เพิ่ม Thepeople
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
06 พ.ย. 2565 | 16:39 น.
ที่เราบอกว่าเขาคือ ‘ตำนาน’ ไม่ได้เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะชายคนนี้ นอกจากจะมีเส้นทางชีวิตและประสบการณ์บนสนามช่างภาพที่น่าสนใจแล้ว เขายังเคยเป็นช่างภาพไทยคนแรกของข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ European Pressphoto Agency (EPA) ประจำประเทศไทย ก่อนจะผันตัวมาทำงานเป็นช่างภาพอิสระ เพื่อบอกเล่า ‘ความจริง’ ผ่านภาพถ่าย ความจริงที่เขามีโอกาสถ่ายทอดออกมาได้ก็ต่อเมื่อหลุดออกจากพันธนาการของงานประจำ
และเป็นความจริงที่เขามักลงสนามติดตามสถานการณ์ทางการเมืองทั้งไทยและเทศอย่างใกล้ชิด หากลองไล่ย้อนภาพถ่ายเหตุการณ์ชุมนุมบนท้องถนน หรือเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน กลุ่มคนชายขอบ และสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ไปจนถึงสถานการณ์ภัยพิบัติ ชื่อของ ‘วินัย ดิษฐจร’ มักปรากฏอยู่มุมใดมุมหนึ่งของภาพเสมอ
“เรารู้สึกว่าเราเป็นคนนอก... แต่การเป็นคนนอกของเรามันก็ดีอย่าง ถ้าจะให้เปรียบเทียบง่าย ๆ เราคงเหมือนเป็นดาวหาง เราไม่ได้เป็นดาวประจำที่มีวงโคจรอยู่ในรัศมีของดาวดวงอื่น ไม่ได้อยู่ในวงจรหรืออำนาจใด”
แม้วินัยจะบอกกับเราตลอดการสนทนาว่า เขาไม่ต่างจาก ‘คนนอก’ ที่คอยบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อยู่ไกล ๆ แต่ไม่ว่าจะไกลแค่ไหน เราเชื่อว่าเขาไม่เคยหลุดออกจากวงโคจรการเมืองไทย เพราะภาพถ่ายคือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้คนรุ่นหลังรับรู้ว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในสังคม
และนี่คือเรื่องราวของ วินัย ดิษฐจร ช่างภาพผู้ขอใช้ชีวิตอย่าง ‘คนนอก’ คอยเฝ้ามองความเป็นไปของสังคมไทย ผ่านวงโคจรที่เขาเป็นคนกำหนดเอง
วัยเด็ก ความฝัน และชีวิตท่ามกลางกองหนังสือ
“ถ้าเป็นเด็ก ๆ เลย ฝันอยากเป็นนักบิน เราชอบผจญภัย เพราะว่าพ่อทำงานอยู่ดอนเมือง เป็น Supervisor ตําแหน่งเกี่ยวกับจัดวางตำแหน่งน้ำหนักบนเครื่องบิน เลยทำให้เราเติบโตกับเอกสาร นิตยสารการบิน แล้วก็ยังมีการ์ตูนอีก ช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเย็น อเมริกันก็พยายามประชาสัมพันธ์ความเป็นอเมริกันที่เก่งกาจในการรบ
“การ์ตูนที่เราจำได้คือ เสือบิน - บั๊ก แดนนี่ (ผลงานของทีมการ์ตูนของฝรั่งเศส-เบลเยียม คือ ฌอง-มิแชล ชาร์ลิเยร์ และวิกตอร์ อูบินอง - ผู้เขียน) เราเติบโตมากับซีรีส์นี้ ซึ่งมันมีหลายตอนมาก ทำให้เราฝันอยากเป็นนักบิน แล้วมันก็เป็นหนังสือที่ดีมากด้วย ตอนเด็ก ๆ เราก็เติบโตมากับความต่างประเทศค่อนข้างเยอะ
