21 พ.ย. 2566 | 16:31 น.
- ทั้งความสำเร็จของบุญชูในอดีต และไทบ้าน เดอะซีรีส์ ณ ปีปัจจุบัน ต่างก็สะท้อนยุคความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับชนบทในสังคมไทยทั้งสองยุคได้เป็นอย่างดี
- ความเป็นอีสานไม่ใช่สิ่งที่จะต้องปกปิดด้วยความรู้สึกอายเพราะเป็นชายขอบอีกต่อไป หากแต่เป็นอีสานที่สามารถนำเอามาแปลงเป็น ‘ทุนวัฒนธรรม’ ได้เป็นอย่างดี
จากความสำเร็จของภาพยนตร์ชุด ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ ชวนให้ย้อนรำลึกถึงภาพยนตร์แนวเดียวกันในอดีตอย่างเรื่อง ‘บุญชู’ (นำแสดงโดย ‘สันติสุข พรหมศิริ’ และ ‘จินตหรา สุขพัฒน์’ กำกับการแสดงโดย ‘บัณฑิต ฤทธิ์ถกล’) เพราะนอกจากเป็นเรื่องที่ใช้ตัวละครนำเรื่องเป็นคนบ้านนอกเหมือนกัน ยังทำออกมาได้หลายภาคเหมือนกันอีกด้วย
บุญชูสร้าง 8 ครั้ง 10 ภาค และยังมีภาคขยายอีก 6 เรื่อง รวมเป็น 16 เรื่องด้วยกัน ขณะที่ไทบ้าน เดอะซีรีส์ ก็สร้างมาแล้ว 6 ภาค ยังเหลืออีกหลายภาค เรายังไม่รู้ว่าไทบ้าน เดอะซีรีส์ จะไปจบลงที่ภาคไหนยังไง แต่บุญชูนั้นจบไปแล้ว ด้วยภาคเรื่อง ‘บุญชูจะอยู่ในใจเสมอ’
ในความเป็นภาพยนตร์ที่นำเอาเรื่องราวชีวิตของคนบ้านนอกชนบทมาเป็นตัวเอก และทำออกมาต่อเนื่องได้หลายภาค บุญชูเคยสร้างปรากฏการณ์ทำรายได้ถล่มทลายมาก่อนไทบ้าน เดอะซีรีส์
คำถามคือเพราะอะไร ทำไม มีเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขอะไรที่ผลักดันให้ภาพยนตร์แนวชนบทประสบความสำเร็จได้อย่างไม่น่าเชื่อแบบนั้น?
การแกะรอยความสำเร็จของบุญชู อาจช่วยให้เราเห็นประเด็นในเชิงเปรียบเทียบได้มาก และที่สำคัญทั้งความสำเร็จของบุญชูในอดีตและไทบ้าน เดอะซีรีส์ ณ ปีปัจจุบัน ต่างก็สะท้อนยุคความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับชนบทในสังคมไทยทั้งสองยุคได้เป็นอย่างดี
แกะรอยความสำเร็จของบุญชู
ลำดับภาคและรายได้ของภาพยนตร์ชุดบุญชู
- พ.ศ.2531 บุญชู ผู้น่ารัก (ทำรายได้ 13 ล้านบาท)
- พ.ศ.2532 บุญชู 2 น้องใหม่ (ทำรายได้ 16 ล้านบาท)
- พ.ศ.2533 บุญชู 5 เนื้อหอม (ทำรายได้ 21 ล้านบาท)
- พ.ศ.2534 บุญชู 6 โลกนี้ดีออก สุดสวย น่ารัก น่าอยู่ (ทำรายได้ 23.5 ล้านบาท)
- พ.ศ.2536 บุญชู 7 รักเธอคนเดียวตลอดกาล ใครอย่าแตะ (ทำรายได้ 32.1 ล้านบาท)
- พ.ศ.2538 บุญชู 8 เพื่อเธอ (ทำรายได้ 26 ล้านบาท)
- พ.ศ.2551 บุญชู ไอเลิฟ สระ-อู (ทำรายได้ 50 ล้านบาท)
- พ.ศ.2553 บุญชูจะอยู่ในใจเสมอ (ทำรายได้ 15.6 ล้านบาท)
ลำดับภาคและรายได้ของภาพยนตร์ชุดไทบ้าน เดอะซีรีส์
• ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1 (เข้าฉาย 22 กุมภาพันธ์ 2561) (ทำรายได้ 68 ล้านบาท)
• ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 (เข้าฉาย 22 พฤศจิกายน 2561) (ทำรายได้ 97 ล้านบาท)
• ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้ (เข้าฉาย 23 มกราคม 2563) (ทำรายได้ 19.9 ล้านบาท)
• หมอปลาวาฬ (เข้าฉาย 10 มีนาคม 2565) (ทำรายได้ 14 ล้านบาท)
• สัปเหร่อ (เข้าฉาย 5 ตุลาคม 2566) (ทำรายได้ 700 ล้านบาท)
• ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 3 (อยู่ในกระบวนการพัฒนา)
ความเหมือนที่แตกต่าง: “บ้านนอกเมืองกรุงมันยุ่งพอๆ กัน” (???)
