เส้นทาง ‘มวยไทยสมัครเล่น’ ในมหกรรมกีฬาสากล มาตรวัด ‘มวยไทย’ ใกล้บรรจุในโอลิมปิกแค่ไหน?

เส้นทาง ‘มวยไทยสมัครเล่น’ ในมหกรรมกีฬาสากล มาตรวัด ‘มวยไทย’ ใกล้บรรจุในโอลิมปิกแค่ไหน?

สำรวจเส้นทาง ‘มวยไทยสมัครเล่น’ ในมหกรรมกีฬาสากล อีกหนึ่งประเด็นที่พ่วงมากับข้อถกเถียงเรื่อง ‘มวยไทย’ ขณะที่มวยไทยสมัครเล่น คือภาพสะท้อนและมาตรวัดว่า ‘มวยไทย’ ใกล้ได้บรรจุในโอลิมปิกแค่ไหน?

  • ‘มวยไทยสมัครเล่น’ อีกหนึ่งกีฬาเอเชียที่กำลังก้าวเดินในเส้นทางเพื่อนำไปสู่การบรรจุในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 
  • เส้นทางของ ‘มวยไทยสมัครเล่น’ กว่าจะได้บรรจุแข่งในมหกรรมกีฬานานาชาติผ่านดราม่าต่าง ๆ มากมาย ไม่แพ้เรื่องราวของ ‘มวยไทย’

‘มวยไทยสมัครเล่น’ เป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับและถูกบรรจุเข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติทั้งในระดับซีเกมส์ (SEA Games) เอเชียน อินดอร์ แอนด์ มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ (Asian Indoor and Martial Arts Games) และเวิลด์เกมส์ (World Games) มาตั้งแต่ช่วงปี 2005 โดยมีสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (International Federation of Muaythai Associations) หรืออิฟมา (IFMA) เป็นองค์กรที่คอยพัฒนากีฬาชนิดนี้ให้ไปมหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิกเกมส์ให้ได้ในอนาคต

ล่าสุด ประเด็นของกีฬามวยไทยสมัครเล่นกลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทยอันเนื่องมาจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ประจำปี 2023 ณ กรุงกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชานั้น จะไม่มีการแข่งขันกีฬาชนิดนี้บรรจุเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ทางเจ้าภาพได้มีการบรรจุกีฬามวยเขมรหรือกุนขแมร์เข้าไปแทน

แม้จะเป็นเรื่องปกติที่ทางเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์มักจะบรรจุกีฬาประจำชาติของตัวเองเข้าไปอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มีประเด็นถกเถียงตรงที่ว่า กติกาการแข่งขันหลายอย่างถูกนำมาจากเทคนิเชียน ไกด์บุ๊ก (แนวทางเชิงเทคนิค) ของมวยไทยสมัครเล่น

สถานการณ์ ณ ปัจจุบันก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่า มวยไทยสมัครเล่นจะไม่มีแข่งขันในมหกรรมกีฬาแห่งมวลชนชาวอาเซียนครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งที่มวยไทยสมัครเล่นถูกตัดออกจากการแข่งขันซีเกมส์นับตั้งแต่ถูกบรรจุเข้าแข่งขันมาในปี 2005 นับเป็นเรื่องน่าเสียดายที่การผลักดันนั้นไม่ต่อเนื่อง

บทความนี้จะพาทุกท่านไปย้อนดูถึงพัฒนาการและเรื่องราวของกีฬาชนิดนี้ในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติกัน ว่าที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

มวยไทยสมัครเล่นในซีเกมส์ มหกรรมแห่งปัญหาและการแบ่งปัน

มวยไทยสมัครเล่นมีจัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกหรือรายการอิฟมา เวิลด์ มวยไทย แชมเปียนชิพ (IFMA World Muaythai Championships) มาตั้งแต่ปี 1993 แต่กว่าที่กีฬาชนิดนี้จะถูกบรรจุเข้าร่วมมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติก็ต้องใช้ระยะเวลาถึง 12 ปี

โดยในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 23 ปี 2005 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มีการชิงชัยกันทั้งสิ้น 7 เหรียญทองแบ่งเป็นประเภทต่อสู้ 4 เหรียญทอง ไหว้ครู 3 เหรียญทอง เจ้าภาพสามารถคว้าเหรียญทองประเภทไหว้ครูไปได้ 2 เหรียญทอง ขณะที่ไทยได้มา 1 เหรียญทอง ด้านประเภทการต่อสู้นั้นไทยคว้ามาได้ 2 เหรียญทอง ขณะที่ฟิลิปปินส์เจ้าภาพกับลาวเก็บไปได้ชาติละ 1 เหรียญทอง

