แบรนด์เสื้อทอมือพรีเมียม จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สื่อกลางเชื่อมโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ

แบรนด์เสื้อทอมือพรีเมียม จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สื่อกลางเชื่อมโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ

TACAYVA แบรนด์เสื้อทอมือพรีเมียมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวกะเหรี่ยง และการร่วมมือผนึกความสามารถของเด็กในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับเพื่อน ๆ จากโรงเรียนนานาชาติ ช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้จับมือกับ SEA (Thailand) และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ เดินหน้าแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ” โดยได้สานต่อจากแนวคิดของตลาดวาดฝันที่นำผลิตภัณฑ์ของนักเรียนทุนเสมอภาคมาเพิ่มมูลค่าทางการตลาด โดยในครั้งนี้ยังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์และของที่ระลึกจากนักเรียนทุนเสมอภาค กสศ. 12 โรงเรียน และนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ 7 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาความยั่งยืนของนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network 4) ที่สานต่อภูมิปัญญาชุมชน โดยได้จับมือกันพัฒนางานหัตถกรรมต่าง ๆ ออกเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ดร.ไกรยส กล่าวว่า

“กสศ. มีความตั้งใจสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เสริมทักษะชีวิตให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะเด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง หากด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถต่อยอดและพัฒนาพรสวรรค์ในตัวเองได้ ซึ่งโครงการนี้ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว เพื่อต่อยอดความสำเร็จที่เกิดขึ้นในสามปีแรก ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคเอกชนและภาคประชาชน และยังสร้างรายได้กลับคืนสู่โรงเรียนเครือข่าย กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ที่สำคัญยังเกิดเครือข่ายนานาชาติในการร่วมกันออกแบบกิจกรรมที่มีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ที่จะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ”
แบรนด์เสื้อทอมือพรีเมียม จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สื่อกลางเชื่อมโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ

ดร.ไกรยส กล่าวย้ำเติมว่า โครงการดังกล่าวคือตัวอย่างของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ลงมือทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่อาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากหลากหลายภาคส่วน ในการระดมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้กับเด็ก ๆ เป็นคุณค่าของ ALL FOR EDUCATION ปวงชนเพื่อการศึกษา ที่สำคัญยังช่วยเสริมทักษะที่สำคัญต่อโลกยุคปัจจุบันใน 3 ด้าน ได้แก่

  1. ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง 
  2. ทักษะความคิดสร้างสรรค์ในยุคศตวรรษที่ 21 และ
  3. ทักษะการเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ให้กับเด็กและเยาวชน 

นับเป็นนวัตกรรมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จากการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายที่มีเป้าหมายร่วมกัน และภายใต้แนวคิดที่มุ่งสร้างสรรค์พื้นที่สังคมแห่งความร่วมมือและมิตรภาพวันนี้ ทาง กสศ. และภาคีเครือข่าย ได้เล็งเห็นความสำคัญส่วนนี้

จึงอยากเชิญชวนให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมตามความถนัดของตัวเอง และช่วยกันมองว่าจะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ กลับสู่เส้นทางการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงการเรียนรู้ทักษะอาชีพ เพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นทางอนาคตของพวกเขาได้

“มันคือการนำน้อง ๆ ที่เรียกว่าอยู่คนละโลกมาเจอกัน ผ่านโครงการนี้”

ดร. ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผอ.สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวเริ่มต้นเมื่อถูกถามถึงโครงการพัฒนาความยั่งยืนของนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network) ที่ถูกปลุกปั้นขึ้นด้วยความหวังในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ. หรือ EEF), เครือข่ายโรงเรียนนานาชาตินำโดย Shrewsbury International และ SEA (Thailand) (ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Shopee)

โดยโครงการนี้ถูกก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเริ่มต้นจากการที่ ดร.ภูมิศรัณย์ตระหนักถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอยู่ในประเทศไทย เด็กในพื้นที่ห่างไกลหรือชายขอบในโรงเรียนขยายโอกาส (โรงเรียนรัฐบาลที่มีการสอนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3) เมื่อเติบโตออกจากรั้วของโรงเรียนแล้วมีโอกาสทางเลือกชีวิตที่ค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่ช่วยงานของที่บ้าน ทำไร่ ทำสวน ก็จะไปหาโอกาสทำงานในเมืองซึ่งถ้าโชคดีก็ได้ค่าแรงเบื้องต้น หากโชคไม่ดีก็อาจถูกหลอกหรือถูกเอาเปรียบอยู่บ่อยครั้ง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้เรียนต่อมัธยมปลายหรือระดับที่สูงกว่านั้น

