Game Changer: ‘อ๊อตโต้-พันธุ์นารายณ์’ โค้ชฟุตบอลวัย 26 ปี อายุน้อยสุดในลีกอาชีพไทย

Game Changer: ‘อ๊อตโต้-พันธุ์นารายณ์’ โค้ชฟุตบอลวัย 26 ปี อายุน้อยสุดในลีกอาชีพไทย

Game Changer: อ๊อตโต้ - พันธุ์นารายณ์ พันธุ์ศิริ โค้ชฟุตบอลอายุน้อยที่สุดอันดับต้นในลีกอาชีพไทยด้วยวัย 26 ปี ทำงานด้วยแนวคิดและเทคโนโลยีสมัยใหม่

ปี 2023 The People นำเสนอซีรีส์ใหม่ บอกเล่าเนื้อหาที่น่าสนใจในแต่ละเดือน ใช้ชื่อว่า Stories of the Month เราจะเลือกกลุ่มของเนื้อหาแล้วมานำเสนอในฐานะซีรีส์พิเศษประจำเดือน แต่ละเดือนจะมีหัวข้อของเนื้อหาที่ไม่ซ้ำกันมาให้ติดตาม

เดือนกรกฎาคม มาในหัวข้อ Game Changer ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘คน’ ที่สร้างจุดเปลี่ยน สร้างปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อผู้คน หรือเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ในแต่ละแวดวง รวมถึงเป็นแนวคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น

โค้ชฟุตบอลอายุน้อยที่สุดในลีกอาชีพไทย

Game Changer ครั้งนี้ เป็นบุคคลในแวดวงกีฬา ซึ่งถูกจับตาเป็นพิเศษว่า จะเป็นอีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาพัฒนาฟุตบอลไทย เปลี่ยนผ่านจากยุคเดิมในอดีต เขาคือ อ๊อตโต้ - พันธุ์นารายณ์ พันธุ์ศิริ ปัจจุบันอายุ 26 ปี และทำงานเป็นเฮดโค้ช สโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล ในไทยลีก 2

ก่อนมาทำงานกับสโมสรในลีกอาชีพของไทย อ๊อตโต้ เริ่มต้นทำงานเฮดโค้ชตั้งแต่วัย 18 ปี ทำงานกับทีมเลย ซิตี้ ชุดอายุต่ำกว่า 15 ปี

“ความยากก็คือ ผมคิดว่าศาสตร์ของการเป็นโค้ช เราต้องทำงานกับผู้คนจริง ๆ แล้วก็ต่างวัยด้วย ต่างทีม ต่างวัยกัน ต่างผู้คนกัน ร้อยพ่อพันแม่ เราก็จะเจอผู้เล่นต่าง ๆ เข้ามา ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือศาสตร์ในการจัดการคนมากที่สุด มากกว่าเรื่องของความรู้ หรือแทคติก

แต่ว่าองค์ความรู้ แทคติก อะไรต่าง ๆ มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเขายอมรับในตัวเรา แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการจัดการคนครับ การเป็นผู้นำการจัดการคน” อ๊อตโต้ เล่าถึงความท้าทายในการทำงานเป็นโค้ชทีมฟุตบอลตั้งแต่วัยทีน

อีกหนึ่งสิ่งที่วงการฟุตบอลไทยเริ่มให้ความสนใจในช่วงหลายปีมานี้คือ ตำแหน่งงาน ‘นักวิเคราะห์เกม’ ซึ่งอ๊อตโต้ เคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์เกมให้กับทีมชาติไทยในชุดระดับเยาวชน (รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี)

