26 ส.ค. 2567 | 15:36 น.
KEY
POINTS
หากจะมีโค้ชฟุตบอลชื่อดังระดับโลกสักคนที่คนไทยคุ้นเคยดี ชื่อของ ‘สเวน-โกรัน อิริคสัน’ (Sven-Göran Eriksson) น่าจะผุดขึ้นมาก่อนใครในฐานะกุนซือที่เคยทำงานกับคนไทยมายาวนาน ตั้งแต่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยุค ‘ทักษิณ’ สู่เลสเตอร์ ซิตี้ และบีอีซี-เทโรศาสน
โค้ชชาวสวีเดน วัย 76 ปี ผู้สร้างตำนานเป็นผู้จัดการทีมต่างชาติคนแรกของทีมชาติอังกฤษ กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2024 หลังออกมาประกาศว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 1 ปี
เขาจึงเลือกใช้เวลาที่เหลือทำตามฝันที่ค้างคา เริ่มจากได้รับโอกาสคุมทีม ‘ลิเวอร์พูล’ ข้างสนามในแมตช์การกุศลที่แอนฟิลด์ เพื่อสัมผัสประสบการณ์โค้ชทีมฟุตบอลในดวงใจสักครั้งก่อนตาย
อิริคสันยังเขียนหนังสือชีวิตตัวเองส่งท้ายชื่อ A Beautiful Game มีกำหนดวางแผงเดือนพฤศจิกายน 2024 พร้อมบันทึกคำสั่งลาและเปิดใจถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมาในภาพยนตร์สารคดีชื่อ Sven ซึ่งเริ่มฉายทางช่องสตรีมมิ่ง Amazon Prime เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม
“ผมคิดว่าเราทุกคนกลัววันที่จะจากโลกนี้ไป แต่ความตายคือส่วนหนึ่งในชีวิตอยู่ดี คุณต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับมัน ผมหวังว่าสุดท้ายคนจะพูดว่า ‘ใช่ เขาเป็นผู้ชายที่ดี’ แต่คงไม่ใช่ทุกคนที่จะพูดแบบนั้น”
นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมา อิริคสันเจอทั้งข่าวดีและร้ายมาทั้งชีวิต ดังนั้นเมื่อวาระสุดท้ายใกล้เข้ามา เขาจึงอยากนำประสบการณ์ทั้งหมดมาแบ่งปัน เพื่อบอกให้โลกรู้ว่า ตัวตนของ ‘สเวน-โกรัน อิริคสัน’ ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ?
ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของสเวน-โกรัน อิริคสัน เส้นทางในวงการลูกหนังของเขาไม่ต่างจากยอดกุนซือดังหลายคนทั้ง ‘เจอร์เก้น คล็อปป์’ ‘ราฟา เบนิเตซ’ หรือ ‘โชเซ่ มูรินโญ่’ นั่นคือเริ่มจากการเป็นนักเตะ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จึงหันมาเอาดีด้านโค้ชจนโด่งดัง
สเวน-โกรัน อิริคสัน เกิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1948 ในเมืองเล็ก ๆ ของจังหวัดฟาร์มแลนด์ (Värmland) ดินแดนกลางธรรมชาติของสวีเดน พ่อของเขามีอาชีพเป็นพนักงานขับรถโดยสารประจำทาง ส่วนแม่ทำงานในร้านขายผ้า
