‘ซินเธีย หม่อง’ แพทย์หญิงแห่งแม่ตาวคลินิก ผู้อุทิศชีวิตดูแลความป่วยไข้ชายแดนไทย-พม่า

‘ซินเธีย หม่อง’ แพทย์หญิงแห่งแม่ตาวคลินิก ผู้อุทิศชีวิตดูแลความป่วยไข้ชายแดนไทย-พม่า

‘ดร.ซินเธีย หม่อง’ (Dr. Cynthia Maung) แพทย์หญิงไร้สัญชาติ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ (รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ) ประจำปี 2546 และผู้ก่อตั้ง ‘แม่ตาวคลินิก’ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สถานพยาบาลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยชายแดนไทย-เมียนมา

  • ‘ดร.ซินเธีย หม่อง’ (Dr. Cynthia Maung) ผู้ก่อตั้ง ‘แม่ตาวคลินิก’ เกิดในครอบครัวชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กระทั่งอายุ 28 ปี เธอตัดสินใจลี้ภัยสงครามกลางเมืองมายังประเทศไทยในปี พ.ศ. 2531 ตรงกับเหตุการณ์ 8888 ที่รัฐบาลทหารใช้กำลังสลายการการชุมนุมผู้สนับสนุนประชาธิปไตย จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก
  • ‘แม่ตาวคลินิก’ ให้บริการรักษา เยียวยา และดูแล ผู้ป่วยไข้ทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ทหาร คนพลัดถิ่น หรือคนไร้สัญชาติ โดยไม่สนว่าพวกเขาจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร 

  • ปัจจุบัน ซินเธีย พยายามยื่นขอสัญชาติไทยมาแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

‘ดร.ซินเธีย หม่อง’ (Dr. Cynthia Maung) คือแพทย์หญิงไร้สัญชาติ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ (รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ) ประจำปี 2546, รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2565 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ของเกาหลีใต้ และผู้ก่อตั้ง ‘แม่ตาวคลินิก’ ประจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สถานพยาบาลที่ก่อตั้งขึ้นปีใน พ.ศ. 2531 เพื่อบรรเทาพิษไข้ของผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง จากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศพม่า และผู้อยู่อาศัยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ให้พวกเขามีชีวิตสมกับเป็นมนุษย์คนหนึ่ง โดยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยอีกต่อไป

จากวันนั้นจนวันนี้ ซินเธีย ยังคงทำหน้าที่ดูแล เยียวยา และรักษา เพื่อนร่วมโลกอย่างไม่มีทีท่าเหน็ดเหนื่อย มีเพียงประกายไฟแห่งความหวัง... หวังที่จะเห็นความสงบสุขกลับคืนสู่มือประชาชนเมียนมาในเร็ววัน แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 30 ปี เปลี่ยนผ่านจากวัยสาว เข้าสู่วัย(เกือบ)เกษียณที่ไม่รู้ว่าเธอจะมีชีวิตเฝ้ามองโลกใบนี้ได้อีกนานแค่ไหน

เพราะครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 220 เดือนมิถุนายน 2546 เอาไว้ว่า

"ฉันอยู่ในประเทศไทยก็ได้ อยู่ที่ไหนฉันก็ทำงานในฐานะมนุษย์ ชีวิตของฉันสั้นลงทุกวัน ฉันจึงทำสิ่งที่ดีที่สุดด้วยรักเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเต็มกำลังที่ฉันมีอยู่"

นี่คือประโยคที่เธอพูดไว้ราวยี่สิบปีก่อน ผ่านมาถึงวันนี้หมอไร้สัญชาติรายนี้ ยังคงไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้จะพยายามยื่นขอสัญชาติมาแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน แต่เธอก็ยังคงทำหน้าที่ดูแลเพื่อนมนุษย์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา อย่างเต็มกำลังโดยไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วภารกิจครั้งนี้จะสิ้นสุดลงลงที่ตรงไหน

