อรัชพร โภคินภากร : ในวันที่ลดอีโก้ จนเจอความเป็นมนุษย์ในแบบของก้อย

อรัชพร โภคินภากร : ในวันที่ลดอีโก้ จนเจอความเป็นมนุษย์ในแบบของก้อย

ก้อย - อรัชพร โภคินภากร นักแสดงผู้เคยถูกอีโก้ครอบจนเกือบไม่หลงเหลือตัวตน กระทั่งค้นพบว่าบนโลกนี้ยังมีอีกหลายอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งไม่สามารถทำได้ เธอจึงปล่อยวางและหันมามองโลกความจริงมากขึ้น

“แปลกนะ พี่ไม่มีสิ่งที่อยากทำให้ได้อีกต่อไปแล้ว”

‘ก้อย - อรัชพร โภคินภากร’ ตอบ หลังจากถูกถามถึงความฝันที่เธออยากจะทำให้สำเร็จในช่วงชีวิตนับจากนี้ เธอนิ่งคิดก่อนจะค่อย ๆ พรั่งพรูถ้อยคำที่เรียบง่ายออกมา คำตอบที่สะท้อนถึงความจริงใจราวกับว่าเธอเองก็เพิ่งค้นพบว่า ไม่มีสิ่งไหนที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มชีวิตนี้ได้อีกแล้ว เมื่อความฝันสูงสุดได้ทำสำเร็จไปนานมากโข

ความฝันของเธอก็เรียบง่ายไม่ต่างกัน เธออยากจะเห็นแม่ ผู้หญิงที่เลี้ยงดูเธอมาด้วยตัวคนเดียวมีความสุข มีชีวิตที่สุขสบาย ไม่ต้องห่วงกังวลว่าลูกสาวคนนี้จะออกนอกลู่นอกทางไปไกล อรัชพรจึงทำตัวอยู่ในขนบ ตั้งใจเรียน พูดจาหวานหู แถมยังบอกใครต่อใครอีกว่าโตขึ้น เธอจะเป็นหมอ เพื่อให้ความฝันของแม่เป็นจริง

แต่นั่นไม่ใช่ความฝันของเธอ มันคือฝันที่ถูกปลูกสร้างขึ้นมาเพียงเพราะเธอเชื่อว่านี่คือสิ่งที่จะทำให้แม่มีความสุข แม้ว่าในปัจจุบันเราจะไม่ได้รู้จักเธอในฐานะหมอ แต่เป็นนักแสดง พ่วงมาด้วยชื่อเสียงระดับประเทศ ในวันนี้ชื่อของเธอถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากเข้ามารับบทบาท ‘โบตั๋น’ ในบางกอกคณิกา ออกอากาศผ่านทางช่องวัน 31 หญิงโสเภณีที่ทำทุกวิถีทางเพื่อปลดแอกตัวเองให้มีสถานะเทียบเท่ากับมนุษย์คนหนึ่ง

มนุษย์ที่มีสิทธิมีเสียงไม่ต้องถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรี เพราะเลือกทำอาชีพที่ถูกคนในสังคมดูหมิ่น

The People พูดคุยกับก้อย-อรัชพร ถึงตัวตนและความเป็นมนุษย์ ที่ค้นพบหลังจากรู้จักปล่อยวางอีโก้ของตัวเองลง

อรัชพร โภคินภากร : ในวันที่ลดอีโก้ จนเจอความเป็นมนุษย์ในแบบของก้อย

ความผิดหวังครั้งแรก

The People : ภาพจำของคุณที่หลายคนเห็นมักจะมองว่าคุณเป็นคนที่มีความมั่นใจในการใช้ชีวิตมาก ๆ คุณเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า หรือมีจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้คุณเป็นคุณอย่างในทุกวันนี้

อรัชพร : เท่าที่จำได้นะ ค่อนข้างมีความมั่นใจ เพราะว่าจริง ๆ ที่บ้านค่อนข้างเปิดให้เราแบบมีพื้นที่แสดงออก แต่ถ้าช่วงขี้อายมันจะมีแค่ช่วงแรก แรกมาก ๆ อยู่ในความทรงจำค่อนข้างน้อยอะไรอย่างนี้ แต่ว่าหลังจากนั้นก็ค่อนข้างแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่เด็ก

จริง ๆ เป็นบ้าน conservative เลย เป็นบ้านที่แบบว่ามีค่านิยมตามแบบที่สังคมขนบคาดหวังว่าแบบหนูควรจะต้องเรียนเก่ง เด็กดีคือเด็กที่เรียนเก่ง เด็กที่พูดเพราะ เด็กที่กตัญญูอะไรอย่างนี้ คือจริง ๆ แล้วเป็นขนบแบบนั้นเลย แต่ว่าพอเราโตขึ้นแล้วเราก็มีทัศนคติหลาย ๆ อย่างที่มันเปลี่ยนแปลงไปกับเรื่องนี้ แต่เมื่อเราแชร์ไปกับเขากลายเป็นว่าเขาไม่ได้ปิด ไม่ได้แบบว่า เฮ้ย ทำไมถึงคิดอย่างนี้ ไม่ บ้านเหมือนกับยอมรับได้กับการเปลี่ยนแปลง

อย่างตอนเด็ก ๆ เราก็คิดว่าเราเชื่อจริง ๆ นะว่าเราอยากเป็นหมอ แต่จริง ๆ มันที่อยากเป็นหมอเพราะแม่ชอบบอกตอนเด็กว่าหมอดีนะ เราอยากทำให้เขาภูมิใจ มันก็เลยเป็นอาชีพที่เราตอบด้วยค่านิยมหรือเราอยากให้แม่รู้สึกภูมิใจว่า เฮ้ย เป็นหมอ จริง ๆ ตอบ 2 อย่างคือไม่หมอก็นักธุรกิจ โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำจริง ๆ หมอต้องทำอะไรขนาดนั้น แล้วก็ไม่รู้ว่านักธุรกิจต้องทำอะไร แต่รู้สึกว่ามันเท่ดีตอนเด็ก ๆ ก็ตอบไปแบบนั้น แต่ถามว่าเวลาคนมาถามเรารู้สึกแย่ไหม เวลามีคนมาถามว่า เฮ้ย ฝันอยากเป็นอะไร ก็ไม่นะ ก็โอเค ก็รู้สึกว่าดีใจภูมิใจมากที่ตอบ 2 อาชีพนั้นโดยที่ไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร

The People : แต่ความฝันที่คุณตอบทุกคนไปมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นตามที่ตอบคุณรู้สึกยังไงกับเรื่องนี้