แม้ไม่มีใครคลุกคลีกับฟุตบอลโดยตรง แต่ความคลั่งไคล้กีฬาลูกหนังของอิริคสันก็เริ่มก่อตัวเมื่อพ่อของเขาพาไปเชียร์ทีมท้องถิ่นลงแข่งแทบทุกนัดตั้งแต่ 5 ขวบ
พออายุ 13 ปี อิริคสันไปทำงานพาร์ทไทม์ช่วงปิดเทอมในร้านขนมปังและรู้จักกับเชฟเบเกอรี่ที่เป็นโค้ชให้ ‘ทอร์สบี ไอเอฟ’ (Torsby IF) สโมสรฟุตบอลในดิวิชั่น 4 ของสวีเดน
ทั้งคู่มักใช้เวลาระหว่างทำขนมปังพูดคุยเรื่องฟุตบอล จนอิริคสันอายุ 16 ปี เขาจึงเปิดตัวเป็นนักเตะของทอร์สบีในตำแหน่งแบ็คขวา ก่อนย้ายไปเล่นให้ทีมอื่นจนอายุ 27 ปี เขาจึงแขวนสตั๊ด และหันมาเอาดีกับการทำหน้าที่โค้ช
อิริคสันบรรยายฝีเท้าของตัวเองสมัยเป็นนักเตะว่า “ธรรมดา” นอกจากนี้ยังไม่ใช่นักกีฬาอาชีพเต็มตัว เพราะต้องทำงานประจำตอนกลางวัน และใช้เวลาหลังเลิกงาน หรือวันหยุดเพื่อฝึกซ้อมและลงแข่งขัน
ดังนั้น เขาจึงเปลี่ยนงานมาเป็นโค้ช ท่ามกลางความฝันที่ต้องการเป็นคนมีชื่อเสียง พร้อมแรงผลักดันจากแม่ที่บอกว่า อิริคสันคือคน “พิเศษ”
งานแรกหลังแขวนสตั๊ด คือ ผู้ช่วยผู้จัดการทีม ‘เดเกอร์ฟอร์ส’ (Degerfors) ในดิวิชั่น 3 ของสวีเดน อิริคสันอยู่ในตำแหน่งนี้แค่ปีเดียวก็ได้เลื่อนเป็นผู้จัดการทีมเต็มตัว เพราะ ‘ทอร์ด กริป’ (Tord Grip) หัวหน้าของเขาลาออกไปรับงานผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติสวีเดน
เมื่อโอกาสมาถึง อิริคสันก็โชว์พรสวรรค์ให้ทุกคนรับรู้ทันที ด้วยการพาเดเกอร์ฟอร์ส เลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 2 ได้ภายใน 2 ฤดูกาล จนฝีมือไปเข้าตา ‘โกเธนเบิร์ก’ (Gothenburg) ทีมยักษ์ใหญ่ในลีกสูงสุดของสวีเดน ซึ่งดึงตัวไปเป็นกุนซือคนใหม่ตั้งแต่มีอายุแค่ 30 ปี
จุดเด่นของอิริคสัน คือ การนำแทคติกใหม่ ๆ มาใช้กับฟุตบอลสมัยนั้น โดยเจ้าตัวเผยว่า ฟุตบอลส่วนใหญ่ยังเล่นกันในระบบตัวต่อตัว คือ แบ็คซ้ายคอยประกบปีกขวา และแบ็คขวาตามประกบปีกซ้าย ส่วนเซ็นเตอร์แบ็คสองคนก็คอยจัดการกับศูนย์หน้า ไม่มีการสลับตำแหน่งไปมา หรือช่วยกันซ้อน - ช่วยกันไล่
เมื่อเขาเอาระบบใหม่ซึ่งมีการเคลื่อนที่สลับไปมาแบบโซนมาใช้ และสั่งให้นักเตะช่วยกันวิ่งไล่กดดันฝ่ายตรงข้าม เกมจึงเพิ่มความไวและสนุกเร้าใจมากขึ้น
ยิ่งต่อมาเมื่ออิริคสันพาโกเธนเบิร์ก ซึ่งเป็นเพียงทีมกึ่งอาชีพ สร้างประวัติศาสตร์เป็นสโมสรแรกของสวีเดนที่ออกไปคว้าแชมป์ยุโรปในศึกยูฟ่าคัพ (ปัจจุบันคือยูโรป้า) เมื่อปี 1982 ชื่อของสเวน-โกรัน อิริคสัน ก็ไม่ได้ดังแค่ในบ้านเกิดอีกต่อไป แต่ถูกพูดถึงไปไกลทั่วยุโรป
