Glass Onion: ความกลวงเปล่าในความซับซ้อนกับแรงบันดาลใจที่ได้รับมาจาก The Beatles

Glass Onion: ความกลวงเปล่าในความซับซ้อนกับแรงบันดาลใจที่ได้รับมาจาก The Beatles

จากปมมรดกเลือดสู่เพื่อนรัก (เศรษฐี) หักเหลี่ยมโหด กับการกลับมาอีกครั้งของยอดนักสืบ เบนวา บลังก์ (Benoit Blanc) ในการไขคดีล่าสุดใน Glass Onion: A Knives Out Mystery เข้าใจนิยามของชื่อเรื่องที่มีความหมายไกลกว่าโดมกระจก และที่มาของมันที่เกี่ยวโยงกับบทเพลงของ The Beatles

ภาพยนตร์ Knives Out ที่ออกฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อปี 2019 ผลงานที่ปั้นเองผ่านการเขียนและกำกับด้วยตัวเองโดย ไรอัน จอห์นสัน (Rian Johnson) นับว่าเป็นเรื่องราวการสืบสวนประเภท ‘Whodunnit’ หรือการเฟ้นหาว่าในหมู่พวกเรา ใครกันแน่คือผู้ร้ายตัวจริง? (เกม Among Us คือตัวอย่างที่ชัดเจนถึงนิยายสืบสวนประเภทนี้)

ด้วยลักษณะนิสัยตัวละครที่จัดจ้านและแตกต่าง ผนวกรวมเข้ากับสไตล์การเล่าเรื่องที่สดใหม่ ผสานเข้ากับกองทัพนักแสดงที่เรียงรายกันเข้ามาสาดทักษะการแสดงของตน แถมทิศทางศิลป์ที่ดึงดูดสายตาเป็นอย่างมาก จึงไม่แปลกที่ Knives Out จะเป็นงานที่มีผู้ชมจับตามองและให้ความสนใจ แถมยังได้กระแสตอบรับที่ดีหลังการฉายอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ การพาให้เส้นทางการผจญปริศนาของนักสืบอย่าง เบนวา บลังก์ (Benoit Blanc) ก็คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่เราเห็นกันกับการเกิดขึ้นของภาพยนตร์เรื่องใหม่ล่าสุดที่สานต่อการเดินทางของนักสืบบลังก์ในเรื่อง Glass Onion: A Knives Out Mystery กับคดีถัดไปที่ไม่เกี่ยวโยงกับภาคก่อนหน้าเลยแม้แต่น้อย

จะเรียกภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็น Knives Out 2 ก็คงไม่ถูกเสียทีเดียวนัก เฉกเช่นเดียวกับการนิยามว่านี่เป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ของ Knives Out เพราะภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องล้วนเป็นคดีแต่ละคดีที่นักสืบเบนวา บลังก์เดินหน้าไปเผชิญ คราวที่แล้ว Knives Out ก็เกี่ยวโยงกับ ‘มีด’ พอมาถึงภาคนี้ Glass Onion บลังก์จะพาเราไปเจอกับอะไร? หอมหัวใหญ่ที่เป็นแก้ว? 

ในบทความนี้เราจะพาไปสำรวจบางแง่มุมของความหมายเบื้องหลังชื่อดังกล่าวว่ามันสื่อถึงอะไรกันแน่ นอกจากนั้นก็ยังพาไปรู้จักกับที่มาของชื่อเรื่องที่ผู้เขียนและกำกับอย่าง ไรอัน จอห์นสัน เล่าว่าได้ไอเดียมาจากบทเพลงของ The Beatles

/ เนื้อหาต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Glass Onion: A Knives Out Mystery (2022) /

 

ความซับซ้อนที่กลวงเปล่า

ไม่น่าใช่นะ มันไม่น่าจะง่ายแบบนั้น

เชื่อว่าในหลาย ๆ ครั้งที่เราได้อ่านหรือชมเรื่องราวที่เกี่ยวกับปมปริศนาที่มุ่งหาคำตอบ ณ ปลายทาง ตลอดรายทางผู้เสพเรื่องราวเหล่านั้นก็ย่อมคิดวิเคราะห์ควบคู่ไปกับเรื่องราวที่ค่อย ๆ ดำเนินไปพร้อมกับคลายเศษส่วนของคำตอบมาทีละนิดทีละหน่อย ดังนั้นก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนที่กระหายคำตอบของปริศนาที่จะลองเอาเศษส่วนเหล่านั้นมาประกอบกันเพื่อสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้ของคำตอบเหล่านั้น

และแน่นอนว่า การคิดคำนวนถึงคำตอบเหล่านั้นก็คงต้องมีการตัดชอยส์ที่มีความเป็นไปได้ต่ำออกไปกันบ้าง แม้ว่าจะประกอบกันได้ แต่ข้อสรุปคงไม่น่าจะออกมาเป็นเช่นนั้น เพราะมันน่าจะ ‘ง่ายเกินไป’ ทำให้เรามองข้ามข้อสันนิษฐานนั้นแล้วมองไกลไปสู่อะไรที่ดู ‘ลึกลับซับซ้อน’ หรือ ‘ยาก’ จนคาดไม่ถึงให้สมศักดิ์ศรีกับความยากของปมปริศนาที่ผู้สร้างค่อย ๆ บรรจงร้อยเรียงออกมา

