คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม

คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม

“โอกาสเป็นสิ่งที่ดีไหม ความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ดีไหม เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องเลือกว่าจะเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง มันไม่มีเครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่ทำให้วัตถุประสงค์มันสำเร็จ ยังมีอีกหลายเครื่องมือ ทั้งโอกาส ความเท่าเทียม ทัศนคติคน ความพร้อมต่าง ๆ มันต้องมาใช้ร่วมกัน

“แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างมันมีข้อจำกัด บางทีเราบอกว่าต้องให้โอกาสสิ แต่บางทีโอกาสมันก็ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ความเท่าเทียมมันก็ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันต้องดูบริบทโดยรอบด้วย”

‘ณุ - ภาณุพล ธนะจินดานนท์’ เล่าถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไปหลังจากก่อตั้ง Wheelchair Scuba Thailand เมื่อปี 2558 โครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้พิการได้สัมผัสโลกใต้น้ำ โลกที่กลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมมองว่าเป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์พร้อม ทำให้ผู้พิการมักพลาดโอกาสที่จะใช้ชีวิตตามสิทธิที่พวกเขาพึงมี

สิทธิที่เหมือนถูกปล้น ตั้งแต่วันแรกที่ถูกระบุว่าอยู่ในสถานะพิการ...

ซึ่งต้องยอมรับตามตรงว่าการจะเห็นคนทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะมีสภาพร่างกายแบบไหน สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระในสังคมเรานั้นเป็นเรื่องไกลเกินฝัน แต่เราเชื่อว่าความฝันนั้นอาจจะมาถึงในสักวันหนึ่ง แม้จะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเหล่านั้นมาอยู่ในความครอบครองก็ตาม

เพื่อเปิดโลกในอุดมคติให้กว้างขึ้นอีกนิด The People จึงเดินทางไปพูดคุยกับ ภาณุพล ธนะจินดานนท์ ชายที่เชื่อว่าคนพิการทุกคน ควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงโอกาสที่จะลองใช้ชีวิต เหมือนคนส่วนใหญ่ของประเทศ

“เราก็ต้องสู้กันต่อไป โลกแห่งความจริงมันไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดหรอก”

คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม

โลกที่เปลี่ยนไปหลังจากพาคนพิการพิชิตภูกระดึง

ก่อนที่จะเริ่มก่อตั้งโครงการ Wheelchair Scuba ภาณุพล เล่าว่าเขาเคยทำงานประจำเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีเป็นเวลา 3 ปีเต็ม ก่อนที่จะตัดสินใจลาออก เพราะไม่อยากตกอยู่ในความซ้ำซากของชีวิต จากนั้นก็ใช้ชีวิตไล่ตามความฝันอยู่อีกราว ๆ 1 ปีเต็ม

“ในระหว่าง 1 ปีนั้นเราทำตามความฝันของเราได้แล้วคือการเป็นได้ใบเซอร์ฯ ผู้สอบบัญชี แล้วก็ติดโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย เหมือนความฝันมันสำเร็จไปแล้วก็จริง แต่มันเคว้งนะ ทำสำเร็จแล้วยังไงต่อ ระหว่างนั้นก็เริ่มทำงานอาสา เพราะเราเก็บกดมาจากตอนทำงานประจำ”

ภาณุพลทำงานอาสางานแรก ด้วยการเป็นครูอาสาที่จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2544 แม้จะเป็นแค่ระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็ทำให้เขาได้การค้นพบโลกอีกใบ โลกที่เขาอยากจะพัฒนาให้ดีกว่าเก่า

หลังจากนั้นก็ได้เข้าร่วมงานอาสาอีกหลายแห่ง จนได้รู้จักกับชมรมนักนิยมธรรมชาติ “เราเจอประกาศของชมรมว่าเขาจะเปิดอบรมพี่เลี้ยง แล้วก็มีบางครั้งที่เขาจะพาเด็กพิการไปเดินป่า เราก็สมัครเลย กลายเป็นว่าบทบาทของเราเปลี่ยนแล้ว จากครูอาสาเป็นพี่เลี้ยงค่าย

“เราอยากรู้ว่าการต้องดูแลคนพิการต้องทำยังไง ‘เสี่ยงไหม’ ‘อันตรายไหม’ ‘ไม่ควรไปไหม’ มันเป็นคำถามที่ติดอยู่ในใจ ไม่ใช่แค่กับเราหรอก เราว่ามันน่าจะติดอยู่ในใจของใครอีกหลายคน ต้องดูแลเขายังไง ต้องสอนเขายังไง เขาจะทำได้จริง ๆ ใช่มั้ย มันเป็นคำถามที่วนเข้ามาไม่รู้จบ”