“ตำแหน่งนักวิเคราะห์เกมเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก ๆ เลยในฟุตบอลสมัยใหม่ เพราะว่า เราจะเรียนรู้ทั้งตัวเรา แล้วเรียนรู้คู่แข่งได้มากขึ้น เป็นงานที่ทำให้เราได้ศึกษาตัวเรากับคู่แข่งได้มากขึ้น  คิดว่าการที่มีนักวิเคราะห์เกม ทีมฟุตบอลจะทำงานได้สะดวกแล้วก็ง่ายมากขึ้น เพราะว่าเราจะรู้ว่าคู่แข่งเขาจะเล่นยังไง แล้วเราจะวางแผนยังไง แล้วก็ได้เห็นจุดแข็ง-จุดอ่อนของทีมเรา เพื่อที่จะนำมาพัฒนาให้ทีมเรามีวิธีการเล่นที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งในประเทศไทยสักประมาณ 3-4 ปีหลัง เริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แล้วก็เป็นอาชีพที่เรียกว่าขาดตลาดเลย

ตอนนี้ตำแหน่งนักวิเคราะห์เกมนี่ ถ้าใครมีฝีมือ ผมว่าหางานได้ไม่ยากเลย เพราะว่าหลาย ๆ ทีมเลือกที่จะนำจุดนี้มาใช้ เพราะผมคิดว่าพอใช้แล้วมันเห็นผลได้ชัดเจนที่สุด มากกว่าวิทยาศาสตร์การกีฬาแขนงอื่นเลย เห็นผลได้ชัดเจนแล้วก็ตรงเป้าอย่างยิ่ง”

หลักการที่อ๊อตโต้ ใช้ เรียกว่า GAG หรือ Game Analytical Game โดยดูเกมก่อน นำมาวิเคราะห์ แล้วเอามาวางแผนสู่เกมต่อไป อ๊อตโต้ เล่าว่า ใช้หลักการนี้ตั้งแต่เป็นนักวิเคราะห์จนถึงเป็นเฮดโค้ช

 

นักวิเคราะห์เกม

อ๊อตโต้ เคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์เกมให้กับทีมชุดใหญ่ของ True Bangkok United และยังได้รับโอกาสทำงานเป็นเฮดโค้ชรุ่นอายุไม่เกิน 14 ปีของ True Bangkok United ด้วย

“ทรัพยากรที่ True Bangkok United มีนักฟุตบอลที่เรียกว่าระดับท็อปเลย ก็ทำทีมได้แชมป์ CP-Meiji Cup ตั้งแต่รายการแรกที่คุมเลย แล้วตอนนั้น นักข่าวหรืออะไรต่าง ๆ ก็มาโปรโมต เรียกว่าค่อนข้างโปรโมตเป็นข่าวใหญ่เลย เพราะตอนนั้นผมทำทีมได้แชมป์ โดยที่ไม่แพ้ใครเลยในซีซั่นนั้น แล้วก็ไม่เสียประตูเลยสักประตู ทีมชิงทุกนัดเลย ก็ถือว่าเป็นข่าวใหญ่เลย ซึ่งผมก็ตกใจมากเพราะว่าชีวิตผมอยู่ ๆ เหมือนว่ามันก้าวกระโดดขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งเลย”

หลังจากนั้น เขาได้รับข้อเสนอมากมาย กระทั่งเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่ทำให้เขาตัดสินใจมาทำงานกับชัยนาท ฮอร์นบิล และพาทีมทำผลงานดีขึ้นตามลำดับ

ลองมาดูวิธีการทำงานของโค้ชหนุ่มคนนี้กัน

“ผมจะมีวิธีการทำงานที่แบ่งเป็น 2 เฟส ก็คือเฟสแรกคือในสนาม แล้วก็เฟสที่ 2 คือเรื่องของนอกสนาม ในสนามผมจะเน้นเรื่องของสถิติ แล้วก็วิทยาศาสตร์การกีฬา แล้วก็เรื่องของการเอาแนวคิดใหม่ ๆ เทรนด์ฟุตบอลใหม่ ๆ นำมาใช้ในแทคติกของเรา ก็จะเป็นฟุตบอลที่สนุกสนาน เอนเตอร์เทน เล่นเกมรุก แล้วก็ค่อนข้างสวยงาม เป็นฟุตบอลที่สวยงาม ผมจะค่อนข้างเก็บรายละเอียดเรื่องของแทคติกค่อนข้างเยอะ ก็คือเราไม่ได้มีแค่แผนเดียว แต่มี 1-2-3-4-5 แทคติกเลย แล้วก็เลือกหยิบนำมาใช้ในเกม ให้นักฟุตบอลเขาตื่นตาตื่นใจ

