‘ศักดิ์ชัย พันธ์ศรี’ วีรบุรุษในเปลวเพลิง ผู้พร้อมสละชีวิตเพื่อคนแปลกหน้า

‘ศักดิ์ชัย พันธ์ศรี’ วีรบุรุษในเปลวเพลิง ผู้พร้อมสละชีวิตเพื่อคนแปลกหน้า

เบื้องหลังฮีโร่ในเครื่องแบบนักดับเพลิง ‘ศักดิ์ชัย พันธ์ศรี’ ที่พร้อมวิ่งเข้ากองเพลิงขณะที่คนอื่นกำลังหนี กับ 17 ปีแห่งการเสียสละที่ไม่เคยมองว่าเป็นภาระ

KEY

POINTS

  • หัวใจนักสู้ - ความกล้าหาญในการเผชิญภัยพิบัติและการตัดสินใจที่หน้างานโดยไม่มีสูตรตายตัว แม้ต้องเสี่ยงชีวิตตัวเอง
  • บทเรียนจากความสูญเสีย - ประสบการณ์สะเทือนใจจากเหตุการณ์ไฟไหม้ผับและสารเคมีรั่วไหลในโรงงานที่สอนให้รู้ว่าชีวิตของผู้อื่นมีค่าเพียงใด
  • ความสุขในการให้ - แรงบันดาลใจที่ทำให้ยังคงอยู่ในอาชีพนี้ 17 ปีคือความสุขจากการช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้ความเหนื่อยยากมีความหมาย

ในโลกที่ผู้คนวิ่งไล่ตามความสำเร็จและความมั่งคั่ง มีอีกหนึ่ง ‘อาชีพ’ ที่เลือกวิ่งเข้าหาอันตรายเพื่อปกป้องชีวิตผู้อื่น พวกเขาคือนักดับเพลิงและกู้ภัย บุคคลที่หลายคนมองว่า ‘เท่’ แต่น้อยคนจะรู้ถึงความเหนื่อยยาก

‘ศักดิ์ชัย พันธ์ศรี’ หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยสามเสน สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 2 คือหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังภาพฮีโร่เหล่านั้น

17 ปีแห่งการเสียสละ

ในช่วงต้นของบทสนทนา ศักดิ์ชัยเล่าว่า “ปีนี้เป็นปีที่ 17 ครับ ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของดับเพลิงและกู้ภัย” เส้นทางชีวิตของเขาไม่ได้เริ่มต้นจากความฝันวัยเด็กเหมือนตำรวจหรือทหารที่เด็กส่วนใหญ่ใฝ่ฝัน แต่เป็นโอกาสที่เขาได้พบเจอหลังจากทำงานในภาคเอกชนมาสักระยะหนึ่ง

เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ที่ ‘เท่’ ของนักดับเพลิง ศักดิ์ชัยยิ้มก่อนตอบว่า “ความเท่นั้นมันเกิดจากความเหนื่อย ต้องพร้อม กลั่นกรองมาจากความพร้อมของนักดับเพลิงก่อน แล้วไปสู่สายตาประชาชนหรือคนมอง มันถึงจะเกิดความเท่ แต่ความเท่มันแบกภาระมาด้วย หมายถึงว่าเราต้องไปเหนื่อย ไปสู้ ไปฟันฝ่าอุปสรรค แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับเหตุ”

‘ศักดิ์ชัย พันธ์ศรี’ วีรบุรุษในเปลวเพลิง ผู้พร้อมสละชีวิตเพื่อคนแปลกหน้า

ความกดดันที่ไม่มีสูตรตายตัว

หนึ่งในความกดดันสูงสุดของอาชีพนี้คือความไม่แน่นอน “เหตุแต่ละครั้ง สาธารณภัยแต่ละรอบไม่ได้บอกเราก่อนว่าจะเกิดวันไหนเวลาไหน แต่ถ้ามันเกิด ความพร้อม ความกดดันก็จะมาอยู่ที่นักดับเพลิงที่จะต้องไปแก้ปัญหาและช่วยบรรเทาเหตุให้ประชาชน”

ความยากอีกประการหนึ่งคือไม่มี ‘สูตรตายตัว’ ในการจัดการกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ศักดิ์ชัยยกตัวอย่างการเผชิญเหตุไฟไหม้ 