จะเห็นได้ว่า บุญชู นิยามความบ้านนอกอยู่ที่สุพรรณบุรี มาพร้อมสำเนียงพูดเหน่ออันเป็นเอกลักษณ์ของสุพรรณบุรี ซึ่งที่จริงสำเนียงดังกล่าวนี้มีทั่วไปในแถบฝั่งตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจรดคาบสมุทรไทยตอนบน ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด นอกจากสุพรรณบุรี ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (แถบอำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอลาดบัวหลวง), อ่างทอง, นครปฐม, ราชบุรี, กาญจนบุรี, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
เดิมถือเป็น ‘สำเนียงหลวง’ คือสำเนียงพูดของราชสำนักในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะอยุธยามีราชวงศ์พื้นเพมาจากสุพรรณบุรีถึง 2 ราชวงศ์คือ ‘ราชวงศ์สุพรรณภูมิ’ ครองอำนาจยาวนานกว่า 178 ปี (พ.ศ.1913 - 1931, พ.ศ.1952 - 2112) และราชวงศ์สุดท้ายคือ ‘ราชวงศ์บ้านพลูหลวง’ ครองอำนาจกว่า 79 ปี (พ.ศ.2231 - 2310) ก็คือในระยะเวลา 417 ปีนั้นเป็นยุคราชวงศ์จากสุพรรณบุรี 257 ปี ที่เหลืออีก 160 ปี เป็นยุคราชวงศ์ลพบุรี (ที่นักประวัติศาสตร์กระแสหลักสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นราชวงศ์อู่ทอง) ราชวงศ์สุโขทัย และราชวงศ์ปราสาททอง
เมื่อสุพรรณบุรีกลายเป็นชนบทที่มีภาพลักษณ์ล้าหลังไม่เจริญ ก็เกิดเป็นแรงขับดันให้นักการเมืองที่มีพื้นเพเกี่ยวข้องกับสุพรรณบุรีหรือพยายามหาเสียงกับชาวสุพรรณ อย่าง ‘ท่านบรรหาร ศิลปอาชา’ เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้พัฒนาเมืองสุพรรณบุรีเสียยกใหญ่ กลายเป็นเมืองต่างจังหวัดที่มีถนนแปดเลนส์ มีตึกรามบ้านช่องร้านค้าร้านขายใหญ่โตอย่างก้าวกระโดด ผิดหูผิดตาไปกว่าสุพรรณบุรีที่เป็นฉากในภาพยนตร์บุญชู
‘อีสานใหม่’ ใน ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’
‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ ผูกติดกับนิยามความบ้านนอกอยู่ที่ภาคอีสาน และสำเนียงเว้าลาว ก็นับเป็นครั้งแรกที่ปรากฏในสื่อภาพยนตร์แบบบจัดหนักจัดเต็ม และมีซับแปลภาษาไทยราวกับเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศ
อีสานก็เป็นดินแดนแห่งอารยธรรมเก่าโบราณเช่นกัน พบร่องรอยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากมาย สำเนียงเว้าลาว ก็สืบเนื่องจากภาษาล้านช้าง มีความโคตรจะเก่าแก่โบราณอีกเช่นกัน แต่ความเก่าแก่ทั้งดินแดน ภาษา และวัฒนธรรมของอีสาน ไม่เป็นที่รับรู้หรือยอมรับจากประวัติศาสตร์ของส่วนกลาง หนักกว่ากรณีสุพรรณบุรีไปอีก เพราะถึงยังไงสุพรรณบุรียังมีราชวงศ์สุพรรณภูมิกับราชวงศ์บ้านพลูหลวง
อีสานถูกกดจากสยามที่ส่วนกลางให้เป็นชายขอบแบบจัดหนักจัดเต็ม อีสานไม่มีประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเดียวกับสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นอีสานใต้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชา ส่วนอีสานตอนบนก็ขึ้นกับล้านช้าง แล้วพอถึงช่วงราวอยุธยาตอนกลางร่นขึ้นมาอยุธยาตอนปลาย กลุ่มคนวัฒนธรรมแบบล้านช้างก็ขยายตัวข้ามเขตลุ่มน้ำโขงลงมาแม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำสงคราม
และในช่วงใกล้กับที่จะเกิดเหตุการณ์เสียกรุงที่อยุธยา พ.ศ.2310 นั้น ล้านช้างได้เกิดความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกเป็น 3 อาณาจักร เวียงจันก๊กหนึ่ง จำปาสักก็อีกก๊ก หลวงพะบางก็เป็นก๊กแยกต่างหาก (สะกดชื่อเมืองตามแบบภาษาลาวในปัจจุบัน - กองบรรณาธิการ) เรียกได้ว่าเป็นยุค 3 ก๊กของลาวล้านช้าง เมื่อถึงสมัยธนบุรี ทั้งสามอาณาจักรก็ได้ยอมเข้าร่วมขัณฑสีมากับ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ’ กรุงธนบุรี และนั่นก็พาให้อีสานเข้ามามีส่วนพัวพันกับไทยสยามมากขึ้น เพราะเป็นดินแดนทางผ่านจากลุ่มเจ้าพระยาจะไปยังลุ่มแม่น้ำโขง
