แอ๊ด - อี๊ด โอภากุล: ‘ทะเลใจ’ ใน ‘พฤษภาทมิฬ’

แอ๊ด - อี๊ด โอภากุล: ‘ทะเลใจ’ ใน ‘พฤษภาทมิฬ’

เพลงเพื่อชีวิตสุดคลาสสิก ‘ทะเลใจ’ จากอัลบั้ม ‘พฤษภา’ ถ่ายทอดความเจ็บปวดจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ผ่านบทเพลงแฝงปรัชญาชีวิตลึกซึ้ง

KEY

POINTS

  • เพลง ‘ทะเลใจ’ สื่อความรู้สึกและบาดแผลทางใจจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
  • ผลงานของ แอ๊ด - อี๊ด โอภากุล ถ่ายทอดความจริงและความหวังผ่านบทเพลงเพื่อชีวิต
  • อัลบั้ม ‘พฤษภา’ คือบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านเสียงเพลงที่ทรงพลังและไพเราะ

“คืนนั้นคืนไหน ใจเพ้อฝัน คืนและวันฝันไปไกลลิบโลก ดั่งนกน้อยลิ่วล่องลอยแรงลมโบก พออับโชคตกลงกลางทะเลใจ”

‘ทะเลใจ’ บทเพลงแนวดนตรีเพื่อชีวิตฟังสบายที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาชีวิตและคำเปรียบเปรยอุปมาโวหารอันลึกซึ้ง ที่ใครหลาย ๆ คนชื่นชอบ จนกลายเป็นเพลงในตำนานแห่งวงการเพลงเพื่อชีวิตมายาวนานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังคงได้ยินตามร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ และวงเหล้าในบรรยากาศแบบสหายสุรา

แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า เบื้องหลังที่มาของเพลงทะเลใจ ผลงานจากอัลบั้มพิเศษ ‘พฤษภา’ ของสองพี่น้องฝาแฝดศิลปินแห่งเมืองสุพรรณบุรี ‘อี๊ด’ – ยิ่งยง โอภากุล และ ‘แอ๊ด’ - ยืนยง โอภากุล (หรือ ‘แอ๊ด คาราบาว’) มีที่มาจากเหตุการณ์นองเลือดทางการเมืองไทย พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535
ทะเลใจ ใน พฤษภาทมิฬ

เสียงปืน จากทหารและตำรวจตระเวนชายแดนตามคำสั่งสลายการชุมนุมเพื่อควบคุมสถานการณ์ของรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 ไม่เพียงเป็นการสลายและทำลายการชุมนุมของฝูงชนที่ต่อต้านรัฐบาล แต่ยังอาจสลายและทำลายมิตรภาพของคน จากที่เคยรักใคร่ชอบพอกัน ก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นความผิดหวังและชิงชัง ราวกับว่าชีวิตนี้จะไม่มีมิตรแท้ที่ดี ตลอดกาล
 

ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ทำการรัฐประหารล้มรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ราวอีกหนึ่งปีต่อมา ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม นายณรงค์ วงศ์วรรณ ซึ่งเป็นพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนมากที่สุด แต่กลับไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เป็นผลทำให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่เคยกล่าวคำสัตย์เอาไว้ว่า ตนเองจะไม่เข้ามาเล่นการเมืองเป็นอันขาด ต้องตัดสินใจกลับคำเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกล่าววลีว่า “ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์”

การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา ทำให้หลายส่วนในสังคมมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ก็เกิดการชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา โดยแกนนำการชุมนุมในขณะนั้น คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และมีนิสิต นักศึกษา และประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครที่มีกำลังทรัพย์และใช้เครื่องมือสื่อสาร ‘มือถือ’ เป็นเครื่องมือหลักในการติดต่อข่าวสาร จนเรียกการชุมนุมประท้วงดังกล่าวว่า ‘ม็อบมือถือ’

ไม่เพียงแต่นักการเมือง นิสิต นักศึกษา และประชาชน แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม ‘แอ๊ด คาราบาว’ คือ หนึ่งในศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดังที่ออกมาประท้วงต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ร่วมกับประชาชน บางช่วงบางตอน แอ๊ด คาราบาว ได้ขึ้นเวทีปราศรัย และใช้เสียงเพลงร้องขับกล่อมผู้ร่วมชุมนุม

