนและภารกิจของเขาที่มุ่งบรรลุให้สำเร็จ

ลงสนามพญาไท ฟื้นฟูแฟลตดินแดง

นอกจากจะเป็นหลานแท้ ๆ ของคุณตาประยูร ภมรมนตรีแห่งคณะราษฎรแล้ว ภัทรก็ยังมี ‘แซม - ยุรนันท์ ภมรมนตรี’ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นน้าแท้ ๆ อีกด้วย เราจึงเอ่ยถามถึงแรงบันดาลใจหรือสิ่งที่คุณน้าได้ส่งต่อมาถึงตัวตนของภัทร 

คุณน้าลง ส.ส. ครั้งแรกก็จะลงที่เขตดินแดง น่าจะประมาณปี 2548 ผมก็ติดตามไปช่วยหาเสียง ปีนขึ้น - ลงรถกระบะ ไปช่วยแจกแผ่นพับ แล้วเราก็มีความรู้สึกชื่นชอบในการที่ได้เจอผู้คน ได้พบปะผู้คน ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ค้าขายเป็นอย่างไร ดี - ไม่ดีอะไรอย่างไร แล้วก็เห็นอย่างสิ่งที่คุณน้าเคยทำในอดีตครับ

เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่หล่อหลอมและปลูกฝังตัวตนภัทรให้มีแรงขับเคลื่อนอยากเปลี่ยนแปลงสังคมคือการ ‘เห็น’ ปัญหาทุกข์ - สุขของพี่น้องประชาชนจากการได้ติดตามคุณน้าอย่าง แซม - ยุรนันท์ ไปลงพื้นที่เพื่อพบปะกับประชาชน แต่ถ้าอยากจะเจาะให้ลึกไปมากกว่านั้น ภัทรได้อธิบายต่อว่าพื้นที่ไหนที่ทำให้เขาอยากลุกขึ้นแก้ไข สานต่อ และสร้างมันขึ้นเป็นภารกิจที่มุ่งทำให้สำเร็จให้ได้

ถ้าเกิดเอ่ยถึงดินแดง คนจะนึกถึงแฟลตก่อนเลย… ไม่ทราบว่าเป็นเหมือนกันไหม ซึ่งมันเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษ

พอเข้ามาที่แฟลตดินแดง ตัวสภาพพื้นที่แฟลตดินแดงสร้างมาตั้งแต่ยุค จอมพล ป. ตอนที่คุณน้าเข้ามาสภาพมันก็ทรุดโทรมพอสมควรแล้ว ตอนนั้นบางตึกก็สร้างมา 30 - 40 ปี คุณน้าก็เข้ามาแล้วก็ได้จัดเอางบประมาณมาบูรณะซ่อมแซมสภาพความเป็นอยู่ของพื้นที่แฟลตให้อยู่ในสภาพที่ใหม่ขึ้น ทาสงทาสี และมีการสร้างลานกีฬา สนามกีฬาห้วยขวาง พอเราเห็นเราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของคนที่เขาอยู่เนี่ยแบบดีขึ้น

 

‘ภัทร ภมรมนตรี’ ทายาท ‘คณะราษฎร’ แห่งเพื่อไทยกับภารกิจกอบกู้แฟลตดินแดง

แฟลตดินแดง’ ไม่เพียงเป็นภารกิจที่ภัทรมุ่งสานต่อจากการที่ยุรนันท์เคยมุ่งบูรณะไว้ในยุคก่อน แต่เป็นสิ่งที่ทำให้ภัทรได้ตระหนักและเห็นถึงปัญหาและบันดาลใจให้เขาอยากลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงและเร่งแก้ไขให้ชีวิตผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม จากนั้น The People จึงได้เอ่ยถามต่อว่า เสียงสะท้อนอะไรที่ภัทรได้ยิน ปัญหาอะไรที่คุณได้เห็น ถึงทำให้แฟลตดินแดงเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่คุณอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง?

สมมติว่าเราอยู่คอนโดฯ เราจ่ายค่าส่วนกลางทุกเดือน เราก็ต้องอยากได้อะไรที่มันดีถูกไหม แต่ในสถานการณ์ของแฟลตดินแดง มันจะเป็นแบบ ‘ทำไมวะ แล้วแบบนิติบุคคลเอาเงินไปทำอะไร จ่ายค่าส่วนกลางแม่งไฟดับ ลิฟต์แม่งใช้ไม่ได้ ต้องเดินลงบันได ไฟถนนก็ติด ๆ ดับ ๆ ขาดไม่รู้กี่ดวง ทำไมถึงไม่มาทำ?’ เงินไปทำอะไรหมด?

