‘ซูนึง’ การสอบที่หยุดทุกอย่างในเกาหลีใต้ การเมือง-มรดกจากอดีต ดันหรือดับอนาคตคน?

‘ซูนึง’ การสอบที่หยุดทุกอย่างในเกาหลีใต้ การเมือง-มรดกจากอดีต ดันหรือดับอนาคตคน?

วันที่จัดสอบ ‘ซูนึง’ คือวันที่ทุกอย่างในเกาหลีใต้หยุดนิ่ง การสอบใช้เวลา 1 วัน แต่ชี้ชะตาชีวิต กำหนดอนาคตคนคนหนึ่งได้ นี่คือวัฒนธรรมที่ตกทอดจากอดีต ค่านิยมของสังคม และเครื่องมือทางการเมือง

  • การสอบ ‘ซูนึง’ ใช้เวลา 1 วัน วันที่จัดสอบ แทบจะเป็นวันที่ทุกอย่างหยุดนิ่ง บริษัทกิจการห้างร้านหยุดทำการหรือเลื่อนเวลาเปิด
  • ระบบการสอบสะท้อนเรื่องมรดกทางความคิดจากอดีต เครื่องมือทางการเมือง ค่านิยม และโครงสร้างสังคมในเกาหลีใต้

“ถ้าลูกเรา ม.6 ตัวเราก็ต้อง ม.7”

ประโยคที่ทำให้ผู้ฟังไม่แน่ใจว่าต้องรู้สึกยังไงแน่ข้างต้นนี้ เป็นของผู้ปกครองเด็กซึ่งเตรียมสอบซูนึงที่สื่อมวลชนสังกัดหนึ่งเคยไปสัมภาษณ์ โดยคุณพ่อคนนี้บอกว่า ขณะที่ลูกชายดูคลิปเรียนพิเศษอยู่ในห้อง ตัวเขาก็เรียนสิ่งเดียวกันอยู่ในห้องข้าง ๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้ลูก ให้ลูกเห็นว่าพ่อพร้อมทำสิ่งเดียวกัน หรือพร้อมทำหนักกว่า และให้รู้ว่าทุกคนจะผ่านอุปสรรคที่น่าเคร่งเครียดนี้ไปด้วยกัน

นี่คงไม่ใช่ผู้ปกครองคนเดียวในเกาหลีที่พร้อมทุ่มสุดตัวไปกับเส้นทางชีวิตซึ่งไม่ใช่ของตัวเองเป็นแน่ เพราะสิ่งที่เรากำลังพุดถึงอยู่นี้คือ ‘ซูนึง’ (Suneung) การสอบวัดระดับเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ว่าจะจากข่าวสาร จากหน้าฟีดโซเชียลมีเดีย หรือจากคอนเทนต์บันเทิง เช่น หนังและซีรีส์เกาหลี คนไทยเราในยุคนี้ย่อมต้องเคยผ่านหูผ่านตาเรื่องราวเกี่ยวกับการสอบนี้มากก็น้อย

โดยสื่อจำนวนมากมักกล่าวถึงวันสอบซูนึง ซึ่งจะจัดขึ้นเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้นว่าเป็นวันที่ ‘ทุกอย่างหยุดนิ่ง’ ทั้งนี้ก็เพราะวันสอบซูนึง ทุกบริษัทห้างร้านจะพากันปิดหรือเลื่อนเวลาทำการ เครื่องบินจะหยุดขึ้นลงในช่วงสอบการฟัง รถไฟฟ้าจะเปิดบริการเร็วขึ้นและนานขึ้น เพื่อให้เด็ก ๆ เดินทางอย่างสะดวก

รวมถึงคุณลุงแท็กซี่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานพิเศษที่มีรถติดไซเรน ก็พร้อมสแตนด์บาย อำนวยความสะดวกให้กับเหล่านักเรียน ม.6 ที่ต้องไปสนามสอบกันด้วยกันทั้งนั้น

