17 ก.ค. 2568 | 17:00 น.
KEY
POINTS
หากพูดถึงความผูกพันกับคนที่ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน เราจะนึกถึงวัฒนธรรมการมี ‘ไอดอล’ สิ่งนี้พบเจอได้ในกลุ่ม ‘แฟนคลับ’ หรือ ‘แฟนด้อม’ ซึ่งจะเป็นภาพของคนมากมายที่ตามกรี๊ดศิลปิน
ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม ในชีวิตคนเรามีบันทึกของเรื่องราวการมีแรงบันดาลใจจากบุคคลหนึ่งสู่คนมากมายให้เห็นกันอยู่เสมอ จะเป็นมุมมองของการบูชาก็ดี หรือคนแปลกหน้าที่มาทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงก็ดี แต่หากพูดถึงการผูกพันทางจิตวิญญาณข้ามวัฒนธรรม ภาษา พรมแดน เราอาจจะได้เห็นบางอย่างที่ลึกซึ้งและสวยงามจนทำให้ต้องมอง ‘วัฒนธรรมติ่ง’ ใหม่ อีกครั้ง
การรู้สึกเชื่อมโยงกับคนแปลกหน้ามีมากมายหลายแบบ เรื่องที่อยากมาแชร์ให้ทุกคนฟังวันนี้เป็นเรื่อง ‘จดหมายจากมหาตมะคานธี ถึง ลีโอ ตอลสตอย’ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มชาวอินเดียผู้กำลังจะเป็นนักต่อสู้ทางสังคม กับนักเขียนชราชาวรัสเซียใกล้หมดลมหายใจ
แม้ทั้งคู่จะไม่เคยพบหน้ากันเลย แต่กลับเชื่อมโยงได้ผ่านสิ่งที่จับต้องมิได้อย่าง ‘แรงบันดาลใจ’
ก่อนจะไปถอดรหัสเรื่องราวในจดหมาย เรามาทำความรู้จัก ‘ลีโอ ตอลสตอย’ (Leo Tolstoy) กันก่อน
ลีโอ ตอลสตอย (ค.ศ. 1828–1910) นักเขียนชาวรัสเซียผู้ฝากผลงานระดับโลกไว้ในวรรณกรรมอย่าง ‘สงครามและสันติภาพ’ (War and Peace) และ ‘อันนา คาเรนินา’ (Anna Karenina) เขาเกิดในครอบครัวร่ำรวย แต่ด้วยประสบการณ์เคยไปรบในสงครามไครเมียที่สะสมบวกกับสภาพจิตใจที่ย่ำแย่จากวิกฤตวัยกลางคน ทำให้ช่วงบั้นปลาย เขาหันหลังให้การเขียนนวนิยายแล้วหันมาขบคิดปรัชญาชีวิต เป็นตอนนั้นเองที่เขาเขียนสารคดีเชิงศาสนา เช่น A Confession (1882), What I Believe (1884) และ The Kingdom of God Is Within You (1894)
หนังสือ ‘The Kingdom of God Is Within You’ คือหมุดหมายสำคัญที่รวบรวมแนวคิด “ไม่ตอบโต้ความชั่วด้วยความรุนแรง” (non-resistance to evil by violence) ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ‘ขบวนการอหิงสา’ ทั่วโลก เขาได้อิทธิพลมาจากงานเขียนของศิลปินคริสเตียนอณาธิปไตยในอเมริกาหลายคน รวมถึงหลักคำสอนของพระเยซูอย่างเรื่อง ‘Turn the other cheek’ ที่สอนให้ปฏิเสธความรุนแรง ในเล่มนี้ ตอลสตอยชี้ว่า ‘อำนาจรัฐ’ และ ‘ศาสนา’ ได้บิดเบือนแก่นแท้ของ ‘ความรัก’ ทั้งยังทำให้ผู้คนหลงลืมศักดิ์ศรีและเสรีภาพของตนเอง
เขาได้อธิบายไว้ในหนังสือ ‘A Confession’ และผลงานอีกหลายเรื่องว่าเขาศรัทธาในคำสอนของพระเยซูเป็นหลักการดำเนินชีวิต เขาจะประณามใครก็ตามที่สนับสนุนรัฐในการทำสงครามรวมถึงศาสนจักรออร์โธดอกซ์ที่เพิกเฉย ทั้งที่ตัวเองควรทำตามคำสอนของพระเยซูแต่กลับอวยพรให้ทหารเพื่อไปรบ เขารู้ว่าสงครามมีแต่จะสร้างแผลในใจของคนไม่จบสิ้น รวมถึงเขาเองที่เห็นความตายมามากแล้ว
