บิลลี บีน แห่งทีมเบสบอล Oakland Athletics วิเคราะห์สถิติตัวเลขเกมกีฬา ที่มาความเจ๋งของลิเวอร์พูล

บิลลี บีน แห่งทีมเบสบอล Oakland Athletics วิเคราะห์สถิติตัวเลขเกมกีฬา ที่มาความเจ๋งของลิเวอร์พูล

วิเคราะห์สถิติตัวเลขเกมกีฬา ที่มาความเจ๋งของลิเวอร์พูล

คุณว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ทีมเบสบอลเล็กจิ๋วที่เพิ่งเสียนักกีฬาตัวเก็งให้ทีมที่ใหญ่กว่า มิหนำซ้ำ ผู้เล่นที่เหลือคนอื่น ๆ ในทีมก็ดันอยู่ในสภาพไม่พร้อมรบ เหลือที่พอจะลงแข่งได้จริงก็ไม่ใช่ผู้เล่นที่ฝีมือเฉียบขาดนัก แถมยังสภาพจิตใจถดถอยจากการสูญเสียมือดีไปจนหล่นฮวบลงไปอยู่ท้ายตาราง -ปัจจัยอะไรที่ทำให้อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าทีมจิ๋วหลิวนี้ก็ดันพลิกเกม กระโดดขึ้นมาอยู่หัวตารางแบบชวนอ้าปากค้างทั้งผู้เล่นด้วยกันเอง คนดู กรรมการ ตลอดจนสั่นสะเทือนเกมการเล่นนอกสนามของนักลงทุน บิลลี บีน (Billy Beane) น่าจะตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุด นั่นเพราะเขาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมเบสบอลรั้งท้ายอันดับที่ว่านั่นกลายมาเป็นม้ามืด ทั้งยังเปลี่ยนวิธีเล่นเบสบอลไปตลอดกาล เรื่องราวของบีนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Moneyball (2011) กำกับโดย เบ็นเน็ตต์ มิลเลอร์ และส่ง แบรด พิตต์ เข้าชิงนำชายยอดเยี่ยมของออสการ์ จากการรับบทเป็นบีนในหนัง (อย่างไรก็ดี เขาชวดรางวัลนี้ และเพิ่งมาคว้าออสการ์ได้เป็นครั้งแรกจาก Once Upon a Time in Hollywood สาขาสมทบชายยอดเยี่ยม)  [caption id="attachment_24389" align="aligncenter" width="678"] บิลลี บีน แห่งทีมเบสบอล Oakland Athletics วิเคราะห์สถิติตัวเลขเกมกีฬา ที่มาความเจ๋งของลิเวอร์พูล แบรด พิตต์ ผู้สวมบทบิลลี บีน[/caption] เนื้อเรื่องของ Moneyball จับจ้องไปยังลีกเบสบอลของสหรัฐอเมริกา ฤดูกาลปี 2002 ที่ ทีมโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ (Oakland Athletics) รั้งท้ายตารางเพราะสถานการณ์ชวนสติแตก ทั้งผู้เล่นมือหนึ่งย้ายไปซบทีมใหญ่ นักกีฬาคนอื่น ๆ ในทีมก็ไม่พร้อมสู้ ทั้งตัวทีมยังถังแตกอย่างน่าเศร้า บีนที่เคยเป็นอดีตนักกีฬาเองรู้ถึงความตึงเครียดนี้ดี และพยายามจัดการแก้ปัญหาอย่างสุดกำลัง ด้วยการพยายามทาบทามนักกีฬาคนอื่นให้มาเล่นในทีม ...แต่ใครกันจะไปอยากอยู่ในทีมที่กำลังจบเห่ แถมมีเงินให้ไม่คุ้มค่าตัว  และนั่นเองที่เป็นจุดตั้งต้นทำให้บีนหันมาตั้งคำถามว่า อะไรกันที่ทำให้เศรษฐศาสตร์การซื้อตัวผู้เล่นอยู่ในกรอบกรงที่ตายตัวขนาดนี้ เป็นไปได้ไหมหากเขาจะเฟ้นหาผู้เล่นนอกสายของทีมใหญ่ ๆ ที่มีฝีมือ แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกเพียงเพราะเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ส่งผล 'ไม่คุ้มเงิน' ในสายตานายทุน หากแต่ถ้าเป้าหมายอยู่ที่การคว้าชัยในฤดูกาล ไม่แน่ ทัพนอกสายตาเหล่านี้อาจจะประสบความสำเร็จก็เป็นได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการแหกกฎแบบชวนอ้าปากค้างของเขา! ก่อนหน้านั้น