ความเหลื่อมล้ำของชีวิตและความฝัน สู่นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

ความเหลื่อมล้ำของชีวิตและความฝัน สู่นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

ชีวิตและความฝันของเด็กของคนหนึ่ง หากยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาจะเหลืออะไรให้เขาคิดถึงและใฝ่ฝัน โตขึ้นอยากเป็นอะไร อาจจะไม่เคยมีใครถามไถ่พวกเขาด้วยซ้ำ ในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่ากัน ความยากจน ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ทุนการศึกษาอาจะเป็นทางออก!

การศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด คือเรื่องจริง

"การศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้อยากเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิด สร้างอาชีพให้กับชุมชน" น้องนิ้ง นางสาวเกษณี พิทักษ์ถาวรกุล นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง และทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เด็กสาวชนเผ่าละว้า อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองการศึกษา ที่ช่วยจุดประกายและต่อยอดความฝัน หลังจากได้รับทุนจาก "โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภายในงานประชุมวิชาการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2565 
ความเหลื่อมล้ำของชีวิตและความฝัน สู่นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

 

หลังจบ ม. 3 น้องนิ้ง ได้เข้ามาศึกษาในระดับ ปวช. ในตัวเมืองเชียงใหม่ เธอใช้เวลาว่างเสาร์อาทิตย์ในการทำงานหารายระหว่างเรียนได้เงินชั่วโมงละ 30-50 บาท จากเดิมที่เคยทำงานช่วยพ่อแม่ได้เพียงวันละ 20-30 บาทเท่านั้น

น้องนิ้ง เล่าต่อว่า พอจบ ปวช. ตอนแรกตั้งใจว่าจะไม่เรียนต่อแล้ว แต่ทางวิทยาลัยมีการประกาศประชาสัมพันธ์ ว่ามีกองทุนให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่เรียนดี 50 ทุน และอาจารย์แนะนำให้สมัคร 

“ในที่สุดก็ได้รับคัดเลือกใน โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1 รู้สึกดีใจมาก ที่เราได้มีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น" 

“การได้รับทุนนี้ทำให้ขยายความคิดของตัวเองว่า การศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้อยากเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิด สร้างอาชีพให้กับชุมชน ด้านสายสัตวศาสตร์ นอกจากนี้ ยังได้สมัครเข้าเป็นนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ และได้รับคัดเลือกเป็น รุ่นที่ 3 จากเด็กชนเผ่า ยากจน ที่มีความคิดในวัยเด็กว่าเราคงไม่มีโอกาสได้เรียน แต่ในวันนี้ได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นของขวัญพิเศษมาก ๆ” น้องนิ้ง กล่าวทิ้งท้าย

 

ความเหลื่อมล้ำของชีวิตและความฝัน สู่นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง
ทลายทุกข้อจำกัด พึ่งพาตนเอง

"หฤษฎ์ ดวงสาย" นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ในวัย 22 ปี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทลายกำแพงข้อจำกัดทางร่างกาย และมุ่งมั่นใช้การศึกษาในการพัฒนาตัวเอง จนปัจจุบันสามารถหารายได้ เป็นของตัวเอง

หฤษฎ์ เกิดและเติบโตที่ จ.ชลบุรี จากเด็กทั่วไปที่มีร่างกายแข็งแรงปกติ ในช่วงปี 2561ขณะที่เขาเรียนอยู่ ปวช. 3 เกิดอุบัติเหตุต้นยางหักร่วงทับ และรู้สึกตัวอีกทีก็อยู่ในห้องไอซียู พบว่า ตนเองต้องผ่าตัดเอากระดูกสันหลังออก เพราะแตกร้าว เป็นอัมพาตช่วงล่าง ทำให้เดินไม่ได้

“ตอนนั้นผมยอมรับตัวเองไม่ได้ ผมเองกลายเป็นคนพิการ ติดเตียง อายคน และอิจฉาคนที่เขาเดินได้ จมอยู่กับความเศร้ามา 1 ปีกว่า จนวันหนึ่งเราคิดว่าทนอยู่กับสภาพนี้ไม่ได้แล้ว บังเอิญเห็นคน ๆ หนึ่งที่เขาพิการมากกว่าเรา เขาร่างกายอ่อนแรงตั้งแต่กำเนิด แต่สามารถถ่ายรูปสวย ๆ แต่งตัว เรียนที่มหาวิทยาลัยได้ แล้วทำไมเราทำไม่ได้ ในเมื่อเรามีแขน มีมือ และมีสมอง"