ภายใต้การปกครองของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สาม (Aleksandr III Aleksandrovich Romanov) ที่ยึดมั่นในนโยบาย Orthodoxy : โบสถ์เป็นศูนย์กลางสังคม ภักดีต่อนิกายออร์โธดอกซ์, Autocracy : กษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด, Nationality : ภักดีต่อสถาบันชาติรัสเซีย จึงทำให้การตั้งคำถามต่อกองทัพ การเกณฑ์แรงงาน หรือภาษีก็อาจทำให้ถูกจับกุม ตอลสตอยจึงถูกเพ่งเล็งจากรัฐ หนังสือของเขาถูกแบน ถูกถอดชื่อออกจากคริสตจักร และถูกเฝ้าจับตาในฐานะ ‘ภัยเงียบ’ แม้เขาไม่เคยปราศรัยหรือเดินขบวน แต่เพียงแค่ตัวหนังสือ ก็สามารถปลุกให้ผู้อ่านจำนวนมากเริ่มสงสัยใน ‘ความถูกต้อง’ ของอำนาจที่พวกเขาเคยเชื่อฟังมาตลอดชีวิต
แนวคิดเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงปรัชญาบนหน้ากระดาษ หากแต่เกิดจากการใช้ชีวิตจริงของตอลสตอย เขาปฏิเสธยศฐาบรรดาศักดิ์ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแบบชาวนา ผลิตหนังสือเอง แจกจ่ายความคิด และตอบจดหมายด้วยมือของเขาเองด้วยความหวังว่าคนธรรมดาจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับระบบที่ครอบพวกเขาไว้
ช่วงเวลาใกล้กัน มีชายหนุ่มอายุ 30 ต้น ๆ คนหนึ่งชื่อ ‘โมฮานทาส คานธี’ (Mohandas Gandhi) เป็นทนายความอยู่ที่แอฟริกาใต้ เขากำลังต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ กฎหมายเหยียดผิว และระบบอำนาจนิยมที่กดขี่คนผิวสี เขาต้องเผชิญกับความอยุติธรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งการจำกัดสิทธิเสรีภาพ การถูกกีดกันจากสังคม และการถูกปฏิบัติอย่างต่ำต้อยเพียงเพราะสีผิว
ท่ามกลางความยากลำบากนี้ คานธีกำลังมองหาแนวทางการต่อสู้ที่ไม่ใช่ความรุนแรง เขาเริ่มตั้งคำถามกับระบบและต้องการหาหนทางเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยหลักจริยธรรมและความจริง
คานธีเปี่ยมด้วยความเลื่อมใสในตอลสตอย จึงตัดสินใจแปลบทความของตอลสตอยชื่อ ‘A Letter to a Hindu’ เพื่อเผยแพร่แนวคิด ‘สัตยาเคราะห์’ (Satyagraha) หรือการยืนหยัดในความจริงโดยไม่ใช้ความรุนแรง
1 ตุลาคม ค.ศ.1909 จดหมายฉบับแรกถูกเขียนขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ท่านครับ,
ข้าพเจ้าขออนุญาตนำความสนใจของท่านไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทรานส์วาล ที่แอฟริกาใต้ ที่นั้นมีประชากรอินเดียสังกัดอังกฤษประมาณ 13,000 คน… เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อน เมื่อมีกฎหมายฉบับหนึ่งที่ทั้งดูหมิ่นศักดิ์ศรีและมุ่งจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหมดสิ้นความเป็นมนุษย์ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการยอมจำนนต่อกฎหมายเช่นนั้นขัดกับจิตวิญญาณของศาสนาแท้จริง ข้าพเจ้าและเพื่อนบางคนยึดมั่นอย่างแน่วแน่ในหลักการไม่ต่อต้านความชั่วด้วยความชั่ว และข้าพเจ้าก็มีโอกาสได้อ่านงานเขียนของท่าน ซึ่งได้ฝากความประทับใจอย่างลึกซึ้งไว้ในใจของข้าพเจ้า
ด้วยความเคารพอย่างสูง ขอแสดงความนอบน้อม
ผู้รับใช้โดยซื่อสัตย์ของท่าน,
เอ็ม. เค. คานธี
7 ตุลาคม ค.ศ.1909 ตอลสตอยได้เขียนตอบกลับ
คุณคานธี,
ผมเพิ่งได้รับจดหมายของคุณ ซึ่งน่าสนใจมาก สร้างความยินดีให้แก่ตัวกระผมเป็นอย่างยิ่ง
“ขอพระเจ้าทรงช่วยเหลือพี่น้องและสหายร่วมอุดมการณ์ของเราที่ทรานส์วาลเถิด!”
