ทำไมปวดท้องเมนส์แทบคลั่งแต่ก็ต้องมาทำงาน? สำรวจประเทศที่ให้หยุดงานได้ระหว่างมีประจำเดือนโดยไม่ต้องรู้สึกผิด

ทำไมปวดท้องเมนส์แทบคลั่งแต่ก็ต้องมาทำงาน? สำรวจประเทศที่ให้หยุดงานได้ระหว่างมีประจำเดือนโดยไม่ต้องรู้สึกผิด

สำหรับคนที่ปวดท้องประจำเดือนอย่างหนักหน่วง คงปลื้มใจไม่น้อยที่มีกฎหมายอนุญาตให้หยุดงานระหว่างมีรอบเดือนได้ แต่ประเทศไทยข้อบังคับดังกล่าวยังถูกจำกัดอยู่แค่ในรั้วมหาวิทยาลัย

หลังจากเพจองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ประกาศกำหนดให้มีวันลาหยุดสำหรับผู้มีประจำเดือน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 บอกตามตรงว่านาทีแรกที่เห็น ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย ดูเหมือนว่าความเจ็บปวดที่ผู้หญิงอย่างเราเผชิญหน้าทุกเดือน กำลังได้รับการยอมรับว่านี่คือวาระสำคัญที่ต้องตระหนัก

แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจความทรมานนี้ เพราะบางครั้งแม้แต่ผู้หญิงด้วยกัน พวกเธอก็ไม่เข้าใจว่าทำไมการปวดท้องประจำเดือน ถึงลุกลามทำให้ ‘บางคน’ ไม่มาทำงานหรือมาเรียน ซึ่งความคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดแผกแต่อย่างใด ใช่, การมีประจำเดือนไม่ได้สร้างความเจ็บปวดทางร่างกาย พวกเธอสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาจจะมีอารมณ์สวิงบ้าง แต่สุดท้ายแล้วขอแค่ได้กินของที่อยากกิน นอนหลับพักผ่อนอย่างพอเหมาะ เพียงเท่านี้อารมณ์ที่ขุ่นมัวก็ลดลง

“เราไม่อยากถูกมองว่าอ่อนแอ ไม่อยากให้สิ่งนี้ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของพวกเรา มันไม่ต่างจากความอัปยศหนึ่งในชีวิตที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถได้รับตำแหน่งดี ๆ เหมือนอย่างผู้ชาย”

แต่อย่าลืมว่าร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน ไหน ๆ สังคมเราก็เริ่มตระหนักถึงสิทธิความเท่าเทียมทางเพศที่ไม่ใช่แค่ความแตกต่างทางกายภาพ หากแต่รวมถึงสรีรวิทยาของเพศชายและหญิง การจะบรรจุเรื่องสิทธิการลาหยุดงานระหว่างมีประจำเดือนลงไป คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง(?) หลายประเทศในเอเชียเอง ก็มีข้อกฎหมายเหล่านี้ปูทางมานานหลายสิบปี ขณะที่ในประเทศไทย กลับมีเพียงมหาวิทยาลัยบางแห่ง ประกาศเป็นข้อกำหนดอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่วันก่อนเท่านั้น

จุดเริ่มต้นของการนำเสนอสิทธิการหยุดงาน เพราะปวดท้องประจำเดือน มาจากประเทศรัสเซียในช่วงปี ในช่วงทศวรรษ 1920 – 1930 เพราะเกรงว่าหากละเลยความทรมานของเพศหญิง ความยิ่งใหญ่ของรัสเซีย (หรือโซเวียตในช่วงเวลาหนึ่ง) คงถึงคราวต้องล่มสลาย ประจวบกับช่วงเวลาดังกล่าว ชนชั้นกรรมาชีพต่างตบเท้าออกมาเรียกร้องสิทธิอันพึงมีอยู่บ่อยครั้ง จนนำมาสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ในปี 1917

ระหว่างนั้น ‘อเล็กซานดรา คอลลอนไท’ (Alexandra Kollontai) นักสตรีนิยมแนวสังคมนิยม และนักการทูตโซเวียตคนแรกที่เป็นผู้หญิง ได้มีการผลักดันกฎหมายหย่าร้าง เปิดประตูการทำแท้งเสรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ออกกฎหมายสนับสนุนสิทธิในการคุมกำเนิด และเสนอกฎหมายให้ผู้หญิงสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ไม่ต่างจากเพศชาย นี่คือช่วงเวลาที่แนวคิดสตรีนิยมเบ่งบานในรัสเซียถึงขีดสุด ซึ่งเธอได้แต่หวังว่าสังคมอุดมคติจะเป็นจริงได้ในสักวัน