“เราไปเราไม่รู้เลยว่าตรงนั้นมีใครติดอยู่บ้าง กี่คน เราต้องหาเขาให้เจอ ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในนั้นเราต้องช่วยเขาให้ได้อันดับแรก”

ศักดิ์ชัยยังเล่าถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ซึ่งทำให้อาคาร สตง. ถล่ม “นักดับเพลิงก็มีครอบครัว มีลูก มีภรรยา ซึ่งก็เหมือนคนทั่วไป จิตใจก็อยากไปหาครอบครัว แต่นักดับเพลิงทุกคนวิ่งไปที่จตุจักร ไปช่วยคนที่ติดค้างอยู่ตรงนั้น นี่คืออาชีพที่ผมมองว่าเป็นฮีโร่”

‘ศักดิ์ชัย พันธ์ศรี’ วีรบุรุษในเปลวเพลิง ผู้พร้อมสละชีวิตเพื่อคนแปลกหน้า

การตัดสินใจที่หน้างานเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นว่า “เราจะต้องช่วยคนก่อนไหม กันพื้นที่ความปลอดภัยก่อนไหม ดับไฟก่อนไหม ป้องกันการลุกลามไหม” ทั้งหมดนี้ต้องตัดสินใจในเสี้ยววินาที ท่ามกลางความวุ่นวายและอันตราย

คุณสมบัติของการเป็นนักกู้ภัย 

เมื่อถามถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นของนักกู้ภัย ศักดิ์ชัยตอบอย่างไม่ลังเล “เรามีความโดดเด่นก็คือด้วยหัวใจ ต้องมีหัวใจที่เสียสละก่อนอันดับแรก ถ้าเสียสละได้ มีความรับผิดชอบได้ ก็จะเป็นฮีโร่ของประชาชนได้”

การเสียสละนั้นหมายถึงการทำงาน 24 ชั่วโมงไม่หยุดพัก เพราะไม่มีใครรู้ว่าเหตุจะเกิดเมื่อไหร่ “นี่คือสิ่งที่เราต้องพร้อมเสมอ” เขากล่าว

‘ศักดิ์ชัย พันธ์ศรี’ วีรบุรุษในเปลวเพลิง ผู้พร้อมสละชีวิตเพื่อคนแปลกหน้า

ต้นทุนแห่งการเสียสละ 

การทำงานหนักเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อสุขภาพและการพักผ่อน “การพักผ่อนก็จะเปลี่ยนไป เราทำงานเป็นผลัด บางทีก็อาจจะนอนไม่ครบ 8 ชั่วโมงหรือ 9 ชั่วโมง มีเหตุเกิดแล้วเราก็ต้องไป”

นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อสุขภาพก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ “แม้จะมีอุปกรณ์ที่ป้องกันสารแก๊สพิษ แต่บางทีควันก๊าซพิษก็สามารถไปสะสมในร่างกายเราได้ นี่คือสิ่งที่จะตามมา ทุกคนจะต้องทำใจให้ได้”

‘ศักดิ์ชัย พันธ์ศรี’ วีรบุรุษในเปลวเพลิง ผู้พร้อมสละชีวิตเพื่อคนแปลกหน้า
 

บทเรียนแห่งความเจ็บปวด 

เมื่อถามถึงเหตุการณ์ที่ช่วยไม่สำเร็จและทำให้รู้สึกแย่ ศักดิ์ชัยนิ่งไปครู่หนึ่งก่อนเล่าถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ซานติก้าผับเมื่อปี 2552 “มันแย่ ผมไปเห็นผู้ประสบภัยที่ช่วยไม่ได้ ท่านเสียชีวิตในตรงนั้น นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกแย่มาก ถ้าเราไปเร็วกว่านี้ หรือเราช่วยเขาได้ทัน เขาก็น่าจะรอดชีวิตเยอะกว่านั้น”

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือเหตุสารเคมีรั่วไหลและระเบิดที่โรงงานหมิงตี้ “มีผู้เสียชีวิตก็คือเพื่อนร่วมอาชีพ เป็นน้องอาสาสมัครเสียชีวิต” เขาเล่าถึงความรุนแรงของเหตุการณ์ “แรงระเบิดของสารเคมี ขนาดรถคันใหญ่ ๆ ยังฉีกขาดได้เลย คิดดูถ้าเป็นพี่น้องประชาชนอยู่เนี่ย จะยังไง”

