'ธิติ ศรีนวล' และ 'สุรเดช ทวีแสงกุลไทย' คนทำหนัง สร้างเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

'ธิติ ศรีนวล' และ 'สุรเดช ทวีแสงกุลไทย' คนทำหนัง สร้างเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

คุยกับ ‘ต้องเต - ธิติ ศรีนวล’ และ ‘เฮียจิง - สุรเดช ทวีแสงกุลไทย’ ลูกหลานชาวอีสาน ผู้เข้ามาร่วมกันผลักดันให้ภาพยนตร์อันมีอัตลักษณ์อันโดดเด่นให้โลดแล่นในสายตาชาวโลก ครั้งนี้พวกเขาได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น ในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา

“ผมคิดว่าคนอีสานไม่ว่าอยากจะทำอะไร พวกเขาจะต้องทำให้ได้ขอแค่ยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาจะสู้จนประสบความสำเร็จ”

‘ต้องเต - ธิติ ศรีนวล’ ผู้กำกับภาพยนตร์สัปเหร่อ (2023) หนังไทยที่สามารถทุบสถิติรายได้พันล้านในรอบสิบปี โดยชูอัตลักษณ์อีสานขึ้นมาอย่างโดดเด่น จนสร้างความประทับใจให้คนทั่วโลก ธิติเป็นลูกหลานชาวอีสาน เกิดและโตที่จังหวัดร้อยเอ็ด ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในการแสดงภาพยนตร์ผู้บ่าวไทบ้าน แต่เพราะความหลงใหลในศาสตร์การทำหนัง เขาจึงไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่การแสดงเท่านั้น ยังทำหน้าที่กำกับ เขียนบท ตัดต่อ และทำซาวนด์สกอร์หนังเองอีกด้วย

การประสบความสำเร็จในฐานะผู้กำกับหนัง ไม่ได้ทำให้ธิติลืมรากความเป็นอีสาน ซึ่งได้หล่อหลอมเขาให้เป็นเขามาจนถึงทุกวันนี้ ธิติจึงตัดสินใจกลับบ้านมาผลักดันศักยภาพและเปิดโอกาสอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีสานให้เติบโตไปอีกขั้น โดยครั้งนี้ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น ในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ (Isan Creative Festival 2024) หรือ ISANCF2024 ภายใต้ธีม ‘สะออนเด้’ Proud of Isan ชวนทุกคนกลับมาหาคำตอบในความเป็นอีสานที่ทุกคนต้อง ‘สะออน’ หรือ ‘ภาคภูมิใจ’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา หลังจากขานรับนโยบายรัฐบาล โดยมีสำนักงานขอนแก่นนำร่อง 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายซอฟต์พาวเวอร์ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมบันเทิง (ดนตรี และภาพยนตร์) และอุตสาหกรรมงานฝีมือและออกแบบ

นอกจากธิติแล้ว จะขาดบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันอีสานอย่างเข้มข้นมาโดยตลอดอย่าง ‘เฮียจิง - สุรเดช ทวีแสงกุลไทย’ ตัวแทนกองทุนหนังขอนแก่น (กลุ่มหนังเมืองแคน) ไปไม่ได้ เพราะชายคนนี้มักบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าอีสานมีศักยภาพกว่าที่คิด และเขานี่แหละคือผู้ทำให้เห็นภาพว่าการพัฒนาเมืองอย่างขอนแก่นให้ทัดเทียมนานาประเทศไม่ใช่เรื่องยาก จนออกมาเป็นขอนแก่นโมเดลให้หลายจังหวัดทั่วประเทศได้เดินตาม ถึงใครต่อใครจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เกินฝัน’ ก็ตาม

สุรเดชยังคงเชื่อเสมอว่าขอนแก่นสามารถก้าวเข้าสู่เมืองแห่งอนาคตได้ และมันจะไม่ใช่แค่ฝัน หรือฝันใหญ่ แต่เป็นโมเดลให้เห็นว่าขอนแก่นหรืออีสานที่หลายคนอาจยังติดภาพว่าทุรกันดาร หากหยิบจุดนี้ขึ้นมาใช้อย่างสร้างสรรค์เหมือนอย่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หนังอีสานก็สามารถครองใจคนดูทั่วโลกได้ไม่ยาก และสิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันอย่างยั่งยืน

