‘ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน’ ชายหลังฉากยุคแข้งดังแห่ซบลีกซาอุฯ ยุคทุนอาหรับบุกโลกลูกหนัง

‘ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน’ ชายหลังฉากยุคแข้งดังแห่ซบลีกซาอุฯ ยุคทุนอาหรับบุกโลกลูกหนัง

‘ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน’ คือขุนพลเอกแห่งโลกกีฬาของซาอุฯ ชายหลังฉากยุคที่แข้งดังระดับโลกแห่ซบลีกซาอุฯ ชื่อของเขาถูกมองว่าเป็นบุคคลสำคัญเบื้องหลังทุนใหม่(แห่งอาหรับ)ที่กำลังบุกโลกลูกหนังในปัจจุบัน

  • ระหว่างปี 2022-2023 นักเตะระดับโลกมากมายตบเท้าไปร่วมเล่นในลีกฟุตบอลในซาอุฯ รวมถึงคริสเตียโน โรนัลโด้ ด้วย และไม่เพียงแค่นักฟุตบอล ผู้มีอิทธิพลในซาอุฯ ยังเข้ามาลงทุนในโลกกีฬาอย่างต่อเนื่อง
  • ขุนพลเอกแห่งโลกกีฬาของซาอุฯ ถูกมองว่าเป็น ‘ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน’ บุคคลสำคัญเบื้องหลังทุนใหม่จากอาหรับที่กำลังบุกโลกลูกหนังในปัจจุบัน

ถนนทุกสายมุ่งสู่ ซาอุ โปรลีก

แมนเชสเตอร์ ซิตี ได้แชมป์ยูฟา แชมเปียนส์ลีก ถือว่าเป็นการปิดฉากฤดูกาล 2022/2023 ของฟุตบอลในยุโรปทั้งหมด และเป็นชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จชัดเจนของทุนกีฬาฟุตบอลจากตะวันออกกลาง นับจากปี 2008 ซึ่งกลุ่มทุนอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ซื้อสโมสรแห่งนี้ด้วยมูลค่า 210 ล้านปอนด์

ด้วยเวลาเพียง 15 ปีเท่านั้น พวกเขาเดินทางมาสู่ความสำเร็จสูงสุดด้วยทริเปิลแชมป์ ได้ทั้งแชมป์พรีเมียร์ลีก แชมป์เอฟเอคัพ เป็นสองถ้วยในอังกฤษ และแชมป์สโมสรยุโรป ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก เพิ่มมูลค่าทางการตลาดของสโมสรเป็น 4 เท่า

อย่างที่รู้กันในรอบ 2 ทศวรรษหลังที่ผ่านมา กลุ่มทุนทั้งรัฐบาลและเอกชนจากทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศอภิมหาเศรษฐีน้ำมันจากตะวันออกกลาง คาบสมุทรอาหรับ ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ อันอุดมด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ดาหน้าเข้ามาซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลในยุโรป โดยเฉพาะสโมสรที่มีฐานแฟนคลับหนาแน่นทั้งในประเทศและทั่วโลก

ความสำเร็จของแมนเชสเตอร์ ซิตี ที่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้คือเป็นแชมป์สโมสรยุโรปได้ลุล่วงไปแล้ว เหลือเพียงปารีส แซงต์-แชร์กแมง ของกลุ่มทุนกาตาร์ซึ่งยังไปไม่ถึงฝั่งฝันประกาศศักดาเป็นแชมป์สโมสรยุโรปสักที ทั้งที่ทุ่มเงินลงไปอย่างมหาศาลมีนักเตะระดับโลกล้นทีม

แต่ในทางกลับกัน ตอนนี้ถนนทุกสายกำลังมุ่งสู่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นบ่อน้ำมันโลกฟุตบอลรายใหญ่สุดที่ทุ่มทุนสู่วงการฟุตบอลของอังกฤษ ยุโรป และลีกฟุตบอลอาชีพซาอุดีอาระเบีย (Saudi Professional League) เอง