ศักดิ์ชัยยอมรับว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่อาจลบออกจากความทรงจำได้ “มันเอาออกไม่ได้นะ ด้วยอารมณ์ที่เราสัมผัสมาแล้ว อารมณ์ความรู้สึก เหตุการณ์ เรื่องราวนั้นก็ยังอยู่กับตัวเรา แต่เราจะเก็บเรื่องนั้นไว้ แล้วเราจะทำงานเต็มที่ไม่ให้มันไปเจอภาพนั้นอีก... เอาอดีตมาพัฒนา เราอย่าให้มันเกิดกับพี่น้องประชาชนอีก ก็คือช่วยให้เขาเต็มที่”

คุณค่าที่มอบให้สังคม

ศักดิ์ชัยมองว่างานที่เขาทำนั้นให้คุณค่ากับประชาชนอย่างมาก “จริง ๆ เรามีแต่คำว่าช่วยครับ ช่วยประชาชน ทุกวันนี้การรับแจ้งเหตุ ไม่ว่าจะเป็นแมวติดหลังคา หมาตกท่อ จับงู ตัวเงินตัวทองเข้าบ้าน เราก็ต้องรีบไปเพื่อที่จะให้ประชาชนอุ่นใจ แล้วก็สบายใจ”

สำหรับเขาแล้ว คำขอบคุณจากประชาชนคือรางวัลที่มีค่าที่สุด “เราไปทำ เราก็ภาคภูมิใจ พอเราจับเสร็จเรียบร้อย เจ้าของบ้านพูดแค่ว่าขอบคุณ เราก็ซึ้งใจแล้ว”
แรงบันดาลใจที่ทำให้ยังคงทำงานนี้

แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมา 17 ปี นายศักดิ์ชัยยังคงมีไฟในการทำงานนี้ “แรงใจของผมเนี่ย ผมได้ช่วยเหลือคน ได้ช่วยเหลือพี่น้อง ผมรู้สึกมีความสุขครับ มีความสุขในใจ มันก็เลยเหมือนกับมีพลังอยู่ตลอดเวลา มันไม่เคยหมดไปจากตัวผมเลย เพียงแค่ได้รับคำขอบคุณเนี่ย มันก็เป็นแรงใจของผมแล้ว”

เขาวางแผนที่จะทำงานนี้ไปจนเกษียณ และหลังจากนั้นก็ยังคงจะช่วยเหลือสังคมในรูปแบบอื่นต่อไป “หลังจากเกษียณก็ยังคงดำเนินชีวิตช่วยเหลือคนในด้านอาชีพนี้ต่อไปครับ จะช่วยในด้านไหนนั้นก็ว่ากันอีกที แต่การช่วยเหลือสังคมเนี่ย ผมจะทำต่อเนื่องไป”

คำฝากถึงประชาชน 

ศักดิ์ชัยได้ฝากข้อคิดเรื่องการป้องกันอัคคีภัยไว้ว่า “หลัก ๆ เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ก็อยากจะให้พี่น้องประชาชนช่วยสอดส่องดูแลภายในบ้าน เรื่องของปลั๊กไฟ สายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า เรื่องของถังแก๊ส วาล์วแก๊ส นี่สำคัญ”

เขายังฝากประชาชนไม่ให้โทรแจ้งเหตุเท็จ เพราะอาจส่งผลให้กำลังพลไม่สามารถไปช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ ได้  

‘ศักดิ์ชัย พันธ์ศรี’ วีรบุรุษในเปลวเพลิง ผู้พร้อมสละชีวิตเพื่อคนแปลกหน้า

ชีวิตของ ‘ศักดิ์ชัย พันธ์ศรี’ คือตัวอย่างของคนธรรมดาที่ทำสิ่งไม่ธรรมดา ด้วยหัวใจที่เต็มไปด้วยความเสียสละและความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้อื่น แม้ต้องเผชิญกับความเสี่ยง ความเหนื่อยยาก แต่เขาก็ยังคงยืนหยัดในหน้าที่ของตน เพราะสำหรับเขาแล้ว ความปลอดภัยและรอยยิ้มของประชาชนคือรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่ทำให้ทุกความเหนื่อยยากนั้นมีความหมาย