19 มี.ค. 2567 | 19:00 น.
KEY
POINTS
โลกของคุณจะเป็นแบบไหนถ้าคุณต้องติดอยู่ในที่ ๆ หนึ่งทั้งชีวิตที่เหลืออยู่?
ชีวิตของคุณจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร หากคุณต้องอาศัยอยู่ในเครื่องช่วยหายใจตลอดกาล?
คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าวันหนึ่งชีวิตของคุณจะต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล?
โรคระบาดที่เกิดขึ้นจากไวรัสโปลิโอคือหนึ่งในวายร้ายตัวฉกาจที่พรากเอาชีวิตของมนุษย์มากมายหลายคนไป เขาคนนั้นจะสูญเสียการควบคุมในร่างกายของตัวเอง จะเป็นอัมพาตในหลาย ๆ จุด หรือทั้งหมดของร่างกาย เขาจะไม่สามารถกลืนหรือหายใจได้ด้วยตัวเอง และถึงแม้คุณมีชีวิตอยู่รอด คุณก็ต้องอาศัยอยู่ในเครื่องช่วยหายใจนามว่า ‘ปอดเหล็ก’ ตลอดชีวิต
พอล อเล็กซานเดอร์ คือคนหนึ่งที่ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ ช่วงเวลาที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยไวรัสโปลิโอที่ระบาด และเขาก็เป็นคนหนึ่งที่รักษาชีวิตของตัวเองมาได้ และต้องอยู่ในปอดเหล็กเป็นเวลากว่า 72 ปี ตั้งแต่เขาอายุ 6 ขวบ
แต่แม้ว่าร่างกายของเขาจะปราศจากอิสระ หัวใจของเขากลับไม่เป็นเช่นนั้น และในบทความนี้ เราจะพาไปสำรวจเส้นทางชีวิตชายผู้ได้รับฉายาว่าเป็น ‘มนุษย์ปอดเหล็ก’ (The Iron Lung Man) กับหัวใจอิสระที่พาให้เขาเขาก้าวข้ามผ่านชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมจากเชื้อไวรัสโปลิโอ
จำยาขม ๆ ที่คุณหมอหยอดเข้าปากเราในตอนที่เราเด็ก ๆ ได้ไหมครับ? เราเรียกสิ่ง ๆ นั้นว่า ‘วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกิน’ หรือ ‘OPV’ (Oral Polio Vaccine) โดยการทำงานของมันก็ละม้ายคล้ายคลึงกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ซึ่งก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อไวรัส และเชื้อไวรัสในที่นี้ก็หมายถึงเชื้อไวรัส ‘โปลิโอ’ (Polio) ที่จะเข้าไปทำลายระบบประสาทของคน ๆ นั้น จนทำให้กลายเป็นอัมพาตและหายใจลำบากจนอาจถึงแก่ชีวิตหรือพิการตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้
ทว่านับตั้งแต่มนุษย์เรามีวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอ ก็ทำให้ผู้คนมากมายในสมัยนี้ไม่เผชิญกับโรคร้ายที่ว่านั่นเท่าไหร่แล้ว โปลิโอจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป แต่หากย้อนเวลากลับไปในช่วงยุคทศวรรษที่ 1950 ที่เชื้อไวรัสโปลิโอได้ระบาดอย่างหนักจนผู้คนก็ต่างพากัน ‘เว้นระยะห่างทางสังคม’ (Social Distancing) เหมือน ๆ กับกรณีของการระบาดของ COVID-19 ที่เราได้เผชิญกับมันเลยทีเดียว
เมื่อใครสักคนดันไปติดเข้ากับเชื้อไวรัสโปลิโออาการที่เขาเหล่านั้นจะเผชิญคือ ไข้ขึ้นสูง, เหนื่อยล้าผิดปกติ, ปวดศีรษะ, อาเจียน ไปจนถึงลำคอที่แข็งทื่อและการปวดร่างกายส่วนต่าง ๆ ก่อนที่ท้ายที่สุดจะลามไปถึงการสูญเสียความสามารถในการใช้งานร่างกายส่วนนั้น ๆ หรือเรียกได้ว่าเป็นอัมพาตนั่นเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงยุค 50s ของสหรัฐอเมริกาน่าจะช่วยฉายภาพให้เราได้กระจ่างชัดขึ้นว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างในยุคสมัยนั้น