ภาณุพลยอมรับตามตรงว่า เขาเคยคิดว่าคนพิการไม่สามารถทำกิจกรรมอย่างคนที่มีร่างกายปกติได้ แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการเป็นเวลาหลายปี ความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป “ตอนแรกเรามองไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมต้องพาเด็กพิการไปเดินป่า ทำไมเราไม่พาเด็กปกติขึ้นไป แล้วสร้างหรือปลูกฝังอะไรบางอย่างให้เด็กรักป่า เพื่อให้เขากลับมาดูแลธรรมชาติต่อ มันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าหรือเปล่า

คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม “จนพี่ดูแลโครงการเขาบอกไอเดียกับเราว่า การพาเด็กพิการมาเดินป่ามันอาจจะเป็นโอกาสครั้งเดียวของเขา เพราะคงไม่มีใครอยากพามา... อย่าลืมว่าวงจรชีวิตเขาสั้นกว่าปกติ มันก็เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้ไปลอง เขาอาจจะมาครั้งแรกและอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของเขาด้วย

“เราก็เปลี่ยนมุมมองเลย กลายเป็นว่าเรามองเรื่องโอกาสเป็นสิ่งแรก พอทำค่ายบ่อยเข้า เราก็รู้สึกว่ามันน่าจะมีอะไรมากกว่านี้หรือเปล่า ก็เลยเสนอพี่เขาไปว่า ‘พี่ เราพาเด็กขึ้นภูกระดึงกันมั้ย?’ อันนี้แค่เสนอเฉย ๆ นะแต่เขาเอาด้วย” (หัวเราะ)

“พอได้มาสัมผัสก็รู้ว่าเขาทำได้จากคำถามที่เคยสงสัยตอนแรกก็หายไป เสี่ยงไหม อันตรายไหม คุณก็บริหารความเสี่ยงสิ อย่าลืมว่าคนปกติไปก็อันตราย พวกคุณยังเกิดอุบัติเหตุได้เลย แล้วทำยังไงถ้ากลัว อย่างพาเด็กพิการขึ้นภูกระดึงก็ต้องมีพี่เลี้ยง(ค่าย) 1 ต่อ 1 ประกบขึ้นไปเท่านั้นก็ได้แล้ว

ชายตรงหน้าเล่าถึงความหลัง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่สนใจประเด็นคนพิการ มาจนถึงวันที่อยากทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คนพิการได้สัมผัสกับคำว่าโอกาสมากขึ้น “มันเป็นอะไรที่เรารู้สึกสะใจและอิ่มใจไปพร้อมกัน” เขาเล่าพลางทิ้งช่วง 

ซึ่งต้องบอกตามตรงว่าคำว่า ‘สะใจ’ ของชายตรงหน้า เหมือนเป็นการส่งผ่านความรู้สึกทรงพลัง ทั้งคำพูด สีหน้า และท่าทางของเขาเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานของคนหนุ่ม ที่อยากจะทำให้คนในสังคมรับรู้ว่าไม่ว่าถึงร่างกายจะพิการ แต่พวกเขาก็สามารถทำกิจกรรมได้ไม่ต่างจากคนปกติ

นี่คงเป็นความสะใจที่เขาตั้งใจจะสื่อ เพราะทุกโครงการที่ชายคนนี้ปั้นขึ้นมากับมือ เขาอาศัยความรู้สึกอันแรงกล้านี้ขับเคลื่อนแทบทั้งสิ้น “หลังจากพาเด็กไปภูกระดึงเสร็จ ก็เกิดความคิดว่าอยากจะทำกิจกรรมอะไรกับผู้พิการต่อดี มันเหมือนมีแรงผลักดัน เราก็มานั่งคิดว่ามีอะไรบ้าง จนมาเจอกิจกรรมดำน้ำ เพราะว่าตัวเองเป็นคนดำน้ำอยู่แล้ว”

และโครงการ Wheelchair Scuba จึงเกิดขึ้น เพราะความทะเยอะทะยาน และไฟในใจที่ไม่มีวันมอดดับของชายคนนี้ล้วน ๆ

คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม โครงการที่ขับเคลื่อนด้วยความรั้น

