ลิลลี่ โฮป โบเมอร์ : เด็กหญิงที่เกิดจากครรภ์มารดาสองครั้ง

ลิลลี่ โฮป โบเมอร์ : เด็กหญิงที่เกิดจากครรภ์มารดาสองครั้ง

'ลิลลี่ โฮป โบเมอร์' (Lynlee Hope Boemer) เด็กหญิงที่ 'เกิด' สองครั้งเพื่อการผ่าตัดเนื้องอกในครรภ์ ก่อนกลับเข้าไปในท้องแม่และคลอดใหม่อีกครั้ง คือปาฏิหาริย์ที่เกิดจากความหวังและความรัก

KEY

POINTS

  • เรื่องราวการผ่าตัดทารกในครรภ์ที่เสี่ยงสูง จนเด็กหญิงคนหนึ่งต้อง 'เกิด' เพื่อผ่าตัด แล้วกลับเข้าไปในครรภ์ และเกิดใหม่อีกครั้งอย่างมหัศจรรย์
  • การตัดสินใจของแม่ที่ยืนหยัดจะให้ลูกมีชีวิต แม้ต้องเผชิญแรงกดดันให้ทำแท้ง และความหวังที่กลายเป็นจริงด้วยความรักของครอบครัว
  • วิทยาการแพทย์ล้ำหน้า ที่ช่วยพลิกชะตาชีวิตของเด็กก่อนคลอด พร้อมเบื้องหลังการผ่าตัดระดับโลกที่น้อยคนเคยได้ยิน

ชีวิตของแม่คงไม่มีอะไรน่าเศร้าไปกว่าการสูญเสียลูกระหว่างตั้งครรภ์ ลูกตัวน้อยที่ไม่มีแม้แต่โอกาสออกมาลืมตาดูโลก ลูกที่เธอฟูมฟักดูแลอย่างดี ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของคนเป็นแม่มากที่สุด 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าโชคชะตาจะเมตตาเสมอไป...

เมื่อ ‘มาร์กาเร็ต โบเมอร์’ (Margaret Boemer) คุณแม่จากเมืองพลาโน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา รู้ดีว่าความไม่แน่นอนสามารถมาเยือนได้ทุกเมื่อ เธอเคยตั้งครรภ์ลูกแฝด แต่โชคร้ายที่ต้องสูญเสียลูกคนหนึ่งไปตั้งแต่ไตรมาสแรก และเมื่อเธอไปอัลตราซาวด์ตอนอายุครรภ์ 16 สัปดาห์เพื่อดูพัฒนาการของทารกที่เหลืออยู่ กลับพบกับข่าวร้าย เมื่อทีมแพทย์เห็นว่าลูกของเธอมี ‘หัว’ สองด้าน 

ลิลลี่ โฮป โบเมอร์ : เด็กหญิงที่เกิดจากครรภ์มารดาสองครั้ง

อันที่จริงไม่ใช่ ‘หัว’ แต่เป็นก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ที่งอกบริเวณโคนกระดูกสันหลัง (sacrococcygeal teratoma) ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วและทำให้หัวใจของเด็กทำงานหนักเกินไป ก้อนเนื้อร้ายที่หายากซึ่งพบในทารกประมาณหนึ่งใน 35,000 ราย และส่วนใหญ่เกิดในเด็กผู้หญิง มันกำลังเติบโตเร็วมากจนหัวใจของทารกต้องทำงานหนักเกินไป หากปล่อยไว้นานกว่านี้ ลูกน้อยอาจไม่รอด และที่ร้ายแรงกว่านั้นคืออาจเสี่ยงถึงชีวิตแม่เช่นกัน

“พวกเขาเห็นบางอย่างในผลการสแกน และคุณหมอก็เข้ามาบอกเราว่ามีบางอย่างผิดปกติอย่างร้ายแรงกับลูกน้อยของเรา และเธอมีภาวะเทราโทมา (teratoma) ของกระดูกเชิงกราน (sacrococcygeal teratoma)” เธอกล่าวกับ CNN “มันน่าตกใจและน่ากลัวมาก เพราะเราไม่รู้ว่าคำยาว ๆ นั้นหมายถึงอะไร หรือการวินิจฉัยโรคจะเป็นอย่างไร”