การแข่งขันมวยไทยในครั้งนั้น แม้จะเป็นกีฬาน้องใหม่ในซีเกมส์แต่ก็ได้รับความนิยมจากชาวฟิลิปปินส์มากพอสมควร ในแต่ละวันของการแข่งขัน ณ จีเอสไอเอสสปอร์ต คอมเพล็กซ์ มีผู้ชมให้ความสนใจเข้าชมการแข่งขันจนเกือบเต็มความจุของสนาม ที่สำคัญคือในพิธีมอบเหรียญรางวัลนั้น ‘กลอเรีย อาร์โรโย่’ ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ให้เกียรติมามอบเหรียญและเข้าชมการแข่งขันด้วยตัวเอง นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีของกีฬาชนิดนี้ในระดับภูมิภาคอาเซียน

ในอีก 2 ปีถัดมา การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ปี 2007 ณ จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทยของเราได้บรรจุกีฬามวยไทยสมัครเล่นไว้ในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย ชิงชัยกันทั้งสิ้น 11 เหรียญทองโดยเป็นการแข่งขันในประเภทต่อสู้ทั้งหมด เป็นประเภทชาย 7 เหรียญทอง ประเภทหญิง 4 เหรียญทอง และตัดการแข่งขันในประเภทไหว้ครูออก

การแข่งขันในครั้งนี้ แม้ว่าทีมชาติไทยจะสามารถโกยไปได้ถึง 10 เหรียญทอง แบ่งให้ลาวไปเพียง 1 เหรียญทองในประเภทหญิง รุ่นไลต์ฟลายเวท แต่ในแง่ภาพลักษณ์ของการพัฒนากีฬามวยไทยสมัครเล่นกลับไม่สู้ดีนัก เพราะปัญหาเรื่องคุณสมบัติของนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน

โดยก่อนที่การแข่งขันมวยไทยสมัครเล่นในกีฬาซีเกมส์ 2007 จะเริ่มขึ้น โรเบอร์โต วัลเดซ นายกสมาคมมวยไทยสมัครเล่นฟิลิปปินส์ และกิ่งแก้ว แสงสุวรรณ ผู้จัดการทีมชาติลาว ได้ยื่นหนังสือประท้วงต่อประธานฝ่ายจัดการแข่งขันเรื่องคุณสมบัติของนักกีฬาไทยที่เอานักมวยอาชีพมาขึ้นชกและมีดีกรีเป็นถึงแชมป์เวทีราชดำเนิน หรือผ่านเวทีมวยมาตรฐานในเมืองไทยมาแล้วขึ้นชก

ฝ่ายไทยชี้แจงว่า นักมวยเหล่านี้เป็นไปตามกฎของอิฟมาที่ว่า “ห้ามนักมวยที่ติดอันดับ 1-10 ของเวทีราชดำเนิน ลุมพินี ช่อง 7 และช่อง 3 ภายใน 1 ปีมาคัดเลือกเป็นนักกีฬาทีมชาติ” ซึ่งก็ทำให้มีนักมวยระดับอาชีพหลายคนสามารถขึ้นชกในซีเกมส์ครั้งนี้ได้ในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย

เรื่องดังกล่าวทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬามวยไทยสมัครเล่นเริ่มหันมาพิจารณาถึงคุณสมบัติของนักกีฬาว่าจะต้องเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต เพราะหากยังเป็นเช่นนี้มวยไทยสมัครเล่นคงไม่สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ และมันก็ดูจะไม่สมเหตุสมผลหรือถูกต้องตามหลักสากลเท่าใดนักที่นักกีฬาระดับอาชีพจะลงมาทำการแข่งขันในระดับสมัครเล่น

เส้นทาง ‘มวยไทยสมัครเล่น’ ในมหกรรมกีฬาสากล มาตรวัด ‘มวยไทย’ ใกล้บรรจุในโอลิมปิกแค่ไหน?