และนี่คือบทสนทนาของ ‘ธิติ ศรีนวล’ และ ‘สุรเดช ทวีแสงกุลไทย’ สองหนุ่มต่างเจเนอเรชัน ผู้ภาคภูมิใจในสายเลือดอีสานไม่ต่างกัน 

\'ธิติ ศรีนวล\' และ \'สุรเดช ทวีแสงกุลไทย\' คนทำหนัง สร้างเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

อีสานความสบาย(ใจ)ที่ไม่เคยเปลี่ยน

“คำว่าอีสานมักมาคู่กับคำว่าแร้นแค้น อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้อยู่แล้ว” ธิติตอบหลังถูกถามว่าเมื่อนึกถึงอีสาน ชายในวัยเกือบสามสิบปีอย่างเขาจะนึกถึงอะไร 

“ผมรู้สึกว่าอีสานเขามีวิถีชีวิตที่อาจจะแตกต่างจากที่อื่น เป็นวิถีท้องถิ่นจริง ๆ มันจะดูเรียบง่าย ไม่ต้องเร่งรีบ ด้วยบริบทรอบข้างทำให้เราใช้ชีวิตสโลว์ ๆ ไม่ใช่ชีวิตที่ต้องก้าวกระโดดไปไกล และผมสบายใจที่จะใช้ชีวิตแบบนั้น เวลาไปที่อื่นเราจะคิดถึงอีสานที่มีวิถีชีวิตแบบนี้” 

ด้านสุรเดชเองก็เห็นด้วย พร้อมกล่าวเสริมว่า “จริง ๆ อีสานเราอยู่กับความทุรกันดาร ห่างไกล ยากจนก็จริง แต่เรายังมีความสุข คนอีสานเป็นคนซื่อตรง พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ นั่นคือคุณสมบัติของอีสาน”

คำตอบของสองหนุ่มต่างเจนฯ เป็นภาพสะท้อนชั้นดีว่า อีสานไม่เปลี่ยนไปเท่าไรนัก ขณะที่โลกเริ่มเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทแทบทุกหย่อมหญ้า แต่อีสานไม่ได้ไหลไปตามกระแส พวกเขาค่อย ๆ เปิดรับ เรียนรู้ทุกอย่างด้วยความอดทน วันนี้ความสู้ของพวกเขาก็ผลิดอกออกผล จนสามารถผลิตภาพยนตร์ระดับร้อยล้านพันล้านออกมาได้อย่างน่าทึ่ง และในอนาคตทั้งธิติและสุรเดชเองก็หวังจะเห็นหนังไทยไปไกลระดับโลกเช่นกัน

“อีกหนึ่งคุณสมบัติของคนอีสานคือ พวกเขาเปรียบได้กับฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ โดยฮาร์ดแวร์คือความทุรกันดาร ส่วนซอฟต์แวร์คือคนนี่แหละ ซึ่งพอผ่านมาจนถึงวันนี้อีสานเปลี่ยนไปเยอะในเรื่องของฮาร์ดแวร์ ส่วนซอฟต์แวร์ก็เริ่มเปลี่ยนเช่นกัน เราเห็นคนอีสานไปทำงานต่างประเทศเยอะขึ้น ไปเรียนในเมือง พอพวกเขากลับมาตรงนี้ก็เลยเปลี่ยนด้วย เรามีเด็กรุ่นใหม่กลับบ้านกันเยอะ แต่แผนของรัฐบาล ซึ่งก็คือฮาร์ดแวร์กลับไม่รองรับศักยภาพตรงนี้ รัฐบาลมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติก็จริง ถ้าดูจากฉบับที่ 12 กับ 13 รัฐบาลเขาไม่ได้คิดอะไรให้อีสานใหม่ เขาไม่ได้ดูศักยภาพของคนอีสาน”

‘เป็นแค่แผนเบ ๆ’ คือคำจำกัดความที่สุรเดชให้กับความพยายามของรัฐบาล เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงของอีสาน 

