‘ไอซ์-สารวัตร’ จากเด็กมีปัญหาในการอ่าน ผู้ฝันอยากเป็นตำรวจ สู่ผู้ประกาศข่าวคู่กับพุทธ อภิวรรณ

‘ไอซ์-สารวัตร’ จากเด็กมีปัญหาในการอ่าน ผู้ฝันอยากเป็นตำรวจ สู่ผู้ประกาศข่าวคู่กับพุทธ อภิวรรณ

ไอซ์ - สารวัตร กิจพานิช นักข่าวภาคสนามมากความสามารถ ปัจจุบันผันตัวเป็นผู้ประกาศข่าวคู่กับ ‘พุทธ อภิวรรณ’ รุ่นพี่ที่เห็นความสามารถของเขาจนเอ่ยปากชวนชวนให้มาเป็นผู้ประกาศข่าวร่วมกัน ในรายการลุยชนข่าว ประจำช่อง 8

“หน้าที่ของสื่อมวลชนคือการนำเสนอความจริงให้กับคนดู ถ้าเราหลีกหนีความจริงเมื่อไหร่ นั่นไม่ใช่ข่าว”

ไอซ์ - สารวัตร กิจพานิช บอกกับเราอย่างหนักแน่นถึงหน้าที่ของสื่อมวลชนในอุดมคติ เขาคือคนข่าวที่รู้จักความยากลำบากของผู้ขุดคุ้ยข่าวเป็นอย่างดี สารวัตรเคยเป็นนักข่าวภาคสนาม ลงพื้นที่ไปนอนกับดินกินกับทรายร่วมชายคาเดียวกับชาวบ้านมานานนับสัปดาห์ บางครั้งข่าวที่เขานำเสนอช่วยเปิดโปงธุรกิจสีเทาจนส่งผลให้ธุรกิจเหล่านั้นต้องปิดตัวลงภายในเวลาไม่กี่วัน

หากมองจากภายนอก คงไม่คิดว่านักข่าวมาดเนี๊ยบอย่างเขาจะลุยงานหนัก ทุ่มทั้งจิตวิญญาณเพื่อนำความจริงออกมาสู่สังคมขนาดนี้ อาจเป็นเพราะหน้าตาและผิวพรรณที่เกลี้ยงเกลา ทำให้เรานึกภาพชายคนนี้ลงพื้นที่ท้าแดดอย่างหนักหน่วงไม่ออก แต่ความสามารถของเขาก็ออกผล จนไปเตะตา ‘พุทธ อภิวรรณ’ ผู้ประกาศข่าวรุ่นพี่ถึงกับออกปากชวนให้มาเป็นผู้ประกาศข่าวร่วมกัน ในรายการลุยชนข่าว ประจำช่อง 8

‘ไอซ์-สารวัตร’ จากเด็กมีปัญหาในการอ่าน ผู้ฝันอยากเป็นตำรวจ สู่ผู้ประกาศข่าวคู่กับพุทธ อภิวรรณ

เด็กชายสารวัตรผู้อยากเป็นตำรวจ

“ไอซ์ทำงานข่าวสายบันเทิงมาก่อน แล้วก็ได้เจอพี่พุทธตั้งแต่ช่วงทำงานปีแรก ๆ พี่เขาก็มาถามว่าเป็นยังไงบ้าง ทำงานมีปัญหาอะไรมั้ย ถามผมว่าอยากจะทำงานสายไหน เราก็เลยบอกว่าไม่ค่อยถนัดสายบันเทิงเท่าไหร่ หลังจากนั้นพี่เขาก็ให้โอกาสย้ายมาอยู่สายงานอาชญากรรม แล้วก็ทำสายอาชญากรรมมาเรื่อย ๆ”

สารวัตรเล่าถึงจุดเริ่มต้นในสายงานข่าว เขาเป็นคนหนุ่มที่วางเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าอยากทำอะไร และเดินตามความฝันมาโดยตลอด แม้ว่าสารวัตรในวัยเด็กจะมีความฝันอื่น นั่นคือการอยากเป็นตำรวจตามชื่อที่พ่อตั้งให้ เพราะก่อนที่เขาจะเกิดพ่อทะเลาะกับเพื่อนบ้านเรื่องขี้หมาแต้องเข้า-ออกโรงพักเป็นว่าเล่น เลยเป็นที่มาของชื่อสารวัตร

แถมยังเป็นเด็กที่อ่านหนังสือออกช้ากว่าเพื่อนร่วมชั้น การเป็นผู้ประกาศข่าวจึงดูหลุดลอยไปไกล แต่เมื่อพิจารณารอบด้านเขาก็เห็นแล้วว่า สิ่งที่จะทำให้เขาใช้ชีวิตอย่างเต็มและรู้สึกมีคุณค่าได้คงหนีไม่พ้นการทำงานสื่อ ผู้ทำหน้าที่เปิดโปงความจริงสู่สังคม

“ตอนเด็ก ๆ ไอซ์บอกครูว่าอยากเป็นตำรวจ เพราะเราชื่อสารวัตร แต่พอโตขึ้นก็เริ่มรู้แล้วว่าอาชีพมันไม่ใช่แค่ความถนัดอย่างเดียว มันต้องมีอย่างอื่นด้วย พอดีกับพ่อไอซ์เขาทำงานเป็นพ่อค้า แต่จบกฎหมาย เขาก็ขายของด้วยไปจัดรายการวิทยุด้วย เราก็เลยมีโอกาสไปห้องส่งกับพ่อ เลยเห็นว่ามันน่าสนใจดี

“แล้วพอเรียนมัธยมก็ได้ทำกิจกรรมเป็นประธานนักเรียนได้พูดกับคนเยอะขึ้น เลยรู้สึกว่างานนี้แหละถนัดที่สุดสำหรับเรา แต่รู้ตัวว่าอยากทำงานสายข่าวจริง ๆ ก็ช่วงมหาวิทยาลัยนะ เพราะต้องบอกก่อนว่ายุคสมัยนั้นโซเชียลมีเดียมันไม่ได้เข้าถึงง่ายเหมือนอย่างทุกวันนี้ เราไม่ได้มีต้นแบบหรือว่าไอดอล

“แต่เรามาตกตะกอนได้เองเพราะสิ่งที่เราทำแล้วมันถนัด มองตัวเองเรื่อย ๆ ก็เห็นว่าตัวเองชอบดูข่าวมาตั้งแต่เด็ก ๆ เลยรู้สึกว่าอาชีพในอนาคตน่าจะเป็นสิ่งนี้ มันเหมือนเอาทุกอย่างมาปะติดปะต่อกันแล้วออกมาเป็นทางเลือกที่เราเดิน”

สารวัตรเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง อาศัยอยู่ในคอนโดตั้งแต่จำความได้ เขาคือน้องชายคนสุดท้องที่เกิดมาในช่วงเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังผันผวนพอดิบพอดี แม้ว่าพ่อและแม่จะมีธุรกิจขายรองเท้าเป็นของตัวเอง แต่เขาจำได้ว่าตัวเองต้องช่วยที่บ้านประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แม้ไม่มีใครบอกว่าเขาต้องทำอะไร แต่เด็กชายสารวัตรก็เริ่มขอทุนการศึกษาจากโรงเรียน และกลายเป็นเด็กทุนมาตั้งแต่มัธยมจึงกระทั่งจบมหาวิทยาลัย

“ครอบครัวไอซ์ไม่ค่อยหวือหวา เวลาดีใจก็ไม่ได้ดีใจแบบพลุแตก เวลาเสียใจก็ไม่ได้ร้องห่มร้องไห้ขนาดนั้น ไอซ์โตมาในครอบครัวที่พ่อแม่คอยให้กำลังใจ คอยสนับสนุนมาโดยตลอด ไม่ได้เป็นครอบครัวที่คาดหวังว่าลูกต้องโตมาเหมือนพ่อหรือแม่ ขอให้ทำทุกอย่างด้วยความสุขก็พอ”

หลังจากพบว่าความสุขของตัวเองคือการพูดคุยกับคน สารวัตรจึงเข้าเรียนต่อที่สาขาวิชาวิทยุ-โทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระหว่างเรียนก็ฝึกงานที่ช่อง 3 แม้จะมีตารางกิจกรรมแน่นชนัด แต่เขาก็แบ่งเวลาได้ดีจนสามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาครอง

‘ไอซ์-สารวัตร’ จากเด็กมีปัญหาในการอ่าน ผู้ฝันอยากเป็นตำรวจ สู่ผู้ประกาศข่าวคู่กับพุทธ อภิวรรณ

คนข่าวผู้ยืนหยัดในความจริง

ปัจจุบัน สารวัตรย้ายมาอยู่ช่อง 8 โดยสมบูรณ์ เขาเป็นหนึ่งในทีมผู้ประกาศข่าวรายการลุยชนข่าว อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในทีมบริหารเดียวกับพุทธ อภิวรรณ อีกด้วย

“ไอซ์ไม่เคยเบื่อในสายงานสื่อมวลชนเลย เราเป็นนักข่าวก็จริงแต่งานที่เข้ามาในแต่ละวันมันไม่เคยซ้ำกันเลยแม้แต่วันเดียว

“มันมีความไม่แน่นอน เราสามารถลงพื้นที่โดยไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไร จะไปประเด็นไหน ไม่รู้เลยว่าแหล่งข่าวที่เราจะไปพบเขาเป็นยังไง เราจะได้อะไรมากน้อยขนาดไหน มันเป็นความท้าทายที่สนองความต้องการตัวเองล้วน ๆ”

สารวัตรหยุดคิด ก่อนจะตอบคำถามต่อว่า “เป็นเพราะเราอยากนำเสนอประเด็นนี้ให้สังคมรับรู้ เรามีโอกาสได้อยู่ตรงนั้นก็อยากจะให้ทุกคนได้รู้ความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น”

เมื่อถามถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนที่สำคัญที่สุด สารวัตรตอบกลับทันทีว่า สื่อมวลชนคือคนที่ต้องตีแผ่ความจริง หากไม่กล้าพูดความจริง คงไม่อาจเรียกว่าใครคนนั้นจะเป็นสื่อได้อย่างเต็มปาก

“สิ่งที่อาชีพสื่อควรจะยึดไว้คือ การเสนอข่าวที่ยืนอยู่บนหลักความจริง นั่นคือหลักที่สำคัญที่สุดสำหรับไอซ์ เพราะถ้าเราหลีหนีความจริงเมื่อไหร่ เราไม่ใช่ข่าวแล้ว

“ไม่ว่าเราจะเสนอข่าวในรูปแบบไหนก็ตาม ลึกขนาดไหน กว้างขนาดไหน จะครอบคลุมขนาดไหนก็ตาม มันต้องเป็นความจริง แม้ว่าความจริงนั้นจะเป็นสิ่งที่แหล่งข่าวโกหกมาอีกทอดหนึ่งก็ตาม เราไม่มีสิทธิตัดสิน คนดูต่างหากที่ต้องตัดสิน เรามีเพียงหน้าที่นำเสนอ

“ความจริงคือสิ่งสำคัญที่สุด”

‘ไอซ์-สารวัตร’ จากเด็กมีปัญหาในการอ่าน ผู้ฝันอยากเป็นตำรวจ สู่ผู้ประกาศข่าวคู่กับพุทธ อภิวรรณ ความเป็นมนุษย์คือสิ่งที่ทำให้ข่าวมีชีวิต

แม้ว่าความจริงจะเป็นหลักการที่สารวัตรยึดถือในการทำงานมาโดยตลอด แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรเพิกเฉยคือความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เพราะทุกคนล้วนมีเหตุการณ์หรือความไม่สะดวกใจในการตอบคำถามบางอย่าง

“การเอาใจเขามาใส่ใจเราในการทำงานคือสิ่งที่ไอซ์ให้ความสำคัญ หมายความว่า ถ้าสมมติเราไปเจอกับสถานการณ์ที่เขาเป็นอยู่ เขาจะรู้สึกอย่างไร มันจะทำให้เราทำข่าวออกมามีชีวิตขึ้น เช่น ถ้าเขาเสียใจอยู่แล้วเราพยายามจะไปเค้นสิ่งนั้นออกจากปากเขา ไอซ์ว่ามันโหดร้ายเกินไป ดังนั้นนอกจากความจริงแล้ว เอาชีวิตจริงใส่ไปกับเขาด้วย อย่าลืมว่าเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง”

เราพยักหน้าเห็นด้วยกับเขา เพราะทุกวันนี้ยอมรับว่าการแข่งขันของสื่อสูงขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งพวกเขาก็ลืมข้อนี้ มุ่งแต่จะนำเสนอข่าวให้ลึกที่สุดจนละเลยความรู้สึกของผู้ตกเป็นข่าว

คุณเคยเจอสถานการณ์ที่โดนเซนเซอร์จนไม่สามารถพูดความจริงได้ไหม - เราถาม

“ไอซ์ยังไม่เคยเจอสถานการณ์นั้น” เขาตอบ “แต่ในมุมของไอซ์ในฐานะสื่อมวลชน เรารู้สึกว่า จริง ๆ ข่าวไม่ควรจะถูกครอบงำจากสิ่งใดเลย แต่ความเซนเซอร์นั้น หมายความว่าอาจจะมีเรื่องละเอียดอ่อน การรักษากฎทางทีวีต่าง ๆ ที่มันไม่สามารถออกไกเ เช่น สิ่งหยาบคายหรือว่าสิ่งผิดกฎหมาย

“แต่การครอบงำว่า ประเด็นนี้ห้ามนำเสนอ ประเด็นนี้ห้ามพูด อย่าไปทำ อย่าไปยุ่งเรื่องธุรกิจสีเทา เพราะว่ามีกลุ่มผู้มีอิทธิพลหนุนหลังอยู่ สำหรับไอซ์มองว่ามันไม่ควรจะเกิดขึ้น สื่อมวลชนควรมีอิสระทางความคิด อิสระในการนำเสนอ

“แต่ก็ต้องย้อนกลับมามองว่าตัวสื่อมวลชนเอง ก็ต้องยึดหลักความเป็นจริง หมายความว่าไม่ใช้สื่อนั้นเป็นเครื่องมือในการโจมตีหรือว่าให้ร้ายใคร ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบเขาก็ตาม เพราะบางทีสื่อก็มีอำนาจกว่าปกติ เรามีสิทธิ์มากกว่าคนทั่วไป เวลาเราพูดมันสร้างผลกระทบในวงกว้างได้มากกว่า แต่ไอซ์ก็ยังยืนยันว่าสื่อไม่ควรถูกชี้นำ หรือครอบงำจากสิ่งใดเลย”

‘ไอซ์-สารวัตร’ จากเด็กมีปัญหาในการอ่าน ผู้ฝันอยากเป็นตำรวจ สู่ผู้ประกาศข่าวคู่กับพุทธ อภิวรรณ นักข่าวผู้ช่วยไขคดีเปรี้ยวหั่นศพ

“ไอซ์เคยไปทำสกู๊ปข่าวอันนึงเข้าไปที่โต๊ะบอล หลายครั้งไอซ์ก็โดนล้อม ถูกกันไม่ให้เข้าไป เขาก็พยายามคุยกับเราแต่ไม่ได้ใช้กำลังอะไรนะ เรารู้สึกว่านี่คงเป็นงานที่เสี่ยงระดับหนึ่งละ ถ้าเกิดเขาใช้กำลังกับเราขึ้นมา เราจะทำยังไง

“เพราะว่าตอนนั้นเราไม่ได้ยิงสัญญาญสด เราบันทึกเทปเอา ถ้ามันเกิดอะไรขึ้นคงไม่มีใครเอาเทปนี้ไปส่งแน่ ๆ แต่นั้นเป็นความเสี่ยงที่เราได้รับมา เราเลือกเอง แต่ว่าผลสุดท้ายมันออกมาว่า อย่างน้อย ๆ มันช่วยกะตุ้นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคสังคม ให้เขาเข้าไปดำเนินการ

“ส่วนงานที่เสี่ยงชีวิตที่สุดคือตอนลงพื้นที่ไปปีนผา เราไม่มีเครื่องเซฟ แต่เราก็ทำไปแล้ว มองกลับไปก็คิดนะว่าทำไปได้ยังไง แต่ ณ เวลานั้นเรารู้สึกว่ามันคงไม่เป็นอะไรหรอก มันทำได้ เราเองก็อยากรู้ด้วยว่าข้างในมีอะไร เราเลือกเอง

“สิ่งหนึ่งที่สื่อทำได้คือเราเป็นตัวกระตุ้นโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว ถ้าไม่มีสื่อมาช่วยตีแผ่ให้คนดู สมมติว่าเป็นเรื่องของธุรกิจมืด เขาอาจจะทำกันลับ ๆ โดยไม่สนใจว่าจะมีอีกกลุ่มหนึ่งกำลังขุดคุ้ยอยู่ พอเราไปขุด อย่างน้อย ๆ มันคือการลดอำนาจของกลุ่มนั้นลง

“สื่อจึงเป็นตัวกลางในการช่วยไขข้อข้องใจของคนในสังคม ให้ประโยชน์แก่พวกเขา และช่วยกระตุ้นความเชื่องช้าของระบบบางอย่างให้ก้าวไปเร็วขึ้น มันก็เลยเป็นงานที่เราอยากเต็มที่กับมัน”

นอกจากการเป็นนักข่าวแล้ว สารวัตรเล่าว่าเขาเคยช่วยไขคดีโดยความบังเอิญ - เปรี้ยว หั่นศพ คือหนึ่งในคดีนั้นที่เขาช่วยคลี่คลายปริศนาบางอย่างให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

“ตอนนั้นคดีเปรี้ยวหั่นศพเราได้รับข้อมูลแล้วลงพื้นที่ เพราะมีการร้องเรียนเข้ามาบอกว่า หนึ่งในผู้ก่อเหตุครั้งนั้นน่าจะมี 5 คน แล้วหนึ่งในนั้นเขาบอกว่าไม่ได้ร่วมก่อเหตุด้วย แต่ถูกออกหมายจับ ไอซ์ก็ไปหาหลักฐานมาจนกระทั่งนำไปสู่การปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีนี้

“เราไปเจอหลักฐานว่าเขาไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ทางกระทรวงยุติธรรมเขาก็ติดต่อมาขอหลักฐานจากกล้องวงจรปิดที่เรไปหามาเอง เอาไปตรวจสอบ แล้วคนนั้นเขาก็ได้รับการปล่อยตัวจริง ๆ นั่นคือสิ่งที่ไอซ์คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เราจำมาโดยตลอด”

‘ไอซ์-สารวัตร’ จากเด็กมีปัญหาในการอ่าน ผู้ฝันอยากเป็นตำรวจ สู่ผู้ประกาศข่าวคู่กับพุทธ อภิวรรณ จากภาคสนามสู่ลุยชนข่าว

“ไอซ์ว่าการลงพื้นที่เหมือนกับการเขียนบทละครออกมาเรื่องนึงอยู่เหมือนกันนะ

“เราสามารถเห็นเส้นเรื่อง ว่าชีวิตของพวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง อยู่ในสถานที่สถานการณ์แบบไหน เป็นบทละครชีวิตจริงที่เราเป็นคนเขียนแล้วนำมันออกมาให้คนรับรู้ แต่การเป็นผู้ประกาศข่าว มันต่างต่างกันตรงที่ เราไม่เห็นสถานที่จริง เราก็ต้องจำลองเล่นเป็นคนคนนั้นเอง เหมือนเราอ่านบทละครแล้วเราเป็นนักแสดง

“ความสนุกกับความท้าทายมันต่างกัน เราเป็นคนเขียน เราเลยเห็นภาพ เราเลยเขียนให้เขาอ่านได้ แต่ถ้าเป็นผู้ประกาศข่าว เราต้องมาอ่านสิ่งที่เขาเขียนพร้อมกับดูภาพที่เขาไปเก็บมา แล้วเอามาเล่า”

จากนักข่าวภาคสนามลุยทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว มาสู่ผู้ประกาศข่าวอ่านทุกอย่างผ่านกระดาษ คืออีกหนึ่งความท้าทายที่เขากำลังเผชิญ แล้วยิ่งต้องมานั่งอ่านข่าวคู่กับรุ่นพี่อย่าง พุทธ อภิวรรณ ยิ่งสร้างความกดดันให้เขาไม่น้อย

“การทำงานกับพี่พุทธเป็นอะไรที่ท้าทายแล้วก็ตื่นเต้นมาก เพราะว่าพี่พุทธพูดเก่ง เราก็ต้องปรับตัวเองให้ทัน ทั้งเรื่องของวิธีการคิด วิธีการนำเสนอ การเล่าข่าว การเข้าใจข่าว การจับประเด็นข่าว

“พี่พุทธเลยเป็นเหมือนคุณครูคนนึงที่คอยสอนตลอดเวลา ทุกการทำงานของเขาเหมือนกับกำลังสอนเราไปด้วย เรารู้สึกว่ามันก็ตื่นเต้นทุกวันที่มีการอ่านข่าวกับพี่พุทธ”

อย่างที่รู้กันดีว่าสไตล์การอ่านข่าวของพุทธค่อนข้างไหลไปเร็ว ทำให้ผู้ประกาศข่าวคู่กันอาจจะตามความไวไม่ทัน ซึ่งสารวัตรได้ตอบประเด็นนี้กลับมาพร้อมส่งเสียงหัวเราะด้วยความอารมณ์ดีว่า เขาคิดว่าทุกคนล้วนมีเอกลักษณ์หรือสไตล์เป็นของตัวเอง

พุทธ อภิวรรณ ก็เช่นกัน เขาเองก็มีวิธีการเล่าข่าวที่ต่างจากผู้ประกาศข่าวคนอื่น

“ผมเป็นคนคอยซัพพอร์ตเรื่องของข้อมูลต่าง ๆ แล้วก็คอยรับช่วง ถ้าเกิดว่าพี่พุทธโยนมา คือต้องบอกกก่อนว่าเราไม่มีการเตี๊ยมกันก่อนว่าวรรคนี้พี่เขาพูดนะ วรรคนี้ไอซ์พูดนะ เราด้นสดทุกอย่าง มันมีการใช้ไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเยอะมาก ๆ ส่วนเรื่องของการพูดเยอะพูดน้อย ไอซ์ว่ามันเป็นสไตล์ของใครของมันมากกว่า”

เขาได้ขยายความต่อว่า ลุยชนข่าว เป็นรายการข่าวที่พร้อมลุยทุกประเด็น เพราะสังคมควรจะได้รับรู้ความจริงทุกด้านไม่ว่าจะเป็นข่าวสายไหนก็ตามแต่

ดูเหมือนว่าเส้นทางชีวิตของสารวัตรยังคงทอดยาวต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งเขาเองก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะสิ้นสุดลงตรงไหน

“มันคือชีวิตและลมหายใจของเรา

“ถ้าไอซ์ไม่ได้มาทางนี้ ก็คงไม่มีไอซ์-สารวัตร ดังนั้นมันคือตัวตน มันคือชีวิตเราไปแล้ว ณ วันนี้นะ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยิ่งกว่าอาชีพเสียอีก เพราะสิ่งนี้ทำให้ครอบครัวและคนที่ติดตามเรามีความสุข มันคือทุกสิ่งทุกอย่างของเราแล้วตอนนี้”

‘ลุยชนข่าว’ ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในช่วงเวลา 19.00 น.-22.15 น. และ เสาร์-อาทิตย์ เวลา 20.10 น.-22.15 น.

‘ไอซ์-สารวัตร’ จากเด็กมีปัญหาในการอ่าน ผู้ฝันอยากเป็นตำรวจ สู่ผู้ประกาศข่าวคู่กับพุทธ อภิวรรณ

ภาพ: สถานีโทรทัศน์ช่อง 8