‘ท่องเที่ยวอีสานวิถีใหม่’ กับ Creative Tourism เพิ่มโอกาสทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

‘ท่องเที่ยวอีสานวิถีใหม่’ กับ Creative Tourism เพิ่มโอกาสทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

การท่องเที่ยวยุคใหม่เป็นกระแสหลักของคนในปัจจุบัน รวมทั้งความเป็นอีสานด้วย ซึ่งการท่องเที่ยวบวกกับ Creative Tourism ทางเลือกใหม่ของ New Isan โมเดลที่ทำให้หลายคนประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยเฉพาะการสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

  • โมเดลท่องเที่ยวยุคใหม่ทำให้ 'อีสาน' มีความสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งจะต่างจากภาพลักษณ์เดิม ๆ ที่คนส่วนใหญ่เคยมอง
  • การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความพยายามและความมานะ รวมทั้งแง่คิดบางอย่างที่สำคัญต่อความสำเร็จ
  • กรณีศึกษาของคนที่ประสบความสำเร็จที่ส่วนใหญ่จะพยายามทลายกรอบความคิดเดิม ๆ ของคนที่มองอีสาน

 

งานมหกรรมนวัตกรรมยั่งยืน ‘ISAN BCG Expo 2022’ ครั้งนี้ มีบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจหลายสาขา มาร่วมฟัง ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และแชร์ประสบการณ์มากมาย และสาขาที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ กลุ่มผู้ประกอบการ ‘ท่องเที่ยววิถีใหม่’ ในอีสาน ที่พบว่าปัจจุบันมีการนำเสนอสินค้าการท่องเที่ยวที่โดดเด่น ไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในไทยเลย

จากเวทีเสวนา ‘เว่าถึงแก่น’ ในหัวข้อ ‘เลาะบ้านเลาะเฮือน Creative Tourism กับการท่องเที่ยววิถีใหม่ในอีสาน’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน ISAN BCG Expo 2022 นั้น พบว่ามีผู้ประกอบการท่องเที่ยวหน้าใหม่ในภาคอีสาน ที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวจนประสบความสำเร็จหลายคน โดยพวกเขาได้นำประสบการณ์อันมีค่ามาถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ

เริ่มต้นด้วย ‘กุลชาติ เค้นา’ ผู้บุกเบิกการท่องเที่ยวภูผาม่านยุคใหม่ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวในอีสานว่า ก่อนหน้านี้เขามีอาชีพหลักเป็น UX/UI Designer ทำงานแบบ Digital Nomad (ทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ทั่วโลก) ซึ่งมีความคิดที่จะพัฒนาวิถีเกษตรของครอบครัวแบบเดิม ๆ ใน อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ให้เข้ากับการท่องเที่ยวชุมชนสมัยใหม่

“การจะเข้าใจธุรกิจได้ต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายก่อน ผมตั้งคำถามว่า หากจะทำให้บ้านเราเป็นที่ท่องเที่ยวต้องทำอย่างไร และใครเป็นกลุ่มเป้าหมาย ตอนนั้นลอกโมเดลจาก Airbnb แล้วดึงคนจากที่อื่นให้มารู้จักชุมชนเรา เริ่มจากชวนเพื่อน ๆ สายเทคที่ทำงานด้วยกันมาจัดอีเวนต์ด้านเทคโนโลยีกลางทุ่งนา พร้อมไลฟ์สด”

หลังจากจัดอีเวนต์ขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการรับฟังฟีดแบ็กเสมอ กุลชาติก็พบปัญหาว่าในชุมชนยังไม่มี Eco System ด้านการท่องเที่ยวของตัวเอง นำมาสู่ไอเดียการทดลองใหม่ ๆ เช่น การสั่งชุดดริปกาแฟมาลองไลฟ์ในบรรยากาศสวย ๆ เป็นการสร้างตัวอย่างให้เห็นว่าที่นี่สามารถทำแบบนี้ได้ เป็นที่มาของกิจกรรม ‘วิวผาม่าน’ ที่พาคนมาชมวิวและดริปกาแฟไปด้วยกัน

เขาเล่าต่อว่าแนวคิดของการทำสตาร์ทอัพท่องเที่ยวคือให้เริ่มจากทำอะไรเล็ก ๆ ก่อน รับฟังและแก้ไขไปเรื่อย ๆ แม้จะเวิร์กบ้างไม่เวิร์กบ้างในช่วงแรก ๆ แต่เมื่อทำต่อเนื่อง ก็ทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จัก และจากนั้นก็มีหน่วยงานอย่าง ททท. ขอนแก่น และ TCDC เข้ามาร่วมทำทริปโปรโมตการท่องเที่ยวให้ภูผาม่าน รวมถึงทำทริปให้ชุมชนอื่น ๆ ในละแวกนี้ด้วย เช่น อำเภอสีชมพู เพื่อสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวและกลายเป็นเส้นทางใหม่ขึ้นมา