“ซึ่งช่วงที่เราย้ายไปอีสานเราไปอยู่กันที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปี 2516 ตอนนั้นมันก็บรรยากาศการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กับพื้นที่สีแดงทางอีสาน แล้วก็เป็นช่วงเวลาที่ประเทศลาวก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วก็ประเทศเขมร แปลว่ารายรอบมันมีการคุกคามของคอมมิวนิสต์
“เราก็ไปอยู่ แต่เราก็ไม่ค่อยรู้หรอก เราไม่ค่อยรู้ลึกขนาดเชิงแบบว่าอยากไปก็ไปอะไรอย่างนี้ แต่การที่เราเดินทางเปลี่ยนสถานที่เนี่ย หมายถึงว่าเราได้เห็นสภาพแวดล้อมที่ต่างจากวัยเด็กอย่างนี้ มันเกี่ยวข้องการถ่ายรูปอยู่เหมือนกันนะ
“มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง เห็นแล้วอยากจะเป็นช่างภาพเลย เพียงแต่ว่ามันเริ่มสะสมเพราะว่ามันเห็น มันมีการเดินทาง มีการเปลี่ยนสถานที่ เราได้เห็นบรรยากาศใหม่ ๆ ผู้คนใหม่ ๆ แล้วก็ได้เห็นภาพอะไรใหม่ ๆผ่านสายตาเรา ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ใช่หมายความว่าเราอยากจะเริ่มเป็นช่างภาพหรือว่าอะไร
“แต่ที่อีสานไปอยู่สองที่ ก็อยู่กับพื้นที่ที่เป็นป่าช้าไกลจากชุมชน ที่แรกอยู่มันจะเป็นแบบเป็นสถานที่รับซื้อของป่า ชาวบ้านคนอีสานเขาจะปลูกมันสำปะหลัง เขาก็จะเอาของป่ามาขาย มีหนังสัตว์ มีมะขาม มีต้นปอ แต่ที่เราไปอยู่ที่แรกเป็นลานโล่ง ๆ เราไปอยู่เป็นกระท่อมที่มันเป็นเหมือนบ้านพักเล็ก ๆ ไปทำหน้าที่เฝ้าฉาง แล้วก็ค่อยมองหาลู่ทางจะไปซื้อที่ดินที่ไหนต่อ”
“เราย้ายบ้านบ่อย จากกรุงเทพฯ ไปอีสาน แล้วในรถบรรทุกสิบล้อ 40 เปอร์เซ็นต์คือหนังสือนะ เราเติบโตมากับหนังสือการ์ตูนแบบพวกฝรั่ง ชื่อหนังสือนิตยสารวีรธรรม เป็นของโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ ยุคนั้นเป็นนิตยสารที่หน้าปกมันจะเป็นทั้งภาพวาดแล้วก็ภาพถ่าย ข้างในมีทั้งสารคดีและการ์ตูน
“เราก็จะเห็นการ์ตูนเหล่านั้น เวลาที่เราอ่านการ์ตูนเราก็มองไปที่ท้องฟ้า การที่เราอยู่ที่โล่ง ๆ ตอนหลังมันเสริมจินตนาการ มันทำให้เรามองเห็น ทำให้มีการวาดวิมานในอากาศ ตอนเด็ก ๆ อ่านหนังสือชื่อ ‘โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล’ (วรรณกรรมคลาสสิกระดับโลก - ผู้เขียน)
“ตอนนั้นอยู่ชั้น ป.4 - ป.5 อ่านแล้วรู้สึกได้ว่าตัวเองสัมผัสได้ เข้าใจ พอเราเงยหน้าจากหนังสือมันก็เห็นท้องฟ้า ซึ่งในหนังสือนั้นมันเป็นเรื่องนกนางนวลที่พยายามจะฝึกบิน หรือพยายามจะพัฒนาการบินให้มากกว่าการหาอาหาร คือมันไม่ใช่เพียงแค่ว่าเหมือนกับคนทั่วไป คือเกิดมา แล้วก็ใช้ชีวิตไป แล้วก็ตาย แต่มันเป็นนกมันบิน แต่มันก็พยายามหาความหมายของการบิน ค้นหาวิธีการบินของมัน