หลังคว้าแชมป์ยูฟ่าคัพ อิริคสันถูกทาบทามให้ไปคุมทีมนอกประเทศครั้งแรก เริ่มจากเบนฟิก้าในโปรตุเกส ก่อนย้ายไปอีกหลายทีมในอิตาลี ทั้งโรม่า ฟิออเรนติน่า ซามพ์โดเรีย และลาซิโอ
ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่โลดแล่นในโปรตุเกสและอิตาลี ตั้งแต่ทศวรรษ 1980s จนเปลี่ยนสู่สหัสวรรษใหม่ ทุกทีมที่อิริคสันเข้าไปล้วนประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการคว้าแชมป์ลีก 3 สมัยกับเบนฟิก้า และพาลาซิโอ ให้กลับมาผงาดเป็นแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา สมัยที่สองในประวัติศาสตร์สโมสร 124 ปี
นอกจากนี้เขายังพาลาซิโอ ออกไปประกาศศักดาคว้าแชมป์ยุโรปรายการยูโรเปี้ยน คัพวินเนอร์สคัพ ในปี 1999 ก่อนที่ฟุตบอลรายการดังกล่าวจะถูกยกเลิกการแข่งขันในปีต่อมา
นั่นคือช่วงเวลารุ่งโรจน์ที่สุดของอิริคสัน จนกระทั่งสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ดินแดนต้นกำเนิดกีฬาลูกหนังยอมแหกธรรมเนียมปฏิบัติ ทำสัญญาว่าจ้างมาคุมทีมชาติในปี 2001 และกลายเป็นกุนซือต่างชาติคนแรกที่ได้รับตำแหน่งผู้จัดการทีม ‘สิงโตคำราม’ อังกฤษ
เพราะ ณ เวลานั้น แชมป์สุดท้ายที่คว้ามาได้ครั้งล่าสุดก่อนที่อิริคสันจะเข้าไปคุมทัพ นั่นคือ ฟุตบอลโลกในปี 1996
อิริคสันเปิดใจกับ The Guardian สื่อของอังกฤษ ยอมรับว่า งานกุนซือทีมชาติอังกฤษ คือ ความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา
“ผมคิดว่าโค้ชทุกคนบนโลกนี้น่าจะอยากได้งานนี้ และข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเขาไม่เคยคว้าแชมป์ใดมาเป็นเวลายาวนานยิ่งทำให้ข้อเสนอนี้น่าสนใจมากขึ้น”
งานคุมทีมชาติอังกฤษที่อิริคสันเชื่อว่าน่าปลาบปลื้ม กลับกลายเป็นทุกข์ เพราะมันเป็นงานแรกในชีวิตที่เขาถูกไล่ออก หลังเผชิญมรสุมข่าวฉาวซัดกระหน่ำ
อิริคสันยอมรับว่า เขาเริ่มสังหรณ์ใจหลังเข้ามารับงานกุนซือทีมชาติอังกฤษไม่นาน เมื่อได้รับคำเชิญจากโทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ณ เวลานั้นให้ไปเยือนทำเนียบรัฐบาลเพื่อแสดงความยินดี
“โทนี่ แบลร์ บอกผมว่า ‘ยินดีต้อนรับสู่อังกฤษ เรามาพนันกันมั้ย?’ ผมถามกลับไปว่า ‘คุณหมายถึงอะไร’ และเขาตอบว่า ‘ใครจะรักษาเก้าอี้ได้นานกว่ากัน คุณหรือผม?’
