ทิงเกอร์ แฮตฟิลด์ จากนักกีฬาค้ำถ่อ สู่ผู้ออกแบบ ‘Nike Air Max’ รองเท้าที่เป็นตำนานของไนกี้

ทิงเกอร์ แฮตฟิลด์ จากนักกีฬาค้ำถ่อ สู่ผู้ออกแบบ ‘Nike Air Max’ รองเท้าที่เป็นตำนานของไนกี้

ทิงเกอร์ แฮตฟิลด์ ขยับจากนักกีฬาค้ำถ่อ ก้าวมาสู่ผู้ออกแบบ ‘Nike Air Max’ รองเท้าที่กลายเป็นตำนานของไนกี้ และพลิกโฉมรองเท้ากีฬา

ธรรมชาติสร้าง ‘เท้า’ ของเราขึ้นมา เพื่อใช้สำหรับเดิน วิ่ง และบางครั้งก็ปีนป่าย หากคุณเป็นเพียงคนธรรมดา ความสามารถเท่านี้ก็คงเพียงพอให้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย แต่สำหรับนักกีฬา เท้าไม่ใช่แค่อวัยวะสำหรับเดินหรือวิ่ง เพราะการขยับร่างกายแต่ละครั้ง พวกเขาจำเป็นต้องลงน้ำหนักไปบนเท้าเพื่อช่วยในการทรงตัว นี่จึงเป็นเหตุผลที่โลกนี้ต้องมี ‘รองเท้ากีฬา’ เพื่อใช้งานในสถานการณ์เหล่านั้น

หากจะถามถึงคนที่ตระหนักถึงความสำคัญของอวัยวะอย่างเท้ามากที่สุดคนหนึ่ง คงหนีไม่พ้นนักออกแบบรองเท้ากีฬาอย่าง ทิงเกอร์ แฮตฟิลด์ (Tinker Hatfield) ผู้อยู่เบื้องหลังรองเท้าระดับตำนานมากมาย ภายใต้ธงของแบรนด์ไนกี้ (Nike) ไม่ว่าจะเป็น ไนกี้ แอร์ แม๊กซ์ 1 (Nike Air Max 1), ไนกี้ แอร์ เทรนเนอร์ 1 (Nike Air Trainer 1) และไนกี้ แอร์ จอรแดน (Nike Air Jordan) ที่เขาร่วมออกแบบมาตั้งแต่รองเท้ารุ่นที่ 3 ทั้งรูปลักษณ์และเรื่องราวของรองเท้าแต่ละคู่ที่เขาออกแบบ ทำให้ดีไซเนอร์อย่างทิงเกอร์ แฮตฟิลด์ กลายเป็นตำนานที่อยู่คู่กับแวดวงรองเท้ากีฬามาตั้งแต่ยุค 80s

ทิงเกอร์เกิดและเติบโตในเมืองฮิลส์โบโร รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ครอบครัวของเขาไม่ได้แตกต่างไปจากครอบครัวชนชั้นกลางทั่วไป เพียงแต่การมีคุณพ่อเป็นโค้ชกีฬาระดับท้องถิ่น ทำให้เขาค่อย ๆ ซึมซับและฝึกปรือฝีมือด้านกีฬามาโดยตลอด ทิงเกอร์เป็นนักกีฬาค้ำถ่อ (Pole vault) อนาคตไกล ที่มีช่วงวัยมัธยมหมดไปกับการซ้อม ซ้อม และซ้อม เพื่อให้ตัวเองสามารถคว้าชัยชนะในการแข่งขันมากมายทั่วทั้งรัฐ

นั่นก็ทำให้เขาได้ทุนนักกีฬาเต็มจำนวนจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน และทำให้เขาได้พบกับคนที่มีอิทธิพลต่อชีวิตเขามากที่สุดคนหนึ่ง บิลล์ บาวเวอร์แมน