ใช่ว่าการผลักดันให้ผู้หญิงหยุดงานเพราะปวดท้องจะได้รับความเห็นชอบ มาร์ติน เลียดอฟ (Martyn Liadov) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวรัสเซีย และสมาชิกพรรคเมนเชวิค (Menshevik) มองว่า เมื่อร่างกายของผู้หญิงถูกแปลงให้เป็นทรัพย์สินส่วนตัว (Private Property) พวกเธอต้องพร้อมปรนเปรอผู้เป็นนายอยู่เสมอ ไม่ว่าพวกเขาจะเรียกหาเธอในเวลาใดก็ตาม

เขาไม่เห็นด้วยกับการหยุดงาน ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้หญิงจึงทนปวดท้องไม่ได้ เพราะเงินทุกบาทที่นายจ้างจ่าย ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ทุกคนต้องพร้อมทำงานอยู่เสมอ ความเจ็บปวดเพราะเป็นหญิงจึงไม่สามารถเป็นเหตุผลในการหยุดงานได้

นั่นคือแนวคิดของชายที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสภาสูงสุดเศรษฐกิจแห่งชาติ ประจำกรุงมอสโก และอธิการบดีของมหาวิทยาลัยคอมมิวนิสต์ Sverdlov Communist University แหล่งผลิตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดของโซเวียต

แม้แต่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) เองก็เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2017 ว่า

“I am not a woman, so I don’t have bad days.”

(ผมไม่เคยมีวันแย่ ๆ เพราะไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง)

ก่อนจะเสริมว่าเขาเข้าใจร่างกายผู้หญิงในภายหลัง “ผมไม่ได้มีเจตนาจะดูหมิ่นใครนะ มันเป็นเรื่องของวัฎจักรตามธรรมชาติ ที่ผู้หญิงไม่สามารถเลือกได้”

ถึงเขาจะบอกว่าเข้าใจ แต่กฎหมายหยุดงานเพราะปวดท้องประจำเดือนในรัสเซีย ยังคงถูกดองไว้ตั้งแต่ปี 1930 และไม่ได้ถูกนำขึ้นมาพิจารณาอีกเลย หลังจากยุคอันเรืองรองของสหภาพโซเวียต (The Russian Soviet Federated Socialist Republic - RSFSR) สิ้นสุดลง

ประเทศที่นำกฎหมายการลาปวดท้องประจำเดือนเข้ามาใช้อย่างจริงจังในปัจจุบัน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม อินเดีย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย สเปนเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ผ่านกฎหมายไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566

ซึ่งในช่วงปลายทศวรรษ 1920 สหภาพแรงงานญี่ปุ่นสนใจแนวคิดการให้ผู้หญิงหยุดงานในระหว่างมีประจำเดือนของรัสเซีย พวกเขาจึงนำกฎหมายสิทธิการลางานในกรณีดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา และบรรจุเป็นข้อกฎหมายในปี 1947

เบื้องหลังความเคลื่อนไหวในญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งมาจากทฤษฎีภาวะเจริญพันธุ์ของเพศหญิง โดยมีรัสเซียเป็นผู้กรุยทางให้เห็นถึงความสำคัญของสตรี พวกเขาออกมาย้ำเตือนเสมอว่า ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และการอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยที่ไม่เพียงพอ อาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการคลอดบุตร

อิซูมิ นากายามะ (Izumi Nakayama) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากการศึกษาความประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน พบว่า การนำนโยบายให้พนักงานสามารถหยุดงานเพราะปวดท้องประจำเดือนได้นั้น มีข้อแตกต่างกันไปทั่วประเทศญี่ปุ่น เพราะการตัดสินใจส่วนใหญ่อยู่ภายใต้หัวหน้าที่เป็นเพศชาย

จากการสำรวจในปี 2014 พบว่าน้อยกว่า 0.9% ของพนักงานหญิงที่ขอลางานเพราะปวดท้องประจำเดือน ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่สะดวกใจหยุดงาน เนื่องจากกลัวเป็นการเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน ที่ไม่สามารถใช้สิทธิเหมือนพวกเธอได้