รวมถึงผมชอบศึกษาเรื่องของเกมของระดับโลกมาก เรานำเรื่องของสถิติ ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลโลกครั้งที่แล้ว เอาสถิติ เอา shape เอามุมกล้องแบบเบิร์ดอาย (มุมสูง) มาจับเลย แล้วก็เอามาประยุกต์กับทีมเราว่า โอเค ตัวเลขในการยืนของเขาระยะห่างเท่าไหร่ แล้วก็เขาเคลื่อนที่ shape ยังไง เราก็นำมาใช้กับทีมเรา

ผมเอาสถิติทีมชาติเซอร์เบียกับทีมชาติญี่ปุ่นเอามาใช้กับทีมเรา เพราะว่าผมคิดว่าสไตล์คล้าย ๆ กัน เราก็เอาตัวเลขมาดูว่า จำนวนครั้งที่เขา Pressing (บีบกดดันคู่แข่ง) เราทำได้กี่ครั้ง เขาทำได้กี่ครั้ง ตัวเลขในการส่งบอลเราทำได้กี่ครั้ง เขาทำได้กี่ครั้ง ความเร็วในการวิ่งเข้าหาบอลอะไรพวกนี้ครับ

เรามีมาตรฐานที่สูงก็คือในระดับฟุตบอลโลกแล้ว เราก็พยายามยกระดับมาตรฐานตัวเองขึ้นมา รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้โดรน การใช้มุมกล้องแบบเบิร์ดอายในการดูคลิปวิดีโอการฝึกซ้อมของเรา รวมถึงการนำแนวคิดใหม่ ๆ ขึ้นมา ผมพยายามอ่านข่าวในต่างประเทศว่า โอเค ตอนนี้โลกฟุตบอลเขาไปถึงไหนแล้ว อัปเดตองค์ความรู้เทรนด์ฟุตบอลของตัวเองขึ้นมา แล้วก็นำมาประยุกต์ใช้กับทีม อันนี้เป็นสิ่งที่เราทำในสนามนะครับในเฟสในสนาม

ในเฟสนอกสนาม เป็นเฟสที่ผมค่อนข้างสนใจมาก ตอนนี้พยายามศึกษาความรู้เต็มที่เลย เพราะผมเชื่อว่ามันจะช่วยยกระดับทีมได้อย่างแท้จริง เรามีการสร้างทีมสปิริตที่ดี สร้างเป้าหมายของเราให้ทุกคนคิดในแนวทางเดียวกัน สร้างความเป็นผู้ชนะ ความกระหายในทีม

ตอนนี้สิ่งที่ผมชอบที่สุดนะครับ พอดีในช่วง 3-4 ปีนี้มีซีรีส์ของต่างประเทศชื่อว่า Ted Lasso ผมชอบมากเลย ก็คือแนวคิดของเขาคือการสร้างคน ก่อนที่จะสร้างเรื่องของแทคติก เรื่องของแทคติกเป็นเรื่องรองสำหรับเขาเลยนะ เขาพยายามสร้างคนให้เป็น best version เป็นคนที่ดีที่สุดก่อน ซึ่งเราก็เห็นว่าในเทรนด์ฟุตบอล 3-4 ปีหลังนี้ หลาย ๆ ทีมเขาก็ให้ความสำคัญกับจุดนี้มาก ก็คือเรื่องของการสร้างนักฟุตบอลเขาให้เป็นมนุษย์ที่ดี ก่อนที่จะเป็นนักฟุตบอล อันนี้ผมชื่นชอบมากแล้วก็พยายามเอามาใช้กับทีม