หน้าที่ผู้จัดการทีมแบบที่บีนทำคือ การวางตัวและจัดหาผู้เล่นโดยมีประเด็นเรื่องฝีมือ ภาพลักษณ์ และเงิน เป็นองค์ประกอบสำคัญ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของทีมกีฬาทุกลีกบนโลกจึงมีเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยวเป็นสำคัญ ตรรกะง่าย ๆ ที่เราเห็นได้บ่อยครั้งคือ ทีมไหนที่มีเงินหนาหน่อยมักจะดึงเอาผู้เล่นตัวเก่งของลีกไปร่วมทัพด้วยเสมอ ไม่ใช่แค่คว้าตำแหน่งแชมป์ แต่มันยังหมายถึงการเก็บเกี่ยวเงินทองจากสปอนเซอร์ และสินค้าที่เข้ามาติดต่อนักกีฬาหรือทีมในฐานะพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ด้วย จนหลาย ๆ ลีกต้องมีการออกกฎว่าด้วยเพดานเงินเดือนของแต่ละทีม เพื่อไม่ให้ทีมใหญ่ ๆ เงินเฟ้อจนดึงผู้เล่นเบอร์ต้น ๆ ของลีกไปกองไว้อยู่ทีมเดียวเสียหมด (แต่ใช้ได้ผลไหมก็อีกเรื่อง) หากรูปแบบการจัดการทีมและผู้เล่นในยุคก่อน เน้นเรื่องภาพลักษณ์ของนักกีฬาเป็นสำคัญ เนื่องจากมันมีโอกาสจะทำเงินจากโฆษณามหาศาลให้ทีม บีนก็ตัดสินใจ 'พลิก' กระดานนั้นเสียใหม่ ด้วยการใช้สถิติคำนวณศักยภาพผู้เล่น รวมถึงประเมินนักกีฬาใหม่ ๆ ที่อยากได้มาร่วมทีม คู่ไปกับกำลังเงินที่มีในมือ และรีดเค้นทุกอย่างให้ได้ศักยภาพสูงสุด จนเขามองข้ามความหล่อเหลา เสน่ห์เฉพาะตัวของนักกีฬา อายุ หรือท่าขว้างลูกที่อาจจะดูตลกและ 'ไม่เท่' จนทีมอื่น ๆ ปัดตกของนักกีฬา และดึงพวกเขามาร่วมทีมในที่สุด ก่อนที่นี่จะกลายเป็นทัพที่พาโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ ทีมรองบ๊วยของลีกเบสบอล พุ่งทะยานขึ้นนำชาร์ตอย่างน่าประหลาดใจ ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ บีนเป็นอดีตนักเบสบอลที่คลุกคลีกับวงการกีฬามาตั้งแต่เด็ก เขาหมกมุ่นทั้งเบสบอล อเมริกันฟุตบอล และบาสเกตบอล ก่อนจะพบว่า ตัวเองฝีมือดีพอจะถูกโค้ชสมัยมัธยมเรียกเข้าไปร่วมทีมในชมรม เขาจึงมุ่งมั่นเดินสายกีฬา -ทั้งเบสบอลและอเมริกันฟุตบอล- นับแต่นั้นมา และเนื้อหอมสุดขีดเมื่อช่วงรอยต่อของมัธยมปลาย มีทุนจากมหาวิทยาลัยมากมายเสนอให้เขาเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีม อันเนื่องมาจากภาพลักษณ์สะอาดสะอ้าน ผิวขาว ร่างสูงและมีลักษณะแบบขวัญใจอเมริกันชนในยุคนั้น เขาจึงเป็นที่เลื่องลือก่อนที่จะได้เข้ามหาวิทยาลัยเสียอีกว่าเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ที่น่าจับตา อย่างไรก็ดี ความเนื้อหอมของบีนยังทะลุปรอทได้มากกว่านั้น และเป็นการ 'สอนมวย' ให้เขารู้เรื่องธุรกิจการเงินในแวดวงกีฬาเสียก่อนจะได้ลงเล่นจริง ๆ เสียอีก เมื่อทีมเบสบอลชื่อดังอย่าง นิวยอร์ค เม็ตส์ ซึ่งเป็นทีมที่เล่นในลีกอาชีพ ยื่นข้อเสนอให้เขามาร่วมทีมด้วยกันหลังเห็นแววของบีนว่าพอจะปั้นให้เป็นดาวเด่นได้ พร้อมกันกับที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดยื่นทุนการศึกษาให้บีนเข้าเรียนในฐานะนักกีฬามหาวิทยาลัย บีนจึงต้องเลือกระหว่างการมุ่งหน้าเข้าสู่ลีกอาชีพหรือเรียนต่อ... ผลปรากฏว่า