ต่อมา ในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ปี 2009 ณ เวียงจันทน์ ประเทศลาว มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยได้จัดให้มีการชิงชัยกันทั้งสิ้น 13 เหรียญทองโดยเป็นการแข่งขันในประเภทต่อสู้ทั้งหมดแบ่งเป็นประเภทชาย 8 เหรียญทอง ประเภทหญิง 5 เหรียญทอง ในครั้งนี้ ทั้งสองชาติที่ถนัดในกีฬาชนิดนี้คือไทยและลาวก็แย่งชิงความสำเร็จกันอย่างสนุก

ทั้งสองประเทศได้เหรียญทองรวมกันกว่า 11 เหรียญทองซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่ที่น่ายินดีคือการคว้าเหรียญทองในประเภทไลต์เวทชายของไซดี ลารวน จากฟิลิปปินส์ เพราะนี่คือเหรียญประเภทต่อสู้เหรียญที่สองของชาวฟิลิปปินส์ และเป็นเหรียญแรกที่คว้ามาได้นอกแผ่นดินของตัวเอง ขณะที่เวียดนามก็คว้าเหรียญทองครั้งแรกได้เช่นกันจากเหงียน ไท ทูเยต ไม รุ่นฟลายเวทหญิง 

การแข่งขันเว้นไประยะหนึ่ง เมื่อมาถึงการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ปี 2013 ณ เนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ กีฬามวยไทยสมัครเล่นหรือมวยได้กลับเข้ามาบรรจุในกีฬาซีเกมส์อีกครั้งหลังจากต้องเว้นไปในปี 2011 แต่ก็ต้องมีปัญหาตามมามากมายจนไทยเองเคยประกาศว่า จะไม่เข้าร่วมการแข่งขัน เพราะทางเจ้าภาพไม่ยอมให้สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติหรืออิฟมาเป็นฝ่ายดำเนินการจัดการแข่งขัน แต่กลับให้สหพันธ์มวยแห่งอาเซียนกับสหพันธ์มวยแห่งเอเชียที่ไม่ได้รับการรับรองมาดำเนินการจัดการแข่งขันแทน

ด้านฝ่ายไทยเมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้องก็จะไม่ส่งเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ในท้ายที่สุดโอลิมปิกไทยและการกีฬาแห่งประเทศไทยในยุคนั้นยังต้องการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อลุ้นเหรียญรางวัล จึงมีการมอบหมายให้สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทยดำเนินการคัดเลือกนักกีฬาไปเข้าแข่งขันแทน และแน่นอนว่าผลการแข่งขันเป็นการแบ่งเหรียญทองกันระหว่างเมียนมาเจ้าภาพและไทย

การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ปี 2017 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยก็ถูกบรรจุกลับเข้ามาในซีเกมส์อีกครั้งจากที่ก่อนหน้านี้ ประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพไม่ได้มีจัดการแข่งขันมวยไทย แต่ในครั้งนี้ มวยไทยถูกบรรจุเอาไว้เพียง 5 เหรียญทองเท่านั้น โดยเป็นการต่อสู้ประเภทชายทั้งหมด 5 เหรียญทอง

และแน่นอนว่าการแข่งขันมวยไทยสมัครเล่นในกีฬาซีเกมส์นั้นคือมหกรรมแห่งการแบ่งบันและเอื้อเฟื้อกัน มาเลเซียและไทยสามารถคว้าเหรียญทองไปได้ประเทศละ 2 เหรียญทอง โดยอีกหนึ่งเป็นของกุน ดิมาร์ จากประเทศกัมพูชา ที่สามารถเอาชนะชลวิทย์ ปรีดาศักดิ์ หรือ พลอยวิทยา เพชรสี่หมื่น นักมวยไทยไปได้ในรอบชิงชนะเลิศและนี่เป็นเหรียญทองมวยไทยสมัครเล่นเหรียญแรกของกัมพูชา

การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ปี 2019 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยมีบรรจุให้ชิงชัยกันทั้งสิ้น 9 เหรียญทอง เป็นประเภทต่อสู้ 7 เหรียญทอง ส่วนประเภทไหว้ครูได้ถูกนำกลับมาบรรจุอีกครั้งและชิงชัยกันทั้งสิ้น 2 เหรียญทอง ในการแข่งขันครั้งนี้มีกติกาเรื่องการจำกัดนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มมาด้วย