ธิติเห็นด้วย พร้อมกับยกตัวอย่างว่าหากอยากเห็นอีสานเปลี่ยนแปลง สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ คือ การหาคนที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจความเป็นอีสาน ไม่เช่นนั้นบ้านเกิดของพวกเขาคงย่ำอยู่กับที่ไม่พัฒนาไปไหนเสียที

“ถ้าให้ยกตัวอย่างจริง ๆ คือ เหมือนโรงเรียนหนึ่งที่เราอยากได้คนเก่งภาษา แต่โรงเรียนมีแต่ครูคณิตศาสตร์ มันก็เหมือนกับรัฐบาลที่เขาอยากพัฒนานะ แต่มันต้องมีคนที่รู้ตัวตนของเรา เข้าใจว่าคนอีสานเป็นแบบไหนจริง ๆ มันถึงจะพัฒนาไปกันได้ จะให้เอาครูคณิตมาสอนอังกฤษมันก็ไม่ได้ลึกขนาดนั้น ผมว่ามันคงได้แค่อะไรที่ผิวเผิน” 

“ฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแล้วว่าจะหยิบฉวยแผนสภาพัฒน์ หรือแม้แต่กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เอาขึ้นมาใช้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมานักการเมือง ข้าราชการ หรือรัฐมนตรีเองก็ดี เขาไม่ได้มองแผนระยะยาวเลย เขาทำแผนระยะสั้น แต่การพัฒนามันต้องต่อเนื่อง มันต้องไปในระยะยาว” สุรเดชให้ความเห็น ด้วยเหตุนี้เขาจึงออกมาขับเคลื่อนขอนแก่นผ่านกลุ่มหนังเมืองแคน เพราะอยากผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์อีสาน สามารถยืนหยัด พร้อมเปิดประตูประกาศความเท่ของอีสานให้เลื่องลือไปทั่วโลกเช่นกัน

\'ธิติ ศรีนวล\' และ \'สุรเดช ทวีแสงกุลไทย\' คนทำหนัง สร้างเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

หนังอีสาน เอกลักษณ์ที่หาใครเปรียบได้ยาก

กลุ่มหนังเมืองแคนเกิดขึ้นราวสิบปีก่อน โดยมี รศ. ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ริเริ่ม ส่วนหนึ่งเพราะความรักในภาพยนตร์ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาเห็นว่าหนังอีสานก็น่าสนใจไม่แพ้ชาติใด จากการรวมตัวเล็ก ๆ ขยายใหญ่ขึ้นจนสามารถจัดเทศกาลหนังเมืองแคน ดึงกลุ่มผู้มีความสนใจมาร่วมงานได้อย่างคับคั่ง 

\'ธิติ ศรีนวล\' และ \'สุรเดช ทวีแสงกุลไทย\' คนทำหนัง สร้างเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

สุรเดชในฐานะตัวแทนกองทุนหนังขอนแก่นเห็นมาโดยตลอดว่าขอนแก่นนั้นแตกต่าง การจะสร้างหนังสักเรื่องบอกเล่าความเป็นอีสานจึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การทำ แต่การจะผลิตหนังย่อมต้องมีต้นทุน เขาจึงก่อตั้งกองทุนสำหรับอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ 

“ต้องบอกก่อนว่างานที่ทำเป็นลักษณะการทำร่วมกัน 3 ก้อน เราทำเป็น ecosystem ของกองทุนเมือง โดยจะมีการอบรมหนังระยะสั้น นำมาสู่เทศกาลหนังเมืองแคน ส่วนทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็จะมีหลักสูตรการอบรมระยะยาว ซึ่งกองทุนมีหน้าที่สร้างหนังใหญ่ปีละครั้ง พอ 3 ก้อนนี้รวมกันเราก็จะเห็นระบบนิเวศนี้เกิดขึ้นจริง”

สุรเดชอธิบายเพิ่มเติมว่าการมีกองทุนทำให้คนกล้าฝัน กล้าใช้ความคิดสร้างสรรค์ และกล้าลงสนามแข่งขันเพื่อให้งานศิลปะชิ้นนี้ประทับอยู่ในความทรงจำของผู้ชม

