read
politics
18 พ.ย. 2563 | 23:40 น.
จากไทยถึงรัสเซีย เมื่อเป็ดเหลืองสุดน่ารัก กลายเป็นสัญลักษณ์ประท้วงทั่วโลก
Play
Loading...
กลายเป็นจุดสนใจประจำม็อบ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมามีการใช้แพเป็ดขนาดใหญ่สีเหลืองสดใส วางตามจุดต่าง ๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ทัพเรือ’ ตามคอนเส็ปต์การชุมนุม ‘ขบวนพยุหยาตราประชาราษฎร์’ และ “เราต้องช่วยกันเอาเรือเป็ดออกมา” ซึ่งเดิมทีแล้วเจ้าเป็ดเหลืองที่ต้องการใช้เป็นเรือเป็ดปั่นขนาดสองที่นั่ง แต่บังเอิญไม่สามารถใช้ได้ จึงเอาเจ้าแพเป็ดเป่าลมสีเหลืองสดใส หน้าตายิ้มแย้มมาเป็นสัญลักษณ์แทน
แต่เจ้าเป็ดเหลืองก็สดใสไฉไลได้ไม่นาน ประมาณบ่ายสองฝั่งตำรวจก็เริ่มปฏิบัติการสลายม็อบโดยไม่มีคำเตือนแม้แต่คำเดียว (ตำรวจบอกว่า เตือนอยู่! แต่เตือนหลังจากฉีดน้ำแล้ว!) และเมื่อเข้าช่วงชุลมุนก็กลายเป็นว่าเจ้าเป็ดมุ้งมิ้งที่นั่งยิ้มอยู่กลางม็อบนี่แหละ กลายเป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวของผู้ประท้วงหัวใจรักประชาธิปไตย จนสุดท้ายสภาพน้องเป็ดก็กระดำกระด่างและทรุดโทรมลงทันตาภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
อาจจะเป็นเพราะเหตุบังเอิญหรือตั้งใจก็ตามที แต่ในประวัติศาสตร์การประท้วงที่ผ่านมา นานาประเทศทั่วโลกก็มีการใช้เป็ดเหลืองในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่นในประเทศรัสเซียที่ผู้ประท้วงเรือนหมื่นคนถือเป็ดเหลืองและรองเท้าผ้าใบ รวมทั้งทาใบหน้าเป็นสีเขียวเดินประท้วงบนถนน
เป็ดเหลือง รองเท้าผ้าใบ ทำไมรัสเซียถึงประท้วงรัฐบาล
เมื่อปี 2017 ในสมัยประธานธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้ประท้วงทั่ว 82 เมืองในรัสเซียได้รวมตัวกันเพื่อประท้วงการคอรัปชันของดมีตรี เมดเวเดฟ (Dmitry Anatolyevich Medvedev) อดีตประธานาธิบดีของรัสเซียที่ตอนนั้นเป็นพันธมิตรที่สนิทชิดใกล้กับปูติน สถานีวิทยุ Echo of Moscow คาดว่าการประท้วงครั้งดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมราว 60,000 คนทั่วประเทศ โดย 10,000 คนเป็นชาวมอสโกวและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุ 20 ต้น ๆ ทั้งนี้กิมมิคสำคัญของการประท้วงก็คือการถือเป็ดสีเหลือง รองเท้าผ้าใบ และทาใบหน้าเป็นสีเขียว
ชนวนของการประท้วงครั้งนั้นคือ อเล็กซี นาวัลนี (Alexei Navalny) นักการเมืองฝ่ายค้านที่เป็นผู้เปิดเผยรายงานชิ้นหนึ่งที่มีเนื้อหาว่าเมดเดเวฟครอบครองที่ดินจำนวนมากในรัสเซีย และมีทรัพย์สินอื่น ๆ ตั้งแต่เรือยอทช์ 2 ลำ ไร่องุ่น คฤหาสหรูพร้อมสระว่ายน้ำและ ‘เล้าเป็ด’ ขณะที่ชาวรัสเซียส่วนใหญ่ยังคงได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบสองทศวรรษ โดยนาวัลนีกล่าวว่าทรัพย์สินทั้งหมดที่เมดเดเวฟมีล้วนเป็นของขวัญจากผู้มีอำนาจในรัสเซียที่มอบให้ผ่านองค์กรการกุศล ซึ่งโฆษกของเมดเดเวฟได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและไม่มีการสอบสวนคดีอาญาแต่อย่างใด
‘เล้าเป็ด’ ที่ว่า กลายเป็นที่พูดถึงในประชาชนชาวรัสเซีย และสุดท้ายก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุมด้วยการถือของเล่นเป็ดยางสุดน่ารักติดตัวไปในทุกเส้นทางที่กลุ่มผู้ประท้วงผ่าน
ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งแบกเป็ดยางสีเหลืองพร้อมกับกล่าวว่าเขาไม่ต้องการให้คนรวยครอบครองแม่น้ำ ไม่ต้องการให้แม่น้ำกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของใคร
นอกจากนี้ในภาษาเซอร์เบียน คำว่า patka หรือ ‘เป็ด’ ยังหมายถึง ‘การฉ้อโกง’ อีกด้วย เมื่อพวกเขาพูดชวนกันว่า "ไปดูเป็ดกันเถอะ" ก็หมายความว่าพวกเขาจะไปประท้วงนั่นเอง
การประท้วงครั้งนั้นถูกห้ามโดยรัฐ แต่ว่านาวัลนีก็ยังคงเป็นแกนนำขับเคลื่อนให้การเรียกร้องทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไป สถานีวิทยุ Echo of Moscow รายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมถูกปราบปรามอย่างโหดร้ายแม้ว่าพวกเขาจะชุมนุมโดยสันติ ผู้ชุมนุมบางส่วนโดนจับกุมและดำเนินคดีเพราะพวกเขาประท้วงด้วยการถือเป็ด ในการปราบปรามมีทั้งการใช้แก๊สน้ำตา การทำร้ายร่างกายผู้หญิงและวัยรุ่น รวมทั้งมีการเผยแพร่ภาพที่ผู้ชุมนุมถูกลากไปบนถนนโดยไร้ทางสู้อีกด้วย
เป็ด
’s protest เป็ดอยู่ไหนในหมุดหมายการประท้วงทั่วโลก
ก่อนหน้าประเทศไทย รัสเซียไม่ใช่ประเทศเดียวที่หยิบเอาเป็ดมาใช้ในการประท้วง เมื่อปี 2016 เจ้าเป็ดยางสีเหลืองก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในบราซิล กับความหมายที่ว่า ‘บราซิลไม่เอาเป็ด’ หรือ ‘เราจะไม่จ่ายเป็ดแล้ว’ ซึ่งการจ่ายเป็ดก็หมายถึงการจ่ายเงินสำหรับความผิดพลาดของคนอื่น ในที่นี้หมายถึงการจ่ายภาษีที่เพิ่มขึ้นของประชาชน เพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงของรัฐบาล สำหรับเป็ดประท้วงที่บราซิล จะมีสัญลักษณ์ ‘X’ อยู่ที่ดวงตาด้วย พร้อมข้อความ ‘อย่าไปให้อาหารมัน! ปล่อยให้เป็ดตาย!’