แพทย์ให้ทางเลือกกับเธอว่าจะ ‘เก็บเด็กไว้’ หรือ ‘เอาเด็กออก’ แพทย์บางคนถึงกับแนะนำว่าเธอควรเดินทางไปนิวเม็กซิโกเพื่อทำแท้ง เพราะนี่หมายถึงชีวิตที่เสี่ยงทั้งแม่และลูก แต่สำหรับมาร์กาเร็ตที่อุ้มท้องมาเป็นเวลา 16 สัปดาห์ การตัดสินใจว่าจะนำเด็กออกดูจะเป็นทางที่เธอไม่มีวันเลือก เธอยังมีความหวัง และเชื่อว่าลูกจะสามารถมีชีวิตรอดได้ 

ราวกับสวรรค์เปิดทาง มาร์กาเร็ตได้ข่าวมาว่าโรงพยาบาลเด็กเท็กซัส เคยผ่าตัดเนื้องอกให้กับเด็กที่ยังอยู่ในครรภ์ได้สำเร็จ ถึงจะรู้ว่ามีความเสี่ยง แต่แม่คนนี้ก็พร้อมเสี่ยงทุกอย่างเพื่อลูก… 

มาร์กาเร็ตและครอบครัวไม่รอช้า พวกเขาเดินทางไปปรึกษากับโรงพยาบาลทันที หลังจากทีมแพทย์ตรวจร่างกายของเธออย่างละเอียดก็พบว่า หัวใจของทารกกำลังเข้าขั้นวิกฤต หากไม่รีบผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออก ในไม่ช้าลูกของเธอจะต้องจากไปเป็นแน่

และแล้ววันผ่าตัดก็มาถึง เมื่ออายุครรภ์ 23 สัปดาห์ กับอีก 5 วัน ทีมแพทย์และพยาบาลกว่า 20 คน รวมถึงศัลยแพทย์สองคน ผู้เชี่ยวชาญด้านแม่และทารกในครรภ์ พยาบาลอีกนับสิบ แพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเด็ก และแพทย์วิสัญญีเฉพาะทางเด็กเข้ามาประจำการในห้องผ่าตัด เพื่อช่วยชีวิตทั้งแม่และลูกให้รอดปลอดภัย 

ทีมแพทย์ผ่าท้องคุณแม่มาร์กาเร็ต โดยดึงเอาส่วนล่างของทารกออกมาไว้นอกครรภ์ครึ่งหนึ่ง ทุกขั้นตอนต้องใช้ความเชี่ยวชาญระดับสูง เพราะต้องรับมือกับทารกที่มีน้ำหนักเพียง 1.3 ปอนด์ (0.53 กิโลกรัม) และจำเป็นต้องได้รับการถ่ายเลือดควบคู่ไปด้วย ระหว่างการผ่าตัดหัวใจของเด็กหยุดเต้นหนึ่งครั้ง แต่ทีมแพทย์ก็สามารถนำเธอกลับจากความตายได้อย่างทันท่วงที

เมื่อผ่าตัดเนื้องอกออกได้ 90 เปอร์เซ็นต์สำเร็จ แพทย์จึงนำเด็กเข้าไปอย่างระมัดระวัง และปิดผนึกถุงน้ำคร่ำและมดลูก ราวกับไม่เคยถูกเปิดมาก่อน 

และนั่นคือการเกิดครั้งแรกของ ‘ลิลลี่ โฮป โบเมอร์’ (Lynlee Hope Boemer) 

ลิลลี่ โฮป โบเมอร์ : เด็กหญิงที่เกิดจากครรภ์มารดาสองครั้ง

“เราใช้เวลาผ่าตัด 5 ชั่วโมง แต่เมื่อถึงขั้นตอนนำเด็กออกจากครรภ์ เราต้องทำอย่างรวดเร็วให้เสร็จสิ้นภายใน 20 นาทีเท่านั้น… นี่เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่คุณสามารถเปิดมดลูกได้แบบนั้น  และยังต้องเย็บมันให้ปิดสนิททั้งหมด เพื่อไม่ให้มีส่วนของของเหลวอื่นใดซึมเข้ามาได้ มันมหัศจรรย์จริง ๆ ที่เราสามารถทำมันได้ทั้งหมด และทุกอย่างยังคงใช้งานได้ตามปกติ”