อรัชพร : ก็ชีวิตเรามันก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นไปตามในแบบที่เราต้องการขนาดนั้นอะไรอย่างนี้ จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่แค่ว่าเราตอบอยากเป็นหมอ แต่ว่าเราเรียนมาโดยสายหมอด้วย เช่น บดินทร์มันแบ่งออกเป็นแบบวิทย์-แพทย์ วิทย์-วิศวะคือเป็นวิทย์เพื่ออาชีพนั้นโดยเฉพาะ แปลว่าเพื่อนของก้อยประมาณ 80% คือประกอบอาชีพแพทย์อะไรอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่า เออ แม่เราคงเสียใจตอนนั้นนะ ตัวเราไม่ได้รู้สึก failed อะไรมากแต่มันเป็นความ failed ที่เราทำให้เขาเสียใจซะมากกว่า แต่สุดท้ายพอมาถึงวันนี้เราก็รู้สึกว่า เออ สัมมาอาชีพเราที่เรารู้สึกว่ามันเหมาะกับเราก็คือสิ่งที่เราเป็น ณ วันนี้แหละ เราคิดว่าโลกมันก็คงเหวี่ยงให้เรามาได้ทำในสิ่งที่เราแฮปปี้ เพราะทุกวันนี้เราก็รู้สึกว่าถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นหมอ แต่เราก็แฮปปี้กับทางที่เราเดินมา

The People : นับเป็นความผิดหวังครั้งแรกเลยไหม

อรัชพร : ผิดหวังครั้งแรกเหรอ ก้อยว่าไม่หรอก ผิดหวังมันคงมีเยอะ แต่กับแม่มันไม่ใช่ความผิดหวัง มันเป็นความแบบ เฮ้ย แม่เสียใจที่ทำให้เราเสียใจ แต่ถ้าเป็นผิดหวังในตัวเอง หรือผิดหวังแบบใหญ่ ๆ จริง ๆ มันมีเรื่องอื่นอีกเยอะ แต่ถ้ากับพาร์ทนั้น เราแค่อยากไม่อยากทำให้คนนึงเสียใจ มันไม่ได้เป็นแบบว่าฉันผิดหวังที่ฉันทำความฝันของตัวเองไม่ได้ มันไม่เป็นแบบนั้น

อรัชพร โภคินภากร : ในวันที่ลดอีโก้ จนเจอความเป็นมนุษย์ในแบบของก้อย

The People : เรื่องอะไรที่รู้สึกเรายังคงรู้สึกแย่กับมันอยู่ อย่างเช่นทำไมเราคาดหวังกับสิ่งนี้แล้วเราทำมันไม่ได้มีบ้างไหม

อรัชพร : ถ้าเป็นทุกวันนี้ผิดหวังจนถึงทุกวันนี้ไม่มี แต่ถ้าเป็นแบบช่วงสมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องละครเรื่องแบบเรื่องความคาดหวังในตัวเอง ฉันอยากทำให้ได้ พี่โตมากับการที่พี่ชอบมีความเชื่อว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ฉันทำไม่ได้ เชื่อแบบนั้นจริง ๆ ตอนเด็ก ๆ แล้วก็แบบมีความมั่นใจ esteem สูงประมาณนึง แต่ว่านั่นแหละพอตั้งแต่มาแสดงหรือว่าได้เข้าสู่การบันเทิงอะไรอย่างนี้ ก็ได้รู้ว่าจริง ๆ มันมีเรื่องเยอะมากเลยที่คุณทำไม่ได้ หรือบางทีมันอาจจะไม่ได้เหมาะกับคุณ เหมือนโลกก็โบยตีเราให้เราแบบว่าหนูตื่นอะไรอย่างนี้ แล้วช่วงแรก ๆ มันก็เหมือนมาตบอีโก้เราลง ช่วงนั้นน่าจะเป็นช่วงที่แบบต่อสู้กับตัวเองค่อนข้างเยอะ

จริง ๆ มันคือช่วงเล่น O-Negative น่าจะประมาณปี 4 เพิ่งจบ แล้วก็แบบไปเล่นตัวละครชมพู่ เราก็รู้สึกว่าแบบตอนแรกฉันว่าฉันเล่นดีมากเลย แล้วเราก็ยึดติดว่าแบบ หูย เล่นดี เล่นดีคือร้องไห้ได้ เหมือนมีทัศนคติผิด ๆ กับการแสดง แล้วก็ไปทุกครั้งด้วยความรู้สึกที่ว่าอยากเล่นดี ซึ่งเล่นดีคืออะไร จริง ๆ แล้วเล่นดีมันคือแค่อยู่เป็นตัวละครไหม อยู่กับเรื่องหรือเปล่า แต่เราไปคาดหวังจากคนอื่นว่าแบบ คนเห็นว่าเราเล่นดีไหม มันจะเหมือนทับซ้อนไปอีกที แล้วพอมันกลายเป็นว่าทำไม่ได้ เราก็รู้สึกว่าทำไมทำไม่ได้สักที แล้วทำไม่ได้ไปเรื่อย ๆ พอทำไม่ได้ไปเรื่อย ๆ เราก็เริ่มถามตัวเองว่า เอ้ย จริง ๆ เราไม่เก่งหนิ จริง ๆ เราทำไม่ได้หนิ แล้วมันเหมือนกับมันไปจี้อีโก้ ตัวเองว่าแบบความเชื่อที่เรามีกับตัวเองมันไม่ได้เป็นแบบนั้น มันก็เลยเป็นช่วงเวลาที่ทรมานอยู่แป๊บนึง แต่ว่าพอผ่านมาก็พอก็รู้สึกดีนะที่ได้ผ่านจุดนั้น มันเหมือนกับทำให้เราเป็นมนุษย์ที่เข้าใจโลกมากขึ้น ไม่ได้แบบว่ามองอะไรด้านเดียว

The People : ทุกวันนี้ให้นิยามคำว่าเล่นดียังไง

อรัชพร : จริง ๆ ไม่อยากใช้คำว่าเล่นดีเลย อาจจะใช้ผิด เป็นเล่นตามรสนิยมที่เราชอบแล้วกัน ถ้าฝั่งนักแสดงเราจะรู้สึกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราหลุดเข้าไปคิดแบบ ไม่ใช่คิดแบบอยู่กับสถานการณ์ตรงนั้น ทำการบ้านที่เตรียมมาโดยไม่ได้คาดหวังอะไรเลย แล้วอยู่ไปเรื่อย ๆ ในฐานะตัวละคร คิดแบบตัวละคร แล้วสนใจแค่ว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้า ทำไมถึงมาเกิดซีนนี้อะไรอย่างนี้ได้ในปริมาณที่เรารู้สึกว่าเยอะที่สุด อันนั้นคือตอบโจทย์เราแล้ว เราพูดกับตัวเองเสมอว่าแบบถ้าในฐานะนักแสดง อยากจะเล่นอะไรก็ตาม แล้วก็เข้าใกล้ตัวละครให้ได้มากที่สุด ใช้ชีวิตแบบตัวละครให้ได้เยอะที่สุด