“ทำให้ช่วงที่เราอยู่อีสานมันก็เริ่มเกี่ยวข้องการถ่ายภาพบางอย่าง ก็คือมันป็นที่โล่ง คือจังหวัดชัยภูมิมันเป็นรอยต่อระหว่างแนวของเพชรบูรณ์กับชัยภูมิ แต่จุดที่เราไปอยู่มันเป็นที่โล่ง ๆ มันเหมือนบรรยากาศหนังฝรั่ง เหมือน Texas อย่างนั้น เห็นเทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นแนวเทือกเขาสีน้ำเงินแบบตระหง่าน เราตื่นเช้ามาก็เห็น เหมือนกับกำลังอยู่ในในหนังฝรั่งที่เราเห็นพวกหนังคาวบอยอย่างนี้ ประสบการณ์พวกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นที่เราอยากช่างภาพ
“แล้วหนังสือที่เราอ่าน เราก็ชอบไปนั่งตรงหน้ากระท่อมแล้วก็เปิดอ่าน มองดูบนท้องฟ้า มันก็เห็นวิวทิวทัศน์โล่ง ๆ เราอ่านหนังสือเราจะเห็นของจริง นั่นคือส่วนหนึ่งเสริมของความเป็นช่างภาพ อ่านเฒ่าผจญทะเล (The Old Man and the Sea) ของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ เงยจากหน้าหนังสือ เราก็จินตนาการในท้องฟ้ากับทิวเขาว่าเป็นทะเล เราชอบอ่านอะไรที่มันมาแก้ปัญหาชีวิตตัวเรา
“แต่ไม่ได้เป็นนักอ่านอะไรขนาดนั้น ก็อ่านประมาณหนึ่ง เอาเป็นว่าหนังสือกับการที่เราไปอยู่ในพื้นที่โล่งของอีสานเนี่ย มันเสริม Visual ของเรา”
“การเป็นชาวไร่ชาวสวนของพ่อก็ไม่ประสบความสำเร็จ ก็คือยากจน เราเลยย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ ม.2 - ม.3 อยู่อีสานตั้งแต่ช่วง ป.4 - ม.1 ที่บ้านก็ไม่ค่อยมีเงิน เราต้องทำงานหาเงินเรียนเอง เช่น ขายหนังสือพิมพ์ตามสี่แยก ขายเรียงเบอร์ ขายธูปที่เขาไหว้เจ้า แต่งชุดนักเรียนแล้วก็ถือธูปไปตามห้องแถวที่มีคนจีน ขายน้ำหอมเลียนแบบ แล้วก็ขายเทปเพลงสากล
“แล้วก็สมัครเป็นทหารตอนอายุ 23 ปี คือตอนแรกสมัครไป 5 ปี แล้วเป็นพออยู่ไป 2 ปี ก็รู้สึกว่ามันน่าเบื่อไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่การเป็นทหารสอนอะไรเราหลายอย่าง เกี่ยวกับการจัดการลำดับขั้นในการวางแผน หรือเราต้องทำอะไร
“วิชาทหารบางอย่างมันก็ดัดแปลงในชีวิตเราได้นะ การทำงาน การทำ Workflow การจัดลำดับขั้นตอน การจัดลำดับที่ควรจะต้องทำก่อน-หลัง หรือการแพคข้าวของ คือเราจะรู้สึกว่า เราจะจัดวางสิ่งของ หรือการพกพาอย่างกระชับรัดกุม ซึ่งมันยังมีอิทธิพลกับเรามาจนถึงทุกวันนี้ เพราะของใช้หรือทุกสิ่งทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ ใช้งานได้จริง อยู่ในระยะมือเอื้อม ไม่พะรุงพะรัง เราจะมี Keyword ของเราอยู่ในนี้ ตั้งแต่อายุ 23 ปี ก็ยังยึดตรงนี้ในการปรับประยุกต์ใช้มาจนถึงตอนนี้
“ภาพแรกที่หัดถ่ายครั้งแรก อันนั้นอาจจะเป็นช่วงที่เป็นกระเป๋ารถเมล์ (วินัยเริ่มทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์ตอนอายุ 15 เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว - ผู้เขียน) เราไปยืมกล้องคุณลุงมา แล้วก็ไปพัทยา ก็ถ่ายอยู่ม้วนหนึ่ง แล้วก็เดินจากพัทยาเหนือไปถึงหาดจอมเทียน ถ่ายม้วนเดียว
.
