เพิ่ม Thepeople
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
ติดตั้ง
ปิด
read
social
30 มี.ค. 2563 | 16:37 น.
วารินทร์ เทศนิยม กระเป๋ารถเมล์ที่ยืนหยัดในหน้าที่ แม้ช่วงเวลา “โควิด”
“โควิดยิ่งกว่าเทศกาลอีกนะ ถนนก็โล่ง คนก็โล่ง ตั้งแต่ที่เริ่มระบาดมากขึ้น แล้วมาเจอมาตรการแบบนี้ แทบไม่มีคนเลยต่อวัน ตอนนี้อย่าว่าแต่พันคน ร้อยคนยังไม่ถึง”
จากจำนวนผู้โดยสารร่วมพันคนที่
วารินทร์ เทศนิยม
กระเป๋ารถเมล์ประจำสาย 36 ที่วิ่งเส้นห้วยขวาง-สี่พระยา ต้องพบเจอทุกวัน แต่ในวันที่เชื้อโควิด-19 กระจายตัว ผู้โดยสารกลับบางตาเหลือเพียง 30-40 คนต่อวันเท่านั้น บางเที่ยวแค่ 6-7 คนด้วยซ้ำ
ตั้งแต่ตีสามของวันจนถึงเวลาที่พระอาทิตย์แทบจะลับขอบฟ้าอยู่รอมร่อ บนรถเมล์ก็ยังคงมีแค่คนไม่กี่คน ถึงอย่างนั้น วารินทร์ หรือ “พี่วารินทร์” ของน้อง ๆ พนักงาน ขสมก. หลายคน ก็ไม่ได้มีท่าทีอ่อนล้าแต่อย่างใด เธอเล่าว่าแต่เดิมทำงานเพียงกะเดียว คือ เข้างาน 6 โมงเช้า ออกตอนบ่ายสอง จะได้เปอร์เซ็นต์ค่าตั๋วซึ่งเพิ่มเติมมาจากเงินเดือนที่ได้ทุกเดือนอยู่แล้วกว่า 4,000 บาท แต่เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จำนวนคนที่ลดลงคือรายได้ที่น้อยลงเช่นกัน อย่างตอนนี้เงินเปอร์เซ็นต์ค่าตั๋วลดฮวบ แม้จะทำงานทั้ง 2 กะ คือ 16 ชั่วโมง ก็ได้เงินแค่ 1,500 บาท ไม่ใช่แค่ 1 ใน 4 ของที่เคยได้ แต่อาจเรียกได้ว่าเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นเอง
“เมื่อก่อนคนบนรถเมล์อัดจนแทบจะเป็นผัวเมียกัน ตอนนี้กระเป๋ารถเมล์ชอบแซวกันว่า
‘เงียบจนผีจะหลอก’”
วารินทร์เล่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่เกินไปจากที่เธอพูดเลยสักนิด เพราะเมื่อก่อนผู้โดยสารอัดแน่นราวกับปลากระป๋อง แต่ระยะหลังที่ข่าวโควิด-19 ทำเอาคนกรุงหวาดวิตก จำนวนผู้โดยสารก็เริ่มลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับจำนวนรถราบนท้องถนนที่ทยอยหายไปด้วยเช่นกัน
แม้วารินทร์จะเล่าไปหัวเราะไป แต่นั่นอาจเป็นความตลกร้ายที่ชีวิต ‘คนรายวัน’ ต้องเจอ
ชีวิตของกระเป๋ารถเมล์จะได้เงินจาก 3 ทาง คือ เงินเดือนที่ยังคงได้อยู่ทุกเดือน เงินค่าเปอร์เซ็นต์จากตั๋ว และสุดท้ายคือค่าเบี้ยเลี้ยงที่ได้ 20 บาทต่อวัน ทุกวันนี้เงินเดือนจึงเป็นเพียงช่องทางรายได้หลักที่ทำให้พอมีกินอยู่บ้าง ความโชคดีเดียวที่วารินทร์บอกคือ เธอไม่มีครอบครัว ภาระหลายอย่างจึงไม่มี เงินเดือนราว 2 หมื่นบาท บวกกับเปอร์เซ็นต์จากากรขายตั๋ว จึงเพียงพอที่จะใช้ชีวิตยามวิกฤตเช่นนี้
“ที่เรามีงานทำเราว่าก็บุญแล้ว นึกถึงคนที่ไม่มีงานทำเขาลำบากกว่าเราอีก”
วารินทร์บอก
แม้ไม่มีครอบครัว แต่เธอยังมีหลาน ๆ ที่ต่างจังหวัดรอคอยการกลับบ้านของ “ป้าวารินทร์” เพราะทุกครั้งที่กลับไปหาครอบครัวใหญ่เมื่อไหร่ วารินทร์ก็มักจะหอบหิ้วสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปแจกหลาน ๆ ที่บ้าน เรียกรอยยิ้มและความสุขจากทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่มาปีนี้ที่โรคภัยทำเศรษฐกิจทรุด ค่าใช้จ่ายจึงต้องถูกกันไว้เพื่อปากท้องและสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตเท่านั้น สงกรานต์ปีนี้จึงไม่เหมือนทุกปีที่ผ่านมา