ขณะเดียวกันการประท้วงแบบ ‘เป็ด ๆ’ นี้ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย โฟลเรินไตน์ โฮฟมัน (Florentijn Hofman) ศิลปินชาวดัตช์ผู้คิดค้นโปรเจ็กต์ ‘เป็ดยักษ์ลอยน้ำ’ เป็ดยางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งถูกจัดแสดงใน 14 เมืองทั่วโลกระหว่างปี 2007 – 2013 ซึ่งหนึ่งในนั้นมีประเทศบราซิลด้วย โฮฟมันบอกว่าเขาสร้างเป็ดยักษ์ขึ้นมาเพื่อส่งต่อความสุขไปทั่วโลก และเป็ดของเขาไม่ได้มีความนัยน์ใด ๆ ทางการเมืองทั้งสิ้น
แม้โฮฟมันจะไม่มีเจตนาทางการเมืองอย่างที่เขากล่าว แต่เจ้าเป็ดยักษ์ของเขาที่ถูกจัดแสดงในฮ่องกงเมื่อปี 2013 ก็ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองไปโดยปริยาย เมื่อมันกลายเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพสำหรับชาวฮ่องกง หลังจากนั้นไม่นาน ปรากฎกองทัพเป็ดเหลืองร่วมสามหมื่นตัวในน่านน้ำแผ่นดินจีนจนกลายเป็นที่ฮือฮาไประลอกใหญ่ ต่อมามีการตัดต่อรูปถ่ายชายหนุ่มหน้ารถถังในจัตุรัสเทียนอันเหมินและแทนที่รูปรถถังด้วยเป็ดเหลือง ซึ่งภาพดังกล่าวก็ถูกแชร์แบบกระฉ่อนว่อนเน็ตอีก ร้อนถึงรัฐบาลจีนที่ต้องออกมากดปุ่มแบนเป็ดเหลืองสุดน่ารักสดใส ให้กลายเป็นของต้องห้ามไปโดยปริยาย
เป็ดเหลืองไทย(ทำงานหนัก)ไม่แพ้ชาติใดในโลก
จะเห็นได้ว่าแม้ ‘เป็ดประท้วง’ ในแต่ละประเทศจะมีความหมายเชิงนัยน์ที่แตกต่างกัน แต่ก็ล้วนมีความสำคัญไม่ต่าง อีกทั้งเจ้าเป็ดนี้เมื่อไปอยู่ที่ไหน ก็มักนำมาซึ่งการแพร่กระจายของข้อมูลที่ไวกว่าการประท้วงโดยทั่วไปอีกประมาณครึ่งถึงหนึ่งก้าว ด้วยภาพลักษณ์น่ารักไม่มีพิษมีภัยแต่สะท้อนความหมายได้แสบสันของมันนี่เอง
เช่นเดียวกับน้องเป็ดในประเทศไทย ภาพถ่ายของเป็ดที่กลายเป็นโล่กำบังน้ำแรงดันสูงที่ตำรวจฉีดใส่ถูกกระจายในโลกออนไลน์จนเป็นที่สนใจทั้งไทยและต่างประเทศ ฟีดแบ็กผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ พบว่าผู้รักประชาธิปไตยทั่วโลกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าภาพดังกล่าว ‘อิมแพคโคตร ๆ’ เช่นเดียวกับภาพเป็ดเลอะแก๊สและสีแต่ยังยิ้มได้ที่กลายเป็นกระแสมากจนหลาย ๆ คนกล่าวทีเล่นทีจริงว่า ‘น้องเป็ดทรงงานหนักจริงอะไรจริง’ เรียกได้ว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่มาหนึ่งได้ถึงสอง คือได้ทั้งอุปกรณ์ป้องกัน และได้ทั้งความสนใจจากชาวโลกเลยทีเดียว
ที่มา :
https://www.bbc.com/news/world-europe-43202127
https://www.nbcnews.com/.../russia-s-protests-explained...
https://www.bloombergquint.com/.../the-yellow-rubber-duck...
https://prachatai.com/journal/2013/06/47063
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3478
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6934
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
810
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Politics
การเมือง
การเมืองไทย
ม็อบ
ชุมนุมประท้วง
RubberDuck