กุลชาติกล่าวทิ้งท้ายว่า “การจะทำท่องเที่ยวโมเดลใหม่ สิ่งที่ผมเรียนรู้คือการทดลอง เก็บความเห็น แล้วปรับปรุงไปเรื่อย ๆ จากวันนั้นเมื่อ 4 ปีก่อนที่เริ่มต้น จนถึงวันนี้ ผมและทีมพอใจมากกับความเปลี่ยนแปลงของชุมชน ทุกวันนี้ที่ภูผาม่านมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่พร้อมจะเริ่มลงทุนในการท่องเที่ยวมากขึ้น”

ด้าน ‘อาทิตย์ อู๋ไพจิตร’ สถาปนิกและนักออกแบบพิพิธภัณฑ์ ผู้พัฒนาการท่องเที่ยวอุดรธานีกับพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ กล่าวว่า “ผมได้รับโจทย์ให้ทำอาคารเก่าแก่ของอุดรธานี ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เก่ายุคใหม่ที่น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ เป็นแหล่งเรียนรู้ และดึงดูดคนมาเที่ยวได้มากขึ้น จากนั้นก็เริ่มตั้งวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ และสรุปออกมาได้ว่าที่นี่จะต้องเป็นแลนด์มาร์กสำคัญด้านวัฒนธรรมในเมืองอุดร เพิ่มสีสันและชีวิตชีวาให้เมือง และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวอีสาน ต้องนำเสนอ Land Scape ใหม่ และจัดแสดงเรื่องใหม่ ๆ”

สำหรับอาคารเก่าแก่อายุ 100 ปีแห่งนี้มีชื่อว่า ‘อาคารราชินูทิศ’ ตั้งอยู่ใกล้หนองประจักษ์ จ.อุดรธานี เป็นอาคารโคโลเนียลสไตล์ ได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งเศส เคยเป็นโรงเรียนและที่ทำการผู้ว่าฯ ในอดีตมาก่อน ทีมงานได้เข้าไปสำรวจอาคารแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2009 แล้วปรับปรุงมาเรื่อย ๆ 8 ปี จนแล้วเสร็จในปี 2016 เมื่อทำงานจนแล้วเสร็จ ก็เริ่มเปิดให้บริการประมาณปี 2017

ท้ายที่สุด หลังจากทำงานทุกอย่างได้ครบถ้วน และบรรลุวัตถุประสงค์ทุกข้อที่ตั้งไว้ในตอนแรก แต่รู้หรือไม่? มีบางสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่คิดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ การบริหารด้านการตลาด การสื่อสารถึงคนภายนอก ฯลฯ ซึ่งมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของพิพิธภัณฑ์

แล้วจะทำอย่างไรให้ที่นี่อยู่รอด? คำตอบคือ ต้องทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเพื่อนของเขา ทุกคนเข้าถึงได้ไม่ยาก เป็นพื้นที่ที่คนในชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ทุกวัน

ยกตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งในชิคาโก สหรัฐอเมริกา ทีมงานของพิพิธภัณฑ์พบว่า จริง ๆ แล้วคุณค่าของสถานที่แห่งนี้ เกิดขึ้นจากสิ่งที่พวกเขาไม่คาดคิดมาก่อน ไม่ได้เกิดจากวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แต่แรกด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น การที่เจ้าหน้าที่พบว่าพฤติกรรมคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ มักหาที่นั่งกินมื้อกลางวันกันตามตึกต่าง ๆ จึงเกิดการต่อยอดสู่การทำร้านอาหารในพิพิธภัณฑ์ซึ่งบริการทุกวัน

รวมถึงการเกิดเป็น Meeting Point แหล่งพบปะพูดคุยของผู้คน, เกิดพื้นที่ให้นั่งทำงานฟรี, เกิดการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยคนท้องถิ่นคิดเองทำเองแล้วมาใช้พื้นที่ในพิพิธภัณฑ์, เกิดการจัดคอนเสิร์ต, จัดปาร์ตี้, เกิดแผนที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในพิพิธภัณฑ์จากไอเดียของเด็กน้อยคนหนึ่งในชุมชน เป็นต้น

“จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากสิ่งที่เราไม่เคยคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นตามกรอบวัตถุประสงค์ในตอนแรก แต่มันกลับส่งผลดีต่อทั้งตัวพิพิธภัณฑ์เองและคนในชุมชน พร้อมสลัดภาพจำเดิม ๆ ที่ว่า ‘พิพิธภัณฑ์ = น่าเบื่อ’ ออกไป ดังนั้นในฐานะคนทำงาน อยากส่งต่อแนวคิดสำคัญในการพัฒนางาน นั่นคือ มูลค่าจะเกิดตามคุณค่างานที่เราสร้างขึ้น แต่มูลค่าที่สูงสุดจะเกิดจากคุณค่าที่เราคาดไม่ถึง”