หลังจากที่เข้าครอบครองกิจการสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด มาฤดูกาลครึ่ง ในฤดูกาลนี้พวกเขาสามารถคว้าอันดับ 4 ได้โควตาไปเล่นฟุตบอลยุโรปถ้วยแชมเปียนส์ลีกครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ แม้จะมีเพียงนักเตะเกรดบีบวก และโค้ชในระดับเดียวกันเพียงเท่านั้น

ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สวยงามของกลุ่มทุนซาอุฯ ที่เห็นอนาคตในวงการฟุตบอลอังกฤษและยุโรปอยู่ไม่ไกลนักจากแบบอย่างความสำเร็จที่แมนเชสเตอร์ ซิตี เคยทำไว้

สิ่งที่แตกต่างจากกลุ่มทุนสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ กลุ่มทุนกาตาร์ ที่ไม่ค่อยสร้างลีกในประเทศให้ติดระดับท็อปของโลก แต่ซาอุฯ ใช้ลีกฟุตบอลของตัวเองเป็นทางลัดนั้นทันทีในฤดูกาลนี้ มีซูเปอร์สตาร์ของวงการคือ คริสเตียโน โรนัลโด นักเตะเบอร์ 1 ของโลก เจ้าของบัลลงดอร์ 5 สมัยมาเล่นให้กับสโมสร อัล-นาสเซอร์ ด้วยตัวเลขตอบแทนเป็นสถิติโลก 175 ล้านปอนด์ต่อปี หรือราว ๆ 7.6 พันล้านบาท

โรนัลโด บอกว่า ซาอุ โปรลีก สามารถขึ้นมาเป็นท็อป 5 ลีกของโลกได้

ในขณะที่เบอร์ 1 ของโลกร่วมกัน ลิโอเนล เมสซี ที่แซงโรนัลโดไปแล้ว จากการพาทีมชาติอาร์เจนตินาคว้าแชมป์โลกที่กาตาร์ กลับเลือกไปเล่นในฟุตบอลเมเจอร์ลีก สหรัฐอเมริกา กับสโมสรอินเตอร์ ไมอามี ที่มีเดวิด เบคแฮม เป็นเจ้าของร่วม ด้วยค่าเหนื่อยประมาณ 200 ล้านยูโร หรือประมาณ 7.4 พันล้านบาท

ในช่วงปิดฤดูกาลของฟุตบอลในทวีปยุโรป การซื้อขายนักเตะกำลังเริ่มต้นคึกคัก โดยเฉพาะนักเตะที่เคยอยู่ระดับสุดยอดของโลก และอยู่ในช่วงปลายอาชีพค้าแข้งของตัวเอง ได้พาเหรดกันไปสู่ซาอุฯ โปรลีก ด้วยค่าเหนื่อยที่มหาศาล

ลูกา โมดริช กองกลางชาวโครเอเชียของเรอัล มาดริด วัย 37 ปีเป็นนักเตะอีกคนที่อยู่ช่วงปลายของอาชีพพร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอจากทีมในลีกประเทศซาอุดีอาระเบีย

ท็อป 5 ของนักเตะที่ได้รับค่าจ้างสูงที่สุดในโลกฟุตบอล 3 อันดับแรก ปัจจุบันนี้อยู่ในลีกซาอุฯ เอ็นโกโล ก็องเต นักเตะทีมชาติฝรั่งเศสจากสโมสรเชลซี ไปอยู่กับ อัล อิตติฮัด ในซาอุดีอาระเบีย แล้ว ด้วยสัญญา 2 ปี ค่าจ้างแพงถึง 100 ล้านยูโร ต่อปี หรือราว ๆ 3.7 พันล้านบาท กลายเป็นนักเตะที่ได้รับค่าจ้างมากที่สุดของวงการฟุตบอลในอันดับที่ 4 ร่วมกับ คาริม เบนเซมา เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ปีล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวกับสโมสร อัล อิตติฮัด ด้วยค่าจ้าง 100 ล้านยูโรเช่นกัน

คาริม เบนเซมา มั่นใจว่า ภายใน 2 หรือ 3 ปี ซาอุฯ โปรลีกลีกแห่งนี้จะเป็นหนึ่งในลีกที่สำคัญที่สุดของโลก