แล้วตัวละครนั้นมัน effect ในทิศทางที่ดีกับคนดูอันนี้คือฝั่งที่เป็นนักสดงนะ แต่ถ้าดีแบบถอยออกมาเป็นคนที่ไปดูหนังอะไรแล้ววิจารณ์ เราก็จะรู้สึกว่าเวลาเราเห็นเล่นในแบบที่เราชอบ มันก็คงเป็นโมเมนต์เดียวกันเวลาที่เห็นเขาแบบหลุดเข้าไปในสภาวะของตัวละครนั้นน่ะ มันจะมี 2 อย่าง สมมุติว่าเราเห็นคนนี้ แล้วรู้สึกว่าถ้าเรายังมีความวิเคราะห์อยู่ว่า เชี่ย เล่นยังไงวะ มันก็จะเก่งมากแล้วนะ แต่ถ้าใครที่ทำให้เราลืมสิ่งนั้นน่ะ แล้วดูดเราเข้าไปเลยตามตัวละคร เราว่าอันนั้นบียอนด์สำหรับเรา

The People : อย่างช่วงแรกที่คุณบอกว่าทำไม่ได้ แล้วจัดการความรู้สึกตรงนั้นยังไง

อรัชพร : พี่ก็จัดการไม่ได้หรอก พี่ร้องไห้ไปเรื่อย ๆ นั่งร้องไห้ ๆ แล้วเคยบอกแม่ว่าแม่ไม่ไหวแล้วไม่อยากเล่นแล้ว เพราะว่ามันทำไม่ได้ มีครูสอนการแสดงคนนึงบอกว่าไปอ่านหนังสือเล่มนี้นะคะ “กล้าที่จะถูกเกลียด” พี่ก็ไม่รู้จะทำไง พี่ก็เลยไปซื้ออ่าน นั่นหนังสือเล่มแรกที่พี่อ่านจบในระยะเวลาเร็วมาก ปกติพี่ไม่ใช่คนอ่านหนังสือ แล้วเล่มนั้นแหละเป็นเล่มแรกแล้วทำให้อ่านหนังสือมาจนถึงทุกวันนี้ มันก็ว่าด้วยเรื่องของการที่จริง ๆ ไม่มีใครสนใจเราขนาดนั้น คุณโฟกัสถูกที่ไหม คุณปัจจุบันหรือเปล่า แล้วพี่ก็มันเหมือนค่อย ๆ ตบทัศนคติของเด็กที่มันมีอีโก้ในการปกป้องตัวเอง แล้วมันก็ค่อย ๆ ทำให้เราเห็นว่าจริง ๆ โลกเรามันไม่ได้หมุนรอบตัวเองแบบนั้นน่ะ เออ ก็เลยค่อย ๆ ดีขึ้น

The People : ก็เลยเป็นที่มาของการเขียนหนังสือด้วยหรือเปล่า

อรัชพร : ก็ใช่นะ พอเราอ่านหนังสือไปเรื่อย ๆ เราก็รู้สึกว่าจริง ๆ เรามีหนังสือชื่อว่า YOU SADLY SMILE (YOU SADLY SMILE IN THE PROFILE PICTURE) อะไรสักอย่างของแซลมอน แล้วตอนนั้นเราอ่านมันเป็นเรื่องเหมือนการเขียนเรื่องสั้นไปเรื่อย ๆ รู้สึกว่า เออ จริง ๆ แล้วชีวิตก้อย ก้อยชอบเขียนไดอารี่ใช่ไหม แล้วก้อยก็คิดว่า เออ มันดีเหมือนกันเนาะที่เราจะเอาไดอารี่หรืออะไรต่าง ๆ ที่เราเขียนทุกวันน่ะมารวบรวมเป็นหนังสือ เกิดไอเดียแค่นั้น แล้วก็เลยแค่ลองเขียนเลย

ก็แฮปปี้นะ หมายถึงว่าข้อแรกสุดเราแฮปปี้กับตัวเอง เราก็ไม่คิดว่า เออ สุดท้ายแล้วจะทำมันออกมา เหมือนครั้งแรกสุดที่เราคิดว่า เออ อยากเขียนว่ะ ก็เลยลองเขียน เขียนเรื่องแรกก่อน ชื่อตอนถ้าในเรื่องมันชื่อเดซี่อะไรประมาณนี้มั้ง มันเป็นเรื่องที่แบบเราเห็นเพื่อนคนนึงกำลัง struggle อะไรบางอย่าง แล้วเราเอามาเขียนอะไรอย่างนี้ แล้วเรารู้สึกว่า อุ๊ย มีบทแรกแล้วอยากเขียนกี่บท ตอนนั้นอายุ 27 เราคิดว่า 28 เรื่องแล้วกัน ก่อนอายุ 28 เกิด 28 เมษาคือคิดแค่แบบนี้ ในชีวิตเรามีเรื่องครบประมาณ 28 เรื่องมั้ยวะในชีวิต คิดแบบง่าย ๆ แล้วก็พอมันทำได้ มันภูมิใจในตัวเอง อันนี้คือตัดคนอื่นออกไปเลยนะ

ถ้าถามว่าการเขียนหนังสือเล่มนี้มันรู้สึกว่าเราได้ achieve อะไรบางอย่าง แล้วก็ในระหว่างที่เขียนแต่ละเรื่องมันได้ตกผลึกชีวิตตัวเองจริง ๆ ว่าเรานึกคิดอะไร เพราะฉะนั้นสำหรับเรา goal นี้แม่งถือว่า hit แล้ว ส่วนอย่างอื่นมันก็เป็นผลกำไร ถ้าแบบการที่เรื่องของเรามันพอจะไปโดนใจคน เรื่องของเราพอจะเป็นเพื่อนคนอื่นได้ หรือคนแฮปปี้ อันนั้นก็เป็นกำไรที่ต่อจากนั้น แต่ว่า goal จริง ๆ ที่ก้อยทำ ก้อยว่าก้อย achieve ไปแล้ว

อรัชพร โภคินภากร : ในวันที่ลดอีโก้ จนเจอความเป็นมนุษย์ในแบบของก้อย

วัยเด็ก - ความทรงจำที่เจ็บปวด - บทบาทที่เปลี่ยนไป

The People : ถ้าเกิดย้อนกลับไปมองเราในวัยเด็ก คุณคิดว่าความทรงจำแรกที่นึกถึงทั้งทุกข์และสุขนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก

อรัชพร : ทุกข์และสุขเหรอ ถ้าสุขน่าจะแบบการใช้ชีวิตช่วงปิดเทอมที่บ้านยาย คือบ้านก้อยก็จะแบบมีคุณยาย แล้วก็หลานก็จะมารวมตัวกันตอนปิดเทอม แล้วภาพทรงจำส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้นที่นั่น เพราะว่าเป็นการรวมหลานประมาณ 5-6 คนมาอยู่ด้วยกัน แล้วก็เล่นละครกัน มีการแบบยายใช้ไปซื้อผงชูรสอะไรอย่างนี้ รู้สึกเหมือนแบบได้ใช้ชีวิตกับคนหลาย ๆ รุ่นมั้ง เจเนอเรชันเด็กกับกันเอง การได้อยู่กับยายที่แบบห่างกันมาก แล้วพอเสาร์อาทิตย์ก็จะมีพ่อแม่มันเหมือนกับใช้คนใช้ชีวิตแบบคนทุกเจนในครอบครัว เออ มันเป็นภาพที่ขึ้นมา แล้วก็เป็นช่วงชีวิตที่เล่นสนุกโดยที่แบบวัน ๆ คิดแค่ว่าวันนี้เราจะทำโชว์อะไรให้กับคุณพ่อคุณแม่ดูดี วันนี้เราจะดูพาวเวอร์พัฟเกิร์ล คือเรื่องมันแบบมันไม่มีมันไม่ค่อยมีเรื่องหนัก มันเป็นแบบการใช้ชีวิตด้วยความสนุกจริง ๆ เออ นั่นเป็นภาพความสุขที่ขึ้นมา

ความทุกข์เหรอ วัยเด็กทุกข์เหรอ อาจจะเป็นช่วงนิสัยไม่ดีมั้ง เราเกลียดความรู้สึกของการทำให้คนอื่นเดือดร้อน เราว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่มันไม่ควรเกิดขึ้นน่ะในทุก ๆ แง่ เราก็เลยแบบโตขึ้นมาก็เลยรู้สึกว่าเรื่องบุลลีหรือเรื่องอะไรที่มันเป็นแบบว่า เออ ทำให้อีกคนนึงเดือดร้อนไม่ว่าในแง่ไหนก็ตามจะค่อนข้างโดนเส้นเรา

ก้อยรู้สึกว่าการบุลลีมันเป็นแค่แบบเป็นการกลบเกลื่อนด้านที่ตัวเองแบบ เราแค่อยากมีอำนาจในการกดคนอื่นลง สำหรับก้อยนั่นมันคือสิ่งที่เป็นปัญหาข้างในของเราเอง ซึ่งถ้าคนมันรู้ไม่เท่าทัน เราจะคิดว่า โหย สิ่งที่เราทำมันมีอำนาจ แต่จริง ๆ การแสวงหาอำนาจนั้นมันคือมันไม่ถูกต้อง เออ ประมาณนั้น แล้วเราก็จะโดนเส้นง่ายหน่อยกับเรื่องแบบนี้

The People : การเข้ามารับบทโสเภณีในบางกอกคณิกา นับเป็นการฉีกบทบาทจากเดิมเลยไหม

อรัชพร : พี่ไม่เคยเล่นพีเรียดมาก่อนหนึ่ง สองพี่ก็ไม่เคยเล่นเป็นโสเภณีมาก่อน เพราะฉะนั้นพี่ก็คิดว่ามันก็เป็นอีกมิติหนึ่ง ความรู้สึกหนึ่ง ก็ใหม่ดี แต่ก็สนุกมากเลยนะ พี่ชอบว่ะ พี่ว่าการมานั่งพูดหมายถึงว่า การที่เราต้องมานั่งพูดภาษาในยุคสมัยที่เราไม่เคยอยู่อะไรอย่างนี้ มันก็ให้ความรู้สึกจริต สี หรือการเข้าซีนในแบบที่บรรยากาศของการใช้ชีวิตแบบตัวละครนั้นมันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำอะไรอย่างนี้ เพราะพี่ค่อนข้างจะคุ้นชินกับปัจจุบัน ส่วนใหญ่บทที่พี่ได้มันก็จะมีความโรแมนติกคอมเมดี้ หรือนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในช่วงหนึ่งอะไรอย่างนี้ พี่ก็จะคุ้นชินแบบนั้น พอมันไปอยู่ในอีก set up หนึ่ง มันก็ใหม่ดีค่ะ

พี่ไปเดินนี่ด้วยนะแบบซอยคาวบอยอะไรอย่างนี้ ก็รู้สึกว่าไป มีการไปเซอร์เวย์ จริง ๆ แล้วทางกองเขามีในการ workshop กัน แล้วพี่ก็ชอบไปนั่งดูคลิปการสัมภาษณ์คน Sex Worker ในผ่าน YouTube ด้วยอะไรอย่างนี้ ก็ไปทั้งของจริง พี่รู้สึกว่ามีจุดร่วมกันของคนเหล่านี้อยู่ คือการที่เราต้องเอาชีวิตให้รอดในแต่ละวันน่ะ ถ้าเปรียบตัวละครพี่ ตัวละครพี่ชื่อโบตั๋นใช่ไหม พี่รู้สึกว่าตัวละครนี้ของพี่เป็นเหมือนแบบหมาข้างถนนน่ะที่เขา กูต้องอยู่รอดมีกิน เพราะว่ามันหลังชนฝา กูต้องอยู่ให้ได้ แล้วก็เวลามันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต มันคือ facing เหมือนแบบปะทะเหมือนมีความเป็นสัตว์อยู่สูง แล้วก็ต้องปกป้องตัวเอง ปกป้องพื้นที่ของตัวเองเยอะ แต่ถ้าเมื่อไหร่มีคนเอาเราไปเลี้ยง ให้ความรักเรา จริงใจกับเรา เราก็จะพร้อมซื่อสัตย์ถวายชีวิต พี่รู้สึกว่ามิติของตัวละครโบตั๋นเป็นในรูปแบบนั้น

แล้วเวลาไปกอง หนุกว่ะพี่ชอบ พี่ว่าพี่ไปกองแล้วมีความสุข เออ เหมือนแบบถึงแม้ว่ามันจะเหนื่อยมาก เหนื่อยจริง ๆ พี่พูดจริง ๆ เวลาพี่กลับไปพี่ตัวช้ำ พี่แหกปากอะไรอย่างนี้ แต่เวลาพี่ได้มาร่วมงานกับกองนี้พี่รู้สึกว่าทุกคน Professional แล้วก็มีความทำงานแบบ sense ละครเวทีอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งพี่รู้สึกชอบ …ถึง เช่นแบบก่อนเข้าซีนใช่ไหม จะมีสิ่งที่เรียกว่าซ้อม สมัยก่อนมันก็จะมีแล้วแต่กองนะมันแล้วแต่สไตล์ บางทีซ้อมก็จะซ้อมกันประมาณนึง แต่กองนี้ซ้อมเหมือนเล่นจริง แปลว่าคุณต้องมีของจริง ๆ ผู้กำกับจะบอกว่า เล่น เล่นจริงคือใส่เต็ม แล้วพอเรารู้สึกว่าเราเต็มปึ๊บ แล้วหันไปเห็นคนอื่นแม่งเต็มด้วย มันแบบ มันเหมือนกับพลังงานมันวิ่งถึงกันอะไรอย่างนี้

