3 วีรบุรุษแห่งเชอร์โนบิล เสี่ยงตาย ‘ดำน้ำ’ ไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กู้วิกฤตก่อนระเบิดซ้ำ

3 วีรบุรุษแห่งเชอร์โนบิล เสี่ยงตาย ‘ดำน้ำ’ ไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กู้วิกฤตก่อนระเบิดซ้ำ

3 วีรบุรุษแห่งเชอร์โนบิล กับภารกิจเสี่ยงชีวิตของเหล่าผู้กล้าที่ต้อง ‘ดำน้ำ’ ลงไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อเปิดวาล์วระบายน้ำก่อนจะเกิดการระเบิดซ้ำสอง และปลดปล่อยยุโรปจากหายนะครั้งใหญ่

“จะไม่มีใครรับรู้ถึงการเสียสละครั้งนี้ของเรา ไม่มีรูปปั้นสรรเสริญ ไม่มีชื่อของเราสลักอยู่บนผืนแผ่นดิน ไม่มีขบวนพาเหรดยกย่องคุณงามความดี ทำได้เพียงสวดมนต์อ้อนวอนต่อพระเจ้า และขอให้การเสียสละของเราไม่สูญเปล่า”

วันที่ 26 เมษายน 1986 เวลา 01:23:00 น. ขณะที่เข็มนาฬิกากำลังจะเดินเข้ามายังวินาทีที่ 45 เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 เกิดระเบิดและปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีปริมาณมหาศาลไปทั่วชั้นบรรยากาศของเมืองปริปยัต ยูเครน ประชาชนนับสามแสนรายถูกสั่งอพยพโดยด่วน เพราะหากได้รับกัมมันตภาพรังสีเหล่านี้เข้าไป ชีวิตที่เหลือต่อจากนี้คงไม่ต่างจากการตกอยู่ในนรกทั้งเป็น

รัฐบาลทำได้เพียงส่งคนมาดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่มีแผนสำรองรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน มีแต่ความผิดพลาดที่ปรากฏออกมาเต็มไปหมด ทั้งความผยองของสหภาพโซเวียตที่ต้องการแสดงความยิ่งใหญ่เหนือสหรัฐฯ โดยการเปิดใช้งานโรงไฟฟ้าก่อนถึงเวลาอันควร ไปจนถึงโครงสร้างของหน่วยงานรัฐ (ช่วงเวลานั้นยูเครนยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียต จนแยกตัวออกมาได้สำเร็จหลังจากโซเวียตล่มสลายในปี 1991) ซึ่งเต็มไปด้วยอำนาจที่พร้อมกดทับข้าราชการชั้นผู้น้อย ปิดปากพวกเขาไม่ให้มีปากมีเสียง จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมระดับโลก

ความสิ้นหวัง เปลวไฟที่โหมกระหน่ำ และเสียงผู้คนกรีดร้อง คือสิ่งที่ปรากฏขึ้นในค่ำคืนนั้น ‘การหนี’ คือสัญชาติญาณในการเอาชีวิตรอดของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะยังมีกลุ่มคนจำนวนมากที่พร้อมสละชีวิต เพื่อปกป้องบ้านเกิดและลูกหลานให้รอดพ้นจากควันพิษ

หนึ่งในนั้นคือ ‘ทีมนักดำน้ำแห่งเชอร์โนบิล’ โดยมีวิศวกร 3 คน ‘อเล็กเซย์ อนาเนนโก้’ (Alexei Ananenko) ‘วาเลรี เบซปาลอฟ’ (Valeri Bespalov) และ ‘บอริส บารานอฟ’ (Boris Baranov) อาสาลงไปเปิดวาล์วประตูระบายน้ำใต้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ก่อนความร้อนจากแกนปฏิกรณ์ที่เสียหายจะทำให้เกิดการระเบิดซ้ำสอง

และนี่คือเรื่องราวของเหล่าผู้กล้าที่พร้อมสละชีพเพื่อมนุษยชาติ กับภารกิจที่มีตั๋วเพียงเที่ยวเดียว ไม่มีวันหวนกลับ