แม้ในหมู่พวกเราก็เช่นกัน การต่อสู้ระหว่างความอ่อนโยนกับความป่าเถื่อน ระหว่างความถ่อมตนและความรัก กับความเย่อหยิ่งและความรุนแรง กำลังปรากฏตัวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผ่านความขัดแย้งรุนแรงระหว่างหน้าที่ทางศาสนาและกฎหมายของรัฐ ซึ่งแสดงออกผ่านการปฏิเสธเข้ารับราชการทหาร ซึ่งการปฏิเสธเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น … ผมได้เขียน จดหมายถึงชาวฮินดู และรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่มีการแปลมันออกไป
… ผมขอแสดงความเคารพอย่างพี่น้อง และรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสสื่อสารกับคุณ
ลีโอ ตอลสตอย
11 ตุลาคม ค.ศ. 1909 คานธีเขียนหาตอลสตอยอีกฉบับ
ท่านเคานต์ตอลสตอย,
ข้าพเจ้าขอกราบขอบพระคุณท่านเป็นอย่างยิ่ง สำหรับจดหมายลงทะเบียนของท่านที่เกี่ยวข้องกับจดหมายถึงชาวฮินดูและประเด็นต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงไว้ถึงท่านในจดหมายก่อนหน้านี้
เมื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับสุขภาพที่ทรุดโทรมของท่าน ข้าไม่ต้องการรบกวนให้ท่านต้องเหนื่อยล้า ข้าพเจ้าจึงงดเว้นจากการส่งจดหมายตอบรับ เพราะเห็นว่าการแสดงความขอบคุณเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นอาจเป็นเพียงพิธีกรรมเกินความจำเป็น อย่างไรก็ดี คุณ เอลเมอร์ เมาเดอ ผู้ซึ่งข้าพเจ้าเพิ่งมีโอกาสได้พบ ได้สร้างความมั่นใจให้ข้าพเจ้าว่า ท่านยังมีสุขภาพแข็งแรงดี และยังคงให้ความเอาใจใส่กับจดหมายโต้ตอบในทุกเช้าด้วยความสม่ำเสมอไม่เคยขาด
ข่าวนี้นำความยินดีมาสู่ข้าพเจ้าอย่างยิ่ง และเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าเขียนถึงท่านอีกเกี่ยวกับเรื่องราวที่ข้าพเจ้ารู้ดีว่ามีความสำคัญยิ่งในทัศนะของท่าน
ด้วยความนอบน้อมอย่างสูง
ผู้รับใช้โดยซื่อสัตย์ของท่าน,
เอ็ม. เค. คานธี
4 เมษายน ค.ศ. 1910 คานธีเขียนจดหมายอีกฉบับ
ท่านเคานต์ตอลสตอย,
ท่านคงจะจำได้ว่า ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายฉบับสุดท้ายถึงท่านจากกรุงลอนดอน ซึ่งข้าพเจ้าได้แวะพักระหว่างทาง
ในฐานะผู้ติดตามท่านอย่างจงรักภักดี ข้าพเจ้าขอส่งหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่งมาพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ ซึ่งข้าพเจ้าได้เรียบเรียงขึ้นเอง โดยได้แปลงานเขียนของข้าพเจ้าเองจากภาษาคุชราต
…ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ได้ส่งสำเนาบางเล่มของ จดหมายถึงชาวฮินดู ของท่านมาด้วย ซึ่งท่านได้อนุญาตให้ข้าพเจ้านำไปตีพิมพ์ และบัดนี้ ข้อความดังกล่าวยังได้ถูกแปลเป็นหนึ่งในภาษาท้องถิ่นของอินเดียเรียบร้อยแล้ว
ข้ารับใช้ผู้ถ่อมตน,
เอ็ม. เค. คานธี
8 พฤษภาคม ค.ศ.1910 ตอลสตอยเขียนตอบกลับหลังจากได้รับหนังสือ
คุณคานธี,
ผมเพิ่งได้รับจดหมายพร้อมกับหนังสือ Indian Home Rule ของคุณ
ผมอ่านหนังสือเล่มนั้นด้วยความสนใจยิ่ง เพราะผมถือว่าประเด็นที่คุณหยิบยกขึ้นมา อย่างเรื่อง “การต่อต้านโดยสันติ” (Passive Resistance) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงสำหรับชาวอินเดียเท่านั้น แต่สำหรับมวลมนุษยชาติทั้งหมด