เมื่อรัชกาลที่ 5 สถาปนารัฐรวมศูนย์สมบูรณาญาสิทธิ์ นำเอาระบบการปกครองอย่างเดียวกับที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกใช้ในประเทศที่ตนยึดครอง มาปรับใช้กับการปกครองสยามประเทศตามอย่างที่เรียกว่า ‘การปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาล’ ปรากฏว่าคนอีสานลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจการปกครองของส่วนกลางครั้งใหญ่ที่รู้จักกันในนาม ‘ขบถผู้มีบุญอีสาน’ ซึ่งส่วนกลางจะนิยามเรียกใหม่อย่างดูถูกดูแคลนว่า ‘พวกผีบุญ’
แต่แม้จะถูกกดอย่างไรในตลอดประวัติศาสตร์ในรอบกว่า 100 ปีที่ผ่านมา เราก็จะยังคงเห็นคนอีสานผงาดหยัดยืนคงอยู่ได้มาโดยตลอด ไม่เพียงเท่านั้น ‘อีสานใหม่’ ยังคืบขยายพาดผ่านข้ามกรุงเทพฯ ไปสู่ระดับสากล เพราะเดินทางออกไปขายแรงงานทั่วโลก ถ้าจะเปรียบเทียบปรากฏการณ์เพื่อความเข้าใจ ที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมาก ในอดีตนั้นคือแรงงานชาวจีนที่อพยพเดินทางไปทำงานทำการกันจนมีลูกหลานอยู่ทั่วโลกเช่นกัน คนจีนไปไหนก็พกพาเอาวัฒนธรรมจีนแพร่หลายตามไปด้วย เช่นเดียวกันคนอีสานพลัดถิ่นก็แพร่วัฒนธรรมอีสานไปไกลกว่าที่กลุ่มชาติพันธุ์ใด ๆ ในสยามประเทศไทยเคยทำมา
นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ได้อีกแบบหนึ่ง แต่เป็นซอฟต์พาวเวอร์คนละความหมายกับที่ ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และบรรดากองเชียร์พูดถึง ความเป็นอีสานไม่ใช่สิ่งที่จะต้องปกปิดด้วยความรู้สึกอายเพราะเป็นชายขอบอีกต่อไป หากแต่เป็นอีสานที่สามารถนำเอามาแปลงเป็น ‘ทุนวัฒนธรรม’ ได้เป็นอย่างดี
ในช่วงหลังมานี้เราจึงเห็น ‘อีสานใหม่’ แบบจัดหนักจัดเต็มกันหลายวงการ แต่ที่ไทบ้าน เดอะซีรีส์ ได้ต่อยอดออกมาจนกล่าวได้ว่านี่คือปรากฏการณ์ที่เป็นการเขยิบไปอีกก้าวหนึ่งของอีสานใหม่ เพราะเป็นอีสานที่หวนกลับคืนสู่รากมรดกของตนเองในท้องถิ่น ภายหลังจากที่แพร่ไปทั่วโลกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
‘บ่หัวซา’ วุฒิการศึกษา กลับไปทำงานบ้านเกิด
บุญชู เป็นตัวอย่างของเด็กหนุ่มบ้านนอกที่เข้ากรุงมาตามล่าหาความฝัน โดยมีการศึกษาเป็นเครื่องนำทาง แต่สุดท้ายก็พบว่าไม่อาจสมหวัง หางานทำในกรุงไม่ได้ ต้องกลับไปบ้านเกิด ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าข้าว อาชีพเก่าแก่ของคนในย่านริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน เพราะสองฝั่งแม่น้ำท่าจีนพ้นน้ำเค็มที่สมุทรสาครขึ้นไปยังนครปฐม สุพรรณบุรี เรื่อยไปจนถึงชัยนาทและต่อเนื่องจนถึงปากน้ำโพที่นครสวรรค์ เกิดเป็นแหล่งย่านเกษตรกรรมการปลูกข้าวที่สำคัญของสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
โดยมีพ่อค้าจีนเป็นเถ้าแก่มาตั้งโรงสีและเป็นคนกลางรับซื้อบรรทุกใส่ลำเรือล่องลงมาขายยังกรุงเทพฯ บ้างก็ออกสู่ปากแม่น้ำที่บ้านท่าจีน สมุทรสาคร เพื่อส่งลำเลียงขึ้นเรือเดินสมุทรส่งไปขายยังต่างประเทศ นั่นคือบุญชูเป็นคนมีต้นทุนทางวัฒนธรรมอยู่กับเศรษฐกิจสังคมของลุ่มแม่น้ำท่าจีน
ในขณะที่ผู้บ่าวไทบ้าน เดอะซีรีส์ หลายคนดูจะ ‘บ่หัวซา’ (ไม่ถือสา, ไม่ใส่ใจ - กองบรรณาธิการ) กับประเด็นเรื่องการศึกษาเอาซะเลย จาลอด, เซียง, โรเบิร์ต ล้วนเป็นวัยรุ่นนอกระบบการศึกษา หรือการศึกษาไม่สูงนัก น่าจะไม่เกินมัธยมปลาย มีเพียงเฮียป่องที่บ้านมีฐานะดีกว่าใครเพื่อน จึงได้เข้าเรียนที่กรุงเทพฯ จบสาขาบริหารธุรกิจ (ไม่ทราบมหาวิทยาลัย) แต่เฮียป่องก็ต้องกลับไปอยู่บ้านเช่นกัน
‘บักเจิด’ ตัวละครที่เพิ่มเข้ามาในภาคสัปเหร่อ ก็บากบั่นจนได้เรียนจบนิติศาสตร์ แต่เมื่อผู้เป็นพ่อจากไป เจิดก็ตัดสินใจเป็นสัปเหร่อแทนพ่อ ภาพที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีที่สุดว่าเจิดบ่หัวซากับวุฒิปริญญานิติศาสตรบัณฑิตอีกต่อไปแล้ว ก็คือภาพฉากที่เขาโยนใบปริญญาเข้ากองไฟขณะเผาศพผู้เป็นพ่อ