อันนั้นคือช่วงที่เป็นกระเป๋ารถเมล์ เป็นฟิล์มม้วนแรกแล้วก็ไม่ได้ถ่ายอีกเลย เพราะว่าความฝันการเป็นช่างภาพมันคือความฝันราคาแพง มันจะต้องซื้อฟิล์ม ต้องล้างฟิล์ม แต่ที่เป็นงานแรกก็คือนิตยสารหมา ที่ถ่ายรูปเป็นก็เพราะหมานี่แหละ (หัวเราะ)
“ที่เราไปพัทยาเพราะว่าการถ่ายรูปสำหรับประชาชนทั่วไปก็คือการท่องเที่ยว คิดแค่ว่าก็ถ่ายวิวทิวทัศน์พัทยาแล้วกันไหน ๆ ก็ไปเที่ยวทะเล ก็นั่ง บขส.ไปนี่แหละ ลงพัทยาเหนือพอไปถึงหัวโค้งก็ลงเลย แล้วเดินไปเรื่อยตั้งแต่ สัก 10 -11 โมง ไปจบที่ 6 โมงเย็น พระอาทิตย์ตกดินที่หาดจอมเทียน แล้วก็มาจบที่บาร์ตรงพัทยาใต้ เดี๋ยวนี้กลายเป็น Walking Street รู้สึกว่าภาพสุดท้ายน่าจะเป็นขอทานนะ (หัวเราะ) ขอทานที่บาร์พัทยาใต้นี่แหละ
“ตอนม้วนหนึ่งไปถ่ายที่สนามหลวง เจอคนตาบอด คนขายล็อตเตอรี่ เจอพระ เจอวัดพระแก้ว เราก็ถ่ายสัพเพเหระ แต่ที่ก่อนหน้าหนังสือหมา คือถ่ายฟิล์มอยู่ม้วนเดียวแล้วก็ไปสมัครงานเฉย แล้วเขาก็เชื่อ ไว้ใจให้เราทำงาน เพราะว่าเจ้าของสำนักพิมพ์นิตยสารสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ เขาเป็นคนอำเภอท่าแซะ เขาเป็นคนที่สนใจการเมือง รู้สึกว่าเขาจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองท้องถิ่น
“แล้วตอนที่เป็นทหารเราไปอ่านหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับการอบรมผู้สื่อข่าวชุมชน แล้วมารู้ทีหลังว่าโครงการนี้เป็นของ กอ.รมน.คือเขาต้องการที่จะอบรมผู้สื่อข่าวชุมชน รอบ ๆ ทั่วประเทศเพื่อจัดเก็บข้อมูลในการประเมินประเทศ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ เราก็สมัครทางไปรษณีย์นี่แหละ แล้วก็ได้หนังสือมาอ่านเราก็ดีใจ
“มันก็จะมีฝึกเขียนการรายงานข่าว เขียนบทบรรณาธิการ แล้วก็ไปดูบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์หน้า 3 มันเขียนกันยังไง เราก็ตามฝึกอะไรอย่างนี้ ทีนี้บทความอันนี้แหละเก็บไว้คือตอนนั้นเรายังไม่มี Portfolio เป็นภาพถ่ายนะ แต่เราก็มีประมาณพวกนี้ คุยกับแก คุยถูกคอแล้วแกก็รับทำงานเฉยเลย
“ช่วงต้น ๆ เราถ่ายผิดพลาดเยอะมากเลยนะ ตอนทำหนังสือหมาก็เหมือนกัน แต่เราคุมความผิดของเรา ก็คือเราจะเป็นคนที่อาสาเดินเอาฟิล์มไปล้างเองที่ร้านอัดรูป ตอนนั้นอยู่แถวสำโรง ต้องเดินฝ่าแดดไป ไป - กลับ 2 กิโล พอล้างฟิล์มเสร็จ ไปกระซิบเด็กผู้หญิงที่เป็นคนอัดรูป น้อง ๆ อะไรที่ไม่ดีปรับสีให้ตรงนะ หรือไม่ดีก็คือเราฉีกทิ้งแล้วเราก็จ่ายเงินไปเองไว้ก่อน ปกปิดความผิดอย่างนี้
“หลังจากนั้นมาก็เริ่มเป็นช่างภาพ เป็นหนังสือท่องเที่ยวที่ดูว่าน่าจะใช่ที่สุด ก็ทำอยู่ 2 ปี พอทำอยู่ 2 ปี แล้วก็ลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์อยู่ปีหนึ่ง
