โจล-ปีเตอร์ วิทคิน : ช่างภาพผู้เย้ยหยันความตาย กับการเก็บช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตผ่านการเน่าเปื่อยของเรือนร่าง

โจล-ปีเตอร์ วิทคิน : ช่างภาพผู้เย้ยหยันความตาย กับการเก็บช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตผ่านการเน่าเปื่อยของเรือนร่าง

‘โจล-ปีเตอร์ วิทคิน’ (Joel-Peter Witkin) ช่างภาพชาวอเมริกันรุ่นเก๋าที่ใครก็ไม่อาจเทียบเคียงฝีมือได้ เพราะเขาคือผู้หลงใหล คลั่งใคล้ ในร่างกายมนุษย์ (โดยเฉพาะศพ) ชนิดที่ว่ายอมลงทุนนอนอยู่ในห้องเก็บศพ เพื่อสัมผัสความตายอย่างชิดใกล้

ภาพถ่ายขาว-ดำของชายสองคนที่กำลังจูบกันอย่างดูดดื่ม ดึงสายตาผู้พบเห็นทันทีที่เดินผ่าน เพราะนอกจากส่วนของศีรษะแล้ว ร่างกายส่วนที่เหลือของทั้งคู่ก็ไม่ปรากฏออกมาให้เห็น พวกเขามีแค่ศีรษะ หัวของคนสองคนที่ถูกนำมาตั้ง จัดฉากให้ดูราวกับกำลังอยู่ในฉากรักอันเร่าร้อน

โจล-ปีเตอร์ วิทคิน : ช่างภาพผู้เย้ยหยันความตาย กับการเก็บช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตผ่านการเน่าเปื่อยของเรือนร่าง นี่คือภาพถ่ายเขย่าประสาท ลั่นชัตเตอร์โดย ‘โจล-ปีเตอร์ วิทคิน’ (Joel-Peter Witkin) ช่างภาพชาวอเมริกันรุ่นเก๋าที่ใครก็ไม่อาจเทียบเคียงฝีมือได้ เพราะเขาคือผู้หลงใหล คลั่งใคล้ ในร่างกายมนุษย์ (โดยเฉพาะศพ) ชนิดที่ว่ายอมลงทุนนอนอยู่ในห้องเก็บศพ เพื่อสัมผัสความตายอย่างชิดใกล้

นอกจากภาพถ่ายศพแล้ว เขายังดันแปลงร่างของพวกเขาให้เป็นศิลปะชั้นยอด จากร่างกายที่กำลังจะถูกกำจัด วิทคินเลือกที่จะขอร้องให้พวกเขา ช่วยปลดปล่อยจิตวิญญาณส่วนที่เหลือให้เหล่าซากศพกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ชีวิตอันเป็นนิรันดร์ที่ไม่ว่าผ่านไปกี่ปี เรือนร่างของพวกเขาจะถูกจำจดไปชั่วกัปชั่วกัลป์

ก่อนที่วิทคินจะทุ่มความสนใจทั้งหมดมาไว้ที่ร่างไร้วิญญาณ เขาเคยประสบเหตุการณ์สยองมาก่อนในวัยเด็ก และนี่คือจุดเริ่มต้นของช่างภาพรุ่นใหญ่ ที่สร้างตำนานมาจนปัจจุบัน

หัวของเธอกระเด็นมาหยุดอยู่ที่เท้าผม

โจล-ปีเตอร์ วิทคิน เกิดวันที่ 3 กันยายน 1939 เมืองบรูคลิน รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในครอบครัวชาวยิว พ่อเป็นช่างทำกระจก ส่วนแม่เป็นหญิงผู้เคร่งครัดอยู่ในกรอบของศาสนา แต่เพราะความต่างทางศาสนาและชาติกำเนิด ทั้งคู่จึงแยกทางกันตั้งแต่วิทคินยังเด็ก ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ของเขาจึงอยู่กับแม่

แต่จุดพลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิตของเด็กชายวิทคิน เริ่มขึ้นเมื่อตอนเขาอายุเพียง 11 ปี เขาจำได้ว่า ตัวเองเริ่มหัดถ่ายภาพเป็นครั้งแรก และแต่ละภาพล้วนได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากพ่อ แม่ และผู้คนรอบข้าง เมื่ออายุ 16 ปี ภาพถ่ายของเขาก็ได้รับเลือกจากผู้อำนวยการฝ่ายถ่ายภาพของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนิวยอร์ก และนั่นทำให้เส้นทางการเป็นช่างภาพของเขาเริ่มกระจ่างชัดมากขึ้น

ก่อนที่พรสววรค์ของเขาจะฉายแสง วิทคินเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เหตุการณ์ที่ยังติดอยู่ในใจเขามาโดยตลอด เกิดขึ้นหลังจากบังเอิญอยู่ในเหตุรถชน เขาเห็นศีรษะของเด็กหญิงตัวน้อยหลุดออกจากร่าง ก่อนจะกระเด็นมาหยุดอยู่ตรงหน้า และนั่นทำให้เขาบังเอิญสบตากับความตายเป็นครั้งแรก