ระหว่างทางที่ภาณุพลเริ่มก่อตั้งโครงการ Wheelchair Scuba เขาแทบเริ่มจากศูนย์ ทุกอย่างใหม่หมด ข้อมูลความรู้ทุกอย่างได้มาจากโลกอินเทอร์เน็ต คลังข้อมูลที่ไม่มีคู่มือภาษาไทยแนบท้ายมาด้วย เพราะยังไม่มีคนไทยคนไหนเคยทำโครงการสอนผู้พิการดำน้ำ

“ทำครั้งแรกไม่มีข้อมูลอะไรเลย จนลองหาในกูเกิ้ลดู แล้วก็เห็นว่าเมืองนอกเขาก็มีโครงการลักษณะนี้ ขั้นแรกก็ติดต่อหาครู ขั้นสองคือหาคนพิการมาร่วมโครงการ เจอน้องคนไหนก็ถามเขาว่าสนใจมั้ย จนได้ครบ 5 คน ขั้นสุดท้ายคือเงินทุน เนื่องจากเราลงภาคสระ ค่าใช้จ่ายไม่แพงมาก เราก็ออกเองหมด เพราะเราอยากทำไง (หัวเราะ) พอครบ 3 อย่างปุ๊บก็เริ่มโครงการแรกเลย”

ถ้าไม่มีข้อมูลของต่างประเทศมาช่วยซัพพอร์ต คุณยังอยากจะทำโครงการ Wheelchair Scuba อยู่อีกไหม - เราถาม “ก็ยังทำอยู่ดี อยากทำไง แต่การมีหลักการหรือข้อมูลอะไรบางอย่างมาช่วย ก็เป็นการการันตีได้ว่ามันปลอดภัยที่จะทำ

“ปกติครูสอนเด็กทั่วไปจะเป็นครู 1 คนนักเรียน 4 – 6 คน แต่สำหรับที่นี่วีลแชร์ 1 คน ใช้ครู 1 คน แล้วก็ผู้ช่วยอีก 1 คน มันก็เลย Over Standard เพราะว่าเราต้องการป้องกัน ให้มันมีความปลอดภัยมากที่สุด

คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม “พอทุกคนรอดจากภาคสระหมด เราก็กะจะพาเขาไปทะเลอยู่แล้วเพื่อความสมบูรณ์ แต่ว่าเราไม่ได้บอกเขาตรง ๆ ว่าจะพาไป เพราะไม่อยากสร้างความหวัง เดี๋ยวบอกว่าจะพาไปทะเล แล้วทักษะเขาไม่ผ่านเขาก็อดไป เลยไม่สร้างความหวังตั้งแต่แรกดีกว่า

“ซึ่งการพาคนพิการไปทะเลมันเป็นเรื่องใหม่มากนะสำหรับประเทศไทย เราไม่มีคู่มือ ไม่มีอะไรเลย ลองกันเองโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเขามาเป็นอันดับหนึ่ง ตอนแรกก็กังวล ที่มันตลกอีกอย่างคือพอเราจะไปทะเล ผมก็ลองเสิร์ชกูเกิ้ลดู หาข้อมูลเพิ่มอีก ก็เจอของต่างประเทศ ก็เลยโล่งใจแล้วว่าเขาพาไปได้แสดงว่ามันปลอดภัย”

หลังจากเริ่มโครงการบนเส้นทางขรุขระ ได้รับบทเรียนมานับครั้งไม่ถ้วน โครงการ 2 จึงตามมา และโครงการนี้ทำให้เขาถึงกับสะอึก เพราะโลกความจริงมันโหดร้ายกว่าที่ตาเห็น

คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม “เหตุการณ์ที่ทำให้เราอินมาก ๆ คือตอนทำโครงการ 2 เพราะเมื่อก่อนเราทำค่ายกับเด็กพิการ ส่วนใหญ่เขาก็จะพิการตั้งแต่กำเนิด แต่สำหรับโครงการนี้ พอเราเปิดรับสมัครผ่านเพจเฟซบุ๊ก เราพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่น่าจะประมาณ 60 - 70 เปอร์เซ็นต์ ที่สมัครเข้ามาเคยเดินได้มาก่อน

“กลายเป็นพบว่าชีวิตมนุษย์เรามันไม่แน่นอนเลย แต่มันก็สอนเราว่า ในอนาคตเราก็อาจจะพิการเมื่อไหร่ก็ได้ พอทำโครงการ 3 ก็ได้สัมผัส ได้เห็นถึงความยากลำบากของเขามากขึ้นไปอีก เหมือนความจริงมันกระแทกหน้า สั่งสมมาเรื่อย ๆ จนทำให้เรารู้ว่าเวลาคนพิการเขาเรียกร้องสิทธิอะไร เราก็พร้อมจะสนับสนุนเขาทุกเมื่อ

