ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้เชื่อว่า ‘People of Tomorrow’ เริ่มจากสร้างสังคมที่โต้เถียงกันได้

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้เชื่อว่า ‘People of Tomorrow’ เริ่มจากสร้างสังคมที่โต้เถียงกันได้

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะกรรมการ The People Awards 2023 ผู้เชื่อว่า ‘People of Tomorrow’ ควรเริ่มจากการสร้างคนและสังคมที่สามารถโต้เถียงกันได้บนหลักตรระทางวิทยาศาสตร์

The People สื่อออนไลน์ที่นำเสนอเนื้อหาสร้างสรรค์ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘คน’ แบบเจาะลึกในทุกแง่มุม รวมถึงบทวิเคราะห์วิธีคิดของบุคคล ผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคม จากอดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต

ในปีนี้ พวกเรากลับมาอีกครั้งกับการจัดงานมอบรางวัล The People Awards 2023 ภายใต้แนวคิด ‘People of Tomorrow’ งานประกาศรางวัลที่มอบแก่คนผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้วันพรุ่งนี้ของทุกคนดียิ่งขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจให้ผู้คนอยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยตัวเอง

งานประกาศรางวัลครั้งนี้ยังมีคณะกรรมการที่ทำงานในด้านต่าง ๆ ทั้งนักวิชาการ นักการตลาด นักวิทยาศาสตร์ ผู้ชำนาญการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล นักธุรกิจ และกองบรรณาธิการ The People ซึ่งเป็นตัวแทนเสียงของคนรุ่นใหม่มาช่วยกันเฟ้นหา ‘ผู้คน’ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้วันพรุ่งนี้ดียิ่งขึ้น

นิยามของ People of Tomorrow คือ คนที่มีโดดเด่นเรื่องความพร้อมสำหรับการรับมือโลกในวันพรุ่งนี้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะทุกวันนี้อนาคตข้างหน้าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนมากมาย และมีความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น วิทยาการเทคโนโลยีสุดล้ำสมัย การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทมาขึ้นเรื่อย ๆ การเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ ๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกับทุกชีวิตบนดาวดวงนี้ ไปจนถึงโรคอุบัติใหม่ที่เปลี่ยนชีวิตสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ไปตลอดกาล สิ่งเหล่านี้ทำให้ ‘คน’ ในทุกวันนี้เลยต้องเตรียมพร้อมปรับตัวให้เร็วยิ่งกว่า

People of Tomorrow ที่จะเป็นคนต้นแบบผู้พร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังมานี้ จะครอบคลุมคนที่มีความโดดเด่นใน 3 แกนหลัก คือ 3P ได้แก่

People คนผู้สร้างผลกระทบกับ ผู้คน และสังคม

Planet คนผู้สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อม

Progress คนผู้สร้างผลกระทบในเรื่องการเติบโตของธุรกิจ

โดยคณะกรรมการตัดสินของ The People Awards 2023 มาจากผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อให้การตัดสินรางวัลในครั้งนี้มีข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้องแม่นยำ ทันต่อความเคลื่อนไหว ครอบคลุมรอบด้านทุกความแตกต่างหลากหลาย ทั้งคนที่มีชื่อเสียง หรือคนตัวเล็ก ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก และรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบต่อสังคมในทุกมิติมากที่สุด

คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ The People Awards 2023 มีจำนวนทั้งหมด 8 คน หนึ่งในนั้นคือ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ (คลิกดู คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของ The People Awards 2023 ทั้ง 8 คน)

 

The People : คำว่า People of Tomorrow ในความเข้าใจของคุณเป็นอย่างไร

ดร.เจษฎา : คือจริง ๆ แล้วคนทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอยู่แล้วใช่ไหมครับ แล้วเราก็ไม่ได้มีแค่ตัวเราเอง เรามองถึงลูกหลานของเรา ก็คือคนในอนาคต แต่ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อคนในอนาคตด้วย คือไม่ใช่แค่ว่าเราอยู่ไปเรื่อย ๆ เพราะว่าเราก็มีลูกหลานต่อไป เราจะมาคิดว่า เอ๊ะ คนกลุ่มหนึ่ง หรือว่าใครที่เขาน่าสนใจที่เขาสามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อให้สังคมนี้ดีขึ้น เพื่อให้ลูกหลานต่อไปเขาอยู่ได้ดีขึ้น หรือมีความก้าวหน้า หรือมีความเท่าเทียม ทัดเทียมกับนานาชาติ ไม่ใช่แค่ของไทย แต่ว่าทัดเทียมในต่างประเทศด้วย

 