“เขาบอกว่า ‘เพราะอะไรรู้มั้ยสเวน ตำแหน่งเราทั้งคู่เป็นงานที่เป็นไปไม่ได้ และเราจะถูกปลดในอีกไม่ช้าก็เร็ว’ สุดท้ายเขาเป็นฝ่ายชนะ ผมโดนปลดก่อน” (โทนี่ แบลร์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในปี 2007 หรือ 1 ปี หลังอิริคสันอำลาทีมชาติอังกฤษ)
อิริคสันคุมทีมชาติอังกฤษนาน 5 ปี ก่อนถูกปลดในปี 2006 หลังพาสิงโตคำรามทะลุถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายรายการใหญ่ได้ทั้ง 3 รายการ คือ ฟุตบอลโลก 2002, ยูโร 2004 และฟุตบอลโลก 2006
นอกจากนี้ยังช่วยทำให้อันดับโลกของอังกฤษในตารางคะแนนฟีฟ่า ขยับจากอันดับ 17 ตอนเข้ามา ขึ้นไปอยู่อันดับ 5 ในปีที่เขาถูกปลดออกไป ถือเป็นผลงานดีที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี นับตั้งแต่อังกฤษคว้าแชมป์โลกปี 1966 ในยุคของ ‘อัลฟ์ แรมซีย์’
อิริคสันบอกกับ The Guardian ว่า ปัญหาของทีมชาติอังกฤษที่ไม่ประสบความสำเร็จในระยะหลังไม่ได้อยู่ที่โค้ช หรือแท็คติก แต่อยู่ที่สภาพจิตใจของนักเตะมากกว่า โดยเฉพาะการต้องแบกรับแรงกดดันที่มาจากทั้งสื่อและแฟนบอล
“ตลอด 13 ปีที่ทำงานในอิตาลี ผมไม่เคยถูกสื่อเขียนถึงชีวิตส่วนตัวเลยสักครั้ง” อิริคสันยอมรับว่ารู้สึก ‘ช็อค’ เมื่อย้ายมาอังกฤษ และถูกสื่อตามติดทุกฝีก้าว โดยเฉพาะการถูกขุดคุ้ยเรื่องราวส่วนตัวเกี่ยวกับคนรัก
อิริคสันเคยแต่งงานและหย่าร้างกับภรรยาตั้งแต่สมัยยังเป็นโค้ชหน้าใหม่ในบ้านเกิด แต่หลังจากนั้นแม้เขาจะคบหาผู้หญิงอีกหลายคนก็ไม่เคยจดทะเบียนสมรสกับใคร โดยตอนย้ายมาอังกฤษ เขาคบกับ ‘แนนซี เดลล์ โอลิโอ’ ทนายสาวไฮโซชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลี
แต่ชีวิตคู่มันมีอะไรซับซ้อนมากกว่าที่คนนอกจะล่วงรู้ และเมื่อสื่อจับได้ว่าเขามีสาวคนใหม่ เรื่องราวต่าง ๆ จึงถูกตีแผ่เป็นข่าวใหญ่ในสื่อแท็บลอยด์ ไม่ว่าจะเป็นการนอกใจแนนซี ไปคบกับ ‘อุลริกา จอนส์สัน’ พิธีกรทีวีเชื้อสายสวีดิช และความสัมพันธ์กับ ‘ฟาเรีย อารัม’ เลขานุการของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ
ในหนังสารคดี Sven กุนซือชาวสวีเดนจากแดน ‘ฟรีเซ็กส์’ มองย้อนกลับไปถึงข่าวฉาวเหล่านี้ว่าไม่ใช่ความผิดของเขา “ผมไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย”
“เซ็กส์เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เรื่องหนึ่งในชีวิตของพวกเราทุกคน”
ความจริงแล้วฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อิริคสันถูกปลดจากกุนซือทีมชาติอังกฤษ ไม่ได้มาจากความเจ้าชู้ของเขา แต่มาจากการถูกหลอกให้บอกว่า เขากำลังปันใจจากการรับใช้ทีมชาติ