การไม่มีวุฒิการศึกษาของผู้บ่าวไทบ้าน ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นคนไม่มีการศึกษา หากแต่เพราะเป็นการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามแหล่งชุมชนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือจะพูดให้มันเท่ห์แบบวรรณกรรมโบราณยุคอะไร ๆ ก็ต้อง ‘เพื่อชีวิต’ ก็ต้องบอกว่า ผู้บ่าวไทบ้านของเรานี้ล้วนเป็นพวกจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก ‘มหาวิทยาลัยชีวิต’ กันทั้งสิ้น
แม้ว่าเฮียป่องจะมีวุฒิในระบบ แต่สุดท้ายเฮียก็ต้องมาเรียนรู้นอกระบบ การประกอบกิจการแต่ละครั้งที่ล้มเหลวล้วนแต่เป็นการประกอบการตามความรู้ที่ได้มาจากมหาวิทยาลัย แต่ของอย่างเซเว่นเอย สโตร์ผักเอย มันไม่แมสกับท้องถิ่น เซเว่นสู้ร้านโชว์ห่วยของเจ๊สวยไม่ได้ เพราะสิงห์เหล้าขาวทั้งหลายไม่สามารถจะไปนั่งก๊งกันตากแอร์เย็น ๆ ในเซเว่นได้ ไม่มีตังค์จะขอเชื่อขอเซ็นต์ไว้ก่อนก็ยิ่งไม่ได้ใหญ่เข้าไปอีก ยังไม่นับกับที่เจ๊สวยเป็นคนสำคัญในพิธีกรรมทางศาสนาอย่างการทำบุญที่วัด ร้านโชว์ห่วยจึงเป็นสายสัมพันธ์และเป็นข้อต่อสำคัญให้กับคนในท้องถิ่นได้มากกว่า
สโตร์ผักก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่เข้าใจการกินผักปลอดสารพิษ แต่ด้วยราคาและต้นทุนการผลิตไม่เอื้ออำนวย และต่อให้ร้านของเฮียป่องสามารถผลิตผักปลอดสารออกมาขาย ก็จะถูกประเมินไม่ผ่านจากหน่วยงานรัฐอย่างในเรื่อง เพราะการปลูกผักปลอดสารเคมีต้องอาศัยดินและน้ำร่วมกับชาวบ้านในละแวกย่าน ซึ่งล้วนแต่ยังคงใช้สารเคมี แต่เฮียป่องก็จะหาหนทางทำอะไรลองผิดลองถูกไปเรื่อยจนประสบความสำเร็จได้เอง
เจิด เป็นตัวอย่างที่ดีของการละทิ้งใบปริญญากลับคืนสู่บ้านเกิด แม้จะต้องประกอบอาชีพสัปเหร่อ ที่หากอยู่ในสังคมเมืองแล้ว เขาจะถูกดูถูกดูแคลน แต่ในเรื่องไม่เพียงสัปเหร่อไม่โดนดูถูก ยังเป็นบุคคลสำคัญของท้องถิ่น ไม่งั้นทุกคนจะต้องโดนผีหลอกอยู่ต่อไป ไม่มีใครสามารถจะ ‘เผาผี’ หรือจัดการส่งผีให้ไปผุดไปเกิดได้ เป็นงานการสำคัญที่เจิดไม่สามารถเรียนได้จากมหาวิทยาลัย หากแต่เรียนได้จากบิดาและจากคนในชุมชน
ในแง่นี้ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ ได้เปลี่ยนมุมมองต่อสัปเหร่อจากเดิมที่ถูกมองเป็นอาชีพต่ำต้อยในสังคม กลายมาเป็นความรู้และภูมิปัญญา ซึ่งเป็นกระแสความคิดในวงวิชาการนานาชาติมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ในการสร้างมุมมองใหม่ต่อชาวบ้านจากเดิมที่ถูกมองเป็นพวกงมงาย คิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์ มาสู่ ‘ปราชญ์ท้องถิ่น’ และให้ความสำคัญกับ ‘ความรู้ของชาวบ้าน’ มากกว่าความรู้ในระบบมหาวิทยาลัย
บุญชูนั้นเรารู้ว่าปลายทางไปอยู่ที่ตรงไหน เพราะเรื่องจบจนกลายเป็นตำนานความทรงจำของวงการภาพยนตร์ไทยไปแล้ว แต่ในส่วนนี้สำหรับไทบ้าน เดอะซีรีส์ เรายังไม่รู้ว่าจะไปจบลงที่ตรงไหน ดูเหมือนทุกอย่างเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง จ่าลอดเพิ่งจะได้ร่วมหอกับครูแก้ว หมอปลาวาฬก็เพิ่งจะพบรักกับเพื่อนร่วมอาชีพ เฮียป่องยังต้องหากิจการอย่างอื่นมาทำอยู่ต่อไป เจิดก็เพิ่งจะเริ่มอาชีพสัปเหร่อแทนพ่อ โรเบิร์ตก็เพิ่งจะเป็นบ้า ยังไม่หายกลับคืนมา บักมืดก็เพิ่งจะเลิกเป็นวัยรุ่นทุบโอ่ง ฯลฯ
ยังไม่รู้ว่า ไทบ้าน เดอะซีรีส์ จะเล่นไปจนถึงรุ่นลูก แบบบุญชูที่มีภาคบุญโชค (ลูกของบุญชูกับโมลี) หรือไม่ ถ้ามี เราอาจจะได้อยู่กับหนังชุดไทบ้าน เดอะซีรีส์ ไปอีกนานเป็นชาติ จนคนดูเองก็ค่อย ๆ โตไปพร้อมกับหนังก็เป็นได้ ในกรณีแบบนี้ถ้าเทียบกับการ์ตูนญี่ปุ่น เขาทำได้ เพราะหากเป็นเรื่องที่ติดตรึงแน่นในความทรงจำวัยเด็กแล้ว เรื่องมันก็สามารถจะทำต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ คนดูโตแล้วก็ยังอยากจะดู เพราะเป็นความทรงจำร่วมในวัยเด็กของคนดูเองไปด้วย