แต่หารู้ไม่ว่าเพราะการมองข้ามความง่ายตรงนี้เอง ที่กลายเป็นภาพลวงตาที่ทำให้เรามองข้ามคำตอบที่แท้จริงไป เพราะการที่ให้ค่าและประเมินบางสิ่งบางอย่างสูงเกินไป จึงทำให้คำตอบง่าย ๆ ที่วางอยู่ตรงหน้า ถูกตัดออกไป ที่เรากล่าวมาทั้งหมดคือความหมายเบื้องหลังชื่อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้อย่าง ‘Glass Onion

หากใครได้ชมภาพยนตร์แล้ว แน่นอนว่าอีกความหมายหนึ่งของ Glass Onion คือโดมกระจกที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเกาะส่วนตัวของมหาเศรษฐี (ที่มีผู้ชมหลายคนสันนิษฐานกันว่าทำมาแซะ อีลอน มัสก์ รึเปล่า?) นามว่า ไมล์ส บรอน (Miles Bron) ซึ่งสถานการณ์สำคัญของเรื่องก็เกิดขึ้น ณ สถานที่ดังกล่าว แต่ก็คงจะตื้นเขินเอามาก ๆ ถ้าไรอัน จอห์นสัน ตัดสินใจตั้งชื่อเรื่องภาพยนตร์เรื่องนี้เพียงเพราะมันเกิดขึ้นที่นั่น 

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง หากเราค่อย ๆ ไปดูคำว่า Glass Onion เราจะเจอสัญญะบางอย่างที่เกี่ยวโยงกับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างน่าสนใจเอามาก ๆ 

เริ่มจากคำว่า ‘Onion’ หรือ ‘หอมหัวใหญ่’ หากใครที่เคยทำกับข้าวหรือเคยเห็นในรายการโทรทัศน์สอนทำอาหาร เราจะเห็นได้ว่าผิว เปลือก รวมถึงเนื้อของหอมหัวใหญ่นั้นแบ่งออกได้เป็นหลายชั้น เราสามารถปอกมันแล้วปอกอีกหลายรอบ ในคำ ๆ นี้ เราสามารถตีความมันได้ว่ามันสื่อถึงคดีที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน กว่าจะเจอกับคำตอบที่แท้จริง เราต้องปอกแล้วแกะอีกหลายชั้น

แต่พอผนวกรวมเข้ากับคำว่า ‘Glass’ หรือ ‘แก้ว’ คำตอบทุกอย่างก็กระจ่างชัดในทันที แก้วเป็นสิ่งที่แข็ง เปราะบาง แถมแตกง่าย แต่คุณลักษณะที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือความโปร่งใสของมัน อะไรที่ตั้งอยู่เบื้องหลังแก้ว เราสามารถเห็นมันได้ทันที และในกรณีนี้ เมื่อหอมหัวใหญ่เป็นแก้ว เราจะเสียเวลาปอกไปทำไม? ในเมื่อเราสามารถมองเห็นไส้ในของมันได้ทะลุปรุโปร่งตั้งแต่คราวแรกแล้ว

สิ่งที่คำว่า Glass Onion พยายามจะสื่อคือการใบ้บอกว่าปมซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่เราใช้เวลาคิดแล้วคิดอีกกับมัน ยกมันขึ้นไว้สูงว่าเป็นปมที่แก้ยาก จนเหมือนเป็นการปิดตาเราจากคำตอบที่แท้จริงของมันซึ่งมันง่ายเอามาก ๆ – ไม่ใช่ง่ายจนเราคิดไม่ถึง แต่ง่ายที่เราคิดออก แต่ไม่คิดว่านั่นน่าจะเป็นคำตอบ ดังคำพูดของบลังก์ที่ตั้งข้อสันนิษฐานถึงบรอนเอาไว้ว่า

จะเสี่ยงก่อคดีฆาตกรรมหลังจากที่เพิ่งมาการฟ้องร้องคดีที่สังคมให้ความสนใจมันเป็นอะไรที่โง่เกินกว่าที่จะเกิดขึ้นจริงได้นะ

แต่ท้ายที่สุดแล้วบุคคลที่เรามองข้ามและคิดว่าฉลาดเกินกว่าจะทำอะไรโง่ ๆ นั่นแหละ คือคำตอบที่ถูกต้องตั้งแต่ทีแรก (ซึ่งหนังก็พาเราไปปอกหัวหอมแก้วซะนานเลยทีเดียว)

นอกจากที่ Glass Onion จะเป็นสัญญะแทนความหมายของปมสืบสวนนี้แล้ว มันยังแทนตัวตนของ ไมล์ส บรอน เศรษฐี ยอดนักธุรกิจ ชนชั้นนำที่ดูสูงส่ง เฉลียวฉลาด ล้ำลึกคมคาย จนคนรอบตัวก็พากันเชิดชูถึงความเหนือกว่าของเขา สะท้อนกลับมา สิ่งที่เกิดในเรื่องก็คงไม่เกินความจริงเท่าไหร่นัก…