ในยุคที่เชื้อไวรัสของโปลิโอระบาด (ซึ่งแน่นอนว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก) และได้พรากชีวิตและอนาตคตของเยาวชนหลายคนไป แม้ว่าผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อไวรัสได้หากไม่ได้รับวัคซีน (ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีหรือถูกใช้อย่างแพร่หลาย) แต่เป้าหมายสำคัญของเชื้อไวรัสโปลิโอคือเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบ
ไม่เพียงแค่การติดเชื้อไวรัสดังกล่าวจะให้ผลลัพธ์ที่ร้ายแรงเป็นอย่างมากกับผู้ติดเชื้อ แต่ไวรัสเหล่านี้ยังง่ายต่อการติดเชื้อเป็นอย่างมากอีกด้วย จึงทำให้ตอนนั้นผู้คนต่างก็พากันเว้นระยะห่าง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โบสถ์ สระน้ำ โรงหนัง หรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ก็พากันปิดให้บริการ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสโปลิโอแพร่ระบาดไปมากกว่าเดิม
ฃในขณะเดียวกัน ที่โรงพยาบาลเองก็รายล้อมไปด้วยผู้ป่วยที่ติดเชื้อโปลิโอและมาได้รับการรักษา ซึ่งพอผู้ป่วยที่ถูกไวรัสโปลิโอระบบประสาทจนไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองแล้ว พวกเขาก็ต้องถูกส่งเข้าไปอยู่ในเครื่องทีเรียกว่า ‘ปอดเหล็ก’ หรือ ‘The Iron Lung’ ที่จะช่วยประทังชีวิตเขาให้สามารถอยู่ได้นานกว่าเดิม… และน้อยคนนักที่สามารถคงอยู่ได้ ถึงจะมีปอดเหล็กมาเป็นเครื่องช่วยหายใจก็ตาม
นอกจากจะเป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ไวรัสโปลิโอจึงถือเป็นไวรัสที่สร้างความเสียหายให้กับมนุษย์เรามากที่สุดครั้งหนึ่ง และเฉกเช่นเดียวกับโรคร้ายอื่น ๆ อีกมากมายบนโลกใบนี้ มันอาจจบชีวิตของใครสักคน หรือเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล
ในปี 1952 ก็ยังคงเป็นอีกปีหนึ่งที่หน้าร้อนใน ดัลลัส เท็กซัส ร้อนจับใจเฉกเช่นทุก ๆ ปีที่ผ่านมา ทว่าในปีนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป บ้านเมืองที่เคยคึกคักและพลุกพล่านไปด้วยคนกลัยรายล้อมไปด้วยป้ายที่บอกว่า ‘ปิด’ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สระว่ายน้ำ โบสถ์ หรือสถานที่สาธารณะใด ๆ ก็ตามก็ล้วนปิดหมด เพราะความหวาดกลัวของผู้คนจากโรคร้ายนามว่า โปลิโอ
‘พอล อเล็กซานเดอร์’ (Paul Alexander) คือเด็กน้อยวัย 6 ขวบที่เติบโตขึ้นมาในเมืองดังกล่าวและต้องใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลาที่ดัลลาสอุดมไปด้วยความเงียบเชียบ แตกต่างจากในสมัยนี้ที่มีแทบเล็ต คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โทรทัศน์ หรือสื่อบันเทิงนานาแขนง ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 ‘จินตนาการ’ และ ‘การออกไปเล่นนอกบ้าน’ คือกิจกรรมอันโอชะในวัยเยาว์ของใครหลายคน รวมถึงพอลด้วย
วันที่เปลี่ยนชีวิตพอลไปตลอดกาลคืออีกวันธรรมดาวันหนึ่งในหน้าร้อนที่บังเอิญมีฝนตก ทว่าตอนที่เขาเล่นอยู่นั้น พอลรู้สึกถึงอาการแปลก ๆ เสมือนว่าไม่สบาย เขารู้สึกไม่สบายตัว ปวดบริเวณคอและหัว พอลรีบถอดรองเท้าวางไว้หน้าบ้านและรีบเดินไปหาคุณแม่เพื่อบอกว่าเขารู้สึกไม่ค่อยสบาย
“ไม่นะ ต้องไม่ใช่ลูกฉัน!”