ตอนนี้ ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมยอง กองหน้าของสโมสรเชลซี ได้รับความสนใจจากสโมสร อัล อาห์ลี และ อัล ชาบับ แต่ก็มีนักเตะที่ปฏิเสธลีกซาอุฯ โปรลีก อย่าง ริยาด มาห์เรซ วัย 32 ปี ปีกทีมชาติแอลจีเรียของแมนเชสเตอร์ ซิตี บอกปัดข้อเสนอจาก อัล อาห์ลี เนื่องจากยังต้องการค้าแข้งในยุโรปต่อไป 

(อัปเดต สิงหาคม 2023 (กองบรรณาธิการ): ริยาด มาห์เรซ ย้ายไปร่วมทีม อัล อาห์ลี เมื่อกรกฎาคม 2023)

นอกจากนี้ การบูมซาอุฯ โปรลีก ให้เปรี้ยงปร้างในระดับโลก กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะของซาอุดีอาระเบีย หรือพีไอเอฟ (Public Investment Fund - PIF) ซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่เป็นเจ้าของสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ได้เข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ของทีมอัล นาสเซอร์ / อัล ฮิลาล / อัล อาลิ และ อัล อิตติฮัด โดยเข้าถือหุ้น 75%

พีไอเอฟ ยืนยันว่าการลงทุนดังกล่าวไม่ถือเป็นรูปแบบหลายเจ้าของที่เกี่ยวข้องกับนิวคาสเซิล 4 สโมสรที่ถูกเข้าถือหุ้นในสโมสรของซาอุดีอาระเบีย แต่เดิมบริหารงานโดยกระทรวงกีฬาของประเทศ แต่ปัจจุบันถูกแปรรูปสู่เอกชนและพีไอเอฟได้รับไฟเขียวให้ลงทุน ยืนยันว่าแต่ละสโมสรจะได้รับการจัดการโดยคณะกรรมการอิสระและมีฝ่ายบริหารที่แยกจากกัน

ซาอุดี โปรเฟสชันนัล ลีก (Saudi Professional League) เป็นลีกฟุตบอลสูงสุดของประเทศซาอุดีอาระเบีย ก่อตั้งในปี 1976 หรือเมื่อ 47 ปีที่แล้ว สโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ อัล ฮิลาล โดยคว้าแชมป์ไป 18 สมัย และเคยคว้าแชมป์ระดับทวีปในรายการ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก 4 สมัย ปัจจุบันมี 16 ทีม และจะมีการแข่งขันกันในลีก 30 นัดต่อฤดูกาล

ซาอุ โปร ลีก คือลีกระดับต้น ๆ ของทวีปเอเชีย และมีแนวทางการพัฒนาต่อไปในอนาคตที่น่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นลีกที่มี VAR ใช้แล้ว และยังได้รับการสนับสนุนอย่างสูงจากรัฐ โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนลีกแห่งนี้ให้เป็นหนึ่งใน 10 ลีกที่ดีที่สุดในโลก และต้องการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของลีกขึ้นเป็นสามเท่า

หากนำมาเปรียบเทียบกับ ไชนีส ซูเปอร์ ลีก ของประเทศจีน ซาอุฯ กำลังจะทำเหมือนจีนในช่วงปี 2016 นั่นก็คือการใช้เงินซื้อนักเตะดัง ๆ เข้าทีม แต่ต่างกันที่พวกเขามีแนวทางการพัฒนาที่น่าสนใจ มีความทะเยอทะยานที่จะก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินที่เป็นแค่ส่วนหนึ่งในการพัฒนาขับเคลื่อนลีก โดยตั้งหวังจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2030

คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เริ่มเส้นทางจากยุโรป ก่อนย้ายไปร่วมลีกซาอุฯ

ซาอุดี วิชัน 2030 / พีไอเอฟ / นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด

กีฬาฟุตบอลถือเป็นกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก ประมาณ 3.5 พันล้านคน และลีกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ ลีกฟุตบอลของประเทศอังกฤษ

