วิถีนักเคลื่อนไหวแบบ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ “สวรรค์ของ LGBTQ+ ที่มีการกดทับอยู่”

วิถีนักเคลื่อนไหวแบบ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ “สวรรค์ของ LGBTQ+ ที่มีการกดทับอยู่”

ต้น - ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมรุ่นใหม่ เรียกร้องสิทธิเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้มองว่า “ไทยถูกมองเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+...แต่ที่นี้ การกดทับยังคงมีอยู่” และความหวังในการเปลี่ยนแปลง

  • ศิริศักดิ์ ไชยเทศ คือนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่สัมผัสบรรยากาศการเรียกร้องสิทธิเพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
  • แม้จะพบว่ามีอุปสรรคมาโดยตลอด แต่ทุกคนเชื่อว่า ความหวังยังมีเสมอ ถึงจะช้า แต่เชื่อว่าวันนั้นต้องมาถึง

“สังคมไทยถูกมองว่าเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+ ใช่ไหม แต่ที่นี้ การกดทับมันยังคงมีอยู่” เสียงสะท้อนจาก ต้น - ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ที่สัมผัสกับบรรยากาศและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาในปี 2022 จนถึงช่วง Pride Month เมื่อเดือนมิถุนายน ข่าวคราวความเคลื่อนไหวเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศปรากฏเด่นชัดควบคู่กับการพิจารณาร่างพ.ร.บ. แก้ไขกฎหมายเกี่ยวข้องกับการสมรสและสิทธิอื่นของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และในที่สุด สภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต

แม้จะยังเหลือเส้นทางการพิจารณาอีกยาวไกลในวาระที่ 2-3 แต่จากความคืบหน้าล่าสุด สำหรับนักกิจกรรมและกลุ่มผู้ผลักดันความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายคนมองว่า อย่างน้อยยังถือเป็นสัญญาณเชิงบวก แสดงให้เห็นถึงความหวังในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในอนาคต แต่ในปัจจุบันขณะ หลายคนยอมรับว่ายังมีประเด็นที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอีกไม่น้อย

“สังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกมองว่าเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+ ใช่ไหม แต่ที่นี้การกดทับมันยังคงมีอยู่ และที่สำคัญก็คือคนยุคพี่ เวลาที่จะถูกกดทับ หรืออยากจะลุกขึ้นมาทำอะไร สมัยก่อนมันทำไม่ค่อยได้ พอจะทำอะไรขึ้นมารู้สึกว่าจะเป็นตัวแปลกประหลาด แล้วก็รู้สึกว่าจะถูกห้าม ไม่ให้ทำ แม้กระทั่งในโรงเรียนตอนสมัยก่อนที่พี่เรียนอยู่” ต้น - ศิริศักดิ์ ไชยเทศ อีกหนึ่งนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเอง

ช่วงเวลาหนึ่ง ต้น - ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ทำธุรกิจส่วนตัวกับที่บ้านควบคู่ไปกับงานสาย NGOs ขณะเดียวกันก็ยังเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางเพศอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2552 เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในงานพาเหรดที่ใช้ชื่อว่า ‘เชียงใหม่ เกย์ ไพรด์’ (Chiang Mai Gay Pride) [ชื่องานที่ใช้ในอดีต ปัจจุบันเป็นงาน Chiang Mai Pride 2022]

งานครั้งนั้นปรากฏกลุ่มคนที่เรียกกันว่า ‘กลุ่มรักเชียงใหม่ 51’ เข้ามาล้อมพื้นที่จัดงาน ปาสิ่งของ ตะโกนด่าทอ และกดดันให้ยุติงาน ท้ายที่สุด ต้นและเพื่อน ๆ ตัดสินใจยุติจัดงานลง เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตของคุณต้น จนนำมาสู่การตัดสินใจว่าจะต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

จากเหตุการณ์เมื่อกว่าสิบปีก่อน มาจนถึงวันนี้ ต้น - ศิริศักด์ ไชยเทศ ยอมรับว่า สังคมเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว

“ปัจจุบันนี้มันเหมือนกับว่า มีแรงขับทางสังคม แล้วก็ความกดขี่ที่มันเกิดขึ้นกับน้อง ๆ เยาวชน มันมีแรงสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งตัวเพื่อนของเขาเอง สังคมรอบข้าง หรือองค์กรต่าง ๆ มาช่วยกัน มันก็เลยทำให้เขาเอาความกดดันตรงนั้นสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนได้ แล้วเด็กสมัยนี้เขาเก่งกันเรื่อง Social Network ด้วย มันก็ใช้จุดตรงนี้ในการขับเคลื่อนแบบช่วยกันอย่างมหาศาลมาก”

