“การลาออก ต้องลาออกก่อน 1 เดือน“ ไม่จริงเสมอไป!!!

“การลาออก ต้องลาออกก่อน 1 เดือน“  ไม่จริงเสมอไป!!!

ว่าด้วยเรื่อง ‘การลาออก’ ตามกฎหมาย ที่ไม่จำเป็นต้องรอ 1 เดือน เพราะการลาออกไม่จำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้า และสิ้นสุดลงเมื่อจบสัญญาจ้าง

KEY

POINTS

  • การแจ้งแสดงเจตนาขอเลิกสัญญาจ้างแรงงานหรือลาออกของลูกจ้าง ไม่จำต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างแต่อย่างใด
  • จริง ๆ แล้ว ถ้าเราจะลาออก ไม่ต้องรอ 1 เดือน เราออกได้เลย
  • เพราะตามกฎหมายระบุว่า “สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า”

ลูกจ้าง ตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อจะลาออกจากงาน ต้องลาออกล่วงหน้า 30 วัน นี่เป็นระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติตามนี้จริงๆ  หรือเป็นสิ่งรับรู้ที่แค่บอกต่อๆ กันมา

แล้วที่ถูกต้องคืออย่างไร?

เรามาเริ่มกันแบบนี้ว่า การเลิกสัญญาจ้างนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บัญญัติไว้ ในมาตรา 17 และมาตรา 17/1 คือ

มาตรา 17  “สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา  นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ  ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราว หนึ่งคราวใด  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้   แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกิน 3 เดือน  ทั้งนี้ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย

การบอกเลิก สัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้

การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้  ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

มาตรา 17/1 “ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบตามมาตรา 17 วรรคสอง  ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับ นับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผลตามมาตรา 17 วรรคสอง โดยให้จ่ายในวันที่ลูกจ้างออกจากงาน

จากบทบัญญัติข้างต้นนั้น ว่ากันโดยหลัก คือ การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการบอกเลิกสัญญาจากฝ่ายใด จะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่กัน เพื่อไม่ให้เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยกะทันหันแบบไม่ทันตั้งตัว

โดยกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายลูกจ้างหรือฝ่ายนายจ้าง  หากจะเลิกสัญญาจ้างให้บอกกล่าวล่วงหน้า อย่างน้อย 1 รอบของการจ่ายค่าจ้าง เพื่อให้มีผล(การลาออก) ในคราวจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป

ถ้าเป็นฝ่ายลูกจ้าง ขอเลิกสัญญาจ้าง เรียกกันว่า “ลาออก” 

ส่วนถ้าฝ่ายนายจ้างเป็นฝ่ายแจ้งเลิกสัญญาจ้างแก่ลูกจ้าง อาจเรียกว่า “เลิกจ้าง” หรือ อาจเรียกว่า “ให้ออก” หรือ “ไล่ออก”

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายแจ้งเลิกสัญญาจ้าง กฎหมายบัญญัติว่า อาจแจ้งเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 รอบของการจ่ายค่าจ้าง

เช่น  กำหนดการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างกันเป็นรายเดือน  คือ เงินเดือนออกทุกวันสิ้นเดือน  การแจ้งเลิกสัญญาจ้างนั้นเช่น ถ้าลูกจ้างประสงค์จะลาออกก็จะต้องแจ้งลาออก   ก่อนหรืออย่างช้าที่สุดในวันเงินเดือนออกคราวนี้ เพื่อให้การลาออกนั้นมีผลในรอบเงินเดือนออกหรือวันเงินเดือนออกคราวถัดไป   หลักๆ อยู่ตรงนี้เลย !!