“เราไม่ได้เป็นคนดีขนาดนั้นหรอก” (ยิ้ม)

“แต่เรามองตัวเราเองว่าวันหนึ่ง เราอาจจะพิการก็ได้นะ ถึงวันนั้นถ้าเราพิการ แล้วเราขอสิทธินู่นนี่นั่นมันก็ไม่ทันแล้ว การเรียกร้องสิทธิแต่ละอย่างมันใช้เวลานานมากกว่าจะได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากสร้างสังคมแบบไหน ตอนนี้ยังพอมีแรง ก็ลุกขึ้นมาสร้างมัน ทำอะไรได้ก็ทำ แม้ว่าเราจะไม่ได้พิการในตอนนี้ แต่คุณไม่รู้อนาคตหรอกว่าจะพิการตอนไหน

“อย่างน้อยทุกคนก็ต้องแก่ พออายุเยอะก็อาจจะต้องนั่งวีลแชร์ แล้วถ้าคุณต้องใช้ชีวิตแทบทั้งวันบนวีลแชร์ คุณเกิดอยากจะออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน พอคุณอออกมาเห็นสภาพถนนเอยอะไรเอย มันไม่เอื้อให้คุณได้ใช้ชีวิตเลย คุณจะทำยังไง มันก็ได้มุมมองเหล่านี้เข้ามา อะไรที่ช่วยเขาได้เราก็ยินดีจะช่วย”

แต่ความรั้นที่จะทำโครงการสอนผู้พิการดำน้ำของภาณุพล จะไม่สามารถเป็นจริงได้เลย หากขาดครูอ๊อด ครูสอนดำน้ำผู้ยินดียกพื้นที่สระว่ายน้ำในความดูแลของเขา ให้ภาณุพลและผู้เข้าร่วมโครงการใช้งานได้อย่างอิสระ

คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม ครูอ๊อด ครูผู้ทำให้ความฝันที่จะสัมผัสโลกใต้น้ำของคนพิการเป็นจริง

‘ครูอ๊อด – ทศพร แดงเดช’ ผู้ใช้เวลาท่องโลกใต้น้ำมาเป็นเวลา 29 ปีเต็ม และเจ้าของร้าน ODD DIVE Thailand อีกทั้งยังเป็นครูสอนดำน้ำให้กับ ‘ธันย์ - ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์’ ผู้เคยประสบอุบัติเหตุตกรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์ จนสูญเสียขาทั้งสองข้างตั้งแต่อายุ 14 คือหนึ่งในคนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้โครงการ Wheelchair Scuba ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเปิดให้คนพิการที่เข้าร่วมโครงการใช้บริการสระได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“ผมสอนดำน้ำอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อก่อนเขาจะมีการเก็บตัวนักกีฬาพาราลิมปิค หลังจากซ้อมเขาก็จะชอบมานั่งดูผมสอนดำน้ำ เขาก็ถามผมมาคำถามนึงว่า ‘พี่ อย่างหนูจะดำน้ำได้มั้ย’ ผมบอกตามตรงว่าตอนนั้นผมไม่รู้ เพราะผมไม่เคยสอน ก็ถามเขากลับว่าอยากลองมั้ย จนได้คุยกับณุแล้วเห็นว่าเขามีโครงการนี้ ก็เลยเข้าร่วมกับเขาด้วยตั้งแต่โครงการแรก”

คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม ครูสอนดำน้ำผู้ไม่เคยมีประสบการณ์สอนคนพิการมาก่อน ต้องพัฒนาหลักสูตรและพยายามทำความเข้าใจความต้องการของลูกศิษย์กลุ่มใหม่ให้ได้มากที่สุด ขณะกำลังดำดิ่งไปในโลกที่เขาไม่รู้จัก ครูอ๊อดกลับพบว่าช่องว่างระหว่างคนที่มีร่างกายปกติและคนพิการนั้นแคบกว่าที่คิด ทุกคนคือคนเหมือนกัน มีเพียงแค่ร่างกายเท่านั้นที่แตกต่าง