ทีมชาติไทยส่งเข้าแข่งขันในประเภทต่อสู้ 5 คน แบ่งเป็นประเภทชาย 4 คน ประเภทหญิง 1 คน และส่งเข้าแข่งขันในประเภทไหว้ครูหญิงอีก 1 คู่ และแน่นอนว่าเรื่องของเหรียญรางวัลก็กระจายกันไปโดยทีมชาติไทยได้ไปทั้งสิ้น 4 เหรียญทองจากประเภทต่อสู้ 3 เหรียญทอง และไหว้ครู 1 เหรียญทอง

รองลงมาคือทีมชาติฟิลิปปินส์ที่คว้าไป 3 เหรียญทอง ขณะที่เวียดนามและมาเลเซียก็ได้ไปประเทศละ 1 เหรียญทอง ส่วนชาติอื่นก็มีลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ได้เหรียญเงินและเหรียญทองแดงไป ไม่ได้กลับบ้านมือเปล่า

ครั้งล่าสุด การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ปี 2021 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม มหกรรมซีเกมส์ที่เลื่อนการแข่งขันมาเป็นช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2022 นี้ก็มีจัดแข่งขันมวยไทยสมัครเล่นหรือมวยด้วย ชิงชัยกันทั้งสิ้น 11 เหรียญทอง เป็นประเภทต่อสู้ชาย 5 เหรียญทอง ต่อสู้หญิง 5 เหรียญทองและไหว้ครูหญิง 1 เหรียญทอง

เหรียญทองในประเภทไหว้ครูตกเป็นของทีมชาติฟิลิปปินส์ไปอีกครั้ง ขณะที่ในประเภทต่อสู้ทั้ง 10 เหรียญทองเป็นทีมชาติเวียดนามที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยมสามารถโกยได้ถึง 4 เหรียญทองจากการเข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 9 รุ่น

ด้านทีมชาติไทยได้มา 3 เหรียญทอง จากการเข้าชิงชนะเลิศ 7 รุ่น ขณะที่อาหมัด นอร์ อิมาน อาลิฟ รากิบ จากมาเลเซีย ฟิลลิป เดลาร์มิโน จากฟิลิปปินส์ และเยน ดีน่าจากกัมพูชา ก็สามารถเอาชนะนักชกเจ้าภาพในรอบชิงชนะเลิศ คว้าเหรียญทองให้ประเทศตนได้สำเร็จ

เส้นทาง ‘มวยไทยสมัครเล่น’ ในมหกรรมกีฬาสากล มาตรวัด ‘มวยไทย’ ใกล้บรรจุในโอลิมปิกแค่ไหน?

มวยไทยสมัครเล่นในมหกรรมระดับเอเชีย

มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยนั้น เป็นกีฬาที่ถูกบรรจุอยู่ในมหกรรมกีฬาอย่างเอเชียน อินดอร์ แอนด์ มาร์เชียลอาร์ตเกมส์มาทุกครั้งตั้งแต่ปี 2005 จนถึง 2017 ในครั้งแรกเมื่อปี 2005 นั้นมีจัดชิงชัยเหรียญทองมากถึง 17 เหรียญทอง เป็นประเภทไหว้ครู 8 เหรียญทองแยกตามรุ่นน้ำหนัก ขณะที่ในประเภทต่อสู้มีชิงชัยกัน 9 เหรียญทอง ไทยคว้าเหรียญทองไปถึง 5 เหรียญทองจากประเภทไหว้ครู

ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่า ไทยจัดชิงเหรียญรางวัลในประเภทนี้มากจนเกินความจำเป็น

ขณะที่ในประเภทต่อสู้ ไทยได้ 3 เหรียญทอง ตามมาด้วยคาซัคสถาน 2 เหรียญทอง และอุซเบกิสถาน จอร์แดน และอิหร่านได้ไปชาติละ 1 เหรียญทอง (ไม่มีการมอบทองในรุ่นเฟเธอร์เวท)

หลังจากถูกวิจารณ์เรื่องการจัดอีเวนต์ย่อยมากเกินความจำเป็นโดยเฉพาะในประเภทไหว้ครู ทำให้การแข่งขันเอเชียน อินดอร์เกมส์ ครั้งที่ 2 ปี 2007 ที่มาเก๊าเป็นเจ้าภาพจึงคงเหลือแต่ประเภทต่อสู้ที่มีชิงชัยกัน 9 เหรียญทองเท่านั้น ผลการแข่งขันก็กระจายเหรียญรางวัลกันไป โดยไทยได้มา 3 เหรียญทอง อุซเบกิสถาน 2 เหรียญทอง อิหร่าน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ได้ไปชาติละ 1 เหรียญทอง