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในสังคมท่ามกลางพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ เมื่อขับเคลื่อนจากความเปลี่ยนแปลงทางแนวคิด ไปจนถึงประเด็นเชิงโครงสร้าง กลับพบอุปสรรค สิ่งที่กลุ่มคนหรือองค์กรเพื่อสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศผลักดันกันมาตลอดในรอบทศวรรษที่ผ่านมาคือแก้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายที่นำเสนอเพื่อให้แก้ไขนั้น กลับปรากฏว่ามีหลายร่างซึ่งต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งก็สร้างความสับสนให้คนที่ติดตามความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ คุณต้น - ศิริศักดิ์ ไชยเทศ เล่าความแตกต่างของร่างกฎหมายไว้โดยคร่าวว่า ร่างพ.ร.บ. ที่เรียกว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ เน้นหลักความเสมอภาคของทุกเพศรวมถึง LGBTQ+ ด้วย แต่ของพ.ร.บ.คู่ชีวิต เขาพูดถึงนิยามให้คู่รัก LGBT เป็น ‘คู่ชีวิต’ ส่วนร่าง พ.ร.บ. ‘สมรสเท่าเทียม’ เขานิยามให้ทุกคู่เป็น ‘คู่สมรส’

ส่วนของพ.ร.บ. คู่ชีวิต คู่ชีวิตได้รับสิทธิ์หรือสวัสดิการน้อยกว่าคู่สมรส ส่วนของสมรสเท่าเทียม คู่สมรสทุกคู่มีสิทธิ์และสวัสดิการเท่ากันโดยไม่แบ่งแยก ก็คือยกสิทธิของกฎหมายสมรสนั้นมาเลย แต่ของคู่ชีวิตอาจยังไม่ครอบคลุมสิทธิ์หรือสวัสดิการบางประการเช่น การหมั้น สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ หรือเรื่องของสิทธินอกเหนือจากภาษี

ถ้าถามว่าในความเป็นนักเคลื่อนไหวต้องการร่างไหน แน่นอนว่า ต้องการได้ร่าง ‘สมรสเท่าเทียม’ คุณต้น - ศิริศักดิ์ ไม่ต้องสาธยายมาก เพราะแค่ชื่อก็แสดงชัดเจนแล้วว่า ‘สมรสเท่าเทียม’

“เราเห็นหลายข่าวหลายคู่แล้วที่เป็นคู่รัก LGBTQ+ ข้าราชการ ป่วยอะไรมา เบิกให้กันไม่ได้ แต่คู่รักชายหญิงเบิกให้ได้เพราะเขาเป็นคู่สมรส ทำให้หลายคู่ต้องเสียคนรักของเขาไป เพราะว่าเขาไม่มีปัญญาพอที่จะเบิกข้าราชการ เพราะยาบางตัวที่เป็นโรคร้ายแรงมันแพงมาก

ถ้าเกิดว่าสิทธิของข้าราชการของชายหญิงสามารถคละกับ LGBTQ+ ได้ ถ้ามีคู่รักคนไหนเขาสามารถเบิกได้ คู่รักเขานั้นก็ไม่ต้องตาย หรือรวมไปถึงที่คนเขาพูดกันเยอะแยะ อย่างเช่น เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินรถชน เกิดเหตุอุบัติเหตุอะไรมา ต้องเซ็นผ่าตัดใหญ่ทันที เขาต้องไปรอให้ครอบครัวญาติพี่น้องมาเซ็นอนุญาตแทน เพราะกฎหมายเขาไม่ได้รับรองคู่รัก LGBTQ+ ว่าเป็นครอบครัว ทำให้หลายคู่ที่ไม่สามารถเซ็นแล้วก็เสียชีวิตไป

หรือแม้กระทั่งกฎหมายพ.ร.บ.รับรองเพศสภาพด้วย ประเทศไทยไม่มีการรับรองเพศสภาพ คุณรู้ไหมว่าเรามีหลายเคสที่เป็นครูข้าราชการ ครูข้าราชการคนข้ามเพศเขาใช้ชีวิตความเป็นผู้หญิงข้ามเพศมาหลายสิบปี แล้วสอนนักเรียนมา 13 ปี แต่ราชการไม่สามารถออกบัตรข้าราชการให้คนนี้ได้ เพราะว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด และเขาไม่ยอมที่จะแต่งกายเป็นผู้ชายในบัตรข้าราชการ แบบนี้คิดดูสิ เป็นครูข้ามเพศมา 13 ปี แต่ไม่มีบัตรข้าราชการเพียงเพราะว่าเพศสภาพไม่ตรงเพศกำเนิด

อันนี้ก็เป็นอีกกฎหมายหนึ่งเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต เรื่องของกฎหมายการรับรองเพศสภาพที่ประเทศไทยยังไม่ได้รับรองคนข้ามเพศ นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ เลยว่า ไม่มีกฎหมายรับรองคุณภาพชีวิตของคนคนหนึ่ง มันส่งผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างไรบ้าง หรือแม้กระทั่งคนข้ามเพศหลายคน ต่างประเทศบางคนต้องไปแก้ผ้าให้ตม.ดูนะ มันถือว่านอกจากสิทธิไม่ได้แล้ว ยังถูกละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายอีก”