บีนเซ็นสัญญากับนิวยอร์ค เม็ตส์ ด้วยจำนวนเงิน 125,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งในเวลาต่อมา บีนออกมาบอกว่า "นั่นเป็นการตัดสินใจเพียงครั้งเดียวในชีวิตที่ทำเพื่อเงิน" ชีวิตการเป็นนักกีฬาอาชีพของบีนรุ่งโรจน์ด้วยดี เขาเป็นที่รัก เป็นที่จดจำ ทำเงินได้มหาศาล แต่ก็เช่นเดียวกับนักกีฬาอีกหลายชีวิตที่พบกับอาการบาดเจ็บเรื้อรัง จนรู้ตัวอีกที เขาก็พบว่าตัวเองถูกเทรดหรือแลกตัวไปอยู่ในทีมเล็ก ๆ ของลีกรองลงมา และแทบจำไม่ได้แล้วว่าตัวเองเคยเป็นผู้เล่นที่เนื้อหอมมากที่สุดคนหนึ่งของทีมเบสบอล กระทั่งเมื่อเขาตัดสินใจออกจากการเป็นนักกีฬาอาชีพ บีนก็ยังวนเวียนอยู่กับวงการเบสบอล เขาเข้ามาเป็นผู้จัดการทีมที่ก็ยังไม่วายต้องดูแลทีมเล็กจิ๋วแถมจนกรอบอย่างโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ ซึ่งเมื่อปี 2002 ประสบปัญหาดังที่ระบุไว้ข้างต้น จนผู้ถือหุ้นและผู้ร่วมทีมคนอื่น ๆ เครียดกันประสาทแทบแตก เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินก้อนเดียวที่มีไป 'ทุ่ม' ซื้อนักกีฬาคนไหนให้มาร่วมทีม เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่บีนเจอกับ ปีเตอร์ แบรนด์ นักเศรษฐศาสตร์แสนเนิร์ด ที่ทำให้เขาจับจ้องไปยังกลไกเชิงสถิติด้วยสายตาแบบใหม่ เมื่อเรื่องตัวเลขไม่ใช่เรื่องไกลตัวการกีฬา แล้วทำไมสถิติและการวิเคราะห์จึงไม่เคยอยู่ในสารบบของการตัดสินใจซื้อตัวผู้เล่นกัน "มันก็แค่เรื่องการเพิ่มทักษะและราคาค่างวดให้ผู้เล่น" บีนสาธยาย "สามสิบปีก่อน คนซื้อหุ้น ตัดสินใจซื้อหุ้นสักตัวด้วยความรู้สึก ลองมองแบบนี้แล้วกัน คนที่มี 401K (แผนสะสมเงินระยะยาว) จะมองหาผู้จัดการเงินก้อนนี้หลังเกษียณของพวกเขาแบบไหน ระหว่างคนที่ใช้สัญชาตญาณและความรู้สึกมาจัดการเงิน กับคนที่ใช้ผลวิจัยและการวิเคราะห์มาดูแลเรื่องนี้ ผมว่าผมรู้นะว่าผมจะเลือกคนไหน" นั่นคือหัวใจสำคัญของวิธีการซื้อตัวผู้เล่นที่แหกขนบเดิม ๆ ไม่เหลือชิ้นดี บีนใช้หลักสถิติวิเคราะห์ผู้เล่นตกอันดับหลายคนว่า ทำไมพวกเขาถึงไม่ผ่านการประเมินหรือไม่เข้าตาทีมใหญ่ ๆ ผลปรากฏว่า นักกีฬาเหล่านี้ถูกผู้จัดการทีมอื่น ๆ 'ประเมิน' ด้วยความรู้สึกเป็นหลัก ทั้งหน้าตาตลก ไม่มีออร่าคนดัง หรือมีท่าขว้างลูกแปลก ๆ ทั้งที่หากวัดกันด้วยตัวเลขและสถิติ ฝีมือของนักกีฬาเหล่านี้ยอดเยี่ยมกว่าผู้เล่นอันดับต้น ๆ เงินหนาหลาย ๆ คนของลีกด้วยซ้ำไป เขาติดต่อรวมตัวนักกีฬาเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในทีมเดียวกัน วางตำแหน่งให้เหมาะสม และเล่นอย่างไม่หวือหวา (เทียบกับทีมดัง ๆ ที่มีผู้เล่นเบอร์ใหญ่ ๆ หลายครั้งที่พวกเขาจะ 'โชว์ของ' ที่มาจากตัวผู้เล่น มากกว่ามาจากแผนเกมเพื่อดึงค่าตัวโฆษณา) อันที่จริง น่าสนใจว่าตรรกะการซื้อตัวผู้เล่นของบีนนั้นแทบไม่ต่างจากการซื้อหุ้นของนักลงทุนหลาย ๆ คน ที่หลังจากวิเคราะห์เหตุผลและข่าวคราว ความน่าจะเป็นอย่างแยบยลแล้ว พวกเขามีโอกาสจะเลือกซื้อหุ้นที่ดูไม่ค่อยมีราคาค่างวด