ผมอยากจะสร้างที่ทำงานให้เป็นที่ที่สนุกที่สุด อยากจะให้ทุกคนตื่นมาแล้วก็อยากจะมาซ้อมบอล เคยนั่งคุยกับนักฟุตบอล มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราผลงานไม่ดี ก็นั่งในที่ประชุมเลยเปิดอกคุยกันว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผลงานเราไม่ได้ดีเท่าที่ควร หรือทำให้นักฟุตบอลไม่สามารถรักษา performance (ผลงาน) เขาได้ทั้งซีซั่น นักฟุตบอลบางคนบอกว่า ก็มีอยู่บางช่วงเหมือนกันที่เขารู้สึกว่า เขากังวลว่าเพื่อนร่วมทีมจะคิดยังไงกับเขา แล้วก็คิดว่าบางวันก็ไม่อยากจะซ้อมบอลด้วยซ้ำ อันนี้คือเปิดอกกับนักฟุตบอลอาชีพเลยนะครับ

นักฟุตบอลอาชีพเขาก็มีความเป็นคนนะครับ เราเข้าใจในความเป็นคนในความเป็นมนุษย์ของเขาว่ามันมีทั้งความเบื่อหน่าย ความชอบ บางทีเราก็คิดมาก เราก็กังวลกับเพื่อนร่วมทีม ปัจจัยหลาย ๆ อย่างเลย

ผมก็เลยคิดว่าในปีนี้ ชัยนาท ฮอร์นบิล สิ่งที่เราจะเอามาเป็น based on ที่เป็นเรื่องพื้นฐานจริง ๆ เลย คือทำทีมนี้ให้ทุกคนเป็นคนที่ดีขึ้นก่อน ทำองค์กรให้เป็นองค์กรที่ดีขึ้นก่อน ทุกคนอยากจะตื่นเช้ามาซ้อมฟุตบอล อยากจะสนุก เอ็นจอยกับที่ทำงาน ไม่มีเรื่องของการแทงข้างหลัง เรื่องของการนินทากัน หรือว่าการจับกลุ่มเพื่อที่จะแอนตี้เพื่อนร่วมทีมอะไรแบบนี้

เราพยายามกำจัดเรื่องพวกนี้ออกไปให้ได้หมดก่อน แล้วสร้างความเป็นทีมขึ้นมา สร้างให้เขาเป็นนักฟุตบอลที่เขารู้สึกภูมิใจในงานของเขา เขารู้สึกว่าเขาอยากตื่นมาทำงาน เขารู้สึกว่าเขาอยากตื่นมาเจอเพื่อนร่วมทีม แบบว่าเราซ้อม 5 โมง อยากให้ทุกคนอยากจะมาที่สนามเร็ว ๆ เลย เร็วที่สุดเลย เพราะถ้าเราจัดการเรื่องพวกนี้ได้ เราไม่ต้องไปตั้งกฎเลยว่า คุณจะต้องมาถึงสนามก่อนกี่นาที ทุกคนเขาอยากจะมาเจอเพื่อนฝูง อยากจะมาสนุกสนานเฮฮากัน แล้วก็สร้างความเป็นทีม สร้างความ Winning mentality จิตใจของการอยากชนะ

พอทุกคนมีจุดเหล่านี้ ผมคิดว่าเรื่องผลงานเป็นเรื่องรองเลย เพราะว่าทุกคนจะลงไปทำงานตามเป้าหมายเดียวกัน ก็คืออยากเล่นฟุตบอลให้สนุก ไม่อยากจะแพ้ อยากจะช่วยกันทำงานให้ออกมาตามเป้าหมายให้ได้ มีเป้าหมายร่วมกัน แล้วก็พาองค์กรไปถึงเป้าหมายให้ได้ อันนี้ก็คือเป็นแนวคิดคร่าว ๆ ที่ผมเอามาใช้กับทีมนะครับ”

 

สั่งสมความรู้

อ๊อตโต้ ผ่านการเรียนคอร์สอบรบฝึกสอนโค้ชระดับ C-License ตั้งแต่อายุ 18 ปี ขณะที่เพิ่งจบม.6 จากนั้นศึกษาต่อที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬาของมหาวิทยาลัยมหิดล เขาสอบได้ทุนของมหาวิทยาลัยไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่เกาหลีใต้ จากนั้นก็สอบ B-License ได้โอกาสทำงานเป็นนักวิเคราะห์เกมของทีมชาติไทยชุดอายุไม่เกิน 16 ปี