จริงอยู่ที่ซูนึงเหมือนจะไม่ต่างกับระบบ ‘เอ็นทรานซ์’ สมัยก่อนของบ้านเรามากนัก แต่ด้วยวัฒนธรรมที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ค่านิยมของสังคมเกาหลี และความเจริญทางวัตถุอย่างรวดเร็ว ทำให้การสอบซูนึงที่ใช้เวลาเพียง 1 วัน สามารถชี้เป็นชี้ตาย และกำหนดอนาคตคนคนหนึ่งที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์จะรู้เดียงสาหรือเข้าใจโลกได้ราวกับห้องสอบนั้นเป็นหัตถ์ของพระเจ้าซึ่งจะส่งผู้สอบขึ้นสวรรค์หรือลงนรกก็ได้ ภายในเวลา 8 ชั่วโมง

และด้วยความหนักหนาสาหัสที่ถ่วงหัวใจทั้งผู้ทำข้อสอบและครอบครัวที่คอยเอาใจช่วยเช่นนี้ ทำให้เราไม่อาจพูดเลยว่า ‘ซูนึงเทียบได้กับการสอบเอ็นทรานซ์’ เพราะไม่ว่านักเรียนในระบบโรงเรียนไทยจะต้องฝ่าด่านข้อสอบที่ยากง่ายอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะ ‘เข้าใกล้สวรรค์หรือนรก’ เหมือนกับการเข้าทำเข้าสอบซูนึงของเด็กเกาหลีแน่นอน

‘นรกโชซอน’ (โชซอน คือ ราชวงศ์สุดท้ายของเกาหลี และยังคงเป็นชื่อเรียกของประเทศเกาหลีในภาษาถิ่นเกาหลีเหนือด้วย) คือคำที่หนุ่มสาวเกาหลียุคปัจจุบันเรียกสังคมที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งอยู่ จากที่มันเต็มไปด้วยแรงกดดันในชีวิตจากหลายมิติ ทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องทางสังคม การแข่งขันในทุกสนามแข่งชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ระบบอาวุโส ระบอบปิตาธิปไตย หรือแม้แต่ค่านิยมฉาบฉวยที่มีตัววัดเป็นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเสี้ยวหนึ่งของนรกโชซอน คือภาวะการตกนรกทั้งเป็นจากระบบการสอบซูนึงที่เด็กเกาหลีจำนวนมากต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยกันตั้งแต่พวกเขายังเดินไม่คล่อง พูดไม่ชัด เสียด้วยซ้ำ

โดยนักเรียนที่ครอบครัวพอจะมีฐานะจะส่งเสียให้เตรียมความพร้อมด้านการศึกษาแต่เนิ่น ๆ อาจต้องเริ่มใช้ชีวิตพัฒนาการเรียนรู้ตั้งแต่อายุ 3 หรือ 4 ขวบเลยทีเดียว

โปรแกรม ‘บ่มเพาะความเป็นเลิศ’ อย่างที่ว่านี้ จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตพวกเขาในทุกช่วงวัย ตราบเท่าที่พวกเขายังเลือกที่จะอยู่ในระบบการศึกษาในประเทศ

“เด็กบางคนก็สอบใหม่ 4-5 รอบ เพราะต้องการเรียนหมอในมหาวิทยาลัยดี ๆ ให้ได้ ยิ่งถ้าพ่อแม่เป็นหมออยู่แล้ว ยิ่งถือเป็นเกียรติภูมิ เป็นศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูล จะไม่สำเร็จไม่ได้ครับ”

ติวเตอร์คนหนึ่งให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับอดีตนักเรียนที่เขาเคยสอน

ซูนึง หรือ แทฮักซูฮักนึงนย็อกชีฮอม (대학수학능력시험) แปลตรง ๆ ได้ว่า College Scholastic Ability Test หรือ CSAT เกิดขึ้นจากแผนปฏิรูปการศึกษาในปี 1994 ในรัฐบาลของ คิมยองซัม ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกในรอบ 30 ปีของเกาหลีใต้ ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1993 - 1998

โดยในยุคแรกนั้น CSAT แบ่งข้อสอบออกเป็น 4 ส่วน คือ คณิตศาสตร์ 1 คณิตศาสตร์ 2 ภาษาเกาหลี และภาษาต่างชาติ แยกเป็นข้อสอบปรนัย 70 เปอร์เซ็นต์ อัตนัย 30 เปอร์เซ็นต์ รวมคะแนนทั้งหมด 200 คะแนน