แน่นอนว่าหากมีการทำหนัง เศรษฐกิจท้องถิ่นย่อมได้รับประโยชน์ตามไปด้วย ตั้งแต่ใช้โลเคชั่นถ่ายทำ ที่พัก ไปจนถึงวัฒนธรรมการกินดื่ม รวมถึงประเพณีท้องถิ่น แน่นอนว่า ‘คน’ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะมีโอกาสได้แสดงความสามารถผ่านหน้ากล้องเช่นกัน ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลดีต่อชาวบ้านอย่างยิ่ง

และในปี 2024 ภาพยนตร์เรื่องแรก ‘4 ขมัง’ จากกองทุนหนังก็ปิดกล้องลงเป็นที่เรียบร้อย หากประสบความสำเร็จ พวกเขาจะมีเงินทุนต่อยอดสร้างหนังเรื่องใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ ควบคู่กับการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ของขอนแก่นไปพร้อมกัน

ส่วนธิติ ชายหนุ่มผู้คลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาโดยตลอด ได้ให้ความเห็นถึงการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์เอาไว้ว่า เขายังมองไม่เห็นโอกาสที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยพัฒนาเท่าไรนัก จึงไม่แปลกที่คนทำหนังต้องพยายามหาเงินทุนด้วยตัวเอง “ผมคิดว่าถ้าเรามีการพูดคุยกันมากกว่านี้ เราคงเห็นโอกาสนั้น”

“อีกอย่างการทำหนังมันเป็นกระแสเร็ว รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เข้ามาในขั้นตอนฉายไปแล้ว พวกเขาต้องสนับสนุนตั้งแต่เริ่มเรื่อง ตั้งแต่เขียนบท ตั้งแต่โครงสร้าง มันถึงจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาร่วมกันได้” 

ธิติยกตัวอย่าง สัปเหร่อ ภาพยนตร์ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหนังไทยไม่ได้ด้อยกว่าใคร และคนไทยเองก็พร้อมสนับสนุนอยู่เสมอ

“สัปเหร่อไม่ได้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ยังไงเลยนะ มันไม่ได้ส่งเสริมอะไรตามบัญญัติอักษรที่เขานิยาม แต่สิ่งที่มันเป็นซอฟต์พาวเวอร์จริง ๆ มันคือหนังที่เป็นกระแสในยุคโควิด-19 ที่ผ่านมา ยุคที่คนไม่ได้รวมตัวกันเหมือนเดิม ไม่ได้เข้าโรง มีสตรีมมิ่ง แพลตฟอร์มเยอะแยะมากมายให้ดู แต่คนเขาก็เลือกซื้อตั๋วมาดูสัปเหร่อ

“ฉะนั้นสัปเหร่อคือหนังเรื่องหนึ่งที่ทำให้คนเชื่อมั่นว่าหนังไทยยังดูได้อยู่ มันคือความเชื่อมั่นที่ทำให้คนไทยกลับมาเข้าโรงและสนับสนุนหนังไทยเยอะขึ้น นี่คือซอฟต์พาวเวอร์สำหรับผม”

\'ธิติ ศรีนวล\' และ \'สุรเดช ทวีแสงกุลไทย\' คนทำหนัง สร้างเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

อีสานสู่สากล

“การจะแตะระดับสากลไม่ใช่เรื่องยากเลย เราแค่ต้องเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร” ธิติตอบ ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าหนังอีสานนี่แหละที่จะทำให้การก้าวสู่สากลไม่ได้เป็นเพียงความฝันลม ๆ แล้ง ๆ แม้ว่าช่วงแรกที่เริ่มกำกับจะคิดอยู่เสมอว่าการพาหนังไปต่างประเทศนั้นดูไกลเกินกว่าความเป็นจริงก็ตาม

“ตอนทำหนังแรก ๆ ผมรู้สึกว่าการไปตลาดโลกนั้นยาก เพราะความเฉพาะของเราสูง เราเลยวางเป้าหมายว่าเป็นกระแสในไทยก็พอ แต่พอเราเริ่มลงมือ เราไม่ได้มองแค่ไทยแล้ว เริ่มเห็นว่าควรพัฒนาตรงไหน เริ่มหาว่าคนแต่ละประเทศชอบอะไร แล้วก็พบว่า เฮ้ย! หนังอีสานเรานี่แหละที่ไปได้ เรามีความเฉพาะ ซึ่งความเฉพาะมันเป็นความได้เปรียบด้วยซ้ำ”