สมมติเราอยู่ในหมู่บ้าน เราอยู่คอนโดฯ เราก็ไปด่านิติได้ แต่นี่เราด่ามัน ไล่มันก็ไม่ไป… อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันมีปัญหาและอยากเข้าไปแก้ไข อย่างน้อยคือเราอยากเข้าไปดู แล้วช่วยบูรณาการว่าสิ่งที่มันควรจะคืนให้พี่น้องประชาชน อย่างที่บอกเลยว่าเราจ่ายค่าส่วนกลาง แต่ทำไมมึงห่วยขนาดนี้… ทำไมชีวิตเรายังอยู่แบบอย่างปลอดภัยไม่ได้?

 

‘ภัทร ภมรมนตรี’ ทายาท ‘คณะราษฎร’ แห่งเพื่อไทยกับภารกิจกอบกู้แฟลตดินแดง

แฟลตดินแดง - Nation Photo

 

ดิจิทัลวอลเล็ต ใช้ได้จริงหรือเพื่อหวือหวา?

เรื่องที่อธิบายทุกวี่ทุกวันเลยก็คือ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปจะได้รับเงิน 10,000 บาทที่สามารถใช้ได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร และต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน ถ้าใช้ไม่หมดเราเอาคืน คนก็จะถามเยอะมากว่า ‘ทำได้จริงไหม?’ ก็ขอยืนยันว่า ‘ทำได้จริง’ 

แล้วทางผู้บริหารของพรรคเนี่ยก็ได้เสนอ กกต. ไปแล้ว ก็ได้อนุมัติแล้วว่าใช้นโยบายนี้ได้ ซึ่งตรงนี้ คนก็ตอบรับดีมาก แล้วเราก็ตั้งใจว่าถ้าเกิดได้เป็นรัฐบาลซึ่งจะเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ เราคิดว่าจะทำโครงการนี้ให้สำเร็จภายในปีใหม่นี้ เพราะว่าคนจะได้กลับบ้านไปใช้กัน

ภายหลังจากได้ยินภัทรเอ่ยถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ที่มาพร้อมเงินก้อนจำนวน 10,000 บาทที่จะมอบแก่ประชาชนด้วยเป้าหมายที่จะกระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเดินเท้าได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ The People ต้องถามคือข้อกังขาของนโยบายนี้ ที่มีใครหลายคนตั้งคำถามถึงผลกระทบที่ตามมากับความคุ้มค่าว่า มีประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริง หรือเพียงสร้างขึ้นมาเพื่อความหวือหวาของนโยบายพรรค?

 

‘ภัทร ภมรมนตรี’ ทายาท ‘คณะราษฎร’ แห่งเพื่อไทยกับภารกิจกอบกู้แฟลตดินแดง

 

ต้องขอเอาคำพูดของท่านเศรษฐาที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ มาพูดเลยว่า จริง ๆ การกระตุ้นเศรษฐกิจบางแบบ ยกตัวอย่างเช่นบัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เอามาให้เดือนละ 500 ก็เหมือนมาหยอดน้ำข้าวต้มไปเรื่อย ๆ แต่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนเป็นการปั๊มหัวใจขึ้นมา 

เราคิดว่าตรงนี้มันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพ ยกตัวอย่างเช่น บ้านเนี่ยเขาอัดกันอยู่สัก 5 - 7 คน พอเขาได้เงินตรงนี้ไป มันสามารถทำให้เกิดธุรกิจเล็ก ๆ ในครอบครัวเขาเติบโตขึ้นมาได้เลย

ท่ามกลางทะเลทรายอันเหือดแห้งของเศรษฐกิจไทยที่สืบเนื่องมาจากบาดแผลวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ภัทรจึงมองว่าการหยิบยื่นเงินก้อนผ่านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นการรดน้ำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาชุ่มชื้นและสามารถยืนได้ดังเดิม ดีกว่าค่อย ๆ แก้ไขปัญหาด้วยจำนวนเงินน้อย ๆ แต่ - แทนที่จะแก้ปัญหา - เหมือนเป็นการยืดเยื้อความเจ็บปวดให้ยาวนานขึ้นแทน

ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีหลายคำถามที่ยังคงหลงเหลืออยู่ แม้ว่าทางพรรคตั้งเป้าหมายว่าเงินก้อนนี้ควรจะนำไปใช้ในทางที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนกับธุรกิจ การศึกษาเล่าเรียน หรือแม้แต่การปลดหนี้และเริ่มตั้งตัว แต่ถ้าจะมีใครสักคนนำเงินเหล่านั้นไปใช้ในทางที่รัฐไม่ได้คาดหวัง ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะจำกัดการตัดสินใจเหล่านั้น เราจึงได้เอ่ยถามภัทรถึงประเด็นนี้

 

‘ภัทร ภมรมนตรี’ ทายาท ‘คณะราษฎร’ แห่งเพื่อไทยกับภารกิจกอบกู้แฟลตดินแดง

 