พัฒนาการของระบบสอบ

แต่กระนั้น เราก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่า ‘ซูนึง’ อยู่คู่สังคมเกาหลีมาเพียง 3 ทศวรรษเท่านั้น นั่นก็เพราะโครงสร้างการคัดคนในลักษณะนี้มีมาตั้งแต่การสอบรับราชการในยุคโบราณ

สมัยที่อาณาจักรบนคาบสมุทรเกาหลีนี้ยังปกครองโดยกษัตริย์ และค่อย ๆ พัฒนาเพิ่มความเข้มข้นและถูกจัดระเบียบอย่างจริงจังในช่วงหลังสงครามโลกปี 1945 หลังการครอบครองคาบสมุทรเกาหลีโดยญี่ปุ่นได้สิ้นสุดลง ค่อย ๆ ประยุกต์รูปแบบตามยุคตามสมัย จนกลายเป็นทั้งมาตรฐานและปัญหาใหญ่ของสังคมอย่างยากจะแก้ไขในเวลาต่อมา

หลังจากปี 1945 เกาหลียังคงอยู่ในความดูแลของกองทัพสหรัฐอเมริกา ทำให้ระบบการศึกษาได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากชาวอเมริกัน ในขณะนั้น สถาบันการศึกษาสามารถคัดเลือกบุคคลได้ตามมาตรฐานของตัวเอง โดยไม่มีรัฐบาลเข้าแทรกแซง

จึงเกิดเป็นชุดข้อสอบที่ไม่เกี่ยวข้องกันและไม่ขึ้นต่อกันของแต่ละมหาวิทยาลัย ทำให้รัฐบาลในสมัยของ อีซึงมาน ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเกาหลี ต้องเร่งแก้ไข และจัดทำระบบข้อสอบมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศในปี 1954 แต่นั่นกลับเป็นการสร้างปัญหาใหม่โดยไม่ได้แก้ไขปัญหาเก่าแม้แต่น้อย

อย่างแรกคือการสอบของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ได้ถูกยับยั้ง ทำให้ผู้เข้าสอบต้องผ่านการสอบ 2 ครั้ง ถึงจะเรียกได้ว่าได้รับการประเมินวัดผลโดยสมบูรณ์

นอกจากนั้น การสอบระดับประเทศยังไม่อนุญาตให้ผู้หญิงและทหารผ่านศึกสมัครสอบ เกิดความเหลื่อมล้ำ และยังมีการตรวจพบการใช้เส้นสายของนักการเมืองและปัญหาข้อสอบรั่วตามมาด้วย ทำให้ระบบการศึกษาที่รัฐบาลพยายามสร้างขึ้นใหม่ถูกยกเลิกหลังประกาศใช้ไปได้เพียง 1 ปี

ปัญหาเรื่องการทำข้อสอบและการตอบข้อสอบที่ต้องทำให้เร็ว ทำให้ถูกต้อง นำไปสู่การเปิดโรงเรียนนอกหลักสูตร หรือติวเตอร์ ที่ช่วยแก้ปัญหานักเรียนซึ่งอยากได้คะแนนมากกว่าเพื่อน อยากรู้มากกว่าเพื่อน และยอมเสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อจะบรรลุเป้าหมายนั้น ซึ่งก็ดูจะตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียน รวมถึงผู้ปกครองจำนวนมาก

เพราะในยุค 1960s นั้น ถือได้ว่าปัญหาสถาบันเอกชนนอกหลักสูตรกลายเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ที่ประชาชนร้องเรียน ส่วนหนึ่งเพราะการเรียนเสริมทำให้ชีวิตเด็ก ๆ ไม่ปกติ

‘ซูนึง’ การสอบที่หยุดทุกอย่างในเกาหลีใต้ การเมือง-มรดกจากอดีต ดันหรือดับอนาคตคน?