ช่วงรอยต่อระหว่างเรียนจบมหาวิทยาลัย อ๊อตโต้ ไปฝึกงานที่สโมสร True Bangkok United พอจบจากฝึกงานก็ได้ทำงานต่อที่นั่นทันที มาเป็นนักวิเคราะห์เกมให้กับ True Bangkok United รุ่นอายุ 23 ปี หรือเป็นชุด B ของสโมสร ที่เรียกกันว่าทีมสำรอง

ถัดจากนั้นค่อยเริ่มเป็นนักวิเคราะห์เกมให้กับทีมชุดใหญ่ของ True Bangkok United ก่อนทำงานเป็นโค้ชชุดอายุไม่เกิน 14 ปีของสโมสรนั้น ซึ่งอ๊อตโต้ ทำผลงานไร้พ่ายตลอดรายการจนเป็นเรื่องฮือฮาในวงการลูกหนังไทย

ผลงานนั้นทำให้ได้รับข้อเสนอจากทีมใหญ่มากมาย เขารับข้อเสนอเป็นเฮดโค้ชทีมฟุตบอลอาชีพ ทีมสิงห์ระฆังทอง กาญจนบุรี FC ซึ่งเป็นทีมลูกของทีมเมืองกาญจน์ ยูไนเต็ด ถือเป็นงานเฮดโค้ชครั้งแรกในชีวิตขณะอายุ 23 ปี

“ปีแรกผมจบอันดับ 4 แล้วก็ปีที่ 2 เป็นจ่าฝูงตั้งแต่แมตช์แรกถึงแมทช์สุดท้ายเลย แต่ว่าแมตช์สุดท้ายเนี่ย เราไปพลาดเสมอก็เลยจบอันดับ 2 นะครับ แต่ว่าตอนนั้น ทีมมีปัญหาการเงินก็เลยยุบทีมไป แล้วไปรวมกับเมืองกาญจน์ ยูไนเต็ดใน T2 ก็เลยขึ้นไปเป็นผู้ช่วยสโมสรเมืองกาญจน์ ยูไนเต็ดตอนนั้น

แต่ว่าด้วยผลงานปีที่ 2 เนี่ยเรียกว่าค่อนข้างดีเลย เพราะว่าได้เลือกตัวผู้เล่นเองแล้วก็ manage อะไรหลาย ๆ อย่างเอง ทำให้ผลงานพุ่งกระฉูด ได้รับข้อเสนอจากทีมใหญ่ หลาย ๆ ทีมมามากนะครับ แต่ว่าตอนนั้นผมก็เลือกที่จะทำงานทีมบ้านเกิดต่อ ก็คือสิงห์ระฆังทอง กาญจนบุรี FC ได้รับเทคโอเวอร์โดยกลุ่ม Dragon Solar Roof แล้วก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น DP Kanchanaburi FC ผมก็เลยรับข้อเสนอตรงนั้นมา แต่ว่าพอเราทำงานไปได้สักพักก็ความคิดเห็นไม่ตรงกัน”

ช่วงเวลานั้นยังมีหลายทีมสนใจดึงอ๊อตโต้ ไปร่วมงาน รวมถึงชัยนาท ฮอร์นบิล ที่เขาเล่าว่า มาจีบ 3 รอบ แต่เวลานั้น อ๊อตโต้ ยอมรับว่า ไม่กล้าออกจาก Comfort Zone ไม่กล้าออกจากกาญจนบุรีที่เป็นบ้านเกิด และซื้อบ้านที่นั่นด้วย แต่มีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแนวคิดของเขา

“เรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่เลย เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนชีวิตของผมเลย ก็คือเรื่องของคุณพ่อนะครับ ตอนนั้นผมเป็นคนที่ค่อนข้างดื้อ ใครรู้จักผมเนี่ย ผมดื้อมาก เพราะว่าใครแนะนำอะไร บางทีผมก็มีความคิดตัวเองเป็นใหญ่ แล้วก็บางทีมันก็ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องมากนัก ผมก็ติดอยู่ใน comfort zone แต่คุณพ่อผมเขาเป็นคนที่สร้างธุรกิจค่อนข้างบ่อย เป็นนักธุรกิจที่เปลี่ยนงาน เปลี่ยนธุรกิจตัวเองค่อนข้างบ่อย แล้วเขาก็บอกว่าตัวเองเนี่ยเป็นจอมยุทธ ดังนั้น เขาต้องเดินทางไปเรื่อย ๆ เปลี่ยนที่ทำงานเรื่อย ๆ เขาแนะนำผมตลอดเลยนะครับว่า ถ้าผมได้ข้อเสนอที่ดีกว่าผมต้องไป ผมไม่ต้องคิดอะไรมากผมต้องไป แต่ว่าผมไม่กล้าออกจาก comfort zone อันนี้ผมยอมรับเลยนะครับ

แต่พอช่วงนั้น ผมลาออกจาก DP Kanchanaburi FC ผมก็อยู่บ้านนี่แหละครับ พักผ่อนจิตใจ ยังไม่กล้ารับงานอื่น ไม่กล้าออกจาก comfort zone แต่ตอนนั้นคุณพ่อผมเสียพอดี เสียชีวิตกะทันหันจากโรคหัวใจนะครับ เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตผมเลย ผมก็เลยมานึกถึงคำสอนของแกที่ว่า เราต้องกล้าออกเดินทาง กล้าที่จะลองตัวเลือกใหม่ ๆ ซึ่งตอนนั้นก่อนคุณพ่อผมเสียประมาณ 3 วัน ผมโทรศัพท์คุยกัน บอกเล่าให้แกฟังว่า ผมมีข้อเสนอมาจากชัยนาท ฮอร์นบิลนะครับ แต่ว่าผมยังไม่ได้ตัดสินใจ คุณพ่อผมบอกว่า ต้องไปแล้วรอบนี้ ถ้าเขาติดต่อมาหาเราครั้งที่ 3 เนี่ย แสดงว่าเขาต้องการบอลของเรามาก ๆ ผมก็เลยบอกว่า เดี๋ยวผมจะกลับไปคิด

แล้วหลังจากนั้น 3 วัน แกเป็นโรคหัวใจเสียกะทันหัน ผมค่อนข้างช็อคมาก แล้วก็ในงานศพแก ผมก็ขับรถไปคุยกับชัยนาท ฮอร์นบิล ในวันที่จัดงานศพเลย บอกว่าเดี๋ยวจบงานศพคุณพ่อผมจะเริ่มงานนี้ หลังจากนั้นก็ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่ของผม แล้วก็เป็นช่วงชีวิตที่ค่อนข้างยากลำบากที่สุดด้วย เพราะว่าเราก็ค่อนข้างเสียใจ แต่ว่าเราก็ถือว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต มันวิ่งเข้ามาหาเราแล้ว ได้เวลาที่เราต้องออกจากอะไรเดิม ๆ บ้าง ผมก็เลยจบงานศพคุณพ่อปุ๊บ วันรุ่งขึ้นผมขับรถไปทำงานเลย”

 

หลักคิดที่ยึดถือในการทำงาน

อ๊อตโต้ เล่าถึงวิธีคิดที่ทำให้ทีมทำผลงานได้ดีว่า

“เวลาทำงาน เวลาเราเซ็ต mindset กัน ผลงานเป็นเรื่องรองเลยนะครับ ทำงานให้สนุกก่อน แล้วก็เล่นฟุตบอลให้สนุก เล่นให้เหมือนกับวันแรกที่เราเล่นฟุตบอล แล้วเรารู้สึกว่าเราชื่นชอบฟุตบอล ผมก็ทำงานแบบนั้นเหมือนกัน ทำงานเหมือนวันแรกที่ผมรู้สึกว่าผมอยากเป็นโค้ชฟุตบอล พอทุกอย่างทำงานด้วยความสนุกเนี่ยนะครับ เราก็ใส่จิตใจของความเป็นผู้ชนะลงไป ทุกคนไม่อยากยอมแพ้แบบนี้นะครับ