หลายคนอาจรู้จักบิลล์ ในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์รองเท้ากีฬาชื่อดังอย่าง ไนกี้ (Nike) แต่สำหรับทิงเกอร์ บิลล์คือโค้ช คืออาจารย์ที่สอนให้รู้จักวิธีเอาชนะ และคือคนที่มองเห็นศักยภาพในตัวทิงเกอร์มากที่สุดคนหนึ่ง

“ตอนผมเข้ามาเรียนใหม่ ๆ บิลล์กำลังออกแบบรองเท้าวิ่งกับรองเท้าตะปูอยู่ แล้วเขาก็มักจะโผล่พรวดออกมา ดึงปกเสื้อคุณ แล้วก็บอกให้คุณลองใส่รองเท้าที่เขาออกแบบ แล้วลองไปวิ่งดูหน่อย บางครั้งมันดี แต่บางครั้งผมก็ถึงกับเลือดออก”

บิลล์เป็นครูฝึกให้ทิงเกอร์ตลอดช่วงเวลาที่เขาเรียนมหาวิทยาลัย ทีแรกเขาเชื่อว่าทิงเกอร์จะสามารถเป็นแชมป์ระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งเติบโตไปเป็นนักกีฬาโอลิมปิกได้ ทิงเกอร์เองก็เชื่อแบบนั้น ถ้าไม่ติดว่าเขาจะต้องมาเจอกับเหตุการณ์น่าเศร้าในปีที่สองของการเรียนมหาวิทยาลัยเสียก่อน

ในการซ้อมครั้งหนึ่ง ทิงเกอร์ตกลงมาจากความสูง 17 ฟุต บนพื้นที่ไม่เรียบสม่ำเสมอ ทำให้กระดูกข้อเท้าของเขาฉีกออกจากกัน แม้จะเข้ารับการผ่าตัดไปถึง 5 ครั้ง และฟื้นฟูสมรรถภาพต่อไปอีก 2 ปี แต่ไม่ว่าอย่างไร ทิงเกอร์ก็คงไม่สามารถกลับมาเป็นนักกีฬาอนาคตไกลคนเดิมได้อีกเป็นแน่

“มันค่อนข้างจะหดหู่ที่ต้องนอนเฉย ๆ อยู่ที่โรงพยาบาล แล้วก็แอบได้ยินหมอพูดกันว่า ‘อาชีพนักกีฬาของเด็กคนนี้จบแล้ว’ เพราะมันไม่มีทางเลยที่พวกโค้ชจะหันกลับมาสนใจเด็กที่ไม่สามารถเล่นกีฬาอย่างเต็มที่ได้อีก”

แม้จะเป็นสถานการณ์อันน่าสิ้นหวัง แต่เพราะมีบิลล์ที่พยายามปกป้องไม่ให้เขาโดนไล่ออกจากทีม และต้องเสียทุนการศึกษาไป แถมยังทำรองเท้าตะปูแบบเสริมส้นข้างเดียวมาให้เขาใส่เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเดินเอียง ชีวิตของทิงเกอร์ในเวลานั้นจึงถือว่ายังพอมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นอยู่บ้าง 

เมื่อไม่อาจวิ่งตามความฝันในการเป็นนักกีฬาต่อไปได้ ชีวิตของทิงเกอร์ แฮตฟิลด์ จึงต้องมองหาเส้นทางใหม่ โชคดีที่นอกจากความสามารถด้านกีฬาแล้ว ตั้งแต่เด็กเขายังค้นพบว่ามีอีกสิ่งหนึ่งที่เขาทำได้ดี และสิ่งนั้นก็คือ ‘การวาดรูป’ เขาจึงสามารถใช้ชีวิตต่อไป ในฐานะนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอน

“สมัยเรียนผมวาดรูปรองเท้าให้บิลล์บ่อยนะ มันเหมือนเราได้ทดลองและพยายามแก้ปัญหาที่เจอในรองเท้าแบบต่าง ๆ ครั้งหนึ่งเขาให้ผมลองใส่รองเท้าตะปูที่พอวิ่งแล้วมันไม่เวิร์คเลย เพราะตะปูมันคอยแต่จะคลายเกลียวตลอด ถึงตอนนั้นจะไม่รู้ตัว แต่ผมคิดว่านั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมค่อย ๆ เรียนรู้และซึมซับวิธีการออกแบบเพื่อแก้ปัญหา เพราะผมเข้าใจความรู้สึกของนักกีฬาที่บาดเจ็บดี”

หลังเรียนจบ ทิงเกอร์ก็ทำงานเป็นนักออกแบบงานจัดแสดงสินค้า ออกแบบการจัดวางของ และจัดร้านอยู่พักหนึ่ง แต่เพราะเขาก็ไม่สามารถทำอะไรที่ไม่ใช่ตัวเองได้นาน สุดท้ายทิงเกอร์ก็ขอกลับเข้าไปทำงานในแวดวงกีฬาที่เขารัก โดยสมัครเข้าไปเป็นพนักงานของบริษัทไนกี้

เขาค่อย ๆ ไต่เต้าจากตำแหน่งพนักงานธรรมดา สู่การเป็นดีไซเนอร์เต็มตัวในปี 1985 และหลังจากนั้นก็คงเรียกได้ว่าเป็นขาขึ้นสุด ๆ เพราะปี 1986-1987 คือช่วงที่เขาสร้างสรรค์ผลงานรองเท้ารุ่นโดดเด่นออกมาเต็มไปหมด หนึ่งในนั้นก็คือตำนานรองเท้าวิ่ง ที่ได้รับการผลิตออกมาเป็นซีรีส์ขายจนถึงทุกวันนี้

 

ไนกี้ แอร์ แม็กซ์ 1 (Nike Air Max 1) 

ไนกี้ แอร์แม็กซ์ 1 คือรองเท้ารุ่นแรกที่ถูกออกแบบให้ถุงลมยูริเธนอัดก๊าซ (หนึ่งในนวัตกรรมพื้นรองเท้าของไนกี้) สามารถมองเห็นได้จากด้านนอก ซึ่งตอนนั้นหลายคนมองว่าไอเดียการออกแบบรองเท้า Air Max 1 ของเขาดูหลุดโลกสุด ๆ เพราะคงไม่มีใครอยากซื้อรองเท้าที่มีพื้นเป็นถุงลมที่ดูเหมือนจะโดนเหยียบแตกได้ตลอดเวลา แต่เพราะเขาและทีมงานยังคงเดินหน้าผลักดันไอเดียนี้ต่อ ในที่สุดโลกจึงได้รู้จักกับ Nike Air Max 1 ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในรองเท้าระดับตำนาน ที่นับเป็นความสำเร็จสูงสุดของไนกี้ในช่วงเวลาหนึ่ง 

ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เขายังได้ออกแบบรองเท้าที่สามารถใส่ออกกำลังกายหลายรูปแบบ (Cross-training) เป็นคู่แรกของโลก อย่าง ไนกี้ แอร์ เทรนเนอร์ 1 (Nike Air Trainer 1) ซึ่งได้ จอห์น แม็กเอนโร (John McEnroe) นักเทนนิสระดับตำนานมาเป็นพรีเซนเตอร์ นั่นจึงทำให้ทิงเกอร์ แฮตฟิลด์ ค่อย ๆ มีชื่อเสียงขึ้นมาในแวดวงรองเท้ากีฬา เพราะผลงานต่าง ๆ ของเขา ล้วนแล้วแต่สร้างความฮือฮา ทั้งในด้านรูปลักษณ์และเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น ไนกี้ แอร์ วินด์รันเนอร์ (Nike Air Windrunner) ไนกี้ แอร์ เรโวลูชั่น (Nike Air Revolution) ไนกี้ แอร์ ซาฟารี (Nike Air Safari) หรือไนกี้ แอร์ เทคชาเลนจ์ (Nike Air Tech Challenge)