ยิ่งไปกว่านั้น คือค่าเล่าเรียนเสริมที่พ่อแม่ต้องหามาจ่าย ซึ่งก็รังแต่จะสร้างหนี้สินให้กับครัวเรือนที่รายได้ไม่สูง โดยที่ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่าลูก ๆ ของพวกเขาจะประสบความสำเร็จกับการสอบ

ในปี 1962 ในรัฐบาลของนายพลพักจองฮี ที่รัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศ ต้องการจะแสดงความชอบธรรมในการ ‘เข้ามาช่วงชิงตำแหน่ง’ ด้วยการประกาศจะปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานในสังคม เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ ซึ่งก็รวมถึงระบบการศึกษา จนเป็นที่มาของการปรับให้ข้อสอบวัดผลทั่วประเทศแบบเป็นปรนัยทั้งหมด และจำกัดการสมัครเข้าเรียนไว้ที่ 110 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเปิดรับ

แต่ปัญหาคือรัฐบาลไม่ยอมประกาศห้ามมหาวิทยาลัยออกข้อสอบของตัวเอง จึงเท่ากับว่าความพยายามแก้ปัญหาในสมัยพักจองฮี ไม่ได้ทำให้เกิดผลดีใด ๆ มีแต่จะสร้างแรงกดดันให้ผู้เข้าสอบ และเพิ่มอำนาจของสถาบันเอกชนนอกหลักสูตรให้มีสิทธิ์คัดนักเรียนเข้มข้นขึ้นกว่าเดิมและเรียกค่าเล่าเรียนได้สูงตามใจชอบ

ถัดมาไม่นาน ในปี 1969 เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการจัดทำข้อสอบระดับประเทศ โดยที่ข้อสอบแยกย่อยของแต่ละมหาวิทยาลัยจะถูกใช้เมื่อผู้สมัครสอบผ่านการคัดเลือกโดยข้อสอบกลางเป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น

แต่ไม่ว่าการจัดสอบจะปรับเปลี่ยนเพื่ออุดช่องโหว่ในระบบ ย่นระยะช่องว่างทางสังคม หรือไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามประกาศใช้แผนปฏิรูปการศึกษาในลักษณะใดก็ตาม ปัญหาเรื่องการแข่งขันของนักเรียน ทั้งในโรงเรียนมัธยม สถาบันติวเตอร์ และค่าใช้จ่ายเพื่อเสริมทักษะที่จำเป็น กลับยิ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ซ้ำร้าย ระบบการสอบที่สร้างแรงกดดันให้กับทั้งนักเรียนและผู้ปกครองนี้ ยังไม่สามารถผลิต ‘คนเก่ง’ เพื่อเข้าไปเป็นแรงงานคุณภาพของสังคมได้อีกด้วย เพราะทุกคนต่างพยายามที่จะเรียนรู้ ‘คำตอบ’ ของแต่ละวิชา มากกว่าจะสนใจเนื้อหาที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อและทำงานในอนาคต

‘ซูนึง’ การสอบที่หยุดทุกอย่างในเกาหลีใต้ การเมือง-มรดกจากอดีต ดันหรือดับอนาคตคน?

ในยุคนี้นี่เองที่ความเครียดของนักเรียนมัธยมปลาย และความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ พุ่งทะยานถึงจุดสูงสุด และรัฐบาลเริ่มปรับโฟกัสไปที่หลักสูตรของโรงเรียนของผู้สมัครสอบ แทนที่จะมองแค่ข้อสอบหรือมหาวิทยาลัยที่ประกาศรับสมัครอย่างที่เป็นมา

แต่แผนการของรัฐบาลพักจองฮี ก็ต้องสะดุดลงหลังจากที่เขาถูกสังหาร และประธานาธิบดีรักษาการ ชเวกยูฮา ก็ไม่มีอำนาจจะปรับเปลี่ยนอะไรในการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองระยะสั้น ๆ ได้มากนัก

และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่เกาหลีใต้เข้าสู่ยุคเผด็จการ ทำให้การเติบโตของประเทศ รวมถึงชะตากรรมของนักเรียนนักศึกษา ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทหาร นายพลชอนดูฮวาน ที่ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 1980 ก็ประกาศกวาดล้างสถาบันติวเตอร์ และประกาศให้ ‘โรงเรียนติว’ ของเอกชนทั้งหลายขัดต่อกฎหมาย

รวมถึงประกาศยกเลิกข้อสอบที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยทั้งหมดด้วย เหลือไว้แค่ข้อสอบกลางของรัฐบาลเท่านั้น และให้การรับเข้าศึกษาต่อ พิจารณาเลือกเด็กจากคะแนนสอบ ร่วมกับอันดับของโรงเรียนมัธยม