แบรนด์เสื้อทอมือพรีเมียม จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สื่อกลางเชื่อมโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ

กสศ. จึงร่วมกับโรงเรียน Shrewsbury International ร่วมกันหาทางออก ซึ่ง Mr. Gregory Threlfall ผู้เป็น Director of Outreach และเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจหลากหลายแห่งสมัยที่ยังทำงานอยู่ลอนดอน รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเด็ก ๆ ในโรงเรียนนานาชาติที่อยู่ในเครือข่ายจะสามารถใช้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจที่เรียนในโรงเรียนมาใช้งานได้จริง จึงเกิดเป็นโครงการ “Equity Partnership’s School Network” ขึ้นมา 

โมเดลของโครงการนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก โดยทางเครือข่ายของโรงเรียนนานาชาติจะนำกลุ่มของเด็กนักเรียนที่อยู่ในช่วงมัธยมปลายและมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ มาจับคู่กับกลุ่มของเด็กมัธยมต้นจากโรงเรียนที่อยู่ในเครือข่ายของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาแล้วสร้างเป็นทีมขึ้นมา (ในปีแรก พ.ศ. 2562 มีอยู่ 5 ทีม ส่วนปี พ.ศ. 2565 เพิ่มเป็น 12 ทีม) โดยแต่ละทีมเริ่มทำโปรเจกต์สร้างผลิตภัณฑ์ด้วยกันตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่ไอเดียจนกระทั่งถึงออกสู่ตลาดและขายออนไลน์ไปยังต่างประเทศด้วย

“สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ โครงการนี้จะช่วยพัฒนาวิชาชีพให้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียนที่ห่างไกลเหล่านี้ แม้ว่าเราจะอยากให้เด็ก ๆ เรียนต่อ แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ ตรงนี้จะช่วยเพิ่มทักษะในการไปทำงานต่อให้กับเด็ก ๆ ได้ โดยการเอาผลิตภัณฑ์ในชุมชนมาต่อยอดให้มีคุณภาพดีและขายในตลาดต่าง ๆ ได้”

หลังจากทีมเด็กนานาชาติถูกจับคู่กับทีมเด็กของโรงเรียนส่วนขยายโอกาสแล้ว ก็จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยน ไอเดียเกี่ยวกับตัวสินค้าที่จะทำการแบ่งงานระหว่างทีมว่าคนไหนทำหน้าที่อะไร มีการออกแบบ สร้างแบรนด์ ไปจนกระทั่งทำแพ็กเกจจิ้งและขายออนไลน์ด้วย ซึ่งตรงนี้ก็จะได้รับความช่วยเหลือจากทางฝั่งของบริษัท SEA (Thailand) ที่มาให้ความรู้กับเด็ก ๆ เกี่ยวกับการขายและทำการตลาดออนไลน์ที่จะเป็นทักษะติดตัวกับเด็ก ๆ ทุกคนในอนาคตไปได้ด้วย

แบรนด์เสื้อทอมือพรีเมียม จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สื่อกลางเชื่อมโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ

คุณพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของ SEA (Thailand) กล่าวถึงการได้เข้ามาร่วมโครงการนี้ว่าเป็นจุดประสงค์ของ SEA อยู่แล้วที่อยากจะมอบความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือออนไลน์ในการซื้อขายให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเครื่องมือตรงนี้นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเด็ก ๆ และครอบครัวในชุมชนได้แล้ว น้อง ๆ ยังสามารถนำความรู้ตรงนี้ไปต่อยอดในการขายสินค้าอื่น ๆ หรือถ่ายทอดความรู้ไปต่อได้อีกด้วย

