23 ก.ย. 2567 | 12:10 น.
“โลกไม่ได้ให้รางวัลแก่ทุกคนที่พยายาม อย่างที่ใครเขาสัญญาและขายฝัน”
‘สวัสดีวันจันทร์’ สัปดาห์นี้ เป็นประโยคโดน ๆ ที่มาจาก ‘พิชญา โชนะโต’ กราฟฟิกดีไซเนอร์ และคอลัมนิสต์ผู้สนุกสนานกับการขุดค้นสำรวจโลกอินเทอร์เน็ต ปรากฏการณ์และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ที่เขียนไว้ในหนังสือ ‘NO HURRY, NO WORRY ขออภัย แต่ไม่ต้องรีบ’ ของสำนักพิมพ์ broccoli
ใน Chapter 1 ของหนังสือเล่มนี้ เริ่มต้นด้วยการโยนคำถามที่ทำให้เรานั่งจมอยู่กับความคิดอยู่นานก่อนจะเปิดอ่านหน้าถัดไป คำถามที่ว่านั้นคือ “ทำไมอดทนขยันตลอดไป แล้วยังไม่สุขสบายอีกล่ะ?”
เจอคำถามนี้อาการ flashback ฉากความทรงจำของการทำงานเกือบ 20 ปี ก็ถาโถมเข้ามาในหัวเราแบบไม่ทันตั้งตัว แถมยังทำให้นึกถึงคนอีกจำนวนมาก ที่ทำงานมานานกว่าเราหลายสิบปี และหลายต่อหลายชีวิตที่งานหนักหนาสาหัสกว่าเรามากนัก แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปาก และพาครอบครัวพ้นเส้นความยากจนได้
คนเหล่านี้ มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกตราหน้าว่า “ยังพยายามไม่มากพอ” หรือถ้าให้พูดแบบมีความหวังสักหน่อยก็คงจะเป็นประโยคประมาณว่า “จังหวะเวลาที่ชีวิตจะสุขสบายนั้นยังมาไม่ถึง” นั่นจึงทำให้พวกเขามุ่งมั่นทำงานหนัก พาลรู้สึกผิดเวลาที่ตัวเองไม่ได้ทำงาน ต้องทำตัวให้ดูไม่ว่างตลอดเวลา ด้วยความเชื่อที่ว่าวิธีการนี้จะพลิกชะตาชีวิตตัวเองจากลำบากยากเข็ญไปสู่ชีวิตที่สุขสบายได้ในอนาคต
ทว่าในหนังสือ ‘NO HURRY, NO WORRY ขออภัย แต่ไม่ต้องรีบ’ ได้มีการหยิบยกแนวคิดของ ‘แดเนียล มาร์โควิตซ์’ เจ้าของหนังสือ ‘Meritocracy Trap’ ที่ว่า “กับดักของความเชื่อมั่นใน Meritocracy อย่าง หากฉันทำได้ เธอก็ต้องทำได้ เพียงแค่ขยันอดทน มีความเพียร ฝึกฝนทักษะ ได้ละเลยความเป็นจริงที่ว่าโลกกำลังวิ่งไปด้วยระบบที่เอื้อผลประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มเท่านั้น”
นั่นหมายความว่า ต่อให้บางคนมีสมองที่เหนือกว่าคนอื่น มีทักษะที่ล้นเหลือ และมีความพยายามที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าใคร บางครั้งคนเหล่านี้ก็ต้องพ่ายให้กับ ‘โชคชะตา’ อีกทั้งการเชื่อมั่นว่าเราต้องทำงานให้หนัก ขยันและเสียสละ เพื่อคว้าความสำเร็จมาครองให้ได้นั้น ด้านหนึ่งอาจเป็นการลดศักดิ์ศรีของคนที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน และกดดันพวกเขาว่ายังไม่ดีพอ หรือไม่พยายามมากพอ จึงมิอาจคว้าความสำเร็จมาได้