“ผมเกือบเอามือไปสัมผัสกับศีรษะของเธอ แต่ก็มีคนมาลากผมออกไปเสียก่อน”

แม้ไม่แน่ใจนักว่านี่เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ ที่ทำให้วิทคินเริ่มสนใจในศพหรือไม่ แต่อีกหนึ่งบุคคลที่ทำให้เขาชอบถ่ายภาพ คงต้องยกย่องให้กับพ่อของเขา พ่อมักจะพาวิทคินไปดูภาพในนิตยสารอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Look, Daily Mirror หรือ News และนั่นทำให้เขาค่อย ๆ ซึมซับความเป็นศิลปินมาทีละน้อย

“ตอนอายุประมาณ 5 ขวบ หลังจากพ่อให้ดูภาพถ่าย ผมรู้ได้ทันทีว่า พ่ออยากให้ผมทำสิ่งที่ต้องการ ทำในสิ่งที่พ่ออย่างเขาไม่มีวันทำได้ และบางที บางทีนะบางที บางทีลูกชายอย่างผมอาจจะทำสิ่งนี้ให้พ่อภาคภูมิใจก็เป็นได้ และผมก็ทำมัน ผมไม่ได้พูดอะไรมากนัก แต่ส่วนลึกในใจของผมมันบอกว่า ผมทำได้”

โจล-ปีเตอร์ วิทคิน : ช่างภาพผู้เย้ยหยันความตาย กับการเก็บช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตผ่านการเน่าเปื่อยของเรือนร่าง

ชีวิตช่างภาพ

หลังจากเรียนจบมัธยมปลาย วิทคินก็ไม่ต่างจากชายชาตรีทั่วไป เขาต้องทำหน้าที่รับใช้ชาติด้วยการเข้าไปเป็นทหาร ประจำการอยู่ที่ฟอร์ตฮูด รัฐเท็กซัส ก่อนจะย้ายไปประจำการอยู่เยอรมนี ที่นั่นเขาได้ใช้ความสามารถในการถ่ายภาพให้เกิดประโยชน์ แม้จะไม่ได้เป็นงานที่น่าตื่นเต้นนัก แต่อย่างน้อยเขาก็ยังได้ทำในสิ่งที่เขารัก

“เอาจริงเลยนะ ข้อมูลส่วนนี้มีคนชอบเข้าใจผิด คิดว่าผมไปรับราชการทหารที่เวียดนาม ผมไม่เคยไปที่นั่นด้วยซ้ำ อยู่อเมริกากับเยอรมนีมาตลอด แต่ไม่รู้ทำไมถึงมีข้อมูลผิด ๆ เผยแพร่ออกไป”

วิทคินให้สัมภาษณ์กับ Ken Weingart เพราะคำถามแรกที่เขามักจะถูกสื่อถามอยู่บ่อย ๆ คือ ประสบการณ์การไปรับราชการที่เวียดนามส่งผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานอย่างไร และเขาอยากจะแก้ไขความเข้าใจผิดนี้ให้หายไปเสียที

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจรับใช้ชาติ วิทคินได้รับทุนการศึกษา สาขากวีนิพนธ์ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และในปี 1970 ภาพถ่ายของเขาก็ได้รับการครอบครองจากผู้อำนวยการฝ่ายภาพถ่ายของ MoMA เมื่อมีคนมองเห็นความสามารถของเขา วิทคินจึงเริ่มมั่นใจในแนวทางการถ่ายภาพของตัวเองมากขึ้น เขาไม่อยากจะหยุดตัวเองไว้กับกรอบเดิม ๆ จึงเลือกศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเม็กซิโก และชื่อเสียงของเขาก็ได้เลื่องลือมานับแต่นั้น

โจล-ปีเตอร์ วิทคิน : ช่างภาพผู้เย้ยหยันความตาย กับการเก็บช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตผ่านการเน่าเปื่อยของเรือนร่าง

ความวิปลาสที่สื่อออกมาผ่านงานศิลป์

“ฉันคิดว่าปัญหาหลักของภาพถ่ายแต่ละชุดของวิทคิน คือ คุณค่าที่ถ่ายทอดออกมาผ่านผลงาน สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถสร้างเป็นผลงานศิลปะที่น่าสนใจได้เลย หากไร้ซึ่งจินตนาการ และความวิปลาสอีกนิดหน่อย