แพทย์หญิงพลัดถิ่น

ซินเธีย หม่อง เกิดวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ในครอบครัวชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ช่วงเวลาเดียวกับที่สถานการณ์ภายในประเทศกำลังคุกรุ่นเต็มไปด้วยความรุนแรง เพราะการบริหารประเทศของรัฐบาลเมียนมาที่เรียกได้ว่าเกือบเข้าขั้นล้มเหลว งบประมาณส่วนใหญ่ทุ่มให้กับกองทัพ ขณะที่งบด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกลับถูกตัดออกไป โยกย้ายให้เข้ากองทัพเสียเกือบหมด

ด้วยเหตุนี้เอง กองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ที่ประจำอยู่แต่ละเขตพื้นที่ต่างออกมาเรียกร้องและพร่ำบอกรัฐบาลว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ปกครองประเทศที่ดีควรทำ แต่กลายเป็นว่าพวกเขาตีความเจตนาของประชาชนว่าเป็นการลุกขึ้นมาก่อกบฎ นับแต่นั้นความรุนแรงภายในประเทศก็ปะทุขึ้น ลามเลียจนกลายเป็นไฟแห่งความขัดแย้งเกิดขึ้นทั่วประเทศ

ซินเธีย เข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ในปี พ.ศ. 2523 (สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2538) จากนั้นจึงไปฝึกงานต่อที่โรงพยาบาลมะละแหม่ง ที่นั่นทำให้เธอมองเห็นโลกแห่งความจริง โลกที่มนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน และอำนาจเงินตราคือเส้นแบ่งใช้ขีดกั้นไม่ให้คนจน มีสิทธิมากพอที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีเทียบเท่ากับคนที่มีฐานะ ผู้ป่วยบางคนต้องขายบ้าน ขายรถ และทรัพย์สินมีค่าของตัวเอง เพื่อได้รับการรักษาเยียวยา

“การได้เห็นความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุข ความลำบากของคนในชุมชน และการที่บริการทางการแพทย์ถูกควบคุมโดยรัฐส่วนกลาง ไม่มีการกระจายอำนาจมายังท้องถิ่น ทำให้ฉันสนใจด้านนี้ ฉันอยากพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขให้กับทุกคน” ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จากนิตยสาร A Day ‘ซินเธีย หม่อง’ หมอไร้สัญชาติแห่ง ‘แม่ตาวคลินิก’ ผู้รักษาคนตามชายแดนไทย-พม่ามากว่า 30 ปี เขียนโดย กันต์กนิษฐ์ มิตรภักดี

นี่คือภาพที่ทำให้เธอเริ่มอยากจะทำงานด้านสาธารณสุขอย่างจริงจัง จนเหตุการณ์ความขัดแย้งภายในเริ่มลุกลาม เกิดเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ รัฐบาลทหารใช้กำลังสลายการชุมนุมผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ 8888 (วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988) เธอจึงตัดสินใจลี้ภัยสงครามกลางเมือง เพื่อหาแหล่งพักพิงใหม่ขณะอายุเพียง 28 ปี

และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ซินเธีย เข้ามาตั้งถิ่นฐานและเริ่มจัดตั้งหน่วยการแพทย์ฉุกเฉินขึ้นที่นอกเมืองแม่สอด เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้มีใจฝักใฝ่ในประชาธิปไตย รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องจากโลกนี้ไปเพียงเพราะอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกัน

 

แม่ตาวคลินิก

“คนที่มาที่คลินิกแห่งนี้มาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เราพยายามที่จะปลูกฝังความคิด ในเรื่องการช่วยเหลือและเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อว่าสักวันหนึ่งเมื่อเราได้กลับไปใช้ชีวิตในประเทศพม่า เราจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข"