กลายเป็นว่าใน ‘โลกทุนนิยม’ เราทุกคนล้วนถูกทำให้เชื่อสนิทใจว่า หากเราควบคุมตัวเองให้ขยันขันแข็ง ตั้งใจ และอดทนมากพอ เราจะได้รับรางวัลเป็นความสำเร็จที่แสนหอมหวานในท้ายที่สุด ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนต่างเกิดมาพร้อมความได้เปรียบเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันสักคน และความทดอดและอดทนต่อผลลัพธ์ระยะสั้น-ระยะยาว ของแต่ละคน ก็ไม่มีทางเท่ากัน
‘พิชญา โชนะโต’ ได้หยิบยกคำพูดของ ‘รานิตา เรย์’ ที่กล่าวในหนังสือ ‘The Making of a Teenage Service Class: Poverty and Mobility in an America City’ ว่า “เหตุผลที่คนจนมักมีความสุขกับรางวัลระยะสั้น อาจเป็นเพราะเขาไม่มีโอกาสได้รับประสบการณ์การเห็นผลรางวัลจากการรอระยะยาว”
เห็นได้จากการที่พ่อแม่ที่มีฐานะร่ำรวยมักจะสอนให้ลูก “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” พวกเขามักทำให้ลูกเชื่อใจว่า หากรอเวลาที่เหมาะสม ลูก ๆ จะได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการทำงานหนักหรือการลงทุนจะนำพาชีวิตไปสู่ความมั่งคั่งสุขสบาย ในขณะที่พ่อแม่ที่ยากจนจะไม่มีหลักประกันให้แก่ลูก ๆ เลยว่า วันหน้าจะมีกินมีใช้หรือไม่ หรือแม้แต่ว่าจะมีอาหารกินในมื้อต่อ ๆ ไปหรือเปล่า นั่นจึงไม่แปลกที่ครอบครัวที่มีฐานะแร้นแค้นจะปลอบประโลมกันด้วยรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้เกิดความสุขที่ฉับพลันทันใด มากกว่ารางวัลที่ต้องแลกมาด้วยความขยันมุ่งมั่นและรอคอย ซึ่งหลายครั้งแทนที่จะได้เป็น ‘รางวัล’ ก็กลับได้รับเพียง ‘ความผิดหวัง’ กลับมา
ดังนั้น ก่อนที่เราจะแนะนำให้ใครสู้ไม่ถอยกับความยากลำบาก ต้องพยายามให้มาก ๆ หรืออดทนรอเวลา เราจำเป็นต้องมองให้เห็นถึงความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจและสังคม สภาพการเมืองและเศรษฐกิจ ความโหดร้ายของโลกการทำงาน และรายละเอียดปลีกย่อยของบุคคลนั้น ๆ ด้วย
เพราะบางครั้งแล้ว คนเหล่านั้นอาจผ่านความพยายามมานับครั้งไม่ถ้วนโดยที่เราไม่รู้ไม่เห็น แต่ก็ดังเช่นประโยคปิดท้ายใน Chapter 1 ของหนังสือ ‘NO HURRY, NO WORRY ขออภัย แต่ไม่ต้องรีบ’ ได้กล่าวเอาไว้…
“โลกไม่ได้ให้รางวัลแก่ทุกคนที่พยายามอย่างที่ใครเขาสัญญาและขายฝัน อย่าลืมว่าไม่ใช่แค่คนที่สำเร็จที่พยายาม คนที่ล้มเหลวก็พยายามเหมือนกัน…”
ทั้งหมดนี้ไม่ได้เขียนให้ทุกคนท้อถอยนะคะ แค่อยากเป็นกำลังใจว่า บางเรื่องฝืนไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ปล่อยวางอะไรที่หนักอึ้งลง ให้เวลาตัวเองได้อยู่กับใจที่เบาสบายบ้างก็ได้
สวัสดีวันจันทร์ค่ะ
พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ: Pexels