พอลไม่เข้าใจว่าแม่ของเขาหมายความว่าอะไร แต่สำหรับผู้ที่เป็นพ่อหรือแม่ของเด็ก ๆ หลายคนในตอนนั้น เขาตระหนักดีว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น พอลติดเชื้อไวรัสโปลิโอ… แม่ของพอลจึงได้ปรึกษากับหมอประจำบ้าน ซึ่งเขาก็แนะนำว่าให้อยู่ดูแลตัวเองที่บ้านดีกว่า เพราะโรงพยาบาลตอนนี้ก็เต็มไปด้วยผู้ป่วยโปลิโอเต็มไปหมด ถ้าอยู่ที่บ้านน่ามีโอกาสฟื้นฟูได้ดีกว่า
อาการของพอลทรุดลงอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์จากพอลวัย 6 ขวบที่วิ่งเล่นอยู่หลังบ้านตามประสาเด็ก พอลกลายเป็นเด็กที่สูญเสียความสามารถในการควบคุมร่างกายของเขาแทบทั้งหมด เขาไม่สามารถหยิบสีเทียนมาเล่น หรือพูดได้เหมือนก่อน ไม่ต้องพูดถึงการเดินเหิน แต่แค่ ‘การกลืน’ อาหารหรือน้ำเปล่า ก็กลายเป็นเรื่องยาก ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น มันก็ลามไปถึง ‘การหายใจ’
พอล ไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ พ่อและแม่ของพอลจึงต้องพาเขาไปที่โรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลก็เต็มไปด้วยผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโปลิโออยู่เต็มโรงพยาบาล จนทำให้บุคากรทางการแพทย์ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด
อาการของพอลทรุดหนักลงถึงขั้นที่ว่าเขามีของเหลวติดอยู่ในปอดจึงทำให้สามารถหายใจได้ แม้ว่าหมอคนแรกกล่าวว่าไม่มีอะไรที่พวกเขาสามารถทำกับพอลได้ แต่โชคยังดีที่หมออีกคนตัดสินใจพาเขาเข้าห้องฉุกเฉินและดูดเอาของเหลวในปอดออกไป
จากอาการป่วยอันหนักหน่วง พอล อเล็กซานเดอร์ หมดสติไปถึงสามวัน ก่อนจะตื่นมาและพบว่าตัวของเขาถูกหุ้มด้วยเครื่องเหล็กที่โอบล้อมรอบตัวเขา เขาไม่สามารถขยับ พูด หรือแม้แต่ไอได้ แต่เขาไม่ใช่คนเดียวที่อยู่ที่นั่น เมื่อกวาดตาไปทางซ้ายและขวา สิ่งที่เขาพบคือหัวของเด็กอีกมากมายที่ป่วยในแบบเดียวกัน และนอนอยู่ในเครื่องที่หน้าตาเหมือน ๆ กัน
และเราเรียกสิ่งนั้นว่า ‘ปอดเหล็ก’ (The Iron Lung)
‘ปอดเหล็ก’ หรือ ‘The Iron Lung’ คือเครื่องช่วยหายใจที่พัฒนาโดย ‘จอห์น เฮเวน อีเมอร์สัน’ (John Haven Emerson) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องช่วยหายใจในกรณีที่ปอดอักเสบหรือปอดไม่สามารถทำงานได้ เฉกเช่นเดียวกับ พอล อเล็กซานเดอร์ ที่เป็นเหยื่อของไวรัสโปลิโอและทำให้ปอดของเขาไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง
ด้วยความที่ตัวเขาเป็นอัมพาตต้องแต่คอลงไปและทำให้ปอดของเขาไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง เครื่องช่วยหายใจอย่างปอดเหล็กจึงทำหน้าที่ดังกล่าวแทน วิธีการทำงานของมันก็คือ พอลจะนอนอยู่ในเครื่องเหล็กทรงกระบอกโดยที่หัวออกมาจากเครื่องและมีหมอนรองรับหัวของเขาอยู่ และปอดเหล็กจะทำหน้าที่ดันและสูบอากาศเข้า-ออกเพื่อให้ปอดขยายและหดตัวจนกลายเป็นการหายใจนั่นเอง
แม้มันจะรักษาให้พอลยังสามารถหายใจอยู่ได้ แต่ในช่วงแรก การมีชีวิตอยู่ในเครื่องหายใจในขณะที่ตัวเขาไม่สามารถทำอะไรได้เลย ก็เป็นความทรมานที่ยากจะหยั่งถึง เขาไม่สามารถพูดหรือไอได้ ในบางครั้งเขาเกือบจะสำลักเสมหะของตัวเองเลยเสียด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่สามารถจัดการกับมันด้วยตัวเองได้
พอรักษาไปถึงจุดหนึ่ง พอลจะหายดีจากโรคโปลิโอและไม่ได้จากไปเฉกเช่นผู้โชคร้ายอีกหลายคนที่ต้องสูญเสียชีวิตไป แต่ไวรัสโปลิโอก็ได้พรากแทบจะทุกสิ่งไปจากเขา เขาต้องอาศัยและหายใจผ่านปอดเหล็กอย่างถาวร หมอหลายคนก็ต่างพากันบอกว่าพอลคงไม่รอด หรือหากรอดก็คงมีชีวิตอีกไม่นาน