“ในปี 2021 ผู้หญิงมีโอกาสน้อยมากที่จะลางานเพราะปวดท้องประจำเดือน โดยเฉพาะพนักงานหญิงที่ต้องทำงานอยู่ในตำแหน่งระดับสูงของบริษัท และส่วนใหญ่บริษัทจะไม่จ่ายค่าจ้างหากหยุดงานเพราะปวดท้องประจำเดือน พวกเธอจึงใช้วันลาทั่วไปแทน เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าจ้าง”

อีกประเทศที่เห็นความสำคัญของผู้หญิง และประกาศใช้กฎหมายตามมาติด ๆ คือ ‘อินโดนีเซีย’ ประเทศที่ข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างบรรลุร่วมกันในปี 1948 หนึ่งปีหลังจากญี่ปุ่นเริ่มประกาศใช้ และแก้ไขใหม่อีกครั้งในปี 2003 เพื่ออุดช่องโหว่ไม่ให้นายจ้างบังคับพนักงานหญิงที่ปวดท้องประจำเดือนมาทำงานในช่วงสองวันแรกของวันแดงเดือด

แต่สุดท้าย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งข้อกฎหมายที่นายจ้างเพิกเฉย พวกเขาไม่เห็นความสำคัญว่าทำไมพนักงานหญิงจะต้องหยุดทำงานในระหว่างมีประจำเดือน หลายองค์กรจึงให้ลางานเพียง 1 วัน พอเป็นพิธีเพื่อไม่ให้ถูกตราหน้าว่าไม่เห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมโลก

‘เกาหลีใต้’ เริ่มมีนโยบายตั้งแต่ปี 2001 โดยระบุว่าลูกจ้างผู้หญิงสามารถหยุดงานได้จากเหตุผลทางร่างกาย เดือนละ 1 วัน หากพนักงานหญิงไม่ใช้วันลา จะได้ค่าจ้างเพิ่มในเดือนนั้น กฎของบริษัทที่ออกมาเพื่อจูงใจให้พนักงานหญิงทำงานโดยไม่ใช้วันหยุด

หากถามว่าเกาหลีใต้จริงจังแค่ไหน ขอยกกรณีตัวอย่างการละเมิดกฎหมายของสายการบินแห่งหนึ่ง หลังจากนายจ้างไม่อนุญาตให้ลูกจ้างหญิงลางาน อดีตซีอีโอของสายการบินถูกศาลสั่งจำคุกและจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ

และจากการสำรวจในปี 2013 พบว่า มีเพียง 23.6% ของลูกจ้างหญิงที่ใช้วันลาจากอาการปวดท้องประจำเดือน เพราะการลางานในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเหตุผลให้บริษัทเลือกไม่จ่ายค่าจ้าง ทำให้ในปี 2020 มีผู้ใช้วันลาลดลงเหลือเพียง 19.7%

“บริษัทส่วนใหญ่ไม่บอกสิทธินี้ให้พนักงานหญิง ทำให้หลายคนไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ลูกจ้างหญิงไม่ลางาน แม้จะปวดท้องประจำเดือนหนักแค่ไหนก็ตาม” ยูมิโกะ มูราคามิ (Yumiko Murakami) หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้ข้อสังเกต และอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ วัฒนธรรมการทำงานของเกาหลีใต้

“ผู้หญิงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงกว่าทั้งในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น การเป็นพนักงานหญิงในสองประเทศนี้มีช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศที่สูงมาก ผู้หญิงไม่ใช่แค่ได้รับค่าแรงต่ำ แต่ยังถูกกดดันให้ลาออกหากตั้งครรภ์

“ฉันคิดว่าจริง ๆ แล้วกฎหมายนี้มีไว้เพื่อช่วยเหลือผู้หญิง แต่หากไม่ปฏิบัติตามให้ดี ก็อาจทำร้ายผู้หญิงได้เช่นกัน”

‘ไต้หวัน’ มีการกำหนดกฎหมายความเสมอภาคทางเพศในการจ้างงานและมาตราที่ 14 แรงงานหญิงสามารถหยุดงานได้เดือนละ 1 วัน โดยได้รับค่าจ้างครึ่งเดียว และหากลามากกว่า 3 วันต่อปี วันที่เหลือจะถูกนับเป็นวันลาป่วย

