10 ก.พ. 2564 | 10:59 น.
*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ Izakaya Bottakuri มีหนังและซีรีส์มากมายที่ใช้อาหารเป็นหนึ่งในตัวละครที่คอยขับเคลื่อนให้เรื่องเดินหน้าต่อไป คุณอาจจะได้ข้อคิดดี ๆ จากราเมงรสเลิศล้ำ ได้เข้าใจในกลิ่นหอมชวนฝันและงานศิลป์จากกาแฟอันหอมหวนชวนหลงใหลฝีมือบาริสต้า แต่หากคุณอยากเข้าใจในหลักปรัชญาของชีวิต ขอเชิญแวะเวียนมาร้านเล็ก ๆ ของสองพี่น้อง ในชุมชนย่านเมืองเก่าของกรุงโตเกียว ที่ชื่อร้านแปลความหมายเป็นไทยในเชิงลบว่า ‘ขูดเลือดขูดเนื้อ’ แต่ความเป็นจริงแล้ว รสชาติอาหารและสาเกในร้านกลับเลิศล้ำและทำให้คุณเข้าใจปรัชญาในการดำเนินชีวิต Izakaya Bottakuri คือซีรีส์ญี่ปุ่นชื่อดังที่สร้างจากมังงะชื่อเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นฝีมือการประพันธ์ของ Akikawa Takimi และลายเส้นของ Shiwasuda ตีพิมพ์ออกมาแล้วจำนวน 5 เล่ม และได้รับการสานต่อเป็นซีรีส์ความยาว 11 ตอน ในปี 2018 และเพิ่งได้มาลงในสตรีมมิ่ง Netflix แม้จะไม่ใช่ซีรีส์ที่โฉ่งฉ่าง และมีความยาวต่อตอนเพียง 24 นาที แต่ความน้อยนิดนี้กลับสร้างความรู้สึกให้กับผู้ชมได้อย่างมหาศาล เพราะเต็มไปด้วยปรัชญาแห่งการใช้ชีวิต และเติมเต็มความอบอุ่นให้กับหัวใจ “ในตรอกที่อยู่ถัดจากถนนย่านการค้า มีผับสไตล์อิซากายะของญี่ปุ่นอยู่ร้านหนึ่ง ที่ชื่อชวนไม่สบายใจอยู่บนผ้าม่านของร้าน แต่คนที่กล้าเข้าไปจะได้รู้ว่า ร้านนี้มีเครื่องดื่มดี ๆ และอาหารเลิศรส และกลุ่มคนที่มีหัวใจอันอบอุ่นอยู่เต็มร้าน” นี่คือคำบอกเล่าของมิเนะ พี่สาวที่รับกิจการร้านอิซากายะต่อจากพ่อร่วมกับน้องสาวที่ชื่อคาโอรุ ซึ่งนอกจากผู้เป็นพ่อจะมอบมรดกตกทอดทั้งร้านอิซากายะและสูตรในการทำอาหารให้กับลูกสาวทั้งสองคนแล้ว เขายังมอบปรัชญาอันลึกล้ำให้กับคนทำและคนกินอาหารผ่านรสชาติที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาอย่างดี ประวัติศาสตร์ของร้านอิซากายะ อิซากายะมีประวัติมาอย่างยาวนาน โดย Penelope Francks นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาวัฒนธรรมญี่ปุ่นจากลอนดอนได้กล่าวถึงร้านนี้ว่า แรกเริ่มเดิมที อิซากายะ เป็นร้านกินดื่มที่ขึ้นชื่ออย่างมากนับตั้งแต่ยุคสมัยเอโดะในช่วงปี 1603-1868 จากการเป็นร้านเล็ก ๆ ที่พ่อค้าสาเกทำขึ้นมาเพื่อให้นักชิมสาเกได้ลองลิ้มชิมรส โดยเอาถังหมักสาเกมาตั้งเป็นโต๊ะ ก่อนพ่อค้าจะเปลี่ยนเป็นพ่อครัวทำอาหารกับแกล้มกินร่วมกับสาเก จนมาถึงยุคสมัยเมจิ ร้านอิซากายะก็เริ่มเฟื่องฟู จากร้านที่จัดวางอย่างลวก ๆ ก็เปลี่ยนเป็นร้านที่ดูดี รวมไปถึงอาหารที่แล้วแต่ละร้านจะรังสรรค์ออกมาให้น่ารับประทานแตกต่างกันออกไป ปัจจุบัน ร้านอิซากายะกลายเป็นสถานที่แฮงเอาต์สำหรับคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ซารารีมังที่อยากสุมหัวเพื่อหาทางระบายจากความเหนื่อยล้าของการทำงาน ไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ที่โหยหาที่พักใจ ร้านสไตล์นี้จึงเป็นที่นิยมอย่างมาก และเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมสำคัญของชาวอาทิตย์อุทัย เป็นชุมชนขนาดย่อมที่ไม่ว่าแห่งหนตำบลใดก็จะมีร้านเหล่านี้ตั้งอยู่ทุกที่ และเพราะเป็นสถานที่พักใจอันแสนอบอุ่นที่กรุ่นไปด้วยอากาศเลิศล้ำ มิเนะและคาโอรุจึงใช้สถานที่แห่งนี้ต้อนรับชาวชุมชนทั้งขาจรและขาประจำ ด้วยอาหารที่ปรุงจากใจและสาเกชั้นยอดที่เข้าถึงความรู้สึกของผู้ชิม แม้ซีรีส์เล็ก ๆ เรื่องนี้จะไม่ได้นำเสนออย่างโฉ่งฉ่าง และเล่าเรื่องเพียงไม่กี่โลเกชัน แต่กลับสร้างปรากฏการณ์ให้ผู้ชมจำนวนมากรักซีรีส์เรื่องนี้ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้ชมทั้งในญี่ปุ่นไปจนถึงคนไทยตอบรับซีรีส์เรื่องนี้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง คือ
บตตากุริ คือชื่อร้านอิซากายะชื่อแปลกที่ตั้งอยู่ในชุมชนมาอย่างช้านาน ชื่อร้านที่ไม่ชวนพิสมัยนี้กลับสร้างเสน่ห์ชวนค้นหา และมีที่มาจากการที่ผู้เป็นพ่อได้กล่าวกับมิเนะไว้ว่า “พ่อของฉันที่เคยเป็นเจ้าของร้านนี้มักจะพูดอยู่เสมอว่า การที่เรารับเงินจากการเสิร์ฟอาหาร ที่ร้านไหน ๆ ก็มี ทำให้เราดูเหมือนพวกขูดเลือดขูดเนื้อ หรือที่เรียกว่า บตตากุริ แต่มิเนะ ถึงแม้มันจะเป็นสูตรอาหารทั่ว ๆ ไป แต่ก็ต้องปรุงอาหารทุกจานด้วยใจทั้งใจนะ เมื่อลูกทำแบบนั้นได้ ลูกค้าของเราจะไม่เสียดายเงินที่พวกเขาจ่ายเลย” ความน่าประหลาดใจของผู้ที่มาเยือนในครั้งแรก จะด้วยการเข้ามาหลบฝน หรือหลงมาด้วยความท้าทายในชื่อร้านก็ตาม เมื่อพวกเขาได้เห็นบิลราคา ต่างก็มักจะตกใจในราคาอันแสนถูก มีอาหารบางอย่างที่ไม่คิดราคาเพียงเพราะมิเนะตั้งใจจะทำไว้กินเอง การใช้กลยุทธ์มัดใจด้วยราคาเพราะต้องการให้ลูกค้าพึงใจจะได้กลับมาที่ร้านใหม่ กลับเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจและเหมาะสมสำหรับการขูดเลือดขูดเนื้อในแบบซอฟท์ต์ ๆ ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
“อาหารทำให้เกิดรอยยิ้มบนใบหน้าผู้คนอย่างคาดไม่ถึง” หลายครั้งลูกค้ามากหน้าหลายตาจะเข้ามาในร้านพร้อมด้วยสีหน้าอมทุกข์จากปัญหารุมเร้าจากการทำงาน ไม่ว่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน หรือปัญหาส่วนตัว แต่มิเนะก็ใช้อาหารสยบทุกปัญหาด้วยเมนูและวัตถุดิบที่ไม่ได้หวือหวา แต่กลับเต็มไปด้วยคุณค่าและการบ่งบอกถึงสัญลักษณ์ที่ซ่อนเร้นในอาหารเหล่านั้น อย่างใน EP แรก ที่เล่าถึงไข่แดงดองมิโสะ ที่สะท้อนปรัชญาของผู้ใหญ่ที่ไม่ต่างกับมิโสะที่ต้องคอยโอบอุ้มประคบประหงมไข่แดงที่เปรียบเสมือนผู้น้อยให้เติบใหญ่อย่างล้ำค่า ซึ่งในทุก ๆ ตอน เมนูอาหารจะสะท้อนแนวคิดในการใช้ชีวิตได้อย่างน่าทึ่ง เปี่ยมล้นด้วยคำสอนที่เรียบง่ายแต่เข้าถึงใจคนดูอย่างมหัศจรรย์ ซึ่งแน่นอนว่าทุก ๆ ครั้งไม่ว่าเราจะเผชิญหน้ากับปัญหาที่ทุกข์ร้อนแค่ไหน แต่เมื่อกินเสร็จแล้วเดินออกไป ใบหน้าที่ทุกข์ใจมักจะปิดท้ายด้วยรอยยิ้มเมื่อก้าวออกจากร้านในทุก ๆ ตอน
“ฉันคิดว่าอาหารจานนี้เป็นป้ายที่ฉันใช้รำลึกถึงแม่ของฉันค่ะ ทุกครั้งที่ฉันได้กินเมนูนี้ ฉันก็จะได้พบกับความทรงจำเกี่ยวกับแม่ของฉัน” การส่งต่อความรักแบบรุ่นต่อรุ่น นำไปสู่ความละมุนในการสัมผัสรสชาติที่คุ้นชินจากความทรงจำ ในตอนที่ 2 เราจะพบกับพนักงานออฟฟิศสาวผู้มาทำงานห่างไกลและโดดเดี่ยว เธอกำลังมองหาอาหารที่รสชาติใกล้เคียงกับรสมือแม่ที่ติดลิ้นในอดีตจวบจนปัจจุบัน และมิเนะก็รังสรรค์เพียงใบแครอทผัดน้ำมันงา แต่กลับสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงานสาวอย่างมโหฬาร การใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อยของเธอกลับหยิบยื่นความทรงจำอันงดงามในวัยเด็กให้กับเขาได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งซีรีส์นี้จับหัวใจคนวัยทำงานที่จากถิ่นฐานบ้านเกิดมาไกลแสนไกล หรือพ่อแม่ที่จากไปให้ได้รำลึกถึงความทรงจำอันแสนงดงาม
แม้ซีรีส์จะเป็นการนำเสนอการทำอาหารอันแสนเรียบง่ายและไม่มีคู่แข่งใด ๆ ให้ต้องต่อสู้เหมือนมังงะหรือซีรีส์ทำอาหารเรื่องอื่น ๆ แต่ทุกครั้ง มิเนะมักจะพร่ำบอกกับตัวของเธอเองอยู่เสมอว่า รสชาติในการทำอาหารของเธอนั้นไม่อาจทัดเทียมพ่อของเธอได้เลย การใส่ใจในรายละเอียดด้วยการคิดค้นเมนูพิเศษแปลกใหม่ทุกครั้ง นอกจากจะทำให้ลูกค้าผู้มาเยือนพึงใจในการรับสิ่งใหม่ ๆ ที่ร้านได้นำเสนอแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีในการต่อสู้เพื่อเอาชนะใจตัวเองอีกด้วย นับเป็นปรัชญาแห่งการดำเนินชีวิตที่ทุ่มเทแบบสู้ไม่ถอยที่ซีรีส์หรือหนังญี่ปุ่นมักชอบนำเสนอ แต่ก็เป็นคำสอนที่มีประสิทธิภาพและคุณค่าทุกครั้งที่ได้สัมผัส
มิเนะ เป็นพี่สาวใจดีที่เป็นทั้งแม่ครัวสุดเก่ง และเป็นหัวหน้าครอบครัวที่พร้อมรับมือกับปัญหาและคลี่คลายด้วยอาหารรสชาติเลิศล้ำ ซึ่งในซีรีส์ ผู้ที่มารับบทบาทของสาวผู้อ่อนโยนแต่ข้างในแฝงด้วยความเข้มแข็งเรื่องนี้คือ โมเอมิ คาตายามะ ซึ่งดูอ่อนโยนและน่ารักอบอุ่นในแบบฉบับพี่สาว แต่เมื่อคุณท่องโลกอินเทอร์เน็ตด้วยการเสิร์ชชื่อ Moemi Katayama แล้วคลิกไปที่รูปภาพ คุณจะต้องตื่นตะลึง เพราะเธอผู้นี้เริ่มต้นในฐานะคนดังที่ผ่านการถ่ายภาพชุดว่ายน้ำในฐานะนางแบบกราเวียร์มาก่อน รวมไปถึงภาพอาร์ตนู้ดที่โชว์สัดส่วนอีกด้วย การพลิกบทบาทเป็นแม่ครัวสาว ที่ไม่มีตอนไหนเลยที่เธอจะใช้เรือนร่างในการเรียกร้องความสนใจ นับเป็นความทะเยอทะยานครั้งสำคัญที่หญิงสาวคนหนึ่งจะสลัดภาพความเซ็กซี่ที่เห็นจนชินตา ให้ไปโฟกัสที่การแสดงของเธอเพียงอย่างเดียว นับเป็นบททดสอบอันท้าทายไม่ต่างกับมิเนะที่ต้องชนะพ่อของเธอด้วยการทำอาหารอร่อยเลิศให้จงได้ รวมไปถึงทีมงานผู้สร้างที่กล้าหาญในการฉีกภาพลักษณ์ของเธอให้กลายเป็นอีกคาแรกเตอร์ ราวกับเป็นคนละคนได้อย่างยอดเยี่ยม และนี่คือ 5 ข้อที่เราได้สัมผัสเมื่อได้ชมซีรีส์เรื่องนี้ นอกจากนี้ในตอนท้ายของซีรีส์ยังมีการแนะนำสาเกและเมนูที่ทำง่ายในครัวบ้านคุณเองแบบไม่หวงสูตร สิ่งเหล่านี้สร้างคุณค่า ความอบอุ่น และปรัชญาการดำเนินชีวิตท่ามกลางความเรียบง่าย ไม่ต่างกับอาหารอันแสนธรรมดา แต่แฝงไว้ด้วยคุณค่าและความหลังอันงดงามที่มิเนะได้รังสรรค์และเสิร์ฟให้ทุกคนได้ชิม แม้จะรับรู้ได้เพียงอาหารตา แต่ความรู้สึกนั้นดีต่อหัวใจ ข้อมูล https://www.japan-experience.com/to-know/understanding-japan/izakaya https://www.facebook.com/1975687106059162/posts/2502089740085560/?d=n