แนะ 3 ทักษะสำคัญที่ Gen Z ต้องรู้ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดย ‘Rabbit Start’

แนะ 3 ทักษะสำคัญที่ Gen Z ต้องรู้ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดย ‘Rabbit Start’

‘ปาฏิหาริย์ ภาณุพรพงษ์’ ผู้ก่อตั้ง ‘Rabbit Start’ ธุรกิจที่เชื่อม ‘นักศึกษา’ กับ ‘องค์กร’ แนะ 3 ทักษะสำคัญที่ Gen Z ต้องรู้ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

  • ย้อนกลับไปในปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาด สปายเป็นเพียงนักศึกษาที่ยังไม่ได้สนใจการทำธุรกิจมากนัก กระทั่งเขามีโอกาสดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง ‘Start Up’ จึงเกิดแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจขึ้น 
  • หลังจากได้คลุกคลีทำงานกับนักศึกษาและองค์กรต่าง ๆ สปายได้สรุป 3 ทักษะที่สำคัญสำหรับนักศึกษาที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงาน Gen Z กำลังไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อย ๆ

Gen Z กำลังไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังจะกลายเป็นวัยที่มีบทบาทสำคัญต่อตลาดแรงงาน จึงไม่แปลกที่ระยะนี้ Gen Z จะถูกจับจ้องและถูกพูดถึงในหลายมิติ 

โดยเฉพาะในบรรดาคนวัยทำงาน 3 รุ่น ได้แก่ Baby Boomer, Gen X และ Gen Y ซึ่งบ้างก็มองว่า Gen Z ชอบทำตัวเรื่องเยอะ ลาออกบ่อย เรียกร้องสิทธิมากไป ฯลฯ 

ในขณะที่คนทำงานวัยอื่นพยายามหาวิธีดีลกับ Gen Z อย่างมีประสิทธิภาพ คน Gen Z เองก็กำลังค้นหางานที่เหมาะสมกับตัวเอง จึงเป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจที่พยายามเชื่อมระหว่าง ‘องค์กร’ ต่าง ๆ กับคน Gen Z 

นี่คือที่มาของ ‘Rabbit Start’ ซึ่งก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่อย่าง ‘สปาย’ ปาฏิหาริย์ ภาณุพรพงษ์

กว่าจะมาเป็น ‘Rabbit Start’ 

ย้อนกลับไปในปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาด สปายเป็นเพียงนักศึกษาที่ยังไม่ได้สนใจการทำธุรกิจมากนัก กระทั่งเขามีโอกาสดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง ‘Start Up’ จึงเกิดแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจขึ้น 

หลังจากนั้นเขาก็เดินหน้าล่ารางวัลในการประกวดโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพทั้ง ‘Start Up Thailand League 2021’ รวมถึง ‘HACKaTHAILAND 2022’ ซึ่งสามารถทะลุเข้าไปได้ถึงรอบสุดท้าย

หลังได้เงินรางวัลจากการแข่งขัน สปายยังไม่ได้ทำ Rabbit Start ทันที แต่นำเงินไปลงทุนกับการพัฒนาแพลตฟอร์มแชร์ค่าแท็กซี่ ซึ่งท้ายที่สุดไปไม่ถึงฝัน 

“ปรากฏว่ามันเจ๊ง แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเงินที่เราใช้ลงทุนกับธุรกิจตัวนั้นเป็นเงินรางวัลที่ได้จากการแข่งขัน แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือประสบการณ์และความรู้” สปายเล่าความหลัง 

แต่ถึงกระนั้น เขายังคงคลุกคลีกับแวดวงสตาร์ทอัพ และไม่เคยทิ้งความฝันที่จะปั้นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จของตัวเอง

วันหนึ่งสปายก็ได้เข้าร่วมเป็นทีมงาน ‘สมาคมเยาวชนสตาร์ทอัพ’ (Young Entrepreneur Assembly Hub หรือ YEAH) ซึ่งเอื้อให้เขาได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่าง 