“เรามีกันแค่
3 คนพี่น้อง เวลาจะกลับบ้านแต่ละที อย่างช่วงสงกรานต์ ก็ต้องคิดแล้วว่าจะซื้อนั่นนี่ไปให้ ไหนจะพี่สาว ไหนจะหลาน แต่ปีนี้ถ้ากลับเราก็ต้องกักตัว เลยต้องอยู่กรุงเทพฯ เราก็รอนะ เขาเลิกประกาศเมื่อไหร่ เราคงได้กลับบ้านไปหาทุกคน”
เกือบครึ่งชีวิตของวารินทร์ วัย 52 ปี เธอหนีความยากจนจากบ้านในจังหวัดสุพรรณบุรี มาแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในเมืองใหญ่ 29 ปีกับชีวิตการเป็นกระเป๋ารถเมล์ วารินทร์ผ่านมาแล้วทั้งยุคสมัยฟองสบู่แตก เมื่อปี 2540 หรือที่เรียกว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ผ่านยุคการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส แม้กระทั่งน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 มาถึงวันนี้ในปี 2563 วารินทร์ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ที่สร้างปรากฏการณ์ที่ตลอดชีวิตการทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์ของหญิงวัยใกล้เกษียณคนนี้ไม่เคยเจอ
“ปรับตัวหนักไหม ก็ปรับเยอะเหมือนกัน สมัยก่อนไม่ต้องคอยระวังอะไรมากมาย เดี๋ยวนี้ต้องระวังทุกอย่าง ไหนจะความสะอาด การรักษาตัวเอง ผู้โดยสารก็ระวังทุกอย่างเหมือนกัน”
วารินทร์บอกว่า หลังการระบาดของโควิด-19 มีการปรับเปลี่ยนเวลาการเดินรถ จากปกติกะเช้าจะรับงานตอน 6 โมงเช้า แต่ตอนนี้เลื่อนเป็นรับงานตอน 8 โมงเช้าแทน เนื่องจากรถไม่ติด จึงจำเป็นต้องขยายเวลาของรถแต่ละคันให้ห่างมากขึ้น เพื่อกันการที่รถไปออแน่นอยู่ที่อู่มากเกินไป แต่ถึงแม้เวลารับงานจะถูกเลื่อนออกไปถึง 2 ชั่วโมง เธอก็ยังต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี 3 เช่นทุกวัน
“ที่ต้องไปก่อนเวลาเป็นชั่วโมง ๆ เพราะต้องทำความสะอาดรถ เช็ดรถ เช็ดพื้น เก้าอี้ เบาะที่นั่ง เราต้องใช้แอลกอฮอล์เช็ด เราไม่ได้ว่างเลย ถ้าแอลกอฮอล์หมดก็ใช้น้ำผงซักฟอก สบู่เท่าที่เราหาได้ คือทำยังไงก็ได้ให้มันสะอาดเข้าไว้”
‘กระเป๋ารถเมล์’ คือหน้าด่านแรกของรถเมล์ที่ต้องเจอกับคน ต้องสัมผัส และหายใจร่วมกับคนอื่นในพื้นที่แคบ ๆ ไม่กี่สิบตารางเมตร ยิ่งถ้าเป็นรถเมล์ปรับอากาศด้วยแล้ว หลายคนเกรงว่าช่วงนี้อากาศที่ใช้หายใจนั้นจะไม่มีการถ่ายเท เพราะหมุนเวียนอยู่ภายในตัวรถ วารินทร์ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี เธอจึงพยายามป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเมื่อขายตั๋วเสร็จ เธอก็จะรีบไปฉีดแอลกอฮอล์ล้างมือแทบทุกครั้ง ทำอย่างนี้ซ้ำ ๆ ทุกวัน
“เพราะเรากลัวไง เราก็ไม่รู้ใครเป็นใคร ใครเป็น ใครไม่เป็น โรคนี้มันทำให้เราเครียดได้เลยนะ”