ตัวอย่าง บริษัท A ได้กำหนดเงินเดือนออกทุกวันสิ้นเดือน ลูกจ้างบริษัทนี้ ต้องการลาออกให้มีผล 31 ตุลาคม (คือฉันจะกำหนดวันทำงานวันสุดท้าย 31 ตุลาคม  ส่วนว่า ก่อน 31 ตุลาคม จะลาพักร้อน ลาอะไรก็ว่าไป เรียกว่าจะไม่ทำงานแล้ว เพราะได้งานใหม่เริ่ม 1 พฤศจิกายน) กฎหมายกำหนดว่า ต้องแจ้งลาออก ก่อนหรืออย่างช้าภายในวันที่ 30 กันยายน

แต่ถ้ากำหนดเงินเดือนออกทุก 15 วัน การลาออกก็บอกล่วงหน้า อย่างน้อย 15 วัน

เช่น  ต้องการลาออกให้มีผล 31 ตุลาคม กรณีนี้ ต้องแจ้งหรือยื่นใบลาออก ก่อนวันที่ 15 ตุลาคม  

ฉะนั้น ที่ว่าการลาออก ต้องลาออกก่อน 30 วัน จึงไม่เป็นจริงเสมอไป  ขึ้นกับว่า รอบการจ่ายเงินเดือนเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ หากมีข้อกำหนดของบริษัทไว้เป็นการเฉพาะ เช่น บริษัทนี้จ่ายเงินทุกสิ้นเดือน (รอบการจ่าย 30 วัน)  แต่มีข้อบังคับบริษัทว่า พนักงานที่ต้องการลาออก ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน

กรณีนี้ หากพนักงานยึดตามกฎหมายแรงงานเป็นหลัก คือบอกกล่าวก่อนเงินเดือนออก เพื่อให้การลาออกมีผลในรอบเงินเดือนออกรอบถัดไป คือบอกล่วงหน้าแค่ 30 วัน หรือมากกว่า 30 แต่ไม่ถูกระเบียบบริษัทที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน

กรณีนี้การลาออกของพนักงานคนนี้ ถูกต้องแล้ว

เพราะระยะเวลาการแจ้งการลาออก กฎหมายคำนวณมาแล้วว่าเวลาเท่านี้สมเหตุสมผลดีแล้ว

 

มาถึงอีกคำถามคือ การลาออกด้วยวาจาทำได้หรือไม่?

แม้กฎหมายจะบัญญัติว่า “อาจบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ”  กฎหมายใช้คำว่า “อาจ” ซึ่งแปลความได้ว่า ไม่ได้บังคับว่า จะต้องแจ้งเป็นหนังสือเท่านั้น แต่การบอกเลิกสัญญาจ้าง สามารถบอกกล่าวด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ 

ดังนั้น กรณีนายจ้างประสงค์จะเลิกสัญญาจ้างหรือลูกจ้างประสงค์จะลาออก ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถจะยื่นหนังสือแจ้งเลิกจ้าง หรือแจ้งด้วยวาจาก็ได้

ที่สำคัญอันต้องรับรู้ไว้ประการหนึ่ง คือ การแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างหรือลาออกนั้น  เมื่อได้แสดงไปแล้ว ไม่ว่าด้วยหนังสือ หรือ ด้วยวาจาก็ตาม ผู้แสดงเจตนาไม่อาจถอนการแสดงเจตนานั้นได้ คือแสดงเจตนาไปแล้วจะเปลี่ยนใจไม่ได้  เว้นแต่ อีกฝ่ายจะเออออห่อหมกตกลงด้วย  ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 บัญญัติไว้ว่า

“ ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง  

การแสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่”

สมมุติว่า ทางฝ่ายนายจ้างแสดงเจตนาต่อลูกจ้างแล้ว โดยแจ้งเลิกจ้างอาจจะด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือแล้ว นายจ้างก็หาอาจจะถอนการแสดงเจตนาเป็นไม่เลิกจ้างแล้วได้ไม่  เว้นแต่ลูกจ้างจะตกลงด้วย (นั่นคือบอกเลิกจ้างแล้ว จะเปลี่ยนใจไม่ได้ เว้นแต่อีกฝ่ายจะตกลงด้วย)

