14 พ.ค. 2568 | 20:36 น.
KEY
POINTS
ฉากสุดท้ายในชีวิตการแต่งกายด้วยเพศกำเนิดของ ‘ปารมี ไวจงเจริญ’ หรือ ‘ครูจวง’ คือวันรับปริญญาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2538 หลังจากนั้น เธอไม่เคยย้อนกลับไปสวมบทบาทนั้นอีกเลย ไม่ว่าจะเพื่อโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ หรือแม้แต่เพื่อตำแหน่งราชการที่เธอใฝ่ฝัน เพราะสำหรับเธอ การได้เป็นตัวเองคือเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า
“วันสุดท้ายที่ดิฉันแต่งตัวเป็นผู้ชายก็คือวันรับปริญญาของจุฬาฯ” ปารมีเล่า ก่อนจะเสริมด้วยน้ำเสียงหนักแน่น “ดิฉันจะรับตัวเองไม่ได้ ถ้าดิฉันต้องแต่งบอย” คำพูดประโยคนี้บอกเล่าถึงจุดยืนที่แน่วแน่มาตลอด 30 กว่าปีของอดีตครูนอกระบบ ผู้ที่ในวันนี้ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในไม่กี่ตัวแทนของคนข้ามเพศในสภาผู้แทนราษฎรไทย
เธอเกิดและเติบโตในชุมชนแออัดหลังวัดสร้อยทอง ในครอบครัวเชื้อสายจีนที่มีค่านิยมเข้มงวด เธอเล่าย้อนถึงวัยเด็กด้วยรอยยิ้มที่แฝงด้วยเศร้า “ดิฉันว่าเกี่ยวกับ generation มาก เพราะในยุคดิฉันเนี่ย LGBT ไม่เป็นที่ยอมรับแน่นอน” การถูกตี ถูกด่า และถูกบังคับให้เข้มแข็งแบบผู้ชายเป็นเรื่องปกติ แต่เธอเลือกที่จะ fight ด้วยการเรียนให้เก่ง และพิสูจน์ตัวเองในทุกด้าน
เส้นทางจากเด็กหญิงข้ามเพศในชุมชนแออัดสู่ห้องเรียนจุฬาฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย ปารมีเป็นคนแรกในตระกูลที่สอบเข้าจุฬาฯ ได้ และเป็นหนึ่งในไม่กี่คนจากชุมชนที่ได้เรียนถึงระดับอุดมศึกษา “ในระแวกนั้นแทบไม่มีใครเรียนต่อจนถึงมหาวิทยาลัย” เธอเล่าด้วยความภาคภูมิใจผสมความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำที่เห็นมาตลอดชีวิต
ความฝันแรกของปารมีคือการเป็นอาจารย์สอนสังคมศึกษา “ดิฉันชอบวิชาสังคมมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว” เธอเล่า “สังคมศึกษาเนี่ย คนที่จะมาเป็นครูสอนได้มันมีมุมมองที่หลากหลายนะ... คนที่เป็นครูสอนสังคมจึงปังค่ะ ต้องปัง ต้องทั้งสวย ทั้งปัง!”
แต่ความฝันในการก้าวเข้าสู่วิชาชีพครูในระบบกลับถูกขัดขวางด้วยอุปสรรคที่ไม่เกี่ยวกับความสามารถ แต่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ “การสอบบรรจุครูต้องแต่งตัวเป็นผู้ชายไปสอบ นี่คือความยากลำบาก” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงที่ผสมระหว่างความขมขื่นกับความภูมิใจในจุดยืน “ดิฉันอาจจะเป็นคนมุ่งมั่นหรือดื้อต่อระบบ หรือมีวิญญาณกบฏ ดิฉันเป็นหญิงข้ามเพศ ดิฉันจะไม่แต่งตัวเป็นผู้ชาย ดิฉันจะไม่แต่งตัวเป็นผู้ชายอีก”
ปารมีจึงเลือกเส้นทางเป็นครูนอกระบบแทน ทั้งในฐานะอาจารย์พิเศษและติวเตอร์ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาจากนอกกำแพงระบบราชการ “แม้จะอยากเป็นครูในระบบมาก ๆ แต่ถ้าจะให้ดิฉันต้องใส่สูท ผูกเนคไทไปสมัครสอบครูแค่วินาทีเดียว ดิฉันก็รับตัวเองไม่ได้” เธอเลือกความซื่อสัตย์ต่อตัวเองมากกว่าเส้นทางอาชีพที่สะดวกและมั่นคงกว่า
น่าแปลกที่แม้จะผ่านไป 30 กว่าปี แต่อุปสรรคเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในวงการศึกษาไทย “ทุกวันนี้หญิงข้ามเพศที่จะไปสอบรับราชการครูหรือรับราชการกระทรวงอื่น ๆ ก็ตามนะ ดิฉันว่าข้าราชการพลเรือนเนี่ย ในวันไปสอบก็แต่งหญิงไปสอบไม่ได้” เธอยังเล่าถึงเพื่อนร่วมอาชีพที่เป็นคนข้ามเพศ ซึ่งต้อง “ดูทางหนีทีไล่” และต้องแต่งกายตามเพศกำเนิดในหลายขั้นตอนของการบรรจุและทำงาน
เรื่องราวเหล่านี้ผลักดันให้ปารมีเข้าสู่เส้นทางการเมือง “จริง ๆ แล้วดิฉันสนใจการเมืองอยู่แล้วนะ” เธอเล่า “ด้วยความที่เป็นครูสอนสังคม มันต้องติดตามการเมืองมาตลอด” แต่การเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้เธอมีพื้นที่ในการผลักดันความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นการศึกษาที่เธอคลุกคลีมาทั้งชีวิต
“ปัญหาการศึกษาไทยมีเยอะมาก แล้วมันหมักหมมเป็นทั้งฝุ่นบนพรมและใต้พรม” เธอกล่าว
หนึ่งในประเด็นที่เธอวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนคือนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่เธอเรียกว่า ‘เรียนฟรีทิพย์’ เพราะในความเป็นจริง ผู้ปกครองยังต้องจ่ายค่าใช้จ่ายมากมาย “ทุกวันนี้โรงเรียนทุกโรงเรียนเลยเก็บเงินเพิ่มจากนักเรียน แล้วก็จะเลี่ยงไปใช้คำอื่น ค่าบำรุงห้องสมุด ค่าบำรุงห้องปฏิบัติการนู่นนี่นั่น” แม้จะมีหนังสือเวียนจากกระทรวงศึกษาห้ามเก็บเงินเพิ่ม “แต่ดิฉันบอกให้เลย โรงเรียนเขาก็เก็บจนได้ แล้วเขามีวิธีจะไปกดดันนักเรียน กดดันผู้ปกครอง”
แต่การเป็นฝ่ายค้านก็มีข้อจำกัด ทำให้หลายนโยบายที่เธอและพรรคผลักดันยังไม่สามารถเป็นจริงได้ “ดิฉันอาจจะมีความรู้สึกเสียใจนิดเดียวก็ตรงที่ว่าเป็นฝ่ายค้าน พอเป็นฝ่ายค้าน นโยบายต่าง ๆ ที่เราหาเสียงไว้เนี่ย มันทำเป็นจริงไม่ได้” อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่า “แต่ก็ยังคงทำอยู่ แล้วก็ผลักดันประเด็นต่าง ๆ นโยบายต่าง ๆ ที่เคยหาเสียงไว้ ยังมีความหวัง มีความฝันที่จะผลักดันต่อ”
ในฐานะสมาชิกของชุมชน LGBT ปารมีให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และเคยแสดงการสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเต็มที่ “แน่นอน ดิฉันสนับสนุนเต็มที่ เพราะว่ามันเป็นสิทธิพื้นฐาน” เธอกล่าวในช่วงเวลาที่กฎหมายยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา พร้อมเสริมว่า “จริง ๆ มันช้าไปด้วยซ้ำ”
นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว ปารมียังมองเห็นปัญหาที่ลึกลงไปอีกในเรื่องโอกาสทางอาชีพของคนข้ามเพศ “ประเด็นนึงที่ดิฉันจะต้องขอส่งเสียงเรียกร้อง... คือเรื่องเกี่ยวกับ career path หรือความเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของ LGBT” เธอมองว่ากลุ่มคนข้ามเพศมีโอกาสน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นแม้กระทั่งใน LGBT ด้วยกันเอง “LGBT ที่อยู่ในเพศกำเนิดตัวเอง หรืออย่างเกย์ที่อยู่ในเพศสภาพผู้ชาย เขาจะมีปัญหาตรงนี้น้อยกว่าคนข้ามเพศ”
เธอท้าทายให้สังคมลองมองรอบตัว “คุณไปดูองค์กรใหญ่ ๆ เถอะ ธนาคารใหญ่ ๆ บริษัทใหญ่ ๆ หลายบริษัทเลย บริษัทข้ามชาติก็เถอะ แทบไม่มีคนข้ามเพศเลย” และเสริมว่า “ถ้าเอากรณีหญิงข้ามเพศนะ... ก็จะมีไม่กี่อาชีพ เช่น เป็นนางโชว์ทิฟฟานี่ เป็นช่างแต่งหน้า ช่างทำผม” ซึ่งสะท้อนการกีดกันทางอาชีพที่ยังมีในสังคมไทย
แม้กระทั่งในพื้นที่การเมือง สัดส่วนของคนข้ามเพศก็ยังน้อยมาก “สส. ที่เป็น transgender เนี่ยมีพรรคเดียวด้วย” และเมื่อเทียบกับจำนวน สส. ทั้งหมด 500 คน ตัวเลข 3 คนก็ถือว่า “น้อยมาก” เธอจึงเรียกร้องให้ทุกพรรคพิจารณาประเด็น gender quota มากขึ้น