ในปี 2021 พีไอเอฟ ของซาอุดีอาระเบีย มองว่า สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ถือเป็นทีมที่เหมาะสมในการลงทุน เพราะไม่มีหนี้ติดค้างและมีสถานะทางการเงินที่ยอดเยี่ยม มีสนามที่ใหญ่และมีฐานแฟนบอลมากที่สุด เป็นรองเพียงทีม 6 ทีมใหญ่ในปัจจุบัน

เป้าหมายคร่าวๆ ที่พวกเขาตั้งไว้ในอนาคตคือ การพาทีมเป็นแชมป์ยูฟา แชมเปี้ยนส์ ลีก และต้องใช้เวลาในการติดต่อซื้อขายและการอนุมัติถึง 18 เดือนเต็มหรือ 1 ปีครึ่ง ภายใต้เงื่อนไขการรับรองที่มีผลผูกพันทางกฎหมายว่าภาครัฐซาอุดีอาระเบียจะไม่ควบคุมสโมสร

ยาเซียร์ อัล รูมัยยาน (Yasir Al-Rumayyan) ผู้ว่าการของพีไอเอฟ ประธานบรรษัทซาอุดี อรามโค (Saudi Aramco) หรือบรรษัทน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย และประธานสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด คือมันสมองขององค์กรที่แท้จริง

ปัจจุบันกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ พีไอเอฟ เข้าซื้อหุ้นบริษัทชื่อดังยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง รวมมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท อาทิ Bank of America / Boeing / Citigroup / Walt Disney / Facebook / โรงแรม Marriott International / BP / Total / Shell / Equinor / Berkshire Hathaway Inc. เป็นต้น

พีไอเอฟของซาอุดีอาระเบีย เป็นหนึ่งในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยสินทรัพย์รวมโดยประมาณอย่างน้อย 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (16 ล้านล้านบาท) ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 โดยสมเด็จพระราชาธิบดีฟัยศ็อลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงรียาด นครหลวงของซาอุดีอาระเบีย มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนกองทุนในนามของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย กองทุนนี้ควบคุมโดยมกุฏราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ผู้ปกครองซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่ปี 2015

ในอดีต กองทุนนี้ถือเป็นหนึ่งในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่มีความโปร่งใสน้อยที่สุดในโลก ในปี 2016 วารสารวอลล์สตรีตเจอร์นัล (Wall Street Journal) ระบุว่า ไม่พบการลงทุนใด ๆ ของกองทุนนี้ การดำเนินกิจกรรมขององค์กรทำให้เกิดการถกเถียงถึงความสัมพันธ์กับรัฐบาลซาอุดีอาระเบียและปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

พีไอเอฟ มีเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน (Crown Prince Mohammad bin Salman) เป็นประธาน ซึ่งปัจจุบันเจ้าชายดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารในราชวงศ์ซาอุฯ และเป็นราชโอรสของ สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลอะซิซ อัล-ซาอุด กษัตริย์ของประเทศซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งภายในประเทศยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

จุดเปลี่ยนสำคัญในการบุกตลาดลงทุนเพื่อความมั่งคั่งของโลกยุคปัจจุบัน คือในปี 2015 มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ในฐานะประธานของพีไอเอฟสามารถจัดการมีอำนาจบริหารประเทศโดยเบ็ดเสร็จจากการเมืองภายในราชวงศ์ ได้ทำการปรับโครงสร้าง กลยุทธ์และกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้พีไอเอฟสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ในสายตานานาชาติ โดยเฉพาะองค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล ที่เชื่อว่า เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน เป็นผู้อยู่เหนือระบบเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวที่อ้างว่าราชวงศ์ซาอุฯ มีเรื่องราวเชิงลบมากมาย เช่น การพัวพันกับการสังหาร ญามาล คอชุกกี นักข่าวคนดังที่เน้นเรื่องการเปิดโปงเรื่องราวเชิงลบของรัฐบาลซาอุฯ ขณะที่เจ้าตัวไปติดต่อธุระที่สถานกงสุลซาอุฯ ในนครอิสตันบูล เมื่อปี 2018

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เจ้าชายซาอุฯ ยุคฟื้นสัมพันธ์ ‘สยาม’ ก้าวข้ามรอยร้าวคดี ‘เพชร’