5 เดือนก่อนศึกฟุตบอลโลก 2006 รอบสุดท้ายจะคิก-ออฟ อิริคสันตกเป็นเหยื่อการปั่นข่าวของ News of the World แท็บลอยด์เก่าแก่ของอังกฤษ เมื่อเขาถูกนักข่าวคนหนึ่งปลอมตัวเป็นเศรษฐีอาหรับชวนไปกินข้าว และอิริคสันหลุดปากบอกกับ ‘ชีคตัวปลอม’ คนนั้นว่า แอสตัน วิลล่า กำลังต้องการขายสโมสร
เขาแนะนำให้ชายที่คุยด้วยเข้าไปเทคโอเวอร์ พร้อมรับปากจะลาออกจากทีมชาติอังกฤษมาช่วยคุมวิลล่า และจะดึง ‘เดวิด เบ็คแฮม’ จากเรอัล มาดริดให้ย้ายมาร่วมทัพ
หลังข่าวนี้ถูกตีแผ่ สมาคมฟุตบอลอังกฤษจึงออกประกาศเตรียมแยกทางกับอิริคสัน หลังจบศึกฟุตบอลโลกปีนั้นทันที
อิริคสันยอมรับว่า เขาพลาดท่าให้กับวิธีหาข่าว ซึ่งหมิ่นเหม่กับการละเมิดจรรยาบรรณแบบนั้นในอังกฤษ นอกจากนี้ เขายังมาทราบจากสก็อตแลนด์ ยาร์ด ภายหลังว่า ตนเองถูกดักฟังโทรศัพท์มาตลอด
ความเป็นคนจิตใจดี - เชื่อคนง่ายยังทำให้เขาตกเป็นข่าวฉาวอีกในปี 2009 เมื่อถูกทาบทามให้ไปเป็นผู้อำนวยการฟุตบอล ‘น็อตต์ส เคาน์ตี้’ ในดิวิชั่น 2 ของอังกฤษ ด้วยคำ ‘ขายฝัน’ ว่า เขาจะได้รับเงินลงทุนมหาศาลจากเศรษฐีอาหรับ ซึ่งอยากให้พาสโมสรเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกให้ได้ภายใน 5 ปี
หนึ่งในภารกิจของเขา คือ การเดินทางไปเกาหลีเหนือ เพื่อปิดดีลทำเหมือง ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนหลักของสโมสร ทว่า เมื่อเดินทางไปถึงกลับไม่มีดีลธุรกิจใด ๆ แต่เป็นการหลอกให้ไปคุยกับสมาคมฟุตบอลเกาหลีเหนือ เพื่อเกลี่ยกล่อมให้ช่วย ‘ล็อคผล’ การจับสลากแบ่งสายฟุตบอลโลก 2010 เนื่องจากอิริคสันเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการฟีฟ่า
“ผมบอกไปว่า ‘ผมล็อกผลให้ไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้”
หลังเดินทางกลับอังกฤษ อิริคสันรู้ตัวว่า ตนเองถูกหลอกและไม่มีเงินลงทุนจากเศรษฐีอาหรับเข้ามาแต่อย่างใด สุดท้ายเขายังต้องยกหนี้มูลค่า 2.5 ล้านปอนด์ที่สโมสรติดค้างตัวเองไว้เพื่อช่วยให้ทีมอยู่รอด ก่อนถูกขายให้เจ้าของคนใหม่ในราคาแค่ปอนด์เดียว
แม้หลังถูกไล่ออกจากทีมชาติอังกฤษ ชีวิตของอิริคสันต้องเผชิญอุปสรรคและความท้าทายมากมาย เขากลายเป็น ‘กุนซือพเนจร’ ที่ตระเวนไปคุมสโมสรและทีมชาติอื่นทั่วโลก โดยแต่ละทีมที่ไปก็ไม่สามารถอยู่ได้แบบระยะยาว
แต่หนึ่งในงานที่เขาตอบรับ และทำให้เริ่มคุ้นเคยกับคนไทย คือ การเซ็นสัญญาคุมแมนฯ ซิตี้ ในปี 2007 หลังอดีตนายกฯ 'ทักษิณ ชินวัตร’ เข้าไปเทคโอเวอร์ และสร้างประวัติศาสตร์เป็นคนไทยคนแรกที่เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลอังกฤษ
การมาของอิริคสัน สร้างเซอร์ไพร์สและกลายเป็นข่าวดัง เนื่องจากแฟนบอลส่วนใหญ่ไม่คิดว่า กุนซือ ‘บิ๊กเนม’ ที่เพิ่งคุมทีมชาติอังกฤษมาหมาด ๆ จะยอมลดตัวมารับงานคุมทีมท้ายตารางอย่าง ‘ซิตี้’ ในยุคนั้น
นอกจากนี้ อิริคสันยังช่วยจุดประกายความฝันให้ซิตี้กลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ ด้วยการพาทีมเอาชนะแชมป์เก่าและคู่ปรับร่วมเมืองอย่าง ‘แมนฯ ยูไนเต็ด’ ภายใต้การคุมทัพของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้ทั้งนัดเหย้า - เยือน เป็นครั้งแรกในรอบ 38 ปี
แม้สุดท้ายเขาต้องย้ายออกจาก ‘ซิตี้’ หลังคุมทีมได้ฤดูกาลเดียว แต่จากนั้นไม่นานเมื่อ ‘ทักษิณ’ ขายทีมต่อให้เศรษฐีน้ำมันอาหรับ ‘เรือใบสีฟ้า’ ก็ขยับสถานะขึ้นมา กลายเป็นทีมแถวหน้าที่ผูกขาดแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษแทนคู่ปรับร่วมเมืองได้ในที่สุด
หลังร่วมงานกับคนไทยครั้งแรกที่ ‘แมนฯ ซิตี้’ ต่อมาในปี 2010 - 2011 อิริคสันมีโอกาสคุมทีมที่คนไทยเป็นเจ้าของอีกครั้งกับ 'เลสเตอร์ ซิตี้’ จากนั้นจึงเดินทางมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอลในศึกไทยลีกกับ ‘บีอีซี - เทโรศาสน’ แม้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในปี 2012
ตลอด 11 ปี หลังถูก ‘ทักษิณ’ ปลดจากแมนฯ ซิตี้ อิริคสันตระเวนไปรับงานผู้จัดการทีมทั่วโลกรวม 7 ทีม โดยนอกจากเลสเตอร์ ยังมีทีมชาติเม็กซิโก ไอเวอรี่โคสต์ และฟิลิปปินส์ รวมถึงสโมสรในลีกจีนอีก 3 ทีม ก่อนประกาศอำลาอาชีพโค้ชอย่างเป็นทางการในปี 2019
“ผมไม่รู้ว่าตัวเองเป็นผู้จัดการทีมที่ดีไหม แต่ถ้ามีอะไรที่ผมทำได้ดี มันคือการสร้างบรรยากาศดี ๆ ให้เกิดขึ้นไม่เฉพาะแค่ในทีม แต่รวมทั้งสโมสร ผมคิดว่านั่นคือจุดแข็งของผม มากกว่าเรื่องเทคนิคการเล่นด้วยซ้ำ”
อิริคสันบอกกับ The Guardian หลังตลอดอาชีพกุนซือที่ผ่านมาเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้จัดการทีมที่ให้เกียรติคนรอบตัว และเป็นที่รักของนักเตะหลายคน
“ผมรักเขาตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา เขาคอยปกป้องและให้เกียรตินักเตะทุกคน” เดวิด เบ็คแฮม กัปตันทีมชาติอังกฤษในยุคอิริคสัน กล่าวยืนยันเรื่องนี้
ชื่อเสียงเรื่องการปกป้องลูกทีมของอิริคสันที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็นการแถลงข่าวครั้งสุดท้ายในฐานะกุนซือทีมชาติอังกฤษ หลัง ‘เวย์น รูนีย์’ โดนใบแดง ทำให้อังกฤษต้องเล่น 10 คนนานนับชั่วโมง จนสุดท้ายพ่ายจุดโทษโปรตุเกส ตกรอบก่อนรองชนะเลิศฟุตบอลโลก 2006