“เขาก็คือคน ๆ หนึ่งเหมือนเรา แต่ว่าการเกิดมาในสังคมไทยเราต้องยอมรับว่ามันลำบาก บ้านเราไม่ซัพพอร์ตพวกเขาเท่าที่ควร แล้วยังมีความเห็นแก่ตัวของคนปกติอีก ทุกวันนี้เวลาผมเห็นข่าวเรื่องคนปกติมาแย่งที่จอดรถผู้พิการ ข่าวเรื่องลิฟต์คนพิการ ข่าวอะไรพวกนี้มันทำให้ผมโกรธ ทั้งที่ความจริงมันเป็นสิทธิของคนพิการ เขาต้องได้ใช้มัน แต่คนปกติชอบไปแย่งสิทธิตรงนี้ไปจากมือพวกเขา”

น้ำเสียงของเขาขุ่นมัว เมื่อพูดถึงสิทธิผู้พิการที่มักถูกคนปกติแย่งไปจากมือ แต่เมื่อมองย้อนกลับมายังช่วงเวลาที่เขาได้ใช้ร่วมกับคนพิการ ทำให้เขาได้พบกับขุมพลังอันใหม่ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจชั้นดี ที่ทำให้เขายังอยากทำอะไรเพื่อตอบแทนสังคมที่เต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัว (ตามทรรศนะของเขา) คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม “การอยู่กับคนพิการทำจิตใจเราแข็งแกร่งขึ้น ทุกคนก็จะมีเรื่องท้อแตกต่างกันไป แต่บางทีถ้าเรามองกลับไปยังคนเหล่านั้น เราเดินขึ้นบันไดธรรมดายังเหนื่อยเลย ของเขานี้ถ้าไม่มีทางลาด เขาต้องค่อย ๆ ไต่ขึ้นมา เขายังสู้ชีวิตเลย แล้วทำไมเราถึงไม่สู้อย่างเขา

“ถ้าถามว่าทุกวันนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน ก็มาจากพวกเขานี่แหละ หลังจากที่เราช่วยงานณุแล้ว มันทำให้เรามีความสุข ทำให้รู้สึกว่า ‘โอกาส’ มันสร้างได้ แล้วผมก็ภูมิใจที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะได้มีโอกาสทำงานตรงนี้

“มันทำให้รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นรอยยิ้มของเขา พอเราทำได้ก็เหมือนกับเราได้ให้โอกาสเขาหลาย ๆ อย่าง เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่มันไม่เคยมีมาก่อน บางคนอาจจะไม่กล้าลอง ไม่กล้าเสี่ยง แต่ผมบอกตรงนี้เลยว่าสังคมเราถ้าไม่กล้าเปิดรับ ไม่กล้าเปิดโอกาส มันก็จะอยู่กับที่ อะไรใหม่ ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน”

ส่วนความฝันของครูอ๊อดที่มองผ่านโครงการ Wheelchair Scuba เขาบอกกับเราตามตรงว่า เขาไม่ได้คาดหวังมากนักว่าจะเห็นสังคมคนพิการเปลี่ยนแปลง เพียงเพราะโครงการเพียงโครงการเดียว “เราต้องยอมรับนะว่าผู้พิการมีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุก็มาจากอุบัติเหตุเป็นตัวหลักเลย มันเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันควรมีเรื่องสิทธิหรือสวัสดิการของคนพิการให้มากขึ้นกว่านี้จะดีกว่ามั้ย

“ผมไม่ได้มองว่ามันจะต้องสำเร็จภายในเดือนสองเดือน มันอาจจะใช้เวลาเป็นปีหรือสิบปี แต่ขอเถอะ ถ้าคุณช่วยอะไรได้ก็ช่วยกันหน่อย ค่อย ๆ ทำก็ได้ เปลี่ยนให้มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างคนปกติ” คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม พื้นที่และโอกาสสำหรับคนพิการ

“เราได้บทเรียนจากน้องที่มาโครงการแรก เหมือนเราได้เรียนรู้ว่าการที่เราให้โอกาสเขา สุดท้ายเขาก็ทำได้อย่าไปปิดกั้นโอกาสเขา มันอยู่ที่ทัศนคติเรา ดังนั้นถ้าคนมาคลุกคลีกับคนพิการมากขึ้น มันก็จะเปิดทัศนคติมากขึ้น”

ภาณุพลตอบ หลังเราถามคำถามว่าจะมีโอกาสได้เห็นสังคมไทยเปิดกว้างให้คนพิการ สามารถทำอะไรได้อย่างอิสระบ้างไหม พร้อมเสริมว่า “โอกาสเป็นสิ่งที่ดีไหม ความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ดีไหม เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องเลือกว่าจะเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง มันไม่มีเครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่ทำให้วัตถุประสงค์มันสำเร็จ ยังมีอีกหลายเครื่องมือ ทั้งโอกาส ความเท่าเทียม ทัศนคติคน ความพร้อมต่าง ๆ มันต้องมาใช้ร่วมกัน

“แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างมันมีข้อจำกัด บางทีเราบอกว่าต้องให้โอกาสสิ แต่บางทีโอกาสมันก็ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ความเท่าเทียมมันก็ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันต้องดูบริบทโดยรอบด้วย มันไม่ใช่แค่มิติเดียว มันมีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวอีกเยอะมาก”

คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม ภาณุพลได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกนิด ด้วยการนำกรณีของการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เขาอธิบายว่าเสียงส่วนใหญ่อาจจะมองเรื่องความเท่าเทียม การสร้างกระเช้าอาจเป็นการมอบโอกาสให้คนพิการเข้าถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติได้ง่ายขึ้น แต่การกระทำลักษณะนี้อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

“คือเปิดโอกาสให้เป็นสิ่งที่ดี แต่มันมีเงื่อนไขอย่างอื่นที่มันอาจจะทำให้ไม่สามารถใช้โอกาสนี้ได้ ต้องยอมรับไหม ก็ต้องยอมรับ มันเป็นปกติของโลก”

แล้วความหวังของคุณที่มีต่อโครงการนี้คืออะไร เราถามคำถามสุดท้าย “ถ้าเรามองแบบว่าหวังให้สุดไปเลย ก็คือผมไม่ต้องทำ (ยิ้ม) แต่เป็นประเทศไทยที่มองเห็นคนพิการมากขึ้น แล้วประเทศนี้ก็พร้อมที่จะทำเพื่อพวกเขา นั่นคือความหวังสูงสุด

“มันคือความฝันที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เพราะฉะนั้นมันก็ได้แค่หวังว่ามันจะไปได้ถึงไหน เราสามารถหยุดทำโครงการนี้ได้มั้ย ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีคนเข้ามาทำตรงนี้ ด้วยอุปสรรคอะไรหลาย ๆ อย่าง ต้องหาครู เงินสนับสนุนก็ต้องมี อย่าลืมว่าการทำโครงการลักษณะนี้มีค่าใช้จ่ายเยอะมาก ถ้ามีคนที่พร้อมมาช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างสังคมที่สมบูณ์พร้อม เราก็จะยินดีและอิ่มใจมากเลยถ้ามีอะไรแบบนั้นเกิดขึ้น”

คุยกับผู้ก่อตั้ง Wheelchair Scuba โครงการสอนผู้พิการดำน้ำให้สัมผัสโลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียม
ก่อนที่เราจะเอื้อมมือไปกดปิดเครื่องอัดเสียง ภาณุพลบอกกับเราเพิ่มเติมถึงจุดเริ่มต้นของการดำน้ำว่าเกิดมาจากคำถาม ‘ชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร’ หลังจากขบคิดเขาก็ตระหนักได้ว่า ชีวิตเกิดมาเพื่อมีความสุข เขาจึงเพียรหาความสุขมาเติมเต็ม แต่สุดท้ายสิ่งที่ได้มานั้นกลับว่างเปล่า

“ผมเลยตั้งคำถามเดิมกับชีวิตตัวเองอีกรอบ ก็พบว่าชีวิตเราเกิดมาแล้ว ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม มันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีคุณค่า เป็นชีวิตที่สมควรจะเกิดมา เพราะเราได้ตอบแทนสังคม เลยบ้างานอาสา” (หัวเราะ)

“การได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนพิการหรืองานอาสาอะไรก็แล้วแต่ มันไม่ได้เป็นแค่ความรู้สึกที่สุขแค่เพียงผิวเผิน แต่มันสุขทุกครั้งที่นึกถึง”

แม้โลกแห่งโอกาสและความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้อย่างยากเย็น แต่ภาณุพล ครูอ๊อด และผู้มีส่วนร่วมในโครงการอีกหลายชีวิต ก็ทำให้เห็นแล้วว่า หากมีคนเริ่มทำและสานต่อ สังคมในอุดมคติก็อาจจะค่อย ๆ ขยับเข้ามาใกล้ความจริง ถึงจะขยับมาเพียงหนึ่งมิลลิเมตร อย่างน้อยการที่มีคนเริ่มขยับ ช่องว่างระหว่างคนที่มีร่างกายปกติกับคนพิการ อาจจะย่นระยะลงมาได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

 

ภาพ: ภาณุพล ธนะจินดานนท์, กัลยารัตน์ วิชาชัย (The People Junior)