ในปี 1988 เขายังได้มีโอกาสมาร่วมออกแบบในอีกหนึ่งโปรเจกต์ใหญ่ระหว่างไนกี้กับนักบาสเกตบอลชื่อดัง ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) ผลงานของเขา ไนกี้ แอร์ จอร์แดน 3 (Nike Air Jordan 3) แน่นอนว่าต้องเป็นรองเท้าขายดีอีกรุ่นหนึ่ง ที่ช่วยกอบกู้ความสัมพันธ์ระหว่างไนกี้กับ ไมเคิล จอร์แดน (ที่เกือบหนีไปเซ็นต์สัญญากับแบรนด์คู่แข่งอาดิดาส (Adidas) เพราะสองรุ่นก่อนหน้านั้นกระแสตอบรับไม่ค่อยดี) ทิงเกอร์จึงได้กลายมาเป็นหนึ่งในทีมออกแบบของ แอร์ จอร์แดน และปล่อยรองเท้าเจ๋ง ๆ จากซีรีส์นี้ออกมาอีกมากมายหลังจากนั้น

ปี 1989 ทิงเกอร์ยังมีส่วนร่วมในการออกแบบ Nike MAG รองเท้าหน้าตาสุดล้ำที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์คลาสสิกขึ้นหิ้ง Back to the Future II โดยเป็นรองเท้าคู่ที่มาร์ตี้ แม็กฟลาย (Marty McFly) พระเอกของเรื่องสวมใส่ รองเท้าคู่ดังกล่าว หลังจากมีนักสะสมชื่อว่า shoezeum ออกมาประกาศว่า จะนำรองเท้ารุ่นดั้งเดิมที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้ในการถ่ายภาพยนตร์มาเปิดประมูลขาย เหล่านักสะสมกระเป๋าหนัก จึงเปิดศึกแย่งชิงรองเท้าคู่นี้กันจนกระทั่งจบการประมูลไปที่ราคา 92,100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 3 ล้านบาท

ในปีเดียวกัน เขายังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง Creative Director of Product Design ของไนกี้ และกลายเป็นสัญลักษณ์อันน่าภาคภูมิใจแห่งแวดวงการออกแบบ เพราะนอกจากจะออกแบบรองเท้ากีฬาให้สวยและดูดีได้แล้ว ผลงานรองเท้าของเขา ยังช่วยแก้ไขปัญหา และลดอัตราการบาดเจ็บให้นักกีฬาได้อย่างเห็นผล ทั้งหมดนี้นอกจากความสามารถด้านการออกแบบ คงต้องขอบคุณประสบการณ์ และความเข้าอกเข้าใจในตัวนักกีฬาบาดเจ็บของเขา ที่ทำให้ทิงเกอร์ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพรองเท้า มากยิ่งกว่าความสวยงามขณะสวมใส่

“สำหรับผม การออกแบบรองเท้ามันก็ไม่ใช่ศิลปะสักเท่าไหร่หรอก มุมมองของผมเกี่ยวกับศิลปะคือ การแสดงออกถึงตัวตนของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่งานของผมในฐานะดีไซเนอร์ มันไม่ใช่การแสดงตัวตน แต่เป็นการแก้ปัญหาให้คนอื่น ผมก็แค่หวังอยู่นิดหน่อยว่ามันจะดูดีและเท่เวลาใส่ด้วยก็แค่นั้น”

 

เรื่อง: พาขวัญ ศักดิ์ขจรยศ

อ้างอิง:

Nike

highsnobiety.com/

highsnobiety.com (2)

nicekicks.com

สารคดี Abstract: The Art of Design. ตอน "Tinker Hatfield: Footwear Design"