ทีมที่ชนะในปีนี้คือแบรนด์ ทาเชวา (TACAYVA) ที่เป็นทีมของน้อง ๆ จากโรงเรียนบ้านป่าเลา จังหวัดลำพูน ร่วมมือกับน้อง ๆ จากโรงเรียน St.Andrews International ในกรุงเทพฯ โดยทีมนี้มีผลิตภัณฑ์หลักเป็นเสื้อผ้าฝ้ายที่ถักทอลายของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่เขตจังหวัดลำพูน

ตามวัฒนธรรมของชนเผ่าแล้ว ผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงจะทอผ้าให้ลูกใส่ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ และสอนทักษะนี้ต่อให้กับลูกสาวไปยังรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งเป็นศิลปะและภูมิปัญญาชาวบ้านที่สวยงาม เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและเรื่องราว ใช้บ่งบอกถึงเรื่องราวและธรรมชาติที่พบเจอผ่านลวดลายอันประณีตบนผืนผ้า (ลายดอกไม้ ลายแม่น้ำ ลายขาแมงมุม ฯลฯ) นอกจากนั้นยังใช้เพื่อบ่งบอกสถานะการแต่งงานได้อีกด้วย (ถ้าเป็นชุดเดรสยาวจะหมายถึงยังไม่ได้แต่งงานิ แต่ถ้าเป็นเสื้อและกระโปรงคือเป็นคนที่แต่งงานแล้ว)

ในทีมนี้จะมีน้อง ๆ จากโรงเรียนบ้านป่าเลา คือ กุลธิดา ใจหล้ากาศ (มายด์), ปณิตา สูงพนารักษ์ (พาย), น้ำเพชร ยอดเขา (เพชร) และ น้อง ๆ จาก โรงเรียน St.Andrews International คือ Miss Ananya Jagota, Mr. Jingmin Lee (Jason), Mr. Thanadol Sinthubodee (John) และได้รับการดูแลโดยคุณครูเจ-พยุงศักดิ์ ติ๊บกาศ ที่คอยให้คำปรึกษา ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่หรือคุณยาย หรือเพื่อน ๆ ในโรงเรียนบ้านป่าเลาเองก็จะคอยช่วยเหลือสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้เกี่ยวกับการทอผ้า แชร์ประสบการณ์และสอนทอผ้าลายต่าง ๆ การเย็บผ้าชิ้นขึ้นเป็นตัว โดยโครงการนี้ไม่เพียงแต่นำรายได้เสริมเข้ามาสู่น้อง ๆ และสังคมเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนให้แนบแน่นขึ้นอีกด้วย

แบรนด์เสื้อทอมือพรีเมียม จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สื่อกลางเชื่อมโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ

 

ตลอดดระยะเวลาของโครงการ 8 เดือน แต่ละทีมจะมีการพูดคุยกับผ่าน Line Openchat โดยมีเจ้าหน้าที่และคุณครูที่ให้คำปรึกษาคอยดูแลอยู่ในกลุ่มด้วย มีการนัดประชุมกันออนไลน์เป็นประจำทุก ๆ อาทิตย์ แม้ว่าภาษาจะเป็นปัญหาในการสื่อสารอยู่บ้าง แต่ทางทีมนักเรียนนานาชาติจะมีคนหนึ่งที่พูดและสื่อสารภาษาไทยได้เพื่อเป็นคนคอยประสาน ถ้ามีตรงไหนที่ติดขัดจริง ๆ ก็ใช้ Google Translate เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารกันได้

โครงการนี้เป็นความพยายามที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของเด็กในสังคมโดยให้เด็กที่มีโอกาสแตกต่างกันในสังคม เปิดโอกาสและมุมมองให้กับกลุ่มน้อง ๆ ที่อยู่ในชนบทได้เห็นว่าโลกนี้มีโอกาสรออยู่อีกมากมาย เสริมสร้างความมั่นใจในการออกความคิดเห็นและการสื่อสาร จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และดึงเอาศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แบรนด์เสื้อทอมือพรีเมียม จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สื่อกลางเชื่อมโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ

ส่วนน้อง ๆ จากเด็กโรงเรียนนานาชาติก็ได้เห็นถึงความแตกต่างที่มีอยู่ในสังคม ซึ่งตรงนี้คุณภูมิศรัณย์ก็บอกว่ามันจะช่วยเด็ก ๆ เกิด empathy หรือความเห็นอกเห็นใจ ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความรับผิดชอบและเอาใจเขามาใส่ใจเรา อันเป็นทักษะทางสังคมที่สำคัญมาก ๆ ในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเป็นการหว่านเมล็ดพันธ์แห่งความหวังว่าเด็ก ๆ ในกลุ่มนี้จะเติบโตขึ้นไปเพื่อช่วยพัฒนาสังคมลดความเหลื่อมล้ำในอนาคตด้วย

การทำงานร่วมงานกันของเด็ก ๆ สองกลุ่มที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางสังคม สภาพแวดล้อม โอกาส และความรู้ความสามารถ แสดงให้เห็นว่าช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยนั้นยังคงสูงมาก ๆ เป็นประเด็นที่ควรได้รับความสนใจและจัดการให้ดีมากขึ้น ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเด็ก ๆ และคนในชุมชนทุกฝ่าย

แต่อีกอย่างหนึ่งที่โครงการนี้ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนคือ เด็กทุกคนนั้นมีความสามารถที่แตกต่างกัน มีความรู้และทักษะติดตัวที่ต่างกัน เด็ก ๆ จากโรงเรียนบ้านป่าเลามีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นที่สวยงาม ส่วนเด็กนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติก็จะมีความรู้ในเชิงของการทำธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยผลิตภัณฑ์ของทาเชวาจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไป

แบรนด์เสื้อทอมือพรีเมียม จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สื่อกลางเชื่อมโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ

น้อง ๆ จากโรงเรียนบ้านป่าเลาแชร์ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับเด็กนักเรียนนานาชาติว่าตอนแรก ๆ มีความรู้สึกเกร็งมากเพราะกลัวสื่อสารไม่ถูก แต่พอทำงานด้วยกันไปเรื่อย ๆ ทุกอย่างก็ดีขึ้น ทางพี่ ๆ จากโรงเรียนนานาชาติจะคอยให้คำปรึกษาว่าต้องทำยังไงบ้าง ออกแบบ และใช้มุมมองจากที่เคยเห็นสินค้าที่ขายในตลาดมาช่วยด้วย

เจสันซึ่งเป็นหัวหน้าทีมบอกว่าเขาตั้งใจสร้างผลิตภัณฑ์นี้ให้กับลูกค้ากลุ่ม “Luxury” หรือระดับบน เพราะเชื่อว่าเสื้อของทาเชวาที่ทำทุกขั้นตอนด้วยมือ ตั้งแต่ย้อม ทอ ขึ้นรูป และตัดเย็บ กว่าจะได้เสื้อตัวหนึ่งต้องใช้เวลาถึง 3-4 วัน ควรเป็นสินค้าอยู่ในกลุ่มงานฝีมือและขายในราคาที่สูงในตลาดออนไลน์ การตั้งราคาแบบนี้นอกจากจะได้ผลกำไรที่เหมาะสมแล้วยังเหมาะสมกับความสามารถในการผลิตของน้อง ๆ จากทีมโรงเรียนบ้านป่าเลาด้วย

ผลิตภัณฑ์หลักของแบรนด์ทาเชวาคือ “เสื้อคลุมผ้าฝ้ายทอมือ” ทั้งของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ของผู้หญิงจะมีลายจกน้ำไหลบริเวณคอ สาบเสื้อด้านหน้า และปลายแขน มีทั้งหมด 3 สี (ดำ, เทา และ ครีม) ส่วนของผู้ชายจะแต่งลายจกน้ำไหลบริเวณแขนเสื้อ สาบเสื้อใช้เป็นผ้าฝ้ายสีพื้นที่แตกต่างจากตัวเสื้อ มี 2 สี (ดำและเทา)​ นอกจากนั้นแล้วสินค้าก็ถูกขยายไปยังกลุ่มเครื่องแต่งกายประเภทอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ และหมวก (ตอนที่สาธิตวิธีการตัดเย็บน้อง ๆ ในกลุ่มก็นึกไอเดียผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างเนคไทขึ้นมาด้วย) ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทาง Shopee ได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย

โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะจัดจำหน่ายแบบพิเศษสุด (Exclusive) ผลิตภัณฑ์ละ 50 ชิ้นเท่านั้น บนแพลตฟอร์ม Shopee โดยสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่ https://www.eef.or.th/equity-partnerships-school-network-season-4/ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Shopee ได้จากทั้ง Google Play Store และ Apple Store โดยรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดจะนำกลับคืนให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคในโรงเรียนสังกัด สพฐ.โดยไม่หักค่าใช้จ่ายเพื่อให้เด็ก ๆ นำไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะอาชีพในอนาคต หรือจะร่วมสนับสนุนทุนต่อยอดการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับน้องๆ ได้ที่ https://www.eef.or.th/donate/ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าด้วย
แบรนด์เสื้อทอมือพรีเมียม จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สื่อกลางเชื่อมโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ

Mr. Gregory เล่าว่าหลังจากที่ทำโครงการนี้มาตอนนี้เข้าปีที่ 4 แล้วถือว่าได้รับความสนใจจากเครือโรงเรียนนานาชาติพอสมควร ช่วงการที่จะมาร่วมงานเขาได้นำสินค้าของทาเชวาไปโชว์ที่อังกฤษเพื่อวางขายและได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก หลังจากนี้เขามองว่ามีโอกาสที่จะขยายออกไปยังโรงเรียนนานาชาติในต่างประเทศด้วย

ในส่วนของบริษัท SEA (Thailand) คุณพุทธวรรณ ก็บอกด้วยครับว่าต่อไปจะเริ่มขยายตลาดของสินค้าจากโครงการนี้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ด้วย เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์นี้สู่สายตาคนต่างชาติมากขึ้น ซึ่งก็ตรงกับแนวทางที่เจสันวางไว้ว่าอยากให้ “Luxury Brand” พอดี

คุณพุทธวรรณ ยังเน้นย้ำถึงเรื่องความสำคัญของทักษะดิจิทัลสำหรับเยาวชนด้วยว่าต่อไปจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น โครงการตรงนี้จะช่วยผลักดันให้เด็ก ๆ ทุกคนได้ใช้ทักษะนี้ในการทำงานจริง ๆ เป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำ การขาย การทำการตลาด การรับมือกับสต๊อกสินค้า การจัดการออเดอร์ จนกระทั่งบรรจุและส่งสินค้าให้ลูกค้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นความสามารถที่ติดตัวเด็ก ๆ ไปในอนาคตด้วย

แบรนด์เสื้อทอมือพรีเมียม จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สื่อกลางเชื่อมโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ

น้องมายด์เล่าว่า ก่อนจะเริ่มโครงการนี้เธอมีความฝันอยากเป็นทนายหรือครูเพราะชอบภาษาไทยมากเลยตั้งแต่เด็ก แต่หลังจากได้เริ่มทำโครงการนี้มีโอกาสได้ทำงานกับคนอื่น ๆ เดินทางไปนำเสนอโครงการแสดงสินค้าที่กรุงเทพฯ กับทีมและเจอคนมากมาย ทำให้เธอเห็นว่าที่จริงแล้วโลกมีอะไรกว่าที่คิดเยอะมาก ๆ ไม่ใช่ว่าอาชีพครูหรือทนายไม่ดี เพียงแต่ว่าโครงการนี้ได้เปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ให้กับน้อง ผมเลยถามน้องว่าแล้วตอนนี้อยากทำอะไร

“หนูว่าหนูอยากทำธุรกิจของตัวเองค่ะ” น้องกล่าวด้วยแววตาที่มุ่งมั่น

เมื่อคุณนั่งอยู่ในห้องที่มืดมิด คุณจะนั่งเฉย ๆ แล้วก่นด่าความมืดก็ได้ หรือคุณจะลุกมาจุดเทียนให้ห้องสว่างขึ้นก็ได้ และคำตอบของน้องมายด์ชี้ให้เห็นว่าโครงการพัฒนาความยั่งยืนของนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network) เป็นแสงความหวังแห่งความเท่าเทียมทางการศึกษาเล็ก ๆ ที่แม้จะยังไม่สามารถลบล้างความเหลื่อมล้ำของการศึกษาของประเทศเราได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาแล้ว

แบรนด์เสื้อทอมือพรีเมียม จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สื่อกลางเชื่อมโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