แต่แล้ว การสลายการชุมนุม การปะทะ และความโกลาหลระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ที่กินระยะเวลาหลายวัน (17- 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535) ก็นำมาซึ่งการเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้คนเป็นจำนวนมาก การสลายชุมนุมที่ดำเนินไปอย่างรุนแรง ทำให้ แอ๊ด คาราบาว หนึ่งในศิลปินที่ถือเป็นจิตวิญญาณของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต้องหนีตายขึ้นไปอยู่เชียงใหม่ 

เมื่อเหตุการณ์สงบลง แอ๊ด คาราบาว กลับลงมากรุงเทพฯ พร้อมผลงานเพลงในอัลบั้มพิเศษที่ออกร่วมกับพี่ชายฝาแฝด อี๊ด – ยิ่งยง โอภากุล ในชื่อชุดอัลบั้ม ‘พฤษภา’ ที่บอกเล่าเรื่องราวความรุนแรงของเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’

อัลบั้ม ‘พฤษภา’ ของ แอ๊ด - อี๊ด โอภากุล ภายใต้บริษัท D-Day Entertainment (ต่อมาถูกซื้อกิจการโดย บริษัท วอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย) จำกัด) คือหนึ่งในหลักฐานหรือพงศวดารฉบับเพลงเพื่อชีวิตที่บันทึกอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 อย่างชัดเจน อาทิ ผลงานเพลง ใครฆ่าประชาชน, ราชดำเนิน และล้างบ้าง

ไม่เพียงแต่ผลงานเพลง ชื่อและหน้าปกอัลบั้ม ‘พฤษภา’ ที่เป็นภาพถ่ายเด็กฝาแฝด แอ๊ด - อี๊ด โอภากุล ซึ่งอยู่ในอ้อมกอดของแม่ โดยมีคำโปรยด้านล่างว่า “อย่าไปเลยลูก...แม่เป็นห่วง..” ก็เป็นคำที่แม่ของทั้งคู่ได้กล่าวไว้เมื่อรู้ว่าลูกชายตนเองจะเข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 

‘ธนาบดี ธรรมสิทธิ์’ ผู้ออกแบบปกอัลบั้ม ‘พฤษภา’ ได้บันทึกเล่าบรรยายถึงการออกแบบปกชุดนี้ อย่างน่าสนใจว่า

“พฤษภาคม ปีนั้น กรุงเทพฯลุกเป็นไฟ ท้องถนนเต็มไปด้วยฝูงชน ที่มีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า ‘ม๊อบมือถือ’ เพื่อรวมตัวออกไปแสดงความไม่เห็นด้วย ต่อการบริหารบ้านเมืองในขณะนั้น...

“...บริษัทฯเราปิดทำการไปหลายวันครับ เพราะไม่มั่นใจว่าจะถูกเพ่งเล็งจากการเป็นต้นสังกัดของศิลปินที่ต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น นอกจากพนักงานจะหายไปจากออฟฟิศแล้ว พี่แอ๊ด คาราบาว ก็หายตัวไป ข่าวจากหลากหลายสำนัก พากันคาดเดาว่าแกคงหลบหนีไปถึงไหน ๆ แล้ว บอกตรง ๆ ครับว่า ผมในฐานะทีมงานของแก ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะเสียงปืนบนถนนราชดำเนินนั้น มันยังดังฝังอยู่ในความรู้สึก
จากนั้นสถานการณ์ก็ค่อย ๆ เริ่มคลี่คลายครับ หลายอย่างเริ่มกลับมาเป็นปกติ ยกเว้น พี่แอ๊ด คาราบาว ที่ยังคงเก็บตัวเงียบ อยู่ที่ไหนสักที่ จนเรากลับมาทำงานได้สักสองสามวัน ผมก็ได้รับผิดชอบงานที่น่าจดจำที่สุดงานหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว

“ผมถูกเรียกไปรับ Brief เพื่อทำปกอัลบั้มใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งเสร็จออกมาจากห้องบันทึกเสียงหมาด ๆ งานเพลงของสองพี่น้องฝาแฝด ยืนยง และ ยิ่งยง โอภากุล หรือ แอ๊ด และ อี๊ด ที่เนื้อหาว่าด้วยเหตุการณ์บนถนนราชดำเนินในเดือน พฤษภาคม นั้น อัลบั้มที่มีชื่อว่า ‘พฤษภา’

