แอธเลติก บิลเบา สโมสรฟุตบอลที่มีความท้องถิ่นนิยมที่สุดในโลก
“นักเตะของแอธเลติกถ้าไม่เกิดในบาสก์ ก็ต้องโตที่บาสก์”
ข้อความข้างต้นคือ อุดมคติของสโมสรฟุตบอล แอธเลติก บิลเบา แห่งลาลีกา สเปน ทีมดังหนึ่งในสามทีมที่ไม่เคยตกชั้น ร่วมกับ รีล มาดริด และบาร์เซโลนา
“ในฐานะสถาบัน สโมสรแอธเลติกฯ และแฟนบอลมีลักษณะเฉพาะอยู่ที่ความยึดมั่นในค่านิยมที่กลายเป็นสิ่งที่ไม่ปกติไปแล้วในฟุตบอลยุคศตวรรษที่ 21 สโมสรแอธเลติกฯ มีความภาคภูมิในตัวตน ปรัชญา และวิสัยทัศน์ที่เป็นเอกลักษณ์ในโลกของฟุตบอล อุดมคตินี้สะท้อนให้เห็นในนโยบายส่งเสริมนักฟุตบอลจากโรงเรียนฟุตบอลของเราเอง” ปรัชญาของแอธเลติกตามที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ของพวกเขาระบุ (Athletic-Club)
บาสก์เป็นเขตปกครองตนเองในสเปน มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมและภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างไปจากชาวสเปน แต่ชาวบาสก์ก็มักจะพูดภาษาสเปนหรือฝรั่งเศสด้วย ขณะเดียวกัน การพัฒนาเมือง การปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงการค้นพบโลกใหม่ทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของชาวบาสก์ ทำให้จำนวนประชากร รวมถึงความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมของพวกเขาอ่อนกำลังลง
อย่างไรก็ดี ความพยายามที่จะแทรกแซงการปกครองตนเองจากส่วนกลางตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กระตุ้นให้ชาวบาสก์เกิดความรักในท้องถิ่น และมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านอำนาจปกครองจากส่วนกลางเรื่อยมา (และยังมีกลุ่มติดอาวุธที่มีเป้าหมายปลดปล่อยบาสก์ออกจากสเปนด้วย)
ฟุตบอลเป็นวัฒนธรรมนำเข้าจากแรงงานชาวอังกฤษที่เข้ามาขายแรงงานในบาสก์ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งแร่เหล็กขนาดใหญ่ และชาวบาสก์ท้องถิ่นที่ไปร่ำเรียนที่อังกฤษ ซึ่งรวมตัวกันตั้งเป็นสโมสร ‘Athletic Club’ ขึ้นในปี 1898 โดยเดิมทีเดียวพวกเขาอยู่ที่ลาเมียโก (Lamiako) สวมเสื้อลายแถบขาว-น้ำเงิน (ในปี 1903 มีการตั้งสาขาสโมสรในมาดริด ซึ่งภายหลังพัฒนามาเป็น แอตเลติโกมาดริดในปัจจุบัน)
ในปี 1910 พวกเขาเปลี่ยนมาสวมเสื้อแถบขาว-แดง ปีต่อมาจึงเลิกใช้นักเตะต่างชาติ เริ่มตั้งเป้าหมายในการสร้างทีมเพื่อแข่งขันกับสโมสรต่างชาติโดยใช้นักเตะท้องถิ่น ‘เท่านั้น’ และย้ายมาตั้งสโมสรในบิลเบาเป็นการถาวรในปี 1913
แอธเลติกประสบความสำเร็จสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1930s ที่พวกเขาสามารถคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ 4 สมัย ก่อนที่ความร้อนแรงของพวกเขาจะถูกหยุดไประหว่างสงครามกลางเมือง ก่อนกลับมาคว้าแชมป์ลีกได้อีกครั้งในฤดูกาล 1942-1943, 1955-1956, 1982-1983 และ 1983-1984 และยังเป็นแชมป์บอลถ้วยโคปาเดลเรย์ มากถึง 24 สมัย เป็นรองเพียงบาร์เซโลนาที่เป็นแชมป์ 30 สมัย
ปัจจุบัน แอธเลติกฯ ห่างเหินจากความสำเร็จมาเป็นเวลายาวนาน เมื่ออุดมการณ์ของพวกเขา ทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับทีมอื่น ๆ ยากขึ้น เนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้โค้ช (ซึ่งเป็นชาวต่างชาติได้ ไม่เหมือนนักเตะ) มีตัวเลือกนักเตะที่จำกัดมาก ในขณะที่ทีมอื่น ๆ สามารถหานักเตะฝีเท้าดีราคาถูก หรือราคาสมเหตุสมผล หรือราคาแพงที่สุดในโลกได้จากตลาดทั่วโลก เป็นเหตุให้แอตเลติโกมักจะถูกโก่งราคาเมื่อพวกเขาจะหานักเตะเชื้อสายบาสก์ หรือเติบโตในบาสก์สักที