ขณะที่ ‘จงรัก จารุพันธุ์งาม’ ผู้ก่อตั้ง ‘มีกินฟาร์ม’ Sustainable Farming ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบของอีสาน กล่าวว่า “ฟาร์มเกษตรของที่นี่เริ่มต้นจากผืนดินแห้งแล้ง ในพื้นที่เล็ก ๆ แค่ 4 ไร่ ที่ไม่มีกินมาก่อน ไม่มีทั้งความรู้ด้านการเกษตร ไม่มีความรู้ด้านการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่มีอยู่เต็มหัวใจคือความฝัน ความหวัง มองเห็นแสงสว่างว่าขอนแก่นเป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านนี้ได้”

จากคนที่ไม่รู้ เธอก็เริ่มหาความรู้ ค้นคว้า ลงมือทำ ค่อย ๆ สร้างฟาร์มเกษตรนี้ขึ้นมา และเปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2560 ตอนนั้นนักท่องเที่ยวยังเป็นเฉพาะกลุ่ม เป็นกลุ่มที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบบ้าน ๆ ปูเสื่อนั่งล้อมวงกินข้าว ทำกิจกรรม ‘ลงทุ่ง ทำนา ปิ้งปลา ข้างคันแท’ ในราคา 350 บาทต่อคน

“เป็นจังหวะดีที่ในช่วงนั้นขอนแก่นถูกผลักดันให้เป็นเมือง MICE City (เมืองแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการ) จึงทำให้มีคนนอกพื้นที่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เข้ามาจับจ่ายสินค้าและบริการในขอนแก่นมากขึ้น เรามองเห็นโอกาสนี้จึงตั้งเป้าหมายว่า ‘มีกินฟาร์ม’ จะเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ที่จะขายความเป็นบ้านนอกให้เมืองนอก” เธออธิบาย

จงรักกล่าวอีกว่า เธอได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการจัดประชุม ททท. เขตภาคอีสาน ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักที่นี่มากขึ้น ต่อมาในปี 2561 - 2562 ได้ขยับสู่เป้าหมายขั้นต่อไปคือ Local to Global

โชคดีที่มีกินฟาร์มถูกเลือกจาก ททท. ให้เป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว ได้รับการโปรโมตจากภาครัฐ ทำให้ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (สื่อต่างชาติจาก 11 ประเทศ) เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นฟาร์มแห่งนี้ก็ได้รับการตอบรับที่ดีเรื่อยมา จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำจังหวัดขอนแก่น ที่ผู้คนภายนอกรู้จัก เกิดการจัดกิจกรรมมากมาย เช่น

  • จัดค่ายกิจกรรมให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ และเป็นห้องรับแขกให้แก่องค์กรต่าง ๆ ในขอนแก่น
  • ต้อนรับการประชุมระดับนานาชาติ ‘Pacific Asia Travel Association (PATA)’
  • ต้อนรับทีม NGO จากประเทศลาว 
  • ต้อนรับแบรนด์ ‘ดิษยา วาเคชันนิสต์’ พร้อมจัดทริปเที่ยวขอนแก่นสามวันสองคืนให้เหล่านางแบบและอินฟลูเอนเซอร์​
  • ถูกคัดเลือกให้เป็นสถานที่ในการประชุม APEC 2022 ในขอนแก่น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
  • ได้รับรางวัล ‘บิบ กูร์มองด์’ จากมิชลินไกด์เล่มใหม่ล่าสุดในปี 2023

ทั้งนี้ มีกินฟาร์มไม่ได้เติบโตแค่คนเดียว แต่มีการทำงานร่วมกับชุมชนใกล้เคียงเพื่อให้ชุมชนโตไปพร้อม ๆ กัน ด้วยการจัดรูทท่องเที่ยวชุมชนใกล้เคียง เช่น พานักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมวัดโบราณและจิตรกรรมฝาหนังใน ‘ชุมชนสาวะถี’ ไปชมหมู่บ้านทอผ้าไหมอีสานที่ ‘บ้านหนองบัวน้อย’ ชุมชนผลิตสินค้าเครื่องจักสาน และไปเที่ยวชมวิวที่ภูผาม่าน เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ จงรักลงมือลงแรงทำมาตั้งแต่การไม่มีกิน จนมีกินในวันนี้ ใช้ระยะเวลา 7 ปี ทั้งหมดเป็นการลองผิดลองถูกภายใต้ความเชื่อที่ว่า ขอนแก่นมีซอฟต์เพาเวอร์ที่มีคุณค่าและขายสู่สายตานักท่องเที่ยวได้จริง ๆ ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นอาชีพที่มั่นคงให้แก่ตัวเธอเอง ครอบครัว และยังส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนได้ด้วย