ข้อจำกัดเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะถูกเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตเมื่อสภาฯ รับหลักการร่างพ.ร.บ. ต่าง ๆ ที่ถูกหลากหลายฝ่ายนำเสนอไป อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางการผลักดันแก้ไขเชิงโครงสร้างตลอดทศวรรษที่ผ่านมาเป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นว่าการแก้ไขปรับเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องราบรื่นเลย แม้แต่ดำเนินการในระบบตามขั้นตอนตามปกติ ยังไม่นับเรื่องเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่คาดฝันซึ่งหลายครั้งเหตุการณ์ลักษณะนี้กระทบต่อการดำเนินการ

ในมุมมองของคุณต้น – ศิริศักดิ์ เชื่อว่า อุปสรรคส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในเส้นทางที่ผ่านมามาจาก ‘ความเข้าใจ’ ของคนในสังคม

“พี่เชื่อว่า มันยังคงเป็นความเข้าใจในสังคมอยู่ คือคนส่วนใหญ่มักจะกลัวเรื่องเสียผลประโยชน์เพราะเขาไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่ าจริง ๆ แล้วการที่มีกฎหมายหรือเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน ถ้ามันออกกฎหมาย ถ้ามันออกมาแล้วรับรองคุณภาพชีวิตคนนั้นเท่าเทียมกัน ความจริงมันไม่ได้มีใครเสียผลประโยชน์เลย มีแต่ได้ประโยชน์ มีแต่เพิ่มทางเศรษฐกิจ แล้วก็เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี

แต่คนเคยชินไง เคยชินกับการมีแบบนี้ แล้วก็เลยคิดว่าถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงแล้วมันจะเสียผลประโยชน์จากตรงอื่นหรือเปล่า อาทิเช่น ถ้ามีกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างนี้ แล้วเรื่องราชการ เงินภาษี เงินคงคลังจะไปกระทบหรือเปล่า ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่ คือเขาเข้าใจผิด เพราะมันเคยชินกับสิ่งเหล่านี้มา”

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างที่คุณต้น - ศิริศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตไว้คือ บรรยากาศทางการเมือง

“พูดง่าย ๆ คือมันมีผลประโยชน์ เรื่องของความเป็นการเมืองอยู่ด้วย คือแทนที่จะมองที่เป้าหมายของประชาชน แต่กลับมองว่าถ้ามันออกมาจากฉัน ฉันก็จะได้หน้า ถ้ามันออกมาจากฉัน ฉันจะมีผลงานเพื่อคะแนนเสียงต่าง ๆ หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ ความเป็นนักการเมืองไทยมีเรื่องแบบนี้อยู่

อันนี้ก็ถือเป็นอุปสรรคใหญ่อันหนึ่งที่ทำให้กฎหมายมันออกมาล่าช้า เพราะว่าแทนที่เราจะรวมตัวกันให้เห็นความสำคัญของกฎหมายภาคประชาชนเป็นสำคัญเป็นที่ตั้งแล้วทำทุกอย่างให้มันเป็นฉบับเดียว แล้วให้มันดี ให้มันเลิศ ให้มันเท่าเทียมกัน มันจบไปนานแล้ว ถ้าเกิดว่าแต่ละพรรคไม่แยกความเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือพรรคฉันพรรคเธอ ฉันก็อยากออก เธอก็อยากออก

มันก็เลยเป็นปัญหาสำคัญว่ากฎหมายของประเทศไทยอาจทำให้เกิดความล่าช้า เพราะหัวสมองของนักการเมือง...ก็ไม่ได้หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง สุดท้ายก็คือทุกคนก็มองนโยบายพรรคเป็นของตัวเองเป็นที่ตั้งอยู่ดี”

แม้จะมองว่าเส้นทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล แต่สำหรับนักกิจกรรมและกลุ่มคนที่เฝ้าติดตามเอาใจช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงล้วนมองว่า ทุกอย่างยังมีความหวังเมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศทางสังคม ได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ สื่อสังคมออนไลน์ และสื่อมวลชนต่าง ๆ ที่ล้วนรวมพลังเคลื่อนไหวเพื่อความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นสำหรับทุกกลุ่ม

“การยอมรับเพียงแค่ว่ามีคาบาเร่ต์โชว์เยอะ มีอาชีพช่างแต่งหน้าเยอะ มีอาชีพภาพลักษณ์แบบตลกเยอะ แต่คุณภาพชีวิตในทางกฎหมายไม่มีเลย มันไม่ได้เรียกว่าการยอมรับ เขาเรียกว่าการมองเห็นเพียงผิวเผินแค่นั้นเอง

ฉะนั้น ถ้าถามว่าอยากให้สังคมเข้าใจยังไง สังคมเข้าใจง่าย ๆ เลย คุณมองแค่ว่าพวกเราเป็นคน และอย่ามองแค่ว่าโลกนี้มีแค่สองเพศ โลกนี้มีมากมายหลากหลายเพศ แค่นั้นเอง โลกนี้มันมีความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่มีแค่ระบบชายหญิงแค่นั้นเอง”