การขับเคลื่อนผ่าน ‘Saudi Vision 2030’ คืออภิมหาโปรเจกต์ของซาอุดีอาระเบีย โดยมีเป้าหมายคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเสียใหม่ จากที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่หลากหลาย เช่นเดียวกับการสร้างความทันสมัยตามหลักสากลให้กับสังคมอนุรักษนิยมของประเทศ โดยมกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ซึ่งกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดและเป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศสู่การเปลี่ยนผ่านให้ซาอุดีอาระเบียก้าวข้ามสู่ยุคใหม่

การริเริ่มปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความทันสมัยผ่านกองทุนการลงทุนสาธารณะ (Public Investment Fund - PIF ) มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคและแสวงหาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนในระดับสากล เน้นร่วมทุนกับกลุ่มทุนระดับโลก เพื่อสร้างความหลากหลายเชิงรายได้ของประเทศในอนาคตอย่างมีนัยสาคัญ โดยเฉพาะการขยายหุ้นส่วนเศรษฐกิจด้านการลงทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก และการเพิ่มหุ้นส่วนการลงทุนภายในประเทศภายใต้หมวดการลงทุนที่หลากหลายและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก่อนปี 2015 พีไอเอฟถูกมองว่า 40 กว่าปีที่ผ่านมา การบริหารงานมีความไม่โปร่งใสเนื่องจากมีระบบการบริหารโครงการต่าง ๆ ไม่ชัดเจน อีกทั้งขาดเสถียรภาพเชิงโครงสร้างการบริหาร ในปี 2015 เจ้าชายมูฮาหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารในฐานะผู้ริเริ่มการเปลี่ยนผ่านทั้งการเมืองและระบบเศรษฐกิจของประเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการกองทุนนี้ ซึ่งคงใช้ในชื่อเดิมแต่สรรหาทีมบริหารชุดใหม่ทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กองทุนดังกล่าวเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตาม ‘วิสัยทัศน์ 2030’ หวังกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวและช่วยพยุงสถานะการเงินของประเทศให้ปรับฐานสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด สร้างความโดดเด่นให้ประเทศเกิดความมั่งคั่ง รุ่งเรือง

จากเป้าหมายการลงทุนผ่านกองทุนดังกล่าวย่อมมีผลให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เพราะสาระสำคัญของโครงการต่าง ๆ มุ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจเกิดใหม่

‘วิสัยทัศน์ 2030’ ที่วางแผนไว้ค่อนข้างละเอียด และต้องบรรลุให้ได้ใน 9 ปี แน่นอน ในฐานะที่จะสร้างซาอุดีอาระเบีย และนครหลวงคือ กรุงริยาด ผ่าน 4 Giga Projects ที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งในด้าน 1. การท่องเที่ยวหรู 2. เมืองหลวงแห่งความบันเทิงและกีฬา 3. นวัตกรรมสำหรับโลกใหม่ 4. การสร้างชุมชนและอสังหาริมทรัพย์

ในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกีฬาและอื่น ๆ มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ได้มอบสิทธิอำนาจให้กับยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และซาอุ โปรลีก จึงเป็นแค่ติ่งหรือสัดส่วนน้อยนิดของอภิมหาโปรเจกต์ครั้งนี้ของ ‘วิสัยทัศน์ 2023’ ด้วยแผนการพัฒนาประเทศในเส้นทางใหม่

มุฮัมมัด บิน ซัลมาน

ล่าสุด หลังประสบความสำเร็จในการสร้างสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ให้เป็นสโมสรบิ๊กโฟร์บนเกาะอังกฤษได้ในเวลาแค่ปีครึ่ง และสร้างซาอุ โปรลีกให้ขึ้นสู่ลีกระดับโลก เพื่อรองรับในการขอเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2030 ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน ได้ขึ้นเป็นประธานองค์กรการค้าใหม่ระหว่างพีจีเอ ทัวร์ (PGA Tour) กับยูโรเปียน ทัวร์ (European Tour) ไปร่วมมือกับ ลิฟ กอล์ฟ (LIV Golf) ที่ขัดแย้งกัน โดยตำแหน่งประธานในธุรกิจการค้าองค์กรกอล์ฟแห่งใหม่ที่รวมตัวกัน จะเปลี่ยนวงการกอล์ฟไปตลอดกาล