จาก ‘รักโรแมนติกข้ามชนชั้น’ หวนคืนสู่ ‘รักเก่าที่บ้านเกิด’
บุญชูรักกับโมลี ลูกคุณหนูเมืองกรุง จัดเป็น ‘รักข้ามชนชั้น’ และ ‘รักข้ามเขตแดน’ (บ้านนอก - เมืองกรุง) ที่สุดแสนจะโรแมนติก ในทศวรรษ 2500 - 2540 รักโรแมนติกชนิดนี้ได้รับความนิยมทำเป็นหนังเป็นละครมากมายหลายเรื่องด้วยกัน หนุ่มบ้านนอกยากจนได้ลงเอยกับคุณหนูสุดแสนจะน่ารัก เป็นความรักแบบ ‘ดอกฟ้ากับหมาวัด’ แต่อะไรที่มันดูโรแมนติกสุด ๆ แบบนั้น มันมักจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในท่ามกลางความจริงที่โหดร้าย กล่าวคือในชีวิตจริงจะมีน้อยที่ความรักแบบนี้จะประสบความสำเร็จ
สาเหตุปัจจัยความนก – ไม่นกของรักประเภทนี้โดยมากอยู่ที่ (1) การพิสูจน์ตัวเองของ ‘หมาวัด’ ที่ท้ายสุดเขาจะต้องไต่อันดับเขยิบสถานะขึ้นไปจนเทียบเท่าหรือสูงกว่า ‘ดอกฟ้า’ ของเขาให้ได้ จาก ‘ดอกฟ้ากับหมาวัด’ ก็กลายเป็น ‘กิ่งทองใบหยก’ แต่โอกาสมีไม่มากนักสำหรับสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ (2) การโน้มกิ่งลงมาของดอกฟ้า ซึ่งในเรื่องบุญชู โมลีเป็นฝ่ายชอบบุญชูมาตั้งแต่แรก เมื่อถูกมานี พี่สาวของโมลี กีดกัน ไม่ให้แต่งงานกัน โดยยื่นเงื่อนไขว่าให้ทำน้ำในคลองหน้าบ้านริมน้ำที่แม่บุญชูยกให้เป็นเรือนหอนั้นให้เป็นน้ำใสสะอาดจนดื่มกินได้
บุญชูกับผองเพื่อนก็พยายามเต็มที่แล้ว แต่สุดท้ายมานีก็บอกยังไม่สะอาดดีพออยู่ดี ก็คือยังไงก็จะไม่ยกน้องสาวให้แต่งกับไอ้คนบ้านนอกคอกนาอย่างบุญชูเป็นอันขาด แต่สุดท้ายเป็นโมลีเองที่ ‘เล่นใหญ่’ จนเอาชนะใจพี่สาวของตัวเองได้ โดยการโดดลงไปในคลองและกินน้ำในคลองนั้นให้ทุกคนเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าน้ำในคลองนั้นถูกทำให้ใสสะอาดแล้ว
ผู้เขียนจำได้ว่าฉากตอนนี้เป็นที่พูดถึงกันมากว่า เป็นการนำเอาคลองแสนแสบไปเป็นมาตรฐานน้ำคลองในชนบท น้ำในคลองสาขาของแม่น้ำท่าจีนในสมัยนั้นไม่น่าจะสกปรกเน่าเสียเหมือนอย่างที่หนังนำเสนอ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นคืออะไรที่ดูเป็นเรื่องยาก โอกาสสมหวังมีน้อยนิด เมื่อนำไปสร้างเป็นหนังเป็นละคร ก็จะกินใจผู้คนได้ไม่ยาก เพราะอีกด้านหนึ่งคนก็รับรู้เรื่องแบบนั้นยากจะเกิดขึ้นจริง หรือเป็นเพียงนิยาย เป็นแค่หนัง แค่ละคร ดูจบก็แยกย้ายกลับบ้านไปนอน ตื่นมาพบความจริงอีกแบบในชีวิตประจำวันแล้วก็ดำเนินชีวิตอยู่กับความจริงนั้นกันต่อไป
แต่ความรักของหนุ่มสาวในไทบ้าน เดอะซีรีส์ จะเห็นว่าแตกต่างจากความรักระหว่างบุญชูกับโมลีพอสมควรเลย ขอให้สังเกตว่า ผู้บ่าวไทบ้าน ล้วนแต่ ‘ฮักผู้สาว’ ในชุมชนของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นจาลอดที่จีบสาวเป็นร้อยคน ก็คนในละแวกย่านจังหวัดภูมิลำเนาของตน หมอปลาวาฬผู้สาวที่เป็นรักแรกก็เป็นหมอในชุมชน ครูแก้วผู้สาวที่ฮักมั่นฮักจริงหวังแต่งก็คือครูในท้องถิ่นหมู่บ้าน
ผู้สาวที่ทำให้บักมืดอยากมีมอเตอร์ไซค์เพื่อจะได้แว้นไปหาก็หัวหน้าห้องในโรงเรียนเดียวกัน ใบข้าวที่บักเซียงคลั่งรักชนิดตายแล้วก็ยังพยายามถอดจิตข้ามภพเพื่อไปเจอก็ผู้สาวไทบ้านนำกัน แถมเป็นผู้สาวที่แต่งออกเฮือนไปกับผู้บ่าวนอกชุมชนแล้วกลับพบความผิดหวังตกเป็นเมียน้อยจนต้องฆ่าตัวตายไปอีก ฝั่งผู้สาวแต่งออกเฮือนไปกับผู้บ่าวนอกก็ ‘บ่ซักเซสคือกัน’
ไม่เพียงเท่านั้นกรณีความรักของเฮียป่องกับผู้สาวชาวกรุง ดูเหมือนจะเป็นคนเดียวที่ใกล้เคียงกับบุญชู - โมลี คือมีผู้สาวชาวกรุงมาติดพัวพันตามมาหาถึงคันแทนา แต่เฮียก็กลับปฏิเสธอย่างไม่ไยดี ไล่ให้กลับกรุงเทพฯไป ดูแล้วก็น่าสงสารผู้สาวชาวกรุงที่ออกจะสวยสับไปอีก คำถามคือในความเป็นหมาวัดของเฮียป่อง ทำไมจึงกล้ากระทำต่อดอกฟ้าได้ถึงเยี่ยงนั้น?