หากคนธรรมดาทำเรื่องโง่ ๆ พวกเขาก็จะถูกตราหน้าว่าโง่ แต่หากเหล่าชนชั้นนำหรือบุคคลที่รายล้อมไปด้วยคำเชิดชูกระทำอะไรโง่ ๆ แบบเดียวกันบ้าง แทนที่จะถูกตราหน้าว่าโง่ บางคนก็อาจจะมองแตกต่างกันไป มองว่าเหตุผลของการกระทำเหล่านั้นยากเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ หรือให้เครดิตว่าเขากระทำเช่นนั้นเพราะเขาฉลาดและมองไกล… แต่ที่ Glass Onion พยายามจะบอกเราก็คือ

บางทีคุณก็อย่าไปเชิดชูคนเหล่านี้มากไป บางทีเขาอาจจะโง่จริง ๆ ก็ได้…

มหาเศรษฐีอย่างบรอนที่ดูเก่งกาจ เฉลียวฉลาด และเต็มไปด้วยความสามารถ ก็เป็นเพียงแค่ฉากหน้าที่ตัวเขาเองสร้างขึ้นมา และผู้รับฟังก็พร้อมจะเชื่อ หากย้อนดูไส้ในจริง ๆ แล้ว เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขากลวงเปล่า ความสำเร็จก็ขโมยเพื่อนมา แผนฆาตกรรมก็ลอกเลียนแบบจากข้อสันนิษฐานของบลังก์ คำประหลาด ๆ ที่ไร้ความหมายก็ปั้นขึ้นมาเองให้ตัวเองดูเฉลียวฉลาดกว่าใครอื่น รวมถึงการก่อคดีที่ใครก็คิดว่าโง่ที่สุด เขาเองก็เป็นคนกระทำ

คนอย่างบรอนจึงเป็นภาพแทนของคนเหล่านี้ คนที่ดูลึกลับซับซ้อนแต่ภายในกลวงเปล่า คนที่เหมือนกับ Glass Onion คนที่เราไม่ควรไปนั่งบรรจงปอกให้เสียเวลา…

 

แรงบันดาลใจจากบทเพลงของ The Beatles

ในขณะที่ไรอัน จอห์นสัน กำลังนั่งครุ่นคิดถึงไอเดียในการทำภาคต่อจาก Knives Out ณ ขณะนั้นเขาก็มีคีย์เวิร์ดหนึ่งอยู่ในใจ นั่นก็คือ ‘Glass’ แต่เขายังนึกต่อไม่ออกว่าจะสามารถพัฒนามันไปในทิศทางไหนได้บ้าง เขาจึงเปิดแอพฟังเพลงของตัวเองและพิมคีย์เวิร์ดคำนั้นเข้าไป ซึ่งเพลงแรกที่ปรากฎขึ้นก็คือ ‘Glass Onion’ โดยสี่เต่าทอง The Beatles จากอัลบั้ม White

Glass Onion ถือเป็นเพลงที่มีคนตีความไปต่าง ๆ นา ๆ มากมายไปหมด มีทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับความหมายที่แท้จริงของเนื้อเพลงมากมายไปหมด เพราะเนื้อของเพลงดังกล่าวประกอบไปด้วยผลงานเพลงก่อน ๆ ของ The Beatles มากมาย จนผู้คนก็ผูกโยงกันไปว่า จอห์น เลนนอน (John Lennon) พยายามจะส่งสารบางอย่างรึเปล่า?

แต่ความจริงกลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นอย่างสิ้นเชิง

แทนที่จะเป็นการส่งสารลับจากเลนนอน จุดประสงค์ที่แท้จริงของเพลงนี้คือเขียนเนื้อมาให้ ‘งง’ ไม่ได้มีความหมายอะไรขนาดนั้น แต่จุดมุ่งหมายของการกระทำเช่นนั้นคือการออกมาเสียดสีพวกที่เอาจริงเอาจังกับการพลิกหาความหมายเบื้องหลังเนื้อเพลงที่มากเกินไป เพราะบางทีมันอาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้

เฉกเช่นเดียวกับบทเพลง Glass Onion ที่ผู้คนมุ่งปอกหาสัญญะที่ผู้แต่งอยากสื่อผ่านเพลง แต่แท้จริงแล้วผู้แต่งเพียงแค่เขียนมางง ๆ ไม่ได้มีความหมายอะไร แค่อยากทำออกมากวนพวกชอบตีความจนมากเกินไปเฉย ๆ

กรณีเช่นนี้อาจจะดูเหมือนไม่มีภัยร้ายอะไร แต่อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งลัทธิแมนสันที่ก่อคดีฆาตกรรมในปี 1969 ก็เคยตีความบทเพลงของ The Beatles จนเกิดเป็นเหตุสะเทือนขวัญในประวัติศาสตร์อเมริกัน…

 

ภาพ

IMDb

Getty Images

 

อ้างอิง:

Glass Onion explained: what’s the meaning of the title? - Auralcrave