“หากผู้กล้าทั้งสามทำภารกิจไม่สำเร็จ แผ่นดินยุโรปส่วนใหญ่จะถูกกลืนกินด้วยกัมมันตภาพรังสีเป็นเวลาอีกหลายแสนปี” – วาซิลี เนสเทเรนโก้ (Vassili Nesterenko) นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ชาวโซเวียต 3 วีรบุรุษแห่งเชอร์โนบิล เสี่ยงตาย ‘ดำน้ำ’ ไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กู้วิกฤตก่อนระเบิดซ้ำ

3 วีรบุรุษแห่งเชอร์โนบิล เสี่ยงตาย ‘ดำน้ำ’ ไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กู้วิกฤตก่อนระเบิดซ้ำ

ความจริงที่แตกต่างจากซีรีส์ Chernobyl 2019 (HBO)

หากใครได้ดูมินิซีรีส์ของ HBO อาจจะจำฉากที่ชาย 3 คน พร้อมใจกันยกมือ ‘อาสา’ ลงไปดำน้ำที่ปนเปื้อนไปด้วยสารกัมมันตภาพรังสีได้บ้าง เพราะหลังเหตุการณ์ระเบิดเข้าสู่วันที่ 6 รัฐบาลโซเวียตได้ค้นพบความจริงอันน่าสะพรึงว่า ถ้าหากไม่สามารถควบคุมความร้อนที่เกิดจากแกนปฏิกรณ์ที่เสียหายได้ ยุโรปจะต้องพบกับจุดจบ

ความฮึกเหิมที่ท่วมท้นไปทั่วห้อง ทำให้ผู้รับชมที่อยู่นอกเหตุการณ์ สัมผัสถึงความหวังได้ไม่ยาก “ความจริงก็คือเราต้องรีบระบายน้ำออกจากที่ตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ให้เร็วที่สุด มันเป็นการตัดสินใจจาก ‘เบื้องบน’ ทั้งหมด จากนั้นภารกิจนี้ก็ถูกส่งต่อมายังเบื้องล่าง มอบหมายให้กับ อเล็กเซย์ อนาเนนโก้ วิศวกรอาวุโส, วาเลรี เบซปาลอฟ วิศวกรระดับกลาง และบอริส บารานอฟ วิศวกรหัวหน้ากะ มันไม่ใช่อย่างที่คุณเห็นกันในซีรีส์

“มันไม่ใช่ความสมัครใจ พวกเขาได้รับสายโทรศัพท์ให้มาทำหน้าที่ตรงนี้... แน่นอนว่าพวกเขาไม่ต้องลงไปดำน้ำ แค่ต้องลุยน้ำที่ปนเปื้อนไปด้วยสารกัมมันตภาพรังสีปริมาณมหาศาล เพื่อไปเปิดวาล์วระบายน้ำ อีกทั้งร่างกายของพวกเขายังถูกปกป้องด้วยชุดดำน้ำอีกชั้นหนึ่งต่างหาก”

ความจริงอีกด้านที่มินิซีรีส์ชุดนี้พยายามสร้าง ‘วีรบุรุษ’ ขึ้นมาท่ามกลางความสิ้นหวัง ซึ่งในสายตาของผู้ปฏิบัติภารกิจ พวกเขาไม่ได้มองว่าตัวเองคือฮีโร่ หรือผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ยูเครน หรือแม้กระทั่งยุโรป รอดพ้นจากหายนะ ในทางกลับกัน พวกเขามองตัวเองว่าเป็นแค่เจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ที่ต้องทำงานรับใช้ประชาชน

“ผมไม่ใช่ฮีโร่ ผมก็แค่ได้รับคำสั่งให้ไปทำงาน แล้วเขาก็บอกว่าจะให้เหรียญกล้าหาญกับเงินรายเดือนประมาณ 80 รูเบิ้ลเป็นรางวัลสำหรับความกล้าหาญ” อเล็กเซย์เปิดใจถึงฉากอาสาลงไปดำน้ำที่ซีรีส์พยายามดัดแปลงเรื่องราวของเขา และจำนวนเงินที่ระบุว่าได้คนละ 400 รูเบิ้ลก็ไม่เป็นความจริง

“ถ้าผมไม่ทำ พวกเขาก็ไล่ผมออก แล้วผมจะหางานใหม่ได้ยังไง”

“มันเป็นแค่งานของเรา ใครจะมายืนปรบมือแสดงความยินดีให้กับหน้าที่ที่เราต้องทำอยู่แล้วล่ะ?”