พอทุกอย่างมันลงตัวไปแล้ว รวมถึงเรื่องของแทคติก เรื่องของการเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเกมนั้นด้วย โดยการวิเคราะห์เกมแบบนี้นะครับ ผมว่าอันนี้แหละเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ผลงานเราดีขึ้นในทุก ๆ ปี เป็นสเต็ปขึ้นมา ผลงานดีเป็นสเต็ปขึ้นมา แล้วก็แม้ว่าทีมเราจะใช้งบประมาณไม่เยอะก็ตาม แต่ว่าเราสร้างทีมที่แข็งแกร่ง แล้วก็สามารถต่อสู้ได้ทุกทีม แล้วก็เราอยากจะชนะทุกทีม”

นอกเหนือจากเรื่องการทำงานกับทีม สิ่งหนึ่งที่โค้ชฟุตบอลจะขาดไม่ได้ คือเรื่องการคัดเลือกนักเตะเข้ามาเสริมทีม ซึ่งอ๊อตโต้ ก็เชี่ยวชาญและใช้วิธีคิดแบบสมัยใหม่เช่นกัน

“ผมค่อนข้างที่จะชื่นชอบแล้วก็ถนัดมาก เพิ่งได้รับเกียรติจากสมาคมฟุตบอลให้เป็นวิทยากรในการสัมมนาของสมาคมฯ เมื่อปลายเดือนที่แล้วนะครับ ก็จริง ๆ ในเรื่องนี้ผมจะใช้ทฤษฎีที่เรียกว่า Moneyball

Moneyball เป็นหนังที่ถูกสร้างขึ้นมาเลยจากทีมเบสบอลทีมหนึ่งที่ใช้งบน้อยมาก ๆ น้อยกว่าทีมอื่นประมาณ 3 เท่า แล้วก็เลือกตัวผู้เล่นจากสถิติ ไม่ได้เลือกจากชื่อเสียง เพราะว่าเรื่องของชื่อเสียงมันปรุงแต่งกันได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อประโคมขึ้นมา หรือว่าอะไรหลาย ๆ อย่างนะครับ

นักฟุตบอลเดี๋ยวนี้ไปเตะเดินสาย ยิงฟรีคิกสวย ๆ เข้า 1 ลูก มีเพจตัดคลิปนี้ไปลง ค่าตัวก็พุ่งขึ้นแล้ว แต่ความสามารถเขายังเท่าเดิม ไม่ได้บอกว่าเขาไม่ดีนะครับ แต่ความสามารถเขาอาจจะยังเท่าเดิมอยู่ เขาก็มีความสามารถแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป แต่ว่าเรื่องของราคา เรื่องของชื่อเสียงมันพุ่งขึ้นลงได้ตามสื่อประโคมเลย

ดังนั้น อย่างแรกเลยในการซื้อตัวของเรา เราเลือกจากฝีเท้า ไม่ได้เลือกจากชื่อเสียง เราเลือกจากสถิติ ไม่ได้เลือกจากชื่อเสียง ของผมเนี่ยอย่างแรกเลยก็คือเราต้องเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากให้ได้ก่อน ข้อมูลก็มีอยู่เยอะมากนะครับ มีนักฟุตบอลอาชีพในโลกนี้ประมาณ ถ้าผมจะไม่ผิดประมาณหลักล้านคน แต่ว่านักฟุตบอลที่ไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพหลักร้อยล้านคน ดังนั้น เรามีตัวเลือกเยอะมาก มีข้อมูลที่เป็นวงกว้างมากเยอะมาก อยู่ที่ว่าโค้ชแต่ละคนจะเข้าถึง connection นี้ได้มากน้อยขนาดไหน บางคนอาศัยฟังจากเอเยนต์อย่างเดียว บางคนอาศัยฟังจากเพื่อนฝูง แต่ถ้าเราเอาปัจจัยหลาย ๆ อย่างมารวมกันได้ เราก็จะเข้าถึงข้อมูลจำนวนนี้ได้มากกว่าคนอื่น