เมื่อพอลได้ยินเช่นนั้น แทนที่เขาจะรู้สึกว่าชีวิตของเขาจบสิ้นแล้ว หรือรู้สึกท้อกับทางข้างหน้าที่ได้เปลี่ยนไปตลอดกาล เขากลับรู้สึกโกรธและโมโห และมันให้เขาตั้งปณิธานลึก ๆ ในหัวใจของตัวเองว่าเขาจะต้องชีวิตอยู่ให้ได้ ไม่ว่ามันจะยากเพียงไหนก็ตาม
เคยมีนักบำบัดประจำตัวคนหนึ่งเดินมาบอกกับพอลว่า ถ้าเขาสามารถหายใจได้ด้วยตัวเองโดยไม่ใช้เครื่องปอดเหล็กเป็นเวลา 3 นาที เขาจะได้ลูกสุนัขหนึ่งตัว และเขาก็ใช้เวลาฝึกฝนการหายใจแบบกบ (Frog-Breathing) หรือการที่พยายามดันอากาศเข้าไปในหลอดลมจนไปถึงปอดนั่นเอง
ซึ่งพอลก็ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะสามารถทำเช่นนั้นได้ และในที่สุดเขาก็ได้ลูกสุนัขตามที่สัญญาเอาไว้ มันจึงกลายเป็นบทพิสูจน์แก่ทั้งคนรอบข้างและตัวของพอลเองว่าเขาสามารถทำมันได้ หากเขามีความมุ่งมั่นที่จะทำมัน แม้ว่าตัวของเขาจะติดอยู่ในปอดเหล็กก็ตาม
แม้ว่าพอลจะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่โดยปราศจากปอดเหล็กได้ แต่พอลกไม่ยอมแพ้ที่จะมีชีวิตให้คุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ นอกจากการฝึกหายใจแล้ว พอลก็ยังเรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยม และจบมหาวิทยาลัยในด้านเศรษฐศาสตร์ในปี 1978 และด้านนิติศาสตร์ในปี 1984 ซึ่งตัวเขาก็ได้ทำงานในฐานะนักกฎหมายในดัลลัส เท็กซัส อีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว พอลก็ยังเขียนหนังสือในชื่อ ‘Three Minutes for a Dog: My Life in an Iron Lung’ ที่ตีพิมพ์ในปี 2020 ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวของตัวเขาและประสบการณ์ที่เขามีต่อโรคโปลิโอและปอดเหล็ก นอกจากนั้น พอลก็ยังชอบที่จะพูดคุยกับผู้คนและให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องราวที่เขาผ่านมาในอดีต เพื่อให้กำลังใจผู้คนอีกมากมายที่อาจกำลังเผชิญปัญหาในแบบของตัวเอง
ในวันที่พอลอยู่ในเครื่องช่วยหายใจปอดเหล็ก แม้แต่หมอก็ไม่อยากจะเชื่อมั่นด้วยซ้ำว่าตัวเขาจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่แล้วพอลก็ได้อยู่ยืนยงมาจนถึงอายุ 78 ปี เขาได้กลายเป็นผู้พิการที่ได้มอบพลังบวกให้กับผู้คนทั่วโลก เขาสำเร็จการศึกษา เขาเขียนหนังสือ เขาได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาอยากทำ เพราะเขาเชื่อว่าเขาสามารถทำมันได้ แม้ว่าร่างกายตั้งแต่คอจรดปลายเท้าไม่สามารถขยับได้ก็ตาม
พอล อเล็กซานเดอร์ จากโลกนี้ไปในวันที่ 11 มีนาคม 2024 แม้ว่ากายของเขาจะถูกจองจำโดยปอดเหล็กมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 72 ปี แต่กลับไม่มีสิ่งใดเลยที่สามารถขวางกั้นหัวใจอันอิสระเสรีของเขา ไม่ให้ใช้ชีวิตในแบบที่เขาอยากเป็น แม้ว่าร่างกายของเขาจะไร้ซึ่งอิสระ แต่หัวใจของเขากลับเสรีไม่แพ้มนุษย์คนใดบนโลกนี้เลยแม้แต่น้อย
ภาพ : Associated Press (Public domain)
อ้างอิง :
When Polio Triggered Fear and Panic Among Parents in the 1950s | History
Poliomyelitis | World Health Organization
Paul Alexander, Polio Patient With Iron Lung and Positive Outlook, Dies at 78 | Time
The man in the iron lung | The Guardian
The Man in an Iron Lung (A Polio Survivor's Story) - Special Books By Special Kids | Youtube