กลอเรีย สไตน์เนม: สตรีผู้ออกมาบอกโลกว่า ‘การทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม’ แต่เป็นสิทธิ์ในเนื้อตัวร่างกายที่ผู้หญิงพึงมี

กลอเรีย สไตน์เนม: สตรีผู้ออกมาบอกโลกว่า ‘การทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม’ แต่เป็นสิทธิ์ในเนื้อตัวร่างกายที่ผู้หญิงพึงมี

นักข่าว นักเขียน บรรณาธิการ และนักสตรีนิยมผู้รณรงค์เพื่อสิทธิสตรีมากว่าครึ่งศตวรรษ และยังไม่มีแพลนที่จะเกษียณ

  • กลอเรีย สไตน์เนม เด็กสาวที่เห็นแม่ตัวเองโดนเกลียดชังและต่อต้านเพียงเพราะเป็นผู้หญิง จุดประกายให้เธอร่วมขบวนการสิทธิสตรีและความเท่าเทียม
  • อาชีพนักข่าวช่วงแรกของเธอวนเวียนอยู่แค่งานเลขา เบื้องหลังวิจัย และบทความเรื่องสวย ๆ งาม ๆ จนในที่สุดเธอกลายเป็นที่รู้จักจากการแฝงตัวเข้าไปในไนต์คลับ และตีแผ่เบื้องหลังสวรรค์ที่ซุกซ่อนเรื่องเลวร้าย
  • จากนั้นเธอดำเนินการสิทธิเพื่อสตรี และความเท่าเทียมมาจนอายุ 89 ปี โดยเฉพาะเมื่อมีการกลับคำตัดสินของคดีโรกับเวด ยิ่งตอกย้ำให้เธอดำเนินการต่อไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

‘กลอเรีย สไตน์เนม’ (Gloria Steinem) เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 1934 ในเมืองโทเลโด รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ชีวิตในวัยเด็กของกลอเรียแตกต่างจากเด็กธรรมดาทั่วไป เพราะเธอใช้เวลาช่วงหนึ่งในการออกเดินทางตามพ่อและแม่ไปกับรถพ่วงบ้าน เธอไปทั้งมิชิแกน ฟลอริดาและแคลิฟอร์เนีย ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนที่อยู่ไปมาทำให้เธอขาดเรียนอยู่บ่อยครั้งจนอายุ 11 ปี

จนกระทั่งพ่อกับแม่ของกลอเรียแยกทางกันเมื่อเธออายุได้ 12 ปี เธอเลือกที่จะตั้งรกรากอยู่กับแม่ในโอไฮโอ และเริ่มได้ไปโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอเหมือนเด็กทั่วไป แต่โชคชะตาก็เล่นตลกเมื่อแม่เธอป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเรื้อรัง กลอเรียจึงมีหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นคือการดูแลแม่ ซึ่งเธอเชื่อว่าที่แม่ป่วยมีสาเหตุหนึ่งมาจากการที่แม่เธอเป็นนักข่าวแล้วไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากความเกลียดชังในที่ทำงานต่อผู้หญิง

พร้อมทั้งความไม่แยแสของแพทย์เกี่ยวกับอาการป่วยของแม่เธอที่มาจากทัศนคติต่อต้านผู้หญิง อย่างไรก็ตามทั้งสองคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในบ้านที่ทรุดโทรม ก่อนที่กลอเรียจะย้ายไปวอชิงตันเพื่ออาศัยอยู่กับพี่สาว

จากนั้นกลอเรียจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยสมิทในรัฐแมสซาชูเซตส์ ด้านการปกครอง ซึ่งเป็นการเลือกเรียนในด้านที่แหวกขนบของผู้หญิงในยุคนั้น เพราะเห็นได้ชัดเลยว่าเธอไม่ต้องการเดินตามเส้นทางที่สังคมคาดหวังให้ผู้หญิงแต่งงานและเป็นแม่

กลอเรียสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยสมิท ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ทำให้เธอได้รับทุนเพื่อการศึกษาในประเทศอินเดีย เธอจึงใช้เวลาสองปีในการศึกษาและค้นคว้าในแดนภารตะ ซึ่งช่วงเวลาในต่างประเทศทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจที่จะเคลื่อนไหวและช่วยเหลือคนระดับรากหญ้า รวมไปถึงประสบการณ์ของแม่ทำให้เธอเชื่อว่าผู้หญิงขาดความเสมอภาค จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานของเธอกับขบวนการปลดแอกสตรีและการแก้ไขสิทธิความเท่าเทียม

ผู้หญิงที่ไม่เคยยอมแพ้

กลอเรียเริ่มต้นอาชีพการงานของเธอในฐานะนักข่าวในนิวยอร์ก โดยเขียนบทความอิสระให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงในยุค 1950-1960 จะได้รับมอบหมายงานสำคัญ เพราะนักข่าวหญิงส่วนใหญ่จะถูกผลักไสไล่ส่งให้ไปทำงานด้านเลขานุการ หรือเป็นผู้ช่วยอยู่เบื้องหลังงานวิจัยเท่านั้น

ช่วงแรกบทความของกลอเรียมักเกี่ยวข้องกับความสนใจของผู้หญิงเท่านั้น เช่น ถุงน่อง เธอเล่าว่าเมื่อเธอแนะนำหัวข้อการเมืองให้กับบรรณาธิการนิตยสารนิวยอร์กไทม์ เธอได้รับการตอบกลับมาว่า ‘ฉันว่าคุณไม่เหมาะกับหัวข้อนี้’

แต่กลอเรียไม่ยอมแพ้อยู่แค่การเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับผู้หญิง เธอแสวงหารายงานเกี่ยวกับสังคมและการเมืองอยู่เสมอ ในที่สุดเธอก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เมื่อนิตยสารโชว์ (Show Magazine) จ้างให้เธอเป็นสายลับ เพื่อรายงานสภาพการทำงานที่ ‘ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ เพลย์บอย คลับ’ (Hugh Hefner’s Playboy Club) ไนต์คลับที่มีพนักงานเสิร์ฟหญิงแต่งกายด้วยชุดกระต่าย หรือที่เรียกว่า บันนี่

กลอเรียปลอมตัวสมัครเข้าไปเป็นบันนี่ โดยเธอเล่าว่า อันดับแรกเธอได้รับการตรวจเลือดและตรวจร่างกายสำหรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากนั้นก็ได้รับการว่าจ้างและให้สวมชุดกระต่ายทำงาน

เธอบอกอีกว่า ธุรกิจนี้เป็นเพียงสวรรค์สำหรับผู้ชายเท่านั้น เพราะสำหรับผู้หญิงแล้วนี่ไม่ต่างจากขุมนรกชั้นดี หลายคนต้องสวมชุดกระต่ายที่แน่นมากจนซิปกินผิวหนังของพวกเธอ พร้อมทั้งถูกใช้งานอย่างหนัก โดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม ไปจนถึงไม่ได้รับค่าตอบแทนเลยด้วยซ้ำ

หลังจากงานนี้กลอเรียก็ทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง ในปี 1968 เธอช่วยก่อตั้งนิตยสารนิวยอร์ก (New York Magazine) และกลายเป็นบรรณาธิการรวมถึงนักเขียนด้านการเมือง

กลอเรียพูดต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกในปี 1969 เรื่องการทำแท้งว่า เธอสนับสนุนให้มีการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายในนิวยอร์ก พร้อมทั้งยังแบ่งปันเรื่องราวของการทำแท้งของเธอที่ต่างประเทศเมื่ออายุ 22 ปี เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเริ่มจุดประกายเรื่องสตรีนิยมขึ้นมา

นอกจากนี้กลอเรียยังเห็นว่า นิตยสารที่อยู่ในท้องตลาดไม่มีใครนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงได้อย่างครอบคลุมในเรื่องของสิทธิสตรีและการเคลื่อนไหวของผู้หญิงเธอจึงร่วมมือกับนักข่าว ‘แพทริเซีย คาร์บีน’ (Patricia Carbine) และ ‘เล็ตตี้ คอตติน โพเกรบิน’ (Letty Cottin Pogrebin) เพื่อก่อตั้งนิตยสารมิส (Ms. Magazine) ในปี 1971