แต่เราอยากจะเรียนรู้การจัดไฟ ก็ไปอ่านหนังสือพิมพ์เจอ Bangkok Post รับสมัครช่างภาพ ก็ไปสมัครเลย วุฒิก็ไม่ถึงนะ วุฒิแค่ ม. 3 แต่เขารับปริญญาตรี
"ใบสมัครงานต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็ไปซื้อหนังสือ ตอนนั้นมันจะมีหนังสือขายเกี่ยวกับจดหมาย เขียนจดหมายสมัครงานภาษาอังกฤษ ก็มาฝึกภาษาแล้วก็มาดัดแปลงตัดต่อพันธุกรรม
“สุดท้ายก็คือเข้า ๆ ออก ๆ ระหว่างทำงานประจำ คืออยากจะรู้อันไหนก็ไปสมัครงาน เพื่อจะทำ พอไปอยู่ Bangkok Post ได้ใช้ไฟ พอใช้ไฟเป็น ทำอยู่ 2 ปีครึ่งก็ลาออกอีก มาเป็นฟรีแลนซ์รับงานถ่ายโฆษณา ก็เอาทักษะจากการจัดไฟนี่แหละ แล้วก็เอาเงินจากการถ่ายโฆษณามาทำ Documentary
“เหมือนเราเป็นคนนอกที่ไม่ได้อยู่ในกฎเกณฑ์เขา แต่เราจะผ่านไปได้ก็คือขอเจรจาคุยกันกับเขาว่า เราไม่ได้อยู่ในกฎของคุณนะ เราไม่มีวุฒินะ แต่เราทำให้คุณได้”
“จนถึงวันนี้ก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นคนนอกอยู่ตลอด แม้กระทั่งเราไปที่ไหน หรือคนในวงการ หรือเวลาเราไปเจอคีย์แมนสำคัญ ไม่ว่าทางการเมืองหรืออะไรอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนนอก เพราะรู้ว่าเป็นคนนอกดีแล้ว เดี๋ยวนี้มันดราม่าเยอะ เราก็ไม่รู้ว่าสังคมมันใหญ่ขึ้น มันซับซ้อนขึ้นใช่ไหม แต่ละคนก็จะมี Agenda ของตัวเอง การเป็นคนนอกมันก็ดีอย่าง คือเราเหมือนดาวหาง เราไม่ได้เหมือนดาวที่ประจำ ที่มันมีวงจรอยู่ในรัศมีดาวพุธ ดาวอังคาร ไม่ได้อยู่ในวงจรในอำนาจหรือในแรงดึงดูด
“แต่เราเหมือนดาวหางที่อยู่ดี ๆ ก็ผ่านไปแล้วก็ผ่านมาอะไรอย่างนี้ คนนอกก็เหมือนดาวหางคือเราไม่ได้ผูกพันอะไรมาก เราไม่ได้พอใจว่าใครจะมารู้จักเรา มาให้เกียรติหรืออะไรอย่างนี้ เราก็อยู่แบบธรรมดาเหมือนดาวหาง ไปแล้วก็มา เห็นบ้างไกล ๆ บางทีก็มาใกล้ ๆ มันก็สบายใจดี (หัวเราะ)
“เพราะฉะนั้นการถ่ายภาพคือการใช้ชีวิต คือที่ผ่านมาทั้งหมดเราจะใช้ชีวิตกับมัน สังเกตไหมว่าไทม์ไลน์ที่ผ่านมาคือเนื้อหามันเปลี่ยน เราเจอสถานที่ต่าง ๆ เราได้ใช้ชีวิตกับมัน ถามว่าภาพถ่ายมันคืออะไร คืออย่างที่บอกว่า เราลาออกมาเพื่อเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพ
"เราเริ่มเห็นแล้วว่าภาพถ่ายมันมีคุณค่า มีความหมายกับเรา เพราะว่าเราเป็นเจ้าของอดีตที่มันอยู่ในภาพถ่าย ภาพถ่ายมันคืออดีต ที่มีเรื่องราวอยู่ในทุกช่วงเวลา เราจะเห็นคุณค่าของอดีตที่เราเป็นเจ้าของ ที่มันกดอยู่ในภาพถ่ายเพราะว่ามันเป็นทั้งความรู้ เป็นหลักฐาน เป็นแรงบันดาลใจ แล้วก็เป็นประสบการณ์การใช้ชีวิตของเรานี่แหละ
ภาพ: กัลยารัตน์ วิชาชัย