นอกจากนี้ พวกเขายังมักถูกตัดกำลังจากทีมใหญ่ ๆ ที่พร้อมจะจ่ายให้กับนักเตะฝีเท้าดีในทีมที่มีเงื่อนไขต้องปล่อยตัวหากได้ค่าตัวสูงกว่าตัวเลขที่ระบุในสัญญา ทำให้พวกเขาต้องเสียผู้เล่นท้องถิ่นที่ยากจะหานักเตะฝีเท้าระดับเดียวกันมาทดแทนได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฆาบิ มาร์ติเนซ ที่เสียให้กับบาเยิร์น มิวนิค ในปี 2012 อันเดร์ เอร์เรรา ให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในปี 2014 เอเมอริก ลาปอร์ต ให้แมนเชสเตอร์ซิตี ในปี 2018 (ตลาดฤดูหนาว) ตามด้วย เกปา อาร์ริซาบาลากา ให้กับเชลซีในตลาดฤดูร้อนปีเดียวกัน
แอธเลติกฯ อาจจะได้ค่าตอบแทนเป็นจำนวนมหาศาล (เกปา ยังรักษาสถิติผู้เล่นตำแหน่งประตูค่าตัวแพงที่สุดในโลก แม้จะหลุดเป็นตัวสำรองในทีมเชลซีไปแล้ว) แต่พวกเขาได้เงินมาก็ใช่ว่าจะเอาไปซื้อผู้เล่นอื่นมาแทนที่ได้ง่าย ๆ
แม้ว่าพวกเขาจะเคยมีนักเตะฝรั่งเศสอย่าง บิเซนเต ลิซาราซู หรือ เอเมอริก ลาปอร์ต มาก่อน แต่ทั้งคู่ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับบาสก์ อย่างลิซาราซูที่เติบโตในเขตบาสก์ฝั่งฝรั่งเศส ส่วนลาปอร์ตก็มีทวดเป็นชาวบาสก์ ซึ่งถือเป็นการยืดหยุ่นอย่างที่สุดแล้ว
(พวกเขามีนักเตะผิวดำด้วยหนึ่งคน คือ อินญากี วิลเลียมส์ นักเตะเชื้อสายกานาที่เกิดในบิลเบา ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบความเป็นชาวบาสก์ ถึงอย่างนั้นด้วยอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของเขาย่อมไม่แปลกที่จะถูกตั้งคำถามถึงความเป็น ‘บาสก์’ เช่นเดียวกับนักเตะฝรั่งเศสอย่างลาปอร์ต)
ในระยะหลังผลงานของแอธเลติกฯ จึงค่อนข้างลุ่ม ๆ ดอน ๆ โดยใน 5 ฤดูกาลล่าสุด (นับย้อนจาก 2019-2020) พวกเขาไม่สามารถขึ้นไปอยู่ใน 4 อันดับแรกของลาลีกาได้เลย และหวาดเสียวว่าจะต้องตกชั้นหรือไม่? อยู่เป็นระยะ แต่นั่นก็ไม่ทำให้พวกเขายอมละทิ้งอุดมการณ์ที่ยึดถือสืบมากว่า 100 ปี
“นับตั้งแต่ปี 1995 กฎบอสแมนทำให้กระแสคลื่นในวงการฟุตบอลเปลี่ยนทิศจนเป็นปฏิปักษ์กับชาวขาว-แดงมากขึ้นทุกวัน สโมสรที่เปี่ยมด้วยอำนาจเงินที่อยู่รายล้อมเพิ่มมากขึ้นทุกทีไม่เพียงแต่ในอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี แต่รวมถึงการแข่งขันภายในประเทศของเราเอง บรรษัทข้ามชาตินำโดยบริษัทโทรทัศน์ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงการแข่งขันฟุตบอลไปอย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน
“สโมสรแอธเลติกฯ ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน แต่เราจะว่ายน้ำในทิศทางเดิมตามปรัชญาอายุกว่าร้อยปีที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ที่น่าทึ่ง เมื่อ The Guardian (สื่ออังกฤษ) พิมพ์รายงานขึ้นพาดหัวว่า ‘นี่คือแอธเลติกฯ สโมสรที่ความภักดีต่อนักเตะพรสวรรค์ในท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ต่อรองไม่ได้’ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความอัศจรรย์ใจต่อความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของพวกเรา ไม่ว่าอย่างไร มันคือสิ่งที่อยู่ในดีเอ็นเอของเรา ที่ทุกฤดูกาลต้องมองกลับไปที่จุดเริ่มต้น : ความภักดีต่อกัน แม้ว่านั่นจะเป็นการว่ายทวนน้ำ ก้าวข้ามอุปสรรค ไปให้ถึงที่หมาย ที่ที่เราจะต้องเริ่มต้นวัฏจักรใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยนักเตะพรสวรรค์ท้องถิ่นรุ่นใหม่” ประกาศอุดมการณ์ของแอธเลติก บิลเบา ระบุ