พอเราเข้าถึงจำนวนได้มาก เราก็ต้องเอามาตั้งเป้าก่อนเลยว่า เราต้องการอะไร ทีมเราต้องการเล่นแทคติก แบบไหน มีภาพในหัวก่อน แล้วเราก็เอาภาพในหัวมาหาสถิติที่ต้องการ เช่น สมมติผมต้องการที่จะเล่นฟุตบอลดันสูง เช็กล้ำหน้าอย่างนี้นะครับ ผมก็ต้องการ Center back (กองหลัง) ที่มีความเร็ว แล้วก็เช็กล้ำหน้าได้เก่ง ผมก็เอาจุดนี้ไปหานักฟุตบอลให้ได้ตามสเปก โดยใช้สถิติว่านักฟุตบอลคนไหนมีความเร็วในตำแหน่ง Center back แล้วก็เอามาเป็นชอยส์แรก ๆ ก่อน แล้วก็ใช้หลัก Moneyball นี่แหละครับ ก็คือหาสถิติเอาแค่ผู้เล่นที่ทำได้ตามที่เราต้องการจริง ๆ เอามาประกอบ เอามารวมร่างกันเป็นทีมที่เราต้องการ

อันนี้ก็คือเป็นหลักการเบื้องต้นเลยที่ทำให้ทีมเราใช้เงินไม่เยอะเลย ปีนี้เราใช้เงิน พูดตามตรงใช้เงินน้อยกว่าทีม T3 เกือบทุกทีม ทีม T3 แบบระดับกลาง ๆ ครับ เราใช้น้อยกว่าทีม T3 ระดับกลาง ๆ อีก เราก็เน้นเรื่องของการใช้สถิติในการซื้อตัว แล้วก็การทำงานหนัก ในช่วงปิดซีซั่น ผมไม่ได้ปิดซีซั่นเลย ผมตระเวนหานักฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของในงานเตะเดินสาย การเตะ T3 อะไรต่าง ๆ ผมขับรถตะเวนดูตลอด ซึ่งเราก็ได้นักฟุตบอลมาจาก T3 แล้วก็นักฟุตบอลมาจากการเตะเดินสายค่อนข้างเยอะนะครับ ในปีนี้เรียกว่าเป็นโนเนมเลย แต่ว่าเราก็เอามาเข้าระบบเรา ซึ่งผลงานจะเป็นยังไงก็ยังตอบไม่ได้ตอนนี้ แต่คิดว่าเราได้ใช้งบประมาณที่เรามีอย่างคุ้มค่าที่สุดแล้ว แล้วก็ใช้ไม่เกินตัวด้วย ดังนั้น เรื่องของปัญหาการค้างเงินหรืออะไร ทีมเราจะไม่มีเด็ดขาด”

อ๊อตโต้ เชื่อว่า ปีนี้จะเป็นปีที่สนุกอีกปีของสโมสรนะครับ พร้อมฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ทุกคน หรือว่ารุ่นเก่าที่มีแรงบันดาลใจ ยังมีความฝันอยู่ แล้วอยากทำตามความฝัน สำหรับอ๊อตโต้ เขามองว่า อยากให้กล้าทำ เพราะชีวิตคนเราไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานขนาดไหน อยากทำอะไรก็ทำเลย ไม่งั้นจะเสียใจแน่ ๆ

“จุดเปลี่ยนในชีวิตของผมก็อย่างที่ผมบอกไปแล้ว พ่อผมเสียด้วยโรคหัวใจ ทำให้ผมได้รู้ว่า คนเราเนี่ย เราไม่รู้เลยว่าอนาคตเรา เราจะอยู่ได้นานขนาดไหน ก็ทำวันนี้ให้สนุกที่สุด เพื่อตัวเราเอง แล้วที่สำคัญก็เพื่อคนอื่นด้วยนะครับ เพื่อคนรุ่นใหม่ ๆ ด้วย”

 

เรื่อง: ธนพงศ์ พุทธิวนิช

ภาพ: สโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล