It’s a Wonderful Life: หนังคริสต์มาสที่ให้ความตายบอกความหมายของชีวิต มิตรภาพ และครอบครัว

It’s a Wonderful Life: หนังคริสต์มาสที่ให้ความตายบอกความหมายของชีวิต มิตรภาพ และครอบครัว
/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง It’s a Wonderful Life (1946) / กลับมาอีกครั้งกับเทศกาลคริสต์มาสช่วงปลายปีที่มาพร้อมความหนาวและหิมะสีขาว (ในบางประเทศ) สำหรับช่วงเวลาอันอบอุ่นที่ครอบครัวได้กลับมารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้า ภาพยนตร์ประจำเทศกาลหลายเรื่องได้ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นดูใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ‘How the Grinch Stole Christmas’ (2000) ‘Love Actually’ (2003) ‘The Polar Express’ (2004) หรือนานกว่านั้นหน่อยก็ ‘The Santa Clause’ (1994) หรือ ‘Home Alone’ (1990) แต่สำหรับภาพยนตร์คลาสสิกยุค 40s คงหนีไม่พ้นภาพยนตร์ขาว-ดำ แนวแฟนตาซี-อบอุ่นหัวใจตลอดกาลอย่าง ‘It’s a Wonderful Life’ (1946) กำกับโดย ‘แฟรงก์ คาปรา’ (Frank Capra) นำแสดงโดย ‘เจมส์ สจวร์ต’ (James Stewart) ในบท ‘จอร์จ เบลีย์’ (George Bailey) นักธุรกิจหนุ่มแห่งเมืองเบดฟอร์ด ฟอลส์ (Bedford Falls) ที่ช่วยเหลือผู้คนมาตลอดชีวิตของเขา แต่สุดท้ายกลับต้องเผชิญปัญหาเรื่องเงินจนตัดสินใจไปที่สะพานเพื่อจบชีวิตตัวเอง ภาพยนตร์เรื่อง It’s a Wonderful Life เริ่มต้นด้วยเสียงสวดภาวนาของมิตรสหายและคนรู้จักของจอร์จ เสียงเหล่านั้นดังไปถึงสวรรค์เพื่อขอให้พระเจ้าหยุดการกระทำของเขา เทวดาโจเซฟได้ส่งเทวดาชั้น 2 ที่ยังไม่ได้รับการประดับยศด้วย ‘ปีก’ อย่าง ‘แคลเรนซ์ ออดบอดี้’ (Clarence Odbody) ลงมาเพื่อทำให้จอร์จเปลี่ยนใจ โดยรางวัลจะเป็นปีกและการเลื่อนขั้นตามที่แคลเรนซ์ต้องการ ครึ่งเรื่องแรกของภาพยนตร์เป็นการเล่าชีวิตของจอร์จผ่านมุมมองของเหล่าเทวดาบนสรวงสวรรค์ที่เฝ้ามองเขามาตั้งแต่เกิด แต่ความยาวของการแฟลชแบ็คนั้นก็ไม่ได้น่าเบื่อเสียทีเดียว เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ชมเห็นถึงปัญหามากมายในสังคมอเมริกัน เรายังได้รู้เหตุผลด้วยว่า เหตุใดชายคนนี้จึงเป็นที่รักของคนทั้งเมือง It’s a Wonderful Life: หนังคริสต์มาสที่ให้ความตายบอกความหมายของชีวิต มิตรภาพ และครอบครัว เบื้องหลังหนังมหัศจรรย์ที่ไม่ได้มหัศจรรย์ตั้งแต่ต้น ภาพยนตร์เรื่อง It’s a Wonderful Life ออกฉายในปี 1946 ถือเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ล้มเหลวด้านรายได้หลังใช้ทุนสร้างไปถึง 3.7 ล้านดอลลาร์ แต่กลับมีรายได้เพียง 3.3 ล้านดอลลาร์ กระทั่งเวลาผ่านไปหลายสิบปี ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็กลับมาโด่งดังและกลายเป็นภาพยนตร์ขึ้นหิ้งไปโดยปริยาย เรื่องทั้งหมดเกิดจากการที่กฎหมายลิขสิทธิ์ปี 1909 กำหนดให้งานสร้างสรรค์ได้รับการคุ้มครองเป็นเวลา 28 ปี หลังจากนั้นผู้ถือลิขสิทธิ์จะต้องดำเนินการต่ออายุ แต่ It’s a Wonderful Life ไม่ได้ดำเนินการภายในปี 1974 ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ตกเป็น ‘สาธารณสมบัติ’ และสถานีโทรทัศน์สามารถนำออกมาฉายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งส่วนมากจะเป็นช่วงวันคริสต์มาส ทำให้ผู้คนได้รับรู้ถึงคุณค่าของภาพยนตร์เรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง คำยกย่องมากมาย รวมไปถึงเครื่องการันตีความคลาสสิก และเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตถูกส่งต่อผ่านการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในหลายสาขาทั้ง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม ลำดับเสียงยอดเยี่ยม และลำดับภาพยอดเยี่ยม (แต่ไม่ชนะทั้ง 5 รางวัล) ส่วนรางวัลที่ได้จริง ๆ คือ Golden Globes สำหรับผู้กำกับ แฟรงก์ คาปรา รวมไปถึงได้รับคำยกย่องให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์อเมริกันที่ดีที่สุดตลอดกาลจาก ‘AFI’s 100 Years...100 Movies’  ก่อนจะกลายมาเป็นหนังที่สะท้อนชีวิตอันแสนวิเศษของจอร์จ เบลีย์ It’s a Wonderful Life อ้างอิงมาจากเรื่องสั้นของ ‘ฟิลิป แวน โดเรน สเติร์น’ (Philip Van Doren Stern) ในปี 1939 ชื่อว่า ‘The Greatest Gift’ ฟิลิปพยายามขายเรื่องสั้นของเขาให้กับสำนักพิมพ์ แต่กลับถูกปฏิเสธมาตลอดหลายปี สุดท้ายเขาจึงตัดสินใจตีพิมพ์เรื่องนี้ลงในการ์ดคริสต์มาสที่มีจำนวน 21 หน้า และส่งไปตามบ้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือตู้ไปรษณีย์ของ ‘เดวิด เฮมป์สเตด’ (David Hempstead) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ จนมีการวางให้นักแสดงดังอย่าง ‘แครี แกรนต์’ (Cary Grant) มารับบทจอร์จ เบลีย์ แต่หลังจากนั้นโปรเจกต์ภาพยนตร์ The Greatest Gift กลับเริ่มหยุดนิ่ง จนกระทั่ง แฟรงก์ คาปรา เข้ามารับช่วงต่อและเลือกให้ เจมส์ สจวร์ต ที่ไปรับใช้ชาติในแนวหน้าของสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 20 เดือนมารับบทนำนี้แทน ในที่สุด ‘ชีวิตที่งดงาม’ ของจอร์จก็ได้ฤกษ์ออกฉาย ประเด็นสำคัญของเรื่องตกไปอยู่ที่เทวดาแคลเรนซ์ที่ต้องทำให้จอร์จมองเห็นคุณค่าของชีวิตและล้มเลิกความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เราจะเห็นแคลเรนซ์ (ที่คิดว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นมนุษย์มาก่อน) ทำหน้าเศร้าอยู่เสมอเมื่อจอร์จบอกว่า ‘หากเขาไม่เกิดมาคงจะดีกว่านี้’ การปฏิเสธพรอันวิเศษของพระเจ้าอย่าง ‘การมีชีวิต’ คือสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ สังเกตจากสิ่งที่ชายผู้ช่วยจอร์จและแคลเรนซ์ขึ้นจากน้ำที่ได้บอกเอาไว้ว่า ‘มันผิดกฎหมาย ถ้าจะฆ่าตัวตาย’ ซึ่งตรงกับกฎของสวรรค์ที่แคลเรนซ์จากมาเช่นกัน หลังจากที่จอร์จบอกว่า “ผมตายยังมีค่ามากกว่ามีชีวิตอยู่” แคลเรนซ์จึงบันดาลให้เขาเห็นว่า ‘หากเขาไม่ได้เกิดมาจะเป็นอย่างไร’ It’s a Wonderful Life: หนังคริสต์มาสที่ให้ความตายบอกความหมายของชีวิต มิตรภาพ และครอบครัว จากคำสั่งสอนของคนที่เคยมีชีวิต_สู่แรงใจในการใช้ชีวิต จอร์จ เบลีย์ เป็นเด็กที่หูข้างหนึ่งหนวกไปตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเขาลงน้ำไปช่วยชีวิตน้องชายอย่าง ‘แฮร์รี่ เบลีย์’ ท่ามกลางหิมะอันหนาวเหน็บ ซึ่งเมื่อแฮร์รี่โตขึ้น เขาก็ได้เข้าร่วมรบในสงครามและช่วยเหลือชาวอเมริกันไว้อีกหลายร้อยชีวิต สมัยเด็ก จอร์จได้ทำงานอยู่ในร้านขายยาของ ‘กาวเวอร์’ ซึ่งเพิ่งสูญเสียลูกชายไปจนทำให้เขาใส่ยาลงในแคปซูลผิด โดยใส่เป็นยาพิษแทน กาวเวอร์เกือบจะต้องติดคุกเพราะสั่งให้จอร์จนำยาพิษไปส่งให้เด็กกิน แต่สุดท้ายอนาคตของกาวเวอร์ก็กลับมาสดใส เพราะจอร์จหยุดทุกความผิดพลาดได้ทัน ตั้งแต่เด็กจนโต จอร์จมีความฝันอยากจะออกจากเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ เพื่อไปผจญภัยในโลกกว้าง แต่เมื่อน้องชายของเขาไม่ยอมรับตำแหน่งต่อในบริษัทของพ่อ จอร์จจึงต้องยอมแลกความฝันของตัวเองเพื่อกลับมาประคับประคองคนในบริษัท รวมไปถึงปกป้องชีวิตชาวเมืองที่จะได้รับผลกระทบจากการเข้ายึดบริษัทโดยนายทุนหน้าเลือดอย่าง ‘พอตเตอร์’ เรียกได้ว่าจอร์จคือไม้เบื่อไม้เมา และก้างขวางคอชิ้นใหญ่ที่สุดของพอตเตอร์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นคนเดียวที่แข็งแกร่งพอจะยืนหยัดไม่ให้นายทุนยึดทุกธุรกิจในเมืองไปครอง ปัญหาที่ทำให้จอร์จตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองเกิดมาจากการที่ลุงของเขาทำเงินจำนวน 8,000 ดอลลาร์ของบริษัทหาย ซึ่งจะทำให้บริษัทต้องปิดตัวลง และจอร์จต้องเข้าไปนอนในคุก นอกจากชีวิตของจอร์จที่เราต้องตามดูตั้งแต่ต้นเรื่อง จากการปะติดปะต่อคำพูดของเทวดาแคลเรนซ์ทำให้พอจะทราบว่า แคลเรนซ์เคยเป็นมนุษย์มาก่อน เขาเสียชีวิตในชุดที่ภรรยาซื้อให้ และกลายเป็นเทวดามากว่า 200 ปี เพื่อรอคอยวันจะได้รับปีกและเลื่อนขั้น ภารกิจของแคลเรนซ์จะว่ายากก็ยาก แต่เพราะคนหัวรั้นอย่างจอร์จหากไม่เห็นโลงศพ ก็คงไม่หลั่งน้ำตา วิธีที่เขาใช้แก้เผ็ดจึงเป็นการลบตัวตนของจอร์จออกไปจากโลก หากไม่มีจอร์จ น้องชายของเขา แฮร์รี่ก็คงจะจมน้ำตาย และทหารอเมริกันอีกหลายร้อยชีวิตในสงครามก็จะไม่ได้กลับบ้าน แม่ของจอร์จหลังจากเสียแฮร์รี่ไปก็กลายเป็นคนแก่เฝ้าตึกที่ปล่อยเช่า ส่วนบริษัทของพ่อจอร์จก็ต้องปิดไปโดยไม่มีทายาท ลุงของเขาฆ่าตัวตาย ชาวบ้านที่เคยพึ่งพาเงินกู้จากบริษัทเพื่อไปสร้างบ้านก็ไม่มีบ้านอยู่อาศัย ‘แมรี่ แฮทช์’ (รับบทโดย ดอนนา รี้ด - Donna Reed) ภรรยาของเขาก็ครองตัวเป็นสาวโสดที่ไม่ดูแลตัวเอง ลูกทั้ง 4 ของจอร์จไม่ได้เกิดมา สุดท้ายเมืองเบดฟอร์ด ฟอลส์ ก็กลายเป็น ‘พอตเตอร์ วิลส์’ ตามชื่อของนายทุนที่รวยที่สุดและหน้าเลือดที่สุดในเมือง จอร์จสติแตกกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่มีใครจดจำเขาได้ เพราะเขาไม่เคยมีตัวตน และไม่เคยได้เกิดมาด้วยซ้ำ นั่นแหละคือสิ่งที่น่าเศร้าสลดที่สุด “ชีวิตของทุกคนเกี่ยวข้องกันไปหมด” แคลเรนซ์บอกกับจอร์จ เมื่อเขาไม่เคยรับรู้เลยว่าการมีอยู่ของเขาสำคัญต่อคนที่ ‘มีชีวิต’ มากขนาดไหน เขาเอาแต่คิดว่า ‘หากตัวเองไม่มีชีวิต ทุกอย่างจะดีขึ้น และทุกคนจะมีความสุขมากกว่าเดิม’ ซึ่งผลลัพธ์อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป การมีชีวิตทำให้จอร์จได้ทำอะไรมากมาย ถึงแม้จะไม่ใช่สิ่งที่เขาเฝ้าฝันมาตลอดชีวิต แต่คุณค่าของมันก็มากเกินกว่าจะเอาไปเทียบกับความตาย หรือการไม่มีโอกาสเกิดมา It’s a Wonderful Life: หนังคริสต์มาสที่ให้ความตายบอกความหมายของชีวิต มิตรภาพ และครอบครัว หลังจากที่แคลเรนซ์นำจอร์จกลับสู่ความเป็นจริง เขายืนอยู่บนสะพานที่เขาคิดจะปลิดชีวิตตัวเองอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มุมมองของจอร์จเปลี่ยนไป จากที่เขาเกรี้ยวกราดต่อภรรยา ลูก และคนรอบกาย เขากลับมองเห็นคุณค่าของการมีชีวิตในทุกวินาที และที่สำคัญคือ เขามองเห็นความรักที่คนรอบตัวมีให้แก่เขา จอร์จวิ่งกลับบ้านเพื่อไปหาภรรยาและลูก ๆ ที่ทำให้เขาได้มี ‘ชีวิตที่งดงาม’ เขายอมถูกจับดีกว่าต้องกลายเป็นธาตุอากาศที่ไร้ตัวตนในสายตาคนรัก แต่ในที่สุด ความดีที่จอร์จทำมาตลอดชีวิตก็ได้แสดงพลังของมัน ผู้คนทั้งเมืองได้รวมตัวกันบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเขาโดยไม่สนด้วยซ้ำว่าเงินที่ให้ไปจะเกินเป้า 8,000 ดอลลาร์หรือไม่ ธารน้ำใจและผลลัพธ์ของมิตรไมตรีที่จอร์จสั่งสมมาสามารถอธิบายผ่านประโยคที่น้องชายของเขาได้พูดเอาไว้ว่า “ตอนนี้พี่ชายของผมคือคนที่ร่ำรวยที่สุดในเมือง” จอร์จ เบลีย์ไม่ใช่คนที่ร่ำรวยเงินทอง แต่เขาคือชายที่รวยน้ำใจ รวยมิตรไมตรี และรวยความรักที่ได้มอบให้กับคนอื่นและได้รับจากคนอื่นทั้งสองทาง ภาพยนตร์เรื่อง It’s a Wonderful Life ฉายภาพสังคมอเมริกันยุค 40s ที่เต็มไปด้วยปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเงิน ชาวเมืองทำงานอย่างหนัก แต่กลับไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งในชื่อของตนเอง ชีวิตของหลายคนถูกผูกขาดโดยนายทุนหน้าเลือดที่คิดจะครอบครองทุกกิจการเอาไว้ในมือ ความเหลื่อมล้ำทั้งหลายถูกแสดงออกผ่านชีวิตของผู้คนที่รายล้อมจอร์จ เบลีย์ นอกจากนี้ การนำเสนอภาพนายทุนพอตเตอร์ที่มีแต่ความชั่วร้ายยังทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยถูกสงสัยว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ที่ต่อต้านระบบทุนนิยม แต่ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ก็แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความกล้าหาญในการคัดง้างกับนายทุนที่ถูกแสดงออกผ่านตัวเอกของเรื่องเช่นกัน It’s a Wonderful Life ทำให้ผู้ชมได้ย้อนมองคุณค่าของการมีชีวิตและการมีคนอื่นในชีวิตไปพร้อมกัน ทุกคนมีชีวิตที่งดงามในแบบของตนเองได้ เพียงแค่บางครั้งเราอาจมองข้ามสิ่งดี ๆ เหล่านั้นไป สุดท้ายนี้ ตัวภาพยนตร์ยังบอกเราอีกว่า ชีวิตที่งดงามไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวเรา เพราะทุกคนสามารถทำให้ชีวิตของคนอื่นงดงามได้เช่นกัน “ถึง จอร์จ เพื่อนรัก จงจำไว้เสมอว่า ผู้ที่มีมิตรสหายไม่มีทางล้มเหลว ขอบคุณสำหรับปีก ด้วยรัก แคลเรนซ์” It’s a Wonderful Life: หนังคริสต์มาสที่ให้ความตายบอกความหมายของชีวิต มิตรภาพ และครอบครัว เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: It’s a Wonderful Life