ที่น่าสนใจคือพัฒนาการของมุมมองที่ปารมีมีต่อการเป็นคน LGBT เธอเล่าว่าในช่วงแรกของชีวิต เธอเชื่อว่า “การเป็น LGBT เนี่ย มันจะต้องพิสูจน์ตัวเอง ว่าเราต้องเรียนเก่ง ต้องมีชีวิตเป็นมาตรฐาน ต้องสวย ต้องผอม” แต่ปัจจุบัน เธอตระหนักว่า “จริง ๆ ไม่จำเป็นเลย LGBT ไม่จำเป็นต้องสวย ไม่จำเป็นต้องผอม คือคุณเป็นคุณเอง รูปร่างหน้าตาของคุณ คุณจะอ้วนก็ได้ คุณจะสูงต่ำดำขาว แล้วคุณจะเรียนจบสูง จบไม่สูง เรียนมหาลัยหรือจะไม่เรียนก็ได้ ขอให้คุณเป็นมนุษย์คนนึงก็พอแล้ว”
แม้การเมืองจะเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยเฉพาะในฐานะฝ่ายค้าน แต่ปารมียังคงมีความหวังและกำลังใจในการทำงาน “ดิฉันยังมีกำลังใจ ยังไงก็ต้องขับเคลื่อนต่อแน่นอน” เธอยังอธิบายความเข้มแข็งนี้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เธอเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา
ปารมีมองการพัฒนาประชาธิปไตยในไทยด้วยมุมมองทางประวัติศาสตร์ “ดิฉันเป็นคนเข้าใจว่าสังคมมันต้องค่อย ๆ เคลื่อน มันคงจะไม่สามารถปุบปับ” เธอเชื่อว่าไม่สามารถ “เปลี่ยนทั้งสังคมไทยไปสังคมสมัยใหม่และสังคมเสรีนิยมได้ทันที” และการพยายามบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันก็ “ผิดหลักการประชาธิปไตย”
เธอยอมรับสิทธิของทุกฝ่ายในการแสดงความคิดเห็น “แนวคิดจารีตนิยมหรืออนุรักษ์นิยมที่มีในสังคมไทย ดิฉันก็เห็นว่าเขาต้องมีอยู่ แล้วเขามีสิทธิที่จะส่งเสียง ส่งเสียงพูดขึ้นมาในสังคม ส่งเสียงขึ้นมาปะทะ” โดยเชื่อว่าการปะทะทางความคิดเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย “มันปะทะได้นะ มันไม่ใช่สงคราม มันเป็นการปะทะ แล้วก็แลกเปลี่ยน เคารพซึ่งกันและกัน”
ด้วยความเป็นครูสังคมศึกษาที่ชอบวิชาประวัติศาสตร์ เธอเล่าถึงพัฒนาการของประชาธิปไตยในต่างประเทศ “ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตย อย่างในทางต้นแบบคือโลกตะวันตก... กว่าเขาจะมาสู่จุดที่ประชาธิปไตยเต็มใบในปัจจุบันนี้ มันล้มลุกคลุกคลาน แล้วมันต้องใช้เวลา” เธอยกตัวอย่างการที่ผู้หญิงในอังกฤษได้สิทธิเลือกตั้งเพียงประมาณ 100 ปีที่แล้ว ทั้งที่ประเทศนี้เป็นแม่แบบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ทำให้เธอมองภาพการต่อสู้ในสังคมไทยอย่างเป็นระบบ “ถ้าเราไล่มาดูประวัติศาสตร์การเมือง... มันยื้อกันไป ยื้อกันมา ฝ่ายอำนาจเก่า หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ได้แค่บางช่วง ไม่ใช่ตลอด หรือฝ่ายประชาธิปไตยจะได้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบตลอดก็ไม่ได้” การมองเห็นภาพใหญ่นี้ทำให้เธอมีกำลังใจในการทำงาน แม้จะเจอความท้าทายมากมาย
นอกจากนี้ เธอยังมองว่าสังคมไทยยังต้องพัฒนาอีกมากในแง่ของการยอมรับความหลากหลาย “สังคมไทยใจดีกับกลุ่ม LGBT บางส่วน ซึ่งดิฉันขอบคุณ แต่ก็อยากให้สังคมไทยเปิดกว้างทางความคิด พิจารณาในหลาย ๆ มุม” โดยเฉพาะในเรื่องโอกาสทางอาชีพสำหรับคนข้ามเพศที่ “มีปัญหาเรื่องการทำงาน มีโอกาสที่เข้าไปทำงานและเจริญเติบโตในหน้าที่การงานน้อย”
ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ เธอทิ้งข้อความสำหรับคน LGBT รุ่นใหม่ไว้อย่างชัดเจน “เป็นตัวของตัวเอง ใช้ชีวิตให้มีความสุข ไม่ต้องพิสูจน์ตัวเอง เราก็คือคนคนนึง”