‘ดร.ดาร์เรล แคสส์’ (Darrell Cass) ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์ทารกในครรภ์เด็กเท็กซัส และรองศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรม กุมารเวชศาสตร์ สูติศาสตร์ และนรีเวชวิทยา ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ กล่าว ก่อนจะอธิบายเสริมว่า เทราโทมาคือ เนื้องอกที่พบบ่อยที่สุดที่เราพบในทารกแรกเกิด แต่ถึงแม้ว่ามันจะพบได้บ่อยที่สุด แต่มันก็ยังค่อนข้างหายากอยู่ดี

เดิมที คุณแม่มาร์กาเร็ตตั้งครรภ์แฝด แต่สูญเสียลูกไปหนึ่งคนก่อนไตรมาสที่สอง ในตอนแรกเธอได้รับคำแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ทั้งหมด ก่อนที่แพทย์ที่ศูนย์ทารกในครรภ์เท็กซัสจะแนะนำการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงแทน และเธอก็ไม่ลังเลที่จะคว้าเอาโอกาสนี้ไว้

โดยขั้นตอนหลังจากนั้น มาร์กาเร็ตต้องนอนพักดูแลอาการอีก 12 สัปดาห์ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากว่าเธอจะคลอดลูกก่อนกำหนด ทำให้เธอต้องจากลูก ๆ อีกสองคนเป็นเวลานานถึงสี่เดือนเต็ม โชคดีที่ครอบครัวสามีพร้อมให้การสนับสนุน พาเด็ก ๆ ไปกลับโรงเรียนและทำกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนสามีอยู่ที่บ้านในตอนเหนือของรัฐเท็กซัสเพื่อทำงาน และเดินทางมาเยี่ยมเธอทุกสุดสัปดาห์

ลิลลี่ โฮป โบเมอร์ : เด็กหญิงที่เกิดจากครรภ์มารดาสองครั้ง

“มันยากสำหรับลูก ๆ ของฉัน ที่ต้องห่างจากแม่นานถึงสี่เดือน แต่เราทุกคนรู้สึกขอบคุณในความเสียสละของครอบครัว เพราะวันนี้เรามีสมาชิกใหม่ ซึ่งเธอเป็นพรอันล้ำค่าจริง ๆ” 

และแล้วในสัปดาห์ที่ 36 กับอีก 5 วัน คุณแม่มาร์กาเร็ตก็ได้ให้กำเนิดลูกสาวตัวน้อย ‘ลิลลี่ โฮป โบเมอร์’ เป็นครั้งที่สอง ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2016 

ครั้งนี้ เด็กหญิงลิลลี่จะได้ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อีกยาวนาน แม้ว่าหลังจากนั้นอีก 8 วันเธอจะต้องถูกส่งเข้าห้องผ่าตัด เพื่อนำเอาเนื้องอกส่วนที่เหลือออกจากร่างกาย และต้องทำการกายภาพอยู่เป็นประจำก็ตาม แต่สุขภาพของเด็กหญิงก็แข็งแรงราวกับไม่เคยผ่านเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อเช่นนั้นมาก่อน

ลิลลี่ โฮป โบเมอร์ : เด็กหญิงที่เกิดจากครรภ์มารดาสองครั้ง

ปัจจุบัน ลิลลี่ โฮป อายุ 9 ขวบ เธอใช้ชีวิตไม่ต่างจากเด็กทั่วไป เรียกเต้นบัลเลต์และแจ๊สอย่างมีความสุข ต้องขอบคุณความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปี 1969 หรือราว 50 ปีก่อน หลังจาก ‘ดร. ไมเคิล แฮร์ริสัน’ (Michael Harrison) ซึ่งเป็นแพทย์ศัลยกรรมฝึกหัด โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ทั่วไป มองเห็นความทรมานของผู้เป็นแม่ จึงลงมือทำการวิจัยอย่างหนัก กระทั่งในปี 1981 หลังจากทำการวิจัยอย่างละเอียดกับลิงและแกะ ทีมของแฮร์ริสันที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (UCSF) ได้ทำการผ่าตัดทารกในครรภ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา โดยขจัดการอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะที่อันตราย ไม่นานหลังจากนั้น พวกเขาและผู้บุกเบิกคนอื่น ๆ ก็ทำการผ่าตัดอื่น ๆ อีกหลายรูปแบบได้สำเร็จ