ผมไม่สามารถหาจดหมายฉบับแรกของคุณเจอ แต่ในระหว่างค้นหา ผมได้พบหนังสือชีวประวัติของคุณที่เขียนโดยโดก (Doke’s biography) ซึ่งน่าสนใจมาก และช่วยให้ผมเข้าใจคุณได้ดีขึ้น
ช่วงนี้ผมไม่ค่อยสบาย จึงขอเว้นจากการเขียนทุกสิ่งที่อยู่ในใจของผมเกี่ยวกับหนังสือของคุณและกิจกรรมของคุณโดยรวม ซึ่งตัวผมนั้นให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านั้นอย่างยิ่ง
แต่ผมสัญญาว่าจะเขียนถึงคุณอีกครั้งเมื่อสุขภาพของผมดีขึ้น
มิตรและพี่ชายของคุณ,
ลีโอ ตอลสตอย
15 สิงหาคม ค.ศ. 1910 คานธีเขียนกลับมาอีกฉบับ
ท่านเคานต์ตอลสตอย,
ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณท่านอย่างยิ่ง สำหรับจดหมายที่ให้กำลังใจและเปี่ยมด้วยความอบอุ่น ที่ลงไปวันที่ 8 พฤษภาคม ข้าพเจ้าซาบซึ้งยิ่งนักที่ท่านเห็นคุณค่าโดยรวมของหนังสือเล่มเล็กของข้าพเจ้า Indian Home Rule และหากท่านมีเวลา ข้าพเจ้าจะเฝ้ารอคำวิจารณ์อย่างละเอียดของท่านต่อหนังสือเล่มนี้ ซึ่งท่านได้เมตตาให้คำสัญญาไว้ในจดหมายก่อนหน้านี้
คุณคัลเลนบาค (Mr. Kallenbach) ได้เขียนจดหมายถึงท่านเกี่ยวกับ Tolstoy Farm ซึ่งเขากับข้าพเจ้าเป็นเพื่อนสนิทกันมาหลายปี ข้าพเจ้าขอกล่าวว่าเขาได้ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ท่านได้บรรยายไว้อย่างลึกซึ้งในผลงาน 'คำสารภาพ' แทบทั้งหมด
ไม่มีงานเขียนใดที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคุณคัลเลนบาคได้ลึกซึ้งเท่างานของท่าน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เขายึดมั่นในอุดมคติที่ท่านได้นำเสนอไว้ต่อสายตาชาวโลก เขาจึงได้ตัดสินใจหลังจากปรึกษากับข้าพเจ้า ที่จะตั้งชื่อฟาร์มของเขาตามชื่อของท่าน
ฉบับ Indian Opinion ที่ข้าพเจ้าส่งมาพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ จะให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับการกระทำที่เอื้อเฟื้อของเขา ซึ่งได้อุทิศฟาร์มเพื่อการใช้ประโยชน์ในหมู่ผู้ต่อต้านโดยสันติ (passive resisters)
ข้าพเจ้าไม่ตั้งใจจะรบกวนท่านด้วยรายละเอียดเหล่านี้ หากไม่ใช่เพราะความจริงที่ว่าท่านได้แสดงความสนใจส่วนตัวในขบวนการต่อต้านโดยสันติที่กำลังดำเนินอยู่ในทรานส์วาล
ขอแสดงความเคารพอย่างสูง
ผู้รับใช้ผู้จงรักภักดีของท่าน,
เอ็ม. เค. คานธี
ทั้งคู่เขียนจดหมายโต้ตอบกับทั้งสิ้น 7 ฉบับ เป็นระยะเวลาตั้งแต่ ตุลาคม 1909 ถึง กันยายน 1910 โดยในฉบับสุดท้ายมีเนื้อหาที่ยาวและละเอียด โดยเราจะขอตัดมาบางส่วน และนี่คือจดหมายฉบับสุดท้าย จากตอยสตอยถึงคานธี
7 กันยายน ค.ศ. 1910
คุณคานธี,
ผมได้รับวารสาร Indian Opinion ของคุณแล้ว และรู้สึกยินดีที่ได้เห็นเนื้อหาที่กล่าวถึงผู้ซึ่งละทิ้งการต่อต้านทุกรูปแบบด้วยความรุนแรง และทันทีที่อ่าน ผมก็รู้สึกปรารถนาอย่างยิ่งที่จะบอกให้คุณทราบถึงความคิดที่เกิดขึ้นในใจของผมเมื่อได้อ่านบทความเหล่านั้น