ถึงตรงนี้ การสอบวัดระดับได้ขยายวงความรู้พื้นฐานไปสู่วิชาที่จำเพาะยิ่งขึ้น อย่างเช่น ประวัติศาสตร์ วรรณกรรมเกาหลี วรรณกรรมและภาษาจีนดั้งเดิม จริยธรรมพลเมือง เศรษฐศาสตร์และการเมือง เทคโนโลยีอุตสาหกรรม และการบริหารจัดการภายในครัวเรือน นอกจากนั้นยังเพิ่มวิชาเลือกเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาต่างประเทศที่ 2 และวิชารองอื่น ๆ

การปรับเปลี่ยนด้านแนวทางการสอบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่วงเข้าสู่รัฐบาลของ โนแทอู ที่ประกาศให้การสอบวัดผลมีส่วนที่เป็นอัตนัยสั้น ๆ ซึ่ง ณ จุดนี้ของประวัติศาสตร์ ข้อสอบในยุค 1980s นี้ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ College Admissions Scholastic Achievement Test หรือ CASAT ที่สร้างแรงกดดันให้กับผู้สอบไม่ต่างจากในยุคก่อนหน้า และซูนึงในยุคถัดมา เพียงแต่มีการยังยั้งการเติบโตของธุรกิจติวเตอร์ไว้ด้วยกฎหมายเท่านั้น

ซูนึงในปัจจุบัน

จากนั้นจึงเข้าสู่ยุคของ ‘ซูนึง’ ในปัจจุบัน ที่กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อนายคิมยองซัม ประธานาธิบดีคนที่ 7 ของสาธารณรัฐเกาหลีเข้ารับตำแหน่ง โดยข้อใหญ่ใจความคือการทำให้การวัดผลแบบใหม่ ‘CSAT’ สามารถประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนได้ ซึ่งควรเป็นจุดมุ่งหมายของการเรียนมัธยมตั้งแต่แรก

แต่อีกสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ คือการกลับมาประกาศให้โรงเรียนติวของเอกชนเปิดทำการได้อีกครั้ง หลังพบว่า การประกาศยับยั้งไม่ให้ดำเนินธุรกิจในยุคก่อนหน้าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งถึงยุคนี้ มหาวิทยาลัยสามารถคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต่อได้จากคะแนนวัดผลหลายด้าน ทั้งข้อสอบกลาง อันดับความสำเร็จของโรงเรียน ข้อสอบเฉพาะของมหาวิทยาลัยเอง รวมถึงการสัมภาษณ์

โดยข้อจำกัดคือข้อสอบของมหาวิทยาลัยสามารถวัดผลได้แค่วิชาวรรณกรรมเกาหลี ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์เท่านั้น

ซึ่งท้ายที่สุดก็ยังนำไปสู่ปัญหาที่ว่านักเรียนผู้เตรียมสอบยังคงต้องเตรียมตัวอย่างหนัก และทำความเข้าใจในทุกวิชา ขณะเดียวกัน โรงเรียนมัธยมทั้งหลายยังมุ่งเน้นที่จะ ‘ช่วยให้นักเรียนตัวเองสอบติด’ มากกว่าจะให้วิชาความรู้ตามที่ควรจะเป็น

ข้อสอบ CSAT ถูกปรับแก้อีกครั้งในปี 1997 โดยปรับคะแนนเต็มให้อยู่ที่ 400 คะแนน และเพิ่มการพิจารณาประวัติการเข้าเรียน รางวัลที่เคยได้รับ และประวัติโดยทั่วไปของผู้เข้าสอบด้วย แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้กระแสการต่อต้านระบบการสอบ และแรงกดดันของนักเรียนผู้เข้าสอบลดลง ทำให้ CSAT เวอร์ชันนี้ ถูกใช้งานจนถึงปี 2001 เท่านั้น