เก็บมูลค่าของมันไว้ด้วยความเชื่อที่ว่า หากผ่านไปสักระยะ มันจะกลายเป็นหุ้นที่ทำเงินและงอกงามในที่สุด ซึ่งมันไม่ได้มาจากการ 'จิ้มมั่ว' หากแต่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบจากสถิตินี่เอง  ปัจจุบัน วิธีการเล่นเกมแบบบิลลี บีน นั้นได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่ใช่แค่ในเบสบอล แต่ยังรวมไปถึงลีกอื่น ๆ ที่เริ่มหันมาเลือกใช้นักกีฬาที่อาจไม่ได้มีเสน่ห์เตะตาหรือโดดเด่นด้วยคุณสมบัติแบบซูเปอร์สตาร์ หรือแม้กระทั่งการออกแบบรูปของเกมผ่านการวิเคราะห์อย่างละเอียด แทนที่จะปล่อยให้ขึ้นอยู่กับฝีมือของนักกีฬาอย่างเดียว  ประเด็นนี้ปรากฏอยู่อย่างแยบยลในหนัง Moneyball มีตัวละครหนึ่งที่รับบทโดย อาร์ลิสส์ โฮวาร์ด ในบทของชายผู้เป็นเจ้าของทีมเบสบอล บอสตัน เรด ซ็อก และพยายามใช้ลูกตื๊อด้วยการยื่นสัญญาอย่างงามราคา 12.5 ล้านเหรียญฯ ระยะเวลาห้าปีให้บีนเข้ามาจัดการทีมเรด ซ็อก ให้ แต่บีนกลับปฏิเสธเงินก้อนนั้นทิ้ง และหวนกลับไปอยู่กับทีมโอ๊คแลนด์เช่นเดิม  [caption id="attachment_24391" align="aligncenter" width="1200"] บิลลี บีน แห่งทีมเบสบอล Oakland Athletics วิเคราะห์สถิติตัวเลขเกมกีฬา ที่มาความเจ๋งของลิเวอร์พูล จอห์น ดับเบิลยู. เฮนรี (ที่ 2 จากขวา) เจ้าของสโมสรลิเวอร์พูล กับเจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมหงส์แดง[/caption] ชายเจ้าของทีมเรด ซ็อกนั้นก็คือ จอห์น ดับเบิลยู. เฮนรี ที่ในเวลาต่อมาคือประธานหัวเรือหลักของลิเวอร์พูลนั่นเอง ลูกไม้และความลุ่มหลงแบบที่เฮนรีเคยมีให้กลยุทธ์ของบีนนั้นปรากฏในเกมฟุตบอลเช่นกัน เพราะลิเวอร์พูลคือหนึ่งในทีมที่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลการเล่นอย่างมาก หากยังจำกันได้ ลิเวอร์พูลเองเคยใช้กลยุทธ์นี้บดบาร์เซโลน่าในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาลที่ 2018/2019 มาแล้ว ด้วยการใช้นักวิเคราะห์อย่าง เอียน แกรห์ม กับข้อมูลมหาศาลในแล็ปท็อปออกแบบกลไกการแข่งขัน จนพวกเขาพบว่า ตามสถิติแล้ว นักเตะบาร์ซ่านั้นมักจะไม่มีสมาธิช่วงที่มีการเตะมุม จึงเป็นโอกาสทองที่ลิเวอร์พูลคว้าไว้เมื่อหงส์แดงมีโอกาสเตะมุม และสอยเข้าประตูทำแต้มเข้ารอบไปที่สกอร์ 4-3 ไม่ใช่แค่นัดที่พาลิเวอร์พูลเป็นเจ้ายุโรปเท่านั้น การใช้ข้อมูลเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์การทำทีมของลิเวอร์พูล ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สโมสรนี้ทำผลงานในเวทีพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2019/2020 ได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย เรื่องนี้จึงยิ่งตอกย้ำว่า นอกจากความเก่งกาจของผู้เล่นแล้ว กีฬาทุกประเภทโดยเฉพาะในโลกของทุนนิยมเช่นนี้ เงินนั้นเป็นหลักสำคัญอย่างยิ่งอันจะปฏิเสธไม่ได้ และนั่นทำให้ตำแหน่งผู้จัดการทีมกลายเป็นหัวใจสำคัญ ที่แม้ไม่ได้ยืนอยู่ฉากหน้าแบบโค้ชหรือผู้เล่นคนอื่นๆ แต่ก็เป็น ‘กึ๋น’ เครื่องในอันจะขาดไม่ได้โดยเด็ดขาดของวงการกีฬาเหล่านี้