ผมก็ได้ยินบางคนที่บอกว่า ‘เดี๋ยวได้เงินมาก็เอาไปกินเหล้ากับเพื่อนให้หมดเลย’ แต่ถ้าสมมติว่าเราคิดดี ๆ มันอาจจะทำให้บางคนมีตังค์ไปใช้หนี้ ถ้าคิดดี ๆ มันต่อยอดอะไรได้อยู่เหมือนกัน เช่น เรามีทุนแล้วไปต่อยอดเกษตรกรให้พวกเขาเอาไปซื้ออุปกรณ์ ไปซื้อเมล็ดพันธุ์ ไปซื้อปุ๋ย หรือบางคนอาจจะคิดว่าอย่างน้อยก็ช่วยพ่อแม่เอาไปจ่ายค่าเทอม มันแล้วแต่มุมมองจริงๆ 

ถ้าคุณคิดดีได้มันก็ดีนะ แต่ถ้าคุณคิดว่า ‘เฮ้ย หมื่นนึงไปซื้อใบกระท่อมดีกว่า’ มันก็แล้วแต่ แต่เราจะทำอย่างไรให้ตรงนี้มันต่อยอดไปได้ดีที่สุดอะไรแบบนี้ครับ

 

ความหมายของการเป็นตัวแทนเพื่อเปลี่ยนแปลง

นิยามในการเป็น ส.ส. ของคุณภัทรคืออะไร?

คือคำถามกว้าง ๆ ที่ The People เอ่ยถามกับภัทร เพื่อที่จะสะท้อนให้เราเห็นถึงมุมมองและวิสัยทัศน์ รวมถึงความเข้าใจในตัวตนว่าหากมีโอกาสได้เป็น ‘ตัวแทน’ เสียงของประชาชนแล้ว ขนบแนวทางที่เขามุ่งยึดคืออะไร

เราเข้าไปรับใช้ประชาชน เราต้องใกล้ชิดเขา อย่างบางทีคนยังนึกว่า “โอ้ย! ส.ส. แม่งแบบเข้าถึงไม่ได้ แตะต้องไม่ได้” แต่ของผม คิดว่าจริง ๆ เราเป็นเหมือนที่บางคนเขาจะพูดว่า ‘เป็นขี้ข้าประชาชน’ หรืออะไรอย่างนี้ คือเรามีหน้าที่รับใช้เขา และแก้ปัญหาให้เขา อะไรแบบนี้ครับ อันนี้คือนิยามที่ผมคิด คือเขาเลือกเราไปใช้งานครับ

ก่อนจะจบการสัมภาษณ์ครั้งนี้ The People จึงได้เอ่ยคำถามหนึ่งที่น่าจะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนน่าจะเกิดความสงสัยอยู่ลึก ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัคร ส.ส. จากพื้นที่ไหนก็ตาม ซึ่งก็คือ

คุณภัทรเคยได้ยินวาทกรรมที่ว่า เป็น ส.ส. เนี่ยเพื่อที่จะเข้าไปโกงไหมครับ? อยากให้ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยครับว่าคิดเห็นอย่างไร

โอ้ เยอะมากเลย เราก็จะเห็น ๆ อยู่นะ คนบางคนในการที่เขาเข้าไป เขาใช้ต้นทุนอะไรอย่างไรในการเข้าไป ได้ยินมาตลอดเลย แต่ไม่อยากให้ record เท่าไร (หัวเราะ) แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้นนะ ผมคิดว่ามันเหมือนเราเข้าไป เราอยากจะไปช่วย อยากไปแก้ไขปัญหาให้เขามากกว่าครับ คือเราอยากเข้าไปพัฒนาดูคุณภาพชีวิตคนให้ความเป็นอยู่เขาดีขึ้น พอเราไปไหนมีแต่คนชื่นชม ผมคิดว่ามันน่ายินดีมากกว่า ดีกว่าที่บางทีเราเข้าไปแล้วเราไปโกงกินเขา

บางคนนี่เป็น ส.ส. ก็จริงนะ แต่เดินตลาดไม่ได้เลย ไปไหนมีแต่คนด่า แต่ผมอยากไปไหนแล้วไปไหนคนเดียวได้ เดินไปคนเดียวให้คนทักทาย ไม่ได้อยากที่แบบเข้าไปเป็นแล้วแม่งเดินไปไหนไม่ได้ มีแต่คนบอก ‘อุ้ย ไอ้ขี้โกง’ ‘เนี่ยมึงอยู่มามึงไม่เคยทำอะไรให้กูเลย’ อะไรแบบนี้ ชีวิตแม่งไม่ดีขึ้นเลย ผมไม่ได้อยากเป็นแบบนั้นครับ…

 

‘ภัทร ภมรมนตรี’ ทายาท ‘คณะราษฎร’ แห่งเพื่อไทยกับภารกิจกอบกู้แฟลตดินแดง