ใช่ว่า ซินเธีย จะมีกำลังเพียงพอที่จะก่อตั้งสถานพยาบาลอย่าง ‘แม่ตาวคลินิก’ ขึ้นได้ด้วยเพียงคนเดียว เธอมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 14 คน ที่หอบความหวังและความฝันว่าจะเห็นมนุษย์เลิกต่อสู้กันเอง แม่ตาวคลินิก จึงเป็นสถานที่ที่พร้อมรักษาทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าพวกเขาจะมีความคิดเห็นหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันเพียงใดก็ตาม

ซึ่งเธอให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร A Day ไว้ว่า เธอและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ร่วมกันเดินบุกป่าฝ่าดงมายังประเทศไทยนั้น อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของ KNU (The Karen National Union–สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) ซึ่งผู้นำของ KNU ได้ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ตรงข้ามกับแม่สอดพอดิบพอดี จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมซินเธียจึงก่อตั้งคลินิกแห่งนี้ขึ้นที่อำเภอแม่สอด

ประจวบกับช่วงเวลานั้น ซินเธีย เริ่มเห็นว่าผู้คนค่อย ๆ ลี้ภัยไปยังประเทศไทยมากขึ้น และสังเกตเห็นว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยไม่ได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นใจ พวกเขาต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีอาหาร เข้าไม่ถึงหมอ เมื่อเห็นดังนั้น KNU จึงช่วยถักทออุดมการณ์ของ ซินเธีย ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ส่งเธอและเพื่อนร่วมงาน ข้ามชายแดนมายืนอยู่ที่แผ่นดินไทย ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างเต็มภาคภูมิ

แม้ว่าในช่วงแรกจะไม่ได้เปิดคลินิกโดยทันที หน้าที่สำคัญของซินเธียคือเป็นตัวกลางในการประสานงานเพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ ส่งคนไปโรงพยาบาล แต่สุดท้ายความพยายามทั้งหมด ก็ทำให้เธอตระหนักได้ว่า ผู้ป่วยมีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน และโรงพยาบาลแม่สอดเอง ก็ไม่สามารถรับผู้ป่วยที่ล้นทะลักเข้าไปอยู่ในความดูแลได้อีกแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง ‘แม่ตาวคลินิก’ จึงถือกำเนิดขึ้น

ซึ่งงานในช่วงแรก แม่ตาวคลินิก จะมุ่งเป้าไปที่คนพลัดถิ่น จากนั้นจึงขยายมายังกลุ่มชาติพันธุ์ โดยพวกเขาคือผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP–Internally Displaced People) ที่ไม่ได้มีความสมัครใจหรือยินยอมที่จะละทิ้งบ้านเกิด แต่เพราะสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ พวกเขาจึงถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐาน และเปลี่ยนสถานะมาเป็นคนพลัดถิ่นในที่สุด

แต่ละปี แม่ตาวคลินิก รักษาผู้ป่วยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ในจำนวนนี้เป็นการทำคลอดราว 2,500 ราย ที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมที่สำคัญด้านสาธารณสุขให้กับอาสาสมัครและบุคลากรสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 มีชาวบ้านเกือบ 3,000 คนผ่านการฝึกอบรมจากสถานที่แห่งนี้ และกลายเป็นเจ้าหน้าที่อนามัยท้องถิ่น

 

การพังทลายของระบบสาธารณสุข ณ ชายแดนไทย-เมียนมา

“จริงๆ แล้วพูดได้เลยว่าระบบสาธารณสุขของพม่าพังลงแล้วโดยสิ้นเชิง...”

ซินเธีย ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าว ชายขอบ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2021 ก่อนจะขยายความต่อว่า ตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ระบบการขนส่งถูกตัดขาก บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือทางการแพทย์ได้ อีกทั้งยังโดนคุกคาม ข่มขู่ จนหมดกำลังใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพียงเพราะพวกเขาต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่หมอเท่านั้นที่หวาดกลัว ประชาชนชาวเมียนมาก็ไม่ต่างกัน พวกเขาไม่กล้าเข้าไปใช้บริการจากโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์