อิริคสันพยายามปกป้องรูนีย์ โดยบอกกับนักข่าวว่า ศูนย์หน้าดาวรุ่งผู้นี้ คือ อนาคตสำคัญของทีมสิงโตคำราม
“อย่าไปเล่นงานเขาเลย เล่นงานผมนี่ พวกคุณต้องการเขา แต่คุณไม่จำเป็นต้องมีผมก็ได้”
หลังงานแถลงข่าวนั้น รูนีย์ออกมาชื่นชมและยกย่องกุนซือชาวสวีดิชทันทีว่า เป็นโค้ชที่น่าเคารพและมี “คลาส” อย่างแท้จริง
“ถ้าคุณให้เกียรติคนรอบตัว พวกเขาก็จะให้เกียรติคนอื่นรอบตัวของเขาด้วยเช่นกัน” อิริคสันกล่าวย้ำปรัชญาข้อนี้ของตนเอง
นอกจากเป็นกุนซือจอมแท็คติก อิริคสันยังมีเอกลักษณ์เรื่องบุคลิกข้างสนามที่ไม่เหมือนใคร เขาเป็นผู้จัดการทีมที่แต่งตัวเนียบ ใส่แว่น สวมสูท หวีผมเปิดหน้าผากกว้าง ที่สำคัญแทบไม่เคยแสดงอารมณ์ใด ๆ ออกมาไม่ว่าทีมจะตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไร
หลายคนแซวว่า มาดนิ่ง ๆ ของเขาทำให้ดูคล้ายอาจารย์มหาวิทยาลัยมากกว่าผู้จัดการทีมฟุตบอล
อิริคสันเปิดใจหลังประกาศข่าวร้ายว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และมีเวลาอยู่บนโลกนี้ได้อีกไม่นานว่า ฟุตบอลคือทุกอย่างในชีวิตของเขา แม้ในช่วงที่ตัวเองต้องพักรักษาตัว เขายังนั่งชมเกมลูกหนังอย่างบ้าคลั่ง และบอกว่า ไม่เคยพลาดชมศึกยูโร 2024 เลยสักนัดเดียว
ในหนังสารคดีเรื่อง Sven นอกจากอิริคสันจะกล่าวขอบคุณทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งโค้ช นักเตะ และกองเชียร์เป็นครั้งสุดท้าย เขายังยืนยันหนักแน่นว่า ไม่เคยเสียใจต่อเรื่องที่ผ่านมา ไม่ว่าจะร้ายหรือดี
“อย่าเสียใจไปเลย จงยิ้มเข้าไว้” เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขาทั้งร้ายและดี เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้เข้ามา เขาบอกว่า ไม่มีอะไรมีความสุขไปกว่าแค่ตื่นนอนขึ้นมาและรู้ว่าตัวเองยังไม่ตาย
แต่ถ้าวันนั้นมาถึงจริง ๆ เขาอยากให้ทุกคนจดจำชายผู้นี้ที่ชื่อ ‘สเวน-โกรัน อิริคสัน’ ว่า เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่มองโลกในแง่ดี และพยายามทำทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้
ที่สำคัญ… อย่าลืมให้เกียรติคนรอบกายเพื่อให้สังคมน่าอยู่ และเต็มไปด้วยความรัก
เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล
อ้างอิง:
THE SVEN YEAR | ภาพยนตร์เต็มเรื่อง! | 1 ปีที่แมนฯ ซิตี้ กับ ‘สเวน โกรัน อิริคสัน’ / Man City
'Don't be sorry, smile' - Eriksson in new film / BBC
Sven review – this portrait of the ex-England manager is deeply profound / The Guardian