3 วีรบุรุษแห่งเชอร์โนบิล เสี่ยงตาย ‘ดำน้ำ’ ไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กู้วิกฤตก่อนระเบิดซ้ำ

ภารกิจเสี่ยงตาย

ก่อนที่ภาพฝันของความเป็นวีรบุรุษจะพังทลาย ความจริงของภารกิจครั้งนี้ก็คือ พวกเขาจะต้องทำงานอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องปฏิกรณ์อีก 3 เครื่องระเบิด ชาย 3 คนที่มีความเชี่ยวชาญ รู้แผนผังและการทำงานทุกอย่างจึงไม่อาจปฏิเสธหน้าที่นี้ได้

พวกเขาสวมชุดนักประดาน้ำและติดไฟฉายคนละดวง ก่อนจะเดินลุยน้ำปนเปื้อนไปด้วยสารกัมมันตภาพรังสี ที่สูงประมาณเข่าไปยังสถานที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ขณะที่บางแหล่งข้อมูลระบุว่า ผู้กล้าทั้ง 3 ว่ายลงไปในน้ำที่เต็มไปด้วยรังสี เพื่อปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จ และหลังจากออกมาไม่นานพวกเขาก็เสียชีวิต เพราะได้รับปริมาณรังสีในระดับเข้มข้น (ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทั้ง 3 คนมีชีวิตที่ยืนยาว จนกระทั่งปี 2005 บารานอฟ เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว)

เพื่อตามหาความจริงดังกล่าว ‘แอนดรูว์ เลเธอร์บาร์โรว์’ (Andrew Leatherbarrow) ผู้เขียนหนังสือ Chernobyl 01:23:40: The Incredible True Story of the World's Worst Nuclear Disaster ทุ่มเวลากว่า 5 ปี เพื่อขุดคุ้ยความจริงเบื้องหลังภารกิจทีมนักดำน้ำ จนพบว่ามีเหตุการณ์ที่แตกต่างจากในมินิซีรีส์อยู่เล็กน้อย เช่น ห้องใต้ดินถูกน้ำท่วมจนมิดจริง แต่ในระหว่างนั้นทีมนักดับเพลิงได้สูบน้ำออกไปบางส่วน จนทำให้ระดับน้ำเหลือแค่เข่า

และทั้ง 3 คนไม่ใช่กลุ่มแรกที่เข้าไปในห้องใต้ดิน มีอีกหนึ่งทีมที่เข้าไปวัดระดับรังสี ก่อนจะกลับออกมา เพื่อบอกว่าสามารถเข้าไปได้หรือไม่ได้ ส่วนชะตากรรมของคนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้าไปเป็นอย่างไร เลเธอร์บาร์โรว์เองก็ไม่สามารถหาคำตอบได้

3 วีรบุรุษแห่งเชอร์โนบิล เสี่ยงตาย ‘ดำน้ำ’ ไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กู้วิกฤตก่อนระเบิดซ้ำ

3 วีรบุรุษแห่งเชอร์โนบิล เสี่ยงตาย ‘ดำน้ำ’ ไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กู้วิกฤตก่อนระเบิดซ้ำ

บันทึกความทรงจำของเหล่าผู้กล้า

“อันที่จริงไม่มีใครรู้ว่าระดับน้ำจะอยู่ระดับไหน ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องสวมชุดประดาน้ำ แต่ละคนจะนำอุปกรณ์วัดปริมาณรังสี IK-50 ติดตัวไปด้วยคนละหนึ่งคู่ บอริส บารานอฟเองก็ใช้เครื่องวัดปริมาณรังสีที่ทางทหารโซเวียตเอามาให้ วัดระดับรังสีอยู่ตลอดทาง

“เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทางเดินที่เราจะเข้าไปจะมีแสงสว่างเพียงพอไหม เราจึงจำเป็นต้องเดินลัดเลาะเพื่อลดเวลาที่จะอยู่ในน้ำกัมมันตภาพรังสี กระบวนการทั้งหมดในการระบายน้ำออกจากใต้เตาปฏิกรณ์ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โชคดีที่ระดับน้ำอยู่ใต้เข่าเราพอดี

“นอกจากนี้เรายังเดินไปเจอกับวาล์วน้ำได้เร็วกว่าที่คิดไว้ ตัววาล์วไม่มีปัญหาอะไร เราเปิดมันออกและได้ยินเสียงที่คล้ายกับน้ำกำลังระบาย เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจ เราทั้ง 3 เดินกลับไปด้านบน” - ส่วนหนึ่งของบันทึกความทรงจำของอเล็กเซย์ อนาเนนโก้ วิศวกรอาวุโส

ซึ่งตรงกับบันทึกความทรงจำของวาเลรี เบซปาลอฟ ระบุไว้ว่า “ทันทีที่กลุ่มเราไปวาล์วประมาณครึ่งทางได้ บอริส บารานอฟ อ่านค่าระดับรังสีและบอกเราว่าปริมาณรังสีกำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้นเขาก็ออกคำสั่งปนตะคอกว่าให้พวกเราเดินเร็วขึ้นอีก

“พอพวกเราเดินผ่านจุดอันตรายแล้ว ผมก็หันกลับไปมองตรงทางเดินอีกครั้ง ภาพที่เห็นมันมืดไปหมด เห็นราง ๆ ว่ามีชิ้นส่วนของเครื่องปฏิกรณ์แตกเป็นเสี่ยง ๆ ระเบิดอยู่บนผนังคอนกรีต แล้วหลังจากนั้นในปากผมก็รับรสโลหะที่ปลายลิ้น เหมือนรังสีมันละลายเข้ามาอยู่ในปากผม”

ปัจจุบันอเล็กเซย์ อนาเนนโก้ วัย 62 ปี ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน วีรบุรุษต้องลี้ภัยออกจากบ้านเกิดที่เขาเคยช่วยไว้เมื่อเกือบสามสิบปีก่อน โดยมีภรรยาคอยอยู่เคียงข้างดูแลสุขภาพของสามีที่นับวันจะยิ่งทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ ไม่ใช่เพราะสารกัมมันตภาพรังสีที่เขาเคยสัมผัสมาในอดีต หากแต่เป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ประสบเมื่อ 5 ปีก่อน กำลังทำร้ายร่างกายของเขาอย่างช้า ๆ

“ฉันไม่เคยรู้สึกโกรธเคืองรัสเซียมาก่อน แต่ตอนนี้ฉันตระหนักได้ว่า ฉันไม่สามารถให้อภัยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยูเครนของปีศาจปูตินได้”

“ฉันต้องมีชีวิตอยู่เพื่อดูแลเขา(อเล็กเซย์)และเขาต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป”

แม้ว่าบั้นปลายชีวิตของ 3 วีรบุรุษจะแตกต่างกันไป แต่การเสียสละของพวกเขาก็ทำให้มนุษยชาติรอดพ้นจากจุดจบ

ขอสดุดีแด่เหล่าผู้กล้าหาญ และวีรบุรุษ-วีรสตรีนิรนามที่ยอมพลีชีพใน ‘ศึกเชอร์โนบิล’

 

ภาพ: Chernobyl 2019 (HBO), Gazeta.ua

อ้างอิง:

realchernobyl.com

chernobylx.com

thetrumpet.com

chernobyladventure.com

dailymail.co.uk

history.co.uk

BBC

contamination.zone

tass.ru

krivbass.city

chernobylzone.com

bigpicture.ru