วารินทร์เผย ส่วนบนรถเมล์ ทุกที่นั่งก็มีป้ายกำกับห้ามนั่งชิดกันเพื่อลดการแพร่เชื้อ และใครที่ยืน ก็จะมีสัญลักษณ์เส้นสีแดงไว้ให้เว้นระยะห่างระหว่างกัน
งดนั่งชิด โควิด ป้องกันได้
อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ
คือป้ายกำกับซึ่งติดไว้ที่เบาะที่นั่งทุกแถว แต่มันก็ดูขัดแย้งไม่น้อย เมื่ออาชีพของวารินทร์ไม่อาจทำให้เธอ ‘หยุดอยู่บ้าน’ และต้องกลายเป็นคนทำงานในพื้นที่นี้เสียเอง ขณะที่ ‘Work from Home’ อาจเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางต้องเผชิญ และบ่นกันระนาวถึงสภาวะที่ต้องทำงานจากบ้าน แถมยังเสี่ยงต่อภาวะจิตตกที่เกิดขึ้นกับการต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตลอด 24 ชั่วโมง แต่นั่นก็เป็นการลดความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่สำหรับวารินทร์และเพื่อนร่วมอาชีพ คำว่า ‘Work from Home’ คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคนอยู่บนรถเมล์
“กลัวโควิดก็กลัว แต่ก็ต้องออกมา ทุกคนกลัวหมดนั่นแหละ แต่ต้องออกมาทำ ถ้าเราไม่ออกมาทำแล้วใครจะทำ นี่คือหน้าที่ของเรา เราต้องรับผิดชอบ มันฝังจิตฝังใจเราไปแล้ว คือมีโอกาสที่เราจะหยุดได้แหละ แต่ถ้าเราหยุด คนก็ขาด เราเป็นหน่วยบริการผู้โดยสาร จะมีคนหรือไม่มีคน เราก็ต้องออกมาทำหน้าที่อย่างเต็มที่ที่สุด”
สิ่งที่วารินทร์พอจะทำได้ในสถานการณ์ที่การระบาดของโรคยิ่งพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ยังต้องออกมาทำงานและใช้ชีวิตบนรถเมล์ร่วมกับผู้โดยสารทุกวัน คือการหยุดเสพข่าวเพื่อหลีกเลี่ยงความเครียด เธอบอกว่า ทันทีที่กลับถึงบ้านก็จะรีบหาหนังหรือละครดู พยายามหลีกเลี่ยงการดูข่าว เพราะยิ่งดูก็ยิ่งเครียด ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อหรือแม้กระทั่งผู้เสียชีวิตที่เพิ่มจำนวนขึ้น จากนั้นพอละครจบก็เข้านอน ก่อนจะตื่นมาเผชิญชีวิตในวันต่อไป
“เวลาอยู่บนรถ ยิ่งคิดถึงโควิดก็ยิ่งเครียด เลยต้องปล่อยสบาย ๆ เราก็คาดหวังให้เชื้อนี้หยุดระบาดเร็ว ๆ อย่าอยู่นานนัก และเราก็หวังว่าถ้ารอดก็ต้องรอดไปด้วยกันทั้งประเทศ ต้องคิดแบบนี้ถึงจะสบายใจ”
วารินทร์ปิดท้ายพร้อมรอยยิ้ม ก่อนการเดินทางเที่ยวใหม่ของเธอจะเริ่มขึ้น
เรื่องและภาพ: (ในวงเล็บ)
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
The People
โควิด-19
COVID-19
วารินทร์ เทศนิยม
กระเป๋ารถเมล์
related
‘เปโดร ปาสคาล’ เด็กจากครอบครัวผู้ลี้ภัย สู่นักแสดงเจ้าพ่อซีรีส์ฮิต จาก GOTs ถึง Last of Us
เพลง ‘Viva La Vida’ ของ Coldplay จากการตีความกษัตริย์ทรราชย์ สู่คดีโดนฟ้องว่าก๊อปปี้ทำนอง
ชีวิตและงานศิลปะลายจุดของ ‘ยาโยอิ คุซามะ’ ศิลปินผู้สมัครใจอาศัยในรพ.จิตเวชตั้งแต่ยุค 70s
ชีวิต ‘ดอนนี่ เยน’ ดารานักบู๊แถวหน้าเอเชีย เคยติดหนี้เกือบสิ้นท่า ได้ดีอีกหนเพราะภรรยา
‘Royal India’ ร้านอาหารอินเดียคิวยาว อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของย่านพาหุรัด Little India ในกรุงเทพฯ
1
2
3