“เพราะทุกครั้งที่คุณกำลังจับจ้องภาพตรงหน้า มันก็ไม่ต่างจากคุณกำลังจ้องตากับมัจจุราชโดยไม่กะพริบตา ภาพถ่ายของคุณวิทคินทำให้ฉันรู้สึกสยอง พอ ๆ กับความรู้สึกซาบซึ้งที่พรั่งพรูเข้ามา ไม่รู้สิ ฉันว่าเราได้เห็นปัญหาชีวิตของคนทั้งหมดผ่านร่างเกือบเน่า นี่คือความตายที่คุณวิทคินอยากจะให้เราสัมผัส สุดท้ายแล้วสิ่งที่ตามมาหลังจากดูภาพพวกนี้ ฉันปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาเหมือนถูกนำขึ้นมาเย้ยหยันต่อความตาย และไม่รู้สิ ฉันว่ามันน่าอนาจใจอยู่เหมือนกันนะ”

‘ชาร์ลส์ แฮเกน’ (Charles Hagen) ช่างภาพชื่อดัง เขียนวิจารณ์งานศิลปะของวิทคินไว้ในปี 1993 คงไม่แปลกนักหากเขาจะรู้สึกเช่นนั้น เพราะองค์ประกอบของภาพ ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนถูกนำมาจัดวางจากซากศพ อวัยวะที่กระจัดกระจายไปทั่ว มีตั้งแต่ส่วนหัว แขน ขา หรือแม้แต่ร่างกายทั้งร่างแต่ไม่มีศีรษะ บางร่างก็มีรูปร่างผิดเพี้ยน พิกลพิการ บ้างก็มีอวัยวะส่วนเกินงอกออกมาให้เห็นอย่างน่าสังเวช

วิทคินยังสนใจในเรือนร่างของผู้ที่ถูกสังคมลืมเลือน หรือพยายามทำให้สูญหายไป ไม่ว่าจะโสเภณี ชายอ้วนพิการ ไปจนถึงผู้ที่รักเพศเดียวกัน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เขาพยายามสื่อสารออกมาให้คนในสังคมเห็นว่า ยังมีกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ แม้พวกเขาจะตายไปแล้ว แต่ครั้งหนึ่ง พวกเขาเคยปะปนใช้ลมหายใจ ร่วมกับคนที่พยายามบอกว่าตัวเองปกติไม่ผิดแผกไปจากบรรทัดฐานทางสังคมที่วางเอาไว้

แต่ใช่ว่าเขาจะสามารถถ่ายภาพหรือกระทำการใดกับศพคนตายได้อย่างอิสระ เพราะในอเมริกา สิ่งเหล่านี้ถือว่าผิดกฎหมาย แถมยังไม่ถูกทำนองครองธรรม เขาจึงเดินทางไปยังเม็กซิโก เพื่อทำตามสิ่งที่วาดหวังเอาไว้ และเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากหลงใหลในสิ่งใด ก็ควรจะทุ่มสุดกำลังเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้น

หากถามว่าเขาทุ่มสุดตัวขนาดไหน คงต้องบอกว่า เขาเคยถึงกับบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า อย่าเผาหรือทำลายศพเลย เขาขอนำร่างของพวกเขาไปทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นจึงเป็นที่มาของภาพถ่ายสุดวิปลาส ปรากฏออกมาให้เราเห็นกันอยู่จนถึงทุกวันนี้

“ผมได้รับคำวิจารณ์ทั้งในด้านที่ดีและแย่ แต่คุณรู้ไหม ในประวัติศาสตร์มนุษย์ ศิลปินผู้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ล้วนเคยถูกวิจารณ์ทั้งนั้น”

ภาพถ่ายของเขายังเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้กับ ‘เดวิด ฟินเชอร์’ (David Fincher) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังในผลงานเรื่อง Se7en (1995) และยังนำไปสู่การออกแบบรันเวย์แฟชั่นโชว์ของ Alexander McQueen's Spring/Summer ในปี 2001 อีกด้วย

ส่วนในอนาคตเขาอยากจะฝากฝังผลงานอะไรไว้อีกนั้น คงต้องรอติดตามต่อไป เพราะเขาเองก็ไม่มั่นใจ มีแต่ความปรารถนาที่ติดตัวมาตั้งแต่ต้นว่าอยากจะเป็นคนที่ทำให้วงการศิลปะ หันกลับมามองเรื่องความตายมากขึ้นก็เท่านั้น

“ผมไม่เคยมีแผนสำรองในการใช้ชีวิตเท่าไหร่นัก ผมแค่ถ่ายรูปเพื่อเก็บช่วงเวลาตรงหน้าเอาไว้ สิ่งที่ผมสร้างขึ้นมาก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของตัวเอง ในฐานะมนุษย์ ศิลปิน และอาจรวมถึงจิตวิญญาณของตัวผมเองด้วยเช่นกัน ผมอยากจะถูกจดจำในฐานะคนคนหนึ่ง ที่กล้าสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ ท้าทายสติปัญญา และไม่หลงลืมที่จะให้คุณค่ากับศีลธรรม”