ชาร์เลท (วาศิตา แฮเมเนา) ก็ชื่นชมน้องอยู่แล้ว ก้อยรู้สึกว่าน้องมีของจัด ๆ ก้อยชอบบอกว่าชาร์เลทเธอคือดวงดาวสำหรับพี่นะ มันเป็นแบบเต้นเก่ง เล่นลึกอยู่ตรงนั้นอะไรอย่างนี้ แล้วหน้า cinematic ตาอะไรอย่างนี้ ชอบ อิงฟ้า (อิงฟ้า วราหะ) เป็นคนเก่งมากอยู่แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเรื่องแรก แต่สำหรับก้อย ก้อยเห็นเขา หมายถึงก้อยติดตามเขาอยู่แล้ว ก้อยรู้อยู่แล้วเขามีของ แล้วการที่ได้เล่นกับเขา ก้อยรู้สึกว่า เออ มัน connected ก้อยว่าทั้งชาร์เลท อิงฟ้า แล้วก็ตัวก้อยเองมันมีจุดร่วมกันบางอย่างคือก้อยว่าทั้ง 3 คนรู้จักตัวเองกันพอสมควร แล้วก็ค่อนข้างเขาเรียกว่าอะไรดี มีความเป็น Fighter ในเวย์ของแต่ละคน

แล้วพอมันมาเจอกันก้อยเลยรู้สึกว่ามันเหมือน Fighter 3 คน แต่เป็นคนละสี ก็เลยสนุกดีค่ะเวลาทำงานด้วยกัน แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือนักแสดงท่านอื่น ๆ พี่อ้อม-พิยดา (พิยดา จุฑารัตนกุล) พี่นก-ฉัตรชัย (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ก้อยเป็นเด็กดูละครตั้งแต่เด็ก เหมือนก้อยเห็นเขามาตั้งแต่เด็ก แล้วก้อยรู้สึกว่า เออ ๆ วันหนึ่งเรามาเล่นกับเขามันแบบดีว่ะ เหมือนชีวิตเราก็มาไกลอะไรอย่างนี้ หรือแบบพี่นกฉัตรเดินเข้าซีนอย่างนี้ เขาเป็นคนที่ไม่ต้องทำอะไรมากเลยน้อง เขาเดินมา 2 ก้าว เขาพูดคำหนึ่งพี่ขนลุกได้เลย ของจริง feel นั้น พี่ก็เลยมีความสุข

อรัชพร โภคินภากร : ในวันที่ลดอีโก้ จนเจอความเป็นมนุษย์ในแบบของก้อย

The People : คุณคิดเห็นอย่างไรกับ Sex Worker ในไทย

อรัชพร : ข้อแรกพี่ว่าเราต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่ามีจริง ๆ เพราะว่าล่าสุดเหมือนกับเขาบอกว่าไม่มีอยู่เลยอะไรอย่างนี้ ก้อยว่ามันเป็นอะไรที่ควรจะต้องรับผิดชอบร่วมกันน่ะ คืออาชีพนี้สร้าง ก้อยว่าสร้างรายได้ให้กับประเทศเราไม่น้อย แล้วเราควรจะต้องเห็นมันและเห็นอาชีพนี้อย่างจริงจังว่าเราจะ แต่ละคนมีความคิดต่อสิ่งนี้แตกต่างกันเนาะ แต่ก้อยรู้สึกว่าเขาทำโดยที่เขาไม่ได้ขอใครกินน่ะ มันคืออาชีพนึง แล้วมันเป็นอาชีพที่แลกกัน มันแค่ มันก็คือร่างกายของเขาที่เขาแลกมาได้มาซึ่งแบบรายได้ของเขา ก้อยรู้สึกว่ามันก็ควรจะได้รับสิทธิ์ในรูปแบบที่เหมือนกับอาชีพอื่น ๆ แต่ก่อนอื่นที่จะก่อนที่จะไปถึงสิ่งนั้น ก้อยว่าระดับสังคมของโครงสร้างควรจะเห็นก่อนว่าเรามีสิ่งนี้ขึ้นจริง ๆ ในประเทศของเรา

แล้วก้อยก็พูด เวลาเหมือนเราเห็นปัญหาอะไรสักอย่าง แล้วเราปิดตาเออ ๆ ไม่มีไม่เห็น มันแก้ปัญหาสิ่งนี้ไม่ได้ ก้อยว่ามันมีระดับโครงสร้างหลาย ๆ อย่างที่ถ้าเรานำขึ้นมาจริง ๆ แล้วมาดูซิว่า โอเค เราจะอยู่ร่วมกันยังไง แล้วหลาย ๆ คนชอบพูดว่าเนี่ยถ้าสมมุติเรายกขึ้นมาคนก็จะอยากเป็นอาชีพนี้มากกว่าเดิม หรือพี่ทำมาเล่นซีรีส์เรื่องนี้ มีคำถามว่าแบบมันเป็นการ encourage หรือเปล่าที่จะทำให้เรายิ่งไปประกอบอาชีพนี้ ก้อยรู้สึกว่าถ้าใครสักคนดูแล้วรู้สึกแบบนั้นน่ะ ก้อยว่าอาจจะดูในแง่มุมไหนก็ต้องลองถามตัวเอง แต่ก้อยว่านั่นไม่ใช่ประเด็นหลักของการทำซีรีส์เรื่องนี้แน่ ๆ มันคือแง่มุมของแบบสิทธิความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง การประกอบอาชีพ ๆ หนึ่งแค่นั้นเอง

The People : ในมุมมองของคุณเรื่องของความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม คุณให้คำนิยามให้ความหมายกับคำ ๆ นี้ยังไง

อรัชพร : ในความเป็นมนุษย์ ในความเท่าเทียม คือถ้าให้แบบ sincerely ถ้าไม่ ideal เราก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องที่ยาก แต่มันเลือกเป็นเรื่องที่ควร พี่รู้สึกว่าเราไม่ควรจะบอกว่า โอ่ย โลกนี้ไม่มีความเท่าเทียมหรอก แล้วมึงก็ช่างแม่งไป ใช้ชีวิตแบบใครจะเป็นยังไงก็เป็น แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่ควร คือมึงทำไงก็ได้โดยการใช้ชีวิตเพื่อทำให้เกิดแบบ empathy เพื่อทำให้มนุษย์มันมีความเข้าใกล้กันมากที่สุด เพื่อให้ทุก ๆ ความคิดเห็นมันมีสิทธิ์มีเสียงมากที่สุด ก้อยว่านั่นมันก็เป็นวิธีการที่จะทำให้ประเทศเรามันเจริญแล้วเบ่งบานที่สุดจากความหลากหลายดีมั้ง แต่ถ้าถามว่ามันเป็นสิ่งที่จะมีอยู่ตลอดไหม เช่นแบบความเท่าเทียมต้องมีอยู่ตลอดมันเป็นไปไม่ได้ อันนี้คือก้อยเข้าใจนะ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะยอมแพ้ต่อมัน เราคิดว่าจะเป็นสิ่งที่ควรจะต้องมีควรจะต้องเชื่อครับ