แน่นอนว่าความเรียลของหนังก็เรื่องหนึ่งที่ทำให้สามารถขับเน้นความจริงมานำเสนอได้แบบตรงไปตรงมา ไม่ต้องพาผู้ชมละเมอเพ้อฝันถึงการเด็ดดอกฟ้า จนละเลยผู้สาวในละแวกย่านหมู่บ้านของตน ซึ่งที่จริงจะจีบนางติดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพวกนางก็เช่นเดียวกันคือถูกสร้างภาพเพ้อ ๆ ให้ฝันถึงแต่ผู้บ่าวหล่อ ๆ รวย ๆ มาดเสี่ย ขาวตี๋ ขี่รถสปอร์ต การจะให้พวกนางหลุดออกจากความฝันหันมามองความจริงที่อยู่ตรงหน้า ใครว่ามันจะง่าย การเป็นหนุ่มชนบททำงานอยู่กับท้องไร่ท้องนา จะมาขาวตี๋อยู่ได้อย่างไร ก็มีแต่จะตากแดดตัวดำเป็นธรรมดา
ถึงแม้ว่ากุนซือด้านการจีบสาวผู้ถ่ายทอดเคล็ดวิชาให้กับจาลอด ผู้จีบสาวร้อยคน อย่างบักเซียงนั้น หนังจะนำเสนอเป็นเรื่องคารมการแต่งตัวเสื้อผ้าหน้าผมและการหมั่นแวะเวียนไปเยี่ยมยาม แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่กุมใจผู้สาวกลับไม่ใช่ของแบบนั้นเลย เป็นเรื่องความซื่อสัตย์ที่จะมั่นใจได้ว่า หากนางเลือกผู้บ่าวไทบ้านแล้ว หนุ่ม ๆ เหล่านี้พร้อมจะสลัดคราบเจ้าชู้ประตูดินหันไปตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินสร้างเนื้อสร้างตัว เพราะพวกเขาจะรักมั่นและซื่อสัตย์ต่อนางเดียว
เรื่องที่ผู้หญิงรับไม่ได้มากที่สุดอย่างการนอกใจ จึงวางใจได้ระดับหนึ่ง หากเลือกผู้บ่าวไทบ้านหน้าตาเฉิ่ม ๆ หากเลือกหนุ่มหล่อรวย พวกเขาคือคนที่มีทางเลือกและไม่จำเป็นต้องเลือกผู้สาวบ้านนอก ส่วนใหญ่จะเลือกคนในคลาสเดียวกัน เพราะมาพร้อมกับเรื่องธุรกิจ แม้ว่าความเจ้าชู้อาจจะถูกมองเป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้ชาย แต่เพราะผู้ชายอย่างแก๊งผู้บ่าวไทบ้านนั้น ‘คุมได้’ ก็เลยเป็นตัวเลือกที่ดี
กรณี ใบข้าว ที่เลือกแต่งกับหนุ่มชาวกรุงแล้วพบว่าตัวเองต้องกลายเป็นเพียงเมียคนหนึ่งจนรับไม่ได้เลยตัดสินใจฆ่าตัวตายจบชีวิตตัวเองไปนั้น เป็นกรณีตัวอย่างของเรื่องนี้ แต่แน่นอนทุกตัวแบบในอุดมคติมักจะมีคนละเมิดได้เสมอ ไม่ใช่ว่าผู้บ่าวไทบ้านจะไม่เจ้าชู้ ประเด็นคือสังคมมีการสร้างภาพประทับเอาไว้แบบนั้น และไทบ้าน เดอะซีรีส์ ก็นำเอาภาพแบบนั้นมาเล่นเสียด้วย
ตรงนี้ออกจะสอดคล้องกับมายาคติที่สังคมไทยมีต่อคนชนบทอยู่โดยนัย คนชนบทที่ถูกมองถูกสร้างภาพประทับว่าเป็นพวกใสซื่อ บริสุทธิ์ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ซึ่งเป็นภาพที่จะลงร่องปล่องชิ้นกับภาพลักษณ์ ‘โง่ จน เจ็บ’ ได้เป็นอย่างดีอีกต่อหนึ่ง
ความฝันที่ไม่มีวันสลาย
อย่างไรก็ตาม ทั้งบุญชูและไทบ้าน เดอะซีรีส์ ต่างก็สะท้อนเรื่องราวความคิดฝันของคนในสังคมชนบท 2 รุ่น ที่มีความเหมือนที่แตกต่างกัน
รุ่นบุญชูนั้นยังฝันถึงชีวิตที่ดีที่จะได้รับจากส่วนกลาง/กรุงเทพฯ ถึงจะไม่ได้งานทำในกรุงเทพฯ แต่ก็ได้ใบปริญญา และได้เมียคนงามพูดไทยชัดกลับบ้านไปเป็นลูกสะใภ้ให้แม่พ่อที่พูดเหน่อ บุญชูไม่ใช่คนที่เข้ากรุงแล้วกลับไปมือเปล่า สิ่งที่ได้จากเมืองกรุง มีทั้งเพื่อน ทั้งวุฒิการศึกษา และกระทั่งได้เมียกลับบ้านไปด้วย แถมก็อย่างที่บอกเป็นลูกคุณหนูไฮโซไปอีก
แต่ไม่ได้หมายความว่า บุญชูจะเอาชนะได้แบบเบ็ดเสร็จ เพราะจะเห็นได้ในภาคที่บุญชูเป็นพ่อ บุญชูหวังให้บุญโชค ลูกชายที่บวชเณรครองผ้าเหลืองต่อไปจนเป็นพระภิกษุอยู่ในชุมชน แต่โมลีไม่เห็นด้วย จึงแอบให้ลูกสึกแล้วส่งไปเรียนกรุงเทพฯ แต่พลาดเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้
อย่างไรก็ตาม บุญชูคือตัวอย่างของคนบ้านนอกเข้ากรุงที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม เท่าที่ใครจะคิดฝันถึงได้ เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการประสานต้นทุน 2 อย่างกว้าง ๆ เข้าด้วยกัน คือทุนทางการศึกษาที่ได้จากในเมืองกรุงกับทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่บ้านเกิด
แต่สำหรับผู้บ่าวไทบ้าน เรียกได้ว่าบ่หัวซากับส่วนกลางไปแล้ว ชีวิตที่ดีอยู่ในชุมชนของตนนั่นเอง ความรักความฝันล้วนประสบความสำเร็จสมหวังได้จากที่บ้านเกิดของตนเอง ไม่ต้องออกเดินทางไกลไปแสวงหาถึงในกรุงอีกต่อไป
ไทบ้าน เดอะซีรีส์ คือการประกาศอย่างห้าวหาญ ถึงการจะสร้างฐานที่มั่นในชนบท แต่ในความเป็นจริง ไทบ้านฯ ก็ยังหาได้หลุดพ้นจากมายาคติคู่ตรงข้ามแบบเมืองกรุง-ชนบท ถึงชนบทจะพัฒนาไปมากในรอบ 2 - 3 ทศวรรษที่ผ่านมา และแม้ว่าวัฒนธรรมอีสานจะแพร่หลายไปไกลเพียงใด ก็ยังเป็นคนละเรื่องกับการเป็นที่ยอมรับของส่วนกลาง และยิ่งไกลห่างจากการสลายขั้วตรงข้ามแบบดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกคือ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ เพิ่งจะเริ่มต้นหรือยังไม่เริ่มจริง ๆ เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นยังไม่รู้ว่าจะ end up ไปสู่จุดไหน แน่นอนทุกความฝันเป็นจริงได้เสมอ ตราบใดที่ยังมุ่งตรงไปหามัน