The People : คนต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้พร้อมสำหรับอนาคตที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดร.เจษฎา : จริง ๆ แล้วเนี่ยเราดูที่ตัวเองก็อายุค่อนข้างมาก ผมเห็นชัดมากว่าสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก สำหรับบางคนเขาก็อาจจะมองว่าเราอยู่ในสังคมที่อยู่แค่ในประเทศไทย แล้วก็ใช้ชีวิตแบบนี้ก็ได้ แต่ปัจจุบันโลกมันเล็กลงมาก สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วมุมโลก แป๊บเดียวเรารู้แล้ว แต่สิ่งต่าง ๆ พวกนี้ต้องพร้อมที่เราจะมีคนของเราที่สามารถจะไปอยู่ในระดับนั้นได้ เราใช้ชีวิตแบบไพร่แบบนี้ในประเทศไทยไม่ได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้น การเตรียมความพร้อมลักษณะนี้ ทำให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเราสามารถเป็นคนของสังคมระดับโลกได้ด้วย ไม่ใช่แค่คนในประเทศไทยก็เพียงพอ แต่ต้องเป็นพลเมืองของโลกได้ด้วย เราก็ต้องปรับตัวปรับสังคมของเราเองให้มีความก้าวหน้า ให้มีความทัดเทียมในมุมมองที่นานาประเทศเขาทำกัน

 

The People : การที่เราจะปรับเปลี่ยนสังคมให้ทัดเทียมนานาประเทศ ประเทศไทยต้องปรับตัวในด้านใดบ้าง

ดร.เจษฎา : ทุกอย่าง ตั้งแต่พื้นที่ที่เล็กที่สุดในเชิงของสังคม ครอบครัวเรา ในเชิงของการศึกษา ทั้งในเชิงของการที่เป็นการเมืองการปกครอง เพราะฉะนั้นทุกสเกลมันก็ต้องมีการปรับตัวค่อนข้างมากและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ สมัยก่อนเราจะพูดว่าพ่อดูแลลูก ก็แค่สั่งอะไรก็ได้ ตีลูกยังได้เลย แต่ว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่โลกหมุนไปทางนั้นแล้ว เขาอยู่ได้ด้วยการใช้เหตุผล อยู่ด้วยการคุยกัน ความเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งชนชั้น คนรวย คนจน สังคมโลกเขาไม่ได้มองตรงนี้ เขามองว่าจะทำอย่างไรให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ มากขึ้น

เพราะฉะนั้นการปกครองเอง ซึ่งเมื่อก่อนเราก็มองว่าเราก็เป็นแค่คนธรรมดา เรามีเจ้านายส่งมาปกครองเมือง เราก็อยู่ได้อะไรอย่างนี้ครับ ซึ่งมันไม่ใช่แล้ว สากลโลกเขามีความชัดเจนว่าจะต้องไปทางประชาธิปไตย ปรับเปลี่ยนประเทศเราให้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยได้

 

The People : คุณมีการปรับตัวในด้านไหนบ้าง เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่โลกในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

ดร.เจษฎา : ก็คือต้องเปิดใจ ผมว่าก็ต้องเปิดใจแล้วคอยติดตามว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับสังคมบ้าง อย่างเช่นผมเอง ผมทำงานในเชิงอาจารย์สอนหนังสือ เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงเหมือนกันว่า เอ๊ะ กับเด็ก ๆ เราที่สอนในแต่ละปี ตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่เริ่มสอนจนมาถึงตอนนี้ เด็กเขาก็มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ ถ้าเรามาอยู่ในโซเชียลฯ ผมก็ทำงานโซเชียลฯ ด้วย ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของโซเชียลมีเดียเหมือนกันว่ามุมมองของการยอมรับในสิ่งต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราไม่เปิดใจ เราก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนตัวเองทัน แต่ถ้าเราเปิดใจมอง เราก็จะรู้ว่าตัวเราเองก็จะปรับได้ อย่างผมเองก็มีลูกแล้ว ผมก็จะเข้าใจลูกมากขึ้นว่าเขาเป็นแบบนี้ เพราะว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว

 

The People : สิ่งที่คุณทำอยู่สามารถช่วยให้ผู้คนมีความพร้อมสำหรับโลกในวันพรุ่งนี้อย่างไร