The People : เหมือนมีช่วงนึงที่คุณบอกว่าตัวเองก็ไม่รู้บางอย่าง แล้วพอได้รู้ก็เหมือนเปิดโลกถูกไหม คุณว่าการที่เราไม่รู้อะไรบางอย่างมันทำให้เรา เขาเรียกว่าอะไรทำให้เราเจ็บปวดไหม

อรัชพร : ไม่รู้อะไรบางอย่างเหรอ ถ้าขึ้นมาตอนนี้ก็ไม่ได้รู้สึกเจ็บปวด แต่พี่ชอบรู้ พี่ไม่ชอบไม่รู้ คือคนจะชอบบอกว่า เออ มึงไม่ต้องรู้บ้างเหอะ แต่ไม่ พอถ้าสมมุติไม่รู้ไปเลยหมายถึงไม่ได้คิดถึงไปเลยโอเค แต่ถ้ามันเกิดคำถามบางอย่างในใจพี่ แล้วพี่ไม่ได้คำตอบ พี่ค่อนข้างเป็นคนที่ต้องการต้องอยากได้มันประมาณหนึ่งว่าจริง ๆ แล้วตอนนี้มันคำตอบคืออะไร ถ้าคำตอบมันคือคำว่าบางทีเรื่องนี้ยังไม่ต้องรู้ก็ได้ นั่นถือว่าเป็นคำตอบสำหรับพี่แล้วนะ แต่จะมาแบบว่าไม่รู้ไม่สนอะไรอย่างนี้ พี่จะไม่ใช่ทางพี่ขนาดนั้น พี่ก็จะรู้สึกว่าฉันไม่อยากใช้ชีวิตด้วยการที่ไม่ได้คำตอบอะไรเลยกับสิ่งที่เราสงสัย ทรมานไหมก็ไม่ถึงกับทรมาน แต่แค่อยากรู้ประมาณนั้น

The People : มีเรื่องไหนที่พอรู้แล้ว รู้สึกว่าไม่น่ารู้มีไหม

อรัชพร : ถ้านึกตอนนี้ไม่มี มันก็จะแค่เป็นแบบเหรอ เป็นแบบนี้เหรอ หรือก็อาจ บางทีก็อาจจะได้เห็นมุมมองต่อสิ่งนั้นในมิติที่มันลึกขึ้นอะไรอย่างนี้ หรือวางใจไว้กับเรื่องนี้อีกแบบหนึ่งมากขึ้น แต่ไม่ได้มีความรู้สึกว่า โอ้ ไม่น่าไปรู้เลย ไม่ค่อยมีความรู้สึกนี้

The People : จากที่คุณเขียนไว้ในหนังสือ ผู้พิทักษ์เข้ามาโบยตีคุณอย่างไร

อรัชพร : ก้อยว่าผู้พิทักษ์มันเหมือนสมองของก้อยมั้ง หรือวิธีการเอาตัวรอดที่ทำให้เราอยู่ในสังคมได้โดยที่เราไม่ได้แบบเจ็บปวดจนเกินไปอะไรอย่างนี้ ก้อยเป็นคนกิเลสเยอะ มีความต้องการอะไรเยอะแยะมากมาย แต่บางทีเราไม่ได้สามารถได้ทุกอย่างเราต้องการ หรือร้องขอทุก ๆ อย่างที่เราต้องการได้ โลกมันไม่ได้เป็นแบบนั้นน่ะ ผู้พิทักษ์มันทำให้เราอยู่กับร่องกับรอยขึ้น ทำให้เราใช้ชีวิตกับมนุษย์คนอื่นได้ง่ายขึ้น คือถ้าเราไม่ต้องสนใจมนุษย์ในโลกเลย มันก็คงมีอะไรหลายอย่างที่เราอยู่พูด นี่ก็พูด พูดออกไปก็เหมือนเยอะแล้ว แต่จริง ๆ แล้วข้างในมันมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราพูดได้อีก

แต่มันก็ มันอาจจะต้องไตร่ตรองว่าเราพูดทำไม ทำเพื่ออะไร ผู้พิทักษ์ทำให้ก้อยใช้ชีวิตง่ายขึ้น แล้วก็แข็งแรงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เหมือนที่เขียนเลยถ้าผู้พิทักษ์เยอะเกิน บางทีมันก็ไปทำให้จิตวิญญาณบางส่วนของเรามันแห้ง ก้อยมีช่วงหนึ่งเหมือนกันที่แบบก้อยไม่อยากพูดอะไรเลย โคตรน่าเบื่อ ไม่อยากรู้สึก ไม่อยากจะอะไรอย่างนี้ เหมือนเบื่อโลก ซึ่งพอมันผ่านชีวิตมาก็รู้สึกว่าเราแค่รู้ควรจะต้องแบบคุยสื่อสารกับตัวเอง balance ให้ดี ระหว่างความต้องการ กิเลสที่มันเป็นแบบแรง ๆ กับการใช้ชีวิตกับสังคมคนอื่นให้มันแบบพอดิบพอดีกันมั้ง ก็ถ้าถามว่ายังไงทุกวันนี้ก้อยรู้สึกมันค่อนข้าง balance โอเคเมื่อเทียบกับแต่ก่อน

อรัชพร โภคินภากร : ในวันที่ลดอีโก้ จนเจอความเป็นมนุษย์ในแบบของก้อย

ความฝันของก้อย

The People : นอกจากนักแสดง ยูทูปเอบร์ เขียนหนังสือ เขียนบท คุณอยากทำอะไรอีกไหม

อรัชพร : พี่เป็นคนหาทำมากเลยว่ะ พี่เป็นคนหาทำมาก เหมือนพี่ชอบลองภูมิตัวเอง ล่าสุดที่แต่งเพลงเว้ย ไปฟังด้วยนะ พี่แต่งกับเพลงเองแบบแต่งเพลงเองร้องเอง เหมือนมันมีช่วงเวลาหนึ่งของพี่ที่มันมีความรู้สึกที่มันอัดแน่น แล้วพี่รู้สึกว่ากูต้องเอาอีความรู้สึกนี้ออกมากับงานนึงสักอย่าง ซึ่งก่อนหน้านี้พี่ทำหนังสือไปแล้ว พี่รู้สึก เออ กูทำสิ่งนี้ไปแล้ว ขอลองแต่งเพลงแล้วกัน พี่ก็นั่งอยู่ทะเล พี่ก็ฮัมไปแล้วพี่แต่งออกมาแล้วจนเสร็จ พอพี่ทำจนเสร็จพี่รู้สึกว่า เออ ในเมื่อทำแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่พี่อยากลองทำคือกำกับ พี่ไม่เคยทำ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าตัวเองชอบไหม อาจจะไม่ชอบก็ได้ พี่ก็เลยกำลังจะทำกำกับ MV เองประมาณนี้ ปล่อยเมษา ทำเอาแบบ ทำเอาสนอง need ตัวเอง แต่ถ้าถามมีอะไรอยากทำไหม เยอะมาก กิเลสเยอะอย่างที่บอก