อีกหนึ่งประเทศที่มีการอนุญาตให้หยุดงานระหว่างมีประจำเดือนที่น่าสนใจคือ ‘เวียดนาม’ กฎหมายแรงงานระบุว่า ผู้หญิงสามารถหยุดพักได้นาน 30 นาทีของทุกวันที่มีประจำเดือน และแก้ไขอีกครั้งในปี 2020 โดยเพิ่มสิทธิวันลาระหว่างมีประจำเดือนเป็น 3 วัน มาพร้อมกับหมายเหตุอีกเล็กน้อย ระบุว่า หากลูกจ้างหญิงไม่ใช้วันลาจะได้ค่าจ้างมากขึ้น

ในแอฟริกาเองก็มีการตระหนักถึงเรื่องนี้เช่นกัน เห็นได้จาก ‘แซมเบีย’ ประกาศใช้กฎหมายในปี 2015 ให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิหยุดงานจากการมีประจำเดือน โดยเรียกวันดังกล่าวว่า ‘วันแม่’ (Mother’s Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่า นอกจากการทำงานนอกบ้านแล้ว พวกเธอยังมีอีกหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเป็นแม่ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะถูกดำเนินคดีและลงโทษ เพราะถือว่าเป็นการขัดขวางการเจริญพันธุ์ของสตรี

ส่วนทางยุโรปอย่าง ‘สเปน’ เพิ่งผ่านร่างกฎหมายที่ให้สิทธิผู้หญิงลางานระหว่างมีประจำเดือนได้ 3 วันต่อเดือน และสามารถหยุดได้ถึง 5 วัน หากความเจ็บปวดไม่ทุเลาลง ด้าน ไอรีน มอนเตโร (Irene Montero) รัฐมนตรีกระทรวงความเท่าเทียมของสเปน ได้ชี้แจงในรัฐสภาเพิ่มเติมถึงความสำคัญของกฎหมายนี้ว่า “หากปราศจากสิทธิดังกล่าว ผู้หญิงก็ไม่ใช่พลเมืองโดยสมบูรณ์”

เธอเชื่อว่าสเปนจะเป็นผู้นำสิทธิด้านสตรีในยุโรป เห็นได้จากการบังคับใช้กฎหมายยุติการทำแท้ง และสนับสนุนสิทธิคนข้ามเพศให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมชาย-หญิง

แม้ว่ากฎหมายหยุดงานตอนปวดท้องประจำเดือนจะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ มาเรียน มาร์ด (Marian Baird) ศาสตราจารย์ด้านเพศสภาพและความสัมพันธ์ในการจ้างงาน จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ชี้ให้เห็นว่า สังคมเรากำลังเปิดกว้างและการหยุดงานช่วงมีรอบเดือนจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

“เพราะการมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ เราสามารถสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศได้ด้วยกรอบกฎหมายดังกล่าว

“แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบางฝ่ายกังวลว่าการหยุดงานระหว่างมีรอบเดือนของผู้หญิง จะยิ่งตอกย้ำทัศนคติเหมารวมทางเพศไปในเชิงลบ (Gender Stereotype) นำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างหญิงมากขึ้น”

แม้จะเป็นหมุดหมายอันดีที่เราเริ่มเห็นหลายประเทศให้ความสำคัญต่อ ‘ความเจ็บปวดของผู้หญิง’ แต่เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย คงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าเราจะตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เห็นได้จากความพยายามของนักเคลื่อนไหวที่พร่ำบอกกับรัฐบาลว่า รัฐต้องมีงบประมาณสนับสนุนสุขภาวะสตรี โดยเฉพาะการปรับลดราคาผ้าอนามัย 

อย่าลืมว่าผู้หญิง ‘จำเป็น’ ต้องใช้ทุกเดือน แล้วผ้าอนามัยสมควรถูกจัดให้อยู่ในหมวดดังกล่าวจริงหรือ?

เชื่อว่านี่คือคำถามที่เถียงกันไม่จบไม่สิ้น พอ ๆ กับกรณีของการหยุดงานเพราะปวดท้องประจำเดือน เพราะสังคมเราไม่ได้มีแค่สองเพศ การมีข้อกฎหมายมาบังคับใช้เฉพาะ อาจถูกมองว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิตามที่ระบุไว้

 

เรื่อง: วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ: ชนิกา แซ่จาง

 

อ้างอิง