ออสการ์ คืออีกหนึ่งฝันที่ธิติอยากทำให้สำเร็จ การวางเป้าหมายให้ใหญ่เข้าไว้ นั่นแหละคือสิ่งที่ผู้กำกับหนังอย่างเขาจะต้องก้าวไปถึงในสักวันหนึ่ง

ภาพ : Facebook - Taibaan 

“มันมีคำหนึ่งที่ผมมองว่า การทำหนังสักเรื่องมันคืองานศิลปะ ฉะนั้นศิลปะไม่มีผิดไม่มีถูก มีแค่ชอบไม่ชอบ แล้วคุณจะทำให้คนชอบหรือไม่ชอบได้มากแค่ไหน ผมเลยสนุกกับมัน บางงานผมทำแรก ๆ อาจจะไม่ชอบด้วยซ้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วย้อนกลับมาดู ก็รู้สึกชอบมันทีหลังก็มี นี่แหละคือเสน่ห์ของการทำหนัง”

ด้านสุรเดชมองว่าการก้าวเข้าสู่สากลได้นั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น เองก็เข้ามาส่งเสริมและทำให้ความเป็นอีสานโดดเด่นกว่าในอดีตที่ผ่านมา 

“เขาทำให้ทุกคนเห็นช้างทั้งตัวของอีสาน พอมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น เข้ามา เราเห็นเลยว่าสิ่งที่อยากทำไม่จำเป็นต้องเข้ากรุงเทพฯ เพื่อให้ได้รับโอกาสนั้นเพียงอย่างเดียว พอมาจัดที่ขอนแก่น เห็นชัดเลยว่าอีสานเราไม่ได้ต่างจากกรุงเทพฯ เลย เกิดเป็นการประสานงาน เกิดความร่วมมือ เกิดเป็นโปรดักต์ใหม่ ๆ เยอะแยะมากมาย

“ผมคิดว่านี่แหละคือความสร้างสรรค์ อย่างหมอลำก็ถูกพูดถึงมากขึ้น เรื่องหนังเนี่ยผมว่าเราต้องช่วยกัน โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเป็นคนทำให้เห็นภาพเหล่านั้น ยกตัวอย่าง ถ้าจะให้อธิบายช้างหนึ่งตัวให้คนเข้าใจโดยที่เขาหลับตาหรือไม่รู้จักช้างมาก่อนเลยในชีวิต งานของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น คือทำให้ทุกคนเห็นช้างทั้งตัวของงานสร้างสรรค์ เมื่อเห็นภาพตรงกัน เมื่อนั้นงานสร้างสรรค์ก็จะก้าวต่อไปได้”

การเข้ามาของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์สร้างแรงกระเพื่อมอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้คนอีสานเห็นโอกาส มีความหวัง และภาคภูมิใจในสายเลือดของตน ที่สำคัญคือพวกเขาไม่รู้สึกถูกด้อยค่าหรือลดทอนคุณค่าความเป็นอีสานอีกต่อไป

\'ธิติ ศรีนวล\' และ \'สุรเดช ทวีแสงกุลไทย\' คนทำหนัง สร้างเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

“คนอีสานสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยรุ่นผมนะ รุ่นผมตอนเด็ก ๆ เขาจะอายที่เป็นคนอีสาน แต่ปัจจุบันอีสานคือความภาคภูมิใจ เราเห็นคนพูดภาษาอีสานกันเป็นปกติ อย่างคำว่า ‘อิหยังวะ’ เขาพูดกันจนเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้ด้อยค่าถิ่นกำเนิดของตัวเราเองอีกแล้ว”

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอีสานคงไม่ได้ร่วงหล่นลงมาจากฟ้า หากแต่เป็นความพยายามจากทุกฝ่าย ตั้งแต่คนท้องถิ่น ภาครัฐ ไปจนถึงภาคเอกชน ทุกคนต่างเป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน และดูเหมือนว่าการเข้ามาของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น จะทำให้คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งคลื่นลูกนี้จะช่วยให้เห็นว่าอีสานนั้นช่างเท่เสียเหลือเกิน