ในปีเดียวกันนี้เองเริ่มมีคดีโรกับเวด (Roe v. Wade) หนึ่งในคดีดังของสหรัฐฯ เมื่อหญิงสาวคนหนึ่งนามสมมุติว่า ‘เจน โร’ (Jane Roe) ถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ แต่ไม่สามารถทำแท้งได้เพราะผิดกฎหมาย เธอจึงยื่นฟ้องศาลให้ตัดสินคดี โดยมีทนายฝั่งที่สู้คดีกับเธอชื่อ ‘เวด’ (Wade)

จนกระทั่งปี 1973 กลอเรียเฉลิมฉลองคำตัดสินของศาลฎีกาสหรัฐฯ ในกรณีของคดีระหว่างโรกับเวด ที่ให้สิทธิรัฐธรรมนูญแก่ผู้หญิงในการทำแท้ง

ชีวิตที่อุทิศเพื่อสตรีทุกคน

กลอเรียทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ไปกับองค์กรทางการเมืองและกลายเป็นผู้สนับสนุนขบวนการสิทธิสตรีอย่างจริงจัง เธอเป็นผู้นําการเดินขบวนและเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ในฐานะวิทยากร และในปี 1972 กลอเรียและนักสตรีนิยม ‘เบลลา อับซุก’ (Bella Abzug), ‘เชอร์ลีย์ ชิสโฮล์ม’ (Shirley Chisholm) และ ‘เบ็ตตี้ ฟรีแดน’ (Betty Friedan) ได้ก่อตั้ง National Women's Political Caucus องค์กรที่อุทิศตนเพื่อสนับสนุนผู้หญิงที่แสวงหาตำแหน่งจากการเลือกตั้งทางการเมือง และยังคงสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ

เพื่อให้แน่ใจว่าในการเลือกตั้งผู้หญิงจะมีความเสมอภาคมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่น ๆ ที่กลอเรียได้ร่วมก่อตั้ง เช่น ศูนย์สื่อสตรี the Women’s Media Center เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกของผู้หญิงในสื่อ และ Take Our Daughters to Work Day ซึ่งเป็นความพยายามระดับชาติครั้งแรกในการช่วยให้เด็กสาวได้เรียนรู้เกี่ยวกับโอกาสในการทำงาน

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งมูลนิธิกลอเรีย โดยใช้ชื่อนี้เพื่อเฉลิมฉลองการทำงานตลอดชีวิตของเธอในฐานะนักเคลื่อนไหวและผู้จัดงาน โดยมีเป้าหมายหลักในการสนับสนุนและหล่อเลี้ยงขบวนการสตรีนิยม ซึ่งมูลนิธิแห่งนี้ตั้งอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ของเธอเอง

เพราะบ้านหลังนี้เป็นพื้นที่ที่นักเล่าเรื่องและนักวิชาการจำนวนมากมาประชุมระยะสั้น หรือพํานักระยะยาว ซึ่งเป็นเหมือนรากฐานของการดำเนินกิจกรรม และแบ่งปันพื้นที่ให้นักสตรีนิยมหลายรุ่นเข้ามาใช้ส่งเสริมและควบคุมพลังของการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่

“อพาร์ตเมนต์ของฉันไม่ใช่แค่บ้าน แต่เป็นศูนย์กลางทางการเมือง มันเป็นสถานที่ที่ผู้คนรู้สึกปลอดภัยและฉันหวังว่ามันจะได้รับการเก็บรักษาไว้โดยคำนึงถึงสิ่งนั้น”

นอกจากนี้กลอเรียยังเขียนบันทึกความทรงจำของเธอ เช่น เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่เต็มไปด้วยขวากหนาม มิตรภาพของเธอกับนักเคลื่อนไหวสตรีนิยมอเมริกันพื้นเมือง และตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ My Life on the Road (2015) ที่ติดอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทม์ พร้อมทั้งเป็นเจ้าภาพจัดซีรีส์สารคดีทางโทรทัศน์เรื่อง Woman with Gloria Steinem (2016) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง

อาจกล่าวได้ว่าความเป็นนักสตรีนิยมของกลอเรีย ได้รับการส่งต่อมาจากบรรพบุรุษอย่างคุณยายเธอ ‘พอลลีน เพอร์ลมุทเทอร์ สไตน์เนม’ (Pauline Perlmutter Steinem) ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการการศึกษาที่โทเลโด พร้อมทั้งยังสนับสนุนการปรับปรุงการศึกษา การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งความเป็นผู้นําที่สร้างแรงบันดาลใจของยายกลอเรียทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่มีรายชื่ออยู่ในรางวัลบุคคลดีเด่นของสหรัฐอเมริกา (Who's Who in America)

จนกระทั่งในปี 2013 กลอเรียเองก็ได้รับเหรียญเกียรติยศขั้นสูงสุดของพลเรือน (Presidential Medal of Freedom) จากประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ผู้กำหนดชีวิตตนเอง

ในปี 2000  กลอเรียแต่งงานกับ ‘เดวิด เบล’ (David Bale) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ ตอนอายุ 66 ปี แม้เธอจะเป็นที่รู้จักในการบอกว่า ‘woman needs a man like a fish needs a bicycle’ (ผู้ชายไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิงขนาดนั้น) แต่เธอก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเธอยังคาดเดาไม่ได้ และมุ่งมั่นที่จะสร้างเส้นทางชีวิตด้วยตนเอง แต่ไม่นานเดวิดก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมองในปี 2003 เธอกล่าวถึงสามีไว้ว่า “เขามีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่รู้จักคนมาทั้งชีวิต”

ในบริบทสังคมสมัยนั้นเมื่อมีการแต่งงาน ย่อมถูกคาดหวังให้มีลูก และหลายคนนับว่าการมีลูกคือความสำเร็จ แต่สำหรับกลอเรียไม่ใช่อย่างนั้น

“ฉันไม่เสียใจเลยที่ไม่ได้เป็นแม่ และการไม่มีลูกไม่ได้หมายความว่าฉัน 'ไม่ประสบความสำเร็จ' ในฐานะผู้หญิง”                                             

ความหวังของการเปลี่ยนแปลงก่อนจะจากไป

ในปี 2022 ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดหรือศาลฎีกาสหรัฐอเมริกา พิพากษาให้ยกเลิกคำตัดสินคดีโรกับเวด ที่เคยตัดสินให้การทำแท้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่าการทำแท้งจะกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายนั่นเอง

กลอเรียไม่คิดว่าเมื่อเวลาล่วงเลยมาเกือบ 50 ปี เธอจะได้เห็นการกลับคําตัดสินนี้ สำหรับกลอเรียและนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ มันเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจถึงความจําเป็นที่จะต้องรณรงค์ต่อไปเพื่อให้บรรลุการเปลี่ยนแปลง

“การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและง่ายที่สุดคือเราสามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเราเอง เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าจะมีลูกหรือไม่ และเมื่อใดไม่ควรมีลูก”

ตลอดชีวิตของกลอเรียเธอผ่านการรณรงค์การปฏิวัติมาหลายรูปแบบ และในวัย 89 ปีเธอก็หวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสิทธิในร่างกายของผู้หญิงก่อนที่เธอจะไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้ว

เรื่อง: นิภาภรณ์ แพงจำปา (The People Junior)

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

https://awpc.cattcenter.iastate.edu/directory/gloria-steinem/

Gloria Steinem | National Women's History Museum (womenshistory.org)

Gloria Steinem | Biography & Facts | Britannica

Gloria Steinem: Feminist icon on 'lethal' desire to control wombs - BBC News

Gloria Steinem | Jewish Women's Archive (jwa.org)

Finding Your Roots | Gloria Steinem (pbs.org)

Gloria Steinem | The Guardian

Ms. after 50: Gloria Steinem and a feminist publishing revolution - CBS News

Gloria Steinem Reflects on Women's Liberation 50 Years Later | Time

Gloria Steinem (history.com)

Hugh Hefner dead: What the journalist who infiltrated the New York Playboy Club says it was really like | The Independent | The Independent

การทำแท้ง(ไม่)เสรี ศาลสูงสุด และการเมือง ในอเมริกา - TDRI: Thailand Development Research Institute

Gloria's Foundation (gloriasfoundation.org)

Pauline Perlmutter Steinem | Jewish Women's Archive (jwa.org)

Feminist icon of the 1970s Gloria Steinem says she's never regretted not having children | Daily Mail Online