“พอเข้าไปเราก็ตื่นเต้น เราชอบสังคม ชอบสภาพแวดล้อมมาก มันคือจุดที่นักศึกษาหลายคน จากหลายมหาวิทยาลัย ต่างคณะ ต่างสาขา แบ็กกราวนด์ต่างกัน แต่ทุกคนล้วนเป็นคนที่มีเป้าหมาย อยากจะทำอะไรสักอย่าง แล้วเราชอบมากเพราะในนั้นไม่มีใครพูดว่าใครทำอะไรไม่ได้”

หลังจากโครงการสิ้นสุดลง สปายยังคงหวนคิดถึงบรรยากาศสร้างสรรค์ที่เขาได้เจอในสมาคม จึงอยากให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะที่อยู่นอกเมืองและต่างจังหวัด มีโอกาสเข้าถึงกิจกรรมดี ๆ ที่ได้ทั้งความรู้ แรงบันดาลใจ สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต อย่างที่เขาเคยเจอ

“ทำไมของพวกนี้ต้องมีอยู่แต่ในเมือง ทำไมทุกคนถึงมีไม่เท่ากัน เลยตั้งคำถามคุยกับเพื่อนที่เรียนอยู่ม.ขอนแก่นชื่อ ‘มาร์ค’ (Co-Founder Rabbit Start) ก็คุยกันว่าเราอยากให้อะไรแบบนี้กระจายไปทุก ๆ ที่ อยากให้เพื่อนเราหลาย ๆ คนที่เขาเก่ง ได้รู้ตัวว่าเขาสามารถทำอะไรได้ ไม่ได้”

สปายไม่รอช้า รวบรวมเพื่อน ๆ ที่เจอกันใน YEAH มาช่วยกันจัดตั้งโครงการที่ชื่อว่า ‘Rabbit Start’ ทำกิจกรรมให้ความรู้เพื่อพัฒนานักศึกษา เริ่มต้นที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ประมาณ 28 คน 

สำหรับสาเหตุที่ตั้งชื่อโครงการว่า Rabbit Start เนื่องจากในกลุ่มผู้จัดตั้งโครงการ หลายคนเกิดในปี 1999 ซึ่งตรงกับปี ‘กระต่าย’ อีกนัยหนึ่งก็เป็นการเปรียบเปรยกระต่ายเป็นคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมไอเดียใหม่ ๆ 

“เพราะกระต่ายมีภารกิจไปพระจันทร์อยู่แล้วไง Mission to the Moon เราก็เลยบอกว่า Rabbit Start เป็นองค์กรที่จะมาให้คำตอบว่าทำไมกระต่ายตัวหนึ่งจะต้องเดินทางไปดวงจันทร์ และจะเดินทางไปถึงดวงจันทร์อย่างไร”

Mission to the Moon ของ Rabbit Start

หลังจากจัดโครงการแรกผ่านพ้นไปด้วยดี ก็มีองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ติดต่อให้ไปจัดกิจกรรมให้ความรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่สปายตัดสินใจให้ Rabbit Start เป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การรับจัดงานพัฒนาเยาวชน นักศึกษาให้กับองค์กรต่าง ๆ และวิ่งหาสปอนเซอร์เพื่อจัดงานของตัวเอง ก่อนจะพัฒนามาสู่การจัดหานักศึกษาฝึกงานให้กับองค์กร เพื่อตอบโจทย์ที่หลายองค์กรประสบปัญหาเรื่องทรัพยากรบุคคล

“หลายองค์กรต้องเสียเงินกับการพัฒนาคนเก่า ๆ ในองค์กร เขาก็เลยอยากจะหาคนรุ่นใหม่มาเติมในองค์กรเขามากขึ้น เราเลยมาจับทางนี้ เริ่มทดลองจากองค์กรเล็ก ๆ จนกลายมาเป็น Service ใหม่ ทำเรื่อง Data นักศึกษาฝึกงาน”

งานหลัก ๆ ของ Rabbit Start คือการจัดกิจกรรมบ่มเพาะ ให้ความรู้กับนักศึกษา แล้วเก็บ Data นักศึกษาที่เข้าร่วม เน้นที่ขอบเขต 3 อย่างคือ Heart, Head และ Hand 

