ศิรดา สื่อไพศาล: นักวาด Webtoon ผู้ขอเก็บเสน่ห์ตึกเก่าลงในนาม Siradasue ก่อนโลกทุนนิยมจะพรากทุกอย่างไป

ศิรดา สื่อไพศาล: นักวาด Webtoon ผู้ขอเก็บเสน่ห์ตึกเก่าลงในนาม Siradasue ก่อนโลกทุนนิยมจะพรากทุกอย่างไป

‘โบว์ - ศิรดา สื่อไพศาล’ นักวาด Webtoon ผู้ใช้ลายเส้นเข้ามาช่วยดึงเสน่ห์ย่านตลาดน้อย-ทรงวาดให้กลับมามีชีวิตในความทรงจำของผู้อ่านได้อีกครั้ง เพราะในอนาคตเธอไม่รู้ว่าตึกเก่าเหล่านี้จะรอดจากการถูกทุบทำลายไปได้อีกกี่ปี

  • โบว์ - ศิรดา สื่อไพศาล คือ นักวาด Webtoon ชาวไทยที่หอบหิ้วความฝันอยากจะเห็นผู้อ่านได้สัมผัสกับความงดงามของย่านเมืองเก่าอย่างตลาดน้อย-ทรงวาด 
  • เพราะเธอกลัวว่าวันหนึ่ง ตึกเหล่านี้ที่อยู่ในความทรงจำมาตั้งแต่เกิดจะหายไปในวันใดวันหนึ่ง
  • แม้จะมีอุดมการณ์แรงกล้าเท่าที่นักเขียนคนหนึ่งจะวาดฝันได้ แต่การจะก้าวมาสู่จุดนี้เธอต้องพิสูจน์ตัวเองกับครอบครัวมาโดยตลอด จนวันนี้ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักกันในนาม Siradasue

Blooming Days คือการ์ตูนที่เราสะดุดตาในลายเส้นตั้งแต่แรกเห็น โดยที่ไม่รู้มาก่อนว่านักเขียนคือใคร แต่พอได้เห็นภาพชุดนักเรียนที่ปรากฎอยู่ในเรื่องก็ชัดแล้วว่า เอาล่ะ! นี่เรากำลังอ่านงานของนักวาดชาวไทยแน่ ๆ หลังจากแอบเป็นแฟนคลับเงียบ ๆ Moonlight Serenade ก็ปล่อยออกมาในอีกสองปีให้หลัง บอกตามตรงว่าเราหลงเสน่ห์เรื่องนี้เข้าอย่างจัง ทั้งลายเส้น ตึกรามบ้านช่องในย่านเมืองเก่า ไปจนถึงเนื้อหาที่ชวนลุ้นแล้วลุ้นอีกว่าตอนจบจะเป็นยังไงนะ

เหมือนโชคชะตาเป็นใจ เราได้ไปร่วมทริปสำรวจตลาดน้อย-ทรงวาด ย่านเก่าแก่ที่ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยในอดีตหลงเหลืออยู่ ซึ่งการเดินสำรวจย่านครั้งนี้ได้ ‘โบว์ - ศิรดา สื่อไพศาล’ และ ‘ธันว์ - ณภัทร มานะเนตร’ จากเพจ ร้านค้า และ façade มาเป็นผู้เปิดเปลือยเบื้องลึกเบื้องหลังและแรงบันดาลใจที่เธอทุ่มเวลาไปกับการวาดและตีพิมพ์ผลงานลง Webtoon จนได้ขึ้นหน้าหลักแอปพลิเคชันเป็นเครื่องหมายการันตีว่าการ์ตูนของเธอนั้นไม่ได้มีดีแค่ลายเส้น หากเป็นภาพสะท้อนของหญิงสาวเมืองกรุงคนหนึ่ง ที่หวังจะเห็นบ้านเมืองนี้ให้คุณค่าต่อตึกเก่ามากกว่าที่ควร

ต่อไปนี้คือบทสนทนาของเราและเธอ หญิงสาวผู้ที่ครั้งหนึ่งมีไฟแรงกล้า ถึงขนาดคิดอยากจะเปลี่ยนโลกผ่านงานกราฟิก แต่เพราะช่วงวัยที่เลยผ่าน ไฟในใจของเธอได้แต่สั่นไหวอยู่ภายในอย่างเงียบเชียบ ทว่ามั่นคง ซึ่งการเขียนการ์ตูนครั้งนี้ เธอก็ได้แต่หวังว่าจะช่วยให้ตึกแถวในความทรงจำ ไม่ถูกโลกทุนนิยมพรากไปจนหมด

ศิรดา สื่อไพศาล: นักวาด Webtoon ผู้ขอเก็บเสน่ห์ตึกเก่าลงในนาม Siradasue ก่อนโลกทุนนิยมจะพรากทุกอย่างไป ขอเถอะ โลก... ได้โปรดอย่าพรากความสนใจของเราไปเลย

ศิรดาเป็นลูกสาวคนเล็กของบ้านครอบครัวคนจีน เธอเริ่มสนใจด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก อาจเป็นเพราะที่บ้านทำธุรกิจโรงกลึงทำให้เธอไม่มีเวลาออกไปเที่ยวเล่นมากนัก เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ แต่นั่นไม่ได้ทำให้วัยเด็กของเธอพร่าเลือนแต่อย่างใด

ในทางกลับกัน เธอค่อนข้างชอบช่วงวัยนี้ด้วยซ้ำ ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องรับรู้ความโหดร้ายของโลก มีเพียงรอยยิ้มของครอบครัวและเครือญาติที่ส่งความปรารถนาดีมาให้แก่เด็กสาวอยู่เสมอ แม้ว่าพอโตขึ้นโลกที่เคยสดใสจะถูกเคลือบไปด้วยความหมองเศร้า

เธอรับรู้ความจริงบางอย่างที่ทำให้ใจแหลกสลาย จากครอบครัวที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ เธอเริ่มเห็นบางอย่างเปลี่ยนไป แม่ทำงานหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลาเลิกเรียนแม่ก็มักจะกลับมารับเธอกลับบ้าน และยังคงเป็นแม่ที่ส่งเธอเข้านอน แม้จะเป็นเด็กแต่เธอรู้ดีว่าเริ่มมีบางอย่างเปลี่ยนไป แต่ก็สามารถกอบกู้เศษซากความผิดหวังครั้งนั้นและผ่านมาได้เพราะมีแม่คอยอยู่ข้างกายไม่ห่าง

ศิรดาไม่ได้เศร้าอีกต่อไป เพราะยังไงสุดท้ายแล้วครอบครัวของเธอจะต้องก้าวต่อไป และเธอจะเป็นหญิงแกร่งคอยอยู่เคียงข้างแม่ ไม่ให้แม่ต้องทำงานหนักอยู่คนเดียว

“เราโตมากับการอ่านการ์ตูน ดูหนังสือภาพ ที่บ้านเขาก็เห็นว่าเราชอบวาดรูปก็เลยส่งไปเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ แต่เขาไม่เคยคาดหหวังว่าเราจะต้องเก่งนะ เพราะแม่แค่ต้องใช้เวลาทำงานอยู่ตลอด เขาทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เพราะฉะนั้นการส่งเราไปเรียนก็ทำให้เขาไม่ต้องห่วงว่าเราจะอยู่ยังไง

“เอาจริงปะ ชีวิตเราค่อนข้าง F*ck up เลย เรียกแบบนั้นก็ได้นะ”

น้ำเสียงของเธอราบเรียบ ราวกับจะบอกว่าหากในอนาคตเจอเรื่องที่แย่กว่านี้ เธอก็พร้อมรับมือกับทุกอย่าง และจะขอเขียนอนาคตขึ้นมาใหม่ แม้ทุกข์ระทมเพียงใดก็ตาม

เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงมัธยมปลายความสนใจของศิรดาเริ่มเบนมาทางการเมืองมากขึ้น แม้จะไม่ใช่เด็กที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างโจ่งแจ้ง มีชื่อเป็นแกนนำ คอยป่าวประกาศถึงความคิดและอุดมการณ์ว่าอยากจะเห็นสังคมไทยโดยเฉพาะแวดวงการศึกษาเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ความมุ่งมั่นของเธอก็ฉายชัดผ่านการเข้าร่วมกลุ่มทำงานการเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง

หากให้ย้อนกลับไปอีกนิด ศิรดาเล่าว่าความคิดของเธอเริ่มตกตะกอนตั้งแต่ช่วงเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เธอสมัครเรียนติวเพื่อพัฒนาทักษะที่มีอยู่ให้เด่นชัด และพร้อมจะสู้รบกับเด็กไทยทั่วประเทศที่หวังจะเข้าเรียนคณะเดียวกันกับเธอ แต่โลกการติวกลับทำให้ศิรดาตั้งรับไม่ทัน เธอไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร สถานที่แห่งนี้ถึงกดความฝันของเธอให้ต่ำลง เพียงเพราะเริ่มตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ใช่ความสุข แต่เป็นสิ่งที่ทำเพื่อใช้สอบเข้าเท่านั้น

“ตอนเรียนติวโบว์เริ่มไม่มีความสุข เราก็เลยไปขอคำปรึกษากับเขา แต่เขาถามโบว์กลับมาว่าทำไมไม่มีความสุข ถามย้ำ ๆ จนเรารู้สึกแย่ เราไม่รู้ว่าทำไมไม่มีความสุข มันเป็นแรงกดดันจนทำให้เราร้องไห้ออกมา แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ไปเรียนติวอีกเลย นี่คือช่วง ม.4 ที่เราจำได้

“ก็กลับมาคิดว่าจะเอาไงดีกับชีวิต ถ้าไม่เรียนติวจะสอบได้ไหม พอดีช่วงนั้นเห็นกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทของเนติวิทย์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) เขาเปิดรับสมัครกราฟิก ดีไซเนอร์ เราก็อยากมีพอร์ทเลยสมัครไป นั่นแหละเลยเป็นที่มาของการขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา

“เราขับเคลื่อนกันเยอะมาก ตั้งแต่ตั้งคำถามว่าทำไมต้องตัดผมสั้นถึงติ่งหู ทำไมถึงเรียนวิชาจริยธรรม ทำไมถึงไม่เรียนวิชาปรัชญาแทน เพราะนี่เป็นวิชาที่สอนให้เข้าใจโลก โดยไม่ต้องบังคับว่าคุณจะต้องคิดแบบนี้ แต่คุณสอนให้เด็กเข้าใจความเป็นไปของทุกสิ่งแทนสิ นี่คือสิ่งที่เราช่วยกันทำมาเรื่อย ๆ จนได้รู้จักกับเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ก็ช่วยขับเคลื่อนกันมาจนหมดเราจบ ม.6 หลังจากนั้นก็เลิกทำไป”

ศิรดาไม่ได้เรียนติวอีกเลย แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ฝึกปรือฝีมือผ่านงานออกแบบให้กับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ที่ร้าน House of Commons - BookCafe & Space (HOC) สลับกับรับงานฟรีแลนช์ จนแทบไม่มีเวลาได้พักผ่อนเหมือนเด็กสาวทั่วไป

และก็ถึงวันที่ความทุ่มเทของเธองอกงาม ศิรดาได้เข้าเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานที่ที่เธอฝากอนาคตเอาไว้ว่า โตไปจะต้องนำสิ่งที่เรียนมาเลี้ยงชีพได้ โดยไม่หลงลืมความชอบในวัยเยาว์

“จริง ๆ บ้านเราทะเลาะกันหลายรอบมากว่าเราจะเรียนศิลปกรรมจริง ๆ เหรอ ทำไมไม่เรียนสถาปัตย์ ซึ่งเราใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองเยอะมาก สมัยเรียนส่งผลงานเข้าประกวด ได้รางวัล รับงานฟรีแลนช์ ทำงานร้านคาเฟ่ตั้งแต่มัธยมปลาย ก็ได้ลูกค้าส่วนหนึ่งจากร้านนี้ แล้วก็เป็นที่ที่เราได้เงินจากการทำกราฟิกเพราะร้านแห่งนี้ ที่บ้านก็เริ่มเห็นว่าเราสามารถใช้ความชอบของตัวเองหาเงินได้ เขาก็เลยปล่อยให้เราทำ”

เราเอ่ยถามถึงอุดมกาณ์ในการออกมาเคลื่อนไหวอีกรอบว่าความฝันครั้งนั้น หากมองย้อนกลับไปเธอเห็นอะไรในตัวเด็กสาวคนนั้นกัน

เธอขยับตัวเปลี่ยนท่าทาง หยิบช้อนขึ้นมาตักขนมหวานคำเล็ก ๆ ทาน ดื่มน้ำตามหนึ่งอึก ก่อนจะนิ่งเงียบ และขยับริมฝีปากเปล่งเสียงออกมาอย่างแผ่วเบาว่า ‘โลกนี้มันพรากความสนใจเราไปหมด’

เราสบตากับเธอ และเห็นว่าแววตาของเธอดูเหนื่อยล้าไม่น้อย อาจเป็นเพราะการจัดทริปเดินสำรวจย่านเมืองเก่าทำให้เธอรู้สึกเพลียกว่าปกติ เราเข้าใจได้ จึงขยับบทสนทนาให้เข้าใกล้ชีวิตของเธอในปัจจุบันมากขึ้นอีกนิด

ศิรดา สื่อไพศาล: นักวาด Webtoon ผู้ขอเก็บเสน่ห์ตึกเก่าลงในนาม Siradasue ก่อนโลกทุนนิยมจะพรากทุกอย่างไป

ศิรดา สื่อไพศาล: นักวาด Webtoon ผู้ขอเก็บเสน่ห์ตึกเก่าลงในนาม Siradasue ก่อนโลกทุนนิยมจะพรากทุกอย่างไป

เขียนเพราะไม่อยากให้ตึกถูกทำลาย

ชื่อของศิรดาเริ่มถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากเธอเป็นนักเขียนคนไทยที่ปล่อยผลงานลง Webtoon ในนามปากกา Siradasue จากเรื่องแรกอย่าง Blooming Days การ์ตูนแนว Slice of Life มาจนถึงเรื่องที่สอง Moonlight Serenade หลังจากห่างหายจากแพลตฟอร์มไปนานถึงสองปี การกลับมาคราวนี้เธอหอบความหวังเอาไว้เต็มเปี่ยม หวังว่าการงานวาดของเธอจะช่วยให้ผู้อ่านรับรู้ได้ว่า สถานที่ทุกอย่างที่ประกอบสร้างออกมาเป็นการ์ตูนเรื่องนี้คือสถานที่จริง แต่ในอนาคตมันอาจจะกลายเป็นเพียงเซ็ตติ้งประกอบงานวาดของเธอเท่านั้น

“เราเขียนเพราะไม่อยากให้คนเขาทุบตึก เขียนเพราะไม่อยากให้พื้นที่ตรงนี้หายไป

ศิรดา สื่อไพศาล: นักวาด Webtoon ผู้ขอเก็บเสน่ห์ตึกเก่าลงในนาม Siradasue ก่อนโลกทุนนิยมจะพรากทุกอย่างไป

ศิรดา สื่อไพศาล: นักวาด Webtoon ผู้ขอเก็บเสน่ห์ตึกเก่าลงในนาม Siradasue ก่อนโลกทุนนิยมจะพรากทุกอย่างไป

“แต่เราไม่อยากจะการันตีว่าสิ่งที่เราทำมันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับสังคมได้ไหม ไม่การันตีว่ามันจะช่วยไม่ให้ตึกถูกทำลายได้จริงไหม เราแค่เขียนในสิ่งที่เราชอบ แล้วก็คาดหวังว่ามันคงจะช่วยสร้างอะไรได้นิดนึงในสังคม เช่น คนอ่านแล้วอินกับย่านก็คงจะอยากรักษามัน อาจจะอยากมาเที่ยวก็ได้ หรือจะอยากรักษาก็ได้ เพราะว่าโบว์ค่อนข้างสอดแทรกเรื่องของวิถีชีวิตของคนไปค่อนข้างเยอะเหมือนกัน”

แต่ก่อนจะมาเป็นนักวาด Webtoon ศิรดาเล่าว่าช่วงแรกที่ยื่นผลงานสมัครเป็นเพียงแค่การลองเปิดโอกาสให้ตัวเองก็เท่านั้น ซึ่งเส้นทางการเป็นนักวาดการ์ตูนก็ทำเอาเธอถึงกับพูดออกมาเต็มเสียงว่า “งานหนักมาก หนักกว่าที่คิดเยอะเลย ตอนแรกคิดว่า เออ คงประมาณนี้แหละ แต่กลายเป็นอีกอย่างนึงเลย”

“ซึ่งโบว์ชอบ Line Webtoon ของไทยตรงที่เขาให้ลายเซ็นของนักเขียนการ์ตูน นักเขียนแต่ละคนจะมีคาแรกเตอร์ว่าคนนั้นเป็นแบบนี้ คนนี้เป็นแบบนั้นมันทำให้เขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ ซึ่งเรื่องของโบว์ โบว์ว่าคาแรกเตอร์เป็นแบบที่เราอยากเขียน ผู้ชายก็จะเป็นผู้ชายแบบที่เราชอบ ผู้หญิงก็จะเป็นแบบที่เราอยากให้มันเป็น

“อาจจะไม่ได้เป็นตัวเรา 100% แต่ว่าโบว์ว่าเรามีความใส่นิสัยบางอย่างของตัวเองลงไป อย่างเช่นที่บอกว่า คนเรามันมีหลายคาแรกเตอร์ในคนเดียวได้ บางทีคาแรกเตอร์อย่างน้องทิวลิปอย่างนี้ (ตัวเอกในเรื่อง Blooming Days) โบว์ก็จะเอาส่วนของตัวเองใส่ลงไป อาจจะไม่ได้เป็นเราทั้งหมด

“เวลาเราเขียน เหมือนความคิดของตัวละครมันมาจากเรา เพราะฉะนั้นไม่มีทางหรอกที่มันจะแยกออกจากกันได้ว่าคนนั้นคือเราหรือไม่ใช่เรา เพราะว่ามันเป็นความคิดที่มาจากเรา 100%”

ศิรดา สื่อไพศาล: นักวาด Webtoon ผู้ขอเก็บเสน่ห์ตึกเก่าลงในนาม Siradasue ก่อนโลกทุนนิยมจะพรากทุกอย่างไป

ถึงจะมีชื่อเสียงมากเพียงใด แต่ศิรดาบอกว่าแรก ๆ แม่ไม่เข้าใจว่าการเป็นนักวาด Webtoon จะยิ่งใหญ่หรือมั่นคงได้อย่างไร เธอบอกว่าแม่ไม่ได้ตื่นเต้น ไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งนี้จะช่วยให้ลูกสาวคนเล็กอย่างเธอมีชีวิตรอดต่อไปในเศรษฐกิจเช่นนี้

แต่เมื่อเห็นว่าศิรดาเริ่มให้สัมภาษณ์ออกสื่อ เดินทางไปบรรยายให้ความรู้น้อง ๆ ในมหาวิทยาลัยอีกหลายต่อหลายแห่ง มีคอร์สเรียนออนไลน์เป็นของตัวเอง นั่นแหละแม่ของเธอจึงเข้าใจว่า ลูกสาวของเธอเติบโตได้อย่างน่าภาคภูมิ

“ก่อนที่โบว์จะมาเป็นนักเขียน Webtoon โบว์มองว่าอาชีพนี้ไม่รวยเลย ซึ่งถามว่าทุกวันนี้ยังคิดแบบนั้นไหม ก็รู้สึกว่ามันขึ้นอยู่กับดวง มีทั้งนักเขียนการ์ตูนที่แบบเขียนจนดังและรวยเลยกับเขียนการ์ตูนที่เขียนยังไงก็แบบเขียนยังไงก็ไม่รวย มันอยู่ที่ดวง รวยเลยก็มี กลาง ๆ ก็มี

“หรือว่าแบบไม่ค่อยได้รายได้ได้จากการ์ตูนเลยก็มี อาจจะเขียนเล่น แล้วก็ไปทำงานประจำอย่างนี้ มันมีหลายระดับ แต่ว่าไม่ใช่ว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนแล้วไส้แห้งอย่างเดียว ไม่ใช่ เหมือนโตมากับขายหัวเราะที่แบบนักเขียนการ์ตูนไส้แห้งกินข้าวเปล่ากับรูปปลาอย่างนี้ เราก็จะมีภาพจำอย่างนั้น แต่ว่าทุกวันนี้ก็รู้สึกว่ามันมีหลายระดับ

“โบว์เป็นคนกลัวความจนนะ โบว์ถึงทำงานเยอะ ก็เลยไม่เขียนการ์ตูนอย่างเดียว ทุกวันนี้ยังรับฟรีแลนช์ แต่มีทีม ไม่ใช่ทำคนเดียวทั้งหมด เรารับงานมา แล้วเราก็จะมีน้องในทีม น้องฝ่ายกราฟิก ก็จะเป็นน้องกลุ่มนึง น้องฝ่ายเขียนการ์ตูนก็จะเป็นน้องกลุ่มนึง จะหมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้ เหมือนแต่ละคนก็มีหน้าที่ต่างกันไป โบว์ก็เอากลับมาเก็บรายละเอียดทั้งหมดด้วยตัวเอง”

ศิรดา สื่อไพศาล: นักวาด Webtoon ผู้ขอเก็บเสน่ห์ตึกเก่าลงในนาม Siradasue ก่อนโลกทุนนิยมจะพรากทุกอย่างไป

ความทรงจำของลูกสาวคนเล็ก กับความคาดหวังของครอบครัวคนจีน

เท่าที่คุยกันมาเราเห็นความสู้ของเธอมาโดยตลอด สู้ตั้งแต่เริ่มพิสูจน์ตัวเองกับครอบครัว สู้ตั้งแต่บอกโรงเรียนติวว่าจะไม่ยอมสละความสุข เพื่อเข้าเรียนคณะที่หวัง และสู้มาจนถึงวันที่เป็นนักเขียน Webtoon ผู้เริ่มจากศูนย์ ไม่มีทีม มีแต่ความมุ่งมั่นของตัวเองที่ไม่เคยทิ้งหายไปไหน และเธอยังสู้จนสามารถจัดทริปเดินสำรวจย่านตลาดน้อย-ทรงวาดได้สำเร็จ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่หญิงสาวในวัย 26 ปีทำได้สำเร็จ

แต่กว่าความสำเร็จจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง เธอก็สู้กับความเป็นลูกสาวของครอบครัวคนจีนอยู่ไม่น้อย

เพราะทั้งพี่สาวที่อายุมากกว่าสี่ปี และพี่ชายที่อายุมากกว่าสองปี ต่างมองว่าเธอยังเป็นเด็ก เป็นน้องคนสุดท้องที่ควรได้รับการปกป้องและดูแลเป็นพิเศษ ไม่ต่างจากผู้เป็นแม่ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปี แม่ยังคงมองว่าลูกสาวของเธอเป็นเด็กอยู่เสมอ

ศิรดา สื่อไพศาล: นักวาด Webtoon ผู้ขอเก็บเสน่ห์ตึกเก่าลงในนาม Siradasue ก่อนโลกทุนนิยมจะพรากทุกอย่างไป “โบว์มีพี่ ๆ เป็นไอดอลเลยนะอย่างพี่สาวเขาจะชอบทำกิจกรรม ตอนเรียนโบว์ก็จะเห็นว่าเขาทำงานในคณะกรรมการนักเรียน เป็นเด็กแลกเปลี่ยน เขาเก่งมาก เราอยากเก่งให้ได้แบบเขา ส่วนพี่ชายก็เก่งมากเหมือนกัน พี่เรียนเก่งมาก สามารถทำหลาย ๆ เรื่องที่เราทำไม่ได้ให้สำเร็จ พี่ทั้งสองเลยเป็นคนที่ทำให้โบว์เป็นโบว์เหมือนอย่างในทุกวันนี้

“มีครั้งหนึ่งที่รู้สึกซาบซึ้งมาก ตอนนั้นแม่ก็จะชอบเครียดกับโบว์ตลอดเวลา พูดกับพี่ชายในอีกห้องนึงว่า ‘มันจะไปรอดไหม’ ‘เป็นห่วงมัน’ โบว์ก็ยืนฟังอยู่อีกห้องหนึ่งอยากรู้ว่าพี่จะตอบแม่ยังไง รู้ไหมว่าพี่ชายโบว์เขาบอกว่า เขาดีใจนะที่โบว์ได้เขียนการ์ตูน ได้ทำในสิ่งที่เป็นความฝันของตัวเอง นั่นแหละทำให้เรารู้สึกว่าคนในครอบครัวมีความสุขในสิ่งที่เราทำ แค่นี้ก็ทำให้โบว์รู้สึกดีมากแล้ว”

ศิรดา สื่อไพศาล: นักวาด Webtoon ผู้ขอเก็บเสน่ห์ตึกเก่าลงในนาม Siradasue ก่อนโลกทุนนิยมจะพรากทุกอย่างไป

แต่โบว์ก็ยังคงเฆี่ยนตีตัวเองซ้ำ ๆ เธออยากเติบโต อยากดูแล อยากเป็นผู้ใหญ่ ไม่อยากให้คนที่บ้านมองว่าเธอเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง เธอจึงรับงานทุกอย่าง ทำทุกวิถีทางเพื่อบอกให้ที่บ้านรู้ว่า เธอเองก็โตพอจะดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่งแล้วเหมือนกัน เวลาส่วนใหญ่เธอจึงทุ่มไปกับงานจนหมด

“เรารู้สึกเสียใจทุกครั้งที่ถูกถึงช่วงเวลาที่หายไป บอกตรง ๆ ว่าทุกวันนี้ ได้เจอแม่อาทิตย์ละครั้งไม่เยอะเท่าเมื่อก่อน เพราะตอนนั้นเราวาดการ์ตูนอยู่บ้าน ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่นอกเมือง ก็จะได้เจอแม่ทุกวัน แต่ทุกวันนี้ เราทำงานเยอะขึ้น มีสตูดิโออยู่ในเมือง ก็ไม่ค่อยได้เจอแม่แล้ว อาจจะกลับบ้านอาทิตย์ละ 3-4 วัน แล้วที่เหลือก็อยู่สตูดิโอ

“เราเห็นแม่แก่ลงทุกวัน ถ้าเกิดว่าเราไม่ได้ใช้เวลาระหว่างนี้ร่วมกับเขา วันนึงเขาอาจจะไม่มีแรงไปไหนมาไหนกับเราอีกแล้ว”

สามารถติดตามผลงานของเธอผ่านช่องทาง Facebook, Instagram และ X (Twitter) : Siradasue

 

เรื่อง: วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ: Siradasue