จากนั้นจึงเข้าสู่การปรับปรุงระบบอีกครั้งในยุครัฐบาล คิมแดจุง ช่วงปี 2002 - 2007 ที่ประกาศห้ามมหาวิทยาลัยจัดสอบวัดผลด้านวิชาการเอง แต่สามารถพิจารณาทักษะด้านอื่นจากความเรียงและการสัมภาษณ์ เพื่อพิจารณาความสามารถของผู้สมัครได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ โครงสร้างเดิมของข้อสอบ CSAT ยังคงอยู่ และแม้จะมีการประกาศให้พิจารณาทักษะด้านอื่น ๆ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายติวนอกหลักสูตรของแต่ละครัวเรือนลดลง และนักเรียนได้ตั้งใจกับหลักสูตรพื้นฐานมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลตามที่รัฐบาลคาดการณ์แต่อย่างใด

การเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดี อีมยองบัก ที่ชูประเด็นเรื่องความเป็นเลิศด้านการศึกษา ในปี 2008 ไม่ได้ทำให้แรงกดดันต่อ ‘อนาคตของชาติ’ ลดลง โดยในยุคนี้มีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่แอดมิชชันมาประเมินการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน โดยที่เด็กยังคงถูกพิจารณาจากปูมหลังส่วนตัว ประวัติครอบครัว ผลการเรียน ทักษะอื่น ๆ อยู่เช่นเดิม เท่ากับว่าทุกมิติของนักเรียนคนหนึ่งจะถูกนำมาใช้ตัดสินอนาคตของพวกเขา โดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์โต้แย้งใด ๆ

ถึงตรงนี้ เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการวัดผล หรือการสอบวัดระดับอย่างไร ความเครียด แรงกดดัน และค่าใช้จ่ายของประชาชนต่อการมีอยู่ของ ‘ซูนึง’ ก็ไม่ได้ลดลงแม้แต่น้อย มีแต่จะเพิ่มขึ้น หรือแค่เปลี่ยนรูปแบบ รูปทรง ไปก็เท่านั้น

‘ซูนึง’ การสอบที่หยุดทุกอย่างในเกาหลีใต้ การเมือง-มรดกจากอดีต ดันหรือดับอนาคตคน?

กำลังใจและความเชื่อของคนรอบข้าง

“คุณอาจคิดว่าท่ามกลางวิกฤติโควิด เด็กที่ป่วยจะต้องสละสิทธิ์จากการสอบซูนึงปีนั้น แต่ไม่เลย ประเทศเราเตรียมจัดสรรที่ทางในโรงพยาบาลให้พวกเขาได้สอบพร้อม ๆ เพื่อนตามกำหนดนั่นแหละ”

ปีที่แล้ว สื่อมวลชนเกาหลีล้วนแต่รายงานตรงกันว่านอกเหนือจากภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพาเด็ก ๆ ขึ้นรถไปส่งยังสนามสอบให้ทันที่หลายคนคุ้นตาแล้ว ในปีที่โรคร้ายครอบงำเกาหลีและหลายประเทศในโลก เจ้าหน้าที่หมอและพยาบาลก็เป็นอีกกลุ่มคนที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สอบซูนึง

ความน่าอุ่นใจหนึ่งท่ามกลางบรรยากาศการสอบที่แสนจะน่าประหวั่นพรั่นพรึง คือการที่คนแปลกหน้าตามถนนหนทางล้วนแล้วแต่ร่วมเชียร์ ร่วมให้กำลังใจเด็ก ๆ ผู้เข้าสอบ

และบ่อยครั้งที่ผู้คนที่ผ่านไปมาแถวสนามสอบจะได้เห็นบรรดาพ่อแม่พี่น้องและญาติ ๆ รวมถึงรุ่นพี่รุ่นน้องของผู้สมัครสอบมายืนรอ มาให้กำลังใจนอกรั้วสนามสอบกันตลอดทั้งวัน ราวกับว่าถ้าพวกเขาทุ่มเทกันมากขึ้นสักหน่อย ยืนรอนานขึ้นสักหน่อย หรือแม้แต่สวดภาวนาดังขึ้นอีกหน่อย จะสามารถแปรเปลี่ยนความตั้งใจนั้นเป็นพลังให้กับผู้ที่อยู่ในห้องสอบได้

ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่ผู้ทำสอบและคนรอบข้างมักเชื่อตรงกันคือการงดเว้นอาหารลื่น ๆ เช่น ซุปสาหร่าย ในช่วงสอบ เพื่อไม่ให้โอกาส ‘ลื่น’ หลุดลอย และพยายามกินอาหารที่เป็นมงคล เหนียว ๆ ติด ๆ เช่น ลูกอมย็อด หรือแป้งต๊อก เพื่อให้สอบ ‘ติด’ หรือแม้แต่การใช้อาหารเหล่านี้เป็นของมงคล เพื่อการอธิษฐานให้ลูกหลานโชคดี

แม้ตอนนี้จะถูกสถานที่ต่าง ๆ ประกาศห้ามอย่างจริงจังแล้ว แต่เชื่อว่าคนเกาหลีในเจเนอเรชันนี้ต้องยังไม่ลืมภาพพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่พากันเอาต๊อกไปอธิษฐานแล้วปะติดตามกำแพงมหาวิทยาลัยแน่ ๆ

จริงอยู่ การกระทำเหล่านี้หาข้อพิสูจน์ใด ๆ ไม่ได้ แต่นี่คือสิ่งที่ครอบครัวเลือกจะทำให้ลูกหลานมาทุกยุคทุกสมัย นี่คือหัวใจของ ‘คนที่ทำแทนไม่ได้’ แต่ยอมทำให้ได้ทุกอย่าง

‘ซูนึง’ การสอบที่หยุดทุกอย่างในเกาหลีใต้ การเมือง-มรดกจากอดีต ดันหรือดับอนาคตคน?

รายละเอียดของ ซูนึง

ปัจจุบัน การสอบซูนึง แบ่งเป็น 6 ส่วน คือ ภาษาเกาหลี คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์เกาหลี วิชารอง/วิชาเลือก และภาษาต่างประเทศที่ 2 โดยที่บังคับสอบเพียงวิชาเดียวคือประวัติศาสตร์เกาหลี ซึ่งถึงเป็นเช่นนั้น นักเรียนเกือบทั้งหมดก็มักเลือกจะสมัครสอบให้ครบทุกวิชา เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้ได้มากที่สุด

และวิชา ‘ไม่บังคับสอบ’ ที่ทุกคนบังคับตัวเองให้ต้องสอบเหล่านี้ ก็มักมีโครงสร้างที่ซับซ้อนตามการออกข้อสอบในแต่ละปี เช่น ภาษาเกาหลีที่แบ่งย่อยลงไปเป็นการทดสอบทักษะการเขียนความเรียง ไวยากรณ์ การอ่านจับใจความ และพื้นฐานวรรณกรรม ขณะที่คณิตศาสตร์จะแบ่งเป็นประเภทสำหรับเด็กที่จะเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยข้อสอบส่วนใหญ่เป็นปรนัยเกือบทั้งหมด

การจัดสอบซูนึงจะเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นและหลายคนก็ทราบดี ในวันนั้น ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทุกเที่ยวบิน จะพร้อมใจกับปรับเวลาทำการและลดเสียงรบกวนในการทำงานลงให้ได้มากที่สุด และเพื่อให้นักเรียนเดินทางไปถึงสนามสอบได้รวดเร็วและสะดวกที่สุด

ทำให้ในทุก ๆ ปี เช้าวันพิเศษที่แสนจะเงียบสงบนี้ จะถูกเติมเต็มด้วยเสียงไซเรนหรือรถตำรวจที่ดังก้องอยู่ไกล ๆ จากสถานีใกล้สนามสอบที่สแตนด์บายรออำนวยความสะดวกให้เด็ก ๆ เสียงลุงแท็กซี่ที่ประกาศรับส่งฟรีสำหรับนักเรียนที่ต้องไปสอบ เสียงรถไฟฟ้าที่ย้ายเวลาเดินรถ

รวมถึงเพิ่มเวลาทำการในช่วงสัญจรตอนเช้าสำหรับผู้สมัครสอบโดยเฉพาะ คละเคล้าไปกับเสียงสวดภาวนาตามวัดวาอารามและสถานที่สำคัญของเหล่าผู้ปกครอง และแน่นอน เสียงหัวใจของผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ ‘เส้นแบ่งของสวรรค์กับนรก’ ที่เต้นแทบจะไม่เป็นจังหวะ

“แม่ หนูขอโทษ หนูมันคนล้มเหลว”

“ฉันไม่ดีอะไร ฉันไม่อยากอยู่แล้ว”