‘Heart’ (หัวใจ) คือการดูที่วิสัยทัศน์ และทัศนคติ, ‘Head’ (สมอง) คือการดูความรู้ความเข้าใจในสายงานที่สนใจ และสุดท้าย ‘Hand’ (มือ) ดูว่าประสบการณ์สอดคล้องกับงานที่นักศึกษาจะทำมากแค่ไหน

“หลังจากได้ Data นักศึกษาแล้วจึงนำมาประเมินกับเกณฑ์ของ Rabbit Start ซึ่งหากวัดเกณฑ์แล้วผ่าน สิ่งที่ทำต่อไปคือเก็บ Data จากลูกค้าว่าต้องการนักศึกษาแบบไหน Heart Head Hand แบบไหน แล้วเอามาทำเป็น Scoring Rubrics 1 - 10 คะแนน หลังจากนั้นก็ส่งเป็น Report Rankings ให้ลูกค้า”

ส่วนนักศึกษาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ทาง Rabbit Start จะนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ว่าควรจะจัดเวิร์กช็อปหรือกิจกรรมพัฒนานักศึกษาในเรื่องอะไรต่อไป

สามทักษะสำคัญในตลาดแรงงาน

หลังจากได้คลุกคลีทำงานกับนักศึกษาและองค์กรต่าง ๆ สปายสรุป 3 ทักษะที่สำคัญสำหรับนักศึกษาที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ดังนี้ 

1. ‘Identity Skill’ ทักษะในการทำความรู้จักตนเอง รู้ว่าตัวเองโดดเด่นในเรื่องอะไร อินกับเรื่องอะไร หรือมีเป้าหมายอะไร เพราะหากไม่มี Identity ที่ชัดเจน จะทำให้เสียสมาธิและประสบความสำเร็จได้ช้า จึงแนะนำนักศึกษาให้ควรมีเป้าหมายสักหนึ่งเรื่องที่ชัดเจน ถึงขั้นที่ ‘เมื่อคนนึกถึงเรื่องนั้น จะนึกถึงเรา’

2. ‘Adaptability Skill’ ทักษะในการนำสิ่งที่เป็นจุดเด่นของตัวเองมาปรับใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่นหากเราเป็นคนที่เก่งหรือโดดเด่นในการเล่าเรื่อง ต้องคิดให้ออกว่าจะเอาการเล่าเรื่องไปใช้กับงานต่าง ๆ ได้อย่างไร

3. ‘Agility Skill’ ทักษะในการปรับตัว เข้าสังคม ติดตามและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตและเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น 

สปายเน้นย้ำว่า อีกทักษะที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘ความเป็นมนุษย์’ 

“ทักษะเรื่องมนุษย์ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ออกไปเจอคนอื่นบ้าง การเข้าสังคม การไปหาคอนเนกชันก็สำคัญ เราต้องมีสิ่งนี้เป็นพื้นฐานก่อน แล้วอย่างอื่นก็จะตามมาเอง”

เขายังฝากถึงน้อง ๆ นักศึกษาที่กำลังหางาน ไว้อย่างน่าสนใจว่า 

“หลายคนมักจะมองว่าตัวเองเพิ่งจบ เพิ่งจะเริ่มงาน ทำไมหลายคนชอบถามว่าฉันมีประสบการณ์ไหม มันก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกองค์กรเขาก็มองแบบนั้น เขาต้องเลือกหนึ่งคนที่เขาต้องจ่ายเงินให้ มันเป็นเรื่องปกติที่เขาต้องเลือกคนที่มีประสบการณ์มากที่สุด

“การทดลองที่ดีที่สุดคือในช่วงที่คุณเรียนอยู่ คุณลองประเมินดูว่าเจ็บสุดของคุณคือแบบไหน ดีสุดของคุณคือแบบไหน แต่ละคนเจ็บไม่เท่ากัน ต้นทุนของคนเราก็ไม่เท่ากัน แต่ว่าอยากให้ออกมาท้าทายตัวเองดูเยอะ ๆ แล้ววันหนึ่งที่คุณออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย คุณจะขอบคุณที่ตัวเองได้ท้าทายมาตลอด”

 

เรื่อง : อารียา อวนอ่อน (The People Junior)