ยิ่งผมมีชีวิตยืนนานขึ้น โดยเฉพาะในขณะนี้ที่รับรู้ได้อย่างชัดเจนว่าความตายใกล้เข้ามาแล้ว ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าควรกล่าวในสิ่งที่ผมรู้สึกที่สุด คือสิ่งที่มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า “การละทิ้งการต่อต้านด้วยกำลังโดยสิ้นเชิง” ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ กฎแห่งความรัก (the law of love) ที่ไม่ถูกบิดเบือนโดยตรรกะอันซับซ้อนหรือความคิดหลอกตน
ความรัก คือความปรารถนาอันลึกซึ้งของจิตวิญญาณมนุษย์ที่จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และพฤติกรรมแห่งการยอมจำนนต่อกันและกันที่เกิดจากความรักนั้น คือกฎสูงสุด และในความจริงแล้ว ความรักคือกฎเดียวแห่งชีวิต
ด้วยความเคารพอย่างที่สุด,
ลีโอ ตอลสตอย
เป็นข้อความสุดท้ายที่เขามอบไว้กับเพื่อนทางจดหมายของเขา ก่อนที่ตอลสตอยจะเสียชีวิตในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1910 ด้วยโรคปอดบวม ไม่กี่เดือนหลังจดหมายฉบับนี้ หลังหนีออกจากบ้านที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความฟุ้งเฟ้อ เขาเดินทางไปสถานีรถไฟเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเมืองอัสปา ท่ามกลางความหนาวเย็น ร่างกายอ่อนแรงจนล้มป่วย และจากไปอย่างเงียบ ๆ
จดหมายฉบับสุดท้ายที่ตอลสตอยเขียน เป็นการให้กำลังใจคานธีเหมือนที่ผ่านมา แต่การโต้ตอบกันไม่เพียงแต่จะมีผลดีต่อจิตใจนักคิดเชิงสันติภาพชาวอินเดีย ตอลสตอยยังได้มอบ ‘แก่นแท้ของความรัก’ ที่ทำให้คานธียึดถือหลักอหิงสาหรือการไม่เอาความรุนแรงทุกรูปแบบ ซึ่งกลายเป็นหัวใจสำคัญของขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและปลดปล่อยอินเดียในเวลาต่อมา
การจากไปของเขาไม่ใช่แค่จุดจบของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ แต่เป็นเครื่องยืนยันถึงความเชื่อมั่นในความเรียบง่ายและสันติภาพ ที่แม้ชีวิตจริงจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่เปลวไฟแห่งความหวังที่เขาจุดไว้ ยังไม่เคยมอดดับ
ถึงแม้ว่าแนวทางของคานธีจะถูกหล่อหลอมจากหลายแหล่ง รวมถึงประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะผู้ถูกกดขี่ แต่สิ่งที่คานธีรับมาจากตอลสตอย คือแนวคิดที่ว่า กระบวนการต่อต้านผู้มีอำนาจสามารถเริ่มจากการไม่ต้องจับอาวุธได้ อำนาจของรัฐอยู่ได้เพราะประชาชนยอมให้ความร่วมมือ และเมื่อประชาชนเลิกให้ความร่วมมือโดยไม่ใช้ความรุนแรง ระบบจะล่มสลายไปเอง
เรื่องราวของจดหมายระหว่างผู้เป็นดั่งอาจารย์กับลูกศิษย์ที่ไม่เคยพบหน้ากัน คือการส่งเจตจำนง แรงบันดาลใจ กำลังใจที่มากพอจนทำให้ใครคนหนึ่งยึดมั่นในสิ่งที่ทำอยู่ได้ เช่นเดียวกับการบูชาใครสักคนเป็นไอดอล บริบทของทั้งสองชีวิต ‘ตอลสตอย’ กับ ‘คานธี’ ไม่ได้เหมือนกันแต่ก็ไม่ได้ต่างกัน ยิ่งทั้งคู่มีแนวคิดเชื่อมโยงกันได้ ตัวหนังสือไม่กี่หน้าก็เพียงพอสำหรับการ ‘จุดไฟ’ เพื่อให้ใครคนหนึ่งยืนหยัดต่อ
แล้วในโลกปัจจุบันล่ะ?
เราสื่อสารกันได้เร็วขึ้น แต่กลับใช้เวลาน้อยลงกับการฟังกันจริง ๆ เราแชร์คำพูดมากมาย แต่ไม่ค่อยหยุดคิดว่าเข้าใจมันแค่ไหน
ตอลสตอยกับคานธีไม่เคยเจอกันเลย แต่ความเชื่อที่ซื่อสัตย์ของคนหนึ่ง กลายเป็นแรงผลักดันให้อีกคนยืนหยัด และส่งต่อเปลวไฟที่ไม่เคยมอดดับมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่อง : jaomie