ดร.เจษฎา : อย่างงานผมเอง กรอบงานเป็นงานทางด้านวิทยาศาสตร์ ปกติเมื่อก่อนเราก็จะคิดแค่กรอบที่ว่าจะสอนหนังสือในหัวข้อที่เรารับผิดชอบ แต่พอเรามีโอกาสมากขึ้น เราคิดว่าสิ่งที่เราสามารถทำให้กับสังคมไทยได้ มันคือการให้ตรรกะทางวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่เรื่องขององค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ มันเป็นเรื่องของตรรกะ การคิดวิเคราะห์ แยกแยะ การมองแต่ละเรื่อง เรื่องนี้เชื่อได้ไหม เรื่องจริง เรื่องลวง เรามีวิธีคิดอย่างอื่นหรือเปล่า ซึ่งอย่างนี้ผมมีความรู้สึกว่ามันยังขาดในสังคม แล้วมันจำเป็นต้องให้ตรงนี้ด้วย

แล้วมันไม่จำเป็นจะต้องว่าให้กับเด็ก ๆ แต่มันเป็นเรื่องของทุกคนเลย ทุกวัย ทุกเพศ เราพบว่ายิ่งคนสูงอายุในสังคมไทยเรา ยิ่งขาดตรรกะพวกนี้ เพราะว่าเขาไม่โดนปลูกฝังในพวกนี้มาเลย ในการที่จะเป็นสังคมที่สามารถโต้เถียงกันได้ หาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนหรือมายืนยันความคิดได้ มันไม่มีเลยในอดีต เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เราสามารถทำให้สังคมได้ การให้ตรรกะ การให้มุมมองที่แตกต่างออกไป แล้วก็รูปแบบนี้มันน่าจะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป สิ่งนี้คือสิ่งที่สังคมในต่างประเทศเขาทำกัน ในการมองที่ไม่ใช่แค่เอาเรื่องของความเชื่อตามกัน แต่เอาเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า

 

The People : ตั้งแต่ทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มา คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างไรบ้าง

ดร.เจษฎา : ผมว่าเราเห็นความเปลี่ยนแปลงนะ ผมทำตรงนี้มา 10 กว่าปี ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ แต่ก่อนเราจะเห็นทุกอย่างในโซเชียลฯ แล้วก็แชร์กันเลย ซึ่งไม่ใช่แค่ในเรื่องนี้ แต่ในหลาย ๆ เรื่องที่เชื่อกันมานมนาน เรื่องความเชื่อเรื่องผี เรื่องวิญญาณ เรื่องไสยศาสตร์ สารพัดอย่างที่เราเห็นกันในสังคมไทย ขณะเดียวกันเราก็ เอ๊ะ เราก็สอนวิทยาศาสตร์กันอยู่ไม่ใช่เหรอ ทำไมมันยังมีแบบนั้นล่ะ อ๋อ เพราะว่าเราขาดเรื่องตรรกะอย่างไรล่ะ

ฉะนั้นเราเห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวลามีข่าวหรือว่ามีอะไรขึ้นมาเนี่ย แทบไม่ต้องไปแก้ข่าวลืออีกแล้ว แทบไม่ต้องไปนั่งไล่จี้อีกแล้ว มันจะมีคนที่พร้อมจะช่วยแย้งว่าเรื่องไหนจริงไม่จริงอีกบ้าง แต่ว่าก็ยังมีน้อย ก็ยังต้องมีคนมาช่วยกันให้มากกว่านี้ แล้วก็คนรุ่นใหม่ ๆ เองด้วยซ้ำที่จะต้องมาแก้คนรุ่นเก่า ๆ ในขณะเดียวกันคนรุ่นเก่า ๆ ก็ต้องเปิดใจยอมรับที่จะแก้ไขที่ต้องเกิดขึ้นด้วย

 

The People : มีตรรกะหรือความเชื่อไหนบ้างที่ได้รับการแก้ไขเปลี่ยนจากองค์ความรู้เดิม ๆ เป็นความเชื่อใหม่

ดร.เจษฎา : ผมว่ามันก็ยังมี มันคงไม่มีความเชื่อไหนที่แก้ไขได้ สุดท้ายก็ยังเป็นไปในลักษณะว่าก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ยังเชื่ออยู่ แล้วความรู้มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แต่ปัญหาคือสิ่งที่เราบอกว่าเราจะไปแก้เขา เราอาจจะผิดก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือคนเริ่มเปิดใจหรือยัง ที่จะสามารถยอมรับได้ว่ามีการโต้เถียงกันเกิดขึ้น วิทยาศาสตร์มันเริ่มจากการโต้เถียงตั้งแต่แรก ถ้าเราไม่มีการโต้เถียงกันเลย แต่เอาแต่เชื่อตามกันมันก็อาจจะยาก