สมาคมกอล์ฟอาชีพขนาดใหญ่ 3 แห่งของโลก คือ พีจีเอ ทัวร์ และยูโรเปียน ทัวร์ จับมือกับคู่แข่งอย่าง ‘ลิฟ กอล์ฟ’ ที่มีรัฐบาลซาอุดีอาระเบียหนุนหลัง ประกาศข้อตกลงฉบับสำคัญที่จะรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรใหม่ ทำหน้าที่จัดการแข่งขันกอล์ฟระดับโลก จะทำงานด้วยกันเพื่อให้นักกอล์ฟในสังกัดของลิฟ กอล์ฟ สามารถลงทะเบียนเพื่อกลับเข้าไปเล่นใน พีจีเอ ทัวร์ ได้ในฤดูกาลหน้า

ลิฟ กอล์ฟ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากพีไอเอฟ โดยกองทุนดังกล่าวจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อใช้ในการขยายการเติบโตและความสำเร็จขององค์กรใหม่ในวงการกอล์ฟโลกด้วย

จากการดีลระดับมหาโปรเจกต์ ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน ก็ได้รับการสวม ‘มงกุฎ’ ให้เป็นราชาแห่งวงการกอล์ฟคนใหม่ในทันที

ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน วัย 53 ปี ขุนพลเอกของมกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย กำลังกลายเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่สำคัญที่สุดในวงการกีฬา พอร์ตการลงทุนของเขาดูเหมือนจะขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

จากชายผู้ซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้จักนอกประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันดูแลสินทรัพย์ประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับประเทศที่ถูกตะวันตกตั้งคำถามเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน

ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน เกิดในเมืองทางตอนเหนือ บุไรดาห์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 1970 บิดาเป็นชาวซาอุดีอาระเบีย ที่ทำงานในกระทรวงกลาโหมและการบิน และมารดาเป็นชาวซีเรีย ต่อมาเขาสำเร็จการศึกษาด้านบัญชีจากมหาวิทยาลัยคิงไฟซาลในปี 1993 และเข้าเรียนหลักสูตรการจัดการทั่วไประดับสูงกว่าปริญญาตรีที่ Harvard Business School และในที่สุดก็เริ่มทำงานที่ Saudi Hollandi Bank ในแผนกต่าง ๆ ก่อนที่จะได้เป็นหัวหน้าฝ่ายนายหน้าระหว่างประเทศของธนาคาร

ตามโปรไฟล์ของ Fii Institute (The Future Investment Initiative Institute) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินการโดยกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ กองทุนความมั่งคั่งอธิปไตยหลักของซาอุดีอาระเบีย ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน เข้าร่วม Capital Market Authority โดยเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้ก่อตั้งในปี 2008

ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2015 เขาทำหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและสมาชิกคณะกรรมการของ Saudi Fransi Capital ในระหว่างนั้น เขายังดำรงตำแหน่งคณะกรรมการของ Tadawul ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ของซาอุดีอาระเบียตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2015

มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน เริ่มสังเกตเห็นความสำเร็จของ ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน ในบทบาทเหล่านั้น และในเดือนกันยายน 2015 ได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการของพีไอเอฟ ซึ่งได้รับอำนาจใหม่ในการลงทุนในต่างประเทศและได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่

ภายในหนึ่งปีหลังจากนั้น พีไอเอฟ ได้ซื้อหุ้นจำนวนมากใน Uber ทำให้ ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ และเปิดตัวแคมเปญ MBS Vision 2030 หรือ Mohammed bin Salman Vision 2030 ในปี 2016 ซึ่งเป็นแรงผลักดันในการกระจายพอร์ตธุรกิจของประเทศ นำไปสู่การเพิ่มการลงทุนอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นต้นแบบ ‘Saudi Vision 2030’ ในที่สุด