จดหมายน้อยฉบับสุดท้ายมากมายถูกเขียนขึ้น หลังจากที่การสอบชี้วัดชะตาชีวิตครั้งหนึ่ง ๆ จบลง ไม่ว่าจะเพื่อตัดพ้อชีวิต หรือเพื่อบอกลาผู้มีพระคุณก็ตาม เหล่านี้คือความจริงใน ‘นรกโชซอน’ ที่ความเจ็บปวดจากระบบวัดคุณค่าบุคลากรถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านประวัติศาสตร์หลากยุคหลายสมัย และได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาแล้วในหลายรัฐบาล

ทั้งหมดนี้ทำให้ยิ่งจำกัดความยากขึ้นไปอีก ว่าแท้จริงแล้วเด็ก ๆ ที่จบมัธยมเป็นผู้รับประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์ หรือเป็น ‘ผู้โดนลูกหลง’ ในสมการนี้กันแน่

มีนักเรียนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่จะคว้าโอกาสที่ตัวเองต้องการไว้ได้ หลังจากบททดสอบที่แสนทรมานนี้สิ้นสุดลง มีคำสวดภาวนาและคำอธิษฐานของผู้ปกครองเพียงหยิบมือเท่านั้นที่จะกลายเป็นจริง และมีเพียงพวกเขาเหล่านี้เท่านั้นที่ยังต้องใช้ชีวิตกับเวลาที่เดินต่อไป

หลังจากที่ทั้งประเทศพร้อมใจกับหยุดนิ่งเพื่อให้พวกเขา ‘มีโอกาสมีสมาธิ’ กับการสอบให้ได้มากที่สุด จากนั้นเครื่องบิน รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ และรถตำรวจ ก็กลับไปทำหน้าที่แบบที่เคยเป็นมา และจะเป็นต่อไปในทุก ๆ วัน มีแค่พวกเขาที่ต้องตัดสินต่อไปว่าหลังจากการเพาะบ่มทักษะมามากกว่า 12 ปี อย่างแทบจะไม่มี ‘วัยเด็ก’ พวกเขาต้องการทำอะไรต่อไปกันแน่ ยิ่งถ้าหากว่าพวกเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ ‘หยิบมือ’ ที่ว่านั้น ชีวิตจะต้องไปทางไหนต่อ

จริง ๆ แล้วคำตอบหรือทางเลือกของผู้ล้มเหลวจากซูนึง มีไม่มากเท่าไหร่ อย่างที่เราได้เห็นจากบทความหรือสกูปข่าวมานักต่อนัก นั่นก็คือคนที่เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้จะลงทะเบียนติวหนังสือเพิ่มอีกปีเพื่อยื่นสอบซ้ำ หางานพิเศษทำเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองหรือมีค่าใช้จ่ายพอสำหรับแผนการขั้นต่อไปของชีวิต

เด็กจำนวนหนึ่งอาจเลือกที่จะปกปิดความจริงนี้กับครอบครัว หรือขาดการติดต่อไปเลย เพราะไม่อยากให้ผู้อื่นผิดหวังไปกับตัวเองด้วย หรือไม่อย่างนั้น ก็เลือกที่จะจบชีวิตที่แสนเหนื่อยยากนี้ลง ทั้งที่ยังไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เสียด้วยซ้ำ เพราะในทางหนึ่ง พวกเขาได้ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว และเพราะในทางหนึ่ง หัวใจของพวกเราได้รับความบอบช้ำมามากพอแล้ว

 

เรื่อง: นิรามัย

ภาพ: Getty Image

อ้างอิง:

All about Suneung CSAT - Korean College Entrance Exam

THE SUNEUNG: THE KOREAN COLLEGE EXAM

Suneung: The day silence falls over South Korea

Historical Analysis of the Policy on the College Entrance System in South Korea[Canadian Center of Science and Education]

Suneung

SUNEUNG day: Korean students' future determined by a single exam

[NOW] Ep.72 - Suneung 2019 / A Day in Hongdae After Suneung Test / New Media Journalism

Suneung: The Most Important Exam for Korean High Schoolers

Taking the “Korean SAT” for the Third Time

'Mom, I'm sorry, I'm a failure.': Exam pressure destroying young Koreans