การทำหัตถการเช่นนี้ในครรภ์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ท้องของแม่ก็ยังมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพราะแม่คือปอดและไต ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการใส่สิ่งเทียมเข้าไปช่วย ด้วน ‘ดร. รเมชา ปาปันนา’ (Ramesha Papanna) ประธาน NAFTNet และศัลยแพทย์ที่ UTHealth Houston และ Children's Memorial Hermann อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า 

"แม่คือ ICU ที่ดีที่สุด"

ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านแม่และทารกในครรภ์สามารถทำการผ่าตัด เพื่อช่วยชีวิตทารกในครรภ์ได้นับไม่ถ้วน ส่วนในโรงพยาบาลเด็ก ฟิลาเดลเฟีย (CHOP) ก็ได้ทำการผ่าตัดเช่นนี้มากกว่า 2,500 ครั้งตั้งแต่ปี 1995 

ลิลลี่ โฮป โบเมอร์ : เด็กหญิงที่เกิดจากครรภ์มารดาสองครั้ง

“เมื่อได้เห็นวิดีโอการผ่าตัดเปิดครรภ์ ไม่มีทางปฏิเสธได้เลยว่าลิลลี่คือสิ่งมีชีวิตที่แสนล้ำค่า ซึ่งควรได้รับการปกป้อง ไม่ใช่ถูกทำแท้ง การได้เห็นร่างกายที่สมบูรณ์ของลิลลี่ถูกวางกลับเข้ามาในตัวฉันอย่างระมัดระวัง ทั้งขาและเท้าของเธอ ไม่มีใครสามารถเถียงได้ว่าเธอเป็นเพียงกลุ่มเซลล์ที่ควรถูกพรากโอกาสในการมีชีวิตนอกครรภ์ไป ร่างเล็ก ๆ ของเธอที่หนักเพียง 1 ปอนด์ 3 ออนซ์ในวัยครรภ์ 23 สัปดาห์กับ 5 วัน คือของขวัญจากพระเจ้า และเป็นพระองค์ที่ทรงอนุญาตให้เธอมีชีวิตรอดผ่านสิ่งต่าง ๆ มากมาย”

เธอแนะนำครอบครัวที่ได้รับผลการวินิจฉัยก่อนคลอดแบบเดียวกัน ให้รีบหาสถานพยาบาลที่มีเทคโนโลยีทันสมัยและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น โรงพยาบาลเด็กเท็กซัสในฮิวสตัน ขณะพักอยู่ที่บ้านโรนัลด์ แมคโดนัลด์ในฮิวสตันหลังการผ่าตัด มาร์กาเร็ตได้พบกับแม่หลายคนที่กล้าหาญ ซึ่งหาทีมแพทย์ที่พร้อมรักษาทารกตั้งแต่ยังไม่คลอด เพื่อให้พวกเขามีโอกาสมีชีวิตที่ดีที่สุด

และนี่คือเรื่องราวของเด็กหญิงที่เกิดสองครั้ง

ครั้งแรกเพื่อนำเนื้อร้ายออกไป

ครั้งที่สองเพื่อเติมเต็มหัวใจของแม่และคนรอบตัวให้มี ‘ความหวัง’ ในการใช้ชีวิตอยู่ต่อไป เพราะความหวังคือสิ่งล้ำค่า ดังเช่นเรื่องราวของเด็กหญิงคนนี้

 

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

 

อ้างอิง

Baby Lynlee 'born twice' after life-saving tumour surgery

Lynlee, the Texas baby “born twice,” turns one and continues to amaze doctors

Meet Lynlee, who was born twice

The tiniest patients: Operating inside the womb