ดังนั้น เบสิกทุกอย่างเราจะเห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เราเห็นพระจันทร์ทรงกลด พระอาทิตย์ทรงกลด เราเห็นปรากฏการณ์ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า แต่ถ้าเรายังเชื่อแบบโบราณ ยังเชื่อว่ายังมีสิ่งเร้นลับ เชื่อว่ายังมีพลังเหนือธรรมชาติอยู่ แต่ว่าในปัจจุบัน เรื่องแบบนี้มันน้อยลงไปแล้ว แต่เราไม่ใช่แบบว่าทุกคนจะต้องเชื่อแบบนี้ไปหมด คนที่เขายังเชื่อเรื่องเดิม เขายังมีสิทธิ์เชื่อเรื่องเดิมได้ เพียงแต่หวังว่าจะต้องค่อย ๆ เปลี่ยนไป

 

The People : สิ่งที่คุณทำสร้างผลกระทบให้เกิดกับ คน สังคม ชุมชน อย่างไร

ดร.เจษฎา : ผมว่ามันก็เป็นเรื่องของเตรียมพื้นฐานให้กับคนของเราในการที่จะอยู่ร่วมกับสากลโลก อยู่ร่วมกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นทั่วโลก คือถ้าเราไม่มีการให้ตรรกะทางวิทยาศาสตร์เลย ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เลย การโต้แย้งต่าง ๆ เลย เราก็จะอยู่ในโลกแบบเดิม ๆ แค่นี้ดีที่สุดแล้ว แล้วเวลามีเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ ในเรื่องที่หลอกลวง เราก็จะโดนหลอกได้โดยง่าย ตรรกะทางวิทยาศาสตร์ทำให้เราเริ่มที่จะตั้งคำถามก่อน ว่าเรื่องนี้จริง ย้อนกลับมาที่เครื่องตรวจระเบิด GT200 ซึ่งมัน 14 ปีแล้ว พอมาย้อนมองวันนี้เราก็จะขำ เป็นไปได้อย่างไร ใครจะไปเชื่อ แต่ลองมองย้อนกลับไป 14 ปีที่แล้วสิ มันมีคนเชื่อเยอะมากเลย แล้ววันนั้นสิ่งที่เราให้ข้อมูลกับสังคมมันยังไม่มากพอ เรามีแต่องค์ความรู้ มีแต่ตำราฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แต่คนไม่มีตรรกะทางความคิด เพราะฉะนั้นถ้าในวันนี้มันมีเหตุการณ์อะไรขึ้นมาหลอกขาย ผมว่ามันคงเกิดขึ้นยากกว่าสมัยก่อนมาก เพราะคนเริ่มเปลี่ยน

 

The People : ตั้งเกณฑ์การให้คะแนนสำหรับรางวัล The People Awards 2023 อย่างไร

ดร.เจษฎา : ผมมองว่าเรากำลังหา The People Awards ของปี 2565 หรือปีที่แล้ว ดังนั้นใครที่รู้สึกว่าปีที่แล้วเด่นจนคนจำได้ว่า ปีที่แล้วเป็นปีของเขาจริง ๆ ผมก็จะเลือกคนนั้นขึ้นมา ในขณะเดียวกันก็พยายามดูที่มีความหลากหลายด้วย มีทั้งหลาย ๆ สาย สายการเมือง สายศิลปิน กีฬา หรือว่านักธุรกิจ ก็พยายามให้มีความหลากหลายมากขึ้นด้วย แต่ก็ยังอยู่ในกรอบของ The People Awards คิดว่าต้องเป็นรางวัลของประชาชน รางวัลของคนที่มอง พอฟังปุ๊บ อ๋อ ใช่ ปี 2565 เป็นปีของเขา

 

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หนึ่งในคณะกรรมการ The People Awards 2023

The People Awards 2023 รางวัลแห่งปีของสื่อออนไลน์ The People ในปีนี้มีธีมคือ ‘People of Tomorrow’ คนต้นแบบผู้พร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังมาถึง โดยมีคณะกรรมการที่ทำงานในด้านต่าง ๆ ทั้งนักวิชาการ นักการตลาด นักวิทยาศาสตร์ ผู้ชำนาญการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล นักธุรกิจ และกองบรรณาธิการ The People ซึ่งเป็นตัวแทนเสียงของคนรุ่นใหม่มาช่วยกันเฟ้นหา ‘ผู้คน’ ผู้ที่มีส่วนในการทำให้โลกในวันพรุ่งนี้ดียิ่งขึ้น โดยคัดจาก 100 คนให้เหลือเพียง 10 คนสุดท้าย

The People Awards 2023 มีกำหนดจัดขึ้นในวันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 14.00 - 16.45 น. ณ คริสตัล บ็อกซ์, เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท ชั้น 19 เกษร ทาวเวอร์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ

 

ติดตามรายละเอียดงานประกาศรางวัล The People Awards 2023 ต่อได้ที่ https://thepeople.co/tppa2023