บริบทความเปลี่ยนแปลงชนบทและฉากทัศน์สังคมไทยในภาพยนตร์ 2 กระแส
มาถึงประเด็นสุดท้ายที่จะอภิปรายเปรียบเทียบให้เห็นนัยความเปลี่ยนแปลงสำหรับในบทความนี้ คือประเด็นปัญหาที่ว่าเพราะอะไร ทำไม หรืออะไรคือเหตุปัจจัยของความแปรผกผันจนทำให้เกิดเป็นความเหมือนที่แตกต่างกันระหว่างยุคบุญชูกับยุคไทบ้าน เดอะซีรีส์
อย่างแรกเลยยุคบุญชูนั้นเป็นยุคหลังป่าแตก คือการล่มสลายของการต่อสู้กันด้วยกำลังอาวุธระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับฝ่ายรัฐบาลเผด็จการ สังคมชนบทตลอดจนเรื่องราวของคนในชนบทเป็นที่พูดถึงในช่วงนั้นอีกครั้ง จะเป็นช่วงที่รัฐและชนชั้นนำไทยหวนคืนกลับไปพัฒนาชนบทเพื่อลบล้างร่องรอยความทรงจำอดีตของพื้นที่ที่เคยมีการต่อต้านรัฐส่วนกลาง
เดิมก่อนหน้านั้นการพัฒนาชนบทเป็นไปโดยมุ่งเน้นวัตถุประสงค์เพื่อการปราบคอมมิวนิสต์ ตัวอย่างการสร้างถนนที่ตัดเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองสายสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนพหลโยธินที่ตัดขึ้นไปภาคเหนือ ถนนเพชรเกษมที่ตัดลงไปภาคใต้ ถนนมิตรภาพที่ตัดไปภาคอีสาน ล้วนแต่มีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการสร้างถนนดังกล่าว ด้วยความคิดที่ว่าเมื่อมีถนนลาดยางมะตอยตัดผ่านเข้าไปในสังคมท้องถิ่นแล้ว ความเจริญต่าง ๆ จะเกิดตามมา เมื่อเกิดความเจริญ คนก็จะไม่หันไปนิยมคอมมิวนิสต์
แนวคิดเรื่องการประสานกันระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง เมืองกับชนบท ที่ปรากฏในเรื่องบุญชู ที่จริงเป็นแนวคิดทางสังคมที่เผยแพร่โดยทางการในช่วงหลังป่าแตก แต่ด้วยข้อจำกัด แทนที่จะหยิบยกเอาท้องถิ่นห่างไกลอย่างในภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใต้ กลับเป็นในภาคกลาง ซึ่งมีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ แค่ราว 90 กิโลเมตร คือสุพรรณบุรี ทั้งนี้อาจเพราะสุพรรณบุรีเวลานั้นเป็นตัวเลือกที่ดีในแง่ที่ไม่ใช่แดนที่เคยมีการต่อรบต่อต้านส่วนกลาง หรือเคยมีแต่ก็เป็นความทรงจำอดีตที่ห่างไกลไปแล้วอย่างการต่อสู้ในรูปแบบโจรเสือ
นอกจากนี้การเลือกสุพรรณบุรียังแมทกับความเป็นไปได้ของแนวคิดเรื่องการประสานกันระหว่างเมืองกับชนบท แทนที่จะเป็น ‘ชนบทล้อมเมือง’ แบบพคท. ก็เปลี่ยนมาเป็น ‘เมืองล้อมชนบท’ แทนที่จะเป็นรัฐเข้าไปพัฒนาชนบทโดยตรงอย่างในอดีตยุคสู้กับพคท. มาสู่ยุคเมืองดึงดูดเอาหนุ่มสาวจากชนบทเข้ามาสู่เมืองด้วยการศึกษาและการทำงาน นั่นแหล่ะยุคบุญชู
ส่วนยุคไทบ้าน เดอะซีรีส์ น่าจะเกี่ยวข้องกับอย่างน้อย 3 เรื่องที่เป็นจุดเปลี่ยน คือ (1) กรณีวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ.2540 (2) ความตื่นตัวต่อกระแสประชาธิปไตยหลังรัฐประหาร 2549 และ (3) วิกฤตโควิด-19 ในกลางทศวรรษ 2560
วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ.2540 คือการพังทลายของสังคมที่มีวิธีคิดชี้นำแบบ ‘เมืองล้อมชนบท’ เมื่อหนุ่มสาวชาวชนบทที่เข้ามาเรียนและทำงานอยู่ในเมืองกรุง ต่างก็ตกงานกันถ้วนหน้าอย่างไม่คาดคิด พวกเขาก็หวนคิดถึงทุนทางวัฒนธรรมที่มีในสังคมชนบท เกิดกระแสรักบ้านเกิด กลับไปหางานทำกันมากมาย รวมถึงกระแสแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
แต่นั่นก็เพียงชั่วขณะหนึ่ง ในเวลาไม่นานเมื่อเศรษฐกิจเมืองฟื้นตัวขึ้นใหม่ ทุกอย่างก็กลับมาเป็นอย่างเดิมที่เคยเป็นก่อนหน้า คือ ‘เมืองล้อมชนบท’ โอกาสการเติบโต การแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิตยังคงเป็นที่เมือง แต่เช่นเดียวกับทุกครั้งเมื่อสังคมย้อนกลับไปใช้วิธีคิดชี้นำแบบเก่า ก็ไม่ใช่ว่าจะหวนคืนสู่อดีตได้แบบเต็มเหนี่ยว ปรากฏว่าในช่วงหลังทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ชนบทเกิดการพัฒนาจนกลายเป็นเมืองขึ้นหลายแห่งตามภูมิภาค
หลังจากนั้นมาคำว่า ‘เมือง’ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะกรุงเทพฯ อีกต่อไป หากแต่หมายถึงตัวจังหวัดและหรืออำเภอใหญ่ในจังหวัดนั้น ๆ เองด้วย อาจจะนิยามเรียกได้ว่าเป็น ‘เมืองชนบท’ และการกลายเป็นเมืองของสังคมชนบทก็นำมาสู่การเกิดชนชั้นใหม่ในชนบทที่มาพร้อมเศรษฐกิจแบบเก่าในที่ใหม่ คือ ‘ชนชั้นกลางในเมืองชนบท’ ก่อเกิดเป็นความซับซ้อนขึ้นภายในสังคมชนบท เมื่อชนบทไม่ได้มีแต่ชาวบ้านรากหญ้าเหมือนดังอดีต หากแต่มีชาวบ้านซึ่งบางส่วนก็แปรต้นทุนทางวัฒนธรรมของตนเองมาสู่การเป็นชนชั้นกลางในท้องถิ่นด้วย