ในฐานะขุนพลเอกทางด้านลงทุนโลก และเป็นมือขวาของมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียนั้น ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน ทำงานได้อย่างรวดเร็วฉับไว บรรลุเป้าที่วางไว้อย่างเกินคาด ตั้งแต่ปี 2015 เพียงแค่ 8 ปีเท่านั้น อิทธิพลของเขาต่อกิจการระดับโลกยังคงเติบโตต่อไป แม้จะถูกกล่าวหาว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับการยอมรับของซาอุฯ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์เรื่องประวัติด้านสิทธิมนุษยชน

โดยเฉพาะ ‘การฟอกขาวผ่านกีฬา’ (Sportswashing) ให้กับซาอุฯ ที่มีคำถามในแง่มุมทางการเมืองและสิทธิมนุษชน คำนี้ใช้อธิบายการปฏิบัติของบุคคล กลุ่ม บริษัท หรือรัฐบาลที่ใช้กีฬาเพื่อปรับปรุงชื่อเสียงที่เคยมัวหมอง นับเป็นรูปแบบหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อผ่านภาพลักษณ์ทางการลงทุนในกีฬา

ในระดับโลก เชื่อกันว่าการฟอกขาวผ่านกีฬาถูกนำมาใช้เพื่อดึงความสนใจจากประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่รายล้อมด้วยเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในระดับบุคคลและองค์กร มีความเชื่อว่าการฟอกขาวกีฬาถูกนำมาใช้เพื่อปกปิดเรื่องอื้อฉาว นับเป็นตัวอย่างของการฟอกชื่อเสียงและภาพลักษณ์อีกทางหนึ่ง

การฟอกขาวกีฬาได้รับการอธิบายว่าเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจแบบนุ่มนวล (Soft Power) ของประเทศร่ำรวยหรือบุคคลที่ร่ำรวย

การเทคโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เป็นตัวอย่างของกลยุทธ์ที่ ยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน ใช้เวลาในการก้าวข้ามเส้นประเด็นทางกฎหมายและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์เกมพรีเมียร์ลีก โดยยืนยันต่อพรีเมียร์ลีกที่ตรวจสอบในเรื่องกฎการเป็นเจ้าของสโมสร (Fit and Proper Test) ว่า พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะไม่ได้เข้ามาควบคุมกิจการของสโมสร หรือพูดง่าย ๆ คือ คนที่ซื้อสโมสรเป็นแค่กลุ่มทุนไม่ใช่รัฐ

การมาถึงของพีไอเอฟ ได้รับการประกาศให้เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง

สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ได้รับการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และแม้ว่าจะมีการขยายความสนใจไปที่อื่น เป้าหมายสุดท้ายคือให้สโมสรแข่งขันเพื่อชิงถ้วยรางวัล และเพิ่มภาพลักษณ์ระดับโลกของซาอุดีอาระเบียด้วยพลังของซอฟต์พาวเวอร์ โดยกีฬาฟุตบอลอาชีพ

การขยายการลงทุนและการขยายอาณาจักรโดยพื้นฐานของซาอุดีอาระเบียไม่มีวี่แววว่าจะชะลอตัวลง และยาเซียร์ อัล-รูมัยยาน จะยังคงเป็นศูนย์กลางของซาอุฯ ที่ขยายไปสู่เศรษฐกิจโลก กีฬาจะเป็นหัวใจสำคัญของมัน และคาดว่าในอนาคต พีไอเอฟ จะซื้อสโมสรฟุตบอลอื่น ๆ ทั่วยุโรป การเข้าครอบครองวงการกอล์ฟอาชีพ และบริษัททางเทคโนโลยีจะยังคงเป็นอีกส่วนสำคัญของการเติบโต

ปัจจุบันยังมีกลุ่มแฟนบอลนิวคาสเซิลที่ต่อต้านการใช้การฟอกขาวผ่านกีฬาอย่างกลุ่ม NUFC Fans Against Sportswashing ได้ออกแถลงการณ์ ร่วมแสดงความกังวลเช่นกันว่าจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป รวมถึงฝั่งกลุ่มต่อต้านอย่างบรรดาสโมสรอื่น ๆ และแอมเนสตีที่ยืนยันว่าจะมีการผลักดันให้มีการตรวจสอบใหม่พีไอเอฟอีกครั้ง

 

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2023