ปัจจุบัน หฤษฎ์ ตัดสินใจรับงานฟรีแลนซ์ที่บ้าน มีรายได้ หมื่นกว่าบาท โดยเขากล่าวถึงความฝันว่า อยากเป็นนักออกแบบ กราฟฟิกดีไซน์ นักออกแบบภายใน นอกจากนี้ อยากผลักดันโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับคนพิการทุกกลุ่มในประเทศไทย เพื่อให้เข้าถึงการคมนาคมมากขึ้น

"ฝากถึงทุกคนว่า ไม่ว่าจะทำอะไร หากทำด้วยความตั้งใจ ทุ่มเท ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมเต็มที่แน่นอน ไม่ว่าจะความฝันอะไร จะช้าจะเร็วไม่สำคัญ อย่าคิดว่าการทำตามความฝันเป็นเรื่องยาก ถ้าหากเรายังไม่ลงมือทำ" หฤษฎ์ กล่าว 

ความเหลื่อมล้ำของชีวิตและความฝัน สู่นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง
ทุน กสศ.ทำให้ตั้งหลักชีวิตได้

“ตอนนั้นต้องเลือกแล้วว่า จะให้แม่ทำงานคนเดียวแล้วเรียนต่อ หรือต้องไปทำงานจริงจังเพื่อช่วยแม่” "เกตุ-นัยนา ปานนอก" นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล มหาวิทยาลัยบูรพา ชาว จ.นครนายก บอกเล่าถึงเส้นทางที่ต้องเลือกระหว่างความจริงและความฝัน

แม่ของเกตุ มีอาชีพทำงานรับจ้างทั่วไป ส่วนพ่อรับจ้างขับรถสิบล้อ ได้ค่าจ้างรายวันพออยู่ได้ เกตุมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดยเกตุเป็นน้องคนสุดท้อง ชีวิตดำเนินตามปกติจนอยู่ ป.4 คุณพ่อเริ่มป่วยเข้าออกโรงพยาบาลและเสียชีวิตตอนที่เกตุอยู่ ป.4 แม่กลายเป็นเสาหลักทันที

“ตอนอยู่ ม.2 อยากหารายได้ช่วยแม่ ก็ไปเต้นตามงานบวชได้ค่าจ้าง 200 – 300 บาทต่อวัน อาทิตย์ไหนไม่มีงานก็จะไปช่วยแม่ปอกมะพร้าว และช่วง ม.ปลาย ไปทำงานพาร์ทไทม์ที่ร้านสะดวกซื้อ" 

หลังจากจบม.6 เกตุสมัครเรียนมหาวิทยาลัย 2 แห่ง คือ ด้านสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และพยาบาล มหาวิทยาลัยบูรพา ตอนนั้นก็กังวลว่าจะหาเงินจากไหนมาเรียน เพราะต้องเรียนถึง 4 ปี

“ครูจึงแนะนำทุนของ กสศ. แต่เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล เรียน 1ปี ตอนนั้นไม่ลังเลที่จะยื่นสมัคร เกตุ ได้ทุนเรียนต่อ หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ของมหาวิทยาลัยบูรพา" 

ปัจจุบัน เกตุทำงานในโรงพยาบาลเอกชน มีรายได้ มีอาชีพ และเลี้ยงดูครอบครัวได้ โดยความฝันในตอนนี้ คือ การซื้อบ้านให้แม่ เพื่อให้ครอบครัวมีบ้านเป็นของตนเอง และเดินหน้าเรียนต่อ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

"1 ปีที่ได้รับทุนจาก กสศ. ผู้ช่วยพยาบาล อาจไม่ได้เป็นฝันแรก แต่เป็นที่ ๆ ได้พักวางความฝัน ตั้งหลักชีวิต รอวันที่ตนเองพร้อมที่จะลุกขึ้นมาสู้ต่อ ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องทุกคนที่มีความฝัน เชื่อว่าทุกคนมีความพยายาม มีความฝัน และสามารถทำให้ความฝันของทุกคนเป็นจริงได้" เกตุ กล่าว

ความฝันเป็นจริงได้ หากไม่หยุดทำความฝันนั้น นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง ของ กสศ. ทั้ง 3 คน น้องนิ้ง น้องเกตุ น้องหฤษฎ์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว แม้ความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมยังคงอยู่ แต่โอกาสก็มีอยู่จริงเช่นเดียวกัน