ทุกชนชั้นที่เกิดใหม่ ย่อมต้องการการเมืองที่ซัปพอร์ตพวกเขาด้วย เมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ชนชั้นกลางในชนบทนี้เองเป็นส่วนสำคัญของการต่อต้านการรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม พวกเขาได้รับโอกาสมากกว่าภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร และรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ทำให้พวกเขาเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเกิดการเลือกตั้งตามท้องถิ่น อบจ. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ล้วนแต่เป็นผู้นำการพัฒนาที่พวกเขาเลือกกันเองได้ ไม่ใช่ตัวแทนที่ถูกส่งมาจากส่วนกลาง หรือส่วนกลางแต่งตั้งให้กินเงินเดือนและควบคุมคนในท้องถิ่นอีกต่อหนึ่งเหมือนเมื่อก่อน
แน่นอนว่าการเรียกร้องของพวกเขาถูกปฏิเสธ นำไปสู่เหตุการณ์ปะทะนองเลือดหลายครั้ง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์โรคโควิดระบาดซึ่งตามติดมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อพ.ศ.2540 แต่ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสแฝงอยู่ในนั้น (ไม่ใช่แต่เฉพาะคุณทักษิณหรอกที่คิดอะไรแบบนี้ได้ ตรงข้ามเป็นคุณทักษิณต่างหากที่จับกระแสสังคมตรงนี้ออก) สังคมชนบทกลายเป็นคำตอบอีกครั้ง หนุ่มสาวจำนวนมากกลับบ้านไปตั้งหลักใหม่ เพราะเมื่อเทียบกันแล้วชนบทมีโรคระบาดแพร่น้อยกว่าในกรุงเทพฯ
เมื่อหนุ่มสาวเหล่านี้กลับไปชนบทก็พกพาความมั่นและทุนวัฒนธรรมจากเมืองกรุงตามติดตัวไปด้วย เราจะเห็นอาชีพใหม่ที่เคยมีแต่ในเมืองกรุง แพร่หลายในชนบทมากขึ้น โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวและสถาบันการศึกษาที่มีมากขึ้นในชนบท
การเกิดสังคมเมือง แหล่งทำงาน ตลาด และแหล่งศึกษาหาความรู้อย่างมหาวิทยาลัย เมื่อวิทยาลัยครูถูกยกระดับกลายเป็น ‘มหาวิทยาลัยราชภัฏ’ เปิดสอนในหลักสูตรที่นอกเหนือจากสายครู สู่หลักสูตรตอบสนองต่อตลาดแรงงานที่ขยายตัวในสังคมชนบทเอง กลายเป็นจุดเปลี่ยนอย่างสำคัญที่ทำให้หลังจากนั้นมาการศึกษาไม่จำเป็นต้องจากบ้านเข้ากรุงอีกต่อไป อยู่ชนบทก็เข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้เช่นกัน
และนั่นก็คือบรรยากาศแวดล้อมและเงื่อนไขทางสังคมของยุคไทบ้าน เดอะซีรีส์
แต่อย่างไรก็ตาม การออกมาแสดงความขอบคุณของโรงหนังชื่อดังในกรุงเทพฯ สะท้อนอยู่ในตัวว่าผู้ชมจำนวนมากของไทบ้าน เดอะซีรีส์ นั้นก็มีคนกรุงที่ต้องการจะดูภาพชีวิตของชาวชนบทในปัจจุบันรวมอยู่ด้วย นอกเหนือจากที่พวกเขาจะได้พบเห็นก็ในวันหยุดสุดสัปดาห์ขับรถพาครอบครัวออกไปกินไปเที่ยวกันเป็นปกติ
อย่างที่บอกคือยุคของบุญชูนั้นอยู่ในความทรงจำไปแล้ว ในขณะที่ไทบ้าน เดอะซีรีส์ ที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทข้างต้นนี้จะนำไปสู่จุดไหน ล้วนแต่ต้องติดตามกันต่อไป...
เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์
ภาพ : ภาพตัวอย่างภาพยนตร์ บุญชู จากคลิปในยูทูบ, ภาพโปสเตอร์สัปเหร่อจาก Spring News
อ้างอิง :
สารานุกรมเสรี (วิกิพีเดีย). “บุญชู” https://th.wikipedia.org (เสิร์ชเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566).
สารานุกรมเสรี (วิกิพีเดีย). “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” https://th.wikipedia.org (เสิร์ชเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566).
คายส์, ชาร์ล เอฟ. แนวคิดท้องถิ่นภาคอีสานนิยมในประเทศไทย (Isan : Regionalism in Northeastern Thailand). แปลโดย รัตนา โตสกุล, อุบลราชธานี:
ศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2552.
พัฒนา กิติอาษา. สู่วิถีอีสานใหม่. กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2557.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. สุวรรณภูมิ, สุพรรณภูมิ, สุพรรณบุรี “เหน่อ” และขับเสภา ทำไม? มาจากไหน? กรุงเทพฯ: กองทุนเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ, 2551.
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. ลืมตาอ้าปาก: จากชาวนาสู่ผู้ประกอบการ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2559.