ขณะที่ชาติอื่นอย่างจีน ลาว อินเดีย จอร์แดน คูเวต เลบานอน มองโกเลียและอิรัก ก็ได้เหรียญรางวัลกันไปเพื่อเป็นกำลังในการไปพัฒนาต่อยอด

การแข่งขันเอเชียน อินดอร์เกมส์ ครั้งที่ 3 ปี 2009 ที่ประเทศเวียดนามและครั้งที่ 4 ปี 2013 ที่ประเทศเกาหลีใต้ มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยก็เริ่มให้มีการชิงชัยในประเภทหญิง โดยตัดประเภทชายให้เหลือ 6 เหรียญทองและเพิ่มประเภทหญิงเข้าไปอีก 3 เหรียญทอง ประเทศลาว เวียดนาม และเกาหลีใต้สามารถพัฒนาจนสามารถคว้าเหรียญทองในประเภทชายได้ คาซัคสถานและอิหร่านยังคงรักษามาตรฐานเดิมเอาไว้ ขณะที่จีนและมองโกเลียก็สามารถคว้าเหรียญทองในประเภทต่อสู้หญิงแบ่งกับทีมชาติไทยได้

ส่วนการแข่งขันครั้งล่าสุดในปี 2017 ที่ประเทศเติร์กเมนิสถาน มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยที่เพิ่มจำนวนเหรียญทองเป็น 14 เหรียญทอง แต่ยังคงเป็นการแข่งขันในประเภทต่อสู้ทั้งหมดโดยเป็นการต่อสู้ในประเภทชาย 9 เหรียญทอง และประเภทหญิง 5 เหรียญทอง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่การแข่งขันมวยไทยสมัครเล่นได้ก้าวมาสู่มาตรฐานในระดับเอเชีย แม้จะยังไม่ได้อยู่ในมหกรรมกีฬาหลักอย่างเอเชียนเกมส์ (Asian Games) ก็ตาม

เส้นทาง ‘มวยไทยสมัครเล่น’ ในมหกรรมกีฬาสากล มาตรวัด ‘มวยไทย’ ใกล้บรรจุในโอลิมปิกแค่ไหน?

เข้าสู่เวิลด์เกมส์ มหกรรมกีฬาสากลนอกเหนือโอลิมปิก

หลังการเดินทางมาอย่างยาวนานของกีฬามวยไทยสมัครเล่นตั้งแต่ก่อตั้งสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ หรืออิฟมาขึ้นมาเมื่อปี 1993 ผลักดันกีฬาชนิดนี้เข้าแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับเอเชีย เผชิญกับปัญหาและข้อผิดพลาดต่าง ๆ มากมาย ทุกอย่างถูกแก้ไขให้ดีขึ้น มีมาตรฐานสากลมากขึ้นเพื่อให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อผลักดันมวยไทยสมัครเล่นเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ให้ได้

จนปี 2017 มวยไทยสมัครเล่นหรือมวยถูกบรรจุในกีฬาเวิลด์ เกมส์ (World Games) มหกรรมกีฬาสากลที่ไม่มีบรรจุการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ กีฬาที่ถูกถอดออกหรือเตรียมตัวจะบรรจุเข้าไปในโอลิมปิกเกมส์ มักจะถูกจัดการแข่งขันในเวิลด์เกมส์ทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า การที่มวยไทยสมัครเล่นได้มีจัดแข่งขันในเวิลด์เกมส์ 2 ครั้งหลังสุด เราได้รับการยอมรับในระดับสากลหรือนานาชาติแล้ว จะเหลือก็เพียงการพัฒนากีฬานี้ให้เป็นระบบและได้รับความนิยมมากพอจะก้าวเข้าไปสู่โอลิมปิกเกมส์ในอนาคต

และนี่คือเรื่องราวเส้นทางเดินของกีฬามวยไทยสมัครเล่นหรือมวยในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติครับ ประเทศไทยและอิฟมาเองมีการบ้านต้องทำอีกมากมายเพื่อผลักดันกีฬาชนิดนี้ไปให้สุดเส้นทางตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ อย่ามัวไปเสียเวลากับเป้าหมายเล็กน้อยมองภาพใหญ่แล้วไปกันต่อดีกว่าครับ

 

เรื่อง: ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง) 

ภาพ: แฟ้มภาพการแข่งมวยไทยสมัครเล่นชิงแชมป์โลก 2014 ภาพจาก NATION PHOTO