อีกประการที่สำคัญคือ การแจ้งแสดงเจตนาขอเลิกสัญญาจ้างแรงงานหรือลาออกของลูกจ้างนั้น ไม่จำต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามในกรณีที่การแจ้งลาออกหรือขอเลิกสัญญาจ้างนั้น หากทางฝ่ายลูกจ้าง ไม่ได้ปฏิบัติให้สอดคล้องกับที่กฎหมายบัญญัติ เช่น ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าแก่นายจ้างก่อนหรือในวันกำหนดจ่ายเงินเดือนงวดใดงวดหนึ่งเพื่อให้มีผลเป็นการลาออกในวันจ่ายเงินเดือนงวดถัดไป

คือแจ้งเรื่องลาออกไปทันทีทันใด  ยื่นใบลาหรือแจ้งลาออกวันนี้ หรือสองวันล่วงหน้า หรือเพียงสัปดาห์เดียวแล้วออกจากงานไปเลย  หากการกระทำเช่นนั้นก่อให้เกิดความเสียกายแก่นายจ้าง นายจ้างอาจเรียกเอาค่าเสียหายได้

(นายจ้างเสียหายอย่างไร ต้องพิสูจน์มา  เช่นนายจ้างพิสูจน์มาว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างไร อาทิ ส่งของไม่ทัน หาคนมาทำแทนไม่ทันโดนลูกค้าเลิกสัญญา ของสดเน่าเสียเพราะไม่มีคนดูแล หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่มีคนดูแลต่อจนเกิดความเสียหาย เป็นต้น )

 

ส่วนทางฝ่ายนายจ้างนั้น หากว่า ไม่ได้แจ้งเลิกจ้างตามกำหนดตามที่มาตรา 17 วรรคสองว่าไว้ว่า “ อาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือ ให้ลูกจ้างทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า” แล้ว มีบทบัญญัติมาตรา 17 วรรคสาม กำหนดไว้ว่า นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีไปได้เลย ทั้งยังมีบทบัญญัติในมาตรา 17/1 สำทับไว้อีกทีว่า  ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบตามมาตรา 17 วรรคสองให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับนับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผลตามมาตรา 17 วรรคสอง โดยให้จ่ายในวันที่ลูกให้ลูกจ้างออกจากงาน

นี่คือเข้าใจง่ายๆ คือส่วนที่เรียกกันติดปากว่า “ค่าตกใจ”

คือ หากฝ่ายนายจ้างเป็นผู้บอกเลิกสัญญาจ้างเอากับลูกจ้างโดยไม่ได้บอกล่วงหน้าก่อนหรือในวันจ่ายเงินค่าจ้างงวดนี้ เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในคราวจ่ายเงินเดือนงวดหน้า นายจ้างจะต้องจ่ายค่าตกใจ หรือ “สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า” แก่ลูกจ้างด้วย นอกเหนือไปจากเงินอื่นๆ เช่น ค่าชดเชยจากการเลิกจ้างที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามมาตรา 118 กำหนด เมื่อแจ้งเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด

**กล่าวโดยสรุป เกี่ยวกับการเลิกสัญญาจ้าง ไม่ว่าจากฝ่ายไหน  อาจแจ้งเลิกด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ให้อีกฝ่ายทราบ โดยควรแจ้งล่วงหน้าก่อนหรือในวันจ่ายค่าจ้างเพื่อให้มีผลเป็นการบอกสัญญากันในคราวจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป

แต่ก็มีบางกรณี  แม้มีกำหนดเวลาต้องแจ้งล่วงหน้ากัน 15 วัน 30 วัน ไว้แบบนี้ หากลูกจ้าง นายจ้าง ตกลงกันได้ว่า ขอลาออกภายใน 3 วัน 7 วัน นี้เลยละกัน (เพราะเบื่อกันเต็มทีแล้ว)   ก็สามารถทำได้ เพราะเป็นการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย และข้อตกลงนี้ไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  ข้อตกลงนี้ย่อมใช้บังคับได้ คือตกลงกันได้นั่นเอง