The People : แล้วถ้าเป็นความฝันจริง ๆ คุณฝันอยากทำอะไรแบบสิ่งนี้ต้องทำให้ได้เลย

อรัชพร : เออ แปลกนะ พี่ไม่มีสิ่งที่อยากทำให้ได้อีกต่อไปแล้ว จริง ๆ มันมีไปแล้วคือการให้แม่พี่สบาย การที่แบบเหมือนก่อนหน้านี้ชีวิตพี่แบบว่าพี่มีหนี้พี่มีสินหรือพี่มีอะไรที่ต้องจัดการอะไรอย่างนี้ แล้วพอพี่ตั้ง Goal แค่ว่ายังไงเหมือนแบบผู้หญิงคนนี้ต้องสบาย แล้วพี่ทำได้ไปแล้ว พี่เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้มี Goal of life ที่แบบถ้าฉันไม่ได้ทำสิ่งนี้ฉันตายตาไม่หลับมันไม่มีอีกแล้ว แต่ถ้าพี่ทำสิ่งนั้นไม่ได้พี่จะตายตาไม่หลับ พี่จะเกิดอีก แต่ว่าทุกวันนี้พี่รู้สึกว่าทุกอย่างที่พี่อยากมันจะเป็นแค่กำไรจากความอยากจะรู้ของพี่ไปเรื่อย ๆ แล้ว มันไม่ได้มี a must เท่านั้นแล้ว แต่มันเยอะมากเลยนะ แต่มันไม่มี a must ต่อไปแล้ว ถ้าไม่ได้ทำก็ไม่เป็นไร ทุกวันนี้พี่ใช้ชีวิตด้วยกำไรชีวิตประมาณนึง

The People : ถ้าให้พูดถึงคุณแม่ สิ่งแรกที่คุณคิดถึงคุณแม่เลยคืออะไร

อรัชพร : พี่โตมากับแม่ 2 คนน่ะ เขาคือแบบ คือถ้าพี่เป็นแบบเป็นเครื่อง ๆ หนึ่ง เขาคือแหล่งพลังงานน่ะ ความรักที่เขามีพี่มันทำให้พี่แบบทำอะไรได้เยอะ คือมันไม่ได้แบบเป็นสไตล์แบบ … คนชอบบอกพี่ว่า หูย แกมันลูกที่กตัญญูมากเลย ก็อยากจะบอกว่าไม่ใช่ในรูปแบบนั้นน่ะ มันคือเขาให้ความรักพี่มหาศาล พี่จึงอยากให้ความรักเขาอย่างมหาศาล มันคือแค่นั้นเอง มันคือ give-and-take เขาให้เรามาเยอะแล้วรู้สึกว่าเราอยากเห็นเขาสบายอะไรอย่างนี้ แล้วก็บวกกับพอเราโตมากับเขาคนเดียว เรารู้สึกว่าเขาให้ความอดทนพี่สูง เขาให้แรงพี่เยอะ 

เราว่าการที่เขาสามารถยอมรับในทุก ๆ เวอร์ชันของพี่ได้ ในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงของพี่ เพราะพี่ว่าพี่เป็นหลายคนมามาก มันทำให้พี่รู้สึกว่าไม่ว่าพี่จะเปลี่ยนจากนี้ไปอีกกี่คนน่ะ มีคน ๆ นี้ที่ยอมรับเราได้เลยทุก ๆ คนที่เราจะเป็น เหมือนพี่ใช้ชีวิตด้วยพี่รู้สึกว่าต่อให้คนทั้งโลกเกลียดกู ยังไงคน ๆ นี้ไม่มีทางทิ้งพี่แน่ พี่เลยรู้สึกว่าเวลาพี่เจอปัญหาอะไรที่ค่อนข้างหนัก พี่จะ back to แม่แบบเสมอ พี่ก็เลยรู้สึกว่าพี่จะผ่านมันได้ แล้วถึงวันนึงที่แม่พี่จะตายไปนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะยากมากสำหรับพี่ พี่รู้สึกว่าเขาได้ให้ DNA ที่แบบ ที่จะพยายามจะผ่านกับทุก ๆ เรื่องที่มันจะเกิดขึ้นได้ แล้วพี่ก็เชื่อว่าพี่จะผ่านไปได้ด้วยดีประมาณนั้น 

The People : มองไปที่คุณแม่แล้วเห็นภาพอะไร

อรัชพร : ขำ เห็นแม่นั่งสมาธิว่ะ พี่เห็นแม่พี่นั่งสมาธิ พี่รู้สึกว่าทุกวันนี้เขา เขาเคยผ่านความตายมาแล้ว เพราะแม่พี่ผ่าเส้นเลือดสมองแตก แล้วก็แบบเหมือนผ่านจุดนั้นมาแล้ว แล้วก้อยว่าทุกวันนี้ก้อยแค่อยากให้เขามีความสุข แล้วก็ Connect กับตัวเอง แล้วทุกวันก้อยว่ามันเป็นยังไงจริง ๆ เขากำลังหาความสุขสงบในแบบที่ตัวเขา เขาแบบใฝ่หาในช่วงชีวิต ก็พูดตรง ๆ ว่าแม่พี่ก็แบบจะ 70 แล้ว มันจะเอา max สุดถึง 100 ปีก็ 30 ปี I don't know เขาก็เป็นช่วงที่เขาหาความสุขนั้นในแบบของเขาอยู่ แล้วพี่ก็อยากให้เขาหามันเจอ

อรัชพร โภคินภากร : ในวันที่ลดอีโก้ จนเจอความเป็นมนุษย์ในแบบของก้อย The People : เคยสัมผัสอะไรเกี่ยวกับความตายมาก่อนไหม

อรัชพร : ถ้าตายแล้วเสียใจที่สุดเลยนะ หมาว่ะ เพราะว่าถ้าเป็นแบบคุณพ่อคุณแม่ยังอยู่ครบ คุณยายที่รักมากยังอยู่ หมา เพื่อน แล้วก็จะเป็นแบบฝั่งพ่อเพื่อนอะไรอย่างนี้ ที่ใกล้ตัว แต่ถ้าแบบ sensitive โดนเส้นสุดก็หมา

มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า พี่ไม่แน่ใจว่าพี่เปลี่ยนไปไหม แต่ว่ามันเป็นแค่แบบเหมือนเราต้องวางใจไว้กลางขึ้น เพราะเวลามันเสียใจมันเหมือนคนบ้า พี่จำได้ว่าตอนหมาที่ตายพี่ Extreme มาก สิ่งที่พี่ทำคือการลงไป คือหมาพี่เสียเพราะว่าเขาโดนรถเหยียบใช่ไหมคะ แล้วพี่จริงกลัวผีนะ แต่ตอนนั้นพี่ Extreme เพราะพี่คิดว่าถ้าผีมีจริงพี่ต้องเจอหมาพี่ พี่เดินลงไปตรงที่หมาพี่โดนเหยียบ แต่พี่ไม่ได้อยู่เหตุการณ์พี่ก็นั่ง นั่งเป็นชั่วโมงเลยน้อง แล้วพี่พูดเหมือนไหว้ด้วย แล้วก็บอกว่าแบบถ้าผีมีจริงในโลกนี้หมาพี่ต้องมาได้

นั่นคือแบบว่าการสูญเสียมันนำพาให้เรามี Action ที่ค่อนข้าง Extreme ค่อนข้างเยอะ แล้วพี่ก็พอพี่ทำสิ่งนั้นแล้วพี่ก็ถอยมา พี่ก็แบบว่า นี่คือน้องหมานะถ้าเป็นคนที่พี่รักมาก ๆ พี่อาจจะไปไกลกว่านี้ พี่ก็เลยอยากจะมีสติกับสิ่งนี้มากขึ้น บวกจริง ๆ พี่เป็นคนที่จินตนาการว่าคุณแม่เสียบ่อย เพื่อให้มันแบบ อาจจะป๊อดแหละเพราะกลัวว่าวันนั้นมันจะหนักมาก ก็เลยเหมือนพยายามจะคิดไว้บ้าง ซึ่งแม่งเสียใจหนักทุกรอบ ก็ถามว่ากลัวไหม กลัวมาก นี่พี่ว่าเป็นระบบป้องกันตัวของพี่ในการที่จะต้องรับมือกับความตายที่มันจะใกล้เข้ามา

The People : ไม่ว่าจะจินตนาการถึงคุณแม่กี่ครั้งก็ยังเสียใจ

อรัชพร : โหย โหด ๆ ไม่ไหว ๆ ใช่ แล้วก็บอกแม่ตลอดว่าแบบ เออแม่ อาจจะดูเห็นแก่ตัวนะ แล้วก็บอกว่าแบบแม่อยู่กับหนูให้นานที่สุดนะเท่าที่แบบแม่ไหวอะไรอย่างนี้ แล้วแม่ก็บอก เฮ้ย อยู่ได้อยู่แล้วอะไรอย่างนี้ เขาก็แบบเล่นชิล แต่พี่รู้เลยว่านั่นจะเป็นอีกจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ใหญ่มากสำหรับพี่ ก็มารอดูกันว่าวันนั้นพี่จะเป็นยังไง แต่ก็ prepare มาก ๆ ประมาณนึ้

The People : ถ้าเกิดให้เลือกเขียนบันทึกถึงตัวเองก่อนตาย 1 เรื่อง เป็นเหมือนหนังสือเล่มสุดท้ายที่เราจะส่งไปให้คนอื่นอ่านต่อว่านี่แหละคือก้อย นี่แหละคือคน ๆ นี้ที่เคยมีชีวิตบนโลกใบนี้

อรัชพร : จริง ๆ พี่ไม่อยากเกิดแล้ว ถ้าพี่เขียนให้ตัวเองพี่จะรู้สึกว่า โห พี่ร้องไห้ได้เลยนะ (น้ำตาคลอ) ก้อยว่าก้อยจะขอบคุณตัวเองว่ามึงแบบทำดีที่สุดเท่าที่มึงทำได้ในเกือบทุก ๆ เรื่อง เพราะว่าพี่แบบค่อนข้าง ก็อยากขอบคุณตัวเองที่แบบสู้มา แล้วก็พยายามแบบทำให้ได้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้จริง ๆ อะไรอย่างนี้ แต่ถ้าจะบอกตัวเองเลือกได้ก็แบบอยากนิพพานมาก คือพี่เชื่อพุทธนะ เด็ก ๆ รู้สึกว่าไม่ได้อินศาสนามาก แต่ยิ่งโตก็รู้สึกว่าแบบพุทธน่าจะเป็นทางของพี่ แล้วพี่ก็อยากแบบว่าไม่อยากมีชาตินี้ชาติหน้าอะไร พี่อยากไปนิพพานแล้ว นี่คือสิ่งที่อยากบอกตัวเอง

แต่ถ้าหลงเหลืออะไรให้กับสังคมเหรอ ก็แค่อยากบอกว่าแบบชีวิตทุกคนที่เกิดมาแค่ใช้ Do the best of yours ไม่ได้รู้สึกอยาก ไม่ได้รู้สึกให้คนต้องมาจดจำอะไรพี่ขนาดนั้นด้วย พี่ไม่แน่ใจว่ะ แต่แค่อยากจะบอกเขาว่าแบบมึงทำเต็มที่ของมึง แล้วก็ภูมิใจในทางที่มึงทำ นั่นคือชีวิตที่คงจะดีที่สุดในชาติหนึ่งที่เกิดมาแล้ว เพราะมันไม่มีอะไรที่จะมาแบบการันตีชีวิตเราหลังจากนี้ แค่ถ้าใครมาอ่านก็จงไปหา Happiness ในทางของตัวเองให้เจอ สู้ ๆ ทุกท่าน นั่นคือสิ่งที่อยากจะบอกคนอื่น

จริง ๆ พี่ค่อนข้างเหนื่อย แล้วพี่ก็รู้สึกว่าแบบในความเหนื่อยนี้ของตัวเองมันดีนะที่มึงแบบ แค่ พี่ว่าพี่แค่เห็นตัวเองที่ผ่านอะไรหลาย ๆ อย่างมาได้เรื่อย ๆ มั้ง เหมือนแบบ เออ สิ่งนี้กูผ่านมาได้เนาะ วางใจได้เนาะ มันมีหลายอย่างที่พี่มี พี่ว่าชีวิตพี่ชอบเจอทางเลือกที่จะให้พี่ไปขาวหรือดำ พี่ขอบคุณตัวเองที่พี่มักเลือกขาวเสมอ และพี่ดีใจที่พี่เลือกพี่เลือกทางขาว บางทีมันหลาย ๆ ครั้งไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

แล้วก็รู้สึกดีที่ตัวเองต่อสู้กับด้านมืดของตัวเองแล้วชนะ นั่นคงเป็นสิ่งที่แบบดีใจกับตัวเองที่มา เวลาพี่ขอพรน่ะพี่จะขอว่าแบบตัดเรื่องราวว่าจะต้องเรื่องเงินเรื่องงานนะ สิ่งที่พี่ขอตลอดคือขอให้กูแบบเลือกทางที่สว่าง เพราะพี่กลัวมากเลยว่าถ้าเลือกดำ พี่ว่าชีวิตพี่มันจะไปอีกแบบหนึ่ง เออ ขอให้เลือกทางแบบทางขาวเสมออะไรประมาณนี้เป็นสิ่งที่พี่ขอ เหมือนให้เขาเตือนพี่ประมาณนั้น