ผมได้รับภาพถ่ายฝาแฝด แอ๊ด และ อี๊ด โอภากุล ที่อยู่ในอ้อมกอดของแม่ และจดหมายจากแม่ ที่เขียนถึงลูกชายด้วยความเป็นห่วง เพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบจัดทำคราวนั้น (ภาพถ่ายนั้นผมยังเก็บมาจนทุกวันนี้เลยล่ะครับ)
ผมต้องทำปกเพื่อส่งโรงพิมพ์ภายในวันเดียว ด้วยเทคโนโลยีที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้เหมือนในปัจจุบัน ผมเลยลงมือวาดด้วยมือ เป็นภาพผนังไม้ที่มีกรอบรูปแขวนอยู่ และเขียนชื่ออัลบั้ม ‘พฤษภา’ ด้วยลายมือของผมเอง ในความเร่งรีบนั้นมีความทรงจำที่ดีมากมายเหลือเกินครับ...”

อัลบั้ม ‘พฤษภา’ ของ ของ แอ๊ด - อี๊ด โอภากุล มีผลงานเพลงที่แฟนเพลงปัจจุบันพอจะคุ้นหูกันอย่างเพลง ‘ล้างบาง’ และเพลงที่ดังและได้รับความนิยมมากที่สุดในอัลบั้มนี้ ก็คือเพลง ‘ทะเลใจ’

“แม้ชีวิตได้ผ่านเลยวัยแห่งความฝัน วันที่ผ่านมาไร้จุดหมาย ฉันเรียนรู้เพื่ออยู่เพียงตัวและจิตใจ เป็นมิตรแท้ที่ดีต่อกัน 

“เหมือนชีวิตผันผ่านคืนวันอันเปลี่ยวเหงา ตัวเป็นของเราใจของใคร มีชีวิตเพื่อสู้คืนวันอันโหดร้าย คืนที่ตัวกับใจไม่ตรงกัน

“คืนนั้นคืนไหน ใจแพ้ตัว คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ ท่ามกลางแสงสีศิวิไล อาจหลงทางไปไม่ยากเย็น

“คืนนั้นคืนไหน ใจเพ้อฝัน คืนและวันฝันไปไกลลิบโลก ดั่งนกน้อยลิ่วล่องลอยแรงลมโบก พออับโชคตกลงกลางทะเลใจ

“ทุกชีวิตดิ้นรนค้นหาแต่จุดหมาย ใจในร่างกายกลับไม่เจอ ทุกข์ที่เกิดซ้ำ เพราะใจนำพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข...”

เมื่อฟังดูโดยปกติแล้ว ผลงานเพลง ‘ทะเลใจ’ เปี่ยมด้วยความไพเราะและความลึกซึ้งในทะเลแห่งความสัมพันธ์และการก้าวเดินในชีวิตของมนุษย์ แต่แท้จริงแล้ว ที่มาของเพลง ‘ทะเลใจ’ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 อย่างมีนัยสัมพันธ์ เพราะเพลง ทะเลใจ เป็นเพลงที่ แอ๊ด คาราบาว แต่งให้แก่ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ซึ่งมีตำแหน่งเป็น เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ( รสช. ) และมีความสนิทสนมกับพล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นนายทหารที่จบการศึกษารุ่นเดียวกัน อีกทั้งคุณหญิงวรรณี คราประยูร (ภรรยาของ พล.อ.สุจินดา ) ก็เป็นน้องสาวแท้ ๆ ของ พล.อ.อิสระพงศ์

ดังที่ แอ๊ด คาราบาว เล่าถึงที่มาของเพลง ‘ทะเลใจ’ ไว้ใน  WRITER MAGAZINE ว่า

“ทะเลใจนี่เขียนไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เขียนให้พี่ตุ๋ย (พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ) คือค่อนข้างสนิทกันสมัยแกเป็นแม่ทัพภาค 2 ช่วงนั้นผมออกตระเวนสายอีสาน ได้ร่วมทำโครงการอีสานเขียว พี่ตุ๋ยนี่บางครั้งแกก็ขับรถมาหาผมเอง บางครั้งก็เรียกผมไป มีงานวันเกิดวันอะไร ก็ต้องมีผม ความจริงโดยนิสัยแล้วแกดี ผมก็นับถือแก แต่พอมันเกิดเหตุการณ์พฤษภา มันก็รู้ล่ะว่าใครเป็นยังไง จากที่เคยมีคนมาบอกมาเล่า ว่านายทหารคนนี้มันดียังงั้น คนนั้นมันโกงอย่างนี้ ก็ได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง

“ตอนพฤษภา ผมต้องหนีตายไปเชียงใหม่ พอกลับลงมาวันนั้น ก็เขียนเพลงนี้เลย มนุษย์เรานี่ ความโลภเป็นตัวที่นำพาไปสู่หายนะ ถ้าเราสามารถก้าวพ้นความอยากของเราในใจอันนี้ได้ ถึงจะมีความสุข มันอยู่ในใจของเรานี่เอง แต่ช่างกว้างใหญ่อย่างกะทะเล ลึกเกินหยั่งถึง กว้างกว่าที่จะข้ามได้ แต่ถ้าทำได้ เราก็ชนะ
“ผมเขียนเพลงนี้ออกมาด้วยกีต้าร์ตัวเดียว นั่งอยู่หน้าบ้าน ฮัมทำนองไปรอบสองรอบ เนื้อมันออกมาเลย รวดเดียว ครึ่งชั่วโมงจบ”

ความลึกซึ้งและไพเราะส่งผลทำให้ เพลง ‘ทะเลใจ’ ได้รับรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ สาขาเพลงยอดเยี่ยม ประจำปี 2535 และกลายเป็นหนึ่งในเพลงตำนานของวงการดนตรีเพลงเพื่อชีวิตของไทยจนถึงปัจจุบัน แม้ว่า เบื้องหลังที่มาของเพลงนี้อย่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬสำหรับบางคนอาจจะกลายเป็นความทรงจำสีจางลงไปทุกที

อาจจะกล่าวได้ว่า เบื้องหลังที่แท้จริงของเพลง ‘ทะเลใจ’ ถูกประพันธ์ขึ้นจากความผิดหวังของศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอันดับ  1 ของเมืองไทยอย่าง แอ๊ด คาราบาว ที่มีต่อ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี พี่ชายนายทหารอันเป็นที่รัก จากเหตุการณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และความผิดหวังก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ เพราะ ณ ขณะปัจจุบัน ก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า มีแฟนเพลงบางคน ‘ผิดหวัง’ กับ พี่แอ๊ด คาราบาว บนเส้นทางถนนดนตรี การเมือง และสังคมหลังข้ามพ้นทะเลใจ เช่นเดียวกับพัฒนาการระบอบประชาธิปไตย ที่หลายคนอาจจะ ‘ผิดหวัง’ เพราะต้องเจอกับการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับเป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองไทย

แต่จะทำอย่างใดได้เล่า ก็ในเมื่อ “ทุกชีวิตดิ้นรนค้นหาแต่จุดหมาย ใจในร่างกายกลับไม่เจอ ทุกข์ที่เกิดซ้ำ เพราะใจนำพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข...”

 

อ้างอิง:

คนมองหนัง. “ก่อนจะเป็น ‘ทะเลใจ’.” คนมองหนัง etc., 17 พ.ค. 2016, https://konmongnangetc.com/2016/05/17/ก่อนจะเป็น-ทะเลใจ/.  


คุณากร คำมุข. “ที่มาของเพลง ‘ทะเลใจ’ แอ๊ด คาราบาว.” Blockdit, 9 พ.ย. 2022, https://www.blockdit.com/posts/636b78fb7d0a9f917076a078.  


ผู้ใช้ Facebook ชื่อ biscuits. https://www.facebook.com/photo/?fbid=2243654055710281&set=a.579542362121467.  


Entertainnaja. “แอ๊ด คาราบาว เล่าถึงที่มาของเพลง ‘ทะเลใจ’ ไว้ใน Writer Magazine ฉบับเดือนมกราคม ปี 2014.” Facebook, https://www.facebook.com/entertainnaja/posts/แอ๊ด-คาราบาว-เล่าถึงที่มาของเพลง-ทะเลใจ-ไว้ใน-writer-magazine-ฉบับเดือนมกราคม-ปี/508156359579800/.