“ประชาชนต้องพลัดถิ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการโจมตีของทหารพม่า ความเป็นอยู่ยากลำบาก ไม่มีใครมีฐานข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วย ระบบข้อมูลสาธารณสุขของพม่าพังแล้ว ระบบสาธารณสุขก็พังลงเช่นกัน”

(จากบทสัมภาษณ์ พ.ญ.ซินเทีย หม่อง ผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก และแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวพม่า ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สำนักข่าวชายขอบ เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2021)

และอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ชาวเมียนมาไม่ใช้บริการจากโรงพยาบาลฝั่งประเทศของเขาเองนั้น มีปัจจัยหลัก ๆ คือ ค่ารักษาที่แพง เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่พร้อม ส่งผลให้ชาวเมียนมาส่วนใหญ่เลือกเดินทางมารักษาที่แม่ตาวคลินิกแทน

แต่ใช่ว่า ซินเธีย จะไม่เคยคิดจะเดินทางกลับบ้านเกิดของเธอเอง เธอ ‘เคยคิด’ แต่หลังจากเปิดคลินิกรักษาผู้ป่วยมาได้ระยะหนึ่ง เธอก็เห็นแล้วว่าการทำงานอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศตรงนี้ สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากกว่าเป็นไหน ๆ

“ครั้งหนึ่งรัฐบาลทหารพม่าเคยส่งคนมาติดต่อ ให้เรากลับไปตั้งคลินิกในฝั่งโน้นเหมือนกัน แต่เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศพม่า ยังไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้เราไม่สามารถให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง การเปิดคลินิกภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่า มีข้อจำกัดมากมาย เราไม่สามารถเดินทางไปช่วยเหลือผู้คนนอกคลินิกได้โดยอิสระ

“ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ ฉันไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉันจึงเลือกที่จะอยู่ที่นี่ พวกเราต้องการอยู่ที่นี่ เพราะจำเป็นต้องให้การศึกษาแก่ผู้คนที่อยู่ในป่ามากขึ้นกว่านี้ หากปราศจากรัฐบาลและระบบการปกครองที่ดี เพียงแค่การเปิดคลินิกเฉย ๆ คงไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ดีขึ้นมาได้” (จากบทความ ๑๔ ปี คลินิกคนไข้แห่งสงคราม ของแพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยง ซินเทีย มาว นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 220 เดือนมิถุนายน 2546)

จากความพยายามตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีของ ซินเธีย หม่อง เธอได้รับการยอมรับไปทั่วสากลโลก รางวัลด้านสิทธิมนุษยชนมากมายหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย หนึ่งในรางวัลยิ่งใหญ่ที่สุดคงไม่พ้น ‘รางวัลแมกไซไซ’ ประจำปี 2546 ซึ่งเทียบเท่ากับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ และล่าสุดเธอก็ถูกเสนอชื่อและกลายเป็นเจ้าของรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2565 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ของเกาหลีใต้

แต่จุดมุ่งหมายจริง ๆ ของ หมอไร้สัญชาติ ที่เกินครึ่งชีวิตได้อุทิศให้กับผู้ป่วยไข้ตามชายแดนไทย-เมียนมา คือ การยื่นขอสัญชาติไทย แต่ความพยายามทั้งหมดของเธอก็ล้มเหลวถึง 3 ครั้ง 3 ครา แต่ไม่ว่าอย่างไร เธอก็ยังคงไม่ล้มเลิกความพยายามในการดูแลเพื่อนร่วมโลก และปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาไปพร้อมกัน

 

ภาพ: แม่ตาวคลินิก /Facebook

 

อ้างอิง:

https://maetaoclinic.org/th/

https://transbordernews.in.th/home/?p=29719

https://www.sarakadee.com/feature/2003/06/cynthia.htm

https://adaymagazine.com/cynthia-muang-mae-tao-clinic/

https://prachatai.com/journal/2022/05/98435

https://www.thaipbs.or.th/news/content/322798

https